เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4678 ควันหลง ..ฮาโลวีน เจ้าคะ
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 11 พ.ย. 01, 15:55

เพื่งผ่านเทศกาล ฮาโลวีนมาได้ไม่กี่วัน ...สบโอกาสเราสองคนก็ไปหา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของตำนาน แฟรงเก้นสไตน์มาจาก คุณเทาชมพู เจ้าคะ

แมรี่ เชลลี่
ผู้สร้าง . . .
“ผีดิบอาละวาด”



   
ผีดิบตัวที่รู้จักกันในภาพยนตร์โทรทัศน์นิยายหนังสือการ์ตูน หลายชาติหลายภาษา ในนาม “ผีดิบแฟรงเกนสไตน์” นั่น นับเป็น “ผี” ที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดตัวหนึ่งในวงการวรรณกรรมและบันเทิงของโลก นักดูภาพยนตร์คงจำได้ดีถึงผีดิบตัวสูงใหญ่มหึมา หน้าซีดเขียวคล้ำผิดมนุษย์ มีแผลเป็นพาดยาวตรงกลางหน้าผาก และมีแกนเสียบอยู่ตรงคอ เดินตัวแข็งทื่อออกมาทำร้ายคนไม่เลือกหน้า แต่น้อยคนนักที่รู้ว่านักประพันธ์ผู้สร้างเจ้าตัวประหลาดขึ้นมานี้เป็นใคร ถ้าเดาก็คงยากที่ใครจะวาดภาพสตรีสาวอายุเพียงสิบเก้าปี สะสวยเหมือนนางในเทพนิยาย ไม่เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวรรณคดีสาขาใด เป็นผู้สามารถสร้างนิยายสยองขวัญชิ้นอมตะเรื่องนี้ขึ้นมาจนได้ ยิ่งกว่านั้นเธอเป็นภรรยาของเชลลี่ กวีเอกผู้หนึ่งของอังกฤษในต้นสมัยศตวรรษที่สิบเก้า นามของเธอ…แมรี่ เชลลี่
   
คืนนั้น เป็นคืนวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๑๖ ณ บ้านพักของลอร์ดไบรอน (กวีเอกอีกผู้หนึ่งของอังกฤษ) ใกล้ทะเลสาบเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แมรี่และเชลลี่สามีของเธอพำนักอยู่ในฐานะแขกเจ้าของบ้าน มีผู้ร่วมบ้านอีกคนหนึ่งคือ ดร.จอห์น โปลิดอริ แพทย์หนุ่มและเลขานุการส่วนตัวของไบรอน คืนนั้นเธอจะต้องคิดนิยายเรื่องผีที่ตื่นเต้นขนลุกขนพองให้ได้หนึ่งเรื่อง เพื่อเอามาเล่าในที่ชุมชนในห้องนั่งเล่น ในวันรุ่งขึ้น เรื่องสนุกนี้ออกมาจากหัวคิดของไบรอน เพราะบังเอิญเดือนนั้นอากาศมัวซัว มีแต่ฝนพรำตลอด ไม่ชวนให้แขกเหรื่อออกไปรื่นรมย์ที่ไหนได้ การจับกลุ่มคุยกันตอนค่ำออกจะน่าเบื่อ ถ้าไม่มีเรื่องน่าสนใจ ไบรอนจึงออกความคิดให้แต่ละคนแต่ง “เรื่องผี” ที่พิสดาร น่าสนใจที่สุดออกมาให้ได้หนึ่งเรื่อง ค่ำต่อไปจะเป็นเวรของแมรี่ เชลลี่ ที่จะแสดงฝีมือ
   
ดร.จอห์น โปลิดอริ แสดงฝีมือออกมาแล้วในเรื่อง “ค้างคาวผี” พฤติการณ์เขย่าขวัญของขุนนางลึกลับชื่อ ลอร์ด รูธเวน ผู้ซึ่งกลายเป็นผีดิบดูดเลือดคนยามราตรี (เรื่องนี้เป็นที่มาของเคานต์ แดรคคิวล่า) ทั้งไบรอนและเชลลี่ชอบอกชอบใจกันนัก แมรี่ใช้สมองอย่างหนักเพื่อจะไม่ให้น้อยหน้า ทั้งที่เธอไม่ใช่นักปราชญ์อย่างทั้งสามคนนั้นก็ตาม เธอนึกถึงเรื่องผีที่เธอชอบอ่าน ตำนานของโกเลม เรื่องของหุ่นดินที่กลับมีชีวิตขึ้นมาได้ แล้วนึกเรื่อยเปื่อยไปถึงนิยายของเอ.ที.เอ.ฮอฟมัน เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้เหมือนจริงราวกับมีชีวิต เธอจำได้ว่าไม่กี่สิบปีมานี้ นายช่างชาวออสเตรเลียน ชื่อเดอ เคมเปเลน ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่เล่นหมากรุกได้ และได้นำไปแสดงหน้าพระที่นั่งของเอมเปรส มาเรีย เทเรซา ก่อความตื่นเต้นเกรียวกราวขนานใหญ่ เพราะหุ่นตัวนั้นเล่นหมากรุกชนะองค์จักรพรรดินีได้สำเร็จ เธอนึกต่อไปถึงอัจฉริยบุรุษที่เธอนิยม เบนจามิน แฟรงกลิน และการที่เขาค้นพบไฟฟ้าจากฟ้าแลบคะนองเบื้องบนอากาศ เธอนึกออกแล้วว่าควรจะปะติดปะต่อความรู้เหล่านี้เข้าเป็นเรื่องอย่างไร
   
พระเอกของเธอไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เป็นเพียงแต่นักศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้พอจะประดิษฐ์ “สิ่งประหลาด” ขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้เตรียมตัวรับปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นคือ มนุษย์ประหลาดประดิษฐ์ขึ้นจากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต เป็นอสุรกายสูงแปดฟุต แขนขาเกะกะเก้งก้างเหมือนหุ่น เพราะส่วนต่างๆมาจากอวัยวะของคนและสัตว์ต่างชนิดกัน จากป่าช้าบ้าง โรงฆ่าสัตว์บ้าง นักศึกษาหนุ่มเดินสายล่อฟ้า นำไฟฟ้าจากอากาศผ่านเข้าไปในตัวอสุรกายนั้น ทำให้เคลื่อนไหวมีชีวิตขึ้นมาได้คล้ายคน มีความคิดมีจิตใจขึ้นมาอย่างคนจริงๆ
   
นักศึกษาหนุ่มดีใจ แต่แล้วก็เจอเข้ากับปัญหาที่ไม่คาดฝันมาก่อน เขาสร้าง “สิ่ง” นี้ขึ้นมาได้ แต่เขาไม่ได้เตรียมการดำเนินชีวิตให้กับมัน อสุรกายประหลาดตัวนี้ไม่อาจเข้าอยู่ในสังคมมนุษย์ได้  เพราะความน่าเกลียดน่ากลัวผิดมนุษย์ แต่ถึงอย่างไรความปรารถนาที่จะเรียนรู้จักความรัก ความสัมพันธ์กับคนอื่น ขอความเข้าใจและความเมตตาปรานียังมีอยู่ในตัวอสุรกายครบถ้วน นักศึกษาหนุ่มไม่ยอมรับฟังท่าเดียว มองเห็นสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาในแง่น่าเกลียดน่ากลัว ไม่ยอมรับรู้ว่าลึกลงไปในอสุรกายตัวนี้เหมือนเด็กเล็กๆที่จิตใจบริสุทธิ์คนหนึ่งเท่านั้น ในที่สุดเขาก็ละทิ้งเจ้าตัวประหลาดนี้ไว้ตามยถากรรม ปล่อยให้มันทรมานทรกรรมหาที่อยู่ที่กินเอง ถูกขับไล่ไสส่ง ถูกตามล่าจากมนุษย์อื่นๆจนต้องระเหเร่ร่อนทนทุกข์เวทนาต่างๆ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของมันเลยจนนิดเดียว ในที่สุดความขมขื่นของมันกลายเป็นความแค้นอาฆาตผู้ที่สร้างมันขึ้นมา การจองเวรจองกรรมจึงเริ่มขึ้นอย่างน่ากลัวนับแต่นั้น
   
เชลลี่เป็นคนสนับสนุนให้แมรี่ขยายเรื่องสั้นๆของเธอนี้เป็นเรื่องยาวมีเค้าโครงประณีตอย่างสมบูรณ์ เธอตั้งชื่อนักศึกษาหนุ่มผู้นั้นว่า แฟรงเกนสไตน์ เป็นเกียรติแก่เบนจามิน แฟรงกลิน ผู้ค้นพบไฟฟ้าในอากาศ เจ้าตัวอสุรกายนั้นไม่มีชื่อของมันเอง แต่ความที่เรื่องนี้ได้รับความนิยมสูงสุดนับเวลาร้อยกว่าปี จนชื่อเสียงติดปากประชาชนเมื่อเอ่ยถึง “แฟรงเกนสไตน์” นามนี้จึงกลายเป็นนามหมายถึงเจ้าตัวผีดิบนั้นแทน
   
นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๘๑๓ โดยปราศจากนามผู้แต่ง เพราะแมรี่ไม่คิดว่าจะได้รับความนิยมอะไรเท่าไร เรื่องนี้ได้รับการวิจารณ์เกรียวกราวพอดู โดยมากในด้านโจมตีมากกว่าชื่นชม เพราะรายละเอียดด้านความสยดสยองเขย่าขวัญตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้คนในศตวรรษนั้นออกจะประสาทอ่อนกว่าสมัยนี้ เพราะไม่ค่อยมีวรรณกรรมนองเลือดโหดเหี้ยมปรากฏออกมาเท่าไร ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องรัก
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 พ.ย. 01, 23:34

เพ้อฝัน หรือไม่ก็เป็นด้านวรรณกรรมคลาสสิคของกรีกและโรมัน จึงไม่น่าเชื่อว่าสตรีสาววัยเพียง ๑๙ ปีสามารถคิดฉากหวาดเสียวน่าประสาทผวาออกมาได้ขนาดนี้ ยกตัวอย่างเช่น ฉากระหว่างอสุรกายกับเด็กน้อย เมื่ออสุรกายเล่าถึงเหยื่อรายหนึ่งของมัน พบกันแต่แรกก็คิดเพียงแต่จะขโมยเอาตัวไปเป็นเพื่อนแก้เหงาเท่านั้น
   
เด็กน้อยดิ้นรนสุดแรงเกิด “ปล่อย ปล่อย” แกกรีดร้อง “แกน่าเกลียดน่ากลัว แกจะกินฉันใช่ไหม จะฆ่าฉัน ฉันจะฟ้องพ่อฉัน ปล่อย”
   
“หนูเอ๋ย หนูไม่มีวันเจอพ่อหนูอีกหรอก ไปเถอะ ไปอยู่กับฉัน”
   
“ไม่ ปล่อยฉันเดี๋ยวนี้ พ่อฉัน คุณแฟรงเกนสไตน์ จับแกได้ แกจะถูกลงโทษ”
   
“แฟรงเกนสไตน์ งั้นหนูก็เป็นพวกศัตรูฉัน ศัตรูที่ฉันสาบานว่าจะจองล้างจองผลาญตลอดไปน่ะซี หนูจะต้องรับเคราะห์เป็นคนแรก”
   
เด็กน้อยยังดิ้นรนต่อสู้เป็นพัลวัน ความเหี้ยมเกรียม ที่ผุดขึ้นมา ทำให้ข้าไม่มีทางอื่น ข้าคว้าคอเด็กไว้ กดให้เงียบสิ้นฤทธิ์ลง เมื่อปล่อยมือเด็กน้อยก็อ่อนยวบลงขาดใจอยู่แทบเท้า
   
ข้ามองเหยื่อรายแรกของข้า ใจข้านั้นพลันก็ระรัวขึ้นมาด้วยความลำพอง และชัยชนะอันเหี้ยมเกรียมสุดประมาณ
   
แมรี่ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ดังนั้นเรื่องนี้จึงถูกตำหนิติเตียนด้านจุดอ่อนหลายประการเช่น การผูกโครงเรื่องซับซ้อน ชวนเวียนหัว และการพูดจาของตัวละครนั้นล้วนแล้วแต่สำนวนขัดหูผิดธรรมชาติของคนในวัยนั้นหรือเหตุการณ์นั้นพึงพูดกัน การชุบชีวิตอสุรกายนั้นเล่า เธออธิบายไว้อย่างเลื่อนลอย ไม่ได้ทำให้เห็นภาพจริงจังอะไร ว่าไปก็นับว่าน่าเห็นใจเรื่องนี้ เพราะแมรี่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่นักวิจารณ์ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอสามารถสร้างตัวละครผิดมนุษย์ที่บันลือโลกขึ้นมาได้สำเร็จ ขณะที่นักประพันธ์มีชื่อมีเสียง หลายร้อยหลายพันคน ทำไม่ได้อย่างเธอ
   
ชีวิตของแมรี่ดำเนินไปอย่างราบเรียบหลังจากนั้นเช่นคนสามัญทุกประการ เชลลี่จมน้ำตายในปีค.ศ.๑๘๓๒ ทิ้งภรรยาสาววัยยี่สิบสี่เป็นหม้ายอยู่คนเดียว แมรี่ไม่ได้แต่งงานใหม่ แม้ว่ามีผู้มาขอแต่งงานด้วยหลายต่อหลายราย จวบจนถึงแก่กรรมไปอย่างสงบในปีค.ศ.๑๘๕๑ ในฐานะแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่ง
   
โลกลืมแมรี่ เชลลี่ เสียสนิท แต่ไม่ลืมอสุรกายที่เธอสร้างขึ้นมา นวนิยายได้ตีพิมพ์แล้วตีพิมพ์อีกจนมีสถิติขายดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก แปลเป็นภาษาต่างๆไม่น้อยกว่าสิบภาษารวมทั้งญี่ปุ่น และถูกดัดแปลงแต่งเติมเป็นนวนิยายอื่นๆมาเรื่อยๆไม่เว้นแต่ละปี จนแทบจะไม่มีใครนึกถึงเค้าเดิมได้ เมื่อภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้น เรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.๑๙๓๑  และมีการสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปนกับตลกอ้วนผอมบ้าง จนกลายเป็นหนังตลกไปในที่สุด ดาราภาพยนตร์ที่โด่งดังขึ้นมาเพราะบทนี้ ได้แก่ โบริส คาร์ลอฟ ผู้ซึ่งภายหลังได้สมญาว่า “เจ้าแห่งเรื่องเขย่าขวัญ” วิธีการแต่งหน้าของคาร์ลอฟ กลายเป็นแบบฉบับคลาสสิคของผีดิบแฟรงเกนสไตน์ไป
   
ด้านละคร ผีดิบแฟรงเกนสไตน์ ประสบความสำเร็จทั้งในอังกฤษและอเมริกา นับแต่ศตวรรษที่สิบแปด ทางด้านการ์ตูนสำหรับเด็กนับว่าแพร่หลายมากที่สุดจนปัจจุบันนี้ ยุคปัจจุบันผีดิบแฟรงเกนสไตน์ยังครองตำแหน่งดาราอยู่ในวงการบันเทิงทั่วโลก แม้แต่หนังสัตว์ประหลาดของญี่ปุ่นก็ยังมีตัวเจ้าผีดิบเข้าไปวุ่นวายอยู่กับปลาหมึกยักษ์ในเรื่อง “แฟรงเกนสไตน์ล้างโลก” ปี ค.ศ.๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙)
   
แมรี่ดับสูญไปจากโลกนี้ร้อยกว่าปีแล้ว แต่ผลงานของเธอ อย่างที่นักวิจารณ์คนหนึ่งว่าไว้ ผีดิบแฟรงเกนสไตน์นั้นเป็นอมตะโดยแท้จริง
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 พ.ย. 01, 01:01

แฟรงเกนสไตล์ เป็นผีดิบ ที่กลายเป็นตัวตลกไปได้ในระยะหลัง ๆ ความน่ากลัวค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งหนังเรื่องนึงเมื่อไม่นานนี้
สื่อ ภาพของผีดิบตัวนี้ ว่าน่าสงสาร จริง ๆมีจิตใจที่ดี แต่ถูกรังเกียจ จากภายนอก
ตำนานอสูรกาย ที่น่ากลัว แต่ตอนหลังถูกมองอีกมุมจากนักเขียนสมัยใหม่ ว่าจริงอสูรกายพวกนี้น่าสงสาร เริ่มมีเยอะขึ้นนะครับ คือแทนที่จะมองว่าอสูรกายนั้นโหดร้าย อย่างเดียว กลับมองถึงสาเหตุของความโหดร้ายของมันแทน
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 พ.ย. 01, 01:48

ผีดิบของแฟรงเกนสไตน์ น่าสงสารตั้งแต่ภาคดั้งเดิมแล้วนาครับ คุณพระนาย แมรี่เธอเขียนไว้ยังงั้นแต่ต้นแล้ว แต่เมื่อไม่ได้รับความรักหรือการยอมรับ แกก็เลยแค้นแล้วเลยกลายเป็นโหดร้ายไป

ไอแซค อาซิมอฟ นักเขียนโปรดคนหนึ่งของผมเคยเขียนว่า การที่แมรี่เขียนแฟรงเกนสไตน์ออกมาได้เป็นงานอมตะนั้นนับได้ว่าเป็นอะไรที่ ironic จริงๆ เพราะเธอเป็นแต่คนธรรมดา ไม่ใช่ปราชญ์หรือกวีเอกอย่างปีเตอร์สามีเธอ หรือลอร์ดไบรอนเพื่อนสามี ตอนที่เธอเริ่มลองแต่งนั้นเป็นไปได้ว่าจอมปรัชญาเมธีทั้งสองท่านคงอาจจะมองเธอด้วยความเอ็นดู หรือดูถูกหน่อยๆ โดยไม่รู้ตัวก็ได้ เหมือนผู้ใหญ่มองเด็กเล็กๆ พยายามทำอะไรที่ผู้ใหญ่ทำได้คล่องมานานแล้ว แต่ปรากฏว่าผลงานของไก่อ่อนอย่างแมรี่นี่แหละที่กลายเป็นผลงานอมตะบันลือโลก เป็นที่รู้จักกว้างขวางแพร่หลายกว่าผลงานของปีเตอร์ เชลลี่ สามีของเธอมากมายนัก สมัยนี้ อาจจะยังมีนักศึกษาวรรณคดียุคโรแมนติกที่รู้จักยกย่องบทกวีของปีเตอร์อยู่บ้าง แต่สำหรับคนอื่นที่เป็นคนเดินถนนธรรมดาๆ ถ้าถามว่ารู้จักบทกวีของเชลลี่ไหมก็คงส่ายหน้ากันเป็นส่วนมาก แต่ถามว่ารู้จักแฟรงเกนสไตน์ไหมก็คงร้องอ๋อกันเป็นแถว


จากที่ผมอยู่ตรงนี้ มองออกไปเห็นทะเลสาบเจนีวาได้ ถัดทะเลสาบไปเป็นภูเขา Saleve ทั้งทะเลสาบและภูเขาได้ไปปรากฏเป็นฉากของนิยายที่แมรี่เธอแต่งเรื่องนี้ทั้งสิ้น
เบื้องหลังการที่ปีเตอร์และแมรี่ เชลลี่ (และลอร์ดไบรอน) ต้องมาจับเจ่าติดฝนอยู่ที่เมืองเล๋กๆ อย่างเจนีวานี่ก็ออกจะอื้อฉาวอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะก่อนที่จะมาแต่งกับแมรี่ พ่อปีเตอร์เธอมีภรรยาอยู่แล้ว แต่มาชอบแมรี่เข้าอีกคน เลยต้องแอบหลบหนีขี้ปากคนจากวงสังคมในลอนดอนมาอยู่กันเงียบๆ ที่สวิส จนในที่สุดภรรยาคนแรกของปีเตอร์ซึ่งขี้โรคอยู่แล้วตายไป แมรี่จึงสามารถแต่งงานกับปีเตอร์ได้อย่างเปิดเผย  ระหว่างที่มาอยู่สวิสกันนี้ ลอร์ดไบรอน (ซึ่งร่วมกลุ่มกวียุคโรแมนติกอยู่กับปีเตอร์ เชลลี่) ยังมีโอกาสแวะออกจากเจนีวาไปเที่ยวที่เมืองมองเตรอซ์ ริมทะเลสาบเจนีวาเหมือนกัน ไปที่ปราสาทแห่งหนึ่งคือปราสาท Chillon อ่านว่า ชิญอง แล้วท่านลอร์ดก็ไปแต่งบทกวีมีชื่อมากไว้บทหนึ่ง ฝรั่งรู้จักกันแยะ คือ บทกวีว่าด้วยนักโทษแห่งปราสาทชิญอง
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 พ.ย. 01, 09:29

เคยดูหนังแต่จำชื่อแน่ๆ ไม่ได้  ถ้าจะตั้งเป็นภาษาไทยก็น่าจะ "ครอบครัวตัวประหลาด" ทำนองนี้  เป็นหนังตลกคล้ายกับอดัมแฟมิลี่  ทั้งครอบครัวเป็นตัวประหลาดเกือบหมด  ปู่เป็นท่านเคาน์  พ่อเป็นแฟรงเกนสไตล์  แม่-รู้สึกจะเป็นแวมไพร์  ลูกชายคนเล็กเป็นมนุษย์หมาป่า  มีลูกสาวคนโตเท่านั้นที่เป็นมนุษย์ปกติ  แฟรงเกนสไตล์เรื่องนี้น่ารักมากโดยเฉพาะภาคแรก  เค้าต้องออกไปหางานทำเลี้ยงครอบครัว  ในที่สุดได้งานที่เหมาะกับตัวเองมากคืองานขับรถรับส่งศพในงานศพ  ช่วงที่หางานอยู่ก็สะท้อนความรังเกียจรูปลักษณ์ภายนอก  แต่ไม่รุนแรงเท่าในนิยายดั้งเดิมของแมรี่ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 พ.ย. 01, 15:44

The Munsters ค่ะ เป็นหนังชุดทางทีวี  ทำเป็นภาพยนตร์และการฺ์ตูนด้วย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 พ.ย. 01, 22:00

ที่พ่ออาซิมอฟสนใจเรื่องของแมรี่ เชลลี่ ก็เพราะว่าเขาถือว่าแมรี่เป็นนักเขียนบรรพสตรีที่มาก่อนเขาในการเขียนเรื่องของหุ่นยนต์ หรือชีวิตที่มนุษย์ (ไม่ใช่พระเจ้า) สร้างขึ้น ตัวอาซิมอฟเองเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องหุ่นยนต์อยู่เองหลายเรื่อง จนแม้แต่วงการวิทยาศาสตร์ด้านหุ่นยนต์จริงๆ ที่อยู่นอกนิยายวิทยาศาสตร์ หรือวงการ A.I. (Artificial Intelligence - ปัญญาประดิษฐ์) ก็พลอยได้รับอิทธิพลจากความคิดของนิยายวิทยาศาสตร์ของเขาไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องกฏสามข้อของหุ่นยนต์ของอาซิมอฟ

ก่อนยุคอาซิมอฟ นิยายวิทยาศาสตร์ร้อยละ 99.99 ที่เขียนเกี่ยวกับหุ่นยนต์จะต้องเขียนให้หุ่นที่ถูกสร้างขึ้น หันมาทำลายล้างมนุษย์ผู้สร้างมันขึ้นมา อาซิมอฟเรียกพล็อตที่ซ้ำๆๆๆ นี้ว่าสะท้อนความรู้สึกของคนต่อหุ่นยนต์ที่เขาตั้งชื่อว่า Frankenstein Complex ปมแฟรงเกนสไตน์ เป็นการให้เกียรติแมรี่ โดยที่ผีดิบ สิ่งที่ถูกสร้างในเรื่องของเธอ ลุกขึ้นมาทำลายล้าง ดร. วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ มนุษย์ผู้สร้าง (โดยมีนัยยะว่าการสร้างนั้นเป็นการท้าทายอำนาจของพระผู้สร้าง จึงต้องถูกทำลายล้างในตอนจบ - ซึ่งว่าที่จริง เป็นพล็อตที่สืบมาตั้งแต่ Dr. Faustus โน่น คืออำนาจวิทยาการที่ไม่มีการควบคุมเป็นสิ่งชั่วร้าย ถ้ามนุษย์นักวิชาการล้ำเส้นก็มีสิทธิถูกทำลายล้างได้)

พล็อตของแมรี่เป็นพล็อตประทับใจคนมาหลายสิบหลายร้อยปี จนกระทั่งอาซิมอฟมาเขียนฉีกแนวใหม่เพื่อลบ "ปมแฟรงเกนสไตน์" นี้ เขาถามว่า ทำไมหุ่นยนต์ต้องเป็นผู้ร้ายอยู่เรื่อยเลย จะเป็นหุ่นที่น่ารัก น่าสงสาร จนแม้กระทั่งน่าขำไม่ได้เหรอ แล้วมนุษย์ที่สร้างหุ่นขึ้นมาน่ะจะไม่สามารถฉลาดพอที่จะคิดออกแบบอะไรป้องกันตัวเองเวลาสร้างหุ่นเลยหรือ กระบี่ยังมีโกร่งกระบี่ มีฝัก ปืนยังมีห้ามไก ทำไมหุ่นยนต์จะมีกลไกควบคุมไม่ให้ทำร้ายมนุษย์ไม่ได้ ผลก็ออกมาเป็นหุ่นยุคใหม่ ตัวอย่างเช่น อย่างที่โรบิน วิลเลี่ยมส์ เล่นในเรื่อง The Bicentenial Man นั่นแหละครับ เรื่องนั้นอาซิมอฟแต่งไว้เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
ภูวง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 พ.ย. 01, 07:43

ภาพยนตร์ที่คุณอ้อยขวั้นพูดถึงนี่คือเรื่อง "คนผี"ครับ  ผมได้ดูตอนเด็กๆราวเจ็ดแปดขวบ คุณอ้อยขวั้นคงได้ชมตอนเขานำมาฉายใหม่ ตัวที่เป็นพ่อเหมือนแฟรงเกนสไตน์นั่นชื่อ เฮอร์แมนครับแกเปิ่น น่ารักจริงๆ  ส่วนลูกสาวคนโตนั่นเป็นคนธรรมดา ที่พวกนี้เก็บมาเลี้ยง ขำที่พวกเขาบอกน่าสงสารที่เธอหน้าตาขี้เหร๋ไม่เหมือนพวกเรา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 พ.ย. 01, 09:22

นิยายฉบับดั้งเดิมมีให้อ่านในเน็ต  ที่เว็บนี้ค่ะ

http://etext.lib.virginia.edu/cgibin/toccer?id=SheFran&tag=public&images=images/modeng&data=/texts/english/modeng/parsed&part=0' target='_blank'>http://etext.lib.virginia.edu/cgibin/toccer?id=SheFran&tag=public&images=images/modeng&data=/texts/english/modeng/parsed&part=0



กล่าวกันว่า ผีอภิมหาอมตะยอดนิยม วัดจากจำนวนจำหน่ายหนังสือและการนำไปทำหนังละครและสื่ออื่นๆ มี ๓ ตัวด้วยกันคือ

๑  เคานต์แดรคคูล่า

๒  ผีดิบแฟรงเกนสไตน์

๓  มัมมี่



ข้างล่างนี้คือภาพของแมรี่ เชลลี่
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW837x008.gif'>
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 พ.ย. 01, 00:34

แล้วผีไทยอมตะนิรันดร์กาล นี่คงหนีไม่พ้น
แม่นาคพระขโนงนะครับ แบบว่า สร้างแล้วสร้างอีก มีตำนานสืบต่อมาอย่างมากมาย
ที่รู้จักกันรองลงมาก็อย่าง
นางตานี อันนี้คุณแจ้งรู้จักดี
ที่น่ากลัวและผมกลัวมาก ๆ ก็อย่าง ผีหัวขาด แต่หลัง ๆ ขายหัวเราะเอามาทำซะตลกไปเลย
ผีตาโบ๋ เนี่ยก็น่ากลัวครับ
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 พ.ย. 01, 22:05

วันจันทร์ที่ ๑๒ พ.ย.นี่้ ช่อง ๓มีการฉายเรื่องของแฟรงเก้นสไตน์ด้วยเจ้าคะ เวลา ๙.๓๐ นะเจ้าคะ
บันทึกการเข้า
N.K.Kh.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 พ.ย. 01, 03:55

Sorry krabb.

The first name of Mary Shelley's husband is Percy, not Peter as I said. I wrote from my memory without checking and ... well - I shouldn't have trusted my memory too much...
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง