เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7753 เพลง....
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 14 พ.ย. 01, 20:43

เคยสงสัยกันไหมเจ้าคะ ว่าเพลงแต่ละเพลงนั้นมีความหมายมากมาย ....คุณเทาชมพูช่วยอธิบายเบื้องหลังเพลง เหล่านี้ให้ฟังกันเจ้าคะ

... เ บื้ อ ง ห ลั ง เ พ ล ง ...



   
บทเพลงกล่อมเด็ก หรือบทร้องในการละเล่นของเด็ก เป็นของประจำชาติไม่ว่าไทยจีนแขกฝรั่ง เป็นที่ขึ้นใจของผู้ใหญ่และเด็กเช่น “จิงโจ้มาโล้สำเภา” หรือ “London Bridge is falling down” ของอังกฤษ แต่ก็เป็นที่แปลกว่า นักวรรณคดีและนักประวัติศาสตร์ รวมทั้งนักสังคมศาสตร์ด้วย ให้ความสนใจเรื่องบทเพลงเหล่านี้น้อยมาก ไม่ได้เห็นเป็นอะไรยิ่งกว่าการเล่นสนุกๆ ทั้งที่หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว บทเพลงเก่าแก่เหล่านี้เป็นยิ่งกว่าที่เห็นผิวเผิน อาจเป็นทั้งการบันทึกประวัติศาสตร์ คติธรรม คำพังเพยและวรรณคดีไว้มากกว่าที่คิด
   
วงการหนังสือของไทยเห็นคุณค่าของบทกล่อมเด็กเหล่านี้พอสมควร จึงได้มีการตีพิมพ์ที่เป็นรูปเล่ม  รวบรวมบทเพลงเก่าๆเหล่านี้เอาไว้ไม่ให้สูญหาย นับเป็นการรักษางานทางวรรณคดีและวัฒนธรรมเอาไว้อย่างน่าชมเชย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าวงการนักค้นคว้าไม่ได้ตีความค้นคว้า บทกล่อมเด็กไว้เป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้นความหมายดั้งเดิมจึงอาจแปรเปลี่ยนไปตามเวลา คนในอีกยุคหนึ่งมาอ่านเข้า ก็ไม่เข้าใจความหมายที่ตั้งใจเอาไว้แต่เดิมเสียแล้ว คุณค่าก็ย่อมผิดไป ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือ ในหนังสือรวบรวมบทกล่อมเด็กที่ข้าพเจ้าเคยอ่านนั้น จำได้ว่ามีบท “จิงโจ้มาโล้สำเภา หมาไนไล่เห่าจิงโจ้ตกน้ำ” การ์ตูนฝีมือคุณประยูร จรรยาวงษ์ วาดประกอบนั้น คือตัวจิงโจ้จากออสเตรเลียอย่างเต็มภาคภูมิ จะว่าไปการ์ตูนนั้นก็เข้ากับความเข้าใจของคนยุคนี้ คือแม้แต่ตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อได้ยินบทนี้สมัยเด็กๆก็นึกถึงจิงโจ้ใส่ลูกไว้ในกระเป๋าอย่างเดียว เพราะไม่เคยรู้ว่ามีจิงโจ้อะไรอีกนอกจากนี้ โตขึ้นมาอีกหน่อยจึงรู้จักจิงโจ้น้ำ เป็นแมลงชนิดหนึ่งเคยเห็นวิ่งอยู่บนผิวน้ำ แต่บทกล่อมเด็กนี้ไม่ได้ตั้งใจจะหมายถึงจิงโจ้ชนิดใด ชนิดหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว ที่รู้ก็เพราะเคยเห็นภาพประกอบของคนโบราณวาดเกี่ยวกับนิทานและบทกล่อมเด็กเอาไว้ภายในอุโบสถวัดพระเชตุพนตรงบานหน้าต่างบานหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ได้ตั้งใจเข้าไปดูจริงๆก็คงจะสังเกตยาก เพราะมืด และลายค่อนข้างเล็ก ลบเลือนตามกาลเวลา ข้าพเจ้าไปเห็นเข้าโดยบังเอิญ ขณะเดินดูภาพประกอบฝาผนังเรื่อยไป เนื่องจากเป็นนักนิยมความรู้ทางวรรณคดีจากลายจิตรกรรมตามวัดต่างๆ อันเป็นเกร็ดความรู้หาไม่ได้จากตำราเรียน จำได้ว่าภาพเขียนตามบานหน้าต่างนั้น แตกต่างกันไปเป็นเรื่องราว ไม่ใช่พุทธประวัติ ดูออกบ้างดูไม่ออกบ้างว่าเป็นนิทานเรื่องอะไร แต่เรื่องหนึ่งคือภาพเรือสำเภามีหมาตัวหนึ่งยืนอยู่ในภาพ และภาพสัตว์ประหลาดเกาะอยู่ที่หัวเรือ บอกไม่ถูกว่าคล้ายลิง ชะนี หรือนกเค้าแมวกันแน่ มีตีนเป็นนก จะว่าไปก็ไม่เหมือนสัตว์ในวรรณคดีตัวไหนที่เคยรู้จักมาก่อน รู้แต่ว่านี่คือตัวจิงโจ้ดั้งเดิมตามที่คนโบราณหมายถึง แต่จิงโจ้โบราณนี้คือตัวอะไร ดัดแปลงมาจากสัตว์จริงๆชนิดไหน มีบทบาทอะไรในสังคมยุคสองร้อยปีมาแล้ว ยังจนปัญญาที่จะค้นคว้าต่อไป ได้แต่สันนิษฐานว่า คำว่าจิงโจ้นั้นเห็นทีจะใช้กันมานานแล้ว หมายถึงตัวอะไรตัวหนึ่งดังที่มีอยู่ในภาพวาดนั้น ไม่ใช่จิงโจ้น้ำ แต่ด้วยความเข้าใจผิด หรือวรรณคดีของเราไปขาดตอนเข้าตอนใดตอนหนึ่งในยุคช่วงร้อยปีมานี้ จิงโจ้ไทยก็เลยขาดลอยออกไปจากความรู้ของคนไทย ถูกยืมชื่อมาให้ตัวแกงการูของออสเตรเลียในภาคภาษาไทยเป็นที่แพร่หลายกันในปัจจุบัน จิงโจ้ออสเตรเลียจึงเข้ามาโล้สำเภาเล่นกับหมาไนอยู่แทนจิงโจ้ไทยที่ตกน้ำหายไปเสียนานแล้ว
   
ส่วนของฝรั่งนั้น (โดยเฉพาะอังกฤษ) มีบทกล่อมเด็กและบทร้องในการละเล่นของเด็ก เรียกว่า Nursery Rhymes  มีมากมายหลายร้อยพันบท พิมพ์แบ่งแยกเป็นหลายฉบับ ฉบับหนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ Mother Goose (แม่ห่าน)  บทเหล่านี้แต่งขึ้นในเวลาต่างๆกัน ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่สืบได้ก็คือย้อนไปถึงสมัยคริสต์กาล คือเกือบสองพันปีมาแล้ว  บทกล่อมเด็กหรือโคลงสั้นๆที่คนไทยคงจะรู้จักกันก็มี เช่น Rock-a-bye, baby, on the tree top หรือ Mary had a little lamb เป็นต้น
   
นักวรรณคดีคนแรกที่ได้รับความสนใจบทกล่อมเด็กเหล่านี้อย่างจริงจัง คือ เจมส์ ออร์ชาร์ด ฮัลลิเวลล์ เขาได้ตีพิมพ์การค้นคว้าตีความเหตุการณ์เบื้องหลังบทกล่อมเด็กนี้เอาไว้ ในหนังสือชื่อ Popular Rhymes and Nursery Tales เมื่อ ค.ศ.๑๘๔๙ โดยอาศัยหลักฐานทางวิชาการและเทียบเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่ตีความเดาไว้อย่างเลื่อนลอยเหมือนสมัยก่อนหน้านี้ หนังสือของฮัลลิเวลล์ได้กลายเป็นมาตรฐาน การตีความบทกล่อมเด็ก ไม่มีใครเทียบได้ตลอดศตวรรษต่อมา ปัจจุบันนี้ได้มีการรวบรวมตีพิมพ์และขยายความการตีความนี้อีก สืบเนื่องจากของฮัลลิเวลล์ใน The Oxford Dictionary of Nursery Rhymes ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๕๑
   
ข้าพเจ้าอาศัยหนังสือสองเล่มนี้เป็นหลักฐานการอธิบายบทกล่อมเด็กที่ยกมาในบทความนี้ บวกกับภาพยนตร์ของวอลท์ ดิสนีย์ ชื่อ History Behind Nursery Rhymes ซึ่งอาศัยหลักฐานจากแหล่งเดียวกัน บทแรกที่ยกมาคือบทกล่อมทารกบนต้นไม้

   
Rock-a-bye , baby, on the tree top,
   
When the wind blows the cradle will rock,
   
When the bough breaks the cradle will fall,
   
Down will come baby , cradle, and all
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 พ.ย. 01, 22:42

บทนี้เป็นเพลงกล่อมเด็กที่แพร่หลายที่สุดในอังกฤษและอเมริกา เนื้อความนั้นฟังก็แปลก เพราะเปลเด็กอยู่บนยอดไม้ ลมพัดเปลแกว่งโยกไปมา แต่พอกิ่งไม้หักเปลและเด็กและทุกอย่างก็เลยตกลงมาหมด   เมโทร โกลด์วิน เมเยอร์ เห็นว่าเป็นนัยหมายถึงการสืบราชบัลลังก์ของเจมส์ที่สองแห่งอังกฤษ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของประชาชนและต้องเสด็จลี้ภัยไปจนสวรรคตนอกประเทศ สายราชวงศ์สจ๊วตจึงหมดเพียงแค่นั้น ทารกนั้นคือเจมส์ที่หล่นจากราชบัลลังก์ลงมา เมื่อกิ่งไม้ (คือผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์) หักโค่นลง

   
Mary, Mary, quite contrary,
   
How does your garden grow?
   
With silver bells and cockle shells
   
And pretty maids all in a row.

   
เป็นที่เล่าสืบกันมาก่อนสมัยฮัลลิเวลล์รวบรวมตีความบทนี้ว่า แมรี่ในเรื่องคือแมรี่ราชินีแห่งสก๊อตแลนด์ ผู้ซึ่งถูกเอลิซาเบธที่หนึ่งขังเอาไว้ และประหารในข้อหาคบคิดล้มราชบัลลังก์อังกฤษ โดยมีแผนปลงพระชนม์เอลิซาเบธเสีย แมรี่เคยเสกสมรสกับพระยุพราชฝรั่งเศส Cockle shells คืออาหารฝรั่งเศสที่เธอโปรดปราน กระดิ่งเงินนั้นก็คือกระดิ่งประดับภูษาฉลองพระองค์ อันเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในราชสำนัก และสาวใช้สวยๆที่เข้าแถวรับใช้อยู่ก็คือ “แมรี่ทั้งสี่” ชื่อของนางพระกำนัลสาวสวยสี่คนในสมัยของเธอ ขณะอยู่สก๊อตแลนด์
   
Little Boy Blue เด็กเลี้ยงแกะที่มัวแต่ไปนอนหลับอยู่ปล่อยให้แกะและวัวไปกินข้าวโพดหมดนั้น เชื่อกันว่าหมายถึงสังฆราชวูลซี นักปราชญ์สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดแห่งอังกฤษ ผู้ซึ่งประวัติระบุว่าเป็นลูกพ่อค้าสัตว์และเคยเลี้ยงหมูให้พ่อมาสมัยเด็ก วูลซีเคยกุมอำนาจสูงสุดทางศาสนาและการเมือง หากแต่ไปพลาดตรงที่ตกอยู่ระหว่างเขาวัว เขาควาย ได้แก่ อำนาจของเฮนรี่ที่แปด ผู้ซึ่งพยายามดิ้นหลุดจากโรมเพื่อหย่าขาดจากราชินีแคธรีนมาเสกสมรสใหม่ วูลซีไม่สามารถจัดการระงับด้านใดด้านหนึ่งได้ในฐานะสังฆราชแห่งอังกฤษ ในที่สุดก็ถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อราชบัลลังก์ และถึงมรณกรรมระหว่างถูกนำตัวมาไต่สวนที่ลอนดอน บทเปรียบเทียบนั้นคือการละเลยหน้าที่ของวูลซีปล่อยให้อังกฤษเหลิงอำนาจหลุกจากโรมไปได้
   
บทโคลงที่รู้จักกันแพร่หลายคือ Jack and Jill went up the hill นั้น มีการตีความอย่างยืดยาวที่สุดบทหนึ่ง แจ๊คกับจิลสำนวนแรกปรากฏราวต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด แต่มาแต่งเติมบริบูรณ์เมื่อศตวรรษที่สิบแปด นักวรรณคดีที่ตีความแจ๊คและจิลเป็นคนแรกคือบาทหลวงบาริงโกลด์ เมื่อปี ๑๘๖๖ อธิบายว่าชื่อแจ๊คและจิลเพี้ยนมาจากนิทานพื้นเมืองของสแกนดิเนเวีย กล่าวถึงเด็กสองคนที่ไปตักน้ำและถูกเทพแห่งดวงจันทร์จับตัวไป จนเดี๋ยวนี้เด็กทั้งสองก็ยังอยู่บนดวงจันทร์ มีรูปร่างเห็นได้ชัดเวลาคืนเพ็ญ มีรูปถึงตักน้ำอยู่ระหว่างกลาง (ไทยเราเห็นเป็นกระต่าย)  ส่วนบางคนก็ตีความไปว่าเป็นต้นเค้าของพิธีศักดิ์สิทธิ์อะไรอย่างหนึ่งนอกคริสต์ศาสนาเพราะในอังกฤษยังมีวันฉลองในชนบทที่ให้เด็กๆกลิ้งลงมาจากเนิน เรียกว่า Whit Day ส่วนสำนวนว่าแจ๊คและจิลนั้น หมายถึงหนุ่มและสาว ปรากฏอยู่ในสำนวนตั้งแต่สมัยเชกสเปียร์ ก่อนหน้าจะมีโคลงนี้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการสันนิษฐานต่อไปอีกว่า แจ๊คและจิลในโคลงคงไม่ได้หมายถึงเด็กชายหญิงชื่อนี้ แต่หมายถึงมนุษย์ทั่วไปทั้งหมด การขึ้นไปตักน้ำบนเนินเขานับว่าไม่ใช่ของปกติธรรมดา เพราะโบราณใช้น้ำจากการขุด ก็คงยากที่ใครจะขึ้นไปขุดบ่อน้ำบนเขามากกว่าขุดจากที่ราบ ซึ่งทำให้ขุดถึงตาน้ำได้เร็วกว่า นอกจากบ่อน้ำบนเนินนั้น จะไม่ใช่บ่อน้ำบาดาล หากแต่ใช้ขังน้ำฝนและน้ำค้างซึ่งสมัยก่อนถือว่าน้ำค้างเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ โคลงบทนี้จึงตีความยืดยาวว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ก็แจ๊คและจิลเป็นมนุษย์ที่ทำพิธีเกี่ยวกับสวรรค์ อย่างไรก็ตามการตีความของบาริงโกลด์ได้รับความนิยมมากกว่าเรื่องหลังนี้
   
การค้นคว้าเกี่ยวกับบทกล่อมเด็ก หรือบทเพลงพื้นเมืองนี้เป็นของสนุกและน่าสนใจถึงแม้จะไม่มีการตัดสินลงตัวอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นการขยายความรู้แก่ผู้ค้นคว้าและผู้อ่าน บางทีก็จะรู้ถึงประวัติศาสตร์ คติธรรมความคิดสมัยก่อน ตลอดจนประเพณีหรือความรู้ที่เกือบจะสูญไปหมดแล้ว ในปัจจุบันไทยเราเป็นชาติเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมที่ไม่น้อยหน้าใคร ความภูมิใจของคนไทยเกิดได้จากการรู้ความเป็นมาของชาติเราเอง รู้ถึงคุณค่าหลายอย่างที่บรรพบุรุษสะสมไว้ และสมควรที่พวกเราควรสืบเนื่องต่อมา การรู้ค่าทางวรรณคดีก็เป็นสิ่งหนึ่งในความภูมิใจเหล่านี้
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 พ.ย. 01, 23:44

ขอบคุณนะคะ ดร.แพรมน
ฝนยังนึกถึง ...เสียงแม่กล่อมให้นอนตอนเด็กนะคะ  แต่นึกไม่ค่อยออกค่ะ ว่าเป็นเพลงแค่ไหน  หรือ มีเนื้อเพลง หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
ภูวง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 พ.ย. 01, 08:08

เด็กๆสมัยนี้ไม่ทันเห็นตัวจิงโจ้ ที่ทำเป็นเหมือนโมบาย แขวนเหนือเปลเด็ก คุณยายของผมท่านเย็บสวยขึ้นชื่อ จิงโจ้ที่คุณยายเย็บจะคล้ายตัวค่างครับ ผมเห็นแล้วก็งงๆเพราะเคยเห็นจิงโจ้ที่คุณ ประยูรวาดไม่เหมือนกันเลย แม่ผมบอกว่านี่มันจิงโจ้ไทย
บันทึกการเข้า
ภังคี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 พ.ย. 01, 08:14

จิงโจ้เอย มาโล้สำเภา หมาไนไล่เห่าจิงโจตกน้ำ หมาไล่ซ้ำจิงโจ้ดำหนีได้กล้วยสองหวีทำขวัญจิงโจ้ โห่ฮิ้ว โห่ฮิ้ว
อีกบทนะครับ แมวเหมียวเอย แยกเขี้ยวยิงฟัน เสือปลาหน้าสั้นกัดกันกับแมวเหมียวเอย
เสียดายหนังสือเล่มนี้จังครับ ผมกับคุณภูวงแย่งกันอ่านแทบจะขาด ชอบรูปวาดของคุณลุงประยูรน่ารักดีตอนนั้นเราสองคนยังไม่ค่อยรักของ ไม่ได้เก็บอะไรดีๆไว้ก็มาก
บันทึกการเข้า
ก้านพูล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 พ.ย. 01, 11:09

ถึงคุณภูวง อยากเห็นตัวจิงโจที่ทำ Mobile มีภาพถ่ายหรือเปล่าค่ะ. ไม่เคยเห็นค่ะ ที่เคยเห็นจะเป็นแต่ปลาตะเพียน ค่ะ
บันทึกการเข้า
ภาธร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 พ.ย. 01, 07:19

ผมนึกออกแล้ว จิงโจ้ของคุณภูวง มีสี่ขายาวๆมีหัวกลม ๆทีปลายขาตัวใหญ่สุดสี่ขามีคล้ายอุบะห้อยจิงโจ้ตัวเล็ก ลดหลั่นลงมา สุดท้ายจะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายข้าวต้มน้ำวุ้นใช่ไหมครับ ผมคิดว่าคงหายากมากแล้ว น้อยคนจะรู้จัก
บันทึกการเข้า
ภูวง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 พ.ย. 01, 07:38

คุณก้านพลูครับ ผมไม่มีรูปถ่ายเก็บไว้หรอกครับ สมัยนั้นน่ะ ใครจะนึกว่ามันจะมีความหมายมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดีใจที่คุณภาธรพอจะนึกออกเหมือนกัน รูปร่างอย่างที่คุณเปรยนั่นแหละครับ จิงโจ้ที่ตุณยายผมเย็บเก๋ขนาดมีสร้อยทำจากลูกปัดพันรอบคอด้วยนะ  บางทีเขาก็ทำจิงโจ้เกาะหมอนสี่เหลี่ยม แล้วห้อยอุบะ ที่มุมทั้งสี่ มีจิงโจ้ตัวเล็กสลับลูกปัด  จิงโจ้ตัวเล็กเย็บยากครับ เวลาคุณยายเย็บบางทีเราก็แอบเอาตัวที่ไม่ตค่อยสวยไปเล่นกัน
บันทึกการเข้า
ภูวง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 พ.ย. 01, 07:47

อ้อ จิงโจ้เกาะหมอนนี่คุณยายผมท่านไม่ชอบทำครับท่านว่า ขามันกางไม่สวย  จิงโจ้ตัวบนต้องขาโค้งๆหน่อยแต่ต้องไม่หุบชิดกันมากเพราะอุบะที่ห้อยลงมาจะได้ไม่ชิดกันเกินไป
บันทึกการเข้า
ก้านพลู
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 พ.ย. 01, 08:43

ขอบคุณค่ะ คุณภูวงและคุณภาธร พอจะนึกภาพออกบางค่ะ . คงจะน่ารักดีนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 17 คำสั่ง