เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6916 วรรณกรรมไทย
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 28 ธ.ค. 01, 21:56

สัปดาห์นี้มีเรื่องเล่าจากคุณเทาชมพูมาให้อ่านกันเจ้าคะ

บทบาทของคนหนุ่มต่อวรรณกรรมไทย
ยุคแรกรับอิทธิพลตะวันตก



   
ในสมัยรัชกาลที่๔ อิทธิพลตะวันตกแพร่หลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาชัดเจนมากกว่าสมัยปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินพระราโชบายเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตก เพื่อรับศิลปวิทยาการของเขามาสร้างความเจริญให้สยาม จิตรกรรม การพิมพ์ และการแพทย์
   
สถาปัตยกรรมก็เช่นการใช้ช่องหน้าต่างโค้ง การสร้างวัดเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุโรป การสร้างวังเช่นพระนครคีรีหรือเขาวัง
   
จิตรกรรมก็เช่นภาพเขียนของขรัวอินโข่ง
   
การตั้งโรงพิมพ์ของหมอบรัดเล และการรักษาแบบแผนการแพทย์สมัยใหม่ล้วนแสดงให้เห็นความก้าวหน้าไปทางอารยธรรมตะวันตก
   
และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการศึกษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งศึกษากันทั้งภาษาและวรรณกรรม
   
การศึกษาเริ่มจากในวัง เจ้านายผู้ยังทรงพระเยาว์ในสมัยนั้นได้ศึกษากับชาวต่างประเทศคนหนึ่งในจำนวนนี้คือ นางแอนนา เลียวโนเวนส์
   
เจ้านายผู้ทรงพระเยาว์เหล่านี้เมื่อเจริญพระชนมพรรษาขึ้นจนได้ดำรงบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ ก็ทรงเป็นกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ความเจริญผสมผสานเข้ากับอารยธรรมแบบตะวันตก ผู้นำที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง รองลงมาได้แก่พระเจ้าน้องยาเธออีกหลายพระองค์ แต่ทางด้านวรรณกรรมแล้ว จะขอกล่าวถึงเพียงสองพระองค์ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในยุคแรก
   
องค์แรกคือ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ต้นสกุล เกษมสันต์
   
และองค์ที่สองคือพระองค์เจ้าคคนางค์ยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นสกุล คคนางค์
   
เราคงจะจำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุเพียง ๑๕–๑๖พรรษา นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพระราชภารกิจอันหนักอึ้งที่จะต้องทรงรับไว้ ในสมัยนั้นกิจการบ้านเมืองทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แม้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลก่อนก็ไม่อาจคานอำนาจไว้ได้
   
ดังนั้นในช่วง ๕–๖ ปีแรกแห่งรัชกาล เราอาจจะมองเห็นภาพของ “คนหนุ่ม” คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าน้องยาเธอองค์รองๆลงไปเป็นฝ่ายหนึ่ง และฝ่าย “คนรุ่นเก่า” คือสมเด็จเจ้าพระยาอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง แต่กลุ่มแรกนั้นก็ได้โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ เจริญด้วยพระบารมีซึ่งเกิดจากพระปรีชาญาณและความรู้อันทรงศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งสะท้อนออกมาในรูปหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ออกโดยคนไทยและเผยแพร่แก่ประชาชน เริ่มออกฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ เจ้าของและบรรณาธิการคือพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
   
ดรุโณวาท มีทั้งสารคดีและบันเทิงคดี มีสาระทันสมัย แสดงความสามารถและสติปัญญาของคนหนุ่มซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นให้ประจักษ์ต่อขุนนางข้าราชการและประชาชน ชื่อหนังสือพิมพ์บอกอยู่ในตัวแล้วว่า เป็น “โอวาทหรือคำสอนของคนหนุ่ม”
   
ผลจากวรรณกรรมบวกกับพระปรีชารอบรู้ในหลายๆด้าน กิจการงานเมืองทั้งปวงก็เปลี่ยนมาอยู่ในฝีมือของคนรุ่นใหม่เหล่านี้จนหมดสิ้นในระยะต่อมา
   
นอกจาก ดรุโณวาท ก็คือ วชิรญาณวิเศษ ออกเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ เป็นหนังสือของหอพระสมุดวชิรญาณในสมัยที่พระองค์เจ้าคคนางค์ยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเป็นสภานายกและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเขียนสำคัญได้แก่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกรมหลวงพิชิตปรีชากร
   
เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๒๙ บทบาทของกรมหลวงพิชิตปรีชากรในฐานะ “คนรุ่นใหม่” ก็ได้ปรากฏขึ้น เมื่อนิพนธ์เรื่อง สนุกนึก
   
เรื่องนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นของวรรณกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในยุคแรกอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ารูปแบบการเขียนยังเป็นแบบเก่า คือเล่าติดต่อกันไปเหมือน สามก๊ก และ ราชาธิราช ไม่มีการใช้เครื่องหมายคำพูด หรือการขึ้นบรรทัดใหม่เมื่อมีบทสนทนา ฯลฯ อย่างวิธีการเขียนนิยายปัจจุบัน แต่แนวคิดนั้นได้รับแนวตะวันตก คือแนวสัจนิยม ( realism) มาอย่างเห็นได้ชัด
   
เนื้อเรื่องของ สนุกนึก บรรยายถึงพระสงฆ์หนุ่มๆ ๔ รูปพูดคุยกันว่าเมื่อสึกแล้วจะออกไปประกอบอาชีพต่างๆกัน เช่นทำราชการ และค้าขาย ผู้ที่ยังลังเลไม่สึกก็มีอุบาสิกาเตรียมมาจัดการให้สึกเพื่อจะเอาไปเป็นลูกเขย ข้อสำคัญคือฉากในเรื่องระบุว่าเป็นวัดบวรนิเวศ
   
ข้อนี้เอง เมื่อลงตีพิมพ์ก็เกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้น เพราะคนอ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงเนื่องจากคนไทยยังไม่คุ้นกับกลวิธีการแต่งแบบสมจริงเช่นนี้ กลายเป็นเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆจนสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะนั้นทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศเดือดร้อนพระทัยว่าทำให้วัดมัวหมอง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกริ้วและกล่าวโทษกรมหลวงพิชิตปรีชากรพอประมาณแล้วก็ทรงไกล่เกลี่ยให้เรื่องยุติลงเพียงแค่นั้น เป็นอันว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯก็ไม่ติดพระทัยจะกล่าวถึงเรื่องนี้อีก ส่วน สนุกนึก ก็ค้างอยู่เพียงตอนแรก ทิ้งปัญหาไว้ให้นักวิชาการถกเถียงกันว่าเรื่องนี้เป็นนวนิยายหรือเรื่องสั้นกันแน่ และยังไม่มีคำตอบตายตัวมาจนปัจจุบัน
   
สมัยนี้ เมื่อหยิบเรื่อง สนุกนึก ขึ้นมาอ่านด้วยสายตาคนปัจจุบัน ก็คงไม่เห็นว่ามีอะไรอื้อฉาวเป็นเรื่องเป็นราวได้ถึงขนาดนั้น อาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาด้วยซ้ำไป เพราะตามปกติแล้วชายหนุ่มเมื่ออายุครบ ๒๐ปี ก็มักจะบวชสักหนึ่งพรรษาก่อนสึกออกไปประกอบอาชีพและมีครอบครัว ระหว่างบวชอยู่ เมื่อรวมกลุ่มกันก็คุยกันเรื่อยเปื่อยฆ่าเวลาไปบ้าง ไม่สู้จะสำรวมนักก็ไม่แปลกอะไร แต่ถ้ามองด้วยสายตาของคนรุ่นเก่าในสมัยรัชกาลที่ ๕  เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหญ่เพราะวัดบวรนิเวศ เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในสมัยนั้น วัดนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่หลายปีขณะผนวช และทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายซึ่งได้ชื่อว่าเคร่งครัดมากก็ที่วัดนี้ ต่อมาเป็นวัดที่พระราชวงศ์ผนวชกันโดยมาก รวมทั้งกรมหลวงพิชิตปรีชากรด้วย เจ้าอาวาสนั้นเล่าก็เป็นเจ้านายผู้ใหญ่ เมื่อมีเรื่องเล่าว่าพระหนุ่มๆในวัดคุยกันอย่างไม่สำรวม บวชแล้วก็ไม่ได้นำพระธรรมไปกล่อมเกลาจิตใจ ซ้ำยังมีบทบาทของอุบาสิกาที่มาวัดเพื่อคอยจังหวะจะสึกพระไปเป็นลูกเขยอีกด้วย ก็ย่อมเป็นเป้าหมายการวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก
   
ส่วนที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นทัศนคติต่อการบวช แสดงผ่านทาง ความคิดเห็นของพระสมบุญว่า
   
“ผ้ากาสาวพัตรเป็นที่พึ่งของคนยาก ถึงไม่ทำให้ดีก็ไม่ทำให้ฉิบหาย ไม่ดิ้นไม่ขวนขวายแล้วไม่มีความทุกข์ เป็นที่พักที่ตั้งตัวของผู้แรกจะตั้งตัวดังนี้”
   
หมายความว่าการอยู่ในสมณเพศไม่ยอมสึกนั้นไม่ได้เกิดจากความศรัทธาในศาสนา แต่การอยู่วัดเปรียบได้กับหอพักชนิดไม่เสียเงินสำหรับผู้ยังไม่มีทางประกอบอาชีพ ถ้าอยู่ไปวันๆไม่ทะเยอทะยานอะไรมากก็ไม่มีความทุกข์ พูดง่ายๆคืออยู่อย่างนี้ขี้เกียจและอาศัยเกาะเป็นกาฝากได้อย่างสบายนั่นเอง จนกว่ามีลู่ทางไปดีกว่านี้ได้ก็ค่อยสึก
   
กรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้นถ้าเทียบกับทางฝ่ายสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯแล้ว ฝ่ายแรกน่าจะจัดเข้าประเภท “คนรุ่นใหม่” หรือ “คนหนุ่ม”  ส่วนฝ่ายหลังคือ “คนรุ่นเก่า” กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงรับการศึกษาแผนใหม่ตามแบบเจ้านายรุ่นใหม่ เมื่อนิพนธ์เรื่อง สนุกนึก ทำนองนิยายฝรั่ง การสร้างเหตุการณ์เลียนแบบชีวิตคนจริงๆให้สมจริง ไม่ใช่นิทานประเภท “แต่ปางหลังยังมีจอมกษัตริย์” ดังนั้นความคิดอ่านของพระหนุ่มๆทั้ง ๔รูป จึงเป็นความคิดที่ไม่น่าจะไกลจากคนจริงๆนัก คือยังเป็นปุถุชน มีกิเลสและความเห็นแก่ตัวเช่นคนธรรมดา ไม่ใช่ว่าครองผ้าเหลืองแล้วจะตัดกิเลสได้หมดสิ้นเสมอไป
   
แต่ความสมจริงนั้นเมื่อแนบเนียนจนเหมือนเรื่องจริง บางครั้งความจริงก็ระคายหูได้มากกว่าความเท็จ ยากที่คนรุ่นเก่าจะยอมรับได้ เพราะถึงมีเหตุผลสมัยใหม่อย่างไร ก็ยังไม่อาจหักล้างความคิดที่ว่าสถาบันศาสนาเป็นเรื่องที่ต้องเคารพ และพระก็ไม่ควรออกนอกลู่นอกทางอยู่นั่นเอง
   
เรื่องทางธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าเรื่องทางโลก แตะต้องได้ยาก
   
เพราะเหตุนี้ สนุกนึก จึงไม่จบ หลังจากนั้นแม้ไม่มีเหตุการณ์อื้อฉาวใดๆเกิดขึ้นอีก วชิรญาณวิเศษยังออกตีพิมพ์อยู่จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ เรื่องสั้นแนวอื่นแพร่หลายสืบต่อมาไม่ขาดสาย แต่เรื่องทำนองเดียวกับ สนุกนึก ไม่ได้ปรากฏออกมาอีกเลย
บันทึกการเข้า
ภูวง-ภังคี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ธ.ค. 01, 09:15

ขอบใจหนูแพรมนกับหลานน้องนายครับ พวกเราชอบอ่านเรื่องทำนองนี้แต่ไม่ชอบค่อยจะไปเสาะหาเอง
 เอามาให้อ่านในนี้ก็ต้องขอบใจมาก
บันทึกการเข้า
ริน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ธ.ค. 01, 23:06

เคยเห็นชื่อสนุกนึกผ่านตาค่ะ ไม่ทราบว่ามี
เบื้องหลังอย่างนี้
แต่ที่เคยเห็น เหมือนจะสะกดแปลกๆนะคะ
มีการันต์แบบหนังสือรุ่นเก่า
ไม่แน่ใจค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ธ.ค. 01, 00:42

สมัยนั้นกรมหลวงพิชิตปรีชากรท่านทรงใช้สะกดว่า "สนุกนิ์นึก"  ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ธ.ค. 01, 09:56

คห.ที่ ๓  จำแม่นจริงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 19 คำสั่ง