เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 13132 ชัยภูมิของกรุงศรีอยุธยา กับการทำศึกกับพม่า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 01 ก.พ. 02, 05:55

เรียนมาตั้งนานจนเกือบลืม
ตำราท่านว่า พระเจ้าอู่ทอง ทรงเลือกกรุงเทพทราวดี ศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวงของราชธานีในตอนนั้น มีประโยชน์อยู่หลายด้าน
หนึ่งนั้นท่านว่า กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ มีแม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี อันนี้ว่าดี ข้าศึกจะข้ามแม่น้ำมาก็ลำบาก
สองถ้าเวลาเป็นฤดูน้ำหลากมา น้ำจะท่วม บริเวณนอกเกาะเมืองไปหมด ซึ่งข้าศึกที่ยกทัพมาก็น่าจะอยู่ไม่ได้และยกทัพกลับไป
ผมก็เชื่อตามนี้มาตลอด แต่หลัง ๆมา มาอ่านประวัติศาสตร์ดูใหม่อีกที เลยทำให้สงสัยว่า ทำเลของกรุงศรีอยุธยานี่ได้ช่วยในเรื่องการทำศึกจริงหรือเปล่า
เพราะอย่างที่เห็นชัดในตอนเสียกรุงครั้งที่สองนั้น พม่ายกทัพมาตีไทยเท่าที่ผมจำได้สองครั้ง
ครั้งแรกเจ้าฟ้าอุทุมพร ออกมาบัญชาการศึกให้กับกรุงศรีอยุธยา ไทยเราก็ปิดประตูเมืองสู้ แต่ว่าน้ำหลากหรือยังไม่แน่ใจ แต่ปรากฎว่าแม่ทัพพม่า ซึ่งเป็นกษัตริย์พม่ายกมาเอง จะจุดไฟยิงปืนใหญ่ใส่ไทย แต่ปืนใหญ่กับระเบิดซะเอง แล้วกษัตริย์องค์นั้นก็ประชวรหนักจนพม่าต้องถอยทัพกลับไป ก็ไม่ทันเจอน้ำหลากมาอีกล่ะ
มาตอนศึกครั้งที่สอง คราวนี้กรุงแตก พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกล่ะ แล้วคราวนี้ก็มีน้ำหลากมาจริง ๆ ด้วย แต่แม่ทัพพม่าก็ไม่ยกพลกลับ ยังตั้งล้อมกรุงศรีเอาไว้ กลายเป็นแทนที่พม่าจะชาดเสบียง กลับไปหาเสบียงมาได้ เรื่อย ๆ ในกรุงศรีของเราเอง กลับขาดแคลนแทน พม่าล้อมเมืองไว้จนกรุงแตกจนได้
แล้วเมื่อย้อน ไปถึงเท่าที่ผมจำได้ ไทยรบกับพม่า สมัยพระเจ้าจักพรรดิ์ ที่ตะเบงชะเวตี้ยกมา แล้วมีการชนช้าง จนมีตำนานสมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั้น ผมไม่ทราบว่าพม่าล้อมกรุงไว้จนเจอน้ำหลากหรือเปล่า แต่คาดว่าคงไม่เจอ แล้วที่บุเรงนองยกมารบกับพระมหินทรา ที่พระมหาธรรมราชา พระบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ก็ไม่รู้ว่า กรุงศรีอยุธยาได้ใช้กลยุทธ์น้ำหลากหรือเปล่า
แล้วทีนี้เนี่ย กรุงศรีอยุธยาเราได้ใช้ประโยชน์ของกลยุทธน้ำหลาก ในการทำศึกบ้างหรือเปล่าครับเนี่ย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ม.ค. 02, 12:45

เรื่องน้ำหลาก จำได้ว่ามีบางครั้งที่พม่าถอยไป ได้ผลจริงๆค่ะ แต่ครั้งไหนยังไม่ได้ไปเปิด ไทยรบพม่า อ่าน

ตอนเสียพระสุริโยทัย เมื่อศึกครั้งแรก   ไม่เกี่ยวกับน้ำหลาก แต่เราไปเสียทีพม่า  พระมหินทร์(หรือพระราเมศวาร?) และพระมหาธรรมราชา  ไล่ตามตีแล้วถลำเข้าไปให้เขาจับได้ ก็เลยต้องเสียค่าไถ่ตัวด้วยช้างเผือก  สงบศึกกัน
เราเรียกว่าสงบศึก  แต่พม่าเขาไปจดว่าเป็นการพ่ายแพ้ทางฝ่ายเรา   ส่วนตอนเสียกรุงครั้งที่ ๑ สมัยพระมหินทร์   เขาจดว่า เป็นศึกกบฎ
ส่วนเสียกรุงครั้งที่สอง  พม่าตัดกำลังการช่วยเหลือจากหัวเมืองต่างๆหมด ด้วยการรุกมาจากทางเหนือ ครอบครองล้านนาไว้ในอำนาจเสียก่อน
และขุนนางสำคัญหลายคนก็ไม่ช่วยจริง อย่างพระยาพิษณุโลกลาไปเผาแม่แล้วไม่กลับมาช่วยศึกในเมืองหลวงอีกเลย

ชัยภูมิของอยุธยา  มีดีอย่างเสียอย่าง   ที่เสียคือเป็นเมืองอกแตก อยู่สองฟากแม่น้ำ  ถ้าข้าศึกใช้เรือลุยเข้ามาได้ระดมยิงสองฟาก ก็เสร็จ
แต่อยุธยาไม่เคยให้ข้าศึกเข้ามาถึงได้ในลักษณะนั้น
เมื่อมาตั้งธนบุรี เป็นเมืองฝั่งเดียว  อาศัยเจ้าพระยาเป็นคูเมือง
เมื่อร. ๑ ทรงข้ามมาฝั่งกรุงเทพ    ทรงเล็งเห็นจุดอ่อนของเมืองอกแตก   ดังนั้นเมื่อเกิดศึกเก้าทัพ  จึงใช้วิธีรบด้วยการยกออกไปยันไว้ห่างพระนคร  ไม่ยอมให้เข้ามาถึงเมืองหลวงได้
การรบแบบกองโจรในศึกเก้าทัพ  เป็นการตัดกำลังทัพใหญ่ด้วยฝีมือทัพที่น้อยคนกว่า     พระองค์เจ้าขุนเณร หลานเธอ  ทรงเก่งมากในการรบแบบกองโจร
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 ม.ค. 02, 01:49

ผมไม่แน่ใจนะครับ แต่รู้สึกว่า อยุธยาไม่ได้จัดเป็นเมืองอกแตก เหมือน พิษณุโลกและกรุงธนบุรี
เพราะอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบสามสาย
แต่แม่น้ำไม่ได้ผ่ากลางเมือง คือตัวเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น อยู่ในเกาะเมือง ที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำทั้งหมด
ไม่ใช่เหรอครับ
บันทึกการเข้า
วรณัย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 ม.ค. 02, 02:24

ชัยภูมิของอโยธยาเป็นชัยภูมิที่ยากต่อการเข้า"ต่อรบ"เป็นอย่างยิ่ง
กองทัพตองอู จำต้องล้อมพระนครนานกว่า 14 เดือน
ยาสะวินของพม่าและร่องรรอยหลักฐานที่แฝงอยู่ในพงศาวดารของไทย
ชี้ให้เห็นการสงครามที่ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ระหว่างค่ายคูหอรบกว่า 50 แห่งรอบพระนคร
ผลัดกันยึด ผลัดกันรุก และผลัดกันรับด้านกลสงครามทั้งทางน้ำ เรือ บก ช้าง ม้า และไพร่พลนานารูปแบบ
ยุทธศาสตร์การตั้งรับของพระที่นังสุริยาศอัมรินทร์ก็ประสบผลสำเร็จ สามารถตรึงทัพพม่าได้อย่างยาวนาน
จนกษัตริย์ตองอูต้องเรียกแม่ทัพกลับ เพื่อรับศึกจีนจากทางตอนเหนือ

ในความไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบของสงคราม
ชาวอโยธยา ก็มีการเตรียมงานปีใหม่"สงกรานต์"ในช่วงเดือนเมษายน โดยไม่ได้คำนึง หรือนึกว่าจะ"พ่าย"
แต่ยุทธวิธีที่ชาวลุ่มน้ำปิง หัวเมืองเหนือของล้านนา ที่ใช้ตีกำแพงเพชร คือการขุดลอด เผารากกำแพงเมือง
ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้ง
กองทัพสวามิภักดิ์จากลุ่มแม่น้ำปิง ขุดอุโมงกว่า 5 แห่งและ ตั้งค่ายชิดกำแพงพระนคร 3 - 5 ค่าย ตรงบรืเวณป้อมมหาไชย และค่ายหัวรอของขุนทหารอโยธยา
จุดพลิกผันของสงครามอยู่ที่ตรงจุดนี้.........
เมื่อกำแพงพระนครพังลง ทหารจากลุ่มน้ำปิง และทหารสวามิภักดิ์จากตะวันตกของอโยธยาเอง....นั่นแหละ
ที่เป็นกองหน้าทะลวงเข้าสู่ใจกลางพระนคร
.........
เข้าตีค่ายวังหน้า....ค่ายประตูข้าวเปลือกที่ตรงวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ
มุ่งตรงเข้าสู่พระราชวังหลวง.....

คืนนั้น อโยธยาจึงดับแสงลง.......
บันทึกการเข้า
สายลม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 ม.ค. 02, 16:06

.   .   .  กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆที่เกิดจากการมีแม่น้ำล้อมรอบ พื้นที่รอบนอกเป็นที่ราบแผ่กว้างออกไปทั่วทุกทิศ กำแพงเมือง(ครั้งนั้น)สร้างด้วยหิน วัดโดยรอบได้ ๒ ไมล์ฮอลันดา(มีไมล์ในระบบอังกฤษและน็อตติคัลไมล์ซึ่งมีระยะแตกต่างกันเล็กน้อย คือเท่ากับ ๑.๖ และ ๑.๘ กิโลเมตรตามลำดับ) นับว่าเป็นนครหลวงที่กว้างขวางใหญ่โตมาก  ภายในพระนครมีวัดวาอารามสร้างอยู่ติดๆกัน มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่น ในตัวเมืองมีถนนตัดตรงและยาวมาก มีคลองที่ขุดเชื่อมต่อจากแม่น้ำเข้ามาในตัวเมือง ทำให้สดวกแก่การสัญจรไปมาได้อย่างทั่วถึง
.   .   .  นอกจากถนนหลักแล้วยังมีตรอกซอยแยกจากถนนใหญ่และคูเล็กแยกจากคลองใหญ่ ทำให้ในฤดูน้ำบรรดาเรือพายทั้งหลายสามารถไปได้ถึงหัวกระไดบ้าน
.   .   . ผังเมืองตั้งไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม อยู่ในภูมิฐานที่ดีและมั่นคง ยากที่ข้าศึกจะเข้าโจมตีได้ง่าย เพราะทุกปีจะมีน้ำท่วมถึง ๖ เดือน ทั่วพื้นที่นอกกำแพงเมือง ทำให้ข้าศึกไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้
.   .   .  . ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา หลังจากที่เขมรฉวยโอกาศเข้าซ้ำเติมไทยโดยยกกองทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยา และพยายามเข้าปล้นพระนครถึงสองครั้ง แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นฝ่ายไทยก็ได้เสริมการป้องกันพระนครทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นด้านที่ข้าศึกเคยตีฝ่าเข้าพระนครได้ โดยให้ขุดขยายคลองขื่อหน้า คูพระนคร ตั้งแต่วัดแม่นางปลื้ม ลงไปจนถึงปากข้าวสาร ให้ลึกและกว้างกว่าเดิม ทำให้กำแพงด้านทิศตะวันออกขยายลงไปถึงริมแม่น้ำเหมือนกับกำแพงเมืองด้านอื่นๆ  
(เก็บความจากเว็บไซต์หอมรดกไทย อยู่ในกลุ่มชาติ ในหัวข้อกรุงศรีอยุธยา)
.   .   . จะเห็นว่า อยุธยาไม่เรียกว่าเมืองอกแตกอย่างพิษณุโลก ที่มีแม่น้ำน่านผ่ากลางเมือง ถ้าจะเรียกก็น่าจะเรียกว่าเมืองอกริ้ว เพราะมีคลองอยู่เต็มไปหมดแต่เป็นคลองที่ขุดอย่างมีระเบียบเช่นเดียวกับถนนที่ตัดเป็นแถวเป็นแนว เรียกว่ามีผังเมืองชั้นดีที่สุดในแหลมทองในครั้งนั้นก็ว่าได้
.   .   . เป็นที่น่าสังเกตว่า กรุงศรีอยธยานั้นกว้างใหญ่มาก เวลาข้าศึกยกกำลังมาตี ถ้ามีกำลังพลไม่มากพอและไม่ใช่ทัพกษัตริย์ เมื่อยกมาทางด้านไหนก็จะตั้งค่ายล้อมอยู่ด้านนั้น เช่นกรณีของเขมรจะมาทางทิศตะวันออกก็จะตั้งค่ายและเข้าตีทางด้านทิศตะวันออก ฝ่ายไทยจึงได้ทำการขุดขยายคลองขื่อหน้าเพื่อให้การป้องกันทางด้านนี้มีประสิธิภาพมากยิ่งขึ้น  ในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ กองทัพพม่ายกมา ๒ ทาง คือ เนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพยกมาจากทางเมืองเหนือ ก็มาตั้งล้อมกรุงอยู่ทางเหนือ  มังมหานรธาเป็นแม่ทัพยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งอยู่ทางตะวันตก ก็ตั้งล้อมกรุงอยู่ทางด้านตะวันตก
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ม.ค. 02, 14:34

การเสียกรุงครั้งที่สองนั้นมีข้อเท็จจริงที่น่าสังเกตอยู่หลายอย่าง เรื่องการใช้กลยุทธน้ำหลากในการป้องกันเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจครับ

ในสงครามครั้งนั้นพม่าตั้งล้อมกรุงอยู่จนถึงหน้าน้ำ นับว่าเป็นการกระทำที่ผิดวิสัย"ทัพโจร" ที่เป็นสมมติฐานที่ดูจะกลายเป็น"ความเชื่อ"ของคนกลุ่มหนึ่งไปแล้ว เนื่องจากการตั้งทัพล้อมเมืองในสภาพหน้าน้ำนั้น ฝ่ายที่ล้อมจะประสพปัญหากับเรื่องการหาเสบียง ในขณะที่ฝ่ายตั้งรับในเมือง สามารถใช้เสบียงอาหารที่สะสมไว้ต่อไปได้

และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพม่าตั้งล้อมไว้จนพ้นหน้าน้ำคือ สภาพความได้เปรียบจะกลับมาอยู่ที่พม่าอีกครั้ง เนื่องจากมีความได้เปรียบในการหาเสบียง ในขณะที่ฝ่ายตั้งรับ เสบียงจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ และการออกหาเสบียงก็ทำได้ยากเนื่องจากการรบกวนของพม่าที่ตั้งล้อมอยู่(ถึงแม้ว่าไม่ได้ปิดล้อมชนิดล้อมวง แต่มีการใช้กองลากตระเวณเพื่อรบกวน) นอกจากนั้นยังไม่สามารถออกทำนาเพื่อสะสมข้าวเพิ่ม ในขณะที่ฝ่ายพม่า(ถ้ามีการรบยืดเยื้อกว่านี้)สามารถตั้งทำนาได้ในพื้นที่ๆเป็นเขตอิทธิพลของทัพพม่า หรืออาจเรียกเสบียงจากล้านนาได้

จะเห็นว่ากลยุทธที่พม่าคิดค้นขึ้นใช้เพื่อทำลายการตั้งรับของอโยธยาก็คือการตั้งล้อมในสภาพน้ำหลากนั่นเองครับ
บันทึกการเข้า
เบิ้ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.พ. 02, 17:22

สงสัยว่าพม่ามันขุดเข้ามายังไงครับ ขุดลอดแม่น้ำมาจากฝั่งนู้นเลย
หรือข้ามฝั่งมาก่อนแล้วค่อยขุด ถ้าข้ามมาขุดก็นน่าจะโดนตีกระเจิง
อยู่เรื่อยๆนะครับ เราเห็นเราก็ยิงซะเท่านั้น ใครเกิดทันช่วยแถลงหน่อย
ผมว่ามันมาแพ้ตอนไฟไหม้ไปครึ่งเมืองนั่นแหละครับ คนเลยท้อแท้ แล้วก็หมดกำไรใจต่อสู้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ก.พ. 02, 17:55

สุนทรภู่เคยบอกว่า

กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก
ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย
โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย

ในตอนท้ายๆ อยุธยาเหลือกระสุนดินดำจำกัด จะยิงแต่ละทีต้องขออนุญาตจากในวัง  
พม่าก็เลยข้ามมาได้  เอาไฟเผารากกำแพงจนทรุดแล้วบุกเข้ามาถึงเมือง

ไปหาอ่านหนังสือที่อาจารย์สุเนตรแปลมาจากพงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบองก็จะเห็นภาพค่ะ
บันทึกการเข้า
ผู้ไม่รู้
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 ก.ค. 14, 19:37

ขออนุญาตแสดงความเห็นสนับสนุนในข้อที่ว่า..ชัยภูมิของกรุงศรีอยุธยาเป็นชัยภูมิที่ยากต่อการเข้า"ต่อรบ"เป็นอย่างยิ่ง

การพ่ายแพ้สงครามมาจากสาเหตุอื่นๆหลายสาเหตุที่เป็นผลสืบเนื่องกันมายาวนาน 
มีหลายท่านตั้งข้อสันนิษฐานสาเหตุการเสียกรุงฯ เอาไว้ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป
บ้างก็ว่ากรุงแตกเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมของระบบสังคมของอยุธยาเอง
แต่ที่แน่ๆ คือ ทางอังวะมียุทธศาตร์การรบที่เหนือกว่า มังมหานรทารู้วิธีที่จะให้กองทัพอยู่ทำการรบได้ในฤดูน้ำหลาก

"นายออกพระเห็นพ้องสนองคำ
เกิดระกำย่ำแย่มาแต่หลัง
รัชกาลก่อนกรุงยุ่งนุงนัง
ชิงบัลลังก์รบรันฆ่ากันตาย

คนดีดีปี้ป่นกันล้นหลาม
คนมีความสามารถก็ขาดหาย
เหลือแต่พวกบัดซบประจบนาย
น่าเสียดายคนที่มากฝีมือ"

ครับ...นักรบเก่งๆของกรุงศรีอยุธยาได้สูญหายตายจากไปกับการช่วงชิงราชสมบัติกันครั้งแล้วครั้งเล่า
แม้กระนั้น กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่สิ้นคนดี แต่คนดีที่เหลืออยู่ในขณะนั้นก็ไม่สามารถจะช่วยกรุงศรีฯ ให้รอดพ้นจากความปราชัยได้

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ก.ค. 14, 20:01

สาเหตุการเสียกรุงครั้งที่สอง  จากหลักฐานขั้นปฐมภูมิ  พระบวรราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายสุดจินดา มหาดเล็กวังหน้า   ได้พบเห็นความเสื่อมในราชสำนักด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ                     จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท                             เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ                     ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา             จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน                     จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี                     จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ                     เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา                             เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร
สารพัดจะเสียสิ้นสุด                             ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร                             เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม
อันจะเป็นเสนาธิบดี                             ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น           ป้องกันปัจจาอย่าให้มี
นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่                     เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระทาสี
เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี                     ไม่มีที่จะรู้สักประการ
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที                     มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน                     เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป
ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย                     ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้
ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป                     มิได้เห็นจะฝืนคืนมา
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่                     ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา
ครั้นทัพเขากลับยกมา                     จะองอาจอาสาก็ไม่มี
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ                     จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี                     เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง