เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 10512 อะไรกำลังเกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ไทย
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 22 ต.ค. 01, 06:06

ช่วงนี้เราได้ยินข่าวคาวๆ ในวงการพระสงฆ์กันอีกแล้ว  ผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวเท่าไหร่แต่ก็รู้สึกหดหู่
เป็นอย่างมาก  รู้สึกว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ เราได้ยินข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับพระสงฆ์ถี่เหลือเกิน ตั้งแต่
สมีนิกร สมีภาวนาพุทโธ สมียันตระ ไชยบูลย์ สุดท้ายนี่ก็เป็น  อิสสระมุนี  ทำให้ผมเฝ้าแต่ถามตัวเอง
เสมอว่าทุกวันนี้มันเกิดอะไรกันขึ้น   ผมเองยังไม่เคยบวช แต่ตอนเป็นวัยรุ่นก็มีความใกล้ชิดกับวงการ
ผ้าเหลืองพอสมควร ทำให้รู้จักวงการนี้เป็นอย่างดี  พระส่วนมากที่ผมได้สัมผัสไม่ค่อยได้ปฏิบัติตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธองค์แถมยังทำในสิ่งที่ตรงข้ามอีกด้วย  คุณเคยเห็นมั้ย พระอ่านหนังสือโป๊
พระเล่นม้า พระเล่นหวย ฯลฯ แทบจะเรียกได้ว่าเมื่อบวชเป็นพระแล้วปฎิบัติตนไม่แตกต่างจากฆราวาส
ทั่วไปเท่าไหร่เลย  สิ่งเหล่านี้คนที่ไม่เคยใกล้ชิดไม่เคยคลุกคลีอยู่กับวงการพระสงฆ์อาจจะไม่รู้  พระพวกนี้
เวลาอยู่ต่อหน้าญาติโยมก็ทำตัวให้น่าเลื่อมใส ศรัทธา พูดจาหวานหู โยมจ๊ะ โยมจ๋า ญาติโยมที่มาทำบุญด้วย
ก็ไม่รู้ นึกว่าพระท่านงามน่าเลื่อมใส ทำบุญเสร็จก็อิ่มอกอิ่มใจกลับไป หารู้ไม่ว่าพระรูปนั้นไม่ได้ปฏิบัติตน
ให้สมกับเป็นผู้ที่ต้องควรเคารพอย่างใดเลย

พระเดี๋ยวนี้ปฏิบัติตนไม่น่าเลื่อมใสเหมือนเมื่อก่อน อาจเป็นเพราะพระบางส่วนไม่ปฏิบัติตามวัตร
เห็นได้จากคำล้อเกี่ยวกับพระเล่นๆคือ เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด ดึกซัดมาม่า
ผมไม่รู้ว่าคนทั่วไปยอมรับพระจำพวกนี้ได้อย่างไร พระในอุดมคติของผมต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ทั้งกายและจิตใจ ประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างแก่ญาติโยม ต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพนับถือ
กริยามารยาทต้องสำรวม เจอพระที่ไหนก็ไหว้ได้อย่างสนิทใจ แต่ในปัจจุบันจะหาพระที่มีคุณสมบัติ
พร้อมอย่างนี้ได้ซักกี่รูปกัน  เห็นมีแต่พระที่ดูหมอ พระใบ้หวย พระแย่งสายบิณฑบาต พระแย่งคิว
รับนิมนต์ พระปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ฯลฯ  แทนที่จะแนะนำให้ญาติโยมดำเนินชีวิตไปในแนวทาง
ที่ถูกต้อง ไม่หลงมัวเมาในอบายมุข เพื่อที่จะทำให้สังคมสงบสุขขึ้น กลับทำในสิ่งที่เป็นตรงข้ามเสียสิ้น
เคยได้ยินพระบางรูปอ้างว่าที่ต้องทำอย่างนั้น เพื่อเป็นอุบายที่จะทำให้คนเข้าหาพระเข้าหาวัดมากยิ่งขึ้น
ฟังแล้วก็แสนสมเพชในการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆ

ผมเคยถกกับเพื่อนที่เรียนมาทางการวัดผลประเมินผลเกี่ยวกับเรื่องพระอยู่เสมอๆ ว่าควรจะมีแนวทาง
ในการประเมินคุณภาพของพระสงฆ์เพิ่มเติมจากวินัยสงฆ์ด้วย จะปล่อยให้เป็นแบบคำโบราณ คือชั่วช่างชี
ดีช่างสงฆ์ไม่ได้แล้ว ยิ่งปล่อยไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับศาสนาพุทธ  พระต้องปฏิบัติตน
ให้มีคุณภาพ ต้องศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ มิใช่วันๆ เอาแต่
ทำตัวสบาย คอยแต่จะสะสมปัจจัย พระที่ไม่มีคุณภาพต้องหาทางกำจัดให้ออกไปจากศาสนาให้หมด
แนวคิดของผมคือต้องมีการจัดสอบวัดความรู้ของพระเป็นประจำทุกปี พระรูปไหนทำคะแนนไม่ผ่านก็ต้อง
สึกไป ก่อนที่จะเข้ามาเป็นพระนั้น อาจจะต้องมีการสอบเข้าเหมือนสอบเอ็นทรานซ์ด้วย (อาจจะเรียกว่าวัดแวว
ความเป็นพระก็ได้) นอกจากนั้นยังต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดกรองคนที่มีความเลื่อมใส ประสงค์
ที่จะบวชจริงๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าจะเป็นแนวทางในการยกระดับพระสงฆ์ให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรรมวิธีในการสอบ การสัมภาษณ์จะต้องผ่านการวัดผลและประเมินผลแล้วเป็นอย่างดีว่า
สามารถคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มิใช่ว่าใครอยากจะบวชก็บวชได้ ขอให้ไม่ขัดกับลักษณะ
ที่พระพุทธองค์กำหนดไว้ก็พอ และผมว่าญาติโยมก็จะมีความภูมิใจในตัวพระมากขึ้น เพราะพระเป็นผู้มี
ความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง เมื่อสึกออกมา ก็สามารถเรียกว่า "ทิด" ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

อีกแนวคิดหนึ่งคือ ควรจะแบ่งประเภทของพระให้ชัดเจนว่าเป็นพระจำพวกใด การที่ต้องแบ่งประเภท
ของพระนั้น ทำให้เราสามารถจำแนกพระได้ และไม่ต้องไปเข้มงวดกับประเด็นที่ผมเสนอข้างต้นมากนัก
เช่น อาจจะแบ่งพระออกเป็น ๓ ประเภทได้แก่ ๑. พระที่บวชเพื่อศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง  
๒. พระบวชแก้บน และ ๓.พระที่บวชตามประเพณี การจำแนกพระอาจจะแบ่งโดยกำหนดสีของจีวร
เช่น พระตามข้อ ๑. ห่มจีวรสีเหลือง พระตามข้อ ๒. ห่มจีวรสีน้ำหมาก พระตามข้อ ๓. ห่มจีวรสีเปลือกไม้
เป็นต้น  และก่อนจะบวชก็ต้องถามผู้ที่จะบวชด้วยว่ามีความประสงค์จะเป็นพระประเภทใด  ซึ่งประเภทของ
พระนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เช่นปกติแล้วจะต้องบวชตามประเพณี แต่พอบวชไปได้ซักพัก เกิดเลื่อมใส
ดวงตาเห็นธรรมก็เปลี่ยนเป็นพระตามข้อ ๑.ได้ (หากว่ามีความรู้เพียงพอ)  เวลาญาติโยมเจอจะได้จำแนก
พระได้ถูก และสามารถกำหนดมาตรฐานได้ว่า พระประเภทใดจะอนุโลมให้เกิดความผิดพลาดต่อสิกขาบท
ได้มากน้อยเพียงใด   นอกจากนั้นแล้ว การครองตนของพระทั้งสามประเภทก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า
สิ่งของที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนั้นห้ามใช้ มีแต่อัฐบริขารก็เพียงพอแล้ว เวลาผมเห็นพระใช้ของฟุ่มเฟือย
จำพวกมือถือ รถยนต์ราคาแพงๆ กุฏิหรูๆ ก็ถามตัวเองว่า พระมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องใช้
สิ่งของเหล่านั้น ก็ได้คำตอบว่าไม่จำเป็นเลย  อาหารก็มีฉัน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ญาติโยมก็ถวายจนใช้
ไม่หมดต้องแบ่งให้เด็กวัดเอาไปขายบ้าง  เป็นพระแทบไม่ต้องใช้เงินเลยด้วยซ้ำไป   แล้วอีกอย่างที่ผมเห็น
แล้วทุเรศนัยน์ตามากๆคือพระสูบบุหรี่  เวลาคุยกับญาติโยมนิ้วก็คีบบุหรีสูบพ่นควันปุ๋ยๆ ทีเดียว ผมเจอ
พระพวกนี้แล้วผมจะไม่ไหว้เลย เพราะไม่นับถือ ผมถือว่าเป็นพวกจิตใจไม่เข้มแข็งแม้กระทั่งจะเลิกบุหรี่ก่อน
ค่อยมาบวชก็ยังทำไม่ได้  แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องอื่นๆ ที่ยากกว่านั้นหลายเท่า จะทำสำเร็จไปได้อย่างไรกัน
ผมจะจินตนาการต่อไปด้วยว่าพระพวกนี้คงจะบำเพ็ญศีลภาวนาทำใจให้ผ่องใสไม่ได้แน่ เพราะเวลาทำแล้ว
เกิดนึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาก็เหลว จิตใจไม่เป็นสมาธิ วอกแวก เวลาไม่มีบุหรี่สูบก็หงุดหงิด แล้วจิตใจมัน
จะผ่องใสไปได้อย่างไร และพฤติกรรมอย่างนี้มันเหมาะกับความเป็นพระหรือ...

ที่ผมบ่นมาก็ยาวพอสมควรแล้ว มันอัดอั้นตันใจยังไงชอบกล ได้ระบายออกมาบ้างก็ดี ทั้งๆ ที่รู้ว่ามัน
ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นอย่างทันอกทันใจ และประเด็นที่เสนอไปข้างต้นมันแทบนำไปปฏิบัติจริงไม่ได้ ขอย้ำ
ว่าเป็นเพียงแนวคิดของผมซึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่เคยบวชเท่านั้น อาจจะมีผิดมีถูกบ้างตามประสาคนหนุ่มเลือดร้อน
ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็ทราบว่ายังมีพระที่ดีน่าเคารพอยู่อีกมากมาย และแก่นของศาสนาพุทธเองก็มิได้สอนให้
ยึดติดกับตัวบุคคล ให้อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนเป็นที่ตั้ง  แต่มันก็อดคิดไปไม่ได้ว่า ปลาเน่าตัวเดียว
มันย่อมเหม็นไปทั้งข้อง  เวลาเห็นพระปฏิบัติไม่เหมาะสมก็อารมณ์เสียทุกที   สุดท้ายนี้ก็อยากจะถาม
ผู้รู้ว่า  พระรูปไหนต้องปาราชิกแล้วทำไมจะต้องไปจับสึกกันอีก เพราะผมเข้าใจว่าพระที่ต้องปาราชิกนั้น
ต้องพ้นสภาพจากการเป็นพระทันที มิต้องจับสึกให้เสียเวลามิใช่หรือ ถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้ว่าพระต้องปาราชิก
แต่ตนเอง(พระ)ก็ต้องรู้ตัวเองดีอยู่ คำว่าปาราชิกนั้นตามศัพท์แล้วน่าจะหมายถึงพ่ายแพ้แก่ตัวเอง
(คนที่เก่งศัพท์ทางศาสนาช่วยยืนยันด้วย ผมเห็นจะต้องไปทบทวนนวโกวาทดูอีกที) การพ่ายแพ้แก่ตัวเอง
หมายถึงว่าไม่สามารถควบคุมตนให้ปฎิบัติตามสิกขาบทที่กำหนดไว้ได้ เพราะฉะนั้น หากยังมีความละอายและ
เกรงกลัวต่อบาปอยู่ พระที่ต้องปาราชิกจึงควรละผ้าเหลืองออกโดยทันที เพื่อมิให้ผ้าเหลืองอันเป็นเครื่องแบบ
ของผู้ทรงศีลต้องมัวหมองไปด้วย แต่ทุกวันนี้เราได้ยินอยู่เสมอๆ ว่าตำรวจจับพระที่ต้องปาราชิกไปให้
เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอจับสึก  ก็เลยไม่แน่ใจว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เพราะผมยังเข้าใจว่า
หากพระรูปใดต้องปาราชิกก็จะถือว่าขาดจากความเป็นพระโดยทันที หากไม่ละผ้าเหลืองออกก็เป็นเพียง
แต่ฆราวาสที่นำผ้าเหลืองมานุ่งห่มเท่านั้น หากจับได้ก็น่าจะโดนข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์อีกกระทงนึงด้วย
บันทึกการเข้า
พามิลา ปาณบดี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ต.ค. 01, 21:46

เห็นด้วยกับคุณแจ้งค่ะ
คุณแจ้งแสดงความเห็นได้ถูกใจจริงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
แววพลอย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ต.ค. 01, 21:58

เฮ้อ..ไม่แค่นั้นนะคะ  อุบาสก อุบาสิกา ก็มีส่วนด้วยนะคะ ที่เผลอไปนับถือ พระแบบนั้นทั้งๆที่รู้.....บางคนท่านก็ว่า  มารไม่มี  บารมีไม่เกิด
ใจเสียเลยค่ะ  .....ที่บางที ได้ยิน ผู้ชายบางคน พูดหน้าตาเฉยว่าเป็นเรื่องธรรมดา แถมบอกว่า  ลัทธิ..บางลัทธิน่ากลัวกว่าเยอะ แค่นี้ไม่น่าเป็นไร  เฮ้อ   ขอถอนใจอีกรอบ
บันทึกการเข้า
เจ้าแสงหล้า
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ต.ค. 01, 22:14

เราควรนับถือพระธรรม มากกว่ายึดติดกับตัวพระสงฆ์ นะคะ      ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะสบายใจขึ้นค่ะ แววพลอย
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ต.ค. 01, 23:55

เข้ามานั่งพับเพียบกราบคุณแจ้ง เอ๊ย  กราบพระค่ะ

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยสอนแม่หญิงค่ะ ว่า  
พระพุทธ หมายถึงพระพุทธรูป คือ ปูนปั้นปิดทอง  ส่วนพระสงฆ์ ก็คือ ผู้ชายที่ห่มจีวรเหลือง  และถือศีลได้มากบ้างน้อยบ้าง
ดังนั้น  สิ่งที่เราควรเคารพ และยึดถือแท้จริง
คือ พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พระสงฆ์อาจทำให้ศาสนาเสื่อม   แต่พระธรรมไม่เคยทำให้เสื่อมค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 02:33

ท่านอาจารย์พุทธทาส เคยบอกว่า
...กราบพระพุทธ  ระวังสะดุดอยู่แค่ก้อนทองคำ
กราบพระธรรม ระวังไปขยำเอาแต่ใบลาน
กราบพระสงฆ์ ระวังจะหลงไปถูกแต่ลูกขาวบ้าน...

ขยายความว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้ที่จริงนั้นไม่ได้อยู่ตรงที่เราคนธรรมดาจับได้ผิวๆ พุทธภาวะ พุทธคุณ นั้นมีจริงและไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระพุทธรูป ที่เป็นสิ่งสมมติแทนเตือนใจเราให้น้อมไปถึงพระพุทธคุณ โดยตัวเองแล้วพระพุทธรูปก็เป็นแค่ก้อนโลหะ แต่สิ่งที่ทำให้พระพุทธรูปมีคุณค่าก็เพราะความหมายที่อยู่เบื้องหลัง เวลาเรากราบพระ ขอให้กราบไปถึงความหมายแท้เบื้องหลังนั้น

ธรรมะก็ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในสมุด หนังสือ ใบลาน ตำรา ธรรมะแท้มีความหมายกว้างกว่าสูงกว่านั้น คัมภีร์ใบลานหรือคัมภีร์อื่นๆ สามารถช่วยเราได้ในการพยายามเข้าใจเข้าถึงธรรมะตัวแท้ จนเอามาใช้เอามาปฏิบัติได้ ได้ผลจริง ดับทุกข์ได้จริง จนสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดที่มนุษย์พึงเข้าถึงได้ในที่สุดสักวัน ในแง่นี้ ใบลานหรือตำราก็สำคัญมาก แต่ไม่ใช่ว่าสำคัญที่สุด และไม่ใช่เป็นตัวธรรมะแท้ที่สุด (เซนบอกว่า "นิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ มิใช่ตัวดวงจันทร์เอง")

พระสงฆ์ก็เหมือนกัน พระสังฆคุณนั้นมีอยู่จริงแท้แน่นอน อย่าสงสัยไปเลย แต่ถ้าเราเห็นพระเดินมารูปหนึ่งก็เป็นแค่คนโกนหัวใส่เครื่องแบบอย่างหนึ่งเท่านั้น การโกนหัวห่มจีวรไม่ได้ทำให้คนเป็นพระขึ้นมาทันที เพราะคนๆนั้น ก็ยังเป็นลูกชาวบ้านนั่นแหละ คุณค่าแท้ของพระสงฆ์อยู่สูงมากไปกว่านั้น ถ้าว่าตามบทสรรเสริญพระสังฆคุณ ("สุปฏิบันโนสาวกสังโฆ..." ฯลฯ) แล้ว  รัตนะองค์ที่สามคือสังฆรัตนะนั้นท่านมุ่งเอาพระอริยสงฆ์นะครับ ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติงาม เป็นอริยบุคคลแปดจำพวก นับตั้งแต่ท่านที่เริ่มจะหลุดพ้น คือกำลังได้เข้าอยู่ในทางของพระโสดาบันแล้ว ไปจนถึงท่านที่หลุดพ้นเด็ดขาดคือได้เสวยอรหัตตผลแล้ว อยู่ในบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณหมดแล้วครับ นั่นแหละสังฆรัตนะดวงจริง ซึ่งคุณไหว้ไปเถิด ไม่ผิดแน่

พระที่เราเห็นๆ จนทำให้คุณแจ้งกลุ้มใจนั้น ท่านเป็นแต่สมมติสงฆ์ คือสมมติเอาขึ้น เทียบได้ว่าพระพุทธรูปที่เป็นตุ๊กตาทองคำไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์จริง แต่มีคุณค่าทางสัญลักษณ์ให้เราน้อมนำใจไปถึงพระพุทธเจ้าองค์จริงได้ฉันใด พระห่มเหลืองๆ นี่ท่านก็เป็นสงฆ์โดยสมมติฉันนั้น บางท่านก็พยายามไปสู่ภาวะอริยสงฆ์เท่าที่ท่านจะทำได้ แต่หลายท่านก็ - เป็นลูกชาวบ้านธรรมดานี่แหละครับ มีทั้งดีและไม่ดี ( "ชาวบ้าน" ในที่นี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ได้ตั้งใจดูถูกชาวชนบทหรือยกย่องชาวเมือง ท่านเพียงหมายความว่าปุถุชนคนธรรมดาๆ เท่านั้นเอง คนกรุงก็เป็น "ชาวบ้าน" ได้ เศรษฐีผู้ดีก็เป็น "ชาวบ้าน" ได้ ฝรั่งก็เป็น "ชาวบ้าน" ได้)

เวลาเจอพระที่เป็นสมมติสงฆ์เดินมา เรายกมือไหว้ไปแล้ว ตอนไหว้นั้นต้องทำใจว่าเราไหว้ไกลไปถึงสิ่งที่ท่านเป็นตัวแทนครับ เรียกว่าไหว้ผ้าเหลือง ธงชัยพระอรหันต์ แล้วทีนี้ถ้าเฉพาะตัวท่านจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราก็เลื่อมใสศรัทธาตัวท่านไปได้ต่อไป เกิดฅโชคร้ายไปเจอโล้นห่มเหลืองที่เป็นพยาธิศาสนา มีพฤติกรรมที่เราทนไม่ได้ ก็ขอให้ถือว่าที่ไหว้ไปแล้วนั้นเป็นการไหว้ผ้าเหลือง เวลาตักบาตรไปแล้วก็อุทิศบูชาไปถึงสงฆ์ที่แท้ ไม่ต้องไปนึกโกรธนึกเสียดายไหว้เราข้าวเรา จิตเราจะเศร้าหมองเองเปล่าๆ พอเห็นพฤติกรรมของโล้นเฉพาะคนนี้ ก็ขอให้วางอุเบกขา แล้วจัดการไปตามที่ถูกที่ควรจะทำ อุเบกขาไม่ได้แปลว่าวางเฉยอยู่เฉยๆ ครับ แปลว่าทำใจให้เป็นกลาง ไม่ต้องไปโกรธเขาเกลียดเขากลัวเขาหลงเขา จัดการไปตามสมควร เช่นแจ้งไปตามที่มีหน่วยงานทางการคณะสงฆ์มีหน้าที่เกี่ยวข้อง อย่างนี้ คุณจะได้ไม่เสื่อมศรัทธาในพระสังฆรัตนะ ไม่เสียอารมณ์เองเพียงเพราะโล้นห่มเหลือง และได้ช่วยทำให้พระศาสนาเราดีขึ้นด้วยโดยไม่ปล่อยไปเฉยๆ แต่ถ้าเราทำหน้าที่แล้ว ฝ่ายอื่นเขาไม่ทำหน้าที่เขา ก็ต้องวางอุเบกขาเหมือนกัน ผมเชื่อกฏแห่งกรรมครับ กรรมมีจริง
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 03:19

หวังว่าจะทำให้คุณแจ้งสบายใจขึ้นได้บ้าง

ในการตีความอีกแง่หนึ่ง พระรัตนตรัย  รัตนะมีองค์สามนั้น นอกจากพระพุทธจะไม่ได้แปลว่าแค่ทองคำพระธรรมไม่ใช่เพียงใบลานและพระสงฆ์ไม่ใช่แค่คนลูกชาวบ้านห่มเหลือง - แล้ว ท่านยังตีความไว้อีกอย่างเป็นเชิงนามธรรมที่ลึกซึ้ง ผมจำมาได้สะเก็ดผิวๆ ว่า

พระพุทธ นั้นเราอาจหมายถึงพระพุทธเจ้าองค์จริงตามประวัติศาสตร์ คือเจ้าชายสิตธัตถะที่เคยทรงพระชนม์อยู่ที่อินเดียก็ได้ แต่จริงแล้วก็ไม่ใช่หรือไม่ควรใช่แค่นั้น พระพุทธ เป็นสภาวะ เป็นสภาพที่เจ้าชายสิตธัตถะทรงเข้าถึง ที่เปลี่ยนพระองค์จากสิตธัตถะให้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ภาษามหายานอาจจะเรียกว่าพุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ เถรวาทเราจะเรียกว่าพระพุทธคุณก็คงได้ ว่าโดยสรุปก็คือความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน สภาวะอันนี้เจ้าชายสิตธัตถะทรงเข้าถึงก่อนและพวกเราเรียกท่านว่า พระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้แปลว่ามีแต่พระองค์ท่านเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ใครๆ ก็เข้าถึงได้ในระดับต่างๆ (พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น บางทีท่านก็เรียกว่าอนุพุทธ)

พระธรรมนั้นเราเรียนมาในโรงเรียนว่าคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (อดีตเจ้าชายสิตธัตถะ) ก็ถูกอยู่แต่ไม่ควรจะแค่เท่านั้น พอพระพุทธเจ้าท่านไปถึงพุทธภาวะเองแล้ว ท่านสอนอะไร ท่านสอนวิธีสอนทางที่จะให้เราคนอื่นๆ ไปสู่ภาวะนั้นได้ด้วยครับ ซึ่งมีการเตรียมการเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานง่ายๆ ที่สุดไปจนถึงขั้นสูงสุดลึกซึ้งที่สุด แต่ทุกข้อมุ่งที่จะเอื้ออำนวยให้เราตามท่านไปได้ไปสู่ภาวะนั้นได้ทั้งนั้น ไม่ใช่สอนอะไรไม่รู้ไปลอยๆ มีจุดหมายสูงสุดที่แน่นอนเป็นหลักอยู่ อันนี้มีพยานอยู่เป็นพระพุทธดำรัสที่ป่าประดู่ลาย ว่าด้วยใบไม้ในกำพระหัตถ์กับใบไม้ในป่าทั้งป่า หาอ่านเอาได้ง่ายๆ จึงขอไม่เล่านะครับ แต่สรุปว่า ธรรมะไม่ใช่แค่คำสอนของคนๆ หนึ่ง แต่เป็นทางเดินหรือวิธีไปสู่ความดับทุกข์

พระสงฆ์ล่ะ พระสงฆ์คือสาวกของพระพุทธเจ้า ว่ากันมาอย่างนั้น ก็ไม่ผิดแต่ไม่ถูกหมด ตามศัพท์นั้น สังฆะ แปลว่า หมู่ พวก กลุ่ม เหล่า ดังนั้น จะแปลให้หรูๆ ก็ได้ว่า ประชาคม หรือ community สังฆรัตนะคือประชาคมของผู้ปฏืบัติธรรม เป็นพยานยืนยันถึงความมีจริงใช้ประโยชน์ได้จริงของพุทธรัตนะ และธรรมรัตนะ รัตนะทั้งสามจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องกันไปหมดแยกจากกันไม่ได้ พุทธภาวะเป็นสภาพความดีความงามความจริงสูงสุด ดับทุกข์เด็ดขาดสิ้นเชิง มีสภาพรู้ ตื่น เบิกบาน ธรรมะคือหนทางไปสู่สภาวะนั้น หรือคืออะไรที่จะทำให้บรรลุภาวะนั้นได้
ส่วนหมู่สงฆ์ คือผู้ปฏิบัติธรรมผู้เดินบนทางสายนี้ไปสู่เป้าหมายสูงสุดนั้น รวมทั้งท่านที่ประสบความสำเร็จขั้นต่างๆ (อริยะ 4 คู่ 8 บุคคล) แล้วด้วย เป็นพยานหลักฐานที่มีเลือดมีเนื้อมีชีวิตอยู่ในสังคมว่า พุทธะและธรรมะนั้นยังมีอยู่จริง เวลาเราระลึกถึงพระสังฆคุณ นอกจากเราไหว้พระอริยสงฆ์ที่เดินล่วงหน้าเลยเราไปบนทางสายนี้ไปถึงเป้าหมายขั้นต่างๆ แล้ว และเราไหว้พระสมมติสงฆ์ที่ท่านพยายามอยู่ เดินนำเราไปแล้ว เป็นสื่อให้เรานึกไปถึงพระอริยะได้ ยังมีที่สำคัญที่สุด คือการไหว้สังฆรัตนะหรือประชาคมโดยรวมของผู้ปฏิบัติธรรมนี่ เป็นการเตือนตนเองว่าตัวเราเองก็มีศักยภาพในตัวเองในอันที่จะทำดี ในอันที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนนี้ ในอันที่จะต่อขบวนแถวเดินไปบนทางสายนี้ด้วย อาจจะล้าหลังหน่อย เผลอหลงออกนอกทางไปบ้าง แต่ก็มุ่งหน้าไปในทิศทางสายที่ถูกต้องได้ เราทำได้กันทุกคนครับ

ถ้าถืออย่างนี้ คนที่ห่มเหลืองแต่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่สมาชิกประชาคมสังฆะครับ แค่ปลอมมา แต่งตัวคล้ายๆ กัน เวลาเราสวดมนต์ ไหว้พระ ไม่ต้องนึกว่าเราไหว้พวกนี้ครับ

... วิสัชนามา (โดยไม่มีใครนิมนต์เลย เปรี้ยวปากอยากพูดเอง) พอสมควรแก่เวลา หรือเกินสมควรแก่เวลาไปนานแล้ว เอวัง ก็ควรจะมีที่ตรงนี้เสียที ด้วยประการฉะนี้ แลฯ

หากผิดพลาดประการใดขอท่านผู้ต้องทนอ่านทนฟัง จงได้ให้อภัยแก่อาตมา เอ๊ย ข้าพเจ้า ผู้มีสติปัญญาอันน้อย ด้วยเทอญฯ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 10:53

ผมมองว่าวัดคือโรงเรียน ปัญหาของสงฆ์สะท้อนถึงปัญหาของโรงเรียน พระสงฆ์เป็นทั้งครู และนักเรียน ปัญหาอยู่ที่มาตรฐาน เรามีกฎมีเกณฑ์อยู่ แต่เราสามารถรักษามาตรฐานอันนั้นไว้ได้หรือไม่ เด็กสอบตก ครูปล่อยให้ผ่านเป็นการทำประโยชน์ให้กับเด็กและสังคมหรือว่า ก่อให้เกิดโทษกันแน่
ผมไม่เห็นด้วยกับคุณแจ้งฯในประเด็นการแบ่งประเภทสงฆ์นักเพราะเท่ากับการลดมาตรฐาน พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติวินัยสงฆ์ไว้โดยหลักการคือให้สงฆ์เป็นที่เคารพ ทั้งนี้วินัยนั้นได้กำหนดขั้นความรุนแรงของโทษอยู่แล้ว แต่เห็นด้วยในประเด็นปาราชิกถือว่าขาดแต่ปฏิบัติ ตัวเองต้องรู้ จะเป็นกฎเกณฑ์ทางโลกมาจับอย่างรมช.ช่วยศึกษาฯพูดนั้นผมว่าไม่เข้าท่าเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องสงฆ์นี้เป็นเรื่องซับซ้อน ผมไม่คิดว่าพระพุทธองค์จะมีเจตนาคาดหวังให้พระสงฆ์เป็นเพียงผู้แสวงหานิพพาน แต่ต้องมีหน้าที่ในการสืบทอดพระศาสนาเป็นหลักใหญ่(ซึ่งจำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่พิเศษและน่าเคารพนับถือ) สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นสิ่งที่ปกติหรือไม่ เพราะโดยหลักฐานนั้นต้องยอมรับว่าพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยนั้นมีมานานแล้ว(จากร่องรอยในวรรณกรรม) อย่างน้อยตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาก็มีเรื่องนี้อยู่แล้วแน่นอน สมัยนี้สื่อมีประสิทธิภาพมาก ทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก และเป็นประเด็นที่สำคัญขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ วินัยสงฆ์ในปัจจุบันก็อาจจะเสื่อมมากขึ้นก็ได้
ผมเองอยากให้มองพุทธเป็นพุทธ แก่นคือปัญญา แต่ต้องไม่ลืมกระพี้ เพราะเป็นสิ่งที่คนมองเห็น ถ้าต้องการให้พุทธได้ทำงานอย่างเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ต้องสร้างภาพของสงฆ์ให้งดงาม การควบคุมคุณภาพต้องดีเยี่ยม ไม่ใช่ว่าพระต้องดีทุกรูป แต่พระไม่ดีต้องถูกกำจัดออกจากระบบ ทำวงการสงฆ์ให้น่าเลื่อมใส แล้วจึงสอนธรรมให้ชาวบ้าน
บันทึกการเข้า
B
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 12:41

Khun NKK. ka, I really admire your knowledge and the way you communicate that to others.
If I have any chance to see you in the future, I would like to express my great admiration for you by...hae..hae..."wai" ka. (At least I am your fellow na ka.)
บันทึกการเข้า
คุณพุ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 12:56

คุณแจ้งอารมณ์ไม่ค่อยดี ได้บ่นแล้วค่อยรู้สึกดีขึ้นไหมคะ ตอนแรกที่เห็นชื่อกระทู้ ก็ประสาคนแก่นะคะ คำพูดแรกที่แล่นเข้ามาในหัวก็คือ ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ซึ่งคุณแจ้งได้บอกไว้ว่า ช่างไม่ได้อีกแล้ว
ขอแสดงความคิดเห็นบ้างนะคะ บนพื้นฐานที่ต้องการเห็นสิ่งที่ดีขึ้น แต่อาจจะคนละมุมมองกับคุณแจ้ง

เวลาดิฉันกราบพระพุทธรูป ดิฉันน้อมใจไปถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพระคุณที่ทรงนำ พระธรรมอันมีอยู่คู่โลกมาเผยแผ่ ส่วนพระสงฆ์นั้นดิฉันกราบไหว้ด้วยสรรเสริญที่ท่านสละความสบายทางโลก มุ่งศึกษาธรรมะเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

จริงค่ะ คนเราบวชด้วยเหตุผลต่างๆ กัน มีคนเคยจำแนกไว้ว่า พวกที่จะมาบวชก็ประเภท อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารโทรม ถ้าพระที่ตั้งใจบวชได้ยินคงเสียใจนะคะ เรื่องเหตุผลในการบวชนี่ แม้เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ยังเคยนำทางงามมาล่อให้พระบางรูปบวชและปฏิบัติธรรมเสียด้วยซ้ำ ดิฉันไม่เห็นว่าน่าจะนำมาเป็นสิ่งพิจารณาการครองผ้าของพระ  ถ้าพระครองผ้าต่างกันอย่างคุณแจ้งว่า เราก็ต้องให้ความเคารพท่านในระดับที่แตกต่างกันด้วยหรือเปล่าคะ แล้ววัตรปฏิบัติของท่านก็ต่างกันด้วยหรือเปล่าคะ พระที่บวชแก้บนอนุญาตให้ถือศีลน้อยกว่า ทานมาม่ารอบดึกได้? เหตุไม่ใช่สิ่งสำคัญ ที่สำคัญคือขณะครองผ้าเหลือง ท่านปฏิบัติตัวได้เหมาะสมหรือไม่มากกว่า

อย่างเรื่องพระสูบบุหรี่ ถ้ามานั่งพ่นๆ ต่อหน้าญาติโยม ดิฉันก็ไม่ค่อยชอบ อาจจะเป็นเพราะพวกเราอยู่ในยุคสมัย ที่มีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ มองว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งเลวร้าย ในขณะที่ยุคสมัยหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนการกินหมาก ดิฉันอยากให้มองว่ามันเป็นแค่เปลือกค่ะ พระอรหันต์บางรูปยังยุกยิกไม่สำรวมเลยค่ะ สิ่งเหล่านี้พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นวาสนาที่ติดตัวมา บางทีก็ยากจะแก้ไข สมภารกร่างวัดไผ่แดงชอบมวยเป็นที่สุด หรือสมภารวัดแคก็ชอบโขกหมากรุก  Nobody‘s perfect. ค่ะ ดิฉันคิดว่าเราน่าจะตรวจทานกันที่ศีลนะคะ เพราะดิฉันจะนับถือผู้ที่มีศีลสูงกว่าดิฉัน ไม่ใช่ฐานะหรือตำแหน่งการงานสูงกว่าค่ะ

ดิฉันมีความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่พระเสียก็เพราะพุทธศาสนิกชนเน้นการถวายอามิสบูชา ลาภสักการะ ตาลปัตรพัดยศ จนถึงถวายตัวกันนั่นแหละค่ะ ดิฉันยืนกรานความคิดว่า คนจากอาณาจักรไม่ควรจะเข้าไปจัดระบบให้สงฆ์ในพุทธจักร เพราะแค่นี้ก็ทำให้ท่านว่อกแว่กมากพอแล้ว ท่านต้องจัดการของท่านกันเองค่ะ ถ้าไม่ทำก็ล่มจมไปก็เท่านั้น ลองเปรียบเทียบดูนะคะคุณแจ้งว่า ถ้ามีใครหน้าไหนก็ไม่รู้ มาบอกว่าหน่วยงานที่คุณแจ้งทำงานให้บริการห่วยมาก จะเข้ามาจัดระบบให้ใหม่ คุณแจ้งจะยอมหรือคะ เขาอาจจะเสนอว่า คนที่สอบเข้ามาทำงานให้แต่งชุดพระราชทาน  ใครที่เป็นเด็กฝากให้แต่งชุดธรรมดา ใครขยันให้ติดป้ายชื่อทอง ใครชอบโดดงานให้ติดป้ายพลาสติก ถ้าคุณแจ้งเป็นคนใน คือเป็นพระแล้วอยากลุกขึ้นมาจัดระบบสงฆ์ใหม่ ดิฉันสนับสนุนเต็มที่ค่ะ

ดิฉันกลัวใจเหล่าอุบาสกอุบาสิกาที่แสวงหาพระดีๆ นี่แหละค่ะ บางทีท่านอุตส่าห์หลบเข้าป่าปฏิบัติธรรม ก็ตามไปรบกวนท่าน อยากกราบพระดีๆ

ถ้าคิดว่าพระดีๆ ใกล้ๆ ตัวไม่ได้แล้ว อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนนี่แหละค่ะ เป็นที่พึ่งแห่งตน แบ่งเวลาสักวันละครึ่งชั่วโมง สวดมนต์หรืออ่านหนังสือธรรมะ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา สิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติบูชาเหล่านี้ได้เริ่มทำกันบ้างหรือยังคะ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 16:29

ตอบคุณแจ้งค่ะ
หากพระรูปใดต้องปาราชิกก็จะถือว่าขาดจากความเป็นพระโดยทันที หากไม่ละผ้าเหลืองออกก็เป็นเพียง แต่ฆราวาสที่นำผ้าเหลืองมานุ่งห่มเท่านั้น
ถูกต้องค่ะ
ทางพุทธศาสนาถึอว่าถึงไม่มีใครเห็น   ก็ถือว่าต้องอาบัติแล้ว  

อาบัติปาราชิกนี้กลับมาบวชอีกไม่ได้ด้วย

แต่ตำรวจจับไปสึกอีกที หมายถึงเอาผ้าเหลืองออกจากตัวแบบเป็นทางการ เพราะการปกครองพระสงฆ์ของเรายังมีขั้นตอนเกี่ยวกับทางบ้านเมืองอยู่
ต้องทำกันให้ชัดแจ้ง  มิฉะนั้นพระที่ต้องอาบัติปาราชิกบางรูปก็อาจทำไม่รู้ไม่ชี้ครองผ้าเหลืองต่อไป   เรียกว่าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรือไล่ทันแล้วก็ยังไม่ยอมละผ้าเหลือง  เห็นแก่ตัวอยู่ว่างั้นเถอะ  

สมัยโบราณสังฆการีทำหน้าที่นี้   ลองเจ้าอาวาสชี้ว่าองค์ไหนทำผิดถึงขั้นต้องสึกละก็   สังฆการีปราดเข้าไปดึงผ้าเหลืองออกเลย  ถือว่าอยู่ต่อจะมัวหมองศาสนา   จนถึงรัชกาลที่ ๕ ก็ทำกันอยู่

พระสงฆ์ประพฤติตนมัวหมองมีมาทุกยุค    เมื่อรัชกาลที่ ๑ ขึ้นครองราชย์ก็จับสึกมาเสียนักแล้ว   รัชกาลต่อๆมาก็ทำกัน     แม้ในรัชกาลนี้  อดีตอธิบดีกรมการศาสนา คุณพินิจ สมบัติศิริ  ผู้ล่วงลับไปแล้ว นั่งรถไปตามถนนเห็นพระประพฤติผิดวินัย  ท่านลงจากรถกลางถนนนั่นเองมาเอาตัวไปให้เจ้าคณะจัดการลงโทษทันควัน    ไม่เคยถือหลักชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์  
เพราะความคิด "ช่าง" ทำให้แก้วหนึ่งในสามของพระรัตนตรัย คือพระสงฆ์ ต้องมัวหมองกระทบถึงส่วนรวม  และต่อไป พุทธศาสนาก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางโลก  หากชาวบ้านไม่เข้มเข็งต่อการควบคุมพระอีกแรงหนึ่งนอกจากเหนือจากองค์การเกี่ยวข้อง
บันทึกการเข้า
ลูกนวมินทรฯ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 17:36

ไม่มีความเห็นค่ะ เพราะว่าไม่กล้าจะแสดง กลัวท่านอื่นๆจะหาว่าเป็นพวกนอกนิกายไปเสีย
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 23:09

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็น หลังจากที่ผมกลับมาอ่าน และได้พิจารณาทบทวนแล้ว
ก็เห็นด้วยกับทุกๆ ท่าน บางความคิดของผมอาจจะไม่เข้าท่านัก แต่ก็ด้วยจุดมุ่งหมายที่ดี คือประสงค์
จะให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น ไป  โดยเฉพาะประเด็นการจำแนกพระที่คุณพุ่ม
ได้กรุณาอธิบายว่าเราไม่จำเป็นต้องเข้าไปก้าวก่ายในกฏระเบียบของสงฆ์ท่าน ให้ท่านจัดการ
กันเองนั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างน้อย ผมว่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ควรจะเป็นกระจก
สะท้อนการปฏิบัติตนของพระเพื่อให้ท่านอยู่ในวัตรอันดีงาม  งามทั้งร่างกายและจิตใจ

ฟังคุณ นกข.อธิบายแล้วก็รู้สึกดีขึ้นครับ ทำให้ผมทำใจได้ว่าเราควรจะเคารพพระสงฆ์ในภาพที่เป็นตัว
แทนของพระอริยเจ้ามากกว่า เมื่อคิดได้ดังนี้ จะทำให้เราสบายใจ ถ้ามัวแต่ไปหงุดหงิดอารมณ์เสียกับ
พระที่ปฏิบัติตนไม่น่าเคารพ ตัวเราก็จะเป็นทุกข์ไปเอง กลับกลายเป็นว่าเราได้ปฏิบัติตนในแนวทางที่
ถูกต้องคือไม่ได้ทำจิตใจให้ผ่องใส  แต่อย่างไรก็ตามผมยังมองว่าคนที่ตั้งใจบวชเป็นพระแล้ว ควร
ปฏิบัติตามวัตรให้เป็นนิจ เป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้าน เป็นผู้ชี้นำแนวทางที่ถูกต้องแก่พุทธบริษัท
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สถาบันพระมีความพร้อมอย่างที่สุด เนื่องเป็นที่เคารพของชนทุกสถาบันอยู่แล้ว
แต่ในปัจจุบันกลับการเป็นว่ามีเหลือบของศาสนามาอาศัยผ้าเหลืองในการแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรง
และทางอ้อม ไม่ได้ทำตัวให้สมกับที่เป็นตัวแทนของพระอริยเจ้าแต่อย่างใด ทำให้เกิดความมัวหมอง
ไปถึงพระที่ท่านบริสุทธิ์ สะอาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง  ทำให้คนที่ไม่เข้าใจศาสนา
พุทธอย่างถ่องแท้ (ซึ่งมีมากเสียด้วย) เกิดความเบื่อหน่าย หันหลังให้กับศาสนาพุทธกันหมด

ที่ผมเน้นว่าพระต้องเป็นผู้ซึ่งทรงคุณความรู้นั้น คืออยากจะให้พระท่านศึกษาพระธรรมมากๆ ญาติโยม
เกิดสงสัยอะไรจะได้อธิบายได้ เวลาเทศนาสั่งสอนก็ควรนำธรรมะเหล่านี้มาแทรกไว้ มิใช่ว่าไปตามใบลาน
อย่างเดียว เทศน์ไปเทศน์มาโยมก็หลับหมด  ในสมัยโบราณ พระเป็นผู้ทรงคุณความรู้ วัดเปรียบเสมือน
โรงเรียนแห่งแรกของสังคมไทย ใครอยากได้ความรู้ก็ไปวัด พระจึงจำเป็นต้องเป็นทั้งครูและเป็นทั้ง
นักเรียนเหมือนที่คุณ CrazyHOrse เปรียบเทียบไว้ เมื่อสึกจากพระแล้วก็เป็นบัณฑิตซึ่งแปลว่าเป็น
ผู้ทรงความรู้ แต่พอมีการปฏิรูปการศึกษา มีการตั้งโรงเรียนเพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้แทนวัด พระก็ถูก
ลดบทบาทลงโดยอัตโนมัติ แต่มิใช่ว่าเป็นอย่างนั้นแล้วพระก็เพิกเฉยต่อการแสวงหาความรู้ เพราะพระ
ยังต้องเป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยวทางใจของคนในสังคมอยู่ ยิ่งคนในสมัยนี้มีความรู้กันมากขึ้น พระต้อง
ตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน สามารถอธิบายพระธรรมได้อย่างฉะฉาน คนสมัยนี้เป็นคนช่างสงสัย พระต้องอธิบาย
ในสิ่งที่พระควรรู้ได้ ในสมัยพระเพทราชาทรงเห็นว่ามีไพร่ไปบวชเพื่อหนีการเกณฑ์แรงงานเป็นจำนวนมาก
ก็เลยให้จัดสอบวัดความรู้พระสงฆ์ ถ้าพระรูปใดมีความรู้ก็นิมนต์ท่านอยู่เป็นพระต่อไปได้ พระรูปใดไม่มี
ความรู้ก็ให้สึกไปใช้แรงงานอยู่ในสังกัดมูลนาย นั่นเป็นวิธีการในสมัยศักดินาแต่ในปัจจุบันเห็นจะทำอย่างนั้น
ไม่ได้ และผมก็ยังคิดว่าพระเองคงไม่ต้องรอให้สังคมมีมาตรการแบบนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าละอายเป็น
อย่างยิ่ง

อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมไทยกำลังหลงทาง คือไม่ได้ทำความเข้าใจว่าจุดประสงค์ของการบวชที่แท้จริง
คืออะไร ที่เห็นในปัจจุบันนี้ส่วนมากบวชกันตามประเพณีเฉยๆ อายุครบบวชก็บวช   บางคนไม่อยากบวช
ก็ใช้การบวชเป็นเครื่องต่อรองจะเอาไอ้นั่นจะเอาไอ้นี่ เดือดร้อนญาติโยมหนักเข้าไปอีก งานบวชก็ต้อง
จัดกันใหญ่โต เวลาโกนผมนาค นาคก็ใส่ทองหยองเต็มตัว ผมว่าคนเรากำลังหลงทาง จะไปสู่แนวทางที่สงบ
อยู่แล้วยังไปยึดติด โอ้มั่งอวดมีกันอยู่อีก บางคนก็กู้หนี้ยืมสินเขามาบวช เพราะพ่อแม่อยากมีหน้ามีตา
บวชเสร็จก็มีการฉลองพระกันอีก อะไรกันนักกันหนา ซ้ำร้ายพอบวชได้ไม่ทันไรก็สึกเสียแล้ว สีผ้าเหลือง
ยังไม่ทันจับ ยังไม่ทันได้ศึกษาหาความรู้อะไรเลย  ถ้าเป็นอย่างนี้ผมว่านุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติธรรม
จะได้กุศลมากกว่า  ผมว่าเราควรจะต้องลดละเลิกค่านิยมอันฟุ้งเฟ้ออย่างนี้เสียที ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการบวชคืออะไร  ถึงแม้ในปัจจุบันเวลาจะไม่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติอะไรได้มากนัก
แต่ในขณะอยู่ระหว่างเป็นพระก็ต้องทำตามวัตรที่ดีงามสมเป็นตัวแทนของพระอริยสงฆ์ คนที่จะเคารพกราบ
ไหว้ก็ไหว้ได้อย่างสนิทใจ ไม่ต้องเตือนตนอยู่ตลอดเวลาว่าที่เราไหว้เพราะท่านเป็นเพียงแค่สมมติสงฆ์เท่านั้น
บันทึกการเข้า
คุณพุ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 23:45

เท่าที่ฟังคุณเทาชมพูพูดดูเหมือนว่าสถาบันศาสนาของเราอ่อนแอจังเลยนะคะ
ทั้งที่มีสถาบันอื่นช่วยเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ตลอดมา
ที่ดิฉันพูดว่า ช่างชีช่างสงฆ์นั้น ไม่ใช่ว่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียทีเดียวหรอกค่ะ
ต้องดูเป็นกรณีไปค่ะ อย่างถ้ามีฆราวาสริโกนหัวห่มเหลือง เที่ยวออกบิณฑบาตหลอกลวงชาวบ้าน แล้วดิฉันรู้ดิฉันก็ไม่ดูดายแน่นอนค่ะ นี่คือเป็นเรื่องนอกวัด ซึ่งพวกเราชาวพุทธควรช่วยกันสอดส่อง
แต่ดิฉันยังมองว่าเรื่องในวัด เรื่องในสถาบันสงฆ์ พระด้วยกันเองน่าจะรู้ดีที่สุด คือการปกครองสงฆ์น่าจะทำโดยหมู่สงฆ์กันเองน่ะค่ะ
ถ้าเปรียบวัดเป็นองค์กร เราเคยพูดกันว่า องค์กรนี้ควรจะเป็นองค์กรที่แข็งแรง คู่กับ องค์กรบ้าน และองค์กรโรงเรียน ก็ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นหลักให้สังคมยังเอาตัวเองไม่รอด ต้องให้คนอื่นช่วยพยุงอยู่ตลอดเวลา แล้วองค์กรนี้จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร ถ้าอย่างนั้นเราจะเก็บองค์กรแบบนี้ไว้ทำไมล่ะคะ
ขอโทษนะคะถ้าคำพูดนี้อาจจะรุนแรงไปสักนิด ไม่ได้ตำหนิตรงตัวศาสนาพุทธของเรานะคะ ดิฉันคิดว่าถึงเวลาที่คณะสงฆ์ควรจะทบทวนตัวเองแล้วกระมังคะ

แต่ที่น่ากลัวคืออย่างที่คุณแจ้งว่า เด็กเดี๋ยวนี้เรียนมากขึ้น แต่ห่างวัด ดิฉันรู้จักเด็กหลายคนที่ไม่ชอบไปวัด ไม่ชอบร่วมกิจกรรมทางศาสนาโดยความรังเกียจนั้นเริ่มมาจาก การได้เห็นพระสงฆ์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม  แล้วเลยมองลามไปว่าศาสนาเป็นอะไรที่ไม่ได้เรื่อง การที่เด็กแยกสิ่งเหล่านี้ไม่ออกนี่น่ากลัวนะคะ จุดนี้ดิฉันเห็นว่าพวกเราก็น่าจะช่วยกันชี้แจงให้เด็กๆ เข้าใจ

ความจริงพุทธบริษัทก็เหลืออยู่แค่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา เสียดายนะคะที่พระท่านคงเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้ เลยไม่มีโอกาสมาร่วมแสดงความคิดเห็นกับพวกเรา แต่ได้เห็นอุบาสกอย่างคุณแจ้ง อุบาสิกาอย่างคุณเทาชมพูเป็นแรงแข็งขันอยู่ ดิฉันคิดว่าศาสนาพุทธของเรายังคงอยู่ได้

ด้วยความเคารพต่อทุกๆ ท่านค่ะ
บันทึกการเข้า
แม่หญิงเรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 17 ต.ค. 01, 23:52

ความเป็นพระ

•ความเป็นพระ   คือจิตพราก   จากกิเลส
รู้สังเกต   ไม่ประมาท    ฉลาดเฉลียว
สำรวมระวัง   รักษาใจ   ไปท่าเดียว
เพื่อหลีกเลี้ยว   ภัยทั้งสาม   ไม่ตามตอม

•จากเรื่องกิน   เรื่องกาม   และเรื่องเกียรติ
เห็นเสนียด   ในร้อนเย็น   ทั้งเหม็นหอม
ไม่ยินดี   ไม่ยินร้าย   ไม่ออมชอม
กิเลสล้อม   ลวงเท่าไร   ไม่หลงลม

•จิตสะอาด   ใจสว่าง   มโนสงบ
ทั้งครันครบ   กายวจี   ที่เหมาะสม
ความเป็นพระ   จึงชนะ   เหนืออารมณ์
โลกนิยม   กระหยิ่มใจ   จึงไหว้แล ฯ

- พุทธทาสภิกข ุ-
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง