เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7153 มีแต่คนอยากรู้ว่านิพานคืออะไร เป็นยังไง ก็เลยนำวิธีมาให้ทุกคนพิสูจน์โดยไม่ต้องลงทุนอะไ
เอาของเขามาอีกที
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 04 พ.ย. 01, 22:49

นิโรธสัญญา
โดยท่านเจ้าคุณหลวงพ่อดาบส สุมโน
อาศรมไผ่มรกต เชียงราย
นิโรธ แปลว่า ดับความทุกข์ ความชั่ว บาป ดับรูปกาย นามซึ่งมีในกายดับจากวัตถุธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า นิพพาน ดับหรือว่างจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลก นรก สวรรค์ พรหม ไม่เหลือการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ยากลำบากอีกต่อไป
สัญญา แปลว่า ความจดจำ หมายจำเอาไว้หรือจำได้
นิโรธสัญญา จึงแปลว่า ความจำได้หมายรู้ในการดับความทุกข์ยากลำบากทั้งปวง ดับธาตุทั้งหมด ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้เหลือแต่ความว่างเปล่า การปฏิบัตินิโรธสัญญานี้เป็นทางลัด รวดเร็ว ทำง่ายมาก เป็นการปฎิบัติได้ผลรวดเร็วไม่ยากนัก เพียรเฝ้าทำจิตให้ว่างจากสิ่งที่เป็นของหนักคือ ร่างกายเราเขาหรือขันธ์ ๕ ขจัดสิ่งวุ่นวายวิตกกังวลเรื่องต่างๆออกจากจิตเท่านั้น
ทางปฎิบัตินิโรธสัญญา ก็เริ่มด้วยตัดจิตให้มีเมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั่ว ๓ โลก นรกโลก เทวโลก รักษาศีล ๕ ให้ครบถ้วน การเฝ้ากำจัดความคิดที่ไม่ดีไร้สาระออกจากจิตก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง การเฝ้าพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกในที่สุดก็แตกสูญสลายกลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอากาศ แยกกระจายจากอนูเป็นอะตอมเล็กๆละเอียด เป็นธาตุว่างคือวิปัสสนาญาณ
ผู้มีศีลเจริญสมาธิภาวนานิดเดียวตั้งจิตทำเพื่อจิตเข้าสู่ความสุขอย่างยิ่งคือ พระนิพพาน ก็เข้าถึงเมืองแก้วพระนิพพานได้ง่าย พระนิพพานนั้นไม่ใช่ไกลเกินเอื้อมออกไป อยู่ในจิตในใจเรานี่เอง เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ทั้งที่ขันธ์ ๕ กายยังไม่แตกสลาย ถ้าร่างกายตายจิตสะอาดหมดความยึดติดในขันธ์ ๕ จิตก็จะเคลื่อนเข้าเสวยความสุขยอดเยี่ยมแดนทิพยนิพพาน เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
นิโรธสัญญา คือการเพียรพยายามทำจิตให้ว่างจากสิ่งที่เป็นของสมมุติทั้งปวงในโลก รวมถึงชีวิต คนและสัตว์ ทรัพย์สิ่งของเป็นของสมมุติเป็นของชั่งคราวทั้งสิ้นเป็นของปลอม พระนิพพานธาตุ พุทธิธาตุ ภูตะธาตุ อสังขธาตุ ทั้งหมดนี้เป็นของจริง เป็นธาตุอะตอมไม่ตายไม่สูญสลายเหมือนธาตุของโลก ถึงตาจะมองไม่เห็นแต่มีอยู่จริง เป็นธาตุบริสุทธิ์มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่มีใครสร้าง เปรียบธาตุนิพพานอมตะนี้ก็เหมือนเมืองหรือฝั่งข้างโน้นที่เราจะข้ามไป จิตเป็นนามธรรม อาศัยอยู่ในกายในขันธ์ ๕ ที่เป็นของสมมุติชั่วคราว จิตเป็นธาตุบริสุทธิ์ โดยธรรมจากในจิตนั้น มีธรรมกายหรือพุทธิกาย หรือนามกายทิพย์ นิพพานกายอยู่ มีตา หู จมูก ลิ้น กายทิพย์ จิตทิพย์ ไม่ต้องทำขึ้น มีอยู่แล้ว ไม่ตายเป็นอมตะ ในกายทิพย์นิพพานไม่มีประสาท ไม่มีอวัยวะภายใน โปร่งใสเบา เย็นสบายเป็นจิตรู้ฉลาดสะอาดบริสุทธิ์ อิสระจากกฏทั้งปวงอยู่เหนือกฏของกรรมหรือกฏของธรรมชาติ หรือเรียกอีกอย่างว่า จิตของพระอรหันต์ จิตของพระขีณาสพ ผู้หมดกิเลสอวิชชาตัณหาอุปาทานบาปทั้งปวง
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ดีร้ายทั้ง ๖ นี้ เป็นผู้มาทีหลัง เป็นของผ่านไปมา เป็นของสมมุติ เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง เป็นของร้อนเป็นของหนัก ถ้าจิตเราไปคิดเอาเป็นจริงก็ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ผิดหวังเป็นทุกข์ใจมิได้หยุดหย่อน รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ทั้งหลายเป็นของสกปรกของชั่วคราวเป็นฝ่ายดำ เป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทัน และกำจัดออกจากจิตทันที คือให้ว่างเปล่าจากของที่เป็นทุกข์เป็นโทษ จิตจะอยู่ว่างเปล่าเฉยๆ ไม่ชินก็นึกถึงพระคุณความดีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า นึกถึงฝั่งแดนทิพยนิพพานเป็นสุขเลิศล้ำ นึกถึงร่างกายสมมุตินี้ตายโดนเผาทิ้งแน่นอน แบบนี้จิตจะว่างจากของหนัก ว่างจากความเครียด ความฟุ้งซ่าน ความวุ่นวายหรือปลอดภัยจากอันตรายได้ เพราะจิตว่างสะอาด ปราศจาก โลภ โกรธ หลง เพราะมีแต่พระรัตนตรัย พระนิพพานเต็มเปี่ยมอยู่ในจิต แถมอีกนิดมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้ง ๓ โลก ต้องการให้ทุกผู้ทุกคนพ้นทุกข์ได้เหมือนเรา
วิธีปฏิบัตินิโรธสัญญา หรือ ทำจิตให้ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน บาปกรรม มี ๓ อย่าง
๑) โน้มใจเข้าหาความว่าง ด้วยการนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระมหาเมตตา มีพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ นำสัตว์ชี้ทางเข้าสู่พระนิพพาน เริ่มระลึกถึงความว่างเปล่าไม่มีอะไร ทั้งโลกอากาศว่างเปล่า ธาตุว่างอยู่รอบตัวเราเอิบอาบไปทั่ว เป็นธาตุอะตอม โอบอุ้มทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นธาตุเบา ธาตุเย็น ธาตุสงบ ธาตุพอเพียง ธาตุแท้
๒) ทำจิตว่างด้วยสลัดขจัดทิ้งความคิดไม่ดีไร้สาระออกจากจิต หรือปล่อยวางอารมณ์ดีชั่วทั้งปวงออกจากจิตให้มีเพียงแต่คำว่ารู้ แต่ไม่นำเอามาคิดปรุงแต่งเป็นตัวเราตัวเขา เป็นแต่เพียงธาตุของโลก จิตเป็นธาตุเบาไม่เอาไปปนกับธาตุหนักๆของโลก กายก็เป็นธาตุของโลกไม่ใช่ของจิต แต่จิตก็เพียงให้รู้ว่าจิตมาอาศัยอยู่ในกายบ้านสมมุติชั่วคราว ไม่เอามาปนกับจิต จิตส่วนจิต กายส่วนกาย ไม่ใช่อันเดียวกัน มีกายแล้วจิตก็ทำเป็นว่าไม่มี เพราะไม่ช้ากายก็ตายสูญสลาย ไม่มีกายอีก เป็นของว่างๆ เพียรคิดสลัดกาย อารมณ์ทั้งหลายออกจากจิต จิตจะสว่างสะอาดจากกิเลสเฝ้าผูกพันยึดมั่นกายเรากายเขา แต่ก็ยังคงทำหน้าที่การงาน สังคมครบถ้วน จิตใจสะอาดผ่องใส ร่างกายก็ไม่มีโรคหรือโรคน้อย จิตก็จะแปรสภาพจากหนักเป็นเบา โปร่งสบาย จิตหยาบก็จะกลายเป็นจิตละเอียดสะอาดผ่องใส ไม่มีความวุ่นวายจิตสงบนิ่งมีปัญญาดี
๓) วิธีทำจิตให้สะอาดว่างจากกิเลสแบบให้สังเกตหรือจับดูอารมณ์ตามความเป็นจริง แต่มิใช่ให้จับแบบยึดมั่นถือมั่น คือจิตมันชอบคิดเรื่องต่างๆอยู่เสมอ มันคิดอะไรก็เอาเรื่องนั้นแหละมาพิจารณาดูให้ลึกและไกลออกไป ให้เห็นความไม่คงที่ จะเป็นไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็เท่ากันไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นจัง เป็นแก่นสารย่อมถึงความแปรผันดับสูญเสมอกัน

เงาในกระจกหรือเงาในน้ำมิใช่ของจริงฉันใด สรรพสังขาราทั้งหมดก็ไม่ใช่ของจริงฉันนั้น หรือจะมองชีวิตทั้งหมดนี้เหมือนความฝันก็ได้ เพราะจุดจบของชีวิตคือความตาย ความตายของชีวิตร่างกายของคนนี่แหละ คือการตื่นจากความฝัน คือจิตออกจากร่างไปหาที่อยู่ใหม่ ที่อยู่ใหม่ของเราท่านเที่ยงแท้แน่นอนไม่ยอมแปรผันอีกต่อไปคือ แดนอมตะทิพยนิพพาน
เมื่อมาพิจารณารู้ความจริงของชีวิตร่างกายทุกผู้ทุกนามแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ มีก็เท่ากับไม่มี คือว่างเปล่านั่นเอง เพราะสูญสลายไม่ช้าก็เร็ว
เมื่อกำหนดจิตเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเป็นของว่างเปล่า จิตก็จะเข้าถึงความว่าง ธาตุว่างจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เมื่อพิจารณาทบทวนถึงความไม่มีในร่างกายเรากายเขา ขันธ์ ๕ เรา ขันธ์ ๕ เขา มันมีแล้วก็เหมือนกับไม่มี เพราะแปรปรวนไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่จริง เป็นของปลอมของสมมุติ หาตัวตนตัวเราตัวเขาไม่ได้ เพราะทุกอย่างมีแต่เดินทางหาความทรุดโทรม ผุพังสลายตายกันในที่สุด จิตก็จะหลุดจากกิเลสคือว่างจากความทุกข์ยาก จิตจะเป็นอิสระเสรีไม่ยึดเกาะในสิ่งของจอมปลอมอีกต่อไป ถึงแม้จิตจะยังอาศัยอยู่ในกาย แต่จิตไม่หลงรักว่าเป็นอันเดียวกับจิต อย่าเอาจิตไปนึกว่ามันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ปล่อยไปเพียงแต่ผ่านมาผ่านไปเท่านั้น ถ้าทรงอารมณ์อยู่จิตไม่สนใจขันธ์ ๕ ของใครวางเฉยไม่ทุกข์ร้อน ทำงานทุกอย่างตามหน้าที่ อารมณ์เฉยเป็นเอกัคตารมณ์ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสำหรับเรา เราไม่มีสำหรับกาย จิตจะสะอาดเบิกบานผ่องใสพ้นจากความยึดมั่นในของปลอมของทุกข์ของร้อนพระท่านเรียกว่า จิตของพระอรหันต์
วิธีทำจิตให้ว่างจากกายเรากายเขาแบบนี้ เป็นวิธีลัดแบบง่าย มีแต่พรหมวิหาร ๔ ไม่ยึดถืออารมณ์ใดๆมาไว้ในจิตมีความจำได้หมายรู้ก็เหมือนไม่มีความจำ เพราะความจำอยู่ได้ไม่นานไม่ช้าก็ลืม ประสาทสมองลืมง่าย ความคิดความจำ ความฟุ้งซ่าน วิตกกังวลเป็นเรื่องของกายให้สลัดทิ้ง ให้จิตเต็มไปด้วยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จิตจะเบาบริสุทธิ์สะอาด จิตอันนี้เราจะตามรอยพระพุทธบาทเมื่อกายพังแตกสลาย
ผู้เพียรทำจิตให้ว่างจากร่างกาย หรืออารมณ์ต่างๆแบบนี้เป็นแบบของพระอริยเจ้า เป็นสมาธิเป็นวิปัสนาญาณอยู่ด้วยกัน ทำได้ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ทำได้ทั้งที่อยู่คนเดียวและอยู่แบบหมู่คณะ เป็นทางหลุดพ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอน เป็นทางลัดตรงไปสู่จุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน
นิพพานธาตุ คือ นิโรธธาตุ อันเดียวกัน มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้ในจิตเราท่านที่อยู่ในร่างกายที่สกปรกนี้ ทำจิตให้เข้าถึงพระนิพพานได้ทันทีทั้งๆที่ยังไม่ตาย นิพพานไม่ใช่มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก แต่อยู่เหนือโลกทั้งสิ้น มีอยู่ทั่วไปถ้าจิตจิตดับทุกข์ดับขันธ์ ๕ ว่างจากกิเลสจะรู้สภาวะพระนิพพานทันที
นิโรธสัญญา คือทำจิตให้ว่างไม่มีอารมณ์ใดๆทั้งปวงคือเฉยๆ จิตจะสะอาดปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่างทั้งโลก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จิตจะเข้าสู่ภาวะ ที่เป็นจิตพุทธะดั้งเดิม จิตประภัสสร
นิโรธสัญญา ทำจิตให้ว่างจากพันธะใดๆในโลก จะทำวิชชาให้สำเร็จด้วยฤทธิ์ก็ย่อมได้ เพราะจิตสงบทรงตัว แต่ท่านที่เจริญความว่างทางจิตแบบนี้ ท่านไม่ต้องการอิทธิฤทธิ์ใดๆ ความรู้พิเศษใดๆอีก ทั้งสิ้น เพราะจิตท่านอิ่มด้วยความสุข สงบ สบาย สว่างสดใส ไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป เป็นความสุขยอดเยี่ยม ไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้
บันทึกการเข้า
little sun
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 พ.ย. 01, 08:23

ขอบคุณมากนะคะที่เอามาฝากให้อ่าน  อยากบังคับให้จิตว่างเหมือนกันค่ะแต่ยากเหลือเกิน
บันทึกการเข้า
little sun
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 พ.ย. 01, 08:41

เอามาฝากบ้างดีกว่า

**จิตว่างได้ยินหญ้าพูด**

พระพุทธะ ตรัสรู้ จิตอยู่ว่าง
ได้ยินสิ่ง ทุกอย่าง แถลงไข
เหมือนมันฟ้อง ตัวเอง เซ็งแซ่ไป
ว่าไม่มี สิ่งไหน น่ายึดเอา
มาเพื่อเป็น ตัวกู หรือของกู
อย่าหลงตู่ มันเข้า เพราะความเขลา
เอาของเป็น อนัตตา มาเป็นเรา
จะต้องเศร้า โศกระบม ตรมใจแรง
แม้กรวดดิน หินไม้ และใบหญ้า
ล้วนแต่ส่ง เสียงจ้า ทุกหัวระแหง
คนจิตวุ่น ไม่เข้าใจ ไม่ระแวง
ว่าทุกสิ่ง ร้องแสดง บทพระธรรม
ครั้นจิตว่าง จะได้ยิน แม้ใบหญ้า
มันปรึกษา ข้อความ ที่งามขำ
ว่า "ทำไฉน สัตว์ทั้งหลาย จะร่ายรำ
ด้วยจิตว่าง เพราะวางธรรม ทั้งปวงเอย" ฯ
              **พระพุทธทาสภิกขุ**
บันทึกการเข้า
little sun
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 พ.ย. 01, 10:48

นี่ก็น่าสนใจค่ะเป็นงานเขียนของคุณ วศิน  อินทสระ
      *****ไม่ต้องการอะไร*****
สมศิรินทร์  น้องรัก
ได้รับจดหมายของน้องเมื่อวานนี้แล้ว  เห็นใจน้องมากที่ต้องผิดหวังในการได้งานทำ  ขอให้น้องรักษากำลังใจและประคับประคองตนไว้ให้ดี  ตนของเรามีค่ากว่าสิ่งที่เราจะได้มามากนัก  ความผิดหวังย่อมทำให้กระเทือนใจบ้าง  แต่อย่าปล่อยให้มันครอบงำใจนานนัก จะเป็นอัน
  ตรายแก่สุขภาพทั้งกายและทางจิต
        น้องสังเกตหรือไม่ว่า ความทุกข์ ความกังวลและความโศกเศร้าทั้งหลายของเราและของมวลมนษย์นั้นล้วนแต่มีลูกกรณีมาจากความต้องการอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วไม่ได้ที่เราต้องการ
         ขอให้น้องจำกัดความต้องการลงไปในสิ่งที่จำเป็นที่สุดแก่ร่างกาย  คือ  อาหารพอประทังชีพ ที่อยู่อาศัยพอกันแดดฝน  เสื้อผ้าพอปกปิดความละอายและหนาวนร้อน  ยาบำบัดโรคเล็กน้อยหากบังเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
          ถ้าน้องต้องการเพียงเท่านี้  เวลานี้ก็มีครบทุกอย่างแล้ว  น้องก็มีบ้านอยู่อย่างที่เรียกว่าพอสบาย  เสื้อผ้าอาหารน้องไม่เคยขาดแคลน  ยารักษาโรค  เมื่อน้องมีโรคน้องก็ไม่เคยต้องไปถึงโรงพยาบาล  นอกจากโรคฉกรรย์จริงๆซึ่งคลีนิครักษาไม่ได้
     พี่อยากให้น้องได้รับรสแห่งความสงบสงัดและความปลอดโปร่งทางใจ  ทางที่จะได้ซึ่งสมบัติอันประเสริฐนี้ง่ายมาก  แต่ทำยากเหลือเกิน  คือขอให้น้องนึกเสมอว่า “ฉันไม่ต้องการอะไร”
       บางคนอาจเป็นทุกข์ถึงปีหน้า หรืออีกสิบปีข้างหน้าเขาคงลืมนึกไปว่ามีคนอยู่เป็นอันมากที่กำลังทุกข์อย่างหนักว่า”มื้อที่จะถึงนี้จะได้กินอะไร”  “คืนนี้จะนอนที่ไหน” เขายังกังวลอยู่แต่เรื่อง“มื้อนี้” “และคืนนี้” จนไม่มีแก่จิตแก่ใจที่จะนึกถึงแม้แต่พรุ่งนี้ คนที่สมบูรณ์พูนสุขอยู่ในวันนี้นั่นเอง ที่มักวิตกกังวลถึงวันพรุ่งนี้  ปีหน้า อีกสิบปีข้างหน้า จนต้องเป็นทุกข์หนัก  ปวดหัว เป็นโรคประสาท หมดกำลัง
      พี่เองก็เคยมีความวิตกกังวลอย่างน้องมาบ้างเหมือนกัน  แต่มันสงบลงได้ก็โดยการสาวสาเหตุต่างๆพิจารณาทบทวนปัญหาชีวิตอย่างหนัก  ในที่สุดก็ไปเจอต้นตอเข้าคือเห็นว่าความทุกข์ของน้อง  ของพี่  เวลานี้อยู่ที่”ต้องการมากเกินไปแล้วให้ได้มาอย่างรวดเร็ว” จนสิ่งที่เราต้องการสนองไม่ทัน
           ความจริงเรื่องสาเหตุแห่งทุกข์นี้  พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนมาตั้ง2500 ปีเศษแล้วแต่บางทีพวกเราก็ลืมๆไปเสียเมื่อประสบทุกข์ก็ลืมสาวหาสาเหตู อย่างที่ว่าแล้วไป
1. ฉันจะมีสติสำรวมตนอยู่เสมอ
2. ฉันจะไม่ต้องการอะไร
3. ฉันจะไม่กังวลถึงเสียงวิพากย์วิจารณ์ของคนอื่น ฉันจะยิ้มรับเสียงวิพากย์วิจารณ์ของทุกคน ฉันได้มองเห็นอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่าความสงบสุขทางใจของฉันมีค่าแก่วีวิตฉันเหลือเกิน
4. ฉันไม่ต้องการเกียติยศ ชื่อเสียง คำสรรเสริญเยินยอ-ฉันไม่ต้องการอะไร  ฉันไม่ต้องการอะไรจริงๆไม่ใช่ฉันแกล้งหรอกตัวเอง
5. สิ่งใดที่ฉันได้มา  ฉันถือว่า มันมาตามเรื่องตามราวของมัน  เพราะฉันได้ประกอบเหตุไว้ต่างหาก ฉันไม่ได้ต้องการมัน
              เมื่อเราไม่ต้องการอะไร สิ่งที่ได้มาแม้น้อยก็เสมือนมาก แต่เมื่อเราต้องการมาก สิ่งที่ได้มาแม้มากก็ปรากฏแก่เราว่าน้อยไปเสียหมดทุกอย่าง เรายิ่งมักน้อยเท่าใดความสงบทางจิตใจก็ยิ่งเพิ่มพูนมากข้นเท่านั้น ความต้องการอะไรที่ไม่จำเป็นก็คิดๆออกไปเสีย
บันทึกการเข้า
little sun
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 พ.ย. 01, 10:49

พี่เองได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาพอสมควรจนกระทั่งเวลานี้พี่ไม่ต้องการอะไร  มันมิได้หมายความว่า พี่มีครบทุกอย่างแล้ว  แต่ความไม่ต้องการของของพี่มันทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งไม่จำเป็นน นอกจากปัจจัย4ดังกล่าวแล้วเพียงพอประทังชีพเท่านั้น
         น้องจะสังเกตว่า ถ้าเราทำอะไรก็ตามด้วยFree  mind ใจของเราจะปลอดโปร่งอย่างยิ่ง  ลองอ่านหนังสือโดยไม่ต้องการความรู้   ปรากฏว่าได้ความรู้มากกว่าการอ่านในขณะกระหายอย่างแรงเพื่อให้ได้ความรู้มากและเร็วลองเรียนโดยไม่ต้องหวังประกาศนียบัตร หรือปริญญา ปรากฏว่าได้ปริญญาด้วยความรู้สึกซึ้งด้วยนี่เป็นเรื่องParadox ที่น่าประหลาดมหัศจรรย์พี่อ้อนวอนไว้ให้น้องลองทำดูบ้าง อาจได้ผลอย่างที่เคยประสบมาแล้ว
       น้องทราบดีแล้วว่า  เวลานี้เพื่อนๆรุ่นเดี่ยวกับพี่ได้ก้าวไปไกลกันแล้วแทบทุกคน และแม้เพื่อนรุ่นน้องก็มีลู่ทางว่าจะก้าวไปไกลกันมิใช่น้อยในตำแหน่งและหน้าที่การงานส่วนตัวพี่เองยังอยู่ในบ้านหลังเล็กๆไม่มีตำแหน่งน่าที่ก่รงานอันใดอันมีหน้ามีตาในสังคมแต่เรื่องความสงบสุขพี่ร่ำรวยกว่าใครหมด  ความสงบสุขนี่เองคือขุมทรัพย์อันประเสริฐ  ความสงบอันนี้มาจากการที่พี่ “ไม่ต้องการอะไร”
            ชีวิตคนเราทุกคนเหมือเรือเดินสมุทรซึ่งจะต้องเดินทางฝ่าคลื่นลม และมรสุม แต่ชีวิตเดินทางนานกว่าเรือเดินสมุทร เพราะฉะนั้นขอให้รักษาลำเรือคือสุขภาพกายและเครื่องยนต์คือสมอง  ตลอดจนถึงผู้บังคับการเรือคือจิตใจไว้ให้ดี เพื่อฝ่ามรสุมชีวิตไป  จนกว่าชีวิตจะหาไม่
           อาการ ป่วยทางใจนั้นก่อให้เกิดทุกข์มากว่าการป่วยทางกายมากมายนัก  เมื่ออาการป่วยทางใจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังแล้ว กาย และสมองก็จะพลอยเปลี่ยนแปลงไปในทางร้ายด้วยอย่างแน่นอน
             ขอให้น้องเชื่อเถิดว่า เหตุการณ์จะไม่สามารถทำลายตนเองไปตามเหตุการณ์ด้วย ขอให้ยึดมั่นในทางที่ชอบแล้วเหตุการณ์จะคลี่คลายเอง เหนื่อยก็นั่งซุ่มดูเหตุการณ์อยู่เฉยๆเสียบ้างบางทีจะได้เห็นตัวเองเด่นชัดขึ้น
  ดวงอาทิตย์ดวงจัทร์ยังมีเวลามืดมนเพราะเมฆหมอกไฉนเล่าชีวิตคนจะรุ่งเรืองสุกใสอยู่ตลอดชีวิตย่อมมีขึ้นมีลงเป็นธรรดา อย่าตกใจ
                 ชีวิตที่ผ่านไปแล้วจะไม่วกกลับมาอีก ขอให้ชื่นชมต่อชีวิตเท่าที่มีเหลืออยู่ คนที่รู้จักชื่นชมต่อชีวิตตน ย่อมมีความสุขเป็นรายได้ชีวิตประจำวัน  ดีกว่ามีรายได้เป็นเงินวันละ 5หมื่น แต่ไม่รู้จักชื่นชมยินดี
                   ขอให้พอใจกับกุหลาบน้อยในแจกันในห้องนอนดีกว่าเพ้อฝันถึงสวนกุหลาบเนรมิตเหนือ ขอบฟ้านั่นคือพอใจในสิ่งเล็กๆ น้อยๆที่มีอยู่  และนึกอยู่เสมอว่า ฉันไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว
                    อนาคตนั่นหุ้มห่ออยู่ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่าใฝ่ฝันอย่าไว้ใจมันในเรื่องความสุข หรือความรุ่งโรจน์ใดๆขอให้ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และมีความสุขพอใจเท่านั้น-พอแล้ว
          จดหมายนี้มิได้มุ่งหมายให้น้องคลายความเพียรแต่มุ่งหมายให้น้องทำอะไรๆด้วยFree mind =ใจอิสระหัดทำเหตุโดยมิให้ใจไปยึดเหนี่ยวถึงผล ความสุขอย่างนี้ใครทำแทนน้องไม่ได้ นอกจากน้องทำใจของน้องเอาเอง
                                                                                                          รัก
                                                                                                          สมสักดิ์
บันทึกการเข้า
anusorn
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ต.ค. 06, 20:29


พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค  ชัมพุขาทกสังยุตต์

     [๔๙๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาลคาม ในแคว้นมคธ
ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อว่าชัมพุขาทกะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้
ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกร
ท่านสารีบุตร
ที่เรียกว่า นิพพานๆ ดังนี้ นิพพานเป็นไฉนหนอ

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน ฯ

     ช. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็มรรคามีอยู่หรือ ปฏิปทามีอยู่หรือ เพื่อกระทำ
นิพพานนั้นให้แจ้ง ฯ

     สา. มีอยู่ ผู้มีอายุ ฯ

     ช. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็มรรคาเป็นไฉน ปฏิปทาเป็นไฉน เพื่อกระทำ
นิพพานนั้นให้แจ้ง ฯ

     สา. ดูกรผู้มีอายุ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ
ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ตั้งสติชอบ
ตั้งใจชอบ นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง ฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง