เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 8993 สามก๊ก ไซ่ฮั่น ราชาธิราช
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 09 ม.ค. 02, 10:57

สัปดาห์นี้มีเกร็ดวรรณกรรมจาก คุณเทาชมพูมาฝากเจ้าคะ

วรรณกรรมรัตนโกสินทร์
กั บ โ ล ก ทั ศ น์ ช น ชั้ น น ำ ไ ท ย



   
วรรณคดี ๓ เรื่องคือ สามก๊ก ไซ่ฮั่น และ ราชาธิราช เกี่ยวข้องกับโลกทัศน์ (หรือทัศนะ) ของผู้บริหารประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างไรบ้าง
   
ผู้บริหารประเทศในที่นี้ หมายถึงพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ (วังหลัง) ผู้อำนวยการแปลเรื่อง ไซ่ฮั่น  หรือ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ผู้อำนวยการแปลเรื่อง สามก๊ก และ ราชาธิราช เพราะท่านทั้งสองนี้เพียงแต่รับพระราชโองการมาดำเนินการหรือใช้ภาษาปัจจุบันว่า ‘รับนโยบายมาปฏิบัติ’ เท่านั้น
   
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นการสูญเสียทุกๆด้านไม่ว่าความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ ทรัพยากรบุคคล ศิลปวัฒนธรรม ระยะเวลา ๑๕ ปีสมัยธนบุรีก็ต้องใช้ไปในการทำศึกสงครามไม่ว่างเว้น ดังนั้นเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา ผู้บริหารประเทศจึงเห็นความจำเป็นในการฟื้นฟูคุณค่าที่สูญเสียไปให้กลับมาโดยเร็ว และสิ่งที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น หากได้ผลมากกว่าหนึ่งทาง ทำนองยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวก็จะยิ่งเป็นการดี ดังนั้นวรรณคดีที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลายเรื่อง ไม่ว่า รามเกียรติ์ ราชาธิราช สามก๊ก ไซ่ฮั่น จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามทั้งสิ้น เพราะกลิ่นอายของสงครามตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๐ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ ยังมีให้เห็นโดยตลอด เรื่องของสงครามจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของผู้ก่อให้เกิดวรรณคดี และเป็นที่ยอมรับของสังคมตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับสามัญได้ด้วย
   
ถ้าจะพิจารณาถึงโลกทัศน์ของชนชั้นนำของสังคมไทยในยุคนั้น ก็พิจารณาได้จากจุดมุ่งหมายในการแต่งหรือแปลวรรณคดีเหล่านี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานจุดมุ่งหมายของการแปล สามก๊ก ว่า
   
“เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นหนังสืออันสมควรแปลไว้เพื่อประโยชน์ราชการบ้านเมือง”
   
ผู้สนใจ สามก๊ก อีกหลายท่าน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในการแปล สามก๊ก ฉบับภาษาไทย เช่น
   
-สมพันธุ์ เลขะพันธุ์  ใน วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวว่า การแปล สามก๊ก อาจเป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเผยแพร่กลยุทธ์และไหวพริบทางการทหาร เพื่อทันกับความจำเป็นสำหรับการทัพกับพม่า
   
-กาตาร มันตะสูตร ผู้เรียบเรียง วรรณกรรมไทยปัจจุบัน เห็นว่า การแปลสามก๊กอาจเป็นเพราะสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ อาจจะทรงมีพระราชประสงค์จะปลูกฝังความสามัคคีให้เกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนั้น เพราะก่อนสมัยพระองค์ คนไทยแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าถึงห้าก๊ก
   
-ธวัช ปุณโณทก ให้ความเห็นไว้ใน แนวทางการศึกษาวรรณกรรมปัจจุบัน ว่า รัชกาลที่ ๑ อาจจะทรงมีพระราชประสงค์ให้พวกราชนิกุลได้ตระหนักถึงสถานภาพของตน เลือกใช้คนด้วยความระมัดระวัง
   
ผู้วิจารณ์เห็นว่าความคิดของสมพันธุ์ เลขะพันธุ์น่าจะตรงกับจุดมุ่งหมายใหญ่มากที่สุด ดังที่สุนันท์ พวงพุ่ม ได้สรุปผลวิเคราะห์ไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่า
   
“…ผู้ประพันธ์ สามก๊ก เป็นฉบับภาษาไทยฉบับแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลอุบายทางการเมืองและการสงครามเท่านั้น เมื่อสามก๊กเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงมีผู้นำไปประพันธ์ใหม่ สารของผู้ประพันธ์ สามก๊ก ในระยะนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสดง ในระยะที่สาม ผู้ประพันธ์ต้องการเสนอสารที่เป็นทั้งสาระและความบันเทิงใจ”
   
(จาก สุนันท์ พวงพุ่ม การศึกษาสารของผู้ประพันธ์สามก๊กฉบับต่างๆในภาษาไทย)
   
สุนันท์ สรุปผลไว้ว่า สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาสาระสำคัญของเนื้อหาเกี่ยวกับอุบายการสงคราม และอุบายการเมืองซึ่งจำแนกเป็นอุบายทางการทูตและการปกครอง อุบายเหล่านี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในตำราทางการเมืองและการสงคราม
   
ดังนั้น การพิจารณาโลกทัศน์ของชนชั้นนำสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จึงต้องดูจากจุดมุ่งหมายและเนื้อหาดังที่กล่าวมา ส่วน สามก๊ก ฉบับแรกนี้จะแปลมาจากฉบับไหนของจีน ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์ เพราะไม่ใช่สิ่งสำคัญและไม่เกี่ยวกับโลกทัศน์ของชนชั้นนำของไทย สมัยนั้นเราก็คงไม่มี สามก๊ก ฉบับสำนวนต่างๆให้เลือกแปลได้มากอยู่ดี ฉบับไหนแพร่หลายตกมาถึงเมืองไทย มีเนื้อหาบริบูรณ์ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่องไม่ขาดหายไป ก็คงเลือกแปลฉบับนั้น เพราะการแปลนั้นฝ่ายคนไทยไม่ได้เป็นผู้กำหนดต้นฉบับด้วยตนเอง ต้องอาศัยล่ามและผู้รู้ภาษาจีนไปแปลเอาความชั้นหนึ่งก่อนแล้วขัดเกลาเป็นภาษาไทยที่เรียบร้อยได้ใจความ และเป็นที่เข้าใจดีสำหรับคนไทย ก่อนจะเขียนลงในสมุด ความเข้าใจสำหรับคนไทยนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะการแปลมุ่งประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองไทย ให้คนไทยอ่าน ไม่ใช่มุ่งประโยชน์ราชการบ้านเมืองจีน หรือเผยแพร่วรรณกรรมจีน ด้วยเหตุนี้ ต้นท้อในฉบับจีนจึงกลายเป็นต้นยี่โถในฉบับภาษาไทย กิเลนก็กลายเป็นราชสีห์ หน้าหนาวหญ้าตายก็กลายเป็นหน้าร้อนหญ้าตาย เพื่อให้คนไทยเข้าใจง่ายนั่นเอง
   
พิจารณาต่อเนื่องว่า สามก๊ก แปลขึ้นเพื่อประโยชน์ของราชการบ้านเมือง อย่างใด ก็ต้องดูว่าชนชั้นนำในสมัยนั้นนึกอย่างไรกับบ้านเมือง คำตอบก็คือรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังอยู่ในภาวะศึกสงคราม ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ชนชั้นนำย่อมห่วงใยความมั่นคงของประเทศชาติเป็นอย่างมาก วรรณคดีนอกจากเป็นเครื่องหมายของวัฒนธรรมและบำรุงขวัญประชาชนในด้านฟื้นฟูทางใจแล้ว ก็อาจจะนำมารับใช้ทางด้านการทหารได้ด้วย
   
สามก๊ก เป็นเรื่องของการทำสงครามในอีกรูปแบบหนึ่งที่นักการทหารไทยแต่เดิมอาจไม่คุ้นเคยมาก่อน เพราะสมัยอยุธยา ไทยทำสงครามแบบประจัญหน้า ถ้าขยายออกไปตีบ้านเมืองอื่น (เช่นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ก็เป็นฝ่ายตั้งทัพรับอยู่ในเมือง ออกรบนอกกำแพงเมืองหรือยิงปืนใหญ่ต่อสู้ เพราะไทยได้เปรียบที่มีป้อมปราการแข็งแรง เสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ ชำนาญภูมิประเทศนับว่าได้เปรียบกว่า (เช่นสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย) แต่ว่า สามก๊ก  แน่นขนัดไปด้วยสงครามในรูปแบบการทำอุบายสารพัดแบบ แบ่งเป็น
   
๑ อุบายการเมือง ประกอบด้วย
   
๑.๑ อุบายทางการทูต
   
ขงเบ้งผูกไมตรีเป็นพันธมิตรกับซุนกวนแห่งกังตั๋ง ไม่ยอมให้โจโฉผูกมิตรหรือครอบงำซุนกวนให้ ถ้าหากก๊กโจโฉและก๊กซุนกวนเกิดรวมกันได้ ก๊กเล่าปี่ก็จะเสียเปรียบอย่างมหาศาล
   
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ รัตนโกสินทร์ผูกมิตรกับลานนา สืบทอดมาตั้งแต่สมัยธนบุรีตอนปลาย เพราะถ้าหากว่าลานนาตกไปเป็นของพม่า จะทำให้ไทยต้องรับศึกหนักทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันตก (กาญจนบุรี)
   
๑.๒ อุบายทางการปกครอง
   
ใน สามก๊ก พระเจ้าจักรพรรดิในเมืองหลวงอยู่ในฐานะรัฐบาลกลาง แต่บังคับบัญชาเพียงในราชธานี หัวเมืองต่างอยู่ในอำนาจของเจ้าเมือง รัฐบาลกลางต้องระวังมิให้พวกนี้เป็นกบฏได้   แต่จะควบคุมได้ก่อต่อเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิมีอานุภาพมาก หรือมีอัครมหาเสนาบดีที่สามารถเป็นที่ยำเกรง
   
รัตนโกสินทร์เองก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เช่นการแต่งตั้งข้าราชการออกไปปกครองหัวเมือง ลดอำนาจเจ้าประเทศราชให้มาขึ้นกับเมืองหลวง เอาตัวรัชทายาทเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงโดยถือว่าเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเช่นกรณีเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เลือกใช้เสนาบดีที่เก่งกล้าและสามารถตลอดจนจงรักภักดี เช่นเจ้าพระยาบดินทรเดชาในรัชกาลที่ ๓  สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึง ๓ จะเห็นว่าเสนาบดีที่เก่งกล้าจะอยู่ในเมืองหลวง และโปรดให้ยกทัพออกไปปราบปรามศัตรูเมื่อจำเป็น แต่ไม่ได้แต่งตั้งให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองหรือเจ้าประเทศราชอย่างถาวร แม้การเลือกวังหน้าหรือพระมหาอุปราชก็เลือกผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยเช่นกัน
   
ส่วนอุบายการสงคราม ใน สามก๊ก มีหลายสิบแบบ เช่นการโจมตีด้วยหลักยุทธศาสตร์ โจมตีจุดอ่อนของข้าศึก แสร้งทำว่ามีกำลังมาก สอดแนม ใช้จารชน ฯลฯ จะเคยนำออกมาใช้หรือไม่นั้นน่าจะมีการวิเคราะห์ต่อไป แต่สังเกตว่าการทำสงครามเก่าทัพที่รบกับพระเจ้าปดุง ไทยใช้รูปแบบแตกต่างจากที่เคยทำสมัยอยุธยา เป็นการใช้กำลังน้อยแต่เอาชนะข้าศึกที่กำลังมากได้ด้วยวิธีการต่างๆกัน
   
หลักการแปลวรรณคดี สามก๊ก อาจนำไปใช้วิเคราะห์ ไซ่ฮั่น และ ราชาธิราช ได้เช่นกัน
   
การตั้งสมมุติฐานว่า การเรียบเรียง ราชาธิราช น่าจะมาจากสำนึกและการรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณของพม่า ก็นับว่าน่าสนใจ ราชาธิราช มีการทำสงครามหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับ สามก๊ก ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ทางการทหารไม่มากก็น้อย และอีกข้อหนึ่งคือ ถ้าหากว่าเรื่องนี้พงศาวดารพม่าแทนที่จะเป็นมอญ (ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์) ต่อให้ทำการรบดีเด่นขนาดไหน ไทยก็คงไม่อยากแปลเพราะขัดต่อความรู้สึกร่วมสมัยว่าจะเป็นการยกย่องศัตรู เราเพิ่งจะมายกย่องพม่าก็ใน ผู้ชนะสิบทิศ ในระยะไม่กี่สิบปีมานี้เอง เป็นสมัยที่สงครามระหว่างไทยกับพม่าเป็นอดีตหลายชั่วคนก่อนหน้า จนคนไทยลืมความทารุณโหดร้ายของผู้ชนะกระทำต่อผู้แพ้ไปเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ม.ค. 02, 22:57

ขอบคุณนะคะ  ยังไม่มีโอกาสได้อ่านละเอียด ทั้งสาม เรื่อง
มีเรื่องสามก๊ก ที่พอจะทราบเรื่อง ได้อ่านบางตอนไปแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 17 คำสั่ง