เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 25678 วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 06 ก.ย. 17, 07:03

อนึ่ง ชาวสยามมีมหรสพเนื่องในการพระศาสนาด้วย ลุฤดูน้ำเริ่มลด ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน มิชั่วแต่แม่พระคงคาจะลดราถอยไปเท่านั้น ยังอำนวยให้พื้นดินที่จะทำการเพาะปลูกอุดมดีอีกด้วย เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาประสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่าง ๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก.  โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณีที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้น ๆ ของปีใหม่ ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง. ครั้งแรกที่เราไปถึงเมืองละโว้นั้นเป็นเวลากลางคืน พอดีกับคราวตามประทีปนั้น และเราได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟสว่างไสวรายเรียงอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ภายในพระบรมมหาราชวังนั้นยังงดงามยิ่งขึ้นไปอีก ในกำแพงแก้วที่ล้อมพระราชฐานนั้น มีซุ้มช่องกุฏิ ๓ แถวโดยรอบ แต่ละช่องมีประทีปดวงหนึ่งตามไฟไว้ บัญชรและทวารทั้งนั้นก็ประดับดวงประทีปด้วยเหมือนกัน มีโคมประทีปใหญ่และย่อม ตกแต่งเป็นรูปแปลก ๆ กัน ปิดกระดาษ หรือหุ้มผ้าแก้วโปร่งระบายสีต่าง ๆ  แขวนไว้อย่างเป็นระเบียบตามกิ่งไม้หรือตามเสาโคม.

จากหนังสือ "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร

ภาพดวงประทีปลอยน้ำไปตามกระแสธารที่อำเภอจือหยวน เมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี ประเทศจีน คืนวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ ในเทศกาลจงหยวน น่าจะเป็นบรรยากาศเดียวกับที่อยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ชวนให้นึกว่าเรารับประเพณีนี้มาจากเมืองจีน ?

ภาพจาก http://www.gettyimages.com/license/842691924


บันทึกการเข้า
Namplaeng
ชมพูพาน
***
ตอบ: 183


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 ก.ย. 17, 09:44




บันทึกการเข้า
Namplaeng
ชมพูพาน
***
ตอบ: 183


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 06 ก.ย. 17, 09:56




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 06 ก.ย. 17, 10:46

มูลนิธิเล็กประไพเค้าย่อสาระงานเสวนามาให้อ่าน น่าจะไขข้อสงสัยได้บ้างครับ

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5046
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 10:04

สุขสันต์วันสารทจีน ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 10:44

https://www.sanook.com/horoscope/165947/

“วันสารทจีน” เป็นอีกวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนมีโอกาสได้แสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และในปีนี้วันสารทจีนตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม 2562 นอกจากประวัติของวันสารทจีน ความเชื่อต่างๆ แล้วอีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับวันสำคัญนี้คือของไหว้สารทจีนที่มีความเป็นสิริมงคล Sanook! Horoscope จึงรวบรวมของไหว้สารทจีน พร้อมความหมายของไหว้ที่เป็นสิริมงคลเหล่านั้น

 วันสารทจีน 2562 ของไหว้ ประวัติ ความสำคัญ
อาหารคาว

เป็ด : ความบริสุทธิ์

ไก่ : การงานก้าวหน้า

ปลา : มีอันจะกินไม่หมดสิ้น

หมูสามชั้น : ความอุดมสมบูรณ์

เกี๊ยวกุ้ง : ห่อโชคลาภ

ขนม

ขนมเข่ง และขนมเทียน : ความราบรื่น หวานชื่น

ขนมถ้วยฟู : เพิ่มพูน รุ่งเรือง

ขนมเปี๊ยะ : ครอบครัวสามัคคี

ขนมปุยฝ้าย : เงินทองเพิ่มพูน

ถั่วตัด : กินอยู่อุดมสมบูรณ์

ผลไม้

ส้ม : ความโชคดี

กล้วย : ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง

แอปเปิล : ความสงบสุขในครอบครัว

องุ่น : อายุยืน เจริญ งอกงาม

สาลี่ : ความสำเร็จ

หมายเหตุ   : เวลาเลือกของไหว้ อาจเลือกของคาว 3 อย่างแล้วผสมกับขนมให้เป็น 5 อย่าง เช่นเดียวกันกับเวลาเลือกขนม ก็อาจจะเลือกขนม 3 อย่างผสมกับผลไม้ให้กลายเป็น 5 อย่างก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 10:56

มอบให้ท่านผู้อ่านเรือนไทยค่ะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 14:24

ของไหว้วันสารทจีน  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 16:44

จีนลอยโคม หรือ กระทง วันสารท คล้ายประเพณีลอยกระทงในไทย

ล่าสุดบทความในมติชนสุดสัปดาห์ลงบทความ ลอยกระทงวันสารทจีน หรือจะเป็นที่มา ของประเพณีลอยกระทงในสยาม?
โดย อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

https://www.matichonweekly.com/column/article_220153
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 17:46

ล่าสุดบทความในมติชนสุดสัปดาห์ลงบทความ ลอยกระทงวันสารทจีน หรือจะเป็นที่มา ของประเพณีลอยกระทงในสยาม?
โดย อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

https://www.matichonweekly.com/column/article_220153

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๙ - ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ คอลัมน์ On History เผยแพร่วันพฤหัสที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน มีเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งเรียกว่า “เทศกาลจงหยวน” แปลเป็นไทยตรงตัวมีความหมายว่า “วันจันทร์เพ็ญแรกกลาง” โดยตามคติจีนถือว่าเป็นวันเกิดของเทพตี้กวน ที่ชาวจีนเชื่อกันว่าเป็นเสนาแห่งแผ่นดิน

“เทพตี้กวน” นอกจากจะเป็นเสนาแห่งแผ่นดินแล้ว ชาวจีน ศาสนาเต๋า (ใช่แล้วครับ “เต๋า” เป็นศาสนา ไม่ใช่ลัทธิ ถึงแม้จะมีองค์ประกอบของศาสนาไม่ครบตามเกณฑ์ความเป็นศาสนา ตามหลักที่นักวิชาการในยุคหลังกำหนดกัน แต่ศาสนาเต๋าก็ยิ่งใหญ่ และมีผู้คนนับถือมากมายเสียจนไม่ควรจะถูกนับเป็นแค่ลัทธิความเชื่อเล็ก ๆ) ยังถือว่าเทพเจ้าองค์นี้คือ “พญายมบาล” อีกด้วย

กิจกรรมในช่วง "เทศกาลจันทร์เพ็ญกลาง" หรือ "วันสารทจีน" ที่ไม่พบในหมู่คนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งก็หมายความว่าคนเชื้อสายจีนในไทยไม่ได้ประกอบพิธีนี้ด้วยตามระเบียบ) แต่ก็น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ชาวจีนมีการลอยกระทงลงบนแม่น้ำ คล้าย ๆ กับลอยกระทงของบ้านเรา

แต่ต่างกันตรงที่ พวกเขาไม่ได้ลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแต่อย่างใด พวกเขาลอยเพื่อไหลนำทางพวกผีทั้งหลายไปสู่แดนสุขาวดี ถือเป็นการโปรดผีทั้งปวงให้พ้นจากนรกภูมิเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพญายมบาลต่างหาก

อันที่จริงแล้ว “สุขาวดี” เป็นชื่อสวรรค์ในพุทธศาสนา แบบมหายานแขนงหนึ่ง ที่นับถือพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์สำคัญที่สุด (คือองค์เดียวกับที่หลวงจีนเปล่งคำสรรเสริญให้ได้ยินในภาพยนตร์กันบ่อย ๆ ว่า อมิตพุทธ นั่นแหละครับ) และสถิตอยู่บนสวรรค์สุขาวดีที่ว่านี้

สวรรค์ชั้นที่ว่าจึงไม่ใช่สวรรค์ของศาสนาเต๋ามาแต่ดั้งเดิม แต่บังเอิญว่า ตามปรัมปราคติของชาวพุทธกลุ่มนี้เชื่อกันว่า “สุขาวดี” เป็นสวรรค์ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งก็ไปพ้องกันกับคติเรื่องสวรรค์ในศาสนาเต๋าว่า สวรรค์ก็อยู่ทางทิศนั้นเหมือนกันพอดี นี่ก็เลยเป็นเรื่องที่พี่จีนไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงอะไรนัก ที่ต้องอิมพอร์ตเอาสวรรค์ทั้งชั้นมาจากพวกแขกอินเดียเขา

แต่ไม่ได้หมายความว่า การลอยกระทงไหลนำทางผี เป็นประเพณีอินเดียมาก่อนนะครับ ผมหมายถึงเฉพาะแค่การเอาคติในพุทธศาสนา มาผสมโรงเข้ากับพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสารทจีนต่างหาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 17:48

จากความเชื่อเรื่องการลอยกระทงเพื่อนำทางผีไปสู่สวรรค์ชั้นสุขาวดี ของพระอมิตาภพุทธเจ้า จึงทำให้ไม่น่าประหลาดใจที่จะมีผู้เสนอว่า การลอยกระทงในวันสารทจีนมีที่มาจากอินเดีย พร้อมกับการเข้ามาของพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ร่วมสมัยกับความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีในไทย ในช่วงหลัง พ.ศ. ๑๑๐๐ โดยประมาณ)

แต่อันที่จริงแล้ว ในอินเดียไม่มีประเพณีทำนองนี้ (อย่างน้อยก็ไม่มีความเชื่อเรื่องการลอยกระทงนำพวกผีไปสวรรค์ของพระอมิตาภะ) ในขณะที่ในศาสนาเต๋ายังมีประเพณีการลอยกระทงที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีอยู่อีก อย่างน้อยหนึ่งประเพณีคือ “เทศกาลเซี่ยหยวน” หรือ “เทศกาลจันทร์เพ็ญปลาย” ในวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

เทศกาลดังกล่าวยังถือว่าเป็นวันเกิดของ “เทพสุ่ยกวน” หรือ “เสนาแห่งน้ำ” ซึ่งตามความเชื่อในศาสนาเต๋าถือว่าเป็นพี่น้องกัน โดยในเทศกาลจันทร์เพ็ญปลายนี้จะมีทั้งประดับโคม และลอยกระทง เช่นเดียวกับในเทศกาลสารทจีน ที่บูชาเทพตี้กวน

เฉพาะในส่วนของการลอยกระทงในเทศกาลจันทร์เพ็ญปลายนั้น ว่ากันว่าทำไปเพื่อบูชาเทพสุ่ยกวน ที่เป็นเสนาแห่งท้องน้ำ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผีบรรพชน ดังนั้น คติการลอยกระทงที่เกี่ยวกับผี จึงน่าจะมีอยู่แล้วในศาสนาเต๋า มากกว่าที่จะอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย
 
อันที่จริงแล้ว ปกรณ์ในศาสนาเต๋ายังระบุไว้ด้วยว่า เทพตี้กวน และเทพสุ่ยกวนนั้น ยังมีพี่ชายอีกคนหนึ่งคือ “เทพเทียนกวน” ซึ่งเป็น “เสนาแห่งท้องฟ้า” โดยนับเป็นเทพคนโตของเทพทั้งสามองค์นี้ ส่วนเทพสุ่ยกวนนั้นนับเป็นเทพคนสุดท้อง

เทพเจ้าทั้งสามองค์นี้ ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า ชุดเทพ “ซานกวน” นี้ มีหน้าที่ตรวจสอบความดี-ความชั่วของมนุษย์ มีอำนาจให้รางวัล และลงโทษ จึงไม่แปลกเลยสักนิด ที่ในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับชุดเทพซานกวนนี้ จะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผี (ในภายหลังความเชื่อเกี่ยวกับชุดเทพซานกวนนี้ ได้พัฒนาเป็นว่า เทพเทียนกวนประทานโชคลาภ เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ส่วนเทพสุ่ยกวนขจัดทุกข์ภัย)

พวกเต๋าเชื่อว่า วันเกิดของเทพเทียนกวน ตรงกับวัน ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย คือวันเพ็ญแรกของปี ตรงกับวันหยุดสุดท้ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงจัดให้มี “เทศกาลหยวนเซียว” ซึ่งแปลไทยตรงตัวได้ว่า “เทศกาลจันทร์เพ็ญต้น” ด้วยการชักโคม และประดับโคมบูชาเทพเทียนกวน และดวงดาวต่าง ๆ

เทศกาลที่เกี่ยวกับโคมของจีน (ชาวจีนมองอะไรที่เราเรียกว่า “กระทง” เป็น “โคม” ชนิดหนึ่ง เพราะกระทงของพี่จีนเขาทำมาจากกระดาษสี ไม่ใช่ใบตองเหมือนอย่างเราในปัจจุบัน) จึงเกี่ยวอยู่กับชุดเทพซานกวนนี้ กับการอุทิศส่วนกุศลให้ผีบรรพชน และพระจันทร์ (แน่นอนว่า พระจันทร์ย่อมเกี่ยวกับเรื่องของน้ำ)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 17:49

น่าสังเกตว่าในจดหมายเหตุของราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ที่เข้ามาในอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ อย่าง ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ ได้พรรณนาถึงประเพณีลอยกระทงในสมัยอยุธยา ที่ท่านได้พบเห็นกับตาเอาไว้ว่า

“เราได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่าง ๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก” (สำนวนแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร เน้นคำโดยผู้เขียน)

กระทงของอยุธยาจึงทำขึ้นจากกระดาษสี (แน่นอนว่า กระทงบางอันอาจเป็นแค่ประดับด้วยกระดาษสี แต่ถ้าบางอันจะทำขึ้นจากกระดาษสีทั้งดุ้นก็ไม่เห็นจะแปลก) แถมลา ลูแบร์ ยังบอกไว้ด้วยว่า การลอยกระทงนั้นทำเพื่อ “แสดงความขอบคุณต่อพระแม่ธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

เป็น “พระแม่ธรณี” นะครับ ไม่ใช่ “พระแม่คงคา” ตามอย่างคำอธิบายสมัยต้นกรุงเทพฯ (เรื่องของนางนพมาศ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ระดับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกไว้เองว่า เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๓)

อ่านแล้วก็ชวนตะหงุดตะหงิดใจให้นึกถึง เสนาแห่งแผ่นดิน อย่างเทพตี้กวน ที่ชาวจีนเขาแฮปปี้เบิร์ธเดย์ท่านกันด้วยการ “ลอยกระทง” ในวันสารทจีน

แถมในกฎมณเฑียรบาล ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นอยุธยายังระบุไว้ด้วยว่า ในช่วงพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ” (ก็ลอยกระทงนั่นแหละ) กษัตริย์ต้องไปประกอบพิธีที่วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นวัดที่เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของพระเทพบิดร คือพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งก็คือ “ผีบรรพชน” ของกษัตริย์อยุธยานั่นเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 18:41

แต่อันที่จริงแล้ว ในอินเดียไม่มีประเพณีทำนองนี้

อินเดียมีประเพณี Diwali  หรือเทศกาลทีปวลี คือการจุดประทีปเฉลิมฉลองการกลับคืนเมืองอโยธยาของพระรามและนางสีดา หลังจากไปอยู่ในป่าถึง 14 ปี และอีกคติหนึ่งเพื่อบูชาพระลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวย สมบูรณ์ และโชคลาภ

ประทีปจุดในลักษณะของการวางประดับบน“ฆาฏ” (घाट / Ghat) หรือท่าน้ำที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดริมฝั่งแม่น้ำคงคา บางคนจะจุดประทีปใส่ลงไปในกระทงเล็ก ๆ ที่ทำจากใบไม้แห้ง ซึ่งเรียกว่า โดนา (दोना / Dona) ประดับด้วยดอกกุหลาบและดาวเรืองอย่างเรียบง่ายลอยลงไปในแม่น้ำคงคา โดยถือเป็นเครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า

ในสมัยอยุธยา อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียมีมากกว่าอิทธิพลจากจีน  เพราะผ่านเข้ามาทางพุทธศาสนาซึ่งมีพิธีกรรมต่างๆผสมด้วย     ลองกระทงไทยจึงน่าจะมาจากอินเดียมากกว่าจีน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 20:45

การจุดประทีปที่ท่าน้ำ หรือในกระทงลอยไปตามแม่น้ำคงคา นิยมทำกันในเมืองพาราณสีแห่งเดียวในเทศกาลเทวทีปาวลี หรือ เทศกาลทีปาวลีของเทวดา

หลังเทศกาลทีปวลีของมนุษย์ผ่านไป ๑๓ วัน วันทีปาวลีของทวยเทพก็จะมาถึง เรียกว่า วันเทวทีปาวลี (दे व दीपावली / Dev Deepavali) หรือเรียกว่า “การติกะ ปูรณิมา” (काितक पूणि णमा / Kartika Purnima) โดยวันน้ีเป็นวันพระจันทรเ์ต็มดวงในเดือนการติกะ ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทงของไทยนั่นเอง ชาวฮินดูมีความเชื่อว่าเหล่าทวยเทพจุดประทีป ในคืนเทวทีปาวลีเพื่อฉลองชัยชนะที่พระศิวะสามารถปราบอสูรชื่อตริปุระลงได้สำเร็จ ทำให้ความผาสุกกลับคืนมาสู่เหล่าเทวดาอีกครั้ง

เมืองพาราณสี ตะเกียงดียาแสนดวง

น่าประหลาดใจว่าความนิยมเฉลิมฉลองเทศกาลเทวทีปาวลีมีอยู่เพียงแต่ในเมืองพาราณสีแห่งเดียวเท่านั้ ไม่พบความนิยมในที่อื่น ๆ อีก เทวทีปาวลีถือเป็นเทศกาลใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดเทศกาลหน่ึงประจำเมืองพาราณสี

ในเวลากลางคืน ชาวเมืองพาราณสีจะต้อนรับเหล่าทวยเทพที่กำลังมาเยี่ยมเยือนเมืองพาราณสีในคืนเทวทีปาวลี โดยการจุดตะเกียงดียาจํานวนเป็นแสน ๆ ดวงประดับบน “ฆาฏ” (घाट / Ghat) หรือ ท่าน้ําที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดริมฝั่งแม่น้ำคงคา ท่าน้ํานั้นมีจำนวนมากกว่า ๘๐ ท่า บางคนจะจุดประทีปใส่ลงไปในกระทงเล็ก ๆ ที่ทำจากใบไม้แห้งซึ่งเรียกว่า โดนา (दोना / Dona) ในกระทงประดับด้วยยดอกกุหลาบและดาวเรืองอย่างเรียบง่ายลอยลงไปในแม่น้ำคงคาโดยถือเป็นเครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า

อย่างไรก็ตามการลอยกระทงในแม่น้ําคงคาในเทศกาลเทวทีปาวลีนี้ก็มิใช่ประเพณีเฉพาะแต่อย่างใด ตลอดทั้งปีผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญยังท่าน้ําคงคาเมืองพาราณสีโดยทั่วไป ก็นิยมบูชาแม่น้ำคงคาด้วยวิธีลอยกระทงแบบน้ีอยู่แล้ว

สรุป

ด้วยความคล้ายคลึงกันของบรรยากาศการเฉลิมฉลอง และความตรงกันของวันเทศกาล ทําให้อาจสันนิษฐานได้ถึงความสัมพันธ์ประการใดประการหน่ึงที่มีระหว่างเทศกาล ทีปาวลี-เทวทีปาวลีของอินเดียกับลอยกระทงของไทย แต่ไม่ควรด่วนสรุปเสียทีเดียวว่า ประเพณีลอยกระทงนั้นมีที่มาจากทีปาวลี-เทวทีปาวลี สมควรศึกษาค้นคว้าให้กว้างและลึกกันต่อไปเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

จากบทความเรื่อง เทศกาลทีปาวลี และเทวทีปาวลีของอินเดีย โดย  อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด   สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หนังสือลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมนํ้าร่วมราก หน้า ๔๖-๔๗
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 15 ส.ค. 19, 20:57

[
ด้วยความคล้ายคลึงกันของบรรยากาศการเฉลิมฉลอง และความตรงกันของวันเทศกาล ทําให้อาจสันนิษฐานได้ถึงความสัมพันธ์ประการใดประการหน่ึงที่มีระหว่างเทศกาล ทีปาวลี-เทวทีปาวลีของอินเดียกับลอยกระทงของไทย แต่ไม่ควรด่วนสรุปเสียทีเดียวว่า ประเพณีลอยกระทงนั้นมีที่มาจากทีปาวลี-เทวทีปาวลี สมควรศึกษาค้นคว้าให้กว้างและลึกกันต่อไปเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

จากบทความเรื่อง เทศกาลทีปาวลี และเทวทีปาวลีของอินเดีย โดย  อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด   สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
แล้วรู้ได้ยังไงว่าไม่ถูกต้องล่ะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 20 คำสั่ง