เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 25680 วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
ซันเต๋อ
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 25 ธ.ค. 01, 03:05

ไม่ทราบความสำคัญค่ะ ว่าเป็นวันอะไร
วันตรุษจีน รู้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่
วันเชงเม้ง รู้ว่าเป็นวันไหว้บรรพบุรุษ
วันไหว้พระจันทร์ ก็รู้ว่าไหว้พระจันทร์
 แต่วันสารทจีน เขาทำอะไรกันคะ
รบกวนหน่อยค่ะ  ขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ธ.ค. 01, 14:26

วันสารทจีนนี่จะตกประมาณเดือนไหนคะ เผื่อจะเป็นแนวทางให้ดิฉันนึกต่อได้
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ธ.ค. 01, 15:14

คำว่า "สารท" ค้นเจอว่าเป็นเทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ  หรือ เหตุการณ์ที่เกิดในฤดูใบไม่ร่วงค่ะ
อ่านจากหนังสือ ของคุณจิตรา กล่าวไว้ว่า สารทจีน เป้นการไหว้เจ้า ครั้งที่ 5 ประจำปีค่ะ เห็นว่าปีหนึ่งจะไหว้ทั้งหมด 8 ครั้ง
ก็ไหว้เจ้า ไหว้ บรรพบุรุษ และต้นตระกูลจีนที่มาตั้งรกรากในไทย แล้วไม่มีลูกหลาน ก็ไหว้กันช่วงนี้ค่ะ (ลอกมาจากหนังสือค่ะ)
บันทึกการเข้า
ซันเต๋อ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 ธ.ค. 01, 09:57

ขอบคุณค่ะ ที่แท้ก็วันไหว้เจ้านี่เอง
บันทึกการเข้า
สายลม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 ธ.ค. 01, 11:20

..  .เท่าที่เห็นมา ชาวจีนในเมืองไทยจะมีการไหว้เจ้าและการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่บ้านสองครั้งในรอบปี คือในวันตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของจีน และในวันสารทจีนซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาครึ่งปี ถ้านับรวมการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในวันเช็งเม้งที่สุสาน ณ ฮวงซุ้ยชองแต่ละครอบครัว กับการไหว้พระจันทร์ด้วย ก็จะรวมกันเป็นปีละ ๔ ครั้ง แต่ถ้านับรวมถึงการไหว้พระภูมิเจ้าที่ ( ตี้จู้ ) ด้วยในการไหว้แต่ละครั้งก็อาจรวมกันเป็น ๘ ครั้งได้
บันทึกการเข้า
กระบี่อิงฟ้า
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 ธ.ค. 01, 17:03

เอ...คุณสายลมครับ  ถ้านับรวมไหว้ตีจู่เอี๊ยด้วย  นี่ปีหนึ่งไหว้กันเป็นร้อยเลยนะครับ  ไหว้8ครั้งเท่าที่จำได้ก็มี  
    ตรูษจีน เช็งเม้ง  โหงวเหว่ยโจ่ย(ไหว้บ๊ะจ่าง)    ตงชิว(สารทจีน)  ไหว้ขนมอี๋  ไหว้พระจันทร์ จำได้แค่นี้ ผมจำไม่ได้ว่าเขานับไหว้ก๊วยนี้(สิ้นป๊)รวมกับตรุษจีนหรือว่านับแยก
   คุณซันเต๋อ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ลองดูในหนังสือ ตึ่งหนั่งเกี้ย ของ จิตรา ก่อนันทเกียรติ  ดูนะครับ
   ขยายความให้ฝอยฝนหน่อยนะครับ เวลาตรุษจีนกับสารทจีน นี่ตอนไหว้บางคนจะไหว้2อย่างคือไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ แต่บางคนก็จะไหว้3อย่าง คือเพิ่มไหว้ผีไม่มีญาต(ไป๊ฮ๋อเฮียตี๋)
บันทึกการเข้า
สายลม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ธ.ค. 01, 12:47

. .ความหมายของคำว่า สารท ตามที่คุณฝอยฝนให้มานั้น เป็นความหมายที่ใช้ตามแบบของไทย  ในความหมายแรกคือสารทไทย เป็นเทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ ส่วนความหมายที่สองที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดในฤดูใบไม้ร่วงนั้นนึกไม่ออกว่าจะไปอิงกับของชาติใด เพราะเมืองไทยไม่มีฤดูใบไม้ร่วง
.   .ส่วนสารทจีนนั้นน่าจะยืมคำว่าสารทของไทยไปใช้ จึงไม่เกี่ยวกับเดือนสิบของไทยหรือฤดูใบไม้ร่วงของใครก็ไม่รู้
 . .ที่คุณซันเต๋อสรุปว่า ที่แท้คือวันไหว้เจ้านี่เอง ก็น่าจะยังไม่เชิง เพราะหลักใหญ่ของสารทจีนอยู่ที่การไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีการไหว้เจ้าเป็นส่วนประกอบ
  .เคยอ่านเรื่องเทพเจ้าของจีนที่คุณจิตราฯ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้น ที่คนไทยคุ้นคือเทพยดาที่เรียกว่า เซียน ของชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยอาจจะตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงหลังสงครามมหาเอเซียบูรพายุติใหม่ๆ สังเกตได้จากวรรณกรรมจีนภาคภาษาไทยจะใช้ภาษาแต้จิ๋วทั้งนั้น และเทพยดาหรือเซียนก็มีอยู่ไม่มากมาย ดังจะเห็นได้จากเรื่อง ไซอิ๋ว  โป้ยเซียน  ชั่นบ้อเหมา ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเทพยดาหลักๆ
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ธ.ค. 01, 15:05

เห็นเพื่อนคนมาเก๊าบอกว่า
เป็นวันที่ประตูผี(นรก)เปิด ให้บรรดาผีทั้งหลายมากินเครื่องเซ่นได้
เหมือนวันชิงเปรตเดือน ๑๐ ของไทยน่ะค่ะ
แต่ของจีนจะอยู่ในช่วงราวเดือน ก.ค. - ส.ค.
กินเวลานานประมาณ ๑ เดือน
ช่วงนั้นเห็นเพื่อน(คนเดียวกัน)บอกว่า ใครที่ชอบแขวนกระดิ่งลมไว้ตรงประตูจะเก็บกระดิ่งหมด เพราะกลัวจะเป็นการเรียกผีเข้าห้อง

จะเป็นช่วงเวลาที่คนกลัวผีปอดลอยที่สุดในรอบปี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 09:41

ปฏิทินจีนโบราณ เดือน ๗ ถือเป็นเดือนสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้ หญิงที่แต่งงานแล้วต้องกลับมาเซ่นไหว้ที่บ้านเดิม
          
ต่อมาเรื่องนี้ได้ไปปะปนกับเรื่องของพระโมคคัลลานะ ที่ช่วยมารดาให้พ้นจากนรก จึงมีความเชื่อว่าเป็นเวลาที่ประตูนรกนั้นได้ถูกเปิด เพื่อให้บรรดาภูติผีออกเร่ร่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นมาอีกพิธีหนึ่ง คือ ในตอนเช้าจะเซ่นไหว้เจ้าที่ และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายจะเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือบรรพบุรษต้นตระกูลของชาวจีน ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ไม่มีลูกหลานสืบสกุล แต่ในบางแห่งก็นิยมไหว้ในตอนเช้าด้วยเช่นกัน ประเพณีนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน

ในรอบหนึ่งปีชาวจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ ๘ ครั้ง เรียกว่าไหว้ ๘ เทศกาลโป๊ะโจ่ย การไหว้สารทจีนเป็นการไหว้ครั้งที่ ๕ ตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๗  ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิดเปิด ให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ตำราจีนหนึ่งกล่าวไว้ว่า วันที่ ๑๕ เดือน ๗ เป็นวันที่เช็งฮีไต๋ตี๋จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นรกจึงเปิดประตู เพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญได้

ข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปฏิทินจีน ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม

สุขสันต์วันสารทจีน   ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Namplaeng
ชมพูพาน
***
ตอบ: 183


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 13:49

มูลนิธิเล็กประไพเค้าย่อสาระงานเสวนามาให้อ่าน น่าจะไขข้อสงสัยได้บ้างครับ

http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=5046
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 ก.ย. 15, 11:02

มีเพื่อนร่วมงานก็ถามปิ่นเหมือนกัน แต่ปิ่นรู้แค่ว่าวันสารทจีน หรือ 中元节(ตงหงวนจ่อย) นั้น ประจำวันขึ้น15ค่ำเดือน7ของปฏิทินจันทรคติทุกปี เป็นวันปล่อยผี คือวันที่ประตูนรกเปิดให้ผีออกมา ดังนั้นเวลาไหว้เจ้าก็จะไหว้สัมภเวสี หรือที่คนจีนเรียกกันว่า โฮ้ เฮีย ตี่ (好兄弟)ด้วย

วันตงหงวนปีนี้ที่จีน มีผู้หญิงคนนึงแต่งตัวcosplayเป็นผีไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินจนดังไปทั่วโลกโซเชียลจีน ก็อาศัยพื้นที่ตรงนี้ให้ทุกคนได้ดูด้วยค่ะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 05 ก.ย. 17, 10:31

สุขสันต์วันสารทจีน ๒๕๖๐  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 05 ก.ย. 17, 10:56

ปิ่นรู้แค่ว่าวันสารทจีน หรือ 中元节(ตงหงวนจ่อย) นั้น ประจำวันขึ้น15ค่ำเดือน7ของปฏิทินจันทรคติทุกปี เป็นวันปล่อยผี คือวันที่ประตูนรกเปิดให้ผีออกมา ดังนั้นเวลาไหว้เจ้าก็จะไหว้สัมภเวสี หรือที่คนจีนเรียกกันว่า โฮ้ เฮีย ตี่ (好兄弟)ด้วย

วันสารทจีน หรือ เทศกาลจงหยวน (中元节) คุณหาญปิงเล่าว่าเป็นเทศกาลลอยกระทงแบบจีนด้วย  ยิงฟันยิ้ม

ในเทศกาลจงหยวนนี้กิจกรรมพื้นฐานคือการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรื่อยไปจนถึงไหว้เจ้าทำบุญตามวัดวาอารามศาลเจ้าต่าง ๆ เผากระดาษเงินกระดาษทองไปตามเรื่อง แต่ที่โดยเด่นที่สุดในเทศกาลนี้คือการลอยกระทง และการเล่นโคมดอกบัว การที่ลอยกระทงลงน้ำนี้มีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในบางพื้นที่ก็มีแนวคิดอื่นเพิ่มเติมเข้าไปด้วย อาทิ เขตแม่น้ำแยงซีเกียงตอนใต้หรือที่เรียกว่าเขตเจียงหนาน (江南) คนป่วยลอยกระทงด้วยมีความประสงค์ว่าจะให้ความป่วยไข้ลอยหายไปกับสายน้ำด้วย กระทั่งบางพื้นที่ลอยกระทงนี้อาจจะถือเป็นการอวยพรแต่ผู้อื่น โดยลอยได้ทุกครั้งช่วงต้นเดือนและกลางเดือนตลอดทั้งปีก็มี แต่ว่าถ้าจะนับว่ายิ่งใหญ่จริง ๆ ก็คือวันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติ

ในกรุงปักกิ่งเทศกาลจงหยวนถือเป็นเทศกาลที่สนุกสนานคึกคักมากเทศกาลหนึ่ง เพราะนอกจากตามบ้านช่องจะมีการไหว้เจ้าอย่างคึกคัก ตามวัดวาอารามทั้งพุทธและเต๋าก็มีพิธีสวดมนต์ทำบุญกันยกใหญ่ ถ้าตามวัดใหญ่ ๆ ก็มีการ “เผาเรือ” (烧法船) เรือที่ว่านี้คือข้าวของเครื่องใช้ทำจากกระดาษที่จะอุทิศให้ผู้ตาย หรือที่คนไทยเรียกกันว่าการเผากงเต็กอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ทำเป็นรูปเรือขนาดมโหฬาร ตั้งไว้หน้าวัด เมื่อเสร็จพิธีก็เผาอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ตามโรงงิ้วต่าง ๆ ก็จะเล่นงิ้วเรื่อง “มู่เหลี่ยนช่วยมารดา” (目莲救母)ซึ่งเป็นงิ้วที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณ ตกเย็นคนก็ไปลอยกระทงกันสนุกสนาน โดยกระทงทำจากวัสดุหลากหลาย ที่แบบพื้น ๆ คือการนำใบบัวมาปักเทียนไว้ตรงกลาง หรือนำ ฟักทอง ฟักมาแกะสลักและจุดโคมไว้ข้างในปล่อยลอยลงน้ำ ถ้าจะให้วิเศษงดงามหน่อยก็นำวัสดุอื่น ๆ มาใช้แทนดัง กระดาษสี ในเทศกาลนี้เด็ก ๆ ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะว่าจะได้ถือโคมดอกบัว (莲花灯) ซึ่งทำจากกระดาษสีไม่ก็ทำจากผ้าไหม วิ่งไปวิ่งมาถึงไม่วูบ ๆ วาบ ๆ อาจไม่ตื่นเต้นเท่าดอกไม้ไฟ แต่ก็สนุกพอดูอยู่สำหรับเด็ก

เมืองภูมิ หาญสิริเพชร
๒๕ ๑๑ ๒๕๕๘

https://www.facebook.com/gugonglady/posts/916052731804642


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 05 ก.ย. 17, 15:27

วันสารทจีน หรือ เทศกาลจงหยวน (中元节) คุณหาญปิงเล่าว่าเป็นเทศกาลลอยกระทงแบบจีนด้วย  ยิงฟันยิ้ม

ในเทศกาลจงหยวนนี้กิจกรรมพื้นฐานคือการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรื่อยไปจนถึงไหว้เจ้าทำบุญตามวัดวาอารามศาลเจ้าต่าง ๆ เผากระดาษเงินกระดาษทองไปตามเรื่อง แต่ที่โดยเด่นที่สุดในเทศกาลนี้คือการลอยกระทง และการเล่นโคมดอกบัว การที่ลอยกระทงลงน้ำนี้มีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในบางพื้นที่ก็มีแนวคิดอื่นเพิ่มเติมเข้าไปด้วย อาทิ เขตแม่น้ำแยงซีเกียงตอนใต้หรือที่เรียกว่าเขตเจียงหนาน (江南) คนป่วยลอยกระทงด้วยมีความประสงค์ว่าจะให้ความป่วยไข้ลอยหายไปกับสายน้ำด้วย กระทั่งบางพื้นที่ลอยกระทงนี้อาจจะถือเป็นการอวยพรแต่ผู้อื่น โดยลอยได้ทุกครั้งช่วงต้นเดือนและกลางเดือนตลอดทั้งปีก็มี แต่ว่าถ้าจะนับว่ายิ่งใหญ่จริง ๆ ก็คือวันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติ

กิจกรรมนี้ถ้าคนไทยเห็นคงเรียกว่าลอยกระทง แต่ตามหลักของจีนต้องเรียกว่าโคม เพราะต้องมีเทียนหรือประทีปอื่นเป็นส่วนสำคัญที่สุด รูปทรงโคมอาจเป็นรูปดอกบัว โคมไฟ บ้านหลังเล็ก ๆ หรือลักษณะอื่น ข้างในมีเทียนหรือประทีปอื่นจุดสว่างไสว
 
ที่มาของการลอยโคมตำราบางเล่มว่า พุทธศาสนานำมาจากอินเดียสมัยราชวงศ์ถัง แต่บางเล่มก็ว่าน่าจะเกิดจากศาสนาเต๋า เพราะเต๋ามีประเพณีชักโคมบูชาดาวและเทพเทียนกวน (นภเสนา) ในวันเทศกาลหยวนเซียวกลางเดือนอ้ายมาก่อน กลางเดือน ๗ เป็นเทศกาลบูชาเทพตี้กวน (ธรณิศเสนา) จึงจุดโคมบูชาท่านบ้าง แต่ลอยลงน้ำแทนเพื่อส่องทางให้ผีขึ้นมาสู่โลกมนุษย์ รับเครื่องเซ่นสังเวยและ "การอภัยโทษ" จากเทพตี้กวน ทั้งพุทธ เต๋า เชื่อว่าน้ำเป็นทางเชื่อมหรือแดนต่อยมโลกกับมนุษยโลก ในคัมภีร์พุทธกล่าวว่ามีแม่น้ำชื่อ "ไน่เหอ" กั้นระหว่างโลกมนุษย์กับยมโลก ในพิธีอุลลัมพนสังฆทานจึงมีการลอยโคมเพื่อส่องทางให้ผีข้ามแม่น้ำไน่เหอด้วย  
 
การลอยโคมในวันสารทจีนคงมีมาตั้งสมัยราชวงศ์ถัง ถึงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ มีบันทึกว่า "ราชสำนักส่งขันทีไปลอยโคมนับหมื่นดวง" ในวันนี้ สมัยราชวงศ์หยวนการลอยโคมแพร่หลายไปทั่วประเทศจีน มีบันทึกของคนร่วมสมัยกล่าวถึงประเพณีนี้ในเมืองหลวงว่า "เดือน ๗ วัน ๑๕ ค่ำ วัดต่าง ๆ จัดงานอุลลัมพนสังฆทาน ตอนค่ำลอยโคมลงแม่น้ำ เรียกว่า "ลอยคงคาประทีป" เถียนยู่เฉิงบันทึกประเพณีนี้ในเมืองหางโจวสมัยนั้นไว้ว่า "วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เรียกว่าเทศกาลจงหยวน เล่าสืบกันมาว่าเป็นวันที่เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ผู้คนจะถือศีลกินเจ สวดมนต์อุทิศให้บรรพชนและผีทั้งหลายให้พ้นโทษภัย---พระสงฆ์จัดงานอุลลัมพนสังฆทาน ลอยโคมในทะเลสาบซีหูและที่เจดีย์ แม่น้ำ เรียกว่า "ส่องยมโลก"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 ก.ย. 17, 15:29

ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง การลอยโคมเป็นทั้งการบุญและงานรื่นเริงสนุกสนาน หนังสือ "จิงโตวเฟิงซู่จื้อ (บันทึกประเพณีเมืองหลวง)" กล่าวว่า "วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันเทศกาลจงหยวน เล่าสืบกันมาว่าเป็นวันที่เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ผู้คนไปเซ่นไหว้บรรพชนที่สุสานเหมือนวันเช็งเม้ง พระสงฆ์สวดมนต์ทำพลีกรรม เผาเรือกระดาษเรียกว่า "ส่งธรรมนาวา" เชื่อว่าจะช่วยรับผีไม่มีญาติออกจากยมโลก ในตลาดขายโคมนานาชนิด ที่ทำเป็นรูปดอกบัวเรียกว่าปทุมมาลย์ประทีป ที่ทำเป็นรูปใบบัวเรียกปทุมบรรณประทีป ตกค่ำเด็ก ๆ รวมกันเป็นกลุ่มๆ ต่างถือโคมดอกบัว โคมใบบัวเดินไปตามถนนตรอกซอกซอยร้องว่า "โคมดอกบัว โคมดอกบัว จุดวันนี้ พรุ่งนี้โยน" บ้างก็เอาผลไม้มาปักธูปเทียนทั่วทั้งลูก เรียกว่าโคมธูปเทียนและใช้ไม้ยาวปักธูปเทียนเป็นรูปต้นไม้ โคมพวกนี้ทำให้ที่มืดมีแสงระยิบระยับราวหิ่งห้อยนับหมื่น เหมือนแสงผีทั่วพันลี้ น่าชมยิ่งนัก" การจุดโคมพราวพร่างระยิบระยับไปทั่วนี้ยังเป็นการเซ่นสรวงบรรพชน ขอให้พืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์อีกด้วย บางแห่งเอาธูปเทียนปักที่ดิน ยิ่งปักมากยิ่งดี เรียกว่า "ดำนา" เป็นเครื่องหมายว่าข้าวกล้างอกงามดี และเป็นการบูชาพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ผู้มีมหาปณิธานโปรดสัตว์ให้พ้นบาปหมดไปจากนรก ขอให้ท่านช่วยโปรดวิญญาณบรรพชนและเปตชนทั้งหลายให้พ้นนรก และอำนวยสุขสวัสดีแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่
 
การลอยโคมในอดีตมีทำตั้งแต่วัน ๑๓-๑๕ ค่ำ ในไต้หวันนิยมลอยวัน ๑๔ ค่ำ เพื่อส่องทางให้ผีขึ้นมารับการเซ่นไหว้ในวัน ๑๕ ค่ำ ในจีนบางแห่งลอย ๑๕ ค่ำ มีคำอธิบายว่าเมื่อผีได้รับการเซ่นไหว้และส่วนกุศลพ้นจากบาป แต่หาทางไปผุดไปเกิดไม่เจอ แสงโคมจากพิธีลอยโคมทำให้ผีเห็นภพภูมิที่จะไปเกิดได้ ความเชื่อนี้เกิดทีหลัง กล่าวโดยสรุปการลอยโคมเป็นการส่องทางให้ผี และคนก็ได้รับความสนุกสนานไปด้วย
 
หลังจากสิ้นราชวงศ์ชิงการลอยโคมเสื่อมตามเทศกาลสารทจีนไปด้วย ในจีนยังมีทำอยู่บ้างในบางถิ่น เช่น ที่อำเภอหนันจาง จังหวัดเซียงผาน มณฑลหูเป่ย ยังมีการลอยโคมในเทศกาลสารทจีน กลางวันมีการเล่น "แปรอักษรโคม" ก่อน โดยแบ่งเป็น ๒ ทีม ทุกคนถือโคม ทีม ก จะเอาโคมไปวางเรียงเป็นรูปตัวอักษรก่อน เช่น (อี-หนึ่ง) ทีม ข ต้องใช้อักษรนี้เป็นฐาน ต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นอักษรอื่น เช่น (เออว์-สอง) (ซาน-สาม) (เฟิง-อุดมสมบูรณ์) สลับกันไปมาเช่นนี้จนกว่าจะ "จน" แปรเป็นอักษรต่อไปไม่ได้ ทีมที่ "จน" เป็นผู้แพ้ ในไต้หวันแต่ก่อนทุกวัดมีพิธีลอยโคม แต่ปัจจุบันเหลือที่วัดหลงซานเพียงแห่งเดียว ส่วนในเมืองไทยไม่มีพิธีลอยโคมในเทศกาลสารทจีนเลย การลอยโคมไปทำในเทศกาลกินเจเดือน ๙

จาก สารทจีน : เทศกาลสำคัญที่กำลังลบเลือน โดย ถาวร สิกขโกศล นิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๑๐

http://www2.manager.co.th/mwebboard/listComment.aspx?QNumber=203932&Mbrowse=33

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง