เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 5650 การจัดระเบียบ....
มนัฌณิชย์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 01 ม.ค. 02, 02:10

ความจริงตั้งใจจะพูดถึงเรื่อง น้องๆที่ต้องกวดวิชา แล้วเลิกดึกน่ะค่ะ ยกตัวอย่างลูกดิฉันก็ เลิก 2 ทุ่ม ครึ่ง กว่าจะถึงบ้านก็  4 ทุ่ม เราจะไปรับแก ก็ไม่ไหว ไกลบ้านมาก ไหนจะต้องดูแลลูกคนเล็กอีก นี่คือ จุดประสงค์ค่ะ ส่วนในแง่ของคุณชาวบ้าน นั้น ก็เป็นอีกแง่ที่น่าสนใจ  ความจริงดิฉันสนับสนุน คนดีๆ เช่น ดร.ปุระชัย นะคะ
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 01 ม.ค. 02, 07:33

ขอเรียนให้ทราบก่อนว่าปกติแล้วผมไม่ค่อยชอบเขียนอะไรยาวๆ นัก ชอบร้องรำทำเพลงเฮฮา เกี้ยวหญิงไปตามเรื่อง
แต่กระทู้นี้ขอหลุดซีนซักทีเถอะ  อ่านความคิดเห็นของบางท่านแล้วมันคันปากเหลือทน..

ผมกำลังมองว่าเราต้องจำแนกเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีจำนวนประมาณ  ๒๐ ล้านคน (ดังที่คุณชาวบ้านบอก)ออกเป็น
๓ กลุ่ม เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาและวิเคราะห์ ดังนี้

๑.กลุ่มเยาวชนใจแตกต้องเที่ยวกลางคืนเป็นอาจิณ กลับบ้านหลังสี่ทุ่มเสมอๆ  มีจำนวนประมาณกี่คนและคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
๒.กลุ่มเยาวชนที่มีชีวิตปกติเฉกเช่นคนทั่วไป คือ กลางวันไปเรียน ทำกิจกรรมต่างๆ กลางคืนก็พักผ่อน อยู่กับบ้าน
     มีจำนวนประมาณกี่คน คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์  และ
๓.กลุ่มเยาวชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ชีวิตในตอนกลางคืน เพราะชีวิตมีความยากแค้นลำเค็ญ  มีจำนวนประมาณกี่คน และ
     คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

ทั้งสามกลุ่ม  ทุกท่านย่อมทราบว่ากลุ่มที่ ๒ นั้นย่อมมากกว่ากลุ่มที่ ๑ และ ๓ อย่างเทียบกันไม่ได้ และผมเชื่อว่านโยบาย
ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเยาวชนในกลุ่มนี้ เพราะเป็นคนที่ดำเนินชีวิตอย่างปกติในสังคม กลางวันก็
ไปเรียน ทำกิจกรรม กลางคืนก็พักผ่อน อยู่กับครอบครัว  ถ้ามีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องออกนอกบ้านหรือกลับบ้านหลังเวลา
๔ ทุ่ม เค้าก็อนุโลมให้ทำได้โดยมีผู้ปกครองไปด้วย ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นการบังคับหรือริดรอนสิทธิเสรีภาพตรงไหน
แล้วมีธุระอะไรบ้างล่ะที่เยาวชนกลุ่มนี้จะต้องออกหรือเข้าบ้านหลังเวลา ๔ ทุ่ม ถ้าเป็นเหตุผลว่าต้องทำกิจกรรมที่โรงเรียน
หรือต้องเรียนพิเศษ ผมว่าฟังไม่ขึ้น ทำไมล่ะ..เรามีเวลาทั้งวันแล้วยังไม่พออีกหรือที่จะทำกิจกรรมเหล่านี้ให้เสร็จสิ้น
เอาละ..หากบางท่านบอกว่าการเรียนพิเศษยังมีความจำเป็นอยู่ในระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน เราก็ต้องมาวิจัยกัน
หน่อยว่า การเรียนนอกเหนือจากเวลาปกตินั้น ได้ผลมากน้อยเพียงไร  สมองเรายังสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน หากว่า
รับได้ แล้วจะมีผลกระทบอย่างอื่นตามมาหรือเปล่า เช่นความเครียด รวมทั้งอาการเมื่อยล้าทางสมอง เมื่อคิดหักลบผลดีผลเสียแล้ว
อย่างไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน  ผมว่าถ้าเราเรียนทั้งวันให้เต็มที่ เรียนอย่างมีสมาธิ จัดแบ่งเวลาทบทวนบทเรียนให้ดี การเรียน
พิเศษนั้นไม่จำเป็นเลย เอาเวลาที่ไปเรียนพิเศษนั้นมาทำกิจกรรมนันทนาการ เล่นกีฬา หรือไม่ก็อยู่กับครอบครัวยังจะได้
ประโยชน์มากกว่า

ในส่วนวัยรุ่นกลุ่มที่ ๑ นั้น ผมขอถามว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องเที่ยวกันดึกดื่น สี่ทุ่มแล้วยังไม่กลับบ้าน ทำไมไม่เอาเวลา
ช่วงนั้นไปทบทวนบทเรียน อ่านหนังสือ อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน  หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มันเป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านี้
คงไม่มีใครปฎิเสธว่ามันเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาทั้งสิ้น  ผมคิดว่าเยาวชนกลุ่มนี้ยังจัดลำดับความสำคัญของการทำกิจกรรม
ในชีวิตไม่ถูก  ไม่สามารถจำแนกได้ว่ากิจกรรมใดควรทำก่อนหลัง เอาสนุกเข้าว่า และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าตนเองมีหน้าที่อะไร
จริงอยู่..การไปเที่ยวดึกๆดื่นๆ มันเป็นสิทธิเสรีภาพที่เขาสามารถทำได้ แต่จงอย่าลืมว่านอกจากทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
แล้ว เรายังมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในฐานะของพลเมืองด้วย   ผมเคยพูดกันนักศึกษาเสมอว่า มนุษย์ทุกผู้ย่อมมีสิทธิและ
หน้าที่ควบคู่กันไป จะมีแต่อย่างใดอย่างหนึ่งมิได้
คนที่มีสิทธิอย่างเดียวผมเรียกว่าอภิสิทธิ์ชน  คนที่มีแต่หน้าที่ไม่มี
สิทธิอะไรเลยผมเรียกว่าทาส  เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรจงนึกอยู่เสมอว่าเรามีสิทธิและหน้าที่ควบคู่กันไป มิใช่ไปตะโกนปาวๆ
ว่าเป็นสิทธิของฉันที่จะทำได้ ฉันไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร หากใครคิดเช่นนั้น จงทราบไว้เถอะว่าคุณกำลังลืมหน้าที่ของ
การเป็นพลเมือง หน้าที่ของพลเมืองคืออะไร คนมีปัญญาก็คงพอทราบได้ แต่คนที่ด้อยปัญญาคงไม่ทราบว่าหน้าที่ของพลเมือง
คือการพัฒนาประเทศของตนให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีรากฐานที่สำคัญคือการศึกษา
เราต้องติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เยาวชน ปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็ก ให้เขารู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้
วัฎจักร โง่-จน-เจ็บ  ก็จะไม่เกิดขึ้น ในทางกลับกันถ้าเยาวชนไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทำอะไรตามใจชอบ
ฉันอยากเรียนก็เรียน ฉันอยากเที่ยวก็เที่ยว ถือเป็นสิทธิของฉันที่จะสามารถทำได้ ประเทศของเราก็จะมีแต่คนโง่ๆ มีรัฐบาลโง่ๆ
มาบริหารประเทศ  ผลสุดท้ายก็จะไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานของเราได้ภูมิใจ  ที่ผมเน้นย้ำตรงประเด็นนี้ค่อนข้างยาว ก็เพราะ
ต้องการให้เยาวชนของเรารู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตให้ถูก ว่า ณ เวลาปัจจุบันเขาควรทำอะไร  
เมื่อเขาเจริญเติบโตอยู่ในวัยที่จะต้องพัฒนาประเทศ เขาก็จะเป็นบุคคลที่มีทั้ง Vision และ Mission ไม่เป็นพวก
ที่ออกมาตะโกนว่าอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ดี เป็นลูกคุณช่างติ แต่พอขอคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรให้มันดีได้บ้างก็อ้ำอึ้งๆ ขอให้ติ
ไว้ก่อนเป็นดี  อย่างนี้เค้าเรียกว่าติเรือทั้งโกลนครับ

ชักยาวไป...เข้ามาสู่กลุ่มที่ ๓. ผมมองว่าประเทศชาติของเรากำลังเป็นอะไร ถึงปล่อยให้เยาวชนผู้ทุกข์ยากเหล่านั้น
ต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ดึกดื่นค่อนคืนแล้วก็ยังมิได้พักผ่อน ทั้งที่จริงแล้วอายุในระดับนี้เขายังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ทำไม
รัฐไม่หาทางเข้าไปช่วยเหลือ มีแนวทางช่วยเหลือมากมาย ถ้ายังคิดไม่ออกตอนนี้ก็ทำเวิร์คชอปสิ ระดมสมองเข้า  เราเองก็มีบุคลากร
ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้วทั้งภาครัฐและเอกชน  ผมเชื่อว่าถ้าเราจะทำก็สามารถทำได้  ถ้ารัฐไม่เห็นความสำคัญเราก็ต้องกระตุ้น
ต้องกระทุ้งไปเรื่อย  มิใช่นำความยากแค้นลำเค็ญของเขามาเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนความคิดของตนเอง  ที่ไม่เห็นด้วยกับ
นโยบายจัดระเบียบสังคม  แล้วก็ปล่อยให้คนผู้ทุกข์ยากเหล่านั้นผจญชีวิตกันตามลำพังต่อไป  ผมว่าความคิดเช่นนี้เป็นความคิด
ที่ตื้นมาก เอาง่ายเข้าว่า เปรียบได้กับคุณจะสร้างรั้วบ้านเพื่อป้องกันขโมย แต่คุณไปมัวกังวลว่ามีลูกของคุณบางคนต้องไปทำงาน
กลางคืนจะกลับเข้าบ้านไม่ได้ คุณก็เลยตัดสินใจไม่สร้างรั้วบ้าน ปล่อยให้มือดีมันเข้ามาขโมยทรัพย์สินมีค่า ตลอดจนทำร้าย
ลูกสุดที่รักคนอื่นๆ ของคุณ  แทนที่คุณจะคิดว่าทำยังไงดีนะที่ไม่ให้ลูกคนนั้นต้องไปทำงานดึกๆ ดื่น ทั้งๆ ที่เค้ายังอยู่ในวัยไม่เดียงสา
ต่อโลกกว้าง เอาเถอะ..ถ้ามันจำเป็นจริงๆ แล้ว ผมว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้คงจำแนกออกหรอกว่าลูกของคุณมีความจำเป็น
จะต้องทำงาน ดังที่คุณเทาชมพูได้อธิบายไปแล้วในความคิดเห็นที่ ๑๓  อย่ายกเอาเหตุการณ์ส่วนน้อยมาเป็นบรรทัดฐานในการ
คิดพิจารณาแล้วไปอนุมาณเอาว่ามันจะเป็นเช่นนั้นทั้งหมด   เพราะความคิดเช่นนี้เป็นผมว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป
ทำให้ไม่กล้าเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะทำอะไรก็กลัวไปหมด บางครั้งเราต้องกล้าในสิ่งที่สังคมพิจารณาแล้วว่าดี

ครับ สุดท้ายผมกำลังจะจบว่านโยบายจัดระเบียบสังคมของท่าน มท.๑ นี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากคนส่วนใหญ่ในสังคมแล้วว่าดี
เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  ถ้าอยากเห็นประเทศของเราเจริญมากกว่านี้ จงสนับสนุนในสิ่งที่ดีและถูกต้องเถิดครับ...


ผิดซีนไปหน่อยครับ ผมขอตัวกลับไปร้องรำทำเพลงและเกี้ยวหญิงต่อไป...
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 01 ม.ค. 02, 09:07

ไม่ผิดซีนหรอกครับคุณแจ้ง ในกระดานนี้ ทุกท่านมีสิทธิแสดงความเห็น (และมีสิทธิร้องรำทำเพลงและเกี้ยวหญิงด้วย - ผมจะบอกว่าจำกัดสิทธิไม่ให้คุณแจ้งเกี้ยวหญิงคนเดียวกับผม เดี๋ยวก็จะกลายเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไป...)

คุณ ด. เด็กถามไว้เรื่องภาษาพระเวทกับภาษาเทวดา อัไนหเก่ากว่ากัน ผมเข้าใจว่าภาษาเทวดาที่คุณ ด. เด็ก หมายถึงนั้น คงจะเป็นภาษากุโบ๊ส และคลับคล้ายคลับคลาว่าเราเคยคุยกันเรื่องภาษากุโบ๊สมาแล้วที่กระทู้ไหนไม่รู้ search ดูก็หาไม่เจอ  (ผมอาจจะสะกดผิด)

ผมรู้สึกว่าภาษากุโบ๊สเก่ากว่าภาษาพระเวทครับ แต่ไม่แน่ใจครับ ใครทราบช่วยยืนยันด้วย พระเวท เดิมมีสามภาค (จึงเรียกว่า ไตรเพท) แต่ภาคที่สี่ของคัมภีร์พระเวทที่ต่อมาทีหลังนั้นคือคัมภีร์อาถรรพณเวท ซึ่งพูดถึงวิธีการบูชาบำบวงสรวงสังเวยติดต่อเทวดาทั้งหลายด้วย จะเกี่ยวอะไรกับภาษาที่ว่ากันว่าเทวดาใช้พูดกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
บันทึกการเข้า
เสี่ยม้ง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 01 ม.ค. 02, 10:09

การปล่อยให้เด็กวัยรุ่นที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจ และมีประสบการณ์น้อย ไปอยู่ในที่ที่เป็นสถานบันเทิงอย่างเสรีมากนัก ก็ใช่ว่าจะดี  เด็กบางคนมีโอกาสที่จะเจอลูกหลงจากพวกอันธพาล หรือลูกหลานเลว ๆ ของนักการเมืองเข้าให้ได้ง่าย ๆ  ด้วยสาเหตุแค่การมองหน้ากัน หรือ เดินเบียดเหยียบเท้ากัน สถานที่พวกนั้นมีอบายมุข ทั้งสุรา ยาเสพติด และยาอะไรต่อมิอะไร ที่ตำรวจไทยไม่มีวันจับได้หมด  เพราะฉะนั้น จำกัดให้เด็กวัยรุ่นได้อยู่ในบ้าน ไม่ไปอยู่ในที่เหล่านั้นหลังสี่ทุ่ม น่าจะเป็นการดีกว่า   เด็กดีบางคนจะได้ไม่เสี่ยงตายโดยไม่จำเป็น


เห็นด้วยกับคุณแจ้ง ใบตอง สังคมไทยเรายังมีวงจรของความชั่วร้ายแอบแฝงอยู่อีกเยอะ  ควรได้รับการจัดระเบียบ และมีความกล้าที่จะริเริ่มในการทำสิ่งที่ถูกที่ควรได้แล้ว  
คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อ "ประโยชน์ส่วนรวม" ของสังคมเถิด
บันทึกการเข้า
ลูกนวมินทร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 ม.ค. 02, 14:25

แต่ถ้าระเบียบมากเกินไปก็อาจกลายเป็นการบังคับแล้วก็จำกัดสิทธิได้นะค่ะ
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 02 ม.ค. 02, 11:58

เกี่ยวกับเรื่องจัดระเบียบสังคม
ความคิดเห็นผมก็คือ
แทนการบังคับ ควรจะเป็นการชักจูงจะดีกว่า

สำหรับเรื่องเกณฑ์อายุ๑๘ ถ้าลดลงเหลือ๑๕
ก็คงจะดูสมเหตุสมผลกว่านี้
คิดดูว่าตอนเราอยู่ม.ปลาย  มีงานหลายอย่างที่จะต้องใช้เวลาถึงกลางคืนเพื่อที่จะทำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งอายุในช่วงนี้น่าจะถือได้ว่ามีความคิดพอที่จะทำอะไรต่างๆได้เองแล้ว
ซึ่งการศึกษาภาคบังคับของหลายประเทศก็สุดที่ม.ต้น เป็นความหมายที่ว่าสิ้นสุดขอบเขตเบื่องต้นที่สังคมจะต้องรับผิดชอบแล้ว ต่อไปเป็นส่วนที่พวกเราต้องขวนขวายพัฒนาตัวเองต่อไป และเริ่มที่จะต้องมีความรับผิดชอบในตัวเองได้แล้ว


เห็นด้วย
>แต่ เรื่องที่ ห้ามเด็กอายุตํ่ากว่า 18 ปี ออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม นี่ ฌิชย์ ว่า มันออกจะเว่อร์เกินไปนะฮะ ดูจะเป็น พวกเผด็จการจัง

>คนสุจริตที่ได้รับโทษอันเนื่องจากขบวนการยุติธรรมมีอยู่มากมายและตรงกันข้าม คนทุจริตแต่ไม่ได้รับโทษก็มีอยู่มากมายเช่นกัน จึงไม่ควรมีมาตรการใดๆที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว

>ผมอยากให้มีมาตรการควบคุมวัยรุ่นที่ก่อปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังโดยที่ไม่ไปกระทบกระเทือนคนดีให้ต้องเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งมีวิธีการอื่นอีกมากมาย และคิดว่า มท.๑ ก็คงมองเห็นอยู่แล้ว

ก็เหมือนกับ เรื่องที่ อ.ผมคนหนึ่งเคยกล่าวว่า
การที่จะบอกว่า INTERNET มีพวกรูปโป้ ชักชวนให้เด็กใจแตก จึงควรห้ามน.ร.ใช้ นั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรเลย ควรแยกเรื่องให้ถูก


ไม่เห็นด้วย
>ครับ สุดท้ายผมกำลังจะจบว่านโยบายจัดระเบียบสังคมของท่าน มท.๑ นี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากคนส่วนใหญ่ในสังคมแล้วว่าดี
เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถ้าอยากเห็นประเทศของเราเจริญมากกว่านี้ จงสนับสนุนในสิ่งที่ดีและถูกต้องเถิดครับ...

คำว่าคนส่วนใหญ่มาจากไหนครับ ผมเห็นมีแต่คนคัดค้าน

ขออภัยที่ใช้วิธีตัดแปะ อาจทำให้อ่านข้อความซ้ำซ้อน แต่ไม่รู้จะใช้วิธีไหนที่ดีกว่านี้
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 02 ม.ค. 02, 22:20

นานาจิตตังครับ ต่างคนก็มีเหตุผลของตนเอง  ที่ผมได้อ้างว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม
พิจารณาแล้วว่าดี ผมก็หมายความตามนั้นจริงๆ  ผมอาจจะไม่สามารถนำหลักฐาน
มายืนยันได้ว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมที่สนับสนุนนโยบายนี้เป็นใครกันบ้าง แต่หาก
ลองมาคิดย้อนกลับว่า  มีใครบ้างที่ไม่สนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบสังคมนี้
เท่าที่ผมเห็นมีอยู่ ๒ กลุ่มเท่านั้น คือ

๑. กลุ่มที่หากินกับต้นทุนของชาติ (ขออนุญาตใช้คำของคุณปุรชัยเมื่อคราวไปตรวจ
ราชการที่ จ.หนองคาย)
๒. กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของตนเองโดยลืมนึกถึงเหตุผลอื่นๆ

ผมก็ไม่ทราบว่าทั้งสองกลุ่มนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ แต่แน่ใจว่าคงไม่เกินครึ่งหนึ่งของ
คนในสังคม ดังนั้นผมจึงสามารถใช้คำว่า "คนส่วนใหญ่ของสังคมได้พิจารณาแล้วว่าดี"
ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ  บางท่านอาจจะท้วงว่าส่วนใหญ่ของสังคมของผมอยู่เฉพาะใน
กรุงเทพฯ เท่านั้นล่ะสิ ทำไมไม่ไปสำรวจตามต่างจังหวัดบ้านนอก ว่าเค้าคิดยังไงกัน
ผมว่าคนกลุ่มนี้เป็นพลังเงียบ ถ้าเทไปให้ฝ่ายไหนฝ่ายนั้นก็ได้เสียงข้างมาก แต่เท่าที่
ผมได้สัมผัสกับชีวิตของคนต่างจังหวัดมากว่า ๘ ปี และได้พูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
นักศึกษาจำนวนหลายพันครอบครัว (ปีหนึ่งๆ ผมต้องพบกันผู้ปกครองของนักศึกษา
เสมอ ประมาณปีละสองครั้ง ตามหน้าที่การงานของผม)ได้พูดได้คุย ได้สังเกต ถึงแม้
ว่าเขาจะไม่บอกผมตรงๆ ว่าสนับสนุนนโยบายนี้ แต่จากการแสดงออก หรือสายตาของ
เค้าที่มองดูบุตรหลานอย่างห่วงใย ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ผมสามารถสรุปได้  
ส่วนกลุ่มที่อยู่ในชนบทจริงๆนั้น ถ้าไม่ติดดูละครโทรทัศน์ สามทุ่มเค้าก็เข้ามุ้งนอนกันแล้ว
ไม่มาทนนั่งทรมานสังขารหาความสนุกสนานทางกายอยู่จนถึงตีหนึ่งตีสอง เพราะต่างก็มี
งานที่หนักหนา เหน็ดเหนื่อย รอพวกเขาอยู่ในวันรุ่งขึ้น


ถ้าเหตุผลที่ผมยกมาดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ก็ต้องขออนุญาตยกมาอีกเหตุผลหนึ่งเพื่อ
ประกอบการพิจารณาว่า "คนส่วนใหญ่ในสังคมพิจารณาแล้วว่าดี" คือ การยังคงอยู่
ในตำแหน่งของท่าน มท.๑  ที่คนได้ให้คำนิยามตัวท่านสั้นๆว่า  "คนเกลียดทั้งพรรค
 คนรักทั้งเมือง " ถ้านโยบายนี้ไม่จับใจประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมจริงๆ  คุณปุรชัย
กระเด็นหลุดจากเก้าอี้ไปนานแล้ว  ใครที่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็จะทราบว่า  มีคน
ในรัฐบาลอยากให้คุณปุรชัยพ้นจากตำแหน่งเยอะแยะ โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่
อาจจะมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มบุคคลที่หากินกับต้นทุนของชาติ  แต่ ณ ปัจจุบันนี้
ยังไม่มีใครสามารถเลื่อยขาเก้าอี้ของคุณปุรชัยได้ ทั้งๆ ที่เป็นผู้กุมอำนาจอยู่ในพรรค
เสียด้วยซ้ำ  ในประเด็นนี้ คงเป็นที่หนักใจของท่านนายกฯ มาก  ว่าจะเลือกระหว่าง
ความมั่นคงของรัฐบาล โดยปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของนักการเมืองกลุ่มดังกล่าว  หรือ
การทำในสิ่งที่ถูกต้องและถูกใจประชาชน (อย่างผม)ตามข่าวที่ผมได้ติดตาม เห็นว่า
ท่านนายกมีกุศโลบายทางการเมืองอย่างดีเยี่ยม  (ผมจะไม่นำเหตุผลอย่างอื่นเข้ามา
เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารบ้านเมือง หรืออุปนิสัยส่วนตัวของท่านนายก เพราะถือ
ว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นที่เรากำลังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่นี้) คือให้ความสำคัญ
ทั้งสองส่วน โดยยังสนับสนุนคุณปุรชัย ให้ดำเนินนโยบายจัดระเบียบสังคมต่อไป
ส่วนการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล  ณ ปัจจุบันนี้ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตามพฤตินัยแล้ว
มีพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวคือ พรรคประชาธิปัตย์  ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมาก หรืออีก
นัยหนึ่งที่คุณมนัฌณิชย์ เรียกว่าเผด็จการรัฐสภานั่นแหละ การดำเนินกุศโลบายอย่างนี้
เป็นผลให้นักการเมืองกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถจะทำอะไรได้เต็มที่นัก เปรียบไปแล้ว
ก็คือการลดทอนอำนาจการต่อรองลงมานั่นเอง  ทำให้คุณปุรชัยสามารถดำเนินนโยบาย
นี้ได้อย่างราบรื่น..

ส่วนที่คุณภูมิได้เปรียบเทียบประเด็นการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘  เข้าหรือออกจากบ้าน
ก่อนเวลา ๔ ทุ่ม กับการห้ามใช้อินเตอร์เน็ตในโรงเรียนนั้น ผมว่าไม่สามารถนำไป
เปรียบเทียบกันได้ ถึงแม้ว่าดูผ่านๆ จะคล้ายกันก็ตาม ที่ผมว่าไม่สามารถไปเปรียบเทียบ
กันได้นั้น เนื่องจากมันมีปัจจัยที่แตกต่าง ที่ผมเรียกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ เช่นการดูภาพโป๊
หรือเว็บลามกนั้น เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเทคโนโลยี เทคโนโลยีไม่สามารถ
ทำร้ายเด็กได้ ถ้าเค้ามีวิจารณญาณเพียงพอ คุณจะดูอะไรก็ดูไปเถอะ ไม่เป็นไร ขอให้
รู้จักผิดถูกรู้จักแยกแยะ แบ่งเวลาให้ได้ก็แล้วกัน  ส่วนการที่เด็กจะไปอยู่ข้างนอกกลางค่ำ
กลางคืนนั้น มันเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ตัวเราอาจจะมีความคิดวิจารณญาณดี
มีความเชื่อมันในตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย แต่คนอื่นล่ะเค้าเป็นอย่างเราหรือเปล่า มนุษย์
ทุกคนมีความแตกต่างกัน เนื่องมาจากการอบรมเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมทางสังคม
สิ่งเหล่านี้ทำให้ความคิด ของคนไม่เหมือนกัน บางคนฆ่ากันได้ง่ายๆ เพียงแค่พูดไม่ถูกหูกัน
เท่านั้น ผมเคยไปให้คำปรึกษาเด็กในสถานพินิจฯ ได้เห็นและทราบความรู้สึกนึกคิด
ของคนอีกสังคมหนึ่งว่าเป็นอย่างไร ผมคิดว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี จำนวนไม่น้อยที่มีความ
เชื่อมั่น แต่ขาดประสบการณ์ชีวิต ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด เด็กสาวถูกจิ้งจอกสังคมหลอก
ไปทำมิดีมิร้าย  เด็กหนุ่มติดยา บางคนเสียอนาคตเพราะหลงกับสิ่งยั่วยุ  ต้นทุนของชาติเรา
ก็จะค่อยๆ หมดคุณภาพลงไปแล้วต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น คงไม่ต้องใช้จินตนาการกันมาก
ก็พอจะทราบได้


ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมต้องห้ามเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘  ไม่ลดลงไปเหลือต่ำกว่า ๑๕ ผมว่าน่าจะเข้า
ได้กับ พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติ และการปฎิรูปการศึกษา ที่จะกำหนดให้มีการเรียน
การสอนภาคบังคับ ถึง ๑๒ ปี ไม่ทราบว่าจะสามารถบังคับใช้ทันในปีหน้าหรือเปล่า เพราะขณะนี้
ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่  ต่อไปถ้าเรามีการศึกษา
ภาคบังคับ ๑๒ ปี เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ส่วนมากก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้ว  
อีกประการหนึ่ง สภาพสังคมของเราไม่เหมือนประเทศตะวันตก อายุเท่านี้ส่วนใหญ่ยังต้อง
พึ่งพาพ่อแม่ ยังขอเงินพ่อแม่ใช้ แล้วคุณว่าเหมาะมั้ยล่ะที่จะเงินจากหยาดเหงื่อแรงงานพ่อแม่
ไปใช้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และถ้าเกิดมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา ก็พ่อแม่นั่นแหละ
ที่จะต้องเป็นผู้ที่เสียใจลำดับแรกๆ  

ใครจะว่าผมขี้ระแวงก็ช่างเถอะ สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าการสร้างความปลอดภัยไว้ก่อน เพราะว่า
มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทุกวัน แล้วทำไมเราจึงต้องรอให้มันเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว
เสียก่อนแล้วถึงจะทำอะไรอย่างจริงจัง ...

เอ้อ...ยาวอีกแล้วครับ ขอประทานอภัย
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 03 ม.ค. 02, 18:40

สิ่งที่คุณแจ้งเขียนมาผมก็เห็นว่ามีเหตุผล
แต่ผมก็มีอีกมุมมองที่อยากให้รับฟังกัน

นโยบายส่วนมากของเรามักจะเป็นในลักษณะ top-down ความเห็นทั้งหลายที่กล่าวมาก็เห็นมีแต่ถามผู้ปกครองว่าเห็นด้วยไหม มีบ้างไหมที่จะถามตัวเด็กเองว่านึกอย่างไรกับนโยบายนี้
หรือถ้าบอกว่าเด็กยังคิดไม่เป็น ก็ลองถาม พวกนิสิตนักศึกษาดูบ้าง พวกที่พึ่งจบจากการเป็นเด็กมา พวกเขาน่าจะเข้าใจถึงจิตใจ มากกว่า พวกผู้ใหญ่โตๆซึ่งสภาพสังคมก็ได้เปลี่ยนไปมาก สังคมเด็กของสมัยเมื่อ ๑๐ ปี ก่อนกับสมัยปัจจุบันก็ย่อมต่างกันมาก

อีกประเด็นหนึ่งถ้าตัวอย่างเรื่อง internet ไม่ดี ลองฟังตัวอย่างนี้บ้าง
ถ้าบอกว่า นอกบ้านมีโจร ชุกชุม ก็ห้ามออกจากบ้าน แทนที่ไปจับโจร อย่างนี้ถูกต้องหรือ
การแก้ไขปัญหาสังคม ก็เข้าใจว่าต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ แต่นโยบายส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ บังคับแต่ในเรื่องง่ายๆ คนที่บังคับง่าย
ถ้าบอกว่า ผับ แหล่งเที่ยว เป็นแหล่งมั่วสุม  ก็ปิดไปเสียซิ ไม่ก็ควบคุมอย่างเข้มงวด
เรื่องของเรื่องก็คือไม่อยากให้เด็กไปอยู่ในแหล่งอันตราย  แทนที่จะไปทำให้สถานที่นั้นปลอดภัย หรือ หาที่ดีๆ สมาคม สโมสรที่เหมาะสม กลับมาจำกัดสิทธิการเคลื่อนไหว อย่างนี้ถูกต้องหรือ
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 04 ม.ค. 02, 00:02

เห็นด้วยกับตัวอย่างสุดท้ายที่คุณภูมิยกมาครับ  ท่าน มท.๑ เองก็คงจะเห็นด้วยกับประเด็นนี้เหมือนกัน จึงได้กำหนดโซนนิ่งสถานบริการขึ้นมา การพิจารณาให้ตั้งสถานประกอบการก็เริ่มจะเข้มงวดขึ้น จังหวัดไหนที่มีสถานบริการเยอะแล้วก็ไม่อนุญาตให้ตั้งเพิ่มขึ้นอีก ในขณะนี้ หลายๆ จังหวัดก็ได้แสดงความจำนงว่า ขอเป็นจังหวัดที่ปลอดสถานบริการ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม

เรื่องอย่างนี้ผมคิดว่าต้องทำควบคู่กันไปครับ ไม่ใช่ว่าจะห้ามแต่เด็กไม่ให้ออกนอกบ้านยามค่ำคืนตามลำพังอย่างเดียว  ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างที่คุณภูมิว่าด้วย   การจัดโซนนิ่ง และจำกัดไม่ให้สถานบริการเพิ่มจำนวนมากเกินไป ผมก็ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว    ในส่วนของการไปปิดสถานบริการนั้นคงเป็นไปไม่ได้ครับ แต่การควบคุมอย่างเข้มงวดให้อยู่ในขอบในเขตนั้นทำได้  อันที่จริงที่เรามองอย่างไม่อคติเกินไปนัก  สถานบริการเองก็มีประโยชน์เช่นกัน ในแง่ของการให้ความรื่นเริง สรวญเสเฮฮา ไม่ให้ชีวิตเราน่าเบื่อหน่ายเกินไป  การจำกัดเวลาให้บริการไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

ถ้าจะให้ปิดสถานบันเทิงกันจริงๆ ผมว่ารัฐน่าจะทำให้เป็นตัวอย่างก่อน โดยปิดโรงงานยาสูบ โรงงานสุรา สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ฯลฯ  เพราะพวกนี้เป็นอบายมุขทั้งนั้น   ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้จริง การปิดสถานบันเทิงก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ข่าวที่ออกมา นอกจากจะไม่ปิดสถานที่ดังกล่าวแล้ว ยังจะมีแนวโน้มให้มีการเปิดบ่อนเสรีด้วย  นัยว่าเพื่อเป็นการป้องกันเงินทองไม่ให้รั่วไหลไปต่างประเทศ ถ้าคิดกันอย่างนี้ ผมว่าแนวคิดที่คุณกวี สุภธีระ สว.ขอนแก่นเสนอให้รัฐผลิตยาบ้าออกขายในราคาเม็ดละบาทก็น่าจะทำได้เหมือนกัน เพราะว่าถ้ารัฐทำเอง ตัดราคายาบ้าที่เม็ดนึงแพงพอๆ กับข้าวสารหนึ่งถังลงมา เงินทองก็ไม่รั่วไหลไปต่างประเทศให้เค้านำไปพัฒนาบ้านเมืองแข่งกับเรา  นอกจากนั้นรัฐยังได้ทราบว่าตัวเลขของผู้ติดยาบ้าว่าแท้จริงมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายไปช่วยเหลือครอบครัวของผู้ประสบภัยอะไรต่างๆ นานา ก็น่าจะทำได้นะ..

ท้ายๆ นี่ผมประชดนะครับ อย่าได้คิดเป็นจริงเป็นจังอะไรมาก เดี๋ยวชีวิตจะซีเรียสเกินไป พลอยเป็นหมันกันไปหมดพอดี
บันทึกการเข้า
สายลม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 13 ก.พ. 02, 16:06

.   .   .   กระทู้นี้ก็กำลังจะหลุดออกไปจากหน้าแรก ผมอ่านดูความเห็นทั้งหมดแล้วเห็นว่าเเป็นเรื่องที่น่าศึกษา  เพราะได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของคนสองกลุ่มที่มีมุมมองต่างกัน
.   .   .   ความเห็นในคุณภูมิในความเห็นที่ ๒๒ ที่มีการยอมรับในที่สุด ก็ตรงกับความเห็นของคุณชาวบ้านที่ให้ไว้ในความเห็นที่ ๑๔ โดยเฉพาะที่ว่า ... อยากให้มีมาตรการควบคุมวัยรุ่น.ที่ก่อปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยที่ไม่ไปกระทบคนดีให้ต้องเดือดร้อนไปด้วย  ซึ่งมีวิธีการอื่นอีกมากมาย และคิดว่า มท.๑ ก็คงมองเห็นอยู่แล้ว
.   .   .   ในความเห็นที่ ๑๕ คุณมนัฌณิชย์ได้แสดงข้อมูลจากประสบการณ์จริงของตน  และมีความเห็นจากภายนอกในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ได้ไปสัมภาษณ์จากผู้ที่เป็นลูกชาวบ้านและเคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อนในสมัยที่เป็นเด็ก แล้วไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่สองสมัย ท่ายผู้นี้ก็มีความเห็นคัดค้านแนวความคิดที่จะห้ามคนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีออกนอกบ้านหลังเวลาสี่ทุ่ม
.   .   .   คราวนี้มาดูว่าถ้ามีการยอมรับในความเห็นที่ ๒๒ ที่โยงกลับไปสู่ความเห็นที่ ๑๔  แล้วเหตุไฉนจึงยังมีการให้ความเห็นกันอย่างยืดยาวของผู้ที่ไม่เห็นด้วย มาจนถึง ตวามเห็นที่ ๒๓ จึงยอมรับกัน เมื่ออ่านความเห้นที่ ๖, ๘, ๑๐ - ๑๖ และ ๑๘ - ๒๒ แล้วก็พอสรุปได้ว่า การที่มุมมองต่างกันนั้น เกิดจากประสบการณ์โดยตรงกับประสบการณ์โดยอ้อม  ผู้ที่มีประสบการณ์โดยอ้อมจะ อาศัยจินตนาการมาทำเป็นเหตุผล จึงมีความมาเป็นความเห็นที่ยืดยาวตามจินตนาการ ตัวอย่างในชีวิตจริงก็ไม่มี ส่วนผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจะมีตัวอย่างในชีวิตจริงมาแสดง ความเห็นจะสั้นและกระทัดรัด นำไปสู่ข้อสรุปที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 17 คำสั่ง