เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9306 เชอร์ล็อคโฮล์มส์
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 06 พ.ย. 01, 01:03

สัปดาห์ที่ผ่านมาที่กรุงเทพ มีการจัดงานมหกรรมหนังสือ ....ดิฉันกับนายตะวัน ไปเ้ดินแบกหนังสือมามากมายเสียจนปวดไหล่เลยเจ้าคะ แถมวันสุดท้ายของงาน ยังเจอพี่ชายคนหนึ่งซึ่ง "คลั่ง" เซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ผู้แต่ง เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ เอาเสียมากๆด้วย ...เราจึงพาท่านไป ที่ สนพ สร้างสรรค์ บุ๊คส์ เพราะที่นั่นมี หนังสือออกมาเป็นชุึดของ
โฮล์มส์ นะเจ้าคะ  
อ้อ ลืมบอกไปว่า ระหว่างอยู่ที่ บูํํธสร้างสรรค์ นั้น คุณเทาชมพู ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วย ก็เล่าเกร็ดความรู้ เกี่ยวกับเรื่อง เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ มาด้วยเจ้าคะ ดังนี้...
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 ต.ค. 01, 08:49

น า ย ท อ ง อิ น

กั บ

เ ช อ ร์ ล็ อ ค โ ฮ ล์ ม ส์



   
ผู้ที่สนใจพระราชนิพนธ์เรื่องสั้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่หก คงจะจำเรื่องสั้นชุดนายทองอินได้ เช่น แม่นาคพระโขนง หรือม้าบังกะโล เรื่องสั้นชุดนี้เป็นเรื่องราวสืบสวนทั้งหมด ตัวเอกในเรื่องชื่อนายทองอิน เป็นนักสืบเชลยศักดิ์ไม่ขึ้นกับตำรวจหรือหน่วยราชการใด เป็นผู้ที่มีหัวคิดฉลาด สามารถอ่านเหตุการณ์ลึกลับซับซ้อนได้ทะลุปรุโปร่ง และมีความสามารถพิเศษ คือปลอมแปลงตัวได้แนบเนียน ผู้ที่เล่าเรื่องนายทองอินให้คนอ่านฟังในแต่ละตอนเป็นเพื่อนสนิทชื่อวัด หรือที่นายทองอินเรียกว่า ‘พ่อวัด’ นายวัดมิได้เป็นผู้เฉลียวฉลาดเท่าเพื่อน แต่ก็สามารถบรรยายเรื่องได้อย่างน่าสนใจชวนติดตามดีมักจะเริ่มโดยเล่าเหตุการณ์ลึกลับที่มีผู้มาว่าจ้างให้สืบ และคลี่คลายลงแต่ละน้อยจนจบก็สรุปด้วยคำอธิบายแจ่มแจ้งของนายทองอิน ผู้อ่านที่คิดปัญหาไม่ออก เมื่อรู้เรื่อง และย้อนทบทวนไปอ่านตอนต้นใหม่ มักจะรู้สึกเห็นจริงคล้อยตามไปกับ’เงื่อนงำ’ ที่ซ่อนอยู่ และนายทองอินไปเจอเข้าจนได้โดยไม่มีใครเห็น ทั้งๆก็อาจเป็นเส้นผมบังภูเขานิดเดียว แล้วก็นึกชมความฉลาดของนายทองอินว่ายอดเยี่ยมหาผู้เสมอมิได้โดยแท้
   
ก่อนหน้าที่นายทองอินจะถือกำเนิดมาให้คนอ่านไม่นานนัก ในประเทศอังกฤษราวปี ค.ศ.๑๘๘๕ นวนิยายสืบสวนที่แพร่หลายเล่มหนึ่งอุบัติขึ้นจากปลายปากกาของนายแพทย์หนุ่มชื่อ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ด้วยจุดมุ่งหมายจะเขียนเป็นงานอดิเรก นอกไปจากอาชีพที่ไม่สู้จะทำมาค้าขึ้นนักของตน หมอดอยล์เคยเขียนนวนิยายมาแล้วเล่มหนึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จอะไรนัก คราวที่เขียนเรื่องนักสืบ ก็เขียนไปอย่างไม่สู้หวังอะไรเท่าไร ตั้งชื่อพระเอกนักสืบของตนว่า เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ ผู้มีเพื่อนร่วมห้องพักด้วยกัน ณ บ้านเลขที่ ๒๒๑ บี ถนนเบเกอร์ ลอนดอน ชื่อหมอจอห์นสัน วัตสัน ซึ่งเป็นผู้บันทึกคดีสืบสวน เกือบทั้งหมดของ เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ มาให้คนอ่านได้อ่าน
   
เชอร์ ล็อค โฮล์มส์เป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษในการสังเกตสิ่งต่างๆแล้วนำมาประมวลเข้าเป็นข้อมูลได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ราวกับหมอดู และเป็นผู้ที่ปลอมแปลงตนได้ยอดเยี่ยมเวลาสืบสวน เรื่องประมูลข้อเท็จจริงนั้น เป็นบุคลิกเด่นที่คนอ่านติดอกติดใจยิ่งกว่าการปลอมตัว เช่น ลูกความที่มาว่าจ้างให้สืบ ยังไม่ทันจะบอกประวัติส่วนตัว เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ ก็ชิงอธิบายได้ก่อนเสียแล้ว เป็นเรื่องเป็นราวโดยไม่ได้สืบสาวประวัติบุคคลผู้นั้นมาก่อน เพียงแต่มองดูหน้าตาเครื่องแต่งกายและสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายเท่านั้น ก็อาจบอกได้ถึงอาชีพนิสัย และประวัติบางด้าน เช่น ทำงานด้วยฝีมือ ติดยานัตถุ์ เคยไปเมืองจีนมาแล้วโดยสังเกตจากกล้ามเนื้อแขนขวาที่โตกว่าซ้าย ขวดยานัตถุ์ที่พกกระเป๋า และรอยสักแบบจีนบนแขน เป็นต้น
   
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ อาจเคยทรงเรื่อง ‘เชอร์ ล็อค โฮล์มส์’ เมื่อครั้งประทับอยู่ในอังกฤษ สมัยทรงเป็นนักศึกษาหรืออาจทรงจากฉบับภาษาอังกฤษเมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ก่อนจะเริ่มพระราชนิพนธ์เรื่องสั้นชุดนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ผจญภัยของนายทองอินนั้น ไม่ได้มาจากเชอร์ ล็อค โฮล์มส์ หมดทุกตอน เรื่องที่ตรงที่สุดคือ ‘ระเด่นลันได’ มาจากเรื่อง ‘ชายปากบิด’ เป็นเรื่องของชายฐานะดี อยู่ต่างจังหวัด หายตัวไปในเมืองหลวงขณะมาทำงาน ภรรยาเห็นหายเข้าไปในที่พักของขอทาน ชื่อระเด่นลันได  ตำรวจเข้าใจว่าขอทานเป็นผู้ฆ่าและซ่อนศพไว้ แต่นายทองอินสังเกตได้ว่าความจริงชายผู้นั้นเป็นคนเดียวกับขอทานนั่นเอง ยึดอาชีพขอทานมาหลายปี ในเมืองหลวง มีรายได้ดี เย็นก็แต่งตัวดีๆกลับบ้าน เช้าก็มาเป็นขอทานใหม่ ภรรยาไม่รู้ความจริงจึงเกิดเรื่องดังกล่าว
   
ข้าพเจ้าเคยอ่านชุด เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และได้อ่านชุดนายทองอินภายหลังจากนั้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกันดู เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก ทรงได้เค้ามาจากนิยายภาษาอังกฤษ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านวรรณคดี ก็ได้ทรงแปลงชาวอังกฤษสมัยวิกตอเรียนมาเป็นชายไทยได้อย่างแนบเนียนไม่มีขัดเขิน แม้แต่เรื่องราวเหตุการณ์ในอังกฤษ ก็แปลงมาเป็นชีวิตไทยๆได้อย่างสมเหตุสมผลดี เช่นเรื่องที่ยกมาเป็นต้น นับว่าเหมาะสมกับสังคมคนอ่านสมัยนั้น ซึ่งยังไม่คุ้นกับโลกตะวันตก ตัวเชอร์ ล็อค โฮล์มส์ อาจจะไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทย หรือควรใช้คำว่า “ได้ภาพพจน์” มากเท่านายทองอินก็เป็นได้
   
ขอเล่าต่อสำหรับ เชอร์ ล็อค โฮล์มส์  อีกเล็กน้อยว่า ดอยล์ประสบผลสำเร็จอย่างไม่คาดฝัน แม้ว่าครั้งหนึ่งการเขียนชักจะงวดวัตถุดิบ และเกิดความเบื่อหน่ายพระเอกตนจนเขียนจุดจบให้เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ ปล้ำกับคู่ปรับสำคัญ ชื่อ ศาสตราจารย์ มอริอาร์ตี ตกน้ำตกไรเชนบักที่สวิตเซอร์แลนด์ จมหายไปก้นเหวทั้งคู่แล้วก็ตาม แรงประท้วงของคนอ่านนั้นกลับรุนแรงอยู่เป็นระยะหลายปี มีทั้งอ้อนวอน ขู่เข็ญให้เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ คืนชีพขึ้นมา ในที่สุดดอยล์ทนการรบเร้าไม่ไหวก็ต้องเขียนให้พระเอกรอดกลับมาได้อีกในปี ๑๙๐๒  ปีนั้นเองดอยล์ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากพระราชินีวิกตอเรียเป็นขุนนางยศอัศวิน เรียกว่า เซอร์ โดยทำความดีความชอบในสงครามโบเออร์ แต่แฟนทั้งหลายเชื่อกันว่า ที่ได้เป็นก็น่าจะเพราะราชินีพอพระทัยเชอร์ ล็อค โฮล์มส์ที่คืนชีพมาได้มากกว่า ดอยล์เขียนต่อไปจนเชอร์ ล็อค โฮล์มส์ แก่ชรา ปลดจากอาชีพไปเลี้ยงผึ้งอยู่ทางใต้ ก็เป็นอันจบเรื่อง ส่วนตัวศาสตราจารย์ มอริอาร์ตี คู่ปรับสำคัญนั้น ดอยล์ได้บุคลิกและความคิดมาจาก ฟรีดริชนิทช์ชี นักปรัชญาคนสำคัญของเยอรมันซึ่งดอยล์ไม่ชอบปรัชญาจึงเปลี่ยนให้เป็นจอมผู้ร้ายเสียเลย และก็ยังทิ้งไว้ที่ก้นน้ำตกนั่นเองไม่ได้เอาขึ้นมากับเชอร์ ล็อค โฮล์มส์
   
เซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ถึงแก่กรรมปี ค.ศ. ๑๙๓๐ แต่เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ ยังคงเลี้ยงผึ้งอยู่ที่ซัสเซกส์จนบัดนี้ เมื่อต้นปี๑๙๗๕ Colorado State University ที่โคโลราโด อเมริกาแผนกวรรณคดี ได้ทำพิธีมอบรางวัลบุคคลดีเด่นในการป้องกันสังคมและส่งเสริมความยุติธรรมแก่โลก ให้เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ (เป็นครั้งแรกที่สมาคมมีการมอบรางวัลให้ตัวละครในวรรณคดี) ประธานแถลงว่า “เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ ไม่สามารถมารับได้ด้วยเหตุขัดข้องกะทันหันในนาทีสุดท้าย คือได้ข่าวว่าศาสตราจารย์มอริอาร์ตียังไม่ตาย หากแต่หลบซ่อนอยู่ในยุโรป จึงต้องขอตัวจากพิธีไปสืบความจริงเสียก่อน”
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 31 ต.ค. 01, 10:24

ผมเองยังไม่มีโอกาสอ่านทั้งเชอร์ล็อคโฮมส์ หรือ นายทองอินเลย
ถ้ามีโอกาสคงต้องไปหามาอ่านบ้าง
บันทึกการเข้า
เจ้าเปิ้ล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 ต.ค. 01, 13:43

เคยอ่านนิทานทองอินคะ เพราะปกติชอบงานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว

ดิฉันฟังดร.แพรมนแล้วอยากเจอพี่ชายของคุณจัง ไม่รู้ว่าจะชื่นชอบขนาดแต่งตัวเหมือนหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ต.ค. 01, 17:54

ผมเคยอ่านเชอร์ ล็อค โฮล์มส์ สำนวนแปลของอาจารย์สายสุวรรณ สนุกมากครับ
รู้สึกว่าหมอวัตสันได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าโฮล์มส์เชี่ยวชาญในเรื่องใดบ้าง ซึ่งส่วนมาก
ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใช้ในวิชาชีพนักสืบของแก เช่นพวก เคมี,ภูมิศาสตร์อะไร
พวกนี้ ส่วนที่ไม่ได้เรื่องก็คือพวกดาราศาสตร์ (ไม่แน่ใจ) โฮล์มส์บอกกับหมอวัตสัน
ว่าคนฉลาดคือคนที่รู้จักเลือกที่จะรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตน (คงไม่ถูกต้องนัก
แต่พูดในทำนองนี้) ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ครับ
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ต.ค. 01, 21:54

ชอบค่ะ  ชอบเรื่องนักสืบอยู่แล้ว  ทั้งปัวโรท์  เชอร์ล็อคโฮล์ม  และโคลัมโบ  แต่ยังไม่เคยอ่านเรื่องนายทองอินเลย  ไม่รู้ยังมีขายรึเปล่านะคะ
บันทึกการเข้า
ภาธร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 พ.ย. 01, 07:45

ตอนผมเล็กๆได้อ่านการ์ตูนเรื่องนายทองอินขององค์การคุรุสภาด้วยครับเป็นแรงผลักดันให้อยากอ่านหนังสือ ความจริงน่าจะมีการนำหนังสือดีๆของไทยมาทำการ์ตูนให้มากๆนะครับเป็นการจูงใจเด็กๆได้ดี ไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือ ดีใจที่มีคนเอานิทานพื้นบ้านมาเขียนการ์ตูนเพิ่มขึ้น เสียดายจังครับไม่ได้เจอ ดร.แพรมนกับคุณเทาชมพูที่งาน
บันทึกการเข้า
ูู^_^
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 พ.ย. 01, 11:30

สงสัยคงต้องเป็นปู่เชอร์ ล็อค โฮล์มส์ ซะแล้วมั้งถึงจะจับได้
บันทึกการเข้า
N.K.Kh.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 พ.ย. 01, 19:28

Thank you Dr. Watson ... er - Dr. Praemon, and you too, Inspector Tawan.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 พ.ย. 01, 13:51

ตอนไปเที่ยวสกอตแลนด์  ดิฉันไปเจออนุสาวรีย์ของเชอร์ล็อคโฮล์มส์  ไม่ที่เมืองยอร์กก็เอดินเบอระ จำไม่ได้ว่าเมืองไหน
เป็นครั้งแรกที่เห็นตัวละคร ตั้งเป็นอนุสาวรีย์อยู่กลางเมือง  ใกล้ๆกันมีร้านเหล้าชื่ออาเธอร์ โคแนน ดอยล์   เป็นที่ระลึก คงเพราะเซอร์อาเธอร์เกิดที่สกอตแลนด์  

กล่าวกันว่าเชอร์ล็อคโฮล์มส์เป็นตัวละครยอดนิยมของวรรณคดีอังกฤษ  และเป็นตัวที่"ขายได้" มาจนทุกวันนี้  ในรูปของหนัง ทีวี  เรื่องสั้น เรื่องยาว
บรรดาแฟนๆของนักสืบคนนี้เรียกกันว่า
Sherlockian
นักเขียนดังๆหลายคนช่วยกันแต่งนิยายตอนใหม่ของ ช.ฮ. กันมาจนปัจจุบัน  แต่อ่านแล้วไม่มีตอนไหนสนุกเท่าที่เจ้าของเดิมเขียน
บันทึกการเข้า
ฯ ปอนด์ ฯ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 พ.ย. 01, 00:34

... แวะมาอ่านครับ ...
บันทึกการเข้า
(^_^)
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 พ.ย. 01, 13:03

... เทคนิคนี้เจ๋งจริงๆ ครับ (^_^)...
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.108 วินาที กับ 19 คำสั่ง