เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6592 มาคุยกันเรื่องนิยายแปล กันเจ้าคะ
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 15 ม.ค. 02, 10:29

มีเรื่องเล่าจากคุณเทาชมพูกันอีกแล้วเจ้าคะ สำหรับครานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับนิยายแปล ...


คุยกันเรื่องนิยายนักสืบ



   
ท้องตลาดหนังสือในเมืองไทยนั้นเท่าที่ดูอย่างคร่าวๆ นวนิยายไทยส่วนใหญ่เป็นนวนิยายรัก ส่วนนวนิยายแปลส่วนใหญ่เป็นเรื่องนักสืบ หรือเรื่องสืบสวนผจญภัย อย่างเช่นเรื่องของนักเขียนขายดีมีชื่อ สตีเฟน คิง และอีกคนก็คือ คุณยาย อกาธา คริสตี ผู้เขียนมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ และถ้าเธอไม่ตายเสีย ก็คงจะเขียนไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๓  โดยมีแฟนอ่านกันหนาแน่นตามเคย
   
นิยายนักสืบเหล่านี้เข้าใจว่าเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ หรืออาจจะตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ และที่แน่ๆคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเป็นนักแปลพระองค์แรกที่แปลเรื่องของ คุณยาย อกาธา คริสตี คือ ชุด Poirot Investigates อันเป็นชุดรวมเรื่องสั้นการสืบสวนของนักสืบ แอร์คูล ปัวโรต์ นักสืบเอกของคุณยายเจ้าของเรื่อง ใครสนใจก็จะไปหาอ่านได้ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ ส่วนฉบับภาษาอังกฤษนั้น พิมพ์ซ้ำซากต่อมาหลายครั้งหลายคราว พอจะหาได้ตามร้านหนังสือใหญ่ๆบางแห่งในกรุงเทพฯ
   
คุณยายอกาธาผู้นี้สร้างนักสืบเอกขึ้นมาหลายคนด้วยกัน เท่าที่คนไทยรู้จักกันมากมีอยู่สองคนคือ อดีตนายตำรวจเบลเยี่ยมผู้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักสืบเอกชนชื่อ แอร์คูล ปัวโรต์ ส่วนคนที่สองนั้นเป็นสุภาพสตรีชราชื่อ นางสาวเจน มาร์เปิล อาศัยอยู่ที่ตำบลเล็กๆในชนบทอังกฤษชื่อตำบลเซนต์แม มี้ด ตำบลเจ้ากรรมนั้นมักจะมีฆาตกรรมเข้ามาพัวพันให้คุณป้าเจนต้องสืบสวนอยู่เรื่อยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่๑ มาจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าคุณยายผู้เขียนเรื่องจะถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว คุณป้านักสืบก็ยังอยู่ดีมีความสุขอยู่ที่เดิม ส่วนนักสืบคนอื่นๆที่คนไทยไม่ค่อยจะรู้จัก คือนักสืบหนุ่มสาวสามีภรรยากันคู่หนึ่งชื่อ ทอมมี่และทัพเพนซ์ คล้ายกับเรื่องนักสืบชุด ศุภวาระ-มาณะศรี ของ ว.ณ ประมวญมารคพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต แต่ว่า ว.ณ ประมวญมารค ทรงแต่งเอาไว้น้อยมาก เพียงไม่กี่ตอนตัวละครที่เป็นนักสืบหนุ่มสาวสองสามีภรรยาที่โด่งดังมาก ยังมีอีกคู่หนึ่งนอกเหนือจากคู่นี้ ได้แก่นักสืบหนุ่มชื่อ นิค ชาร์ลส์ และภรรยาสาวชื่อ นอรา อยู่ในชุดนักสืบ The Thin Man ของนักเขียนชาวอเมริกันชื่อ ดาชิลล์ แฮมเม็ตต์ นักสืบชุดนี้เคยทำเป็นภาพยนตร์และหนังชุดทางโทรทัศน์มาแล้ว ดาราหนุ่มผู้สวมบทบาท นิค ชาร์ลส์ ก็คือดารารูปหล่อในอดีต ปีเตอร์ ลอว์ฟอร์ด ซึ่งปัจจุบันแก่ชราลงไปกว่า เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ผู้เคยเล่นเป็นนางเอกของเขาในภาพยนตร์คลาสสิคสำหรับเด็กเรื่อง สี่ดรุณี หรือ Little Women คนที่จำเรื่องนักสืบเรื่องนี้ได้ว่า ปีเตอร์ ลอว์ฟอร์ด แสดงมีอยู่ไม่น้อย
   
ส่วนนักสืบที่โด่งดังที่สุดในประวัติการเขียนนวนิยายนักสืบของอังกฤษ หรืออาจจะในโลกด้วยก็ได้คือนักสืบ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ นั้น เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ อีกเหมือนกัน  แต่ไม่ได้เข้ามาเป็นที่รู้จักในนามของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ หากแต่ในนามของ นายทองอิน และหมอวัตสันคู่หูของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์นั้น กลายเป็นคนไทยชื่อ นายวัด เพื่อนสนิทของนายทองอิน ตัวละครทั้งสองตัวนี้อยู่ในชุดนิทานนายทองอิน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ว่าพฤติกรรมสอบสวนของนายทองอินนั้นไม่ได้ดัดแปลงมาจากการผจญภัยของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ทุกตอน มีอยู่ตอนหนึ่งคือ คดีผู้ร้ายฆ่าคนที่บางขุนพรหม ทรงแปลงมาจากเรื่องสอบสวนคลาสสิคของเอ็ดการ์ อัลลัน โป ชื่อ The Murder in The Rue Morgue เรื่องสอบสวนของโปเรื่องนี้ทำเป็นหนังและหนังฉายทางโทรทัศน์กันมาหลายยุคอีกหลายสมัย จนกระทั่งหายลึกลับไปแล้วเนื่องจากคนดูจำได้ขึ้นใจ ผู้สร้างแข็งใจทำเรื่องนี้ต้องดัดแปลงเสียแทบไม่เหลือเค้าเดิม มีแต่ฆาตกรซึ่งเป็นลิงเท่านั้นยังคงยืนโรงอยู่พอให้นึกได้ว่าเป็นเรื่องของโป นักเขียนเรื่องลึกลับคนดังของอเมริกา
   
นิยายนักสืบเชอร์ล็อค โฮล์มส์ นี้ถือกันว่าเป็นเรื่องเด่นมาก จนกระทั่งว่าถ้าใครเขียนเกี่ยวกับเรื่องสืบสวนลึกลับแล้วไม่เอ่ยถึงเชอร์ล็อค โฮล์มส์ก็จะรู้สึกว่าขาดตอนสำคัญไปมาก เรื่องนี้ในฉบับภาษาไทยมีคนแปลมาแล้วหลายคน เช่น หลวงสารานุประพันธ์ แปลเรื่องยาวเรื่องสำคัญที่สุดของชุดนักสืบนี้คือเรื่อง The Hound of Baskerville ใช้ชื่อว่า ทุ่งร้างบาสเกอร์วิลล์ แต่ว่าผู้ที่แปลชุดนักสืบเชอร์ล็อค โฮล์มส์ไว้อย่างครบชุดนั้นคือ อ.สายสุวรรณ
   
เมื่อเปิดดูประวัติความเป็นมาของนิยายชุดนี้แล้วนับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ในตอนแรกหมอหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ซึ่งชอบขีดๆเขียนๆหนังสือแต่ว่าขายไม่ออกนั้น เขียนเรื่องนักสืบเชอร์ล็อค โฮล์มส์ขึ้นมาโดยไม่ได้หวังอะไรมาก เพียงแต่ทำเพื่อหารายได้พิเศษระหว่างที่เปิดคลีนิกใหม่ๆยังไม่ค่อยมีคนไข้เท่านั้น แต่ว่าเรื่องนี้กลับเป็นเรื่อง “ฮิท” ขึ้นมาอย่างประหลาด ชนิดที่ว่าตัวละครเชอร์ล็อค โฮล์มส์นั้นบดบังรัศมีงานอื่นๆที่ดอยล์บรรจงทำแทบล้มประดาตายเสียสิ้น เช่นงานเขียนประวัติศาสตร์ชี้นสำคัญของเขา แม้การที่เขาได้บรรดาศักดิ์เป็น “เซอร์” นั้น คนอ่านก็เชื่อว่าเป็นเพราะว่านิยายนักสืบชุดนี้เอง ไม่ใช่เพราะงานทางวิชาการอย่างที่น่าจะเป็น
   
จนกระทั่ง เซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ถึงแก่กรรมไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ความนิยมเรื่องเชอร์ล็อค โฮล์มส์ก็ยังไม่เสื่อมคลาย ทั้งที่นิยายเรื่องนี้ลงตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ หรือว่าเมื่อ ๔๓ ปีก่อน ถ้าเป็นดาราก็คงแก่หง่อมเปลี่ยนบทจากชายหนุ่มมาเล่นเป็นบทคุณทวดแล้ว ความนิยมนี้มีมากจนกระทั่งบุตรชายของเซอร์ อาเธอร์เองชื่อ เอเดรียน โคแนน ดอยล์ และนักเขียนเรื่องสืบสวนอีกคนหนึ่งชื่อ จอห์น ดิกสัน คาร์ ต้องช่วยกันเขียนเรื่องชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ขึ้นมาอีกเป็นเรื่องสั้นหลายเรื่องด้วยกัน สนองความประสงค์ของแฟนๆที่ตามอ่านกันไม่ลดละ หลังจากนั้นก็มีการตั้ง “แฟนคลับ” ของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ขึ้น มีใครต่อใครเขียนตำรับตำราเกี่ยวกับเชอร์ล็อค โฮล์มส์ วิเคราะห์กันออกมาเป็นการใหญ่ราวกับว่าเป็นเรื่องของบุคคลจริงๆมีตัวมีตนและนักเขียนบางคนก็ผูกเรื่องเชอร์ล็อค โฮล์มส์ตอนพิเศษขึ้นมาอีก ทำที่ว่าเป็นบันทึกของหมอวัตสันคู่หูของนักสืบที่ค้นหาพบกันภายหลัง กระทั่งการทำเป็นหนังในตอนที่นักสืบผู้นี้ยังเป็นวัยรุ่น คือ Young Sherlock Holmes เรื่องของนักสืบคนนี้ก็เลยออกจะเลอะเทอะนอกกรอบที่ เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์เขียนไว้แต่เดิมมากพอสมควร แต่ว่าแฟนๆดูเหมือนจะไม่สนใจเท่าไหร่ว่าจะเลอะเทอะออกไปแค่ไหน ตราบใดที่ตัวเอกยังชื่อ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ มีผู้ช่วยชื่อวัตสัน ยังคงคุณสมบัติในการมองคนปราดเดียวก็ระบุอาชีพในอดีตและปัจจุบัน ความเป็นมา โรคภัยไข้เจ็บประจำตัวหรือแม้แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพ่อแม่ของคนๆนั้นได้อย่างแม่นยำ ด้วยวิธีการที่เจ้าตัวเรียกว่า “ศาสตร์แห่งการอนุมาน” หรือ The Science of Deduction
   
นักวิจารณ์ลงความเห็นกันว่าในบรรดาเรื่องของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ เรื่องที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องดั้งเดิมที่เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ เป็นคนแต่ง หากมิใช่ว่าเซอร์อาเธอร์นั้นแต่งดีจนไม่มีที่ติเอาเสียเลย ตรงกันข้ามความบกพร่องชนิดที่พอจะเรียกได้ว่าความชุ่ย หรือความสะเพร่าของท่านเซอร์ผู้นี้ก็มีมิใช่น้อย เช่น เมื่อพ.ศ.๒๔๓๗ ท่านแต่งให้หมอวัตสันได้แต่งงานแต่งการไปเรียบร้อยกับสตรีสาวชื่อ เมรี่ มอร์สแตน  ในเรื่องยาวชื่อ The Sign of Four แต่ว่าพอมาถึงการผจญภัยในเรื่องสั้นหลังจากนั้นกลับเขียนว่าหมอวัตสันอยู่กับโฮล์มส์ตามเดิม แต่แล้วต่อมาอีกหลายปีก็ค่อยกลับไปเขียนว่าหมอวัตสันอยู่ดีมีสุขกับภรรยา ร้อนถึงนักเขียนยุคหลังเช่นเอเดรียน โคนแนน ดอยล์ ลูกชายต้องเขียนแก้ตัวให้พ่อเป็นพัลวันว่า การที่วัตสันไปอยู่กับโฮล์มส์หลังพ.ศ.๒๔๓๗ นั้นก็ไปอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะว่าภรรยามีธุระไปค้างต่างเมืองบ้างอะไรบ้าง เผอิญมีคดีเข้ามาให้สืบในตอนที่ไปค้างอยู่ ๒–๓ คืนนั่นก็เลยเหมือนกับว่ายังอยู่ที่เดียวกับเชอร์ล็อค โฮล์มส์ แต่คนอ่านก็ไม่ว่าอะไร รู้ว่าของพรรค์นี้เซอร์อาเธอร์มีสิทธิ์ที่จะลืมได้ เพราะว่าไม่ได้เขียนติดต่อกันรวดเดียวจบหมดทั้ง ๕๒ เรื่อง บางทีก็เว้นไปหลายปีถึงจะกลับมาเขียนอีก หรือบางทีเซอร์อาเธอร์อ้างถึงคดีบางเรื่องผิดๆพลาดๆไปบ้าง คนอ่านก็ให้อภัย ถือเสียว่าคนขี้ลืมนั้นคือหมอวัตสันผู้บันทึกคดีต่างหาก ไม่ใช่ตัวนักเขียนเอง
   
เสน่ห์ของนิยายนักสืบเชอร์ล็อค โฮล์มส์นั้น ไม่ได้อยู่การที่สร้างเนื้อเรื่องซึ่งลึกลับซับซ้อนซ่อนปมอย่างดีเยี่ยม อย่างความดีของนิยายนักสืบซึ่งมักจะยึดถือข้อนี้กันโดยมาก ตรงกันข้าม การสร้างเรื่องของเซอร์อาเธอร์นั้นไม่เด่นเท่าไหร่เลย แต่ว่าความเด่นนั้นกลับไปอยู่ที่การสร้างตัวละครเอก
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ม.ค. 02, 20:01

คือ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ และหมอวัตสัน ซึ่งเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวาอย่างประหลาด ความมีฝีมืออยู่ที่คนอ่านก็รู้ๆว่าเชอร์ล็อค โฮล์มส์นั้นถูกสร้างมาอย่างจงใจให้เห็นว่า “โอเวอร์” กว่ามนุษย์จริงทั่วไป เช่นไม่มีความรัก ไม่มีอดีต เย็นชา ทำทีเหมือนไร้อารมณ์รัก โลภ โกรธ อย่างปุถุชน จนวัตสันเองก็บ่นว่าคู่หูเขานั้นไม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไป พักอยู่ห้องเช่าเดียวกันมาหลายปีแล้วก็ยังก่อความพิศวงงงงวยให้บ่อยๆและเรื่องความรู้สึกนึกคิดหรือเรื่องส่วนตัวของนักสืบผู้นี้ก็มีอยู่มากที่วัตสันทำความเข้าใจไม่ได้เลย แต่ว่าความพิศวงข้อนี้เอง เซอร์อาเธอร์วาดให้คนอ่านเห็นผ่านถ้อยคำของหมอวัตสันผู้เป็นผู้คนซื่อเสียจนคนอ่านเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับวัตสัน เห็นว่าเชอร์ล็อค โฮล์มส์มีตัวมีตนขึ้นมาจริงๆ ที่มีเสน่ห์ตรงความเร้นลับของอุปนิสัย ความแปลกของสติปัญญาและที่สำคัญคือทำความเข้าใจไม่ได้เต็มที่นี่แหละสมจริงนัก เพราะในความเป็นจริงแล้วย่อมไม่มีมนุษย์คนใดเข้าใจมนุษย์คนใดได้อย่างทะลุปรุโปร่งเช่นกัน
   
ดังนั้น ในตอนหลังๆเมื่อนักเขียนคนอื่นๆพยายามตีข้อนี้ออกมาให้แตก จนพยายามสร้างเรื่องตอนใหม่แต่งเติมขึ้นเพื่ออธิบายอุปนิสัยของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หรือบางคนก็ไม่ถูกใจที่นักสืบคนนี้ไม่มีนางเอก เลยดึงนักร้องสาวไอรีน แอดเลอร์จากตอน “คดีอื้อฉาวในโบฮีเมีย” มาเป็นเมียจนมีลูกด้วยกันกับนักสืบเอก ทำให้เสน่ห์ของเชอร์ล็อค โฮล์มส์หายไปแทบไม่มีเหลือ แถมเมื่อตีความหาเหตุผลมาอธิบายกันมากๆเพื่อให้แจ่มแจ้งหายสงสัย เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ที่ถูกพอกคำอธิบายเสียจนหนาเตอะนี้ ก็เลยกลายเป็นหุ่นไล่กา ไม่มีความสมจริงอยู่อย่างเมื่อสมัยก่อนอีก ดังนั้นถ้าใครอยากจะอ่านได้อรรถรส เห็นจะต้องอ่านเฉพาะตอนที่เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ แต่ง เห็นจะดีที่สุด
   
ความเด่นของสองข้อนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่นักวิจารณ์โดยมากนึกว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ว่าในนิยายเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างบรรยากาศให้ได้ดีมาก คือเรื่องฉาก ฉากมหานครลอนดอนสมัยที่นักสืบเอกผู้นี้อาศัยอยู่ เป็นฉากที่อ่านแล้วมองเห็นภาพได้มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ขนาดคนที่ไม่เคยไปลอนดอนมาเลยก็ยังมองเห็นตามจินตภาพของผู้ประพันธ์ว่าลอนดอนเมื่อปลายศตวรรษที่สิบเก้านั้นเป็นอย่างไร
   
นับว่าน่าแปลกอยู่เหมือนกันที่องค์ประกอบปลีกย่อยในนิยายอย่างเรื่อง “ฉาก” กลายมาเป็นส่วนเชิดชูเรื่องนักสืบเชอร์ล็อค โฮล์มส์เข้าได้ แต่จะแปลกหรือไม่แปลกก็เป็นความจริงไปแล้ว คนอ่านเรื่องนี้จนติดอกติดใจกันเกือบทั่วโลก ต่างประทับใจกับความประณีตของนักประพันธ์ที่มิได้แสดงให้เห็นเฉพาะสถานที่ในเรื่อง แต่ให้รายละเอียดของฤดูแต่ละฤดู วันอากาศดี วันฝนตกหนัก วันมีหมอก ไม่ว่าแสง สี เสียงในฉากนี้ ล้วนแล้วแต่บรรยายอย่างแจ่มแจ้งเกือบจะเหมือนภาพยนตร์ และที่แปลกมากที่สุดคือ ความสมจริง เหล่านี้หาใช่ ความเป็นจริง ของมหานครลอนดอนไม่ ขณะที่ลอนดอนทันสมัยขึ้นอย่างมากมาย  โคมไฟแก๊สเปลี่ยนเป็นโคมไฟฟ้าริมทางเท้า รถม้ากลายเป็นรถยนต์ รถใต้ดินเข้ามามีบทบาทแทนรถม้ารับจ้าง เชอร์ล็อค โฮล์มส์ และหมอวัตสันก็ยังประจำอยู่ในบรรยากาศเก่าๆของยุควิคตอเรียนอยู่เช่นเดิม อยู่กับโคมไฟแก๊ส รถม้า และเสื้อผ้าแบบเก่า จนเป็นสัญญลักษณ์เฉพาะตัว
   
คนอ่านก็ยอมรับความสมจริงนี้แต่โดยดีไม่ได้ว่าอะไร ไม่ต่อว่าสักคำว่าไม่ใช่ความจริง
   
ลักษณะของเชอร์ล็อค โฮล์มส์กลายมาเป็นอิทธิพลอย่างมากในการสร้างนักสืบยุคหลังๆ เพราะนักเขียนเริ่มมองเห็นว่า การสร้างเรื่องนักสืบซึ่งเมื่อสมัยก่อนถือกันว่าเป็น “เรื่องตลาด” นั้น ความจริงถ้าสร้างอุปนิสัยใจคอตัวละครให้ประณีต ใช้ภาษาน่าอ่าน และสร้างโครงเรื่องได้อย่างมีฝีมือแล้ว ก็มีสิทธิ์จะกลายเป็นหนังสือระดับ “วรรณคดี” ได้เหมือนกัน ดังนั้นนักสืบในนิยายนักสืบของอังกฤษในยุคต่อมาจึงค่อนข้างจะมีสีสัน มีตัวมีตนน่าสนใจขึ้นมาก อย่างเช่นนักสืบของอกาธา คริสตี เป็นต้น ดังนั้นถึงแม้โครงเรื่องและเนื้อเรื่องของเธอหละหลวมไปบ้าง แฟนประจำก็ยังให้อภัยกันได้
   
ถ้าจะเลือกเอาระหว่างนักสืบเอกทั้งสองคือปัวโรต์ และคุณป้าเจน มาร์เปิล นั้น ตัวละครตัวหลังน่าสนใจมากกว่า เพราะว่าคุณป้าเจนนั้นมีสีสันให้เห็นชัดพอใช้  เธอมีหลักในการสืบสวนอยู่ข้อหนึ่งว่า “ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ว่า ณ ที่ใด ย่อมเหมือนกัน “ Human nature is everywhere the same ดังนั้นตำบลเซนต์เมรี่ มี้ด ที่คุณป้าอาศัยอยู่ แม้ว่าเป็นตำบลเล็กๆแต่จะว่าไปก็คือเวทีจำลองของโลกทั้งโลกนั่นเอง คนในตำบลนี้มีนิสัยอย่างไร คนในโลกกว้างออกไปนอกตำบลนี้ก็มีนิสัยอย่างนั้น เมื่อคุณป้าออกไปสืบสวนในสถานที่ต่างๆเธอจึงเปรียบเทียบบุคคลที่ได้พบกับชาวบ้านตำบลเซนต์เมรี่ มี้ดที่เธอรู้จักดีทะลุปรุโปร่งเกือบจะทุกคน แล้วก็จะสรุปได้ว่า อ๋อ หมอนี่ละฆาตกรแน่ๆ เพราะนิสัยเป็นอย่างนี้เอง เหมือนช่างแก้นาฬิกาข้างบ้านฉันไม่มีผิด ในเมื่อนายคนนี้มีเหตุจูงใจอย่างนี้ หมอก็ต้องลงมือกำจัดคนนั้นเสียเองร้อยเปอร์เซนต์ด้วยความแม่นยำยิ่งกว่าหมอดูนี่เอง บางคดีคุณป้าก็สืบสวนได้โดยไม่ต้องเสียเวลาขยับกายออกจากโต๊ะกินข้าวเสียด้วยซ้ำ อาศัยใครสักคนเล่าคดีให้ละเอียดหน่อยเธอก็สรุปได้อย่างถูกต้องไม่เคยผิดพลาด จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้คนชอบอกาธา คือถือว่าใครก็ตามที่เขียนเรื่องได้เกินจริงแต่ว่ายังสามารถทำให้คนอ่านทั่วโลกตามอ่านอย่างเอาจริงเอาจังอยู่ได้ คนๆนั้นต้องมีอะไรดีไม่มากก็น้อย มีดีขนาดจับข้อผิดพลาดออกมาได้จนแทบจะกลบข้อดีหมดแล้ว เรื่องของเธอก็ยังน่าอ่านอยู่นั่นเอง บางเรื่องคุณยายอกาธา คริสตี หลอกให้คนอ่านไปกว่าสองร้อยหน้า โดยที่เงื่อนงำอยู่ในบทแรกและคุณป้าเจนเองก็ดูออกตั้งแต่แรกแล้วด้วยอีกสองร้อยหน้านั้นนับว่าคนอ่านคว้าน้ำเหลวเช่น เรื่อง Sleeping Murder ถ้าอ่านบทแรกแล้วข้ามมาอ่านบทสุดท้ายหน้าสุดท้ายจะได้ใจความครบถ้วน แต่ว่าไม่สนุก ถ้าอ่านให้สนุกต้องอ่านอีกสองร้อยกว่าหน้าที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวนั้นด้วย จึงจะครบถ้วนสมบูรณ์
   
ตอนนี้เห็นว่านิยายของอกาธา คริสตี ชักจะมีมากมายเกินไปในบ้านของเรา จึงหันไปหาเรื่องของคนใหม่ที่อยู่ในแนวเก่าเพื่อมิให้เสียบรรยากาศ นักเขียนสตรีคนนี้จะว่าไปก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งของอกาธา คริสตี แต่ว่าเธอเขียนเรื่องจำนวนน้อยกว่ามาก และถึงแก่กรรมไปเสียตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ นามของเธอจึงไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้อ่านยุคปัจจุบันนัก เธอผู้นี้คือ แพททริเซีย เว้นท์เวิร์ธ
   
ตัวละครเอกในนิยายนักสืบของแพทริเซีย เว้นท์เวิร์ธ ชื่อนางสาวม้อด ซิลเวอร์ เป็นสุภาพสตรีชราเหมือนคุณป้าเจน มาร์เปิล แทบไม่ผิดเพี้ยน เธอเป็นนักสืบอาชีพ และวิธีการสืบก็น่าสนใจ คือคุณป้าม้อดจะชอบถักไหมพรมเวลาลูกความมาปรึกษาคดี หรือเวลาเธอจะซักถามเอาความจริงจากใคร เธอก็จะถักไหมพรมต่อไปเรื่อยๆ แล้วเรื่องแต่ละเรื่องหรือเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะโยงเข้าด้วยกันเหมือนถูกเกี่ยวด้วยโซ่ไหมพรม กลายเป็นข้อเท็จจริงคลี่กางให้ดูต่อหน้าอย่างสมบูรณ์ว่าคดีฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
   
สำนวนของแพทริเซีย เว้นท์เวิร์ธ น่าอ่านตรงที่ทำสำนวนโวหารให้น่าฟังเป็นเสียงความคิดของคนแก่ได้อย่างสนิทสนม ฟังแล้วจะเข้าใจบุคลิกลักษณะของคุณป้าม้อดอย่างแจ่มแจ้งมองเห็นตัวตนได้ แล้วเป็นคนแก่แบบอังกฤษในสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียด้วย  หาที่ไหนอีกก็ไม่เหมือน บรรยากาศของท้องถิ่นชนบทยุคนั้นก็ดี วิธีการพูดของคนสมัยนั้นก็ดี ล้วนกลั่นกรองออกมาอย่างประณีตบรรจงตามความตั้งใจของนักประพันธ์ เธอตั้งใจจะให้เรื่องนักสืบชุดนี้เป็นเรื่องที่แสดงธรรมชาติความปกติสามัญของมนุษย์ในเหตุการณ์ที่ผิดปกติวิสามัญ และเธอประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ ตัวละครแต่ละตัวล้วนมีชีวิตชีวา มีบุคลิกนิสัย เป็นตัวแทนของมนุษย์จริงๆที่เห็นๆกันอยู่ทั่วไป แม้ประสบเหตุการณ์ที่ “ไม่ปกติสามัญ”  คือการฆาตกรรมก็ยังคงเป็นเรื่องชีวิตที่น่าสนใจอยู่นั่นเอง
   
สำหรับในวงวรรณกรรมไทย นิยายนักสืบไม่ได้ขยายวงมากขึ้นกี่มากน้อยในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เสียอีกที่ยังดูคึกคักกว่า นิยายนักสืบชั้นดีอย่าง คดีลึกลับแห่งมหานคร  และ แมงป่องทอง ของ แซกซ์ โรเมอร์ (สองเรื่องนี้เป็นพระราชนิพนธ์แปลของพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่มีการสืบต่อในแนวนี้อีก หรือ แพรดำ ของหลวงสารานุประพันธ์ที่ก่อความตื่นเต้นระทึกใจให้คนอ่านเกือบทั้งเมือง ก็ดูโดดเด่นอยู่เพียงเรื่องเดียวจริงๆ จะมียุคหลังเท่านั้นที่มีนิยายแนวตื่นเต้นออกมาประปรายเช่น เหยี่ยวราตรี ของ เศก ดุสิต หรือ เล็บครุฑ ของพนมเทียน แต่ก็ไม่ใช่การสืบสวนฆาตกรรมโดยตรง หากเป็นประเภทผู้ร้าย-ผู้ดี หรืองานของจารชนเสียมากกว่า
   
เมื่อหลายสิบปีก่อน พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ หรือนามปากกา ๔๔๑๑ นำนักสืบเอกชนชื่อพราน เจนเชิง มาให้คนอ่านรู้จักในชื่อ นักสืบพราน ประกอบด้วยการสืบสวนคดีหลายคดี เช่น จำเลยไม่พูด นมถ้วยสุดท้าย เป็นต้น นักประพันธ์ได้ใช้ความรู้อันเป็นภูมิหลังของตนประกอบการเขียนพฤติกรรมสืบสวนผจญภัยของนักสืบเอกชนผู้นี้ได้อย่างดี จะว่าไปแล้วพ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ เป็นนักเขียนฝีมือดีคนหนึ่งทีเดียว  สามารถสร้างตัวละครขึ้นมาได้เด่นชัดหลายตัวด้วยกัน ไม่ว่าเป็น พราน เจนเชิง พระเอกของเรื่อง มี กัลยา เลขานุการสาวสวยของเขา เกรียง นักสืบผู้ครื้นเครงในสำนักงาน และ พิชิต นักสืบรูปหล่ออีกคนหนึ่ง เป็นตัวประกอบให้รสชาติกับเรื่องได้ดีด้วยกันทั้งสามคน แต่ก็น่าเสียดายว่าเมื่อนักเขียนผู้นี้ได้รามือไปจากวงการ เรื่องนักสืบในทำนองนี้ไม่มีใครเดินรอยตามให้เห็นเด่นชัดพอจะยกมาเทียบเคียงกันได้จนกระทั่งปัจจุบัน แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะคนที่จะเขียนเรื่องอย่างนี้ได้ นอกจากมีจินตนาการแล้ว ยังจะต้องมีความรู้ทางด้านการสืบสวนสอบสวนอยู่มาก จะนั่งเทียนเขียนกันง่ายๆก็ทำไม่ได้ นายตำรวจนักเขียนมือดีอีกสองคนคือ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และ ลิขิต วัฒนปกรณ์ ถึงเขียนเรื่องตื่นเต้นลึกลับอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ในแนวนักสืบอย่างที่กล่าวมา
   
เส้นทางที่ค่อนข้างจะกระท่อนกระแท่นของนิยายนักสืบในเมืองไทย ปัจจุบันนี้ยิ่งจางลงไปแทบจะไม่เห็นรอย การแปลนวนิยายตื่นเต้นลึกลับโลดโผนของฝรั่งที่แพร่หลายอยู่มากคงจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เส้นทางนี้สะดุดหยุดสำหรับนิยายนักสืบของไทย คนอ่านนิยมอ่านเรื่องแปล นักแปลมือดีมีหลายคน นอกจากนี้เรื่องนักสืบของฝรั่งยังมีฉากแปลกน่าสนใจ ตลอดจนวิทยาการทันสมัยต่างๆช่วยให้ติดตามเรื่องได้อย่างน่าระทึกใจ
   
อย่างที่สองคือการขาดแคลนนักเขียนที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านนี้ และความสนใจทางด้านนี้ เท่าที่มีอยู่บ้างมักจะมีฝีมือในการเขียนเรื่องโลดโผนผจญภัยในทำนองจารชน เจมส์ บอนด์ ในยุคที่เจมส์ บอนด์ เฟื่องฟู และอาจจะเป็นไปได้ว่าถึงแม้ว่านักเขียนที่มีความรู้และมีฝีมือพอที่จะเขียนได้ยังมีอยู่บ้าง ก็ไม่วายมีอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง คือตลาดที่จะเผยแพร่ผลงานของตน เพราะตลาดหนังสือปัจจุบันนี้เป็นของนวนิยายประเภทอื่นไปเสียหมดแล้ว
   
นักเขียนเรื่องนักสืบของอเมริกาดูจะโชคดีกว่า (ก็คงจะเหมือนในอีกหลายๆด้านถ้าเทียบกับนักเขียนไทย) คือตลาดที่จะเผยแพร่ผลงานของตนมีอยู่ทั้งในนิตยสารและสำนักพิมพ์ที่จะพิมพ์รวมเล่ม นิตยสารที่ลงเฉพาะเรื่องสืบสวนสอบสวนเท่านั้นมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ เช่น นิตยสารของราชาแห่งเรื่องลึกลับที่รู้จักกันดี คือ Alfred Hitchcock’s Mystery Magazine ต่อมาก็คือ Ellery Queen’s Mystery ซึ่งจะนำเอาชื่อพระเอกนักสืบในนิยายนักสืบเรื่องดังของอเมริกาคือ เอลเลอรี่ ควีนมาตั้งเป็นชื่อนิตยสาร คล้ายกับนิตยสารอีกฉบับหนึ่งคือ Mike Shayne Mystery Magazine เพราะว่ายอดชายนายไม้ค์ เชน คนนี้เป็นนักสืบเอกชนในนิยายนักสืบชุด ไม้ค์ เชน มีชื่อเสียงพอๆกับเอลเลอรี่ ควีน ในเมืองไทยมีผู้นำมาแปลแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ (แต่ไม่แน่ใจว่าผู้แปลคือ เนื่องน้อย ศรัทธา หรือไม่ เพราะไม่ได้พิมพ์รวมเล่มเอาไว้ ) และนอกจากนี้นิตยสารที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีนิตยสารในทำนองนี้อยู่อีกหลายฉบับ พอที่นักเขียนเรื่องนักสืบในอเมริกาจะไม่มีวันเหงา
   
นอกจากนี้ ยังมีสมาคมนักเขียนเรื่องลึกลับ เรียกว่า Mystery Writers of America
   
ส่วนในวงวรรณกรรมไทยนั้น คงจะได้แต่เพียงเปิดหน้ากระดาษบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีนิยายนักสืบ และปัจจุบันเรามีเรื่องแปล ย้อนกลับไปครบวงจรของยุคแรกเริ่มในสมัยรัชก串ลที่ ๖ อีกครั้งหนึ่ง
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ม.ค. 02, 20:43

ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า นักสืบสองสามีภรรยาคู่ขวัญ พระนิพนธ์ท่านหญิงวิภาวดีนั้น จะชื่อ ศุกระวาร - มาณะศรี ไม่ใช่หรือครับ แต่ก็ไม่แน่ใจนะครับ

ศุกระวาร แปลง่ายๆ ว่าวันศุกร์เท่านั้นเอง สัมผัสกับ มาณะศรี ซึ่งเป็นชื่อภริยาด้วย ไม่ทราบว่าก่อนที่สองคนนี้เขาจะจีบกันได้คิดถึงเรื่องชื่อคล้องกันหรือเปล่า

เรื่องนักสืบแท้ๆ ที่ใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน แบบเชอร์ล็อก โฮลมส์ วงการวรรณคดีไทยเราอาจจะไม่ค่อยมีแล้วในยุคหลัง (นานๆ ทีก็เห็นที) แต่เรื่องแนวจารชนและเรื่องแนวอาชญนิยาย ยังอุดมสมบูรณ์มาก ในนิตยสารบางฉบับอย่าง บางกอก นั้นเป็นแหล่งของเรื่องบู๊โลดโผนทำนองนี้เลย เมื่อเร็วๆ นี้คือไม่กี่ปีมานี้เห็นเรื่อง ล่าปีศาจ แต่ยังไม่ได้อ่าน

เคยเห็นเรื่องสั้นชุด ดูเหมือนในสกุลไทย หลายปีมาแล้ว เป็นเรื่องของนักสืบที่รับสืบปริศนาต่างๆ มีเรื่องหนึ่งที่เป็นปริศนาลายแทงสมบัติ แต่เป็นแบบลายแทงไทยโบราณไม่ใช่สมบัติโจรสลัดฝรั่ง เขียนได้ดีทีเดียว แต่หลังๆ ก็ไม่เห็นมีอีก

ถ้ามีใครนึกสนุกอยากแต่งเรื่องนักสืบไทยๆ ผมเสนอพล็อตไว้ 2 อันครับ เพราะเก็บไว้กับตัวนานแล้วไม่รู้จะเอาไปเป็นปมปริศนาในเรื่องไหน 1. รหัสลับเลขสี่ตัวของอะไรก็ได้ (อาจจะเป็นรหัสตู้เซฟ) ที่มีคำไขรหัสว่า "บังคับโคลง"  - เฉลย 1724 คือ เอกเจ็ดโทสี่ 2. การจับโกหกผู้ร้ายเกี่ยวกับ พ.ศ. และ ค.ศ. ถ้าจำไม่ผิด ปี พ.ศ. 2484 หรือไงนี่แหละ มีแค่ 9 เดือน เพราะแต่ก่อนนี้ไทยเราขึ้นปีใหม่เปลี่ยน พ.ศ. วันที่  1 เมษายน ไม่ใช่ 1 มกราคม มาปรับเป็น 1 มกราคมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีปี พ.ศ. หนึ่งที่เดือนหายไป 3 เดือน ถ้าผู้ร้ายคนสมัยปัจจุบันไม่รู้เรื่องนี้ ก็อาจจะอ้างถึงวันที่ที่ไม่มีปรากฏในปฏิทินให้พระเอกจับโกหกได้
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ม.ค. 02, 22:07

ชอบเรื่องแนวนี้มากค่ะ โดยเฉพาะปัวโรท์   แต่อ่านทีไรไม่เคยเดาได้ซักทีว่าใครเป็นตัวร้าย  ช่วงหลังนี้จะซื้องานของลอเรนซ์ แซนเดอร์ ชุดอาร์ชี่ มาอ่าน  พ่อนักสืบคนนี้เน้นเรื่องแต่งตัว  จีบสาวและอาหารการกินซะส่วนใหญ่  โครงเรื่องไม่ค่อยซับซ้อนมากเลยพอเดาได้บ้างว่าใครเป็นฆาตกร บางคดีหมูมาก  อ่านปุ๊บก็รู้ปั๊บเลย   แต่ความสนุกอยู่ที่ได้ลุ้นว่านายอาร์ชี่จะสืบยังไงค่ะ
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ม.ค. 02, 22:29

ขอบพระคุณ คุณ นกข. เจ้าคะ
ทาง เราพีน้องสองคนต้องขอโทษด้วยเจ้าคะ พิมพ์ชื่อ หนังสือ พระนิพนธ์ของ ท่านหญิง ผิดไป
ที่ถูกต้องชื่อ "ศุกระวาร-มาณะศรี"
บันทึกการเข้า
น่าน
อสุรผัด
*
ตอบ: 6

ทำธุรกิจส่วนตัว


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ก.พ. 06, 13:53

 ชอบนิยายสืบสวนสอบสวนมาก เรื่องที่ท่านหญิงนิพนธ์เคยอ่านเหมือนกันแต่จำไม่ได้เพราะว่าเคยอ่านตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เรื่องเชอร์ล็อค โฮมส์ก็อ่านและติดตามเกือบทุกตอนที่หาได้ เรื่องของอกาธา คริสตีก็ตามอยู่ตอนนี้เพราะว่ามีพิมพ์ออกขายใหม่หลายเล่ม
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 ก.พ. 06, 10:10

 โห กระทู้เก่าอีกอันหนึ่ง

เพิ่งอ่านอีกรอบแล้วเลยนึกได้ว่า ผู้การพุฒ (4411) เนี่ย ดูเหมือนจะเป็นนายตำรวจชั้นอัศวินของคุณเผ่าอยู่ด้วยคนหนึ่งนี่ครับ ใช่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเป็นคนเดียวกันก็ไม่สงสัยว่าทำไมตอนหลังท่านไม่มีเวลาเขียนหนังสือ เพราะมีปัญหายุ่งๆ ทางการเมือง เกี่ยวกับลูกพี่ท่านในตอนหลังๆ

ตอนนี้ผมอ่านนักสืบ/นักร้องเพลงลูกทุ่ง พุ่มรัก พานสิงห์ ของคุณวินทร์ เลียววาริณ อยู่ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง