เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 16275 ซินเดอเรลลานานาชาติ
ดร. แพรมน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 11 ต.ค. 01, 19:05

พุธนี้ คุณเทาชมพู ฝากเรื่องมาให้อ่านกันเจ้าคะ   ดิฉันอ่านไปก็อยากเป็นซินเดอเรลลา บ้าง...เฮ้อ...เกือบเที่ยงคืนแล้วเจ้าคะ
ใครเก็บรองเท้าแก้วของดิฉันไ้ด้ช่วยกรุณามาส่งคืนด้วยนะเจ้าคะ
ซินเดอเรลลานานาชาติ

   เรื่องของ’นางซิน’ หรือ ซินเดอเรลลา ที่คนไทยรู้จักดี ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือรวมนิทานพื้นเมืองของฝรั่งเศส ชื่อ Histoire et contes du temps passe: Contes de ma mere l’oye เขียนโดย ชาร์ลส์ เปอโรต์ เมื่อปี ค.ศ.๑๖๙๗ และในปี๑๙๗๒ ก็ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย โรเบิร์ต แชมเบอร์ และหลังจากนั้นก็แพร่หลายไปทั่วโลก
   เรื่องของซินเดอเรลลาเป็นแบบฉบับของ ‘ทำดีได้ดี’ และ ‘ฝันเป็นจริง’ จึงเป็นที่ติดอกติดใจของคนอ่านมาก เนื้อเรื่องไม่มีอะไรซับซ้อน ตัวละครในเรื่องก็ล้วนแต่เห็นบุคลิกได้ง่ายๆ นางเอกสาวงามผู้ดีวิเศษหาที่ติมิได้ และเคราะห์ร้ายตกทุกข์ได้ยาก มีนางผู้ร้ายคอยกลั่นแกล้งอยู่ด้วยความริษยา แต่ตอนจบก็ได้พบความสุข กับเจ้าชายรูปงามตลอดไป เค้าโครงเรื่องแบบนี้เรียกได้ว่า universal คือมีได้ทั่วไปในชีวิตใครก็ได้ หรือส่วนไหนของโลกก็ได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าแม้ในนวนิยายปัจจุบันทั้งของฝรั่งและไทย เค้าโครงเรื่องซินเดอเรลลายังปรากฏอยู่ทั่ว
   มีเกร็ดความรู้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับนิทานซินเดอเรลลาฉบับดั้งเดิมที่สมควรเล่าไว้ ณ ที่นี้ ได้แก่เกือกแก้วของนางซิน ความจริงในเรื่องที่เปอโรต์เขียนนั้น รองเท้าคู่สำคัญไม่ได้ทำด้วยแก้ว หากแต่เป็นขนสัตว์ชนิดหนึ่งเรียกว่า vair เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศหนาว รองเท้าขนสัตว์ไม่ใช่ของแปลกอะไร กลับดูเหมาะสมกับอากาศด้วยซ้ำ แต่เมื่อแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ ผู้แปลคงสับสนคำว่า vair เห็นว่าเป็น verre ซึ่งออกเสียงเหมือนกัน หากแต่แปลว่า แก้ว ดังนั้นรองเท้านางซินจึงกลายเป็นแก้วไปในสายตาคนอ่านและนักแปลอื่นๆ รองเท้าแก้วฟังดูเข้าทีกว่ารองเท้าขนสัตว์เสียอีก เพราะให้ความรู้สึกสวยงามแพรวพราวสมกับเป็นเรื่องนิยายจึงไม่มีใครพยายามแก้ไขให้รองเท้าแก้วกลับเป็นรองเท้าขนสัตว์อีก ซินเดอเรลลาจึงยังสวมรองเท้าแก้วอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
   มีผู้รวบรวมประวัตินิยายที่คล้ายซินเดอเรลลา ไม่ว่าจะได้รับอิทธิพลหรือไม่ก็ตามไว้ได้ถึงสามร้อยกว่าเรื่องจากประเทศทั่วโลกเกือบทุกประเทศในยุโรปมีเรื่องทำนองเดียวกับซินเดอเรลลา และรู้จักเรื่องซินเดอเรลลาทางตะวันออก มีนิทานเก่าแก่ของจีนแบบเดียวกัน ของไทยมีเรื่องปลาบู่ทอง ซึ่งโครงเรื่องแบบซินเดอเรลลา แต่เนื้อเรื่องและรายละเอียดยกเว้นชื่อคนและฉากสถานที่ กลับไปตรงนิทานเรื่องหนึ่งของอินเดีย (ปรากฏอยู่ใน ‘นิยายเบงคลี’ ของเสฐียรโกเศส) จนเป็นที่น่าคิดว่า ปลาบู่ทองถึงเป็นนิทานพื้นเมืองของไทย แต่ก็อาจมีต้นประวัติมาจากนิทานแขก แล้วเล่าสืบต่อกันมาจนลักษณะดั้งเดิมของเบงคลีหายไปกลายเป็นไทยแท้ ส่วนที่มาจากซินเดอเรลลาโดยตรงก็คือ บทละครร้องนางซิน ซึ่งเนื้อความมาจากเรื่องเดิมโดยตรง แต่เพลงขับร้องเป็นเพลงไทย
   นักวรรณคดีค้นคว้าเรื่องซินเดอเรลลาถึงขั้นสืบต้นเค้าย้อนขึ้นไปจนอิยิปต์โบราณ ปรากฏว่านิทานแบบเรื่องนี้ปรากฏอยู่ แต่ยังไม่มีการสรุปผลว่าเป็นต้นเรื่องซินเดอเรลลาหรือเป็นแต่บังเอิญโครงเรื่องคล้ายกัน ส่วนซินเดอเรลลาที่ชาร์ลส์ เปอโรต์ เขียนนั้น เจ้าตัวอ้างว่าเป็นนิทานฟังสืบเล่าต่อมาจากอดีตอาจเป็นได้ว่าเปอโรต์รวบรวมเขียนเรียบเรียงใหม่จากนิทานพื้นบ้านพื้นเมือง
   นักวรรณคดีบางคนตีความซินเดอเรลลาแปลกไปจากคติที่รู้กันทั่วไป คือแทนที่จะเห็นเป็นเรื่องสอนใจคนว่า ‘ทำดีได้ดี’ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องที่แสดงปรากฏการณ์ของธรรมชาติดัดแปลงออกมาในรูปแบบบุคคล ทำนองเดียวกับไทยตีความสุริยุปราคาออกมาในรูปนิทานราหูอมจันทร์ ซินเดอเรลลาคือยามอรุณใกล้รุ่ง ซึ่งถูกบดบังด้วยความมืดของราตรี(แม่เลี้ยงและพี่สาวทั้งสอง) จนกระทั่งมีเจ้าชาย(ดวงอาทิตย์) เข้ามาช่วยพ้นความมืดนั้นไปได้
   ถ้าจะพูดว่า ซินเดอเรลลาเป็นนิทานที่แพร่หลายที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ และเป็นที่ชื่นชอบของเด็กทั่วโลก สำหรับผู้ใหญ่นั้นก็ไม่ใช่ว่าซินเดอเรลลาจะไม่เป็นที่นิยม มีเหตุผลยืนยันได้จาก รอสชินี นักดนตรีอิตาเลียนได้นำไปแต่งเป็นอุปรากร ชื่อ La Cenerentala เมื่อปีค.ศ.๑๘๑๗ และในปีค.ศ.๑๙๔๘ แซดเลอร์นำไปเป็นบัลเลต์ชื่อเดียวกับเรื่องเดิม มี เดมมาโกต์ ฟองเทน นักบัลเลต์สตรีผู้มีชื่อเสียงของโลกเป็นตัวซินเดอเรลลา ไม่กี่ปีมานี้เอง รอดเจอร์ และแฮมเมอร์สไตน์ นักแต่งเพลงให้ภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น มนต์รักทะเลใต้ (sound of music) ได้นำไปแต่งเป็นละครเพลงแสดงที่บรอดเวย์
   แต่จะมีใครนึกบ้างหรือไม่ว่าผู้ไม่นิยมซินเดอเรลลาก็มีเหมือนกัน พวกแรกคือนักการศึกษาสมัยใหม่ ผู้ศึกษาทางวรรณคดีสำหรับเด็ก หลายคนลงความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ควรนำมาสอนหรือเล่าให้เด็กฟัง เพราะเป็นการปลูกฝังความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการเป็นแม่เลี้ยงลูกเลี้ยง เพราะแม่เลี้ยงของซินเดอเรลลานั้นร้ายกาจเสียยิ่งกว่ายักษ์มารอาจจะพลอยทำให้เด็กเข้าใจไปว่า ขึ้นชื่อว่าแม่เลี้ยงแล้วต้องเป็นศัตรูคู่อาฆาต เมื่อเกิดความแคลงใจขึ้นเสียแล้ว ก็เป็นผลเสียกับชีวิตของเด็กเอง หากพบสภาพตัวเองมีแม่เลี้ยงเข้า เพราะชิงมองฝ่ายนั้นในแง่ร้ายเสียแล้ว ความรักใคร่เข้าใจกันก็พลอยหมดโอกาสไป
   พวกที่สอง คือนักประพันธ์ประเภทไม่เชื่อความฝันลมๆแล้งๆ พวกนี้เห็นว่าซินเดอเรลลา เป็นเรื่องขัดกับสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะ จอร์ช เบอร์นาร์ด ชอว์ นักเขียนบทละครเสียดสีสังคมสมัยต้นศตวรรษที่ ๒๐ ชอว์เห็นว่าเนื้อเรื่องจริงๆตามชีวิตคนของซินเดอเรลลา น่าจะเกิดขึ้นเมื่อแต่งงานไปกับเจ้าชายแล้วมากกว่า ทำอย่างไรซินเดอเรลลาผู้เคยอยู่ในสภาพสาวใช้ ไร้การอบรมไร้การศึกษา นอนอยู่บนขี้เถ้าข้างเตาไฟในครัว จึงจะปรับตัวเองเข้ากับสภาพเจ้าหญิงในวังได้ เพราะไม่ปรากฏว่าซินเดอเรลลาได้ความรู้อะไรเป็นพิเศษขึ้นมาในเรื่อง นอกจากได้แต่งตัวสวยไปในงานเต้นรำ นอกจากนั้นก็ยังเหมือนเดิมเหมือนก่อนเรื่องเปิดฉากทุกประการ ชีวิตซินเดอเรลลานับว่ากระโดดสูงจากขั้นต่ำในสังคมไปถึงขั้นสูงสุดในสังคม เปรียบเหมือนเด็กที่เพิ่งจบชั้นประถมแล้วได้รับอนุญาตเข้าเรียนต่อปริญญาเอกทันที จะทำตัวให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ซินเดอเรลลาก็เจอปัญหาทำนองนั้น
   สำหรับความเห็นสองประการนี้ ข้าพเจ้าขอเพิ่มว่า ประการแรกนั้นนักวิจารณ์ห่วงผลเสียทางจิตใจของเด็ก ประการที่สองเป็นการห่วงผลเสียทางจิตใจเด็กหนุ่มสาว โดยเฉพาะเด็กสาว หากเชื่อความฝันวาดวิมานเอาไว้มากเกินไป แต่จะว่าไปความเสียหายในด้านนี้ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลคิดมากของผู้ใหญ่ นวนิยายปัจจุบันทั้งของฝรั่งและไทยที่ขายดีอยู่ในท้องตลาดนั้น มักจะมีแนวแบบซินเดอเรลลาปรากฏอยู่เสมอ อย่างเปิดเผยบ้างซ่อนเร้นบ้าง มีกี่ร้อยเรื่องที่รางวัลของนางเอกผู้มีความสวยเป็นจุดเด่น คือการได้แต่งงานกับพระเอกที่ร่ำรวยและรูปงาม และมีกี่เรื่องที่นางเอกขี้ริ้วหรือหน้าตาธรรมดา ได้ต่อสู้อุปสรรคสร้างตัวขึ้นจากเด็กยากจนจนกระทั่งเป็นผู้ร่ำรวย หรือเป็นบัณฑิตมีผู้นับหน้าถือตา ถึงมีก็อาจไม่แพร่หลายเสียอีก
   ตราบใดที่คนเรายังมีความใฝ่ฝัน และคิดหาทางลัดเอาง่ายๆ โดยใช้โชคหรือเทวดาบันดาลให้ทางไปสู่ความสำเร็จ ตราบนั้นวรรณคดีจึงสะท้อนจิตใจ และความฝันของคน ก็ยังมีเรื่องซินเดอเรลลาเป็นที่นิยมอยู่ตลอดไป ไม่ว่าในชาติใดภาษาใดทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ต.ค. 01, 19:12

เคยทราบเหมือนกันว่ามีนิทานจีนที่เค้าเรื่องคล้ายซินเดอริลล่า + ปลาบู่ทอง แต่ยังไม่เคยได้อ่านของจีน

เคยอ่านข้อวิจารณ์ของฝรั่งว่า ซินเดอริลล่าที่อยู่เฉยๆ ฝันๆ ไปวันๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย สักวันหนึ่ง อยู่ดีดี บุญก็จะหล่นทับเอง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้เด็กงอมืองอเท้า แต่มีฝรั่งด้วยกันแย้งว่า ฉบับเดิมจริงๆ ของยุโรปนั้น ซินเดอริลล่าต้องทำอะไรด้วยพอสมควร (อย่างที่นางเอกปลาบู่ทองของไทยก็ต้องทำ เช่น แอบไปเลี้ยงปลา ปลาตายแล้วก็เอาเกล็ดไปปลูก ฯลฯ) แม่ซินฯ ที่นั่งฝันไปวันๆ นั้นเป็นฉบับแต่งทีหลัง

ผมอยากให้มีใครทำวิจัยเรื่องมโนห์รานานาชาติด้วยครับ เพราะเป็นโครงเรื่องที่แพร่หลายพอสมควร ทั้งในไทย ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไม่รู้ว่ามีในอินเดียด้วยหรือเปล่า ความเชื่อเรื่องกินรีเรารับมาจากอินเดีย แต่เค้าเรื่องมโนห์รานั้นไม่ทราบว่ามีในนิยายอินเดียหรือไม่ แต่ผมเข้าใจว่า ปัญญาสชาดกที่เป็นต้นเค้าเรื่องพระสุธน-มโนห์รา นั้น จะแต่งในเมืองไทยนี่เอง (แต่งที่เชียงใหม่สมัยเชียงใหม่ยังเป็นอาณาจักรอิสระ?) แต่ถึงจะแต่งขึ้นใหม่ในล้านนาไทยก็ไม่ได้แปลว่าท่านผู้แต่งจะเอาเค้ามาจากนิทานแขกไม่ได้
บันทึกการเข้า
เจ้าเปิ้ล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ต.ค. 01, 19:46

ใช่คะ  พระสุธน-มโนห์รามาจากชาดกนอกนิบาต-ปัญญาสชาดก มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปัญญาสชาดกดีมากคะ
ของศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ต.ค. 01, 20:56

เคยดูหนังสมัยใหม่  แต่ยังคงความเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย ไว้  เอาโครงเรื่องซินเดอเรลลา มาสร้าง   โดย เขียนให้นางเอก เป็นนักสู้  
พยายามหาทางให้รอดพ้น จาก การกลั่นแกล้ง ของแม่เลี้ยง  ดูแล้ว นางเอก ก็ไม่ได้ นั่งฝันอย่างเดียวนะคะ  มีพี่เลี้ยง และ ผู้ช่วย ที่คอยให้กำลังใจนางเอก  ยามคนเหล่านั้นเจ็บป่วย  นางเอก ก็ หาทางช่วยจนได้  นางซิน เรื่องนี้ สู้ตายค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพุ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ต.ค. 01, 01:57

เรื่องที่คุณฝอยฝนว่าเห็นทีจะเป็นเรื่อง ever after ของ หนูดริว แบรี่ มัวร์ นางซินฉบับนี้มีลีโอนาโด ดาร์วินชี่ เป็นผู้ช่วย ตอนแต่งชุดนางฟ้ามางานลีลาศ ดิฉันว่าแฟนซีไปหน่อย แต่สงสารเธอมากตอนเธอโดนฉีกปีก เธอชอบเล่นหนังเบาสมอง ถ้าชอบดูเธอ เรื่อง never been kissed กับ wedding singer สนุกกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ต.ค. 01, 02:23

นางซิน อีกเรื่องฉบับฝรั่งคือเรื่องของ
pretty woman ครับ นางซิน ในเรื่องนี้ตกต่ำสุด ๆ คือ เป็น คุณตัวเลยด้วย แต่ก็โชคดีได้ขึ้นรถม้าไปกับเจ้าชาย แล้วก็แปลงโฉมให้ดูดีขึ้นด้วยฝีมือการช่วยเหลือของผู้จัดการโรงแรม
ตอนจบก็ยิ่งโชคดีใหญ่ที่ เจ้าชาย(พระเอก) ยอมตัดสินใจ เอาเธอไปอยู่แบบออกหน้าออกตาเรียกว่าตัดใจไม่คิดถึงอดีตหรือคำครหานินทาอะไรทั้งสิ้น เรียกว่าเธอก้าวจากต่ำสุด กลายเป็น สูงสุด จริง ๆ
บันทึกการเข้า
ภาธร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ต.ค. 01, 07:05

นางซินในชีวิตจริงก็มีหลายรายนะครับในสังคมเมืองไทยแต่เธอต้องใช้สติปัญญาเสริมด้วยไม่ใช่อาศัยโชคอย่างเดียว นางซินในสังคมไทยหลายคนมาจากครอบครัวระดับต่ำไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาสูงๆแต่หลายรายสามารถปรับตัวได้ดีอย่างน่าชมเชย  ถ้าเป็นพวกนายซินนี่สิครับ ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ ผู้หญิงดูจะยกระดับตัวเองได้เก่วลฃงกว่าผู้ชายนะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.038 วินาที กับ 17 คำสั่ง