เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 37880 เทศน์มหาชาติ
หนุ่มไฮเทค
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 08 ต.ค. 00, 12:00

น้องผมถามมาว่าเทศน์มหาชาติมีทั้งหมดกี่กัณฑ์ กัณฑ์อะไรบ้าง กัณฑ์ไหนยาวที่สุด ผมไม่ทราบคำตอบ ขอถามผู้รู้ในนี้ ช่วยตอบด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ก.ย. 00, 00:00

เทศน์มหาชาติ มี ๑๓ กัณฑ์ เรียงตามลำดับดังนี้ค่ะ
ทศพร
หิมพานต์
ทานกัณฑ์
วนปเวสน์ (อ่านว่า วะนะปะเวด)
ชูชก
จุลพน
มหาพน
กุมาร
มัทรี
สักกบรรพ(อ่านว่าสักกะบับ)
มหาราช
ฉกษัตริย์ (คำหน้าอ่านว่า ฉะ  หรือถ้าออกเสียงแบบโบราณ เป็น ฉ้อ)
นครกัณฑ์
ทั้งหมดนี้ ทานกัณฑ์ยาวที่สุด มี ๒๐๙ คาถา
บันทึกการเข้า
หนุ่มไฮเทค
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ก.ย. 00, 00:00

ขอบคุณมากๆเลยครับคุณเทาชมพู

ขอถามต่อได้ไหมครับว่าแต่ละกัณฑ์ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง คร่าวๆก็ได้ครับ

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ก.ย. 00, 00:00

ขอตอบรวมๆว่า เทศน์มหาชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า  คือเรื่องราวของพระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมี  
ถ้าคุณช่วยน้องทำรายงาน  เข้าไปค้นข้อมูลได้ที่ www.siamguru  ที่คำว่า "เทศน์มหาชาติ" มีอยู่หลายเว็บค่ะ
บันทึกการเข้า
หนุ่มไฮเทค
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ก.ย. 00, 00:00

ครับ ขอบคุณมากครับคุณเทาชมพู
บันทึกการเข้า
ฟ้าใส
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ต.ค. 00, 00:00

ได้เคยอ่านร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกหลายสำนวน  พบว่ามีหลานสำนวนที่มีข้อความซ้ำกัน  จนน่าจะสันนิษฐานได้ว่ามีที่มาจากแหล่งเดียวกัน เช่น กัณฑ์มัทรี (เจ้าพระยาพระคลัง) กับมหาชาติเมืองเพชรบุรีจึงอยากทราบที่มาของร่ายยาวที่มีอยู่ในปัจจุบันค่ะ
 
บันทึกการเข้า
ฟ้า-เวอร์ริเดียน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ต.ค. 00, 00:00

ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจคำถามของคุณฟ้าใสถูกต้องรึเปล่านะคะ  ถ้ายึดตามหนังสือประวัติวรรณคดีไทย  ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเท่าที่พบสำนวนก็เป็นขอวสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น  ก่อนหน้านั้นจะมีมหาชาติคำหลวงและกาพย์มหาชาติ  มหาชาติคำหลวงแต่งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ต่อมาก็เป็นกาพย์มหาชาติสมัยพระเจ้าทรงธรรม  และต่อมาก็เป็นฉบับร่ายยาวซึ่งแต่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  แต่ทั้งนี้ขอย้ำนะคะว่านี่คือตามประวัติวรรณคดีไทยที่เราเรียนกันมาแต่โบราณ  สำหรับประเด็นที่คุณฟ้าใสสงสัยถ้าดิฉันเข้าใจไม่ผิดคงต้องการกล่าวถึงความคล้ายคลึงระหว่างสำนวนท้องถ่ิ่นเมืองเพชรบุรีกับสำนวนหลวง (ที่กระทรวงศึกษานำมาให้เรียนกัน)  เท่าที่ดิฉันทราบก็เป็นอย่างที่คุณฟ้าใสทราบคือสำนวนหลวงหลายสำนวนมีสำนวนโวหารเหมือนกับมหาชาติเพชรบุรี  แต่เท่าที่ทราบไม่ใช่กัณฑ์มัทรีของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นะคะ  เป็นกัณฑ์อื่นอีกหลายกัณฑ์  
ที่เป็นเช่นนี้ดิฉันเห็นว่าร่ายยาวมหาเวสสันดรหรือร่ายยาวมหาชาตินั้นคงมิได้มีเฉพาะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่คงจะมีการแต่งกันแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และดิฉันคิดว่าสำนวนเมืองเพชรบุรีแท้จริงก็อาจจะเป็นสำนวนกรุงศรีอยุธยานั่นเองแต่ไม่มีใครทราบ  เพราะนึกว่าเป็นมหาชาติท้องถิ่นเหมือนกับมหาชาติในท้องถิ่นอื่นๆ  ที่ดิฉันคิดเช่นนี้ก็เพราะเมืองเพชรบุรีีเป็นเมืองโบราณที่ถือว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์  (แม้แต่น้ำที่จะใช้ในพระราชพิธีสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังเอามาจากเพชรบุรี) มีประวัติคู่มากับอยุธยา  ดังนั้นในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาแตกจึงอาจเป็นไปได้ว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตได้อพยพและขนย้ายเรื่องวรรณคดีของชาติซึ่งรวมทั้งเรื่องมหาชาติจากกรุงศรีอยุธยาไปไว้ที่เมืองเพชรบุรีด้วย  แต่คงไม่มีการอธิบายให้ชัดเจน คนรุ่นหลังจึงเข้าใจว่าเป็นงานของกวีท้องถิ่น  ดังจะเห็นว่าเราพบวรรณคดีสำคัญหลายเรื่องที่จังหวัดเพชรบุรี  นอกจากนี้จะสังเกตว่าผลงานด้านการช่างของเมืองเพชรฯเป็นที่ขึ้นชื่อมากซึ่งก็อาจสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างจากกรุงศรีอยุธยาที่อพยพไปเมืองเพชรบุรีนั่นเอง

ลองอ่านมหาชาติเมืองเพชรของอาจารย์นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ดูนะคะ  คงจะตรงใจคุณฟ้าใสมากกว่าที่ดิฉันตอบแน่ๆค่ะ  

แหล่งอ้างอิง
"มหาชาติเมืองเพชร" ในปากไก่และใบเรือ ของนิธิ  เอียวศรีวงศ์
วิทยานิพนธ์เรื่องมหาชาติกัณฑ์ชูชก  ของสมาน  โซะเหม (ดิฉันอาจจะจำชื่อเรื่องผิดไป  ขออภัยค่ะแต่ก็คงจะทำนองนี้)
และผลการศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมเมืองเพชร ของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว

ส่วนเรื่องที่่ร่ายยาวกัณฑ์มัทรีของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไปคล้ายของใครนั้น  ดิฉันจำได้ว่าคล้ายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส กัณธฑ์มัทรีเช่นกัน
ตามประวัติวรรณคดีไทยบอกว่าสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ไม่ได้แต่งกัณฑ์มหาพนกับมัทรี  แต่ว่าตอนนี้หอสมุดแห่งชาติพบร่ายยาวกัณฑ์มัทรีของพระองค์แล้ว  แต่ยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ  (แต่ก็มีผู้คัดลอกข้อความบางตอนมาเผยแพร่บ้างแล้วค่ะ)
 
บันทึกการเข้า
Mastertete
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ต.ค. 06, 13:22

 ต้องการรายละเอียดอะไรก็เว็บนี้ละกานครับ
มีทั้งเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบแต่ละกัณฑ์ด้วย
 http://www.srp.ac.th/~anurat/wetsandon1.htm  
บันทึกการเข้า
Mastertete
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ต.ค. 06, 13:24

 มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช



ผู้แต่ง         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ที่มาของเรื่อง  มหาเวสสันดรชาดกเป็นชาดกเรื่องหนึ่งในทศชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเพื่อบำเพ็ญบารมีต่างๆ ๑๐ ประการ ชาดกทั้ง ๑๐ เรื่องมีดังนี้

. เตมียชาดก เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี

. มหาชนกชาดก เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี

. สุวรรณสามชาดก เสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี

. เนมีราชชาดก เสวยพระชาติเป็นพระเนมี บำเพ็ญอธิษฐานบารมี

. มโหสถชาดก เสวยพระชาติเป็นพระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี

. ภูริทัตชาดก เสวยพระชาติเป็นพระภูริทัต บำเพ็ญศีลบารมี

. จันทกุมารชาดก เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี

. นารทชาดก เสวยพระชาติเป็นพระนารทะ บำเพ็ญอุเบกขามบารมี

. วิทูรชาดก เสวยพระชาติเป็นพระวิทูร บำเพ็ญสัจบารมี

เวสสันดร เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี



       มหาเวสสันดรนี้ถือกันว่าเป็นชาดกที่สำคัญที่สุด เพราะในชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ ประการ เป็นพระชาติที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธามากกว่าพระชาติอื่นๆ ในทศชาติ ถึงกับเกิดเป็นประเพณีมีเทศน์มหาชาติกันทั่วไปเป็นประจำทุกปี

       มหาเวสสันดรชาดกนี้เป็นเรื่องเล่าซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้บรรดาสาวกฟังตามคำทูลขอ เรื่องมีอยู่ว่า



       เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายังกรุงกบิลพัสดุ์ และได้เข้าประทับอย่ในนิโครธารามวิหาร บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายต่างพากันมาเฝ้า พระประยูรญาติผู้ใหญ่ทั้งหลาย บังเกิดทิฐิเห็นว่า พระพุทธองค์ยังทรงพระเยาว์ไม่อยากจะกระทำความเคารพ จึงให้เจ้านายเด็กๆ มาอยู่ข้างหน้า พวกผู้ใหญ่ก็หลบไปอยู่ข้างหลัง พระพุทธเจ้าทรงทราบโดยพระอัธยาศัย จึงทรงกระทำอภินิหารเปล่งฉัพพรรณรังสี บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย แม้แต่พระพุทธบิดาเมื่อได้ทรงเห็นมหัศจรรย์เช่นนั้นก็ทรงกระทำคารวะ ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงท่ามกลางพุทธสมาคมนั้น นับเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อกลับถึงพระอาราม บรรดาสาวกจึงพูดกันถึงเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องเช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บรรดาสาวกทั้งหลายจึงทูลอาราธนาให้ทรงเล่า จึงทรงตรัสเล่าเรื่องเวสสันดร



       มหาเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติที่นักเรียนจะได้เรียนต่อไปนี้ คือฉบับของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้จัดรวบรวมมหาชาติกลอนเทศน์สำนวนต่างๆ และคัดเลือกสำนวนที่มีความไพเราะมากที่สุดได้ครบ ๑๓ กัณฑ์ นำมารวบรวมพิมพ์เป็นเล่มสำหรับใช้เป็นแบบเรียนและเรียกตามชื่อชาดกว่า มหาเวสสันดรชาดก เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๕)

เนื้อเรื่อง     มหาเวสสันดรชาดกที่นำมาให้นักเรียนเรียนนี้คือกัณฑ์มหาราช เป็นกัณฑ์ที่ ๑๑ สำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมปรมานุชิตชิโนรส ความว่า

       พระเวสสันดรพระราชทานสองกุมารให้แก่ชูชกตามคำขอ ชูชกก็พาสองกุมารพลัดหลงเข้าไปในนครสีพี ผ่านหน้าที่ประทับของพระเจ้ากรุงสญชัย พระเจ้ากรุงสญชัยเมื่อทราบความทั้งหมดจึงขอไถ่ตัวสองกุมารจากชูชกตามที่พระเวสสันดรได้ตรัสคาดค่าไถของสองกุมารไว้ ส่วนชูชกได้รับพระราชทานรางวัลและบริโภคอาหารเกินขนาดจนถึงแก่ความตาย ชาวเมืองสีพีคลายจากความ แค้นเคืองพระเวสสันดร ต่างพากันกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงสญชัยให้ทูลเชิญพระเวสสันดรเสด็จกลับพระนคร พระเจ้ากรุงสญชัยจึงมีรับสั่งให้พระชาลีเสด็จไปเชิญพระเวสสันดร แต่พระชาลีอ้างว่าตนเองเป็นเด็กไม่สมควรไปเชิญ พระเจ้ากรุงสญชัยจึงเสด็จพระราชดำเนินไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วสั่งให้จัดทัพเพื่อเสด็จไปรับพระเวสสันดรกลับกรุงสีพี

       เพลงประจำกัณฑ์มหาราชใช้บรรเลงเพลงกราวนอก แสดงถึงการยกพลซึ่งพระเจ้ากรุง  สญชัยเสด็จออกไปรับพระเวสสันดร

ลักษณะคำประพันธ์ แต่งเป็นร่ายยาว มีลักษณะบังคับดังนี้

. คณะ จัดเป็นบท แล้วแบ่งเป็นวรรค บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ และในวรรคหนึ่งๆ ก็ไม่

กำหนดคำแน่นอนอาจมีตั้งแต่ ๔-๕-๖-๗ คำไปจนถึง ๑๔-๑๕ คำก็มี

. สัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหนึ่งๆ ต้องสัมผัสกับคำใดคำหนึ่งในวรรคต่อไป แต่ไม่

ควรเป็นคำสุดท้ายของวรรคนั้น และสัมผัสติดต่อกันไปจนจบบท

. คำเป็น-คำตาย คำสุดท้ายของบทหนึ่งๆ ไม่ควรให้เป็นคำตายหรือคำที่ผันด้วย

วรรณยุกต์

. คำสร้อย หากจำเป็นก็เติมคำสร้อยได้ ๒คำ ที่ท้ายบทหรือจะเติมระหว่างวรรคใด

วรรคหนึ่งก็ได้ ร่ายยาวไม่กำหนดจำนวนคำและสัมผัสแน่นอน

คุณค่าของงานประพันธ์ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราชนี้ เป็นกัณฑ์ที่สำคัญและไพเราะมากกัณฑ์หนึ่ง ผู้เทศน์กัณฑ์นี้มักมีเสียงก้องกังวาน เรียกว่า เสียงมหาราช เป็นเสียงมีสง่าเหมาะสำหรับบทเจราจาของเจ้านายและบทจัดทัพจัดพล บทเจรจาโต้ตอบนั้นคมคาย เฉียบแหลมน่าฟังมาก มีบทที่เป็นคำพูดของชูชกและอำมาตย์เพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นก็มีบทพรรณนาชมป่าอีกบ้าง เฉพาะแหล่จัดพลกวีได้ทรงแต่งเป็นกลบท ซึ่งมีเล่นสัมผัส เล่นคำ ทำให้ไพเราะเป็นพิเศษ

       ผู้มีบทบาทสำคัญในกัณฑ์มหาราชนี้คือ พระเจ้ากรุงสญชัย ผู้ที่มีส่วนสำคัญรองๆลงมา ได้แก่ พระชาลี ชูชก และเหล่าอำมาตย์

แนวคิด แนวคิดสำคัญของเรื่องได้แก่ “ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม” การที่พระชาลีและพระกัณหาเต็มใจให้พระเวสสันดรสละตนให้แก่ชูชกนั้นถือได้ว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม กล่าวคือ ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที สองกุมารต้องทนทุกข์ทรมานเดินทางไปในป่ากับชูชกในฐานะทาสอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาก็ได้เป็นไทแก่ตัวและได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยความสวัสดี นอกจากนั้นยังมีแนวคิดอื่นอีกหลายข้อ เช่น ผู้มีปัญญาและคุณธรรมถึงแม้จะเป็นเด็กก็ย่อมได้รับการยกย่องจากผู้ใหญ่ อำนาจแห่งคุณธรรมย่อมชนะอำนาจทั้งปวง

ค่านิยม ค่านิยมที่ได้จากเรื่องอาจพิจารณาได้เป็น ๒ แนว คือ

. แนวโลกียะ หมายถึง แนวที่ยังข้องอยู่ในโลก

. แนวโลกุตระ หมายถึง แนวที่พ้นโลก อันปุถุชนจะขึ้นถึงได้โดยยาก

ตัวอย่างค่านิยมแนวโลกียะและแนวโลกุตระ



       การที่พระเจ้ากรุงสญชัยทรงขับไล่พระเวสสันดรให้เสด็จไปอยู่ป่า แสดงว่าพระองค์มีค่านิยมในแนวโลกียะ กล่าวคือพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของประโยชน์แห่งรัฐคือกรุงสีพียิ่งกว่าการปฏิบัติธรรมของพระเวสสันดร เมื่อปรากฏว่าพระเวสสันดรได้พระราชทานสองกุมารให้แก่    ชูชก พระองค์ก็ไม่อาจปลงพระทัยเชื่อ ทรงคลางแคลงพระทัยว่าจะเป็นกลลวงของชูชก แสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากรุงสญชัยทรงมีค่านิยมอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในทางโลก

       ครั้นเมื่อพระชาลีทรงตอบโต้คำกล่าวติเตียนพระเวสสันดรจากหมู่อำมาตย์ พระเจ้ากรุงสญชัยก็ทรงปลอบพระชาลีมิให้น้อยพระทัย และตรัสสรรเสริญการบริจาคทานของพระเวสสันดร อันแสดงถึงค่านิยมที่โน้มเอียงไปในแนวโลกุตระของพระเจ้ากรุงสญชัย นอกจากนี้ในระยะหลังๆ ด้วยความสำนึกบางประการอาจมีส่วนทำให้พระเจ้ากรุงสญชัยมีค่านิมโน้มเอียงไปในทางโลกุตระ เช่น พระองค์รับสั่งขออภัยพระชาลี ทรงยอมรับผิดที่ทรงเนรเทศพระเวสสันดรตามคำยุยงของชาวเมือง ทรงพระราชทานรางวัลให้แก่ชูชกโดยมิได้ทรงเสียดายในทรัพย์ และด้วยความรักและเมตตาธรรมต่อพระเจ้าหลานทั้งสอง ทรงจัดงานสมโภชเป็นการรับขวัญพระราชนัดดาตามประพณี ตลอดจนจัดทัพเพื่อเสด็จไปรับพระเวสสันดรตามคำทูลของพระชาลี อันแสดงว่าพระเจ้ากรุงสญชัยทรงละอัสมิมานะ(มานะว่าเป็นของเรา) คือการถือว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีพระราชอำนาจลงเสียได้

       สำหรับค่านิยมของพระชาลีนั้น อาจวิเคราะห์จากพระวาจาและการปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ได้ว่า แม้จะยังมีค่านิยมในแนวโลกียะ กล่าวคือแสดงความโกรธเมื่อหมู่อำมาตย์ตำหนิติเตียนการบริจาคพระโอรสและพระธิดาของพระเวสสันดร หรือการกล่าวตัดพ้อพระเจ้ากรุงสญชัยที่ทรงเนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง และการทูลขอให้พระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จพระราชดำเนินไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนสู่นครด้วยพระองค์เอง ล้วนเป็นค่านิยมในแนว     โลกียะ

       ค่านิยมที่โน้มเอียงไปในแนวโลกุตระของพระชาลี ได้แก่ การที่พระชาลียินยอมเป็นเครื่องมือในการบริจาคบุตรทานของพระเวสสันดร ทรงปฏิบัติพระองค์ได้สอดคล้องกับอุดมคติในทางโลกุตรธรรมของพระบิดา เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสญชัยก็แสดงอาการสำรวมอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ตีตนเสมอพระองค์โดยถือว่าเคยเป็นหลาน

       การกล่าวตำหนิพระเวสสันดรของหมู่อำมาตย์ในการบริจาคพระโอรสพระธิดาแก่ชูชกก็เป็นค่านิยมในแนวโลกียะ เพราะปุถุชนธรรมดาทั่วไปย่อมมีจิตสนิทเสน่หาในบุตรธิดาแห่งตนยากที่จะหยิบยกให้ไปเป็นทาสแก่ผู้ใด ส่วนพฤติกรรมของชูชกก็มีค่านิยมแนวโลกียะด้วยคำนึงถึงประโยชน์แห่งตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด



ความรู้แทรก

ร่ายกลบท

       เวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาราชของสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ร่ายกลบทในตอนจัดทัพไว้ ๔ แบบ ได้แก่



ร่ายกลบทกบเต้นต่อยหอย



     ตัวอย่าง

       สรรแต่หาญสารตัวเหี้ยม เทียมช้างมารทานช้างหมื่น พื้นโถมศึกฝึกทนศร ร่อนงาส่าย   ร่ายเงยเศียร เรียนเชิงสู้รู้ชนสาร ร่านบ้าแทงแรงบ่ถอย ร้อยคชหนีรี่ขึ้นหน้า... เทิดกระบี่ที่กระบวน ทวนหอกรำทำหันร่อน

ข้อกำหนด สัมผัสในให้คำที่ ๑ กับคำที่ ๔ คำที่ ๒ กับคำที่ ๕ และคำที่ ๓ กับคำที่ ๖ สัมผัสอักษรกัน และให้คำที่ ๓ กับคำที่ ๔ สัมผัสสระกัน ส่วนสัมผัสนอกต้องให้คำสุดท้ายของวรรคต้นสัมผัสกับคำต้นของวรรคต่อไปและไม่บังคับวรรณยุกต์ (ดูผังและตัวอย่างประกอบ)



ร่ายกลบทกบเต้นสลักเพชร



ตัวอย่าง

       ต่างแกล้วสรรตัวกลั่นสรรพ แล่นโจมทัพไล่จับทัน จู่เข้าฟันจับคันฟาด ล้มกลิ้งดาษลงกลาดดื่น ขุนม้าพื้นขุนหมื่นพัน ตัวล่ำสันต่างลั่นศร ตั้งมือร่อนโตมรรำ เสื้อแดงก่ำสีดำแกม หมากสุกแปมม่วงแซมปน หมู่พหลม้าพลหาญ ... ชาญศึกรู้เชิงสู้รับ แม้ร้อยทัพมารับทัน

ข้อกำหนด สัมผัสในให้คำที่ ๑ กับคำที่ ๔ คำที่ ๒ กับคำที่ ๕ และคำที่ ๓ กับคำที่ ๖ เป็นคำสัมผัสอักษรกัน และให้คำที่ ๓ กับคำที่ ๕ สัมผัสสระกัน ส่วนสัมผัสนอกต้องให้คำที่ ๖ ของวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคหลัง (ดูผังและตัวอย่างประกอบ)





ร่ายกลบทยัติภังค์



ผัง

       เหมือนกับร่ายธรรมดา แต่ในระหว่างวรรคต้องให้เป็นคำยัติภังค์ คือ ใช้คำที่มี ๒ พยางค์หรือมากกว่า ๒ พยางค์ก็ได้แต่เขียนแยกกัน เอาพยางค์หน้าหรือครึ่งคำข้างหน้าไปไว้เป็นพยางค์ท้ายของวรรคหน้า และเอาพยางค์หลังหรือครึ่งคำหลังไปไว้เป็นพยางค์หน้าของวรรคหลัง เวลาอ่านต้องอ่านพยางค์หน้าซ้ำกัน ๒ ครั้ง วรรคหนึ่งใช้คำระหว่าง ๘ ถึง ๑๐ คำ ให้คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่ ๕ ของวรรคหลัง

ตัวอย่าง

       หมู่สหชาติโยธีมีประมาณหมื่น หกพันสรรพางค์พื้นแต่ใส่สวม เสื้อหมวกเหมาะเกราะนวมดูต่างๆ สีสรรพ์พรรณสี่อย่างควรจะพึงพิศ วงผจงพิจิตรจรูญเจริญ เนตรวิเศษโศภณเพลินบางจำพวกบรร เทือง... ไกลาส คิรีสีขาวบริสุทธิ์สะอาดอุฬารตระการตา



ร่ายกลบทนาคบริพันธ์

ผัง

       เหมือนกับร่ายธรรมดา แต่ต้องให้มีสัมผัสเกี่ยวข้องกันระหว่างวรรคเหมือนร่ายกลบทยัติภังค์

ตัวอย่าง

       แล้วเร่งรัดจัดสรรพลรถาหมื่นสี่พัน พื้นพิจิตรรังสรรค์สุวรรณรัตน์ สุวรรณรถจำรัสอร่ามเรือง อร่ามรุ่งบรรเทืองอัมพรเพริศ อัมพรพรายธงชายเฉิดเฉลิมงอน เฉลิมงามสงครามสยอนไม่ต่อติด ไม่ต่อต้านทานฤทธิ์เข้ารุกราญ เข้ารุกรับยับแตกฉานพังประลาต พ่ายประลัยลงดื่นดาษพสุธาธาร สะเทื้อนถิ่นอรินทรสถานทั่วทุกด้าว ทั่วทุกแดนสดับข่าวก็ยำเยง ก็ย่อหย่อนอ่อนเกรงไม่รอนราญ



ความหมายของคำว่า “ชาดก” คำนี้เป็นภาษาบาลี จากคำว่า “ชาตะ” แปลว่าเกิด ลง ก. ปัจจัยเป็น “ชาตก” แล้วแผลงตัว ต. เป็น ด. จึงเป็น “ชาดก” แปลว่า ชีวประวัติ หรือเรื่องของพระพุทธเจ้าขณะเกิดเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีต่างๆ เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้

ชาดก แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

. นิบาตชาดก เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกหรือพระสูตร เป็นหนังสือเรื่องใหญ่มี

นิทานชาดกถึง ๕๕๐ เรื่อง

. ปัญญาสชาดก คือประชุมเรื่องนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันมาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยโบราณ

๕๐ เรื่อง



ชื่อเรื่องชาดกนี้ มีเรียกกันต่างๆ ดังนี้

. เทศน์คาถาพัน โดยเหตุที่เรียกมหาเวสสันดรชาดกเดิมแต่งเป็นฉันท์ ภาษาบาลี

สันนิษฐานว่านักปราชญ์อินเดียฝ่ายใต้(ลังกา)เป็นผู้แต่ง ชาดกเรื่องนี้มี ๑๓ กัณฑ์ แต่งจบด้วยคาถา ๑,๐๐๐คาถา จึงเรียกกันทั่วไปว่า “เทศน์คาถาพัน” เทศน์เป็นภาษาบาลีล้วนๆ เข้าใจว่ามีเทศน์นี้ตั้งแต่สุโขทัยแล้ว แม้ผู้ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ถือกันว่าฟังจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จะได้บุญมาก

. เทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าตอนเสวยพระชาติเป็น

พระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติสุดท้าย ในชาตินี้พระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างยอดยิ่ง คือ       ปิยบุตรทารทานบารมี คือการบริจาคพระโอรส ธิดา และพระมเหสี ให้เป็นทานและบารมีอื่นๆ พร้อมกันไปด้วยทั้ง ๑๐ ประการ ฉะนั้นเวสสันดรชาดกจึงเป็นชาดกสำคัญกว่าชาดกอื่นๆ จึงเรียกว่า “เทศน์มหาชาติ” หรือมหาชาติชาดก แปลว่าชาติยิ่งใหญ่ที่สำคัญเพราะเป็นชาติสุดท้าย      ต่อจากนี้ไปจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

. เวสสันดรชาดก โดยเหตุที่ชาดกนี้ พระโพธิสัตว์ที่เป็นตัวสำคัญในเรื่องนี้ ชื่อ

เวสสันดร แยกศัพท์เป็น เวสส แปลว่าพ่อค้า และ อันดร แปลว่า ระหว่างหรือตรอก รวมสนธิเป็น เวสสันดร แปลว่า ผู้เกิดในตรอกพ่อค้า จึงเรียกชื่อตามพระโพธิสัตว์ว่า เวสสันดรชาดก อีกชื่อหนึ่ง



ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก  กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ร.ศ.๑๒๑ โดยคัดเลือกสำนวนเยี่ยมๆ จากมหาชาติกลอนเทศน์ เพื่อใช้เทศน์ให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวกัน เพื่อให้เข้าใจความหมายชัดเจน เพื่อเทศน์คาถาให้ครบและเพื่อเป็นแบบเรียนกวีนิพนธ์ด้วย ดังมีรายชื่อผู้แต่งตามกัณฑ์ต่างๆ ดังนี้

       ๑. กัณฑ์ทศพร            - กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพลงสาธุการ มี ๑๙ พระคาถา

       ๒. กัณฑ์หิมพานต์        - กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพลงตวงพระธาตุ มี ๑๓๔    พระคาถา

       ๓. ทานกัณฑ์             - สำนักวัดถนน เพลงพญาโศก มี ๒๐๙ พระคาถา

       ๔. วนปเวสน์             - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงพญาเดิน มี ๕๗    พระคาถา

       ๕. กัณฑ์ชูชก            - พระเทพมุนี (ด้วง)วัดสังข์จาย เพลงเซ่นเหล้า มี ๗๙    พระคาถา

       ๖.กัณฑ์จุลพล            - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงคุกพาทย์ มี ๓๕   พระคาถา

       ๗. กัณฑ์มหาพน   - พระเทพโมลี (กลิ่น) เพลงเชิดกลอง มี ๘๐ พระคาถา

       ๘. กัณฑ์กุมาร           - เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพลงโอดเชิดฉิ่ง มี ๑๐๑ พระคาถา

       ๙. กัณฑ์มัทรี           - เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพลงทยอยโอด มี ๙๐ พระคาถา

       ๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ       - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงกลม มี ๔๓         พระคาถา

       ๑๑. กัณฑ์มหาราช - กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพลงกราวนอก มี ๖๙ พระคาถา

       ๑๒. ฉกษัตริย์           - กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพลงตระนอน มี ๓๖ พระคาถา

       ๑๓. นครกัณฑ์            - กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพลงกลองโยน มี ๔๘ พระคาถา



ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

       ประเพณีการเทศน์มหาชาตินี้ พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นประเพณีสำคัญไม่ผิดกับการทอดกฐิน ฉะนั้นเมื่อถึงการมีเทศน์มหาชาติแต่ละวัดจึงจัดให้มีขึ้นก่อนมีเทศน์จะต้องแจกใบฎีกา (คือ หนังสือบอกบุญ) ไปยังทายกทายิกาเจ้าศรัทธาให้ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ อาจจะกัณฑ์หนึ่งหลายๆ คนก็ได้ ก่อนมีเทศน์มหาชาติทางวัดจะต้องจัดการดังนี้

. ต้องตกแต่งสถานที่ด้วยต้นไม้ เช่น ต้นกล้วย ต้นอ้อย ราชวัตร ฉัตร ธง ทั้งหน้าวัด

หน้าศาลา และบริเวณรอบๆ ธรรมาสน์ที่พระเทศน์ส่วนที่เหนือธรรมาสน์มักประดับด้วยต้นไม้หรือกิ่งไม้ให้ปรกลงมาเหมือนนั่งอยู่ใต้ต้นไม้จริงๆ เพื่อให้แลดูเป็นป่าสมกับเป็นบริเวณอาศรมของพระเวสสันดร ที่เขาวงกตครั้งกระโน้น

. ต้องมีพิณพาทย์วงหนึ่งทำเพลง เพลงที่ทำนั้นเรียกว่าเพลงประจำกัณฑ์นั้นๆ เช่น

กัณฑ์ชูชก เพลงเซ่นเหล้า กัณฑ์กุมาร เพลงโอดเชิดฉิ่ง เป็นต้น

. ส่วนเจ้าของกัณฑ์เทศน์นั้น จะจัดสิ่งของเครื่องกัณฑ์มีดอกไม้ ธูป เทียน ตลอดจนผล

ไม้ ส้ม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน ฯลฯ และเงินบูชากัณฑ์เทศน์โดยเฉพาะ ดอกไม้ ธูป เทียน และเงินบูชากัณฑ์เทศน์นั้นมักถวายเท่ากับจำนวนคาถา เช่นกัณฑ์ชูชก มี ๗๙ พระคาถา ก็จะถวายดอกๆไม้ ๗๙ ดอก ธูป ๗๙ ดอก เทียน ๗๙ เล่ม เงิน ๗๙ บาท ดังนี้ เป็นต้น

การเทศน์มหาชาติ แต่เดิมไม่กำหนดว่ามีในเดือนอะไร เท่าที่ปรากฏในสมัย                

รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา มักนิยมเทศน์มหาชาติในเทศกาลออกพรรษาแล้ว ในเดือน ๑๑ ข้างแรม (ตุลาคม) หรือข้างขึ้นเดือน ๑๒ (พฤศจิกายน) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงถือการเทศน์แล้ง คือตั้งแต่เดือนอ้าย (ธันวาคม) เป็นต้นไป

รายละเอียดจากเว็บ http://www.srp.ac.th/~anurat/wetsandon1.htm  
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 02 ต.ค. 06, 18:00


ตูก้าไปเยี่ยมพระน้องที่เมืองเพชรมาค่ะ  พอดีที่วัดป้อมกำลังจัดงานเทศน์มหาชาติ เลยเก็บภาพมาฝากค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 ต.ค. 06, 18:01


.
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 02 ต.ค. 06, 18:02


พอดีไปถึงวัดมืดแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 02 ต.ค. 06, 18:04


จะเห็นว่าใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อย ตกแต่งทุกเสาทีเดียว
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 ต.ค. 06, 18:07


เครือกล้วยงามๆทั้งนั้นเลยค่ะ  ที่เห็นมีกล้วยทุกชนิดเลยนะคะ กล้วยน้ำว้า  กล้วยไข่  กล้วยหอม  แม้แต่กล้วยหักมุข ก็มีค่ะ


((หัวกลมๆด้านล่าง ลูกเสือน้อยของตูก้าเอง อิอิ))
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 ต.ค. 06, 18:08


ภาพสุดท้ายแล้วค่ะ ถ่ายที่ระเบียงทางเดิน
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง