เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3572 ใกล้วันปีใหม่กันแล้ว...เน้อ
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 29 ธ.ค. 01, 09:58

ช่วงนี้เราเดินห้างสรรพสินค้าย่านไหน ก็จะได้ยินเพลงแห่งการเฉลิมฉลอง กัน อย่างวันนี้ก็ บรรดาเพลงต่่างๆสำหรับ คริสต์มาส เช่น jigle bell ..silent night....santaclaus is coming to town..เป็นต้น แต่ว่าหลังจากวันนี้ทางห้างต่างๆก็คง เปิดเพลงที่มีเสียงของคุณศรีสุดา หนึ่งในสมาชิก สุนทราภรณ์ให้เราฟังกันทั่วทุกแห่งอย่างทุกปีเลยนะเจ้าคะ ดิฉันกับนายตะวัน เกิดไม่ใคร่จะทันยุคสุนทราภรณ์ครองเมืองเสียด้่วย แต่ก็ฟังแล้วรู้สึกถึงความอมตะ และขลัง ทุกครั้งที่ฟังสุนทราภรณ์ ..เลยรบกวนคุณเทาชมพูมาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับ สุนทราภรณ์ ดังนี้....
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 ธ.ค. 01, 23:58

สุ น ท ร า ภ ร ณ์



   
ความจริงเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงสุนทราภรณ์มีให้พูดให้เขียนถึงกันมากมาย ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับ เยื่อไม้ ซึ่งโด่งดัง เพราะพูดถึงสุนทราภรณ์จะพูดได้ทั้งในแง่ดนตรีและวรรณศิลป์ คือศิลปะในการแต่งเนื้อร้อง เพลงสุนทราภรณ์มีความเป็นกวีนิพนธ์อยู่ในตัวมากมายเหลือคณานับ
   
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า เพลงดีนั้นจะต้องมีส่วนผสมผสานที่งามทัดเทียมกันระหว่างท่วงทำนองกับเนื้อร้อง ด้วยเหตุนี้เพลงเยี่ยมๆที่ประดับโลกอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงมีคีตกร ๒ คน คือคีตกวีผู้แต่งเนื้อร้องคนหนึ่ง และคีตศิลปินผู้บันดาลท่วงทำนองอีกคนหนึ่ง
   
อย่างเช่น ร็อดเจอร์และแฮมเมอสไตน์ ของฮอลลีวู้ด
   
และครูเอื้อ สุนทรสนาน กับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ของประเทศไทย
   
อัจฉริยภาพของครูเอื้อเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วอยู่แล้ว ไม่ต้องพรรณนามาก แต่เราก็คงไม่ลืมว่าผู้มีส่วนเชิดชูเพลงสุนทราภรณ์ให้โดดเด่นเป็นที่จดจำกันมาทุกวันนี้ ก็คือครูแก้วด้วยคนหนึ่ง
   
ครูแก้วเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุแค่ ๑๙ ปี มาร่วมงานกับครูเอื้อด้วยการชักชวนของครูเวส สุนทรจามร นักแต่งเพลงมือหนึ่งอีกท่านหนึ่งซึ่งร่วมงานกับครูเอื้ออยู่ก่อน ครูเอื้อกับครูแก้วร่วมสร้างสรรค์งานเพลงด้วยกันเกือบ ๑๕ ปี ผลิตผลงานชิ้นเยี่ยมๆไว้มากมายในยุคสุนทราภรณ์ก้าวขึ้นอยู่ระดับสูงสุดและครองระดับนั้นต่อมาอีกนานแสนนาน อย่างเช่น เพลงในละครชุด “จุฬาตรีคูณ” จากบทประพันธ์ของ “พนมเทียน” น่าจะนับเป็นอุปรากรแบไทยที่ควรแก่การภูมิใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น จุฬาตรีคูณ เจ้าไม่มีศาล หรือ ใต้ร่มมะลุลี ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงสุนทราภรณ์จนบัดนี้
   
นอกจากนั้น เมื่อครูเอื้อนำทำนองเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากล ครูแก้วก็สวมใส่เนื้อร้องให้อย่างเหมาะเจาะ เช่น ลาวดำเนินทราย มาเป็น ดำเนินทราย ที่ขึ้นต้นว่า “แสงจันทร์นวลผ่อง เมื่ออยู่กับคู่ประคอง” นัยว่าเป็นเพลงโปรดของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียด้วย  ธรณีกันแสง คลื่นกระทบฝั่ง และที่น่าฟังมากอีกเพลงหนึ่งก็คือ แขกมอญบางขุนพรหม อันเกี่ยวโยงไปถึงประวัติต้นสกุล “บุนนาค” ซึ่งครูแก้วบันดาลให้เป็น พรพรหม แสดงความรักละเมียดละไมของหนุ่มสาวในยุคที่ยังถือค่านิยม “ไม่ชิงสุกก่อนห่าม” อย่างตอนหนึ่งว่า
   ชาย
   
คอยชื่นใจ พระพรหมท่านให้เรามา
   
บุญช่วยพา สองเราจึงมารื่นรมย์
   หญิง
   
ยอมอดใจ ถึงวันคงได้ชื่นชม
   
คงไม่ตรม เพราะว่าพระพรหมให้พร
   
   
น่าอัศจรรย์ที่ครูแก้วผู้มีบิดาเป็นชาวกรีก ตัวเองเรียนจบจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน รู้ภาษาอังกฤษดีเยี่ยม แต่ก็รู้จักโคลงฉันท์กาพย์กลอนขึ้นใจพอจะนำเป็นฉันทลักษณ์ในการแต่งเพลงได้อย่างมีระเบียบแบบแผน สัมผัสนอกและในครบถ้วนอย่างเพลงที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่าครูแก้ววางระเบียบการสัมผัสไว้ตรงตัว การวางคำได้จังหวะ คำที่สามไปสัมผัสกับคำที่เจ็ด มีสัมผัสระหว่างบทแบบกลอนสุภาพ คำที่เสียงสั้นยาวต่างกัน เช่น ใจ กับ สาย อย่างนี้ ครูแก้วไม่เอามาสัมผัสกันเลย
   
การใช้ถ้อยคำของครูแก้วเรียบและรื่น ได้ความหมายและความไพเราะสมบูรณ์ ส่วนเนื้อหาก็บอกให้รู้ว่าครูแก้วมีพื้นความรู้ทางวรรณคดีไทย หลายเพลง เช่น นวลปรางนางหมอง พรานล่อเนื้อ ยูงกระสันเมฆ ล้วนมีที่มาจากโคลงของศรีปราชญ์ทั้งสิ้น เท่ากับครูแก้วได้อนุรักษ์และเผยแพร่วรรณคดีไทยไว้ในรูปของคีตศิลป์ด้วย
   
ครูเอื้อกับครูแก้วมีพรสวรรค์ที่เหมือนกับสวรรค์ประทานมาให้กันและกันโดยเฉพาะเพลงบางเพลงครูแก้วแต่งเนื้อร้องก่อน ครูเอื้อก็นำไปทำเป็นทำนองให้เหมาะเจาะได้ แต่บางเพลงครูเอื้อคิดทำนองออกก่อน ครูแก้วก็ไปพิจารณาดูว่าเพลงทำนองนั้นหวาน โศก สนุกสนาน หรือว่าปลุกใจ แล้วคิดเนื้อร้องประสานเข้ากับทำนองจนสำเร็จ เวลาร่วม ๑๕ ปีที่ทำงานมาด้วยกันจึงเรียกได้ว่าเป็นปีทองของศิลปินทั้งสอง และเป็นโชคดีของคนไทยทั้งหลายทั้งปวงผู้รักดนตรีด้วย
   
ต่อมาเมื่อครูแก้วอำลาโลกดนตรีไปโด่งดังอยู่ในละครวิทยุ ครูเอื้อก็ได้เพชรอีกหลายเม็ดมาประดับเรือนดนตรีแทนครูแก้ว ถ้าจะจาระไนในที่นี้ก็คงหมดหน้ากระดาษโดยไม่ได้เขียนอะไรอย่างอื่น เพราะผู้ร่วมสร้างสรรค์เพลงทั้งทำนองและเนื้อร้องมิให้สุนทราภรณ์ต้องตายไปได้นั้นเท่าที่มีผู้รวบรวมเอาไว้ก็มีถึง ๙๔ ท่าน ไม่รวมครูเอื้อเอง ในที่นี้จึงขอยกมาสั้นๆเพียงผู้เดียว คือผู้เนรมิตเนื้อร้องนับร้อยๆเพลงให้สุนทราภรณ์ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครค่อยรู้จักประวัติกันนัก ผู้นั้นคือ ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ
   
ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ มีความรู้ทางภาษาอังกฤษและไทยดีเยี่ยมแบบเดียวกับครูแก้ว ขนาดแต่งเนื้อร้องได้ทั้ง๒ภาษา คือเพลง สุดหล้าฟ้าเขียว แต่โวหารศรีสวัสดิ์ผิดกับครูแก้ว ครูแก้วใช้คำได้ไพเราะ นิ่มนวล เข้าใจง่าย ส่วนถ้อยคำของศรีสวัสดิ์ ผาดโผน ให้อารมณ์แรง และแพรวพราวด้วยสัมผัสในยิ่งกว่าครูแก้วหลายเท่า ยิ่งการเล่นเสียงตัว ร และเสียงควบกล้ำแล้ว ศรีสวัสดิ์ดูจะชอบเป็นพิเศษ นักร้องรุ่นใหม่ที่พูดภาษาไทยไม่ชัด กลับไปชัดแบบ ฝรั่งปนเจ๊ก หากไม่เชื่อมือว่าแน่จริงก็ไม่ควรลองร้องเพลงของศรีสวัสดิ์ เพราะยังไม่ทันร้อง แค่เอาเนื้อมาอ่านออกเสียงดังๆก็ร่วงตกม้าตายกันตั้งแต่เพลงแรกแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นเพลง ลาทีปากน้ำ ซึ่งเป็นเพลงแรกและส่งชื่อเสียงของศรีสวัสดิ์ให้เลื่องลือขึ้นมา

   
ตัวมาปากน้ำ น้ำตาเจ้ากรรมพรำร่วง
   
มันริน ล้นทรวงรดแดร้อนดวงร่วงพรำจนช้ำเลือดตรม
   
อยากผลักชีวิตผลอยคล้อยลอยน้ำไปตามคลื่นลม
   
ระทวยระทมแล้วจมร่างตามความรักร้างไป

   
“เยื่อไม้” เลือกเพลงของศรีสวัสดิ์ มาหลายเพลง รวม ปีศาจวสันต์ ซึ่งเนื้อหาคล้าย ฟ้าคลุ้มฝน ของครูแก้ว หากลีลาและโวหารให้อารมณ์ต่างกันมาก ฟ้าคลุ้มฝน ฟังแล้วซึมลึกชนิดถอนสะอื้นน้ำตาตกใน แต่ ปีศาจวสันต์ ฟังแล้วเดือดดิ้นอาดูร ชนิด “ความกดดันขั้นเดนเหมือนจะเค้นฆ่าตาย”  เนื่องจาก “ มนต์ร้ายพรายผีหลอกหลอนจนย้ำขยี้ใจตรม”  ก็ลองคิดดูว่าให้ความรู้สึกทั้งครื้มทั้งคลุ้มคลั่งปั่นป่วนแค่ไหน เนื้อร้องแบบนี้เป็นการให้อารมณ์ตามแนวของศรีสวัสดิ์โดยเฉพาะ จึงได้ลงความเห็นว่าถ้อยคำของศรีสวัสดิ์นั้นผาดโผนและรุนแรงกว่านักแต่งเพลงอื่นๆ
   
ครูแก้ว กับ ศรีสวัสดิ์ คงจะใจตรงกันอีกอย่างหนึ่ง คือไม่บรรยายความใคร่อย่างโจ่งแจ้ง เรื่องความรักนั้นรำพันกันซาบซึ้งอย่างไรก็ไม่แปลก แต่พอก้าวล่วงเข้าไปอีกขั้นหนึ่งแล้วต้องใช้ศิลปะกันด้วยฝีมือทีเดียว ครูแก้วมักจะทิ้งนัยไว้ให้สังเกตกันเองว่าใช่หรือไม่ใช่ นับเป็นความละเมียดละไมลึกๆอย่างหนึ่งของผู้มีคุณสมบัติแบบกวีไทย อย่าง เย็นลมว่าว ของครูแก้ว ใครจะคิดก็ได้ไม่คิดก็ไม่เสียรสตรงไหน

   
หลงความคะนองเพลินพล่าน
   
จิตใจเหิมห่างจู่โจมเพราะความโฉดเขลาโฉบฉายกลายมา
   
เดี๋ยวเดียวจุฬากลับมาติดเหนียงปักเป้า
   
ฝืนดึงฉุดเอา
   
ยิ่งพันรัดเข้าแน่นตัว

   
สงสัยว่าครูแก้วคงจะเคยอ่าน พระอภัยมณี ตอนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อลักตัวลงไปในถ้ำมาก่อน ทำนองเดียวกับ เพ้อฝันไป ของศรีสวัสดิ์ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งลึก ถ้าไม่คิดเสียก็ร้องได้โดยสะดวกใจ
   
น่าเสียดายที่หน้ากระดาษมีไม่มากพอจะกล่าวถึงคนอื่นๆ เช่น เวส สุนทรจามร / พร พิรุณ / เอิบ ประไพเพลงผสม / สมศักดิ์ เทพานนท์ / ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ฯลฯ ซึ่งก็น่าจะหยิบยกมาเชิดชูขัดประกายเพชรกันให้เห็นชัดๆอีกครั้งหนึ่ง
   
ไม่มีใครเถียงได้เรื่องภาษาย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย คนสมัยนี้ย่อมไม่พูดอย่างสมัย พ.ศ. ๒๔๘๒ ก็จริง แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับภาษาไม่เอาไหนในเพลงปัจจุบัน น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้คำนึงถึงทำนอง (ซึ่งบางทีก็ไปเอาเพลงฝรั่งมา) และความดังของตัวนักร้องมากกว่านึกถึงศิลปะการแต่งเนื้อร้องที่กลมกลืนเข้ากับทำนอง และมีวรรณศิลป์อยู่ในตัว
   
ไม่ควรมีคำอ้างว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่แต่งเพลงแบบสุนทราภรณ์อีกแล้ว
   
เพราะสุนทราภรณ์หมายถึงความประณีตความเหมาะสมกับยุคสมัย ความมีศิลปะ มีความคิดสร้างสรรค์
   
ศิลปะย่อมเป็นศิลปะอยู่วันยังค่ำ
   
และยืนยาวกว่าชีวิตอยู่เสมอ
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ธ.ค. 01, 14:16

ขอบคุณมากค่ะ  บางเพลงไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย  จะมีใครใจดีร้องให้ฟังไหมคะ
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ธ.ค. 01, 15:00

ชอบฟังเพลงสุทราภรณ์มากค่ะ
หลายๆเพลงทำนองสนุกครื้นเครง ฟังแล้วสบายใจจริงๆค่ะ โดยเฉพาะเพลงรำวงทั้งหลาย เพลงไหนที่คุณศรีสุดาร้องคู่ยิ่งสนุกค่ะ
ขอไปทบทวน หาเนื้อเพลงก่อนนะคะคุณอ้อย
บันทึกการเข้า
หนูนานา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ธ.ค. 01, 21:44

ขอบคุณ ดร.แพรมน  และ นายตะวันมากค่ะที่หาความรู้ใหม่มาให้อ่าน
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ธ.ค. 01, 01:30

หมู่ ญ. - สวัสดี ... (หมู่ ช. รับ - สวัสดีจ้ะ)
หมู่ ญ. -สวัสดี๊... (หมู่ ช. - สวัสดีจ้ะ)
(พร้อม) สวัสดี๊ สวัสดีปีใหม่เทอญ....

หมู่ ช. - สวัสดี ... (หมู่ ญ.  - สวัสดีค่ะ)
หมู่ ช. - สวัสดี๊ - - (หมู่ ญ. - สวัสดีค่ะ)
(พร้อม) สวัสดี๊ สวัสดีปีใหม่เทอญ....
บันทึกการเข้า
นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 ธ.ค. 01, 03:03

ผมเคยฟังเพลง "พรพรหม" ในเวอร์ชั่นของ "รวมดาว" ครับ เพราะดีเหมือนกัน ... เนื้อเพลงเล่นคำ สระอม ... อิอิ สระโอะ + ม (ตัวสะกด) เกือบทั้งเพลงครับ
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 ธ.ค. 01, 21:58

ขอบคุณ น้องแพร กับ น้องนายนะคะ ที่นําเรื่องราวน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 17 คำสั่ง