เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5649 เมื่อเชกสเปียร์ ถูกจับผิด
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 03:01

สัปดาห์นี้ มีเรื่องเล่าจากคุณเทาชมพูอีกแล้ว เราสองพี่น้องมาจาระไนให้ฟังต่อนะเจ้าคะ


เมื่อเชกสเปียร์ถูกพิสูจน์ด้วยคอมพิวเตอร์





   
เร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์มติชนลงข่าวว่า ศาสตราจารย์วาร์ด เอลเลียต แห่งวิทยาลัยแคลมองต์ แมคเคนนา ให้สัมภาษณ์ว่า ศาสตราจารย์อีกคนหนึ่งทางสาขาคอมพิวเตอร์ชื่อ ร็อบ วาเลนซา ได้ค้นคิดโปรแกรมเพื่อทดสอบงานของกวีชื่อดังในสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๑ แล้ววิเคราะห์ว่างานทุกชิ้นของเชกสเปียร์นั้น เชกสเปียร์เป็นคนเขียนเองทั้งหมด แตกต่างจากบรรดาผลงานของกวียุคสมัยเดียวกัน อาทิ ฟรานซิส เบคอน , คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ และ เซอร์เอดเวิร์ด ไดเยอร์ ที่ถูกทดสอบแล้วว่าไม่ใช่งานเขียนของพวกเขาทั้งหมด อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์เอลเลียตกล่าวว่าเขายังไม่ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว แต่หวังว่าจะได้รับความสนใจจากนักวิชาการในสาขานี้
   
ข่าวแบบนี้ไม่ใช่ข่าวใหญ่เอี่ยมหากแต่เป็นข่าวประเภทผุดขึ้นเป็นระยะๆในวงวรรณคดีแล้วเงียบหายไปในเวลาไม่นาน ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดไปจากโลก วันดีคืนดีก็มีข่าวออกมาอีกว่าเชกสเปียร์ไม่ได้เป็นคนเขียนบทละครหรือบทกวีที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเขาเขียน แล้วก็จะมีข่าวโผล่ออกมาแย้งว่าเขาเป็นคนเขียนจริงๆ สลับกันไป จนนักวิชาการสามารถจัดเป็นหัวข้อวิชาเรียนหรือหัวข้อตำราได้เล่มหนาๆเรียกกันว่า Shakespeare Forgery คือ “บทกวีที่เรียนกันนั้นเป็นของเชกสเปียร์ตัวจริงหรือตัวปลอม”
   
ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้อาจจะสงสัยว่านี่เรื่องอะไรกันถึงต้องพิสูจน์กันว่าเชกสเปียร์เป็นคนเขียนแล้วใครจะเขียน เรื่องอย่างนี้ต้องพิสูจน์กันด้วยหรือ ไม่ใช่เรื่องที่รู้แจ่มแจ้งแต่แรกหรอกหรือ เหมือนเรารู้ว่า สุนทรภู่แต่ง พระอภัยมณี เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ นิพนธ์ นันโทปนันทสูตรคำหลวง หรือเจ้าพระยาคลัง (หน) แต่งเรื่องกากีหรอกหรือ
   
คำตอบก็คือ เปล่าเลย เราไม่ได้รู้กันแจ่มแจ้งสำหรับเชกสเปียร์
   
ในช่วงเวลา ๒๖๒ ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่โดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงและนักวิจารณ์วรรณคดีหลายคนว่า วรรณคดียอดเยี่ยมของโลกที่เรารู้จักกันในนามของวรรณคดีเชกสเปียร์นั้นความจริงแล้วนายวิลเลียม เชกสเปียร์ซึ่งเกิดเมื่อ ค.ศ.๑๕๖๔ และตายเมื่อ ค.ศ.๑๖๑๖ เป็นแต่เพียงตัวหุ่นเชิดของกวีสักคนหรือหลายคน ซึ่งไม่อาจเปิดเผยนามจริงแก่สาธารณชนได้ จึงต้องอาศัยผู้จัดการโรงละครนามว่าวิลเลียม เชกสเปียร์เป็นผู้แต่ง โดยที่ตัวผู้จัดการคนนั้นเป็นคนไม่มีความรู้หรือความสามารถอย่างดีพอจะแต่งได้ แม้แต่บทเดียวหรือเรื่องเดียว
   
ความสงสัยข้อนี้ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกใน ค.ศ.๑๗๒๘ หลังจากเชกสเปียร์ตายไปแล้ว ๑๑๒ปี ในหนังสือเล่มเล็กๆแต่งโดยนักเขียนไร้ชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ กัปตันโกลดิง ให้ชื่อหนังสือว่า An Essay Against Too Much Reading หนังสือทั้งเล่มไม่มีตอนไหนน่าสนใจ ยกเว้นข้อความเดียวที่ว่า
   
“เชกสเปียร์เป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ เหนือกว่าผู้คนตั้งค่อนโลก แต่ก็น่าแปลกใจ ในเมื่อเขาไม่ใช่นักปราชญ์ไม่ใช่นักภาษา ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ดูตามประวัติแล้ว ไม่น่าจะแต่งอะไรได้เลยด้วยซ้ำ”
   
ข้อปรารภข้อนี้เปรียบเหมือนการจ่อไม่ขีดก้านแรกเข้ากับน้ำมัน หลังจากนั้นไฟก็ลุกลามเรื่อยต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีผู้ตอบสนองข้อสงสัยข้อนี้ติดต่อกันมาไม่ขาดระยะ พอรวบรวมงานวิเคราะห์วิจารณ์ที่สำคัญๆได้ดังนี้
   
-เฮอร์เบิร์ต ลอเรนซ์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Life And Adventure Of Common Senses (๑๗๖๙) เขาเชื่อว่ากวีที่แท้จริงผู้เขียนบทละครเหล่านี้น่าจะเป็นผู้ที่ซ่อนเร้นนามจริงไว้ จะเป็นใครก็ตามแต่ไม่ใช่เชกสเปียร์
   
-หลังจากความคิดของลอเรนซ์ เสนออกมาแล้ว คนแรกที่เสนอข้อวิเคราะห์ซึ่งมีผู้เชื่อมากที่สุดในบรรดาผู้ไม่เชื่อในตัวเชกสเปียร์ก็คือ ท่านสาธุคุณเจมส์ วิลม็อต ใน ค.ศ.๑๗๘๕ ท่านเสนอว่าเซอร์ฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในยุคพระราชินีอลิซาเบธที่ ๑ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
   
-ต่อจากนั้นฟรานซิส ซี.ฮาร์ท อดีตกงสุลอเมริกันประจำซานตาครูซ เขียนไว้ในหนังสือ The Romance of Yachting ว่าเจ้าของโรงละครชื่อ วิลเลียม เชกสเปียร์ เมื่อพิจารณาจากประวัติแล้วไม่มีความรู้หรือคุณสมบัติน่าเชื่อถือพอจะเป็นเจ้าของวรรณคดีเด่นระดับโลกได้
   
เมื่อถึง ค.ศ.๑๘๕๗ ขบวนการผู้ไม่เชื่อถือตัวเชกสเปียร์ก็พุ่งขึ้นสู่บทบาทสูงสุด เป็นที่กล่าวขวัญและยอมรับกันอย่างแพร่หลาย นำโดยผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ เดเลีย เบคอน เธอเขียนบทความเรื่อง Shakespeare and His Plays : An Inquiry Concerning Them ต่อมาเขียนหนังสือชื่อ The Philosophy of the Plays of Shakespeare Unfolded (๑๘๕๗) เธอวิเคราะห์ว่าบุคคลหลายคน เช่น เซอร์ฟรานซิส เบคอน , เซอร์วอลเตอร์ ราเล่ห์ และเอ็ดมันด์ สเปนเซอร์ เป็นกลุ่มนักเขียนที่ร่วมมือกันแต่งบทละครเหล่านั้น
   
บทวิจารณ์ของเดเลีย เบคอนได้รับความสนใจอย่างสูงจากหมู่นักอ่านและนักวรรณคดีในยุคนั้น บุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงวรรณคดีหลายคนเห็นคล้อยตามไปด้วยว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ในจำนวนนี้มีนักประพันธ์ผู้โด่งดังแห่งยุค เช่น มาร์ค ทเวน และนาธาเนียล ฮอว์ธอร์น ถึงกับมีการกล่าวกันว่า เจมส์ รัสเซลล์ โลเวลด์ เป็นผู้ออกปากว่า
   
“เดเลีย เบคอนเป็นผู้ตั้งคำถามที่จะไม่มีวันยุติคำตอบได้ตลอดกาล”
   
นอกจากเดเลีย เบคอนแล้ว ผู้ที่ยึดแนวความคิดของเธอจนวิเคราะห์ได้ผลคล้ายคลึงกันสืบต่อมา ก็มีวิลเลียม เฮนรี สมิธ ซึ่งเห็นพ้องกันว่าเบคอนเป็นผู้แต่งงานวรรณคดีของเชกสเปียร์ เขียนไว้ในหนังสือที่ยืดยาว
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 00:39

ว่า Bacon and Shakespeare : An Inquiry Touching Players , Playhouse and Playwriters in the Days of Elizabeth
   
เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมาว่าจริงจัง ก็ได้มีผู้ค้นคิดหาข้อมูลพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ขึ้นนอกเหนือจากการใช้วิจารณญาณอย่างเมื่อก่อน บุคคลผู้ก่อความตื่นเต้นขนาดใหญ่แก่วงการผู้ไม่เชื่อถือเชกสเปียร์ได้แก่ อดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐมินเนสโซตาชื่อ อิกนิเชียส ดอนเนลลี่ เขาศึกษางานต่างๆสมัยพระนางอลิซาเบธที่ ๑ จนพบว่าสมัยนั้นมีการนิยมเล่นรหัสคำที่เรียกว่า cipher นักปราชญ์อย่างฟรานซิส เบคอนเองก็ได้ประดิษฐ์รหัสคำปริศนาเหล่านี้ขึ้นมาหลายอย่างด้วยกัน ดอนเนลลี่ จึงได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะมากที่สุดในชีวิตเอางานทั้งหมดของเชกสเปียร์มาถอดรหัสที่เขาเชื่อว่าแอบแฝงอยู่ ด้วยวิธีการถอดรหัสแบบต่างๆของเบคอน
   
ดอนเนลลี่ไม่ผิดหวัง เมื่อพบว่าตัวเองถอดรหัสออกมาได้ความว่าเบคอนนั่นเองคือผู้เขียนงานของเชกสเปียร์ เขานำผลงานเล่มมหึมานี้มาเรียบเรียงให้ชื่อว่า The Great Crpogram: Francis Bacon’s Cipher in the So-called Shakespeare Plays (๑๘๘๘) เมื่อตีพิมพ์ออกสู่ตลาดก็กลายเป็นเรื่องตื่นเต้นกันอย่างขนานใหญ่ทั้งอเมริกาและยุโรป จนกระทั่งมีผู้นำหลักการของดอนเนลลี่มาพิสูจน์ ภายหลังเขาทำผิด เรื่องนี้จึงกลายเป็นความล้มเหลวไป
   
แต่ถึงกระนั้น ความเชื่อว่าเชกสเปียร์ไม่ได้เป็นคนแต่งผลงานทั้งหลายนี้ ก็ยังดำรงอยู่ไม่เสื่อมคลาย นามของกวีร่วมสมัยคนต่างๆถูกหยิบยกมาวิจารณ์ว่าเป็นตัวจริงของเชกสเปียร์ ไม่ว่าจะเป็นฟรานซิส เบคอน (ซึ่งมีกลุ่มผู้สนับสนุนหนาแน่นที่สุด) คริสโตเฟอร์ มาโลว์ , ริชาร์ด กรีน (นักเขียนบทละครร่วมสมัยผู้โด่งดังทั้งคู่) เอิร์ลแห่งออกซฟอร์ด , เอิร์ลแห่งดาร์บี้ , เคานเตสแห่งเพมโบรก , เบน จอนสัน (กวีหลวง) , เอิร์ลแห่งรัทแลนด์ , เอิร์ลแห่งซอลสเบอรี่ หรือกล่าวโดยย่อว่านักเขียนบทละครและกวีผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นเกือบทุกคน (ยกเว้นตัวเชกสเปียร์เอง) เป็นผู้แต่ง หรือรวมกลุ่มกันแต่งด้วยกันทั้งสิ้น
   
สรุปแล้ว ภายในระยะเวลา ๒๖๒ ปี นับแต่หนังสือเล่มแรกของโกลดิง นักวรรณคดีสามารถรวบรวมหนังสือและบทความได้มากกว่า ๔๐๐ เรื่อง ในภาษาต่างๆถึงหกภาษา (ถ้ารวมภาษาไทยด้วยก็เป็นเจ็ดภาษา) ที่วิจารณ์ด้วยความเชื่อว่า “เชกสเปียร์ไม่ใช่เชกสเปียร์”
   
คนที่ถูกอ้างว่าเป็นตัวจริงมีอยู่ถึง ๔๘คน ทั้งเดี่ยวและทำงานเป็นกลุ่ม ในจำนวนนี้มีทั้งกวีรัฐบุรุษ ขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์สูง หญิงผู้สูงศักดิ์รวมทั้งพระนางอลิซาเบธเองด้วย
   
ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อถือนั้นไม่ใช่ชาวบ้านร้านถิ่นไร้การศึกษา หากแต่มีทั้งรัฐบุรุษนักประพันธ์เรืองนาม เจ้าชาย และนักจิตวิทยา พอจะยกเป็นตัวอย่างเด่นๆได้คือ
   
-ลอร์ดพาร์เมอร์สตัน รัฐบุรุษของอังกฤษ
   
-แซมมวล คอเลอริดจ์ , ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน กวีระดับชาติทั้งสองคน
   
-เจ้าชายบิสมาร์ค
   
-มาร์ค ทเวน นักประพันธ์ใหญ่ของอเมริกา
   
-เฮนรี เจมส์ นักเขียนและนักจิตวิทยา
   
สาเหตุที่บุคคลเหล่านี้ไม่เชื่อถือก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าประวัติของวิลเลียม เชกสเปียร์นั้นมีอยู่น้อยมาก และไม่น่าสนใจ ไม่มีอะไรดีเด่นเลย เชกสเปียร์เป็นชาวบ้านผู้ศึกษาไม่จบชั้นมัธยมด้วยซ้ำไป ต่อมาก็ออกจากบ้านเดิมที่สแตรท-ฟอร์ท-ออน-เอวอน มาเผชิญโชคในลอนดอน ไต่เต้าจากเด็กรับใช้และตัวแสดงประกอบขึ้นไปเป็นนักแสดงละคร แล้วเมื่ออายุมากขึ้นก็ได้เป็นผู้จัดการโรงละครแสดงให้ชาวบ้านดูโดยทั่วไป แก่ตัวลงก็ลาจากเวทีกลับไปอยู่บ้านเดิมในฐานะคหบดี ทำธุรกิจประเภทซื้อขายพืชผลจากชาวบ้านเอาไปขายในเมืองและให้กู้ยืมเงินและถึงแก่กรรมไปโดยทำพินัยกรรมไว้เรียบร้อย แต่ในพินัยกรรมนั้นไม่ระบุหนังสือ บทละครเรื่องเดิม ค่าลิขสิทธิ์หรืองานกวีใดๆ ไว้เป็นสมบัติส่วนตัวสักเล่มเดียว เหมือนกับว่าเกิดมาเชกสเปียร์ไม่ได้ข้องแวะกับการเป็นกวีแม้แต่น้อย
   
ตรงกันข้ามกับการพิจารณาผลงานแต่ละชิ้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง การดำเนินชีวิตในราชสำนัก หรือปราสาทของขุนนางชั้นสูงตามประวัติ เชกสเปียร์ไม่เคยอยู่ในสถานที่เหล่านี้และไม่มีโอกาสด้วย
   
นอกจากนี้บทละครเหล่านี้หลายเรื่องนำมาจากวรรณคดีโรมัน เชกสเปียร์ไม่มีความรู้พอจะอ่านเรื่องเดิมออก รายละเอียดต่างๆในบทละครก็ทำให้เชื่อว่าคนแต่งต้องมีวิทยาการกว้างขวาง ไม่ใช่ชาวบ้านซึ่งเรียนไม่จบชั้นมัธยมอย่างเชกสเปียร์
   
บทละครเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศต่างๆ เช่น แฮมเล็ต เกี่ยวกับเดนมาร์ก โรเมโอ และจูเลียต เกี่ยวกับอิตาลี แต่ตามประวัติเชกสเปียร์ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศอังกฤษไปที่ไหนเลย
   
ต้นฉบับที่เป็นลายมือของเชกสเปียร์ ไม่ปรากฏอยู่เลย เหลือแต่ฉบับพิมพ์จากโรงพิมพ์เท่านั้น ลายมือของเขาเท่าที่ตรวจสอบพบได้เป็นลายมือขณะลงชื่อในทะเบียนสมรสและพินัยกรรม มีลักษณะขยุกขยิกเหมือนคนไม่มีการศึกษา
   
ด้วยเหตุผลดังกล่าวและอื่นๆอีกมาก นักวิจารณ์เหล่านี้จึงเชื่อกันว่าผลงานสำคัญเหล่านั้นเป็นของบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจเปิดเผยตัวจริงต่อสาธารณชนได้ เขาจึงต้องยืมชื่อชายสามัญคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องคลุกคลีอยู่ในวงการละครอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้คนร่วมสมัยเกิดความสงสัย
   
บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังเชกสเปียร์นี้ผู้ที่มีคนเชื่อมากที่สุดคือเซอร์ฟรานซิส เบคอนนักปราชญ์ใหญ่เขาเป็นชนชั้นขุนนางโดยกำเนิด ศึกษาวรรณคดีทั้งกรีกและโรมัน และใช้ชีวิตอยู่ในราชสำนักมาตลอด แต่เนื่องจากบุคคลชั้นสูงสมัยนั้นไม่นับละครเป็นวรรณคดี ถือกันว่าเป็นการบันเทิงระดับชาวบ้าน จะมีก็แต่ละครเขียนกันเล่นๆเพื่อความบันเทิงในราชสำนัก ถ้าเบคอนอยากจะเขียนบทละครตามใจรัก เขาก็อาจไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง ต้องใช้นามปากกาเพื่อมิให้กระทบกระเทือนชื่อเสียงของตน เขาจึงเลือกเชกสเปียร์ เป็นหุ่นบังหน้าโดยไม่มีใครสงสัย เหตุผลในการเลือกก็อาจเป็นไปได้ ๒ ข้อคือ
   
๑ เบคอนอาจสมมุตินามปากกาเชกสเปียร์ขึ้นมา แล้วไปคล้ายคลึงกับชื่อนักแสดงผู้หนึ่งชื่อแชกสเปอร์เข้า จึงให้รับสมอ้างนามปากกาของเบคอน สมัยนั้นการสะกดชื่อต่างๆก็ยังไม่เคร่งครัด แชกสเปอร์จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเชกสเปียร์ตามที่ปรากฏว่าบางครั้งชื่อของเชกสเปียร์ก็เขียนว่าแชกสเปอร์ในระยะต้น
   
๒ ในยุคนั้น มีนักแสดงและผู้จัดการโรงละครชื่อ วิลเลียม เชกสเปียร์อยู่ในความอุปถัมภ์ของเอิร์ลแห่งเซาธ์แธมป์ตันเพื่อนของเบคอนเอง เบคอนจึงอาจขอร้องเพื่อนให้ช่วยจ้างคนในวงการละครมาสักคน เพื่อรับ
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 00:40

สมอ้างแทนตัวเขา แล้วก็คงจะเลือกได้ตัวเชกสเปียร์ผู้นี้เอง เบคอนได้แต่งเรื่องตามใจรัก เชกสเปียร์ก็ได้ค่าปิดปากเป็นเงินจำนวนมากพอจะลาจากวงการเมื่ออายุมากขึ้นกลับไปอยู่บ้านเดิมได้อย่างเศรษฐีคนหนึ่ง แล้วดำเนินธุรกิจไปตามความถนัดของเขา ไม่ได้สนใจแต่งบทละครอีก
   
กวีคนที่สองที่ผู้เชื่อถือรองลงมาจากเบคอน คือ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ รายนี้มีความรู้สูงจบขั้นปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นปริญญาสูงสุด เขาเข้าสู่วงการก่อนเชกสเปียร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากละครเรื่อง Tamburiain the Great ต่อมามีผลงานออกมาอีก ๓ เรื่อง ก่อนเสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่ออายุเพียง ๒๙ ปี นักวรรณคดีเชื่อกันว่าถ้ามาร์โลว์ไม่ตายเสียเมื่อยังหนุ่มแน่น ก็คงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเชกสเปียร์อย่างไม่มีข้อสงสัย
   
สาเหตุการตายของมาร์โลว์ยังนับว่าคลุมเครืออยู่มาก เพราะเขาดำเนินชีวิตสองด้านคือเป็นนักแต่งบทละครด้วยและเป็นสายลับด้วย เคยถูกจับด้วยข้อหาเป็นพวกมิจฉาทิฐิ คือไม่เชื่อพระเจ้า แต่ยังไม่ทันขึ้นศาลก็ถูกฆ่าตายเสียก่อนด้วยเรื่องวิวาทกับอันธพาล
   
จนถึง ค.ศ.๑๙๕๕ ชีวิตของมาร์โลว์จึงถูกพลิกฟื้นขึ้นดูรายละเอียดอีกครั้งด้วยฝีมือของนักศึกษาวรรณคดีชื่อคัลวิน ฮอฟฟ์มัน เขาศึกษาเปรียบเทียบงานของเชกสเปียร์และมาร์โลว์ พบด้วยความประหลาดใจอย่างยิ่งว่างานของบุคคลทั้งสองมีเค้าสำนวนโวหารตรงกันอยู่หลายตอนราวกับเป็นคนคนเดียวกันเขียน เขาจึงกลับไปค้นประวัติของมาร์โลว์จนทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่ามาร์โลว์คงไม่ได้ตายจริงอย่างที่เข้าใจกัน แต่ว่าเป็นการสร้างแผนการขึ้นเพื่อหลบให้พ้นความผิดที่จะต้องถูกศาลลงโทษ ตัวเองคงจะหนีไปอยู่ต่างประเทศ แล้วเขียนบทละครส่งมาในนามของผู้จัดการโรงละครแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีใครค้นพบต้นฉบับลายมือของเชกสเปียร์ มาร์โลว์คงจะถึงแก่กรรมประมาณ ค.ศ.๑๖๑๒ เชกสเปียร์จึงต้องเลิกอาชีพนี้โดยปริยาย แล้วนำเงินที่ได้จากการให้ยืมชื่อกลับไปทำธุรกิจที่บ้านเดิมโดยไม่สนใจวงการละครและวรรณคดีอีก
   
นอกจากเบคอน และมาร์โลว์แล้วก็ยังมีบุคคลอีกหลายคนที่เชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังเชกสเปียร์ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสันนิษฐานอันเกิดจาการตั้งสมมุติฐานว่า การผลิตงานศิลปะนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้สาขาอื่นๆที่เป็นศาสตร์ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยตนเอง จินตนาการและพรสวรรค์ของบุคคล ดังนั้นก็คงไม่ต่างกับการที่ใครสักคนจะสงสัยว่าสุนทรภู่ไม่น่าแต่งพระอภัยมณีได้ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัย และไม่ได้เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์มาก่อน
   
ความสงสัยทำนองนี้เป็นความเชื่อพื้นฐานแบบคนยุควิคตอเรียน คือเมื่อปลายศตวรรษก่อน ที่เชื่อกันอย่างง่ายๆว่า คนมีการศึกษา (จากสถาบันการศึกษา) เท่านั้น จึงจะผลิตงานวรรณคดีได้ นอกจากนี้การนำรหัสมาถอดผลงานของเชกสเปียร์นั้น ก็ทำแบบเข้าข้างตนเองโดยไม่มีเหตุผลตามสมควร รหัสใดเข้ากับความเชื่อของตนก็แถลงออกมา ถ้าหากว่าไม่ตรงก็เก็บไว้เสีย ดังนั้นผลพิสูจน์จึงออกมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
   
วงวรรณคดีของไทยเคยถกเถียงกันมาหนักหนาแล้วว่าใครกันแน่คือผู้แต่งโคลงกำสรวลศรีปราชญ์จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ
   
ล่าสุด การฮือฮาขึ้นมาว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่๑ เป็นของผลิตขึ้นในรัชกาลที่๔ และมีการถอดรหัสพ.ศ.ในศิลาจารึกให้มีความหมายเกี่ยวโยงกับพ.ศ.สำคัญในรัชกาลที่๔ ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงการถอดรหัสของดอนเนลลี่ กล่าวคือมีการถอดแบบอัตวิสัยค่อนข้างมาก แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ยุติเช่นกัน
   
คอมพิวเตอร์ยื่นมือเข้ามาจัดการยุติข้อพิพาท เพราะมนุษย์เราไม่สามารถพิจารณาบางสิ่งบางอย่างได้อย่างเที่ยงตรงเสียแล้วหรือ ?
   
ถ้าหากว่าใช่ ก็น่าเสียดาย
บันทึกการเข้า
Wu Ming
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 03:09

เยี่ยมจริงๆ ครับ  ยิ้ม    ข้าน้อยขอคารวะสักหนึ่งจอก...

บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 10:47

ขอบคุณน้องทั้งสองที่นำงานคุณเทาชมพูมาลงให้อ่านค่ะ

สงสัยหน่อยนึงว่าถ้าผลออกมาปรากฏว่าไม่ใช่เชคสเปียร์เป็นคนแต่งเรื่องทั้งหมดจริงๆ แล้วจะเป็นยังไงต่อไป  เลิกอ่าน?  เลิกกล่าวถึง?
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 15:01

จะเป็นใครแต่งก็ตามทีผลงานที่ดีย่อมเป็นผลงานที่ดี
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 17 คำสั่ง