เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 31268 อณาจักรทางภาคใต้ของประเทศไทย
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 13 พ.ย. 05, 01:36

 ตอบคุณ ครู..ชิต ครับ

เรื่อง "ตามพรลิงค์" ในเอกสารโบราณ
จริงตามที่คุณครู..ชิตตอบไว้ครับว่า อาณาจักรตามพรลิงค์ มีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และขอบคุณครับ ที่ช่วยขยายประเด็นที่ผมอาจละเลยไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมนะครับ

ตามสมัยที่ผมจำแนกไว้คราวๆ ว่า พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ สมัยแคว้นตามพรลิงค์ ก็เพราะว่า ช่วงเวลานี้ดินแดนบริเวณนั้นเริ่มมีความชัดเจน ในเรื่องของหลักฐานทางโบราณคดีครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถาน และโบราณวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิวลึงค์และโยนีศิลา ประกอบกับได้พบศิลาจารึกที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ผมจึงเห็นว่า ช่วงเวลาดังกล่าวน่าเป็นสมัยประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ครับ จึงประมาณไว้ว่า พศต.๑๑ - ๑๒ เพื่อเป็นกรอบความคิด

ส่วนพัฒนาการของแคว้นตามพรลิงค์นั้น ถ้าประเมิณอายุตามบันทึกของชาวต่างชาติ ก็น่าจะได้ว่า ที่นี่เป็นเมืองท่ามาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมาครับ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก แคว้นนี้ถูกอ้างแต่ในบันทึกต่างๆ เท่านั้น ยังไม่พบจารึกที่ร่วมสมัย ดังนั้นจึงอาจจัดเป็น "สมัยกึ่งประวัติศาสตร์" ครับ (Proto History) ซึ่งผมจัดเป็นช่วงเวลากว้างๆ ไว้ที่ พุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๐ เพราะ อันที่จริงมีเมืองท่าต่างๆ อีกหลายเมืองครับที่ค้าขายกับต่างชาติ และรับวัฒนธรรมจากอินเดีย ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับตามพรลิงค์

--------------------------------------------

เรื่องตามพรลิงค์ในเอกสารต่างชาติ ผมขอเรียบเรียงตามข้อมูลที่ผมมีแล้วกันนะครับ ถ้าใครมีนอกเหนือจากนี้ก็นำมาเพิ่มได้นะครับ

ตามพรลิงค์ เป็นชื่อเมืองมาจากภาษาสันกฤตว่า ตามฺพฺรลิงฺค (Tambralinga) อ่านว่า ตาม-พระ-ลิง-คะ มาจากศัพท์คือ

ตามฺพฺร (ตาม-พระ) แปลว่า ทองแดง
ลิงฺค (ลิง-คะ) แปลว่า ลึงค์ หรือ อวัยวะเพศชาย ในที่นี้น่าจะหมายถึง ศิวลึงค์ อันเป็นสิ่งบูชาสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย

เอกสารต่างชาติที่กล่าวถึงตามพรลิงค์ อาจจำแนกออกได้เป็นเอกสารอินเดีย เอกสารจีน และเอกสารกรีก-โรมัน

๑. เอกสารรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘
ตำราภูมิศาสตร์โลก (Geographia) แต่งโดย เคลาดิอุส ปโตเลไมอุส (หรือ ปโตเลมี) ระบุตำแหน่งของเมืองชื่อว่า เปริมุละ (Perimula) กับอ่าวหน้าเมืองชื่อว่าอ่าวเปริมุลิคุส (Perimulicus Sinus) ซึ่งเชื่อกันว่า "เปริมุละ" คือ คือ "ตามพรลิงค์"

คัมภีร์มหานิเทศ พรรณนาถึงความยากลำบากในการเดินทางไปค้าขายโพ้นทะเลโดยเรือ และกล่าวถึงชื่อเมืองท่าสำคัญๆ ไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้เรียงลำดับ มีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ "กมลิ" (กะ-มะ-ลิ) หรือ ตมลิ (ตะ-มะ-ลิ) ซึ่งน่าจะเป็นเมืองเดียวกัน ตามพรลิงค์

จะเห็นได้ว่า หลักฐานในสมัยนี้ยังไม่มีเอกสารชิ้นไหนบันทึกเป็นคำชัดๆ ว่า "ตามพรลิงค์" เลยครับ และที่สำคัญยังคงเป็นช่วงเวลากึ่งประวัติศาสตร์อยู่


๒. เอกสารรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๒
เอกสารจีนชื่อว่า หนังสือถังหุ้ยเย่า กับ หนังสือซินถังซู เป็นบันทึกสมัยราชวงศ์ถังกล่าวถึง เมือง "ถานหลิง" ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า "ตามพรลิงค์"

๓. เอกสารรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙
- กลุ่มเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ-ซ่งใต้ บันทึกชื่อไว้ต่างๆ กันคือ ตานหลิวเหมย - ตานหม่าลิ่ง - ติงหลิวเหมย - เติงหลิวเหมย - กานเหมยหลิว ซึ่งทั้งหมดล้วนเพี้ยนมาจากคำว่า "ตามพรลิงค์"

- ศิลาจารึกเมืองตันชอร์ (พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ หรือ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖) เป็นจารึกภาษาทมิฬ อยู่ที่เมืองตันชอร์ อินเดียทางใต้ จารึกนี้ มีเนื้อความสรรเสริญชัยชนะทางทะเลของพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ที่ทรงมีต่อเมืองต่างๆ บนแหลมทอง หรือคาบสมุทรมลายูได้ ทั้งนี้ทรงจารึกรายชื่อเมืองเหล่านั้นไว้ด้วย และมีอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า "มัทมาลิงคัม" ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่า ตรงกับ "ตามพรลิงค์"
(โดยส่วนตัวนะครับ ผมยังไม่ค่อยเชื่อวีรกรรมของพระองค์เท่าไหร่ว่าเคยเกิดขึ้นจริง เพราะระยะทางจากอินเดียใต้ มายังแหลมทองนั้น ไกลเกินกว่าการยกทัพเรือขนาดใหญ่ เพราะลำพังแค่กองเรือสินค้า กว่าจะเดินทางมาได้ก็ลำบากกันจะแย่อยู่แล้ว ถ้ายกทัพมาทำสงครามก็ต้องลำบากกว่าอีกหลายเท่า ก็เป็นความเห็นหนึ่งครับ)


๔. เอกสารรุ่นปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘
จารึกหลักที่ ๒๔ (จารึกวัดหัวเวียงเมืองไชยา ๑) ระบุศักราชกลียุค ๔๓๓๒ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๑๗๗๔ เนื้อหาเป็นข้อความสั้นๆ กล่าวสรรเสริญราชาผู้ครองเมืองตามพรลิงค์ ซึ่งทรงพระนามว่า "จันทรภานุศรีธรรมราช"

------------------------------------------------

เรื่องแคว้นตามพรลิงค์ในฐานะประเทศราช
ส่วนเรื่องแคว้นตามพรลิงค์จะเป็นประเทศราชของใครอย่างไรนั้น ตอบยากครับ เพราะข้อมูลค่อนข้างน้อย ถ้ากล่าวกว้างๆ ก็อาจเป็นตามที่คุณครู..ชิต ว่าครับ

ส่วนตัวผมแล้วผมลำดับเรื่องราวเป็นดังนี้ครับ

สมัยกึ่งประวัติศาสตร์ตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐) น่าจะเป็นประเทศราชของฟูนัน แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้ เท่าที่ผมทราบไม่มีเอกสารจีนกล่าวถึงเมือง "ตามพรลิงค์" ครับ แต่เอกสารจีนเล่าแต่ว่าฟูนันมีเมืองประเทศราชไปจนถึงแหลมทอง ซึ่งก็ระบุชื่อเมืองต่างๆ ไว้ด้วย แต่ก็เป็นชื่อแปลกๆ ทั้งสิ้น ตอนนี้ก็ต้องมามองอีกมุมว่า จริงๆ แล้ว "กรอบความคิด" ของผู้บันทึกชาวจีนนั้น เข้าใจธรรมเนียมการให้บรรณาการกันแน่ไหน

เมืองทางแหลมทอง มีการส่งบรรณาการ ก็อาจเป็นในฐานะมิตรประเทศของฟูนันก็ได้ แต่ผู้บันทึกกลับ "ตีความ" ไปเป็น "การให้บรรณาการเพราะเป็นประเทศราช" จุดนี้สำคัญครับ บ้านเรายังขาดคนที่ "ศึกษา" และ "ตีความ" เอกสารจีนที่พูดถึงดินแดนบริเวณนี้กันน้อยมาก หรือ แทบไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะผู้นั้นจะต้องมีความชำนาญเรื่องภาษาจีน ซึ่งบ้านเราในสายศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดียังน้อยมากๆ ครับ ส่วนใหญ่ที่นำเอกสารจีนมาอ้างถึง (รวมทั้งผมด้วย อิอิ) ก็เอามาจากงานเขียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสของนักวิชาการที่แปลอ้างอิงต้นฉบับจีน

-------------------------------------------------
เรื่องเป็นประเทศราชของศรีวิชัย
มีหลักฐานที่เป็นจารึกหลักเดียวครับ คือ จารึกวัดเสมาเมือง (พ.ศ.๑๓๑๘) กล่าวถึงเพราะเจ้ากรุงศรีวิชัย โปรดให้ทราบพระสถูปอิฐ ๓ หลัง ซึ่งเชื่อกันว่าคือ เจดีย์ที่วัดเวียง เจดีย์วัดหลง และเจดีย์วัดแก้ว ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ อีก เช่น พระพุทธรูป และโบราณสถานเนื่องในพุทธศาสนา ลัทธิมหายานสกุลวัชรยาน แบบราชวงศ์ปาละ-เสนะของอินเดียเหนือ ซึ่งก็เหมือนกันกับที่พบในมาเลเซีย สุมาตรา และชวา จึงมีความเป็นไปได้ครับ ที่ "ตามพรลิงค์" น่าจะเคยเป็นประเทศราชของศรีวิชัยมาก่อน

เรื่องเป็นประเทศราชของอาณาจักรโจฬะ
ส่วนเรื่องตกภายใต้อำนาจของราชวงศ์โจฬะจากอินเดียใต้นั้น โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อครับ เพราะดังที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่า ระยะทางมันไกลเกินไปที่จะมารบชนะเมืองโพ้นทะเลที่ตั้งมั่นอยู่ และที่สำคัญเท่าที่ผมทราบก็ไม่มีหลักฐานในแหลมทองว่าเคยเป็นเมืองขึ้นของโจฬะ มีเพียงคำกล่าวอ้างในจารึกตันชอร์เท่านั้น (ถ้าท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม เชิญนะครับ)
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 13 พ.ย. 05, 02:29

 ตอบคุณ Nuchan ความเห็น ๑๓ ครับ

ขอบคุณครับ    ผมขอออกความเห็นดังนี้นะครับ

หลังคาสถูปทรงเหลี่ยมที่บาหลี
เรื่องความเหมือนกันของสถูปบาหลี ที่ดูคล้ายเก๋งจีนนั้น ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ อิอิ แต่้ถ้าให้ "เดา" นะครับ ผมสังเกตว่าตัวขององค์สถูปนั้น "เป็นทรงสี่เหลี่ยม" ดังนั้น เพื่อความสวยงามจึงออกแบบให้ "ฉัตรวลี" หรือ "ปล้องไฉน" เป็นทรงสี่เหลี่ยมครับ

อย่างสถูปบ้านเรา "ปล้องไฉน" จะเป็นทรงกลม เป็นปล้องๆ ขึ้นไปจนถึงยอด เช่น พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชก็มี ๕๒ ปล้องครับ

ผมคิดว่าคงเป็นเพราะศาสนาสถานของฮินดูส่วนมากจะทำตัวอาคารของปราสาท เป็นทรงสี่เหลี่ยม ดังนั้น "ฉัตร" ประดับหลังคาจึงออกแบบให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมด้วย

ส่วนเรื่องคล้ายจีนนั้นอาจเป็นความบังเอิญมั้งครับ อิอิ

-----------------------------------------

เรื่องภาษาที่คล้ายภาษาไทยในประเทศอื่น
่ถ้าคล้ายสำเนียงแบบถิ่นเหนือ อีสาน ใต้ ก็มีเยอะครับ ซึ่งโดยทั่วไปนักวิชาการจะัจัดให้อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได ครับ

คนที่พูดภาษาตระกูลไทนี้นอกจากประเทศไทยแล้วก็มีอยู่ที่
ประเทศลาว
รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
รัฐฉาน ประเทศพม่า
เกาะไหหลำ มณฑลยูนนาน และ มณฑลกวางสี ประเทศจีน (ดูที่แผนที่นี้ครับ สีเหลือง Tai คือ ภาษาตระกูลเดียวกับเรา)
 http://www.lib.utexas.edu/maps/middle_east_and_asia/china_ethnolinguistic_83.jpg
ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

เหล่านี้มีภาษาพูดคล้ายๆ เราครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นภาษาระดับที่สูงขึ้นมาก็จะถูกอิทธิพลของภาษาหลักเข้าแทรกในเรื่องของคำศัพท์ครับ

เช่น ประเทศไทย ภาษาไทย รับคำบาลี-สันกฤต (อิทธิพลจากศาสนา)
   ประเทศจีน  ภาษาจ้วง (มณฑลกวางสี) รับคำจีน (อิทธิพลทางการเมือง)

ผมเคยได้ยินว่า คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยไปศึกษาวัฒนธรรมชาวจ้วงที่มณฑลกวางสี ซึ่งท่านสามารถพูดคุยกับชาวจ้วงด้วยภาษาง่ายๆ ได้เข้าใจกันดีครับ แต่ถ้าเป็นศัพท์สูงขึ้นก็จะไม่เข้าใจกัน เพราะทางโน้นเป็นคำยืมมาจากจีน ในขณะที่ทางเราเป็นคำยืมมาจากแขก ที่แปลกคืออาจารย์ท่านเล่าว่า สำเนียงของจ้วงนั้น ฟังคล้ายๆ กับภาษาใต้ของบ้านเราครับ

ส่วนเรื่องเณรน้อยนั้น จะเป็นไทใหญ่ในพม่าได้หรือเปล่าครับ ? เมืองเชียงตุง (ไทขึน)รัฐฉาน ก็พูดภาษาคล้ายๆ กับทางเชียงใหม่เหมือนกัน หรือ เมืองเชียงรุ่ง (ไทลื้อ)สิบสองปันนา ก็เช่นกัน
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 13 พ.ย. 05, 03:08

 ตอบคุณ ติบอ ความเห็นที่ ๑๔ ครับ

เรื่องวัฒนธรรมดองซอน
วัฒนธรรมนี้เป็นวัฒนธรรมยุคสำริดครับ ประมาณอายุกันว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๒ - ๕ โดยมีหลักฐานสำคัญคือกลองมะโหระทึกสำริด

ลักษณะพิเศษของกลองนี้คือจะมีลวดประดับ และปฏิมากรรมขนาดเล็กประดับ เช่น ทำเป็นรูปกบ หรือ เรือ

กลองแบบนี้มีพบกระจายทั่วไปตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือ แถวๆ นี้พบเยอะครับ แต่พอไกลออกมาก็พบไม่มากนัก เช่นในลาว กัมพูชา ไทย อินโดนีเซีย (ฟิลิปปินส์ กับมาเลเซีย ไม่แน่ใจครับ แต่คิดว่าน่าจะพบ)

ถ้าถามความเห็นของผมว่าเป็นวัฒนธรรมเดียวกันหมดหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ครับ แต่กลองเหล่านี้เป็นตัวแทนของ "การพบกันของระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมโพ้นทะเล" มากกว่า

เรื่องนี้ทำให้ผมมองเห็น "คลื่นทางวัฒนธรรม" ๒ ลูกใหญ่ๆ ครับ

๑ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คลื่นทางวัฒนธรรมจากดองซอน แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอาณาบริเวณของทะเลจีนใต้

๒ สมัยกึ่งประวัติศาสตร์ คลื่นทางวัฒนธรรมจาก "ชมพูทวีป" แพร่กระจายเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค

ทั้งนี้ทั้งนั้น "สื่อ" ในการแพร่กระจายวัฒนธรรมนี้ก็คือ "เส้นทางการค้าทางทะเล" ครับ
------------------------------------------------

เรื่องวัฒนธรรมร่วมไหหลำ-แหลมทอง

ผ้าทอจากแถบนี้คือ "ผ้าจากคาบสมุทรมาลายู" หรือ แหลมทอง นี้ใช่หรือเปล่าครับ

เรื่องความเหมือนกันนี้ โดยเฉพาะลวดลายและวิธีนุ่ง ก็เป็นไปได้ครับที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หลักฐานว่า คนทั้ง ๒ กลุ่มเคยติดต่อกันมาก่อน โดยเฉพาะทางใต้ของไหหลำนะครับ ภาษาถิ่นเค้าพูดภาษาตระกูลเดียวกับเราคือ ไท-กะได

แต่อย่างไรก็ตาม จะบอกว่า วัฒนธรรมที่ไหหลำ กับ วัฒนธรรมที่แหลมทอง มีจุดกำเนิดเดียวกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยากครับ เพราะถ้าจะทำจริงๆ ต้องอาศัยหลักฐานด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะว่า "ลวดลายผ้า" นั้น อาจจะมองในอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่า "เคยเป็นสินค้ามาก่อน" นั่นคือ "สมมุตินะครับ" ชาวเกาะฟิลิปปินส์ทำลายแบบ A พ่อค้าจีนเห็นก็ซื้อมาขายยัง ชาวไหหลำ กับ ชาวแหลมทอง ทั้งไหหลำ กับแหลมทอง เกิดชอบเหมือนกัน ก็พยายามลอกแบบ รักษาลวดลายไว้ได้คงเดิม ถ้าเป็นเช่นนี้ ไหหลำ กับ แหลมทอง ไม่ได้เกี่ยวกันเลย แต่มีตัวเชื่อมคือจีนที่มาขายผ้าให้

ถ้ามองเรื่องภาษานะครับ
เป็นไปได้ว่าภาษาถิ่นของไหหลำ เป็นภาษาไท-กะได มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว แต่ภาษาถิ่นใต้ของไทย น่าจะเพิ่งเข้ามาไม่เกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือ ๑๘ ครับ

ถ้ามองเรื่องการค้าโพ้นทะเล หลักฐานจากการแพร่กระจายของวัฒนธรรมดองซอนก็ทำให้เราทราบว่าอย่างน้อยที่สุด ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ภูมิภาคนี้ได้เกิดเส้นทางการค้าโพ้นทะเล ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในอาณาบริเวณทะเลจีนใต้เข้าไว้ด้วยกันแล้วครับ
บันทึกการเข้า
ครู...ชิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 47

TEACHER IN SISAKET ,S AREA 2 EDUCATION OFFICE


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 13 พ.ย. 05, 12:10

 สำหรับระยะเวลาของรัฐหรืออาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองในไทยมีดังนี้ครับ

สุวรรณภูมิ(พุทธศตวรรษที่ 3 – 6 )
ฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6-11 )
ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16 )
เขมรโบราณ(พุทธศตวรรษที่ 14-18 )
ศรีวิชัย(พุทธศตวรรษที่ 12-17 )
หริภุญชัย (พุทธศตวรรษที่ 17-19 )
โยนกเชียงแสน (พุทธศตวรรษที่ 12-16 )
ล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 19-24)
สุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18-20 )
ละโว้หรือลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ 16-18 )
สุพรรณภูมิ(พุทธศตวรรษที่ 16-19 )
ศรีธรรมาโศกราช(พุทธศตวรรษที่ 18-20 )
ศรีโคตรบูร(พุทธศตวรรษที่ 14-18 )
ล้านช้าง(พุทธศตวรรษที่ 18-24)

สำหรับตามพรลงค์นั้น
พุทธศตวรรษที่ 10   ก่อตั้ง
พุทธศตวรรษที่ 10-11   ตกเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน
พุทธศตวรรษที่ 14   ตกเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัย
พุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ภายใต้อำนาจของศรีวิชัยและศรีวิชัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของโจฬะของอินดียอีกทีหนึ่งซึ่งทำให้นครศรีธรรมราชหรือตาพรลิงค์ เป็นศูนย์กลางอำนาจของโจฬะ เพื่อปกครองหัวเมืองในแหลมมลายูทั้งหมด ทำให้มีอำนาจกว่าเดิม จนมีเมืองใต้อำนาจเกือบทั้งคาบสมุทร
บันทึกการเข้า
ครู...ชิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 47

TEACHER IN SISAKET ,S AREA 2 EDUCATION OFFICE


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 13 พ.ย. 05, 12:14

 สำหรับกลุ่มคนไทยนั้น เรียกตัวเองว่า Tai ไท ไต หรือ ชาติอื่นมักเรียกว่า ฉาน ชาน ซาม สาม สยามหรือ เสียม ปัจจุบันนอกจากคนไทยที่พูดภาษไทยอยู่ในประเทศไทยแล้ว ยังพบว่ามีคนที่พูดภาษาในตระกูลไท-ลาว กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตอนเหนือของเวียดนาม  ตอนเหนือพม่า รัฐอัสสัมของอินเดีย และคนลาวในประเทศลาว แต่การเรียกชื่อมักจะแตกต่างกันออกไป เช่น ลื้อ จ้วง ผู้ไท ผู้นุง เขิน ย้อ ยอง อาหม  คำตี่  พ่าเก ตุรุง ไต้คง โนรา ดำ แดง ไทย ลาว
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 13 พ.ย. 05, 16:47

 ขอบคุณ คุณ Hotacunus และคุณ ครู...ชิต ค่ะ

คาดว่าอาจเป็นแถวสิบสองปันนาก็ได้มังคะ เพราะเณรที่เห็น นุ่งเหลืิองเหมือนบ้านเรา โกนผม

และผิวเหลือง หน้าตาจีนๆ เหมือนคนเหนือค่ะ

วันนี้รู้จักศัพท์ใหม่ 2 คำค่ะ คือ "ฉัตรวลี" และ "ปล้องไฉน" ..อิอิ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 14 พ.ย. 05, 18:27

 กลุ่มชนที่ใช้ภาษา-ประเพณี ไท-ลาว ยังมีกระจายตัวอยู่ในทั้งอินเดีย พม่า จีน และเวียดนาม นอกเหนือจาก ไทย และลาวครับ

ศรีวิชัยเป็นอาณาจักรทะเลใต้ที่ทรงอิทธิพล เป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ที่มีหลักฐานยอมรับกันแพร่หลายครับ นอกนั้น อย่าง ตามพรลิงค์ก็ดี ลังกาสุกะก็ดี  เป็นทั้งส่วนหนึ่งของศรีวิชัย เป็นทั้งรัฐเล็กรัฐน้อย หลังจากศรีวิชัยล่มสลาย

ธรรมชาติของการร่วมตัวในยุคโบราณ มักเป็นรัฐเล็กๆ ที่นานๆครั้งอาจถูกรวบรวมอยู่ในใต้ศูนย์กลางที่เข้มแข็งขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็สลายตัวลงเป็นรัฐเล็กๆใหม่

อย่างไรก็ดีที่คุณหนูลีอ่านบทความของผมนั้น อย่ายึดถือเป็นจริงเป็นจังนักนะครับ  เพราะเป็นการผูกทฤษฎีขึ้นมาจากตำนาน  โดยบทความดั้งเดิมจะลงท้ายอย่างเฮฮา เพื่อให้รู้ว่าทีเล่นทีจริง อย่าซีเรียส แต่ถูกตัดออกไป คงเพราะเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในเขมรกระมัง  เนื้อหาเลยดูเป็นจริงเป็นจังมากกว่าที่ตั้งใจ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 14 พ.ย. 05, 23:08

 อ้ายถาวภักดิ์ไปไสมา บ่ได้ยินอ้ายเว้านาน...คิดถึงน่ะ
นึกออกอย่างหนึ่งค่ะ ตอนไปเชียงใหม่ กรรมกรในไร่ที่เป็นไทยใหญ่มาจากพม่า
ฟังคำเมืองออก แบบรู้เรื่องดี แสดงว่าภาษาเหนือก็ละม้ายกลับภาษาของเขาพอสมควร

****
วิชามานุษยวิทยา (Anthropology) ที่คุณหญิงดาริน วราฤทธิ์เรียน จะเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์มนุษย์
เช่น ลักษณะกระโหลกอย่างไร เป็นสายพันธุ์ใด เท่านั้น หรือครอบคลุมอารยธรรมของคนด้วยคะ
( หรืออันหลังควรจัดอยู่ในกลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ดีค่ะ)

คุยไปนานๆ เนื้อหาผสมกันจนแยกไม่ออก ตอนเรียนปี 1 ดิฉันลงเรียนวิชา Humanity
วิชานี้ถ้าแปลเป็นไทยตรงกับวิชาอะไรคะ และแปลกเหมือนกัน เรื่อง Romeo and Juliet
ดันเป็นหนังสือของวิชานี้ แทนที่จะไปอยู่ใน English Literature คนจัดหลักสูตรก็คงพบกับ grey area เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 พ.ย. 05, 12:04

 ปลื้มใจจริง มีสาวบ่นคิดถึง

สงสัยที่มีวิชาดังว่า เพราะคนคิดทีแรกคงกะว่า นักศึกษาคงมีความเข้าใจศาสตร์ว่าด้วยการเป็นมนุษย์ไม่เพียงพอกระมังครับ  จึงคิดสอนวิชาว่าด้วยการเป็นมนุษย์ขึ้น

เพิ่งไปกราบพระที่ท่านเคยธุดงค์ไปทางเชียงตุง ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ทางนั้นพูดคล้ายภาคกลาง ใครพูดอย่างนี้ ก็ถือว่าพูดภาษาเขา  ถ้าพูดคำเมืองเขาจึงจะเรียกว่าพูดไทย เป็นคนไทย

อีกทีท่านเคยเล่าถึงหมู่บ้านชื่อหนองบัว เป็นหมู่บ้านคนไทยลึกเข้าไปในพม่าอยู่เขตกะเหรียงต่อเขตมอญ ซึ่งท่านว่าบรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งบุเรงนอง  พวกนี้จะพูดเหมือนลาวและเข้าใจว่าตนเองเป็นลาว  แต่กลับไม่ใช้คำว่าซาว  นับเลขถัดจาก 19 ว่ายี่สิบ

พวกภูไท หรือผู้ไท หรือไทดำ ก็มาจากทางเหนือของเวียดนาม  ย้อนไปเพียงครั้ง ร.5 พระราชอาณาเขตกินไปถึงเดียนเบียนฟู หรือตอนนั้นเรียกว่าเมืองแถน ทัพของจมื่นไวยวรนาถ หรือต่อมาคือจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสงชูโต) ต้องไปปราบกบฎฮ่อถึงเมืองแถน  ครั้งที่โฮจิมินต์ตีฝรั่งเศสออกจากเวียดนามเหนือ ก็ได้สมรภูมิเดียนเบียนฟูเป็น decisive battle กำลังส่วนใหญ่ของลุงโฮคือพวกภูไทนี่เอง

แถวป่าซาง จ.ลำพูน ก็มีคนยองพูดคำยองจำนวนมากสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งทัพเจ้ากาวิละไปกวาดต้อนมาจากสิบสองจุไท เพื่อ"เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง" ฟื้นฟูล้านนาที่ยับเยินจากภัยสงครามอันยาวนาน  เมืองยองในปัจจุบันก็ดูเหมือนอยู่ในเขตยูนาน(ถ้าจำไม่ผิด)

ถ้ามองในแง่การค้า คนที่พูดภาษา-ใช้วัฒนธรรมในตระกูลไท-ลาว มีเกินร้อยล้าน ใครมี vision ก็ลองคิดใหม่ทำใหม่ดูเถิด  ตลาดนี้เราได้เปรียบอย่างไม่มีใครแข่งได้ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมประเพณี
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 พ.ย. 05, 03:47

 ตอบคุณ Nuchan ครับ

Anthropology ซึ่งภาษาไทยเราแปลไว้เป็น "มานุษยวิทยา" เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของมนุษย์ และพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันครับ โดยจำแนกออกได้เป็น เรื่องหลักได้ดังนั้น

๑. Physical Anthropology หรือ มานุษยวิทยากายภาพ คือการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ครับ โดยแยกออกได้เป็นอีก ๒ หัวเรื่องใหญ่ๆ คือ มานุษยวิทยากายภาพในเชิงเปรียบเทียบกับสัตว์ตระกูลไพรเมท หรือ เป็นการเปรียบเทียบกับพวกลิงชนิดต่างๆ นั่นเองว่ามีลักษณะใดที่เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในระดับที่มองเห็นได้ด้วยตา หรือในระดับชีวเคมี และโมเลกุล ครับ ส่วนอีกเรื่องคือการศึกษาสายวิวัฒนาการของมนุษย์ว่ามนุษย์วิวัฒน์มาจากสัตว์ชนิดใด ตลอดจนศึกษาวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของมนุษย์ด้วยครับ

๒. Archaeology หรือ โบราณคดี ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของสังคมมนุษย์ในอดีต โดยศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบันทึก ข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งก่อสร้าง ที่เป็นร่องรอยให้ทราบถึงสภาพสังคมในสมัยนั้นๆ

ดังนั้น วิชาโบราณคดี ไม่ใช่วิชาขุดหาของเก่านะครับ แต่ผลลัพธ์ของวิชานี้คือ การสร้างภาพสังคมในอดีตของพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมาใหม่ แต่งานแบบนี้ต้องใช้ความรู้ประยุกต์หลายด้านกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบได้ ดังนั้น งานตีพิมพ์ของหน่วยงานราชการจึงมักจะเป็นเรื่องการขุดค้น แสดงภาพโบราณวัตถุ โบราณสถานเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า พอขุดเสร็จก็หมดงานโบราณคดี ซึ่งไม่ใช่นะครับ ที่สมบูรณ์คือจะต้อง สำรวจ ขุดค้น วิเคราะห์หลักฐาน สังเคราะห์หลักฐาน และประมวลภาพของสังคมในอดีต

อีกนิดครับ ยังมีคนส่วนหนึ่งที่เข้าใจผิดว่า "การศึกษาไดโนเสาร์" เป็นวิชาโบราณคดี ซึ่งผิดนะครับ การศึกษาไดโนเสาร์จะเป็นศาสตร์อีกวิชาหนึ่ง ชื่อว่า Palaeontology ซึ่งในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายครับ ถ้าจำไม่ผิดนะครับ แปลเป็นไทยได้ว่า บรรพชีวินวิทยา (ถ้าแบบตรงๆ ตัวนะครับ "ปุราณธาตุวิชชา" หรือ "โบราณธาตุวิทยา" ครับ อิอิ ฟังแปลกๆ อันนี้ผมแต่งเองนะครับ) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาซากสิ่งมีชีวิตสมัยโบราณ (ฟอสซิล)

๓. Linguistic Anthropology หรือ มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ วิธีการใช้อวัยวะในช่องปากและลำคอในการออกเสียง (สัทธศาสตร์) และการศึกษาความแตกต่างกันระหว่างระบบไวยกรณ์ของภาษาต่างๆ ที่มีนัยของการถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่กันและกัน ซึ่งก็จะไปเชื่อมโยงกับการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต้องศึกษาทั้งลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมแบบชนเผ่า และภาษาพูด เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมประจำเผ่านั้นๆ ครับ

๔.Cultural Anthropology หรือ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของสังคมมนุษย์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ชนชั้น ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างๆ เพื่อที่จะได้มีการยอมรับซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งสันติสุขของมนุษย์ครับ

ถ้าประมวลทั้งหมดแล้วก็จะกล่าวได้ว่า วิชามานุษยวิทยา คือการศึกษาเรื่องราวของคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของอดีตหรือปัจจุบัน ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายคือ "ความสมานฉันท์" ครับ นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเชิงเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา หรือ วัฒนธรรม และอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข

Humanities หรือ วิชามนุษยศาสตร์
เป็นกลุ่มวิชาที่ศึกษา "สิ่งที่เกิดมาจากการสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์" ครับ เช่น ภาษาพูดต่างๆ (ไทย จีน รัสเซีย เยอรมัน อังกฤษ ฯลฯ) วรรณกรรม วรรณคดี ดนตรี ปรัชญา ศาสนา เป็นต้น คือจะไม่เน้นศึกษาทางสังคม (จะเป็นอีกวิชาที่เรียกว่า สังคมศาสตร์) แต่จะเน้นไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นผลผลิตทางปัญญาครับ

ดังนั่น "โรมิโอ กับ จูเลียต" จึงอยู่ในวิชามนุษยศาสตร์ได้ครับ เพราะถือเป็นการศึกษาด้านวรรณกรรม
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 พ.ย. 05, 05:42

 เพิ่มเติม ความเห็นที่ ๑๘ ครับ

ตามความเห็นของผมนะครับ โดยทั่วไปในทางวิชาโบราณคดี ประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น ๓ ยุค คือ

๑ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๕)

๒ สมัยกึ่งประวัติศาสตร์ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๑) โดยทั่วไปจะได้ข้อมูลจากบันทึกของจีน และกรีก-โรมัน ซึ่งยากที่จะระบุว่า "อาณาจักร" ที่จีนพูดนั้น เป็น "อาณาจักร" จริงหรือไม่ หรือ เป็นเพียงแค่เมืองที่มีอำนาจไม่กว้างขวางนัก (บันทึกจีนจะลงท้ายชื่อเหล่านั้นว่า "กว๋อ" ซึ่งแปลว่า อาณาจักร หรือ ประเทศ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า เมืองเหล่านั้นที่จีนอ้างว่าเป็น อาณาจักร อาจเป็นเพียง "แคว้น" ก็ได้)

๓ สมัยประวัติศาสตร์ (ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา) ซึ่งปัจจุบันได้ใช้วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะมาจัดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ เช่น ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อยุธยา รัตนโกสินทร์ เป็นต้น

------------------------------------------------------
เรื่องยุคสมัยต่างๆ  
ขออนุญาตออกความเห็นในสมัยที่น่าสนใจนะครับ สำหรับผู้ที่สนใจในรายละเอียดครับ

สุวรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ 3 – 6 )
เรื่องสุวรรณภูมินี้ หลักฐานที่มักอ้างกันถึงเป็นสำคัญคือ เรื่องพระเจ้าอโศกส่งสมณฑูต มาเผยแพร่พุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ อันตรงกับช่วงระยะเวลาราวพุทธศตวรษที่ ๓ ซึ่งในทางโบราณคดีแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ ยังเป็น "ชุมชนเกษตรกรรมยุคโลหะตอนปลาย" อยู่ครับ

อันที่จริง เรื่องการกล่าวถึงสุวรรณภูมินี้ (เอเชียอาคเนย์) มีกล่าวถึงมาก่อนพุทธกาลมาบ้างแล้วครับ เช่น ในนิบาตชาดก ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นนิทานเก่าๆ ที่มีมาก่อนพุทธกาล ต่อมาจึงถูกนำมาเรียบเรียงเข้าไว้ในพระไตรปิฎก

แต่ประเด็นสำคัญที่ผมต้องการบอกก็คือ "เรื่องส่งสมณฑูตมาสุวรรณภูมินี้ เชื่อถือได้เพียงใด" เรื่องนี้ มีนักวิชาการอินเดีย ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องส่งสมณฑูตมาสุวรรณภูมินี้ มีปรากฎแต่ในพระไตรปิฎกฉบับลังกา เท่านั้น ไม่ปรากฎในฉบับอินเดียเหนือเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนจารึกเสาพระเจ้าอโศกเอง

จุดที่ชวนให้สงสัยมี ๒ ประเด็นครับ คือ
๑. จารึกเสาพระเจ้าอโศก (พุทธศตวรรษที่ ๓) ได้กล่าวถึง การส่งสมณฑูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาจริง แต่ในรายชื่อเมืองนั้น กลับเป็นเมืองในเขตอิทธิพลกรีก (แคว้นบักเตรีย) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ปรากฏชื่อ "สุวรรณภูมิ" แม้แต่น้อย

๒. พระไตรปิฎกถูกจารลงใบลานเป็นครั้งแรกราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ "เป็นไปได้หรือไม่ว่า" ภิกษุลังกาจะแต่งเรื่องนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ "ศรีอโศกธรรมราช" โดยได้ใส่ชื่อเมืองต่างๆ ที่รู้จักกันดีในลังกา ให้เป็นเส้นทางการเผยแพร่ธรรม ซึ่ง "สุวรรณภูมิ" ก็ถูกรวมเข้าไปด้วย

ที่สำคัญคือ เรายังไม่ทราบว่า "สุวรรณภูมิ" ที่กล่าวถึงในเอกสารอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาลจึงถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๓ นั้น หมายถึงบริเวณใดที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ หรือ เป็นเพียงการเรียกภูมิภาคหนึ่ง "อย่างรวมๆ" อย่างเช่นเราเรียก "ยุโรป" โดยไม่ได้เจาะจงว่า ยุโรป คือ ฝรั่งเศส หรือ อิตาลี ดังนั้นจึงไม่อาจบอกได้ครับว่า ในช่วงเวลานั้น สุวรรณภูมิ อยู่ในประเทศไทยหรือไม่

ก็เป็นเพียงข้อสังเกตครับ ไม่ใช่ข้อสรุป คิดว่าเรื่องนี้คงไม่ค่อยมีใครทราบกัน จึงของอธิบายไว้ ณ ที่นี้ครับ


ฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6-11 )
ระยะเวลาของฟูนัน ก็คงเป็นไปตามที่คุณครู..ชิต กล่าวไว้ครับ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะได้มาจากจดหมายเหตุจีน รวมไปถึงเรื่องฟูนันได้เข้ามายึดครองแคว้นต่างๆ รอบอ่าวไทยด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือมีแคว้นหนึ่งชื่อ "จินหลิน" ซึ่งนักวิชาการตีความกันว่า "จินหลิน" คือ "สุวรรณภูมิ" (จิน = ทอง, หลิน=เขตเพื่อนบ้าน) แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเรื่องชวนให้งงกันต่อครับเพราะว่าในตำราภูมิศาสตร์โลกโบราณ ของปโตเลมีนั้น ก็ระบุตำแหน่งของ สุวรรณภูมิ (Aurea Regio = แดนทอง) ไว้ด้วยเหมือนกัน แล้วก็แถม รัชฏภูมิ (Argentea Regio = แดนเงิน) มาให้อีก แต่ตำแหน่งนั้น ไม่ได้อยู่บริเวณอ่าวไทย แต่กลับไปอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของพม่า ฮืม

ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16 )
ตัวเมืองนั้น มีความป็นไปได้ว่าพัฒนามาพร้อมๆ กับฟูนันครับ แต่มาเจริญสุดขีดราว พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ โดยทั่วไปจะจัดไว้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ (แต่ก็มีบางตำราจัดไว้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑) ที่จัดไว้เริ่มที่ ๑๒ ก็เพราะว่า พบจารึกที่กำหนดอย่างได้ในช่วงพุทธศตวรษที่ ๑๒

ยังมีอีกอาณาจักรครับ
เจนละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓) จะมีศูนย์กลางบริเวณลาวตอนใต้ รอบๆ ทะเลสาบเขมร และลุ่มน้ำมูล-ชี

เขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 14-18 )
เขมรโบราณในไทยนี้ เริ่มรุกเข้ามาแถวปราจีนบุรีก่อนครับ จากนั้นก็เข้ามาที่ละโว้ วัฒนธรรมเขมรเลยมาเติบโตที่ละโว้ ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีตะวันออก และอาจเป็นเหตุให้ ทวารวดีตะวันตก (สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี) เสื่อมลง


หริภุญชัย (พุทธศตวรรษที่ 17-19 )
อยู่ทางภาคเหนือครับ และจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานการอยู่อาศัยมาอย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แต่มาเจริญสุดขีดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ก่อนจะตกเป็นเมืองของล้านนาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙

โยนกเชียงแสน (พุทธศตวรรษที่ 12-16 )
ถือว่าเป็นอาณาจักรตำนานครับอยู่ทางภาคเหนือ เพราะยังไม่พบหลักฐานความเป็นเมืองก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นเมืองนั้นอาจเป็นลักษณะของหมู่บ้านชนเผ่าก็เป็นได้ อยู่กันเป็นชุมชน นับถือผี แต่ตำนานได้นำเอาเรื่องราวของบรรพบุรุษที่ยังนับถือผี มาผสมเข้ากับวิถีการแต่งตำนานแบบพุทธ เลยทำให้ดูเหมือนว่า โยนกเชียงแสนเจริญเป็นเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเพิ่งมาตั้งบ้านเมืองและรับพุทธศาสนาจริงๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ ไล่ๆ กับสุโขทัย

ศรีโคตรบูร (พุทธศตวรรษที่ 14-18 )
อยู่ทางอีสาน เรื่องอาณาจักรศรีโคตรบูรนี้ หลักฐานของความเป็นอาณาจักรยังน้อยมากครับ เท่าผมทราบก็คือมีเพียงพระธาตุพนมเท่านั้น แต่ก็เป็นไปได้ครับ ที่โครงสร้างของสถาปัตยกรรมของเมืองนี้ทำด้วยไม้ จึงไม่เหลือร่องรอยให้เห็นเลย

-----------------------------------

อันนี้ไม่เกี่ยวกับการตอบความเห็นของคุณครู..ชิต นะครับ แต่เป็นความเห็นของผมเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์ ที่ผมเคยได้เรียนมา (ซึ่งก็นานมากแล้ว อิอิ)

ผมเห็นว่า ในประเทศไทยเรานี้ มีร่องรอยของอาณาจักรโบราณอยู่ในทุกภาค และบางอาณาจักรก็มียุคสมัยที่คาบเกี่ยวร่วมสมัยเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนอาณาจักรอยุธยานั้น ไทยเรามีแคว้นเล็กแคว้นน้อยมากมาย แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยถูกทำให้ชัดเจนจากกระทรวงศึกษาเท่าไหร่นัก หรือเห็นว่า เด็กไม่ควรรู้ลึกมาก ?

ผมไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ยังคงสอนประวัติศาสตร์แบบ "ก๋วยเตี๋ยวเส้นเดียว" อยู่หรือไม่ นั่นคือ การเรียงลำดับอย่างเป็นระเบียบ โดยลืมไปว่าประเทศไทยไม่ได้มีแต่ภาคกลาง แต่ยังมีภาคอื่นๆ อีก ๓ ภาค (เหนือ อีสาน ใต้) เช่นเรียงว่า

ประวัติศาสตร์ไทยเริ่มที่ สุโขทัย ต่อมาคือ อยุธยา, ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

ซึ่งมักจะยกเอา สุโขทัย เป็นจุดเริ่มแรก เหมือนเขียนหนังสือต้องมีหน้าแรก จากนั้นจึงเป็นอยุธยา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในสมัยสุโขทัยเองก็มีอาณาจักรของ "คนไท" กลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย หรือ แม้แต่สมัยที่สุโขทัยเรืองอำนาจเองก็ตาม ละโว้ (และอโยธยา เมืองก่อนสถาปนาเป็นอยุธยา) ก็ไม่ได้ขึ้นกับสุโขทัย ล้านนา ก็ไม่ได้ขึ้นกับสุโขทัย แถมยังมีแคว้นพะเยาอีก แล้วสุโขทัยจะเป็นจุดเริ่มของประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างไร ...

ไม่รู้เดี๋ยวนี้สอนกันแบบไหนแล้วครับ ฮืม? ซึ่งผมเห็นว่าควรจะสอนแบบ "เส้นมาม่าหลายเส้น" ครับ
บันทึกการเข้า
.....Tanu
อสุรผัด
*
ตอบ: 18

....ทำงาน ....ชอบ ค้น คว้า ...สน ใจ ปรากฎ การณ์ ฟาก ฟ้า ทุก แขนง .....ช่าง สง สัย .....ชอบ ถาม .....พูด ไม่


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 พ.ย. 05, 15:55


..............เพิ่ง จะ มา รู้ ครับ

..............จังหวัด บ้าน เกิด ผม เอง

..............ไม่ เคย รู้ ...ละ เอียด เท่า นี้ มา ก่อน เลย ครับ

..............อยาก ศึก ษา ประวัติ จังหวัด อยู่ เหมือน กัน ครับ

..............กลับ บ้าน ไป ก้ ชอบ ที่ จะ ไป ดู แนว กำ แพง เมือง .....

..............ตอนนี้ กำลัง บูรณะ เมือง เก่า ....อยู่ ด้วย ครับ .....

..............ว่า กัน ว่า เป็น อาณาจักร ยิ่ง ใหญ่ สมัย อดิต....

..............ที่ ผม สงสัย อยู่ น่ะ ครับ ....

..............วัฒนะธรรม มัน กลาย ๆ เหมือน ....รวม มา จาก หลาย ๆ ที่ ...

..............พราหมณ์  จีน อินเดีย มลายู...จะ ไทย ก้ ไม่ ไทย แท้...งง อยู่ เหมือน กัน

..............มี เรื่อง เล่า ของ ครอบ ครัว อยู่ ว่า ....บรรพบุรุษมา สร้าง วัด อยู่ ที่ นี่....

..............ผม ก้ อยาก ตาม หา ว่า เป็น วัด ใด ....

..............มา จาก ไหน ....มา ได้ ไง .....มา ทำ ไม ......

..............( เท่า ที่ ดู หน้า ตา ครอบ ครัว ผม ..มี เชื่อ แขก...แต่ ไม่ น่า จะ เป็น แขก มลายู )

..............จาก ที่ วิเคราะห์.....มี ชื่อ..ใน บันทึก ของจีน แปล ว่า .....ชาว จีน เคย มา ที่ นี่

..............มี สถาน ประกอบพิธีกรรม ของ พราหมห์...เสาชิงช้า ..วิหารพระ .....( พระศิวะ หรือพระนาราย....จำไม่ได้ แล้ว )

..............มี วัด ทั่ว เมือง...ไป...หมด....มี พระมหาธาตุ...

..............  ลักษณะ คล้าย เพระปฐมเจดีย์ มากกว่า...อาณาจักร์ที่ใกล้กัน เช่น...ที่ ไชยา ....

..............
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 26 พ.ย. 05, 20:21

 ขอบคุณ คุณ Hotacunus ใน ค.ห. 24 ค่ะ

ไม่น่าเชื่อนะคะ ว่า scope ของวิชา Anthropology จะกว้างมากขนาดนั้น
ที่แปลกใจก็คือ Linguistic ก็เป็นสับเซ็ตของวิชา Anthro. ด้วย
ดิฉันเรียน App. Linguistics มา 3 วิชา  Phonology, Syntax, และ Semantics
ก็นึกอยู่ตลอดว่าวิชานี้เกี่ยวพันกับ English Dep.
เพราะเห็นมีอาจารย์บางท่านสอนทั้ง English และ Linguistics

มาได้ใช้ก็ตอนพบเด็ก 4 ขวบ คนหนึ่ง พูดคำว่า “พระยายม” แต่ออกเสียงเป็น “แพตาต้อม”
เขาออกเสียง “ย” เป็น  “ต”  วิธีแก้คือฝึกให้เด็กออกเสียง “ย”โดยห้ามเอาลิ้นมาโดนฟัน
เด็กสมัยนี้ออกเสียง “ส. เสือ” เป็น “ต๋อ เตื๋อ”
แม้แต่พิธีกรข่าวกีฬาช่อง 3 คุณสาธิต ออกเสียง “ส” โดยมีเสียง “ช” ผสม
ในเด็กพอเข้าใจได้ ในผู้ใหญ่ขัดๆหูอย่างไรชอบกล
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 27 พ.ย. 05, 02:10

 ครับคุณ Nuchan มานุษยวิทยา คือ วิชาการที่ศึกษาทุกแง่ทุกมุมที่เกี่ยวกับมนุษย์ครับ แต่จะไปในเรื่อง "คนหมู่มาก"

เรื่อง Linguistics ทางมานุษยวิทยาคงไม่ลงไปลึกถึงระดับเรียนแล้วพูดได้ครับ แต่จะเน้นเชิงกระบวนการเกิดเสียง กับโครงสร้างไวยกรณ์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์กันระหว่างชนเผ่าต่างๆ ครับ

ส่วนถ้าเรียนให้พูดได้ ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ก็จะเป็นสาขามนุษยศาสตร์ครับ ก็เป็นภาษานั่นๆ เฉพาะไปเลย

แต่อันที่จริงแล้ว การจัดเป็น ๔ ประเภทข้างต้นนั้น เป็นไปตามสำนักของทางอเมริกานะครับ ถ้าเป็นทางยุโรป ไม่นิยมจัดเป็นหมวดหมู่แบบนี้ เค้าก็จะแยกไปเลยว่า นี่ สัทธศาสตร์ นี่ ภาษาศาสตร์ ส่วนมานุษยวิทยาตามแบบอังกฤษนั้น ก็มักจะเป็นเรื่องการศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ครับ (ตรงกับของอเมริกาคือ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม Cultural Anthropology)

โดยส่วนตัวนะครับ ผมชอบการจัดหมวดหมู่แบบอเมริกามากกว่าเพราะทำให้เข้าใจถึงกลุ่มวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นครับ

ส่วนเรื่อง การเลื่อนเสียงหรือเสียงเพี้ยนนี้ ถ้ารู้ไว้ก็จะมีประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะการตีความชื่อเมืองโบราณที่เดิมเป็นคำสันสกฤต แต่พอถูกแปลเป็นสำเนียงจีนแล้วคนละเรื่องเลย ต้องอาศัยความรู้เรื่องนี้ มาตีความกัน จนได้ชื่อสันกฤตกลับมา เช่น

ลิ่วคุน = ละคร = นคร (นะ-คอน) = นคร (นะ-คะ-ระ)

จะเห็นว่า "น" เพี้ยนเป็น "ล" ได้

หรือ คนจีนมักออกเสียง "ด" เป็น "ล" เช่น เด็กๆ กลาย เหล็กๆ

"ด" เพี้ยนเป็น "ล"

เรื่องแบบนี้ รู้แล้วก็สนุกดีครับ เพราะยังมีอีกหลายกรณี เช่น

อะ-ยุด-ธะ-ยา ก็เพี้ยนเป็น อู-เดีย ถ้าเรามีตัวอย่างการเปรียบเทียบเหล่านี้มากพอ แล้วมีคำอธิบายที่ดีแล้ว ผมว่าเราคงแปลชื่อเมืองโบราณที่บันทึกไว้เป็นภาษาจีน กลับมาเป็นคำสันสกฤตตามเดิมได้อีกหลายเมืองเลยครับ

ที่ยังไม่รู้ เช่น พาน-พาน (บางท่านว่า พุนพิน?)
ตุ้นซุน
เปียนโต่ว
ชวี่ตูคุน (บางท่านว่า นคร? แต่ไม่น่าจะใช่เพราะคำว่า นครศรีธรรมราช เกิดในสมัยหลังจากนี้นานมากๆ)
จวีลี่
ปี่ซง

เหล่านี้เป็นเมืองบนคาบสมุทรมาเลย์ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง