เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3729 นักเขียนยอดนิยม
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 03 ม.ค. 02, 10:40

ถ้าท่านยังจำได้ว่า ก่อนหน้านี่ เราสองพี่น้อง ได้นำคำบอกเล่าของ คุณเทาชมพู เกี่ยวกับนักเขียนบันลือโลกมาให้ท่านอ่านกันบ้าง คราวนี้ เรามีเรื่องของ นักเขียนยอดนิยมเจ้าของสถิติของกินเนสต์บุ๊ค

บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์…
…กับนิยายขายดีที่สุดในโลก



   
นักแปลระดับครูของวงการแปลนวนิยาย ๒ คน คือ อมราวดี และ นิดา ต่างแปลนิยายรักของนักเขียนคนเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย กล่าวคือ อมราวดี แปล ทรามวัยในม่านเหล็ก จาก An Innocent In Russia และนิดาแปล เส้นทางกำยาน จาก The Perfume of the Gods ทั้งสองเรื่องนี้เป็นสองในจำนวนหลายร้อยเรื่องที่แต่งโดยบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์
   
บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เป็นนักเขียนติดอันดับเบสเซลเลอร์ตลอดกาลประเภทนวนิยายรัก และติดอันดับหนึ่งของกินเนสบุ๊คเรื่อยมาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๙ ในฐานะนักเขียนที่ผลิตผลงานออกมามากที่สุดในโลก
   
ส่วนในประเทศไทย ผลงานแปลของบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์วางตลาดอยู่หลายเล่มตั้งแต่ทศวรรษก่อน แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ก็ไม่ถึงหนึ่งในสิบของเรื่องทั้งหมดที่เธอแต่งด้วยซ้ำไป
   
บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เคยมาเที่ยวเมืองไทยหลายหน พักอยู่ที่โรงแรมโอเรียนเตล ชอบแต่งกายหรูเริดและโปรดปรานสีชมพูแปร๊ดเข้าชุดกันตั้งแต่หัวถึงเท้าที่เธอเรียกเองว่า   ‘คาร์ทแลนด์ พิ้งค์’ นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงฐานะในสังคม นอกจากเป็นนักเขียนขายดีที่สุดในโลกแล้ว เธอยังเกี่ยวดองห่างๆกับราชวงศ์อังกฤษในฐานะเป็นแม่ของแม่เลี้ยงของเจ้าหญิงไดอาน่า (อธิบายอีกทีคือลูกสาวของเธอแต่งงานกับเอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ พ่อของเจ้าหญิงไดอาน่า) แต่บาร์บาร่าไม่ค่อยจะได้เอ่ยถึงการเกี่ยวดองนี้นัก แม้งานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่าเธอก็ไม่ได้ไป เพราะมีข่าวว่าเจ้าหญิงไดอาน่าไม่ถูกกับแม่เลี้ยงเท่าไร
   
ชีวิตนักประพันธ์ของบาร์บาร่าถอยหลังกลับไปได้ถึง พ.ศ.๒๔๖๘ เมื่อนวนิยายเรื่องแรกชื่อ Jigsaw ตีพิมพ์จำหน่าย เรื่องนี้เป็นนิยายรักของสาวน้อยผู้ไร้เดียงสา เดินทางมาสู่มหานครลอนดอนเป็นครั้งแรก และหวุดหวิดจะตกเป็นเหยื่อของชายโฉด แต่เธอก็พาตัวเองรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ด้วยความดีงามและได้สมรสกับชายผู้เลิศที่สุดในเรื่องคือเป็นถึงท่านดยุค
   
นวนิยายเรื่องแรกนี้ประสบผลสำเร็จดีมาก แปลเป็นภาษาต่างๆถึง ๕ ภาษา และตีพิมพ์ซ้ำกันถึง ๖ ครั้ง หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถึงกับยกย่องผู้แต่งว่า
   
“มิสคาร์ทแลนด์เป็นหนึ่งในบรรดาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ฉลาดเฉลียวแหลมคมที่สุด และมิได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเฉพาะในวงสังคมเท่านั้น เธอได้สร้างชื่อเสียงขึ้นมาในโลกของวรรณกรรมด้วย”  (จาก The Sketch,October14,1925)
   
บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ใช้ชีวิตในสังคมอย่างหรูหรามาตั้งแต่ยังสาว สมรสกับทายาทของสำนักพิมพ์เอกชนใหญ่ที่สุดของอังกฤษ คือสำนักพิมพ์ของตระกูลแมคคอโคเดล มีพี่ชายเป็นนักการเมืองหนุ่มชื่อโรนัลด์ คาร์ทแลนด์ ตัวเธอเองนอกจากเขียนนวนิยายแล้วยังจัดรายการวิทยุชื่อ Making the Best of Oneself (ทำตัวให้งาม) ด้วยการแถลงให้ผู้หญิงด้วยกันฟังว่าควรแต่งเนื้อแต่งตัวและจัดการเหย้าการเรือนอย่างไร ชีวิตสมรสจึงจะผาสุก ช่วงทศวรรษแห่งความมีเกียรติและมีความสุขนี้สะท้อนอยู่ในสารคดีอัตชีวประวัติตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ชื่อ We Danced All Night ฟังแต่ชื่อก็สะท้อนชีวิตอันบันเทิงเริงรมย์ได้เป็นอย่างดี
   
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ บาร์บาร่าหย่าขาดจากสามี มีลูกสาวติดมาคนหนึ่ง (ต่อมาก็คือเคานเตสแห่งสเปนเซอร์ แม่เลี้ยงของเจ้าหญิงไดอาน่า) ช่วงนั้นฐานะของเธอตกต่ำลงกว่าเดิม การเขียนนวนิยายจึงเป็นแหล่งรายได้หลักของเธอ บาร์บาร่าเพิ่มปริมาณนวนิยายด้วยการบอกให้เลขานุการจดลงเป็นตัวหนังสือ และสามารถผลิตได้ถึงวันละ ๑๐,๐๐๐ คำ เธอได้ใช้วิธีนี้มาเรื่อยตลอดเวลาหลายสิบปีหลังจากนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเธอแต่งนิยายแต่ละเล่มได้จบภายใน ๗ วัน ใน ๑ ปีเธอแต่งได้ถึงยี่สิบกว่าเล่ม บางปีก็ถึง ๒๗ เล่ม ทำลายสถิติของกินเนสได้ในที่สุด ไม่มีใครเท่าจนปัจจุบัน
   
ไม่กี่ปีต่อมา บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์สมรสใหม่กับญาติของสามีเดิม และกลับคืนสู่ชีวิตมั่งคั่งอีกครั้ง เธอทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ควบคู่กันไปกับงานเขียนนวนิยายด้วย และบรรยายไว้ในคำนำประวัติชีวิตของเธอแนบกับหนังสือทุกเล่มที่เธอแต่ง แฟนๆหนังสือสามารถหาอ่านได้ทุกเวลาว่าเธอทำอะไรบ้าง เช่นเป็นนายกสมาคมสุขภาพแห่งอังกฤษ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลและนางผดุงครรภ์ และจัดตั้งสถานที่พักแรมของพวกยิปซีเร่ร่อนขึ้นเป็นครั้งแรก ได้รับการขนานนาม่วา ‘บาร์บาร่า วิลล์’ เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ แต่ผลงานอะไรก็ไม่โด่งดังเท่าการเขียนนวนิยาย บาร์บาร่าเคยให้สัมภาษณ์ว่า
   
“ฉันเป็นนักเขียนที่มีผลงานขายดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขายมาแล้วประมาณสองร้อยล้านเล่ม และเขียนหนังสืออย่างอื่นนอกจากนวนิยายอีกหลายประเภท เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ ตำราเกี่ยวกับสุขภาพ และหนังสือชีวประวัติ เป็นต้น”
   
จนทุกวันนี้ บาร์บาร่าก็ยังจ้างเลขานุการ ๔ คนทำงานเต็มเวลา และอีก ๖ คนทำงานครึ่งเวลาไว้คอยจดจำคำพูดของเธอไม่ปากเปล่าก็อัดเทปวันละ ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ คำเป็นประจำ สำนักพิมพ์ใหญ่ๆเช่น แพน คอร์กี และ แบนตัม ล้วนแล้วแต่รับพิมพ์เรื่องของเธอ และข้ามจากทวีปยุโรปเข้าไปถึงอเมริกาเป็นที่นิยมมาก จนสำรวจกันว่า ๑๘% ของแม่บ้านอเมริกันเคยอ่านนิยายของบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์มาแล้วทั้งสิ้น
   
นวนิยายรักของบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์มีอะไรวิเศษพิสดารนักหรือ จึงเป็นที่ติดอกติดใจของนักอ่านทั่วโลก คำตอบก็คือเปล่าเลย  นวนิยายหลายร้อยเล่มของเธอมีพล็อตเรื่องซ้ำๆกัน มีพระเอกนางเอกแบบฉบับอยู่คู่เดียว มีแก่นเรื่องอยู่แก่นเดียว ดังจะแยกออกมาได้เป็นข้อๆดังนี้
   
๑. เนื้อเรื่องต้องเป็นอดีตในศตวรรษที่ ๑๖ ถึง ๑๙ ไม่ใช่ยุคปัจจุบัน อย่างทันสมัยที่สุดก็ต้นศตวรรษที่ ๒๐ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับขุนนางผู้ดีมีตระกูล ความโอ่อ่าของคฤหาสน์ งานเลี้ยงในพระราชวัง และเครื่องแต่งกายวิจิตรตระการตาของสาวสมัยในยุคนั้นๆ
   
๒. พระเอกเป็นหนุ่มรูปหล่อผมสีเข้ม อายุตั้งแต่ ๒๘ ไปจนสามสิบเศษ ท่าทียโสถือตัวเบื่อหน่ายสังคมและสาวๆที่รุมล้อม หักอกผู้หญิงมานับไม่ถ้วนแต่ไม่เคยรักใคร (จนได้พบนางเอก) เขาต้องมียศเป็นขุนนาง อย่างต่ำก็เซอร์ อย่างสูงก็ดยุค หรืออาจเป็นเจ้าชายและพระราชาในแคว้นใดแคว้นหนึ่งในยุโรป แต่ส่วนใหญ่เขาเป็นชาวอังกฤษ มียศระดับเอิร์ล ลอร์ด และมาควิส มากที่สุด มีคฤหาสน์ใหญ่โตอยู่ในชนบท แต่ตัวเขามักเป็นหนุ่มสังคมอยู่ในลอนดอน
   
นางเอกเป็นสาวเอวบางร่างน้อยเหมือนนางไม้ หน้าตาดูไร้เดียงสาเหมือนเด็ก ชื่อเธอลงท้ายด้วยอักษร a หรือไม่ก็ ia เป็นลูกผู้ดีมีตระกูลแต่มักจะจนมากกว่ารวย เธอมักอยู่ในชนบทแต่มีเหตุให้มาเผชิญภัยในลอนดอนและรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้อย่างหวุดหวิด ข้อสำคัญคือเธอต้องเป็นสาวพรหมจารีตลอดไปจนได้แต่งงานกับพระเอกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
   
๓. แก่นเรื่องมีอยู่แก่นเดียวคือการเทิดทูนรักแท้ และทัศนะมีอยู่ทัศนะเดียวคือ
   
“นางเอกของฉันต้องเป็นสาวพรหมจารี”   บาร์บาร่าเคยแถลงเช่นนี้  “ฉันเป็นนักเขียนคนเดียวในโลกที่แวดล้อมด้วยสาวพรหมจารีอย่างน้อยก็ร้อยห้าสิบคนเข้าไปแล้ว”
   
ถ้าหากจะถือว่านิยายยอดนิยมเป็นเครื่องวัดค่านิยมของสังคมนั้น เราก็คงพิศวงอยู่เหมือนกันว่านิยายรักของบาร์บาร่าขายดีเป็นอันดับหนึ่งของโลกตะวันตกได้อย่างไร ในเมื่อรู้ๆกันอยู่ว่าค่านิยมเรื่องพรหมจรรย์ของหญิงสาวนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้วในศตวรรษนี้ ดังนั้นก็ต้องดูจากเหตุผลที่แฝงอยู่ในเรื่องซึ่งผู้แต่งมิได้อำพรางไว้อย่างใด
   
สิ่งนั้นก็คือบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์มิได้เสนอความเป็นจริงของชีวิต หากแต่เสนอสิ่งที่มนุษย์ทั้งชายและหญิง อยากให้เป็น ในชีวิต
   
ด้วยเหตุนี้ นางเอกของบาร์บาร่า จึงเป็นตัวแทนความสวย ความอ่อนหวาน ไร้เดียงสาและความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของเพศหญิง ส่วนพระเอกย่อมจะตรงกันข้าม คือเป็นชายรูปหล่อมียศศักดิ์และเป็นนักรักตัวฉกาจ (ซึ่งผู้ชายจำนวนมากก็คงอยากมีคุณสมบัติเหล่านี้)  ฉากแรกในนิยายจำนวนหลายสิบเรื่องจึงเปิดขึ้นในห้องนอนของสตรีสาวอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นคู่ชู้ชมของพระเอก หญิงสาวตัวประกอบเหล่านี้มีตั้งแต่โสเภณีชั้นสูงไปจนถึงสตรีบรรดาศักดิ์ทว่ามีพฤติกรรมสำส่อน แต่ละคนต่างก็แสดงบทบาทหลงใหลเสน่ห์ของพระเอกด้วยกันทั้งสิ้น ทำให้พระเอกของบาร์บาร่าต้องทำตัวลื่นยิ่งกว่าปลาไหล เพื่อจะดิ้นหลุดจากกรงเล็บของเจ้าหล่อน แล้วเขาก็เที่ยวแสวงหารักแท้จนพบในตัวของนางเอก เมื่อถึงตอนนั้นเขาก็จะเป็นฝ่ายใช้ประสบการณ์สอนให้เธอรู้จักความรักทั้งทางกายและทางใจ
   
บาร์บาร่ายอมรับมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าเพศชายย่อมอยู่เหนือกว่าเพศหญิงโดยธรรมชาติ ในด้านความแข็งแกร่ง ฉลาดเฉลียวรอบรู้ และการดำเนินชีวิตที่เสรีกว่า และในเมื่อชายหญิงไม่มีความเสมอภาคกันอยู่แล้ว พระเอกผู้ช่ำชองในเชิงรักจังเป็น ‘ครู’ ผู้สอน และได้ความบริสุทธิ์ตลอดจนความรักของ ‘นักเรียน’ เป็นการตอบแทน (ก็ใครจะสอนภรรยาได้ดีกว่าสามีเล่า?)
   
เพื่อไม่ให้เรื่องจืดชืดเกินไป บาร์บาร่าจึงสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์เข้าไปในเรื่องด้วยบ้าง หรือที่นิยมอีกอย่างหนึ่งคือให้นางเอกต้องพลัดเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่น่าจะพลัดเข้าไป เช่นโรงละครชั้นต่ำ ซ่องโสเภณีชั้นสูง หรือกลุ่มเมียเก็บอาชีพ ซึ่งพระเอกสามารถเข้าไปเที่ยวตามสถานที่เหล่านี้ได้โดยไม่มีใครเห็นแปลก และก็ช่วยนางเอกออกมาได้อย่างปลอดภัยเสมอ
   
คล้ายกับเรื่อง ดาวพระศุกร์ ถ้ายังจำได้
   
นวนิยายของบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาสังคม หรือหัวข้ออะไรยากๆเช่นสิทธิสตรี การศึกษา ความเสมอภาค ปัญหาเรื่องการแบ่งผิว หรือการเก็บภาษี ยิ่งไปกว่าเรื่องรักเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีผู้นำไปศึกษาเชิงสังคม ก็พบว่านิยายของเธอสะท้อนค่านิยมของสตรีในระดับกลางๆได้เป็นอย่างดี พวกนี้แม้ไม่ได้อยู่อย่างนางเอกของบาร์บาร่า และไม่เคยเจอชายที่เหมือนพระเอกของบาร์บาร่า แต่ก็ยินดีที่จะอ่านเกี่ยวกับชายหญิงประเภทที่ตนเองไม่ได้เป็นและไม่ได้เจอ และที่ง่ายกว่านั้น คือการยอมรับว่าชายอยู่ เหนือ กว่าหญิง และจะอยู่กันด้วยรักแท้ตลอดไป
   
ตราบใดที่ความฝันและความจริงยังไม่บรรจบพบกัน นวนิยายของบาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ก็ยังขายได้ดีตลอดกาล
บันทึกการเข้า
บัวบรรณ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 ม.ค. 02, 20:30

ขอบคุณดร.สาวและนายตะวันมากนะคะ
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ม.ค. 02, 21:47

เคยอ่านเหมือนกันค่ะ
สนุกนะคะ ขอบคุณค่ะที่มาเล่าเบื้องหลังการเขียนให้ทราบ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ม.ค. 02, 21:48

ในบรรดานิยายหลายร้อยเรื่องของคุณป้าบาร์บาร่า คลับคล้ายคลับคลาว่ามีเรื่องหนึ่งใช้เมืองไทยเป็นฉากครับ แต่เป็นเมืองไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ ตามความถนัดของเธอที่ชอบแต่งอะไรที่พิงอยู่กับประวัติศาสตร์ (สงสัยว่าเธอคงนั่งแต่งที่ตึกเก่าโรงแรมโอเรียนเต็ลริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเอง)

ผมเคยอ่านลวก ๆผ่านๆ นานมากแล้ว จำอะไรเกี่ยวกับเรื่องไม่ได้มาก เพราะไม่ค่อยมีอะไรให้จำ แต่รู้สึกว่าก็ไม่ผิดไปจากสูตรสำเร็จของเธอในเรื่องอื่นๆ อีกเก้าร้อยเก้าสิบเก้าเรื่องเท่าไหร่ เป็นเรื่องพาฝันๆ เหมือนเดิม จำได้อย่างหนึ่งว่าพระเอกนางเอกเป็นฝรั่งทั้งคู่ เพียงแต่เผอิญเรื่องมาเกิดที่สยาม ไม่มีประเด็นความแตกต่างหรือขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างพระเอกกับนางเอก หรืออะไรทำนองนั้นเลย
บันทึกการเข้า
ราชาวดี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ม.ค. 02, 23:54

ขอบคุณน้องแพรกับน้องนายค่ะ ที่นําเรื่องมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

เคยอ่านเรื่องที่คุณ นคค พูดถึงค่ะ เสียดายที่
ทําหนังสือเล่มนั้นหายไปเสียแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 ม.ค. 02, 10:37

คุณทวด บาร์บาร่า ถึงแก่กรรมไปเมื่อปีก่อนนี้เอง อายุได้ ๙๗ ปี
นิยายเธอ ๘๐๐ กว่าเรื่อง มี ๑ พล็อต เท่านั้นเอง  เป็นที่น่าอิจฉาของนักเขียนที่ต้องหาพล็อตแทบล้มประดาตายกว่าจะเขียนได้แต่ละเรื่อง

นิยายที่ใช้ฉากในเมืองไทยสมัย ร. ๕   ชื่อ Reach for the Star หรืออะไรคล้ายๆอย่างนี้
เนื้อเรื่องก็อย่างที่ว่าละค่ะไม่เกี่ยวอะไรกับไทยเท่าไร  พระเอกนางเอกชาวอังกฤษมาใช้ฉากในเมืองไทยก็เท่านั้นเอง
เธอชอบมาพักที่โอเรียนเต็ล  ก็คงจินตนาการไปได้เรื่อยๆผิดบ้างถูกบ้าง  เอาแน่ไม่ได้

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า คุณทวดบาร์บาร่าในฐานะที่เป็นแม่ของแม่เลี้ยงของเจ้าหญิงไดอาน่า เคยออกมาวิจารณ์ตอนเจ้าหญิงหย่าจากเจ้าฟ้าชายชาลส์ใหม่ๆ ทำนองว่าเจ้าหญิงควรจะผูกใจสามีให้ได้    
เหมือนกับว่าการไม่สามารถทำให้สามีรักได้ลง เป็นความล้มเหลวของผู้หญิง
ในนิยายของเธอ   ถ้าเป็นชีวิตจริง ดิฉันว่าหลังจากจบเรื่องไปได้ไม่กี่ฉาก  นางเอกเธอน่าจะถูกพระเอกนอกใจเกือบทุกเรื่องก็ว่าได้
เพราะพระเอกแต่ละคนเพลย์บอยเหลือเกิน  หาดีๆมาแต่แรกไม่ได้สักคนเดียว
บันทึกการเข้า
ตา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 ม.ค. 02, 22:40

เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูค่ะ เพราะสมัยเด็กๆก็ชอบอ่านหนังสือของเธออยู่เหมือนกัน อีกอย่างก็คือ ถ้าในชีวิตจริง ไม่รู้ว่านางเอกของเธอจะอยู่กับพระเอกได้รอดรึเปล่า เพราะรู้สึกจะรักกันเร็วเหลือเกิน เห็นแค่สวยกับหล่อก็ดูจะตกหลุมรักกันง่ายจริงๆ ยังไม่รู้เลยว่าภูมิหลังที่ต่างกันและสภาพแวดล้อมจะเข้ากันได้จริงๆหรือเปล่า มีหลายเรื่องดีอยู่หน่อย คือให้นางเอกบ้าง พระเอกบ้างเป็นกำพร้า หรือประเภทเกือบจะเหลืออยู่คนเดียวในตระกูล ก็เลยรีบรวบรัดแต่งงานได้ไม่ยาก แล้วอย่างนี้จะไปรอดมั้ยคะเนี่ย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง