เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3143 มาคุยต่อเรื่องนักเขียน..
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 13 ธ.ค. 01, 22:12

สัปดาห์ที่แล้ว คุณเทาชมพูเล่าเรื่อง มารี คอเรลลี อัจฉริยะที่ถูกลืม ไว้ และได้เอ่ยถึง นักเขียนอีกท่านหนึ่งไว้ ทางเราสองคนจึงมาไขที่ ขยักไว้ต่อนะเจ้าคะ...

เวอร์จีเนีย วูลฟ์



   
เมื่อก่อนข้าพเจ้าเคยเขียนถึงเวอร์จิเนีย วูลฟ์ไว้ว่า เป็นนักประพันธ์สตรีวิกลจริต ที่วงวรรณคดียอมรับว่าเป็นอัจฉริยะ ถ้าพูดไว้เพียงแค่นี้ ก็ออกจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะเหมือนกับว่านักวรรณคดีนี่พิกล ทีคนดีๆไม่นับถือ กลับไปยกย่องคนบ้า ความจริงแล้วนอกเหนือจากความวิกลจริต เวอร์จิเนีย วูลฟ์นับว่ามีคุณสมบัติหลายอย่างที่สมควรได้รับการยกย่องทีเดียว
   
เวอร์จิเนีย สตีเฟน เกิดเมื่อ๒๕ มกราคม ค.ศ.๑๘๘๒ ในครอบครัวชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินในลอนดอน ชีวิตวัยต้นดำเนินไปแบบกุลสตรีในยุคนั้น คือ ได้เล่าเรียนเขียนอ่านพอได้ เรียนวาดเขียน เย็บปักถักร้อย ร้องเพลงและลีลาศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าสังคม จุดหมายปลายทางของสตรีสมัยนั้น คือการแต่งงานมีเหย้ามีเรือนไป ไม่ใช่ไปเรียนมหาวิทยาลัย หรือมีอาชีพแข่งกับผู้ชาย แต่เวอร์จิเนียมีความคิดแปลกไปจากคนอื่น ตรงที่เธอรักการอ่านหนังสือ เมื่อมีความรู้จากตำรับตำรามากเข้า ก็ไม่อยากจะจำกัดชีวิตไว้เพียงแค่นั้น เธอได้ท่องเที่ยวไปในยุโรป รู้จักผู้คนที่มีความรู้และได้เข้าสังคมมากขึ้น หลังจากสมรสกับ เลียวนาร์ด วูลฟ์ ผู้มีชื่อเสียงทั้งทางการเมือง และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เวอร์จิเนียก็เขียนหนังสือเรื่อยมา ทั้งนวนิยาย บทความ และบทวิจารณ์วรรณคดีต่างๆ รวมทั้งเชกสเปียร์และนักเขียนผู้มีชื่อเสียงในยุคเดียวกัน
   
ผลงานของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีความรู้ ส่วนการโจมตีจากนักวิจารณ์ก็มี ในฐานะที่เธอเขียนเกี่ยวกับสิทธิและความคิดของสตรี เพราะสมัยนั้นเป็นสมัยที่สตรีเริ่มตื่นตัวทางสังคม อย่างไรก็ตามเวอร์จิเนีย วูลฟ์ ไม่ได้เคราะห์ร้ายเท่า แมรี่ คอเรลลี เรื่องของเธอไม่ใช่เรื่องรักอันเต็มไปด้วยแสงสีพิสดาร หรือปรัชญาทางศาสนาที่แสดงความใฝ่ฝันละเมอเพ้อพก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแสดงจุดหมายอันลึกล้ำของชีวิต เธอได้คิดและแสวงหาหลักความจริงแบบปรัชญาสมัยใหม่ แต่ถึงกระนั้นเธอได้ป้องกันสิทธิของนักประพันธ์สตรีโดยยืนยันว่า ผู้หญิงทุกคน มีสิทธิฝันและเขียนตามแนวของตัวเอง ไม่ใช่สิทธิของนักวิจารณ์จะตำหนิว่าอ่อนหัดหรือเปิ่นเทิ่นด้วยประการใด
   
นักวิจารณ์ปัจจุบันถือว่า เวอร์จิเนีย วูลฟ์ได้ริเริ่มแนวการเขียนแบบใหม่ขึ้นอย่างน้อย ๒ ด้าน เธออาจไม่ใช่นักเขียนคนแรกในโลกที่เขียนแบบนี้ แต่เป็นคนแรกที่ย้ำให้เห็นความสำคัญ และเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวการประพันธ์เข้าสู่ยุคใหม่คือยุคต้นศตวรรษที่ ๒๐
   
อย่างแรก คือการเน้นในด้านการเขียน เข้าถึงชีวิตจิตใจความคิดความอ่านของตัวละครในเรื่อง เวอร์จิเนียวิจารณ์นักเขียนคนอื่นๆ เช่นอาโนลด์ เบนเนตต์ ไว้ในบทความชื่อ “มิสเตอร์เบนเนตต์และมิสซิสบราวน์” ว่าพวกนี้มองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดในการเขียน คือการเข้าถึงจิตใจตัวละคร การเขียนตัวละครนั้นไม่ใช่ เพียงเขียนบรรยาย รูปร่าง หน้าตา พฤติการณ์ หรือแสดงนิสัยออกมาเพียงอย่างเดียว ถ้านางเอกพระเอกก็มีแต่ความดี จิตใจเมตตากรุณา ซื่อตรงรักเดียวใจเดียว กล้าหาญอดทน หรือตัวผู้ร้ายก็มีแต่เลวหยาบช้าสามานย์ คดโกง มีแต่ตัณหาราคะโดยตลอด ตัวละครตัวไหนขี้หึง ก็มีแต่หึงตลอดเรื่อง หรือขลาดตลอดเรื่อง ความจริงแล้ว ความคิดจิตใจของตัวละครนั้น ควรจะได้เขียนออกมาให้ตลอด แสดงให้เห็นเหมือนเป็นคนจริงๆที่มีถูกมีผิด มีอารมณ์รักโลภโกรธหลงอย่างปุถุชน มีความอ่อนไหว หรือเข้มแข็งแล้วแต่เรื่องที่ประสบ ไม่ใช่แต่ว่าอธิบายแต่พฤติการณ์โลดโผนเท่านั้น หรือจำกัดขอบเขตลงไปเลยว่า ตัวละครตัวนี้ดีหรือเลว ความดีชั่วมีอยู่ในทุกคน และตัวละครก็ควรมีทั้งข้อดีข้อบกพร่องเช่นกัน
   
นับตามมาตรฐานนี้ อาจพอเข้าใจได้ว่าทำไมนวนิยายบันลือโลกตั้งหลายเรื่อง จึงไม่ได้ติดอันดับวรรณคดีกับเขา เรื่องผจญภัยอย่างหนึ่งละที่ติดอันดับยาก เพราะความสำคัญไปอยู่ที่เหตุการณ์ เช่นเรื่องนักสืบก็ไปอยู่ที่ใครเป็นฆาตกร เรื่องผีสางต่างๆก็อยู่ที่พระเอกจะพานางเอกรอดมาได้หรือไม่ ตัวละครเช่นเจมส์บอนด์ แดรกคิวล่า หรือนางเอกหนังกำลังภายในนี้ ไม่มีวันได้ติดอันดับเพราะความสำคัญไปอยู่ที่บทบาทโลดโผนหมด เจ้าตัวแทบจะไม่ได้แสดงความคิดออกมาเลย อย่างที่สองก็คือเรื่องรักหวานชื่นของหนุ่มสาว ประกอบด้วยพระเอกนางเอกที่ดีทุกด้าน ตัวผู้ร้ายเลวทุกด้าน ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากมายทั้งในนวนิยายไทยและฝรั่ง
   
ตัวละครในนวนิยายไทยปัจจุบันที่ข้าพเจ้าเห็นว่า พอใกล้เคียงความคิดของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ก็คือ ดำในเรื่อง “ข้าวนอกนา” เป็นชีวิตของเด็กลูกครึ่งนิโกรแม่ไทย ที่ถูกกดดันจากสิ่งแวดล้อมให้ถลำลึกลงไป บวกกับนิสัยซึ่งผู้แต่งบอกไว้ว่า ได้มาจากสายเลือดชนผิวดำ ซึ่งมักจะมีอารมณ์รุนแรงกระด้างทั้งด้านรักและชัง การที่เด็กคนนั้นถูกทิ้งขว้าง ถูกรังเกียจเหยียดหยาม เติบโตอย่างลุ่มๆดอนๆมีแต่สิ่งชวนให้ใจแตก นิสัยก็กระด้าง โลดโผน รักอิสระ ไม่คิดหน้าคิดหลังอยู่แล้ว ชีวิตย่อมจะไปทางแนวนี้ แต่ดำก็ยังมีนิสัยของมนุษย์ ที่แสวงหาความรักและความอ่อนโยนมาหล่อเลี้ยงจิตใจ ความรักที่มีต่อแม่และผู้ชายสองคนในชีวิต เป็นลักษณะธรรมดาของมนุษย์ไม่ว่าดีเลวอย่างไรก็ต้องมีความ
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 ธ.ค. 01, 09:54

อ่อนโยนในจิตใจบ้าง หากแต่ถูกตอบแทนด้วยการหลอกลวงและเห็นแก่ตัว ขวัญของดำจึงเสียซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังที่ผู้เขียนบรรยายว่า
   
“ทุกครั้งที่ดำเจ็บปวดสะเทือน ดำก็ว่าดำเจ็บปวดสะเทือนมากที่สุดแล้ว แต่มันก็ยังมีครั้งต่อๆไปอีกในชีวิตของดำ ไม่เห็นมีที่สิ้นสุดเสียที”
   
นี่คือการเข้าถึงชีวิตจิตใจตัวละครอย่างแท้จริง คือการเข้าใจความรู้สึกและตีความออกมาเป็นตัวอักษร โดยไม่ได้แยกประเภทว่าเป็นความรู้สึกดีเลวอะไร และไม่ใช่ความเสียใจชนิดปรากฏในรูปการร้องไห้โฮของนางเอกในภาพยนตร์เพื่อให้คนดูสงสาร อาจจะไม่มีการแสดงออกก็ได้ แต่ความเจ็บช้ำน้ำใจนั้น ผ่านจากจิตใจของดำมาสู่จิตใจผู้อ่านได้อย่างชัดเจน ด้วยการบรรยายไม่กี่ตัว ซึ่งแสดงความเข้าใจอย่างแท้จริงในความรู้สึกของดำ
   
อีกด้านหนึ่งที่เป็นแนวคิดริเริ่มของเวอร์จิเนีย วูลฟ์คือเขียนถึงเวลาในนวนิยายตามแบบฉบับที่รู้กันนั้น เวลาในนวนิยายจะมีเป็นลำดับก่อนหลังอย่างมีระเบียบ เหตุการณ์ในบทแรกเกิดก่อนเหตุการณ์ในบทที่สอง…สาม..สี่ ไปจนจบ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆคือเรื่องรักระหว่างพระเอกนางเอก นวนิยายเริ่มด้วยพระเอกพบนางเอก มีเหตุการณ์มาให้เกี่ยวข้องพัวพันกัน เกิดผิดใจกันมีนางผู้ร้ายเข้ามาวุ่นวาย ต่อไปก็เข้าใจกันคืนดีกัน จบลงด้วยการแต่งงาน ถ้าหากนักเขียนคนไหนเริ่มเรื่องด้วยพระเอกแต่งงานกับนางเอกเรียบร้อย บทต่อไปเป็นบทบรรยายว่าเริ่มรู้จักกัน บทที่สามกลับมาตอนปัจจุบัน มีลูกกันหลายคนแล้ว บทที่สี่กล่าวถึงตอนนางผู้ร้ายสมัยยังสาวเข้ามาแทรกแซง สลับกันไปสลับกันมาโดยไม่มีอะไรคืบหน้า คนอ่านก็คงเลิกอ่านเสียตั้งแต่บทที่สาม เพราะไม่รู้จะอ่านไปทำไม
   
แต่เวอร์จิเนีย วูลฟ์ริเริ่มการเขียนแบบที่เวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตสับที่กันตามหน้าหนังสือ แต่เธอสามารถเขียนได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย หากว่าคนอ่านเพียงพยายามอ่านที่ใช้ว่าพยายาม ก็เพราะบางครั้งเวลาในอดีตจะเข้ามาแทนที่ปัจจุบันเสียเฉยๆ ถ้าอ่านเพลินไป ก็จะเตลิดเปิดเปิงไม่รู้ว่าเป็นเรื่องสมัยไหน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเรื่อง “มิสซิสดอลลาเวย์” ตัวเอกในเรื่องชื่อ คลาริสสา ดอลลาเวย์ เป็นหญิงกลางคน สมรสมานานแล้ว เริ่มเรื่องของเธอออกจากบ้านไปซื้อของเพื่อจะเตรียมไว้ในงานปาร์ตี้ตอนกลางคืน เหตุการณ์ปัจจุบันมีอยู่เพียงวันเดียว นับแต่มิสซิสดอลลาเวย์ออกจากบ้านตอนเช้าไปจนงานปาร์ตี้เลิกตอนกลางคืน แต่เหตุการณ์ในอดีตเมื่อหลายสิบปี นับแต่คลาริสสาเริ่มย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์สมัยยังเด็ก และสมัยสาว ชายและหญิงที่เธอเคยรักสมัยยังสาว เหตุการณ์และบุคคลเหล่านี้ผ่านเข้ามาเป็นระยะๆในความคิดของเธอ มีทั้งชายคนรักเก่าผู้ที่เธอพบในปัจจุบัน และหวนนึกถึงเขาในอดีต เหตุการณ์และตัวละครจึงสลับกันตลอดเวลา เดี๋ยวอดีต เดี๋ยวปัจจุบัน แทบจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และยังมีเหตุการณ์ในอนาคตเป็นเงาๆแทรกเอาไว้ด้วยในเรื่อง การฆ่าตัวตายของชายที่เธอเห็นในสวนสาธารณะ เป็นการทำนายอย่างคลุมเครือถึงจุดจบของมิสซิสดอลลาเวย์เอง ในต้นฉบับเดิมที่เวอร์จิเนียเขียนนั้น มิสซิสดอลลาเวย์ฆ่าตัวตายภายหลังงานเลิก แต่ในฉบับที่เธอเขียนตีพิมพ์นั้น เพียงแต่จบลงอย่างว่างเปล่า หากแต่มีเค้าความกดดันในใจของมิสซิสดอลลาเวย์ แสดงว่าอนาคตที่จะเกิดหลังเรื่องจบลงก็คือการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องอนาคตที่คนอ่านต้องคิดเอาเอง ไม่ใช่ว่าเรื่องจบลงตามเวลาในหน้าสุดท้ายอย่างนวนิยายทั่วไป
   
นวนิยายไทยไม่ใคร่จะนิยมการเขียนแบบนี้นัก เพราะอาจจะถือว่าตอนท้ายของเรื่องคือตอนตื่นเต้น จะฝังใจคนอ่านหรือชวนให้โยนหนังสือทิ้งก็ตอนนี้เอง ถ้าเอาตอนจบมาบอกเสียก่อนก็หมดความหมาย ข้าพเจ้าจำได้แต่เพียง ๒เรื่องที่เข้าแนวการสับเวลา คือเรื่อง “แพรชมพู” ของ “ดวงดาว” และ “แก้วตาพี่” ของ “นิตยา นาฏยสุนทร” เรื่องแรกนั้นเปิดฉากเมื่อนางเอกเป็นสาวเต็มตัวกลับมาบ้านเดิมที่มีผู้มาติดต่อขอซื้อ คุณย่าและญาติผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่สิ้นบุญไปหมดแล้ว นางเอกย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อรุ่นสาวได้พบพระเอก และถูกพรากจากกันเพราะญาติ ทั้งเรื่องเน้นถึงเหตุการณ์ในอดีต ส่วนเรื่องที่สองนั้น การลำดับเวลาเป็นการย้อนรำลึกถึงเรื่องราวโดยตัวละครแต่ละตัวต่างๆกัน นิตยา นาฏยสุนทรใช้การรำลึกถึงอดีตเป็นการเล่าความเป็นมาของตัวละครได้อย่างกะทัดรัด ไม่เยิ่นเย้อเสียเวลา และไม่เสียรสความที่จะไปสู่ตอนจบ คือพระเอกนางเอกเข้าใจกันใหม่ หลังจากแต่งงานกันตั้งแต่บทแรกแล้ว
   
ทั้งที่นักวรรณคดีนิยม เวอร์จิเนีย วูลฟ์ว่าเป็นผู้คิดแนวการเขียนใหม่ให้โลกวรรณคดี เปลี่ยนยุคนวนิยายเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ชีวิตของเธอกลับเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ไม่คุ้มค่าความเป็นอัจฉริยะ เวอร์จิเนีย วูลฟ์เริ่มวิกลจริตเป็นระยะๆ เมื่อล่วงเข้าวัยกลางคนความวิกลจริตมาในรูปของเสียง เธอได้ยินเสียงต่างๆพูดกับเธอ ตามที่อ้างก็มีเสียงพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดแห่งอังกฤษ และเสียงนกในพุ่มไม้พูดภาษาลาตินเป็นต้น เธอไม่สามารถกำจัดเสียงเหล่านี้ได้ และเริ่มมีความกลัวอดีต กับกลัวว่าจะเขียนหนังสืออีกไม่ได้ สามีของเธอพยายามพาเธอไปพบจิตแพทย์ แต่เวอร์จิเนียเห็นว่า เป็นภาระของเขามากเกินไป
   
เช้าวันที่ ๒๘มีนาคมปี ค.ศ.๑๙๔๑ เวอร์จิเนีย วูลฟ์ทิ้งจดหมายลาสามีไว้ที่บ้าน แล้วออกจาบ้านเดินไปจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำใกล้บ้าน เธอเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้เธอรู้ว่าควรทำอย่างไรบ้าง ชีวิตของคนวิกลจริตมีแต่นำความทรมานมาให้ทุกคนรอบข้าง และโดยเฉพาะตัวเธอเอง เธอยกก้อนหินใหญ่ขึ้นถ่วงกระเป๋าเสื้อคลุมแล้วปีนสะพานพุ่งตัวลงไปในน้ำ เพื่อพักผ่อนและหลีกพ้นจากความสุขและทุกข์ทั้งมวลที่ประสบมา
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 ธ.ค. 01, 15:21

อ่านแล้วคิดถึงชูมานน์คีตกวีคนโปรดของผมครับ มีชีวิตที่เศร้าไม่แพ้กันเลย จบท่าเดียวกันอีกต่างหาก
บันทึกการเข้า
O
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 ธ.ค. 01, 20:53

เวอร์จิเนีย วูลฟ์โด่งดังเพราะเธอเขียนเรื่อง แบบที่เรียกว่า a stream of conciousness
ยุคนั้นก็มีแต่ เจมส์ จอยส์เท่านั้นที่เขียนแบบนี้
เรื่องความวิกลวิจริตของเธอ ไม่ได้มีผู้ใด(นักอ่าน)ทราบนะครับ จนเธอเสียชีวิตไป แต่ที่เธอโด่งดังเพราะ wisdomของเธอเอง คมคายมาก
ผมได้อ่านเวอร์จิเนีย วูลฟ์หลายเล่ม ชอบมาก Mrs. Dalloway สนุกกว่า To the Lighthouse อีกครับ
แล้วก็ The Wave เดี๋ยวนึกออกจะมาเสริมนะ

นายตะวัน นี่คือน้องนายที่ผมเคยรู้จักฤาเปล่าในพันทิพ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ธ.ค. 01, 10:13

ผลงานประพันธ์ของเวอร์จิเนียที่น่าทึ่งก็คือ  เธอสามารถจำอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดในช่วงวิกลจริตได้   แล้วเมื่อคลายจากอาการนั้น เธอก็นำความทรงจำช่วงป่วย มาถ่ายทอดในผลงาน  อย่าง To the Lighthouse นี่แหละถ้าจำไม่ผิด
เป็นงานที่คนอย่างดิฉันปวดเศียรเวียนเกล้าและอ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่องอยู่มาก แต่ว่านักวิจารณ์เห็นเป็นงานสร้างสรรรค์น่าทึ่ง
ถ้าคุณ O จะมาเล่าต่ออีก ก็จะมาฟังด้วยความตั้งใจค่ะ

น้องนายเป็นฝาแฝดในกระจกของนายตะวันไงล่ะคะ
บันทึกการเข้า
นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ธ.ค. 01, 00:40

มารายงานตัวครับ พี่โอ ...
พี่โอคือ พี่DeadPoet ใช่ไหมครับ
บันทึกการเข้า
O
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ธ.ค. 01, 22:01

ฮืม จำได้ด้วยน้องนาย สบายดีหรือเปล่าครับ เป็นผู้เชี่ยวชาญนิยายไทยหรือยังครับ
ถามคุณเทาชมพู เรื่องวูลฟ์ผลัดไว้ก่อนได้ไหม
เพิ่งอ่าน ไอ,คลอดิอัสมา สนุก เอาไว้ว่างๆนะ(ต้องย้ำตัวเอง)มาเขียนแปะเป็นตอนๆได้ไหม
คือประวัติสนุกดีนะครับ รู้สึกอยากเล่าเผื่อมีคนอยากอ่านโรมัน

คลอดิอัส เป็นจักรพรรดิ์แรกๆของโรมัน ที่น่าสนใจมากนะครับ คือทั้งพิการและติดอ่าง
ที่น่าสนใจคือ ขึ้นครองราชย์ได้อย่างไร และรอกจากการปลงพระชนม์ได้ไง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ธ.ค. 01, 10:12

เชิญตั้งกระทู้เรื่องคลอดิอุสได้เลยค่ะ  จะตามอ่าน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.036 วินาที กับ 19 คำสั่ง