เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 26774 สัตว์ในวรรณคดี...เจ้าคะ
ดร. แพรมน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 07 ต.ค. 01, 21:42

คุณเทาชมพูแต่งตั้งให้ดิฉันเป็นเลขานุการิณี (อาจไม่ได้เป็นเลขานุการเอก อย่างบางท่าน..อิอิ) มาเผยแพร่ข้อเขียนสมัยเรียนเจ้าคะ

สัตว์ในวรรณคดี

   วรรณคดีสะท้อนจินตนาการของมนุษย์ แสดงถึงโลกอีกโลกหนึ่งที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่างความฝันกับความจริง มนุษย์สังเกตความจริงรอบๆตัว แล้วนำมาตกแต่งประดับประดาเข้าเป็นจินตนาการในวรรณคดี เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี คนรุ่นหลังอาศัยวรรณคดีของคนรุ่นก่อนเป็นหลักฐานความคิดความอ่านและวัฒนธรรมของคนรุ่นนั้น บางครั้งก็จะประสบปัญหาการแยกความจริงออกจากความฝัน และสาเหตุที่ทำให้เกิดจินตนาการนั้นๆ
   สัตว์ อมนุษย์ และเทพต่างๆในวรรณคดี เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่จบสำหรับนักวรรณคดี ส่วนมากสรุปว่าเป็นแต่จินตนาการของคนสมัยโบราณ แต่นักวรรณคดียบางคนเห็นว่าจินตนาการย่อมมีพื้นฐานบนความจริงอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ตัวละครเหล่านี้อาจมีพื้นฐานความจริง หรือไม่ก็แสดงอิทธิพลอารยธรรมจากประเทศอื่นต่อประเทศไทย ที่น่าแปลกก็คือ ประเทศคนละซีกโลกห่างไกลกันจนยากแก่การค้าขายติดต่อ หรือแม้แต่ได้ยินชื่อของกันและกัน สามารถมีจินตนาการพ้องกันได้อย่างแปลกประหลาดทางวรรณคดี
   อย่างแรกก็คือ เงือก
   เงือกที่ปรากฏชิ้นแรกในวรรณคดีไทย ได้แก่ ลิลิตพระลอ ลักษณะไม่ปรากฏชัดนัก เป็นประเภทสัตว์น้ำอย่างหนึ่ง มีผมยาวมักเอาผมรัดคอคนที่ลงไปเล่นน้ำพาจมหายลงไป บางทีก็ใช้คู่กับคำว่า งู ทำให้เข้าใจว่าคงจะเป็นงูใหญ่มีหงอนต้นประวัติของพญานาค
   พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์มีเงือกอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ‘นางมัจฉา’ ลักษณะเป็นเงือกที่เรารู้จักกันในสมัยนี้ทุกประการ คือที่ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา นางมัจฉานี้ไม่ใช่เงือกตามเผ่าพันธุ์ตน แต่เป็นเงือกตัวเดียวในเรื่อง เกิดจากทศกัณฐ์กับนางปลา จึงมีรูปร่างตามส่วนผสมของพ่อและแม่
   สุนทรภู่เป็นผู้สร้างนางเงือกาขึ้นมาตรงกับความคิดของฝรั่งอย่างสมบูรณ์ นางเงือกน้อยและพ่อแม่นั้น เป็นสัตว์น้ำอาศัยอยู่ในทะเล มีบรรพบุรุษเป็นคน ได้แก่พวกเรือแตก เมื่อจมลงไปก็ถูกเหล่าเงือกฉุดลงไปเป็นคู่ครอง นางเงือกและพ่อแม่จึงรู้ภาษาคน แต่ก็ยังเป็นครึ่งสัตว์ครึ่งคน ท่อนบนเป็นมนุษย์โสภา และมีหางเป็นปลาทุกประการ อาศัยในน้ำ สามารถขึ้นบนบกได้เป็นครั้งคราว แต่อยู่บนบกไม่ได้
   เงือกฝรั่งนั้น ที่เก่าแก่ที่สุดก็น่าจะเป็นสมัยกรีกและโรมัน เป็นบริวารของเนปจูน เทพแห่งสมุทร ตัวเนปจูนนั้นบางครั้งรูปวาดหรือรูปปั้น เป็นเทพร่างมหึมาเท่าภูเขา สวมมงกุฎ ถือสามง่าม สำหรับกวนน้ำทะเลให้เป็นวังน้ำวน และท่อนล่างเป็นปลา แต่บางครั้งก็เป็นมนุษย์ บริวารครึ่งคนครึ่งปลาเรียกว่าไทรทอน ซึ่งตัวโตเป็นภูเขาเลากา ผุดขึ้นจากทะเล เป่าสังข์ ประกาศการนำขบวนเสด็จของเนปจูน
   ตำนานเงือกในวรรณคดีกรีกและโรมัน น่าจะเป็นตำนานเรื่อง Charybdis (ชาริบดิส) ซึ่งก็เป็นเงือกเอกเทศตัวเดียวในวรรณคดีแบบเดียวกับนางมัจฉาในรามเกียรติ์ ชาริบดิสเดิมเป็นมนุษย์ธรรมดา มีอาชีพประมง ได้ทำความรู้จักกับเหล่าพรายทะเลลงไปดำผุด่ำว่ายอยู่ในน้ำ จิตใจและร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไป สีสันของร่างเปลี่ยนไปด้วย มีหางปลาแทนขา กลายเป็นเงือก อาศัยอยู่ในน้ำกับพวกพรายทะเล และหลงรักสาวงามซิลลา ซึ่งกลายร่างเป็นภูผาสูงตระหง่านอยู่แถบนั้น ซิลลาและชาริบดิสกลายเป็นแหล่งอันตรายที่สุดสำหรับนักเดินเรือ เมื่อเจสันเดินทางหาขนแกะทองคำ ก็เกือบเอาตัวไม่รอดจากช่องแคบนี้
   นางเงือกของสุนทรภู่อาศัยอยู่ในน้ำเฉยๆแบบสัตว์น้ำ ไม่มีบทบาทอะไรในทะเล แต่กรีกและโรมันมีอมนุษย์จำพวกหนึ่งเรียกว่า nymph หรือ sylph อาศัยอยู่ตามภูเขา ลำธาร และทะเลเป็นพวกๆ ลักษณะเป็นนางมนุษย์สวยงาม คอยฉุดคร่ามนุษย์เคราะห์ร้ายลงไปเป็นคู่ พวกนี้บางทีก็ตามขบวนเสด็จของเนปจูนเหมือนกัน รูปปั้นและรูปวาดชั้นหลังๆแสดงภาพนางพรายเหล่านี้เป็นครึ่งคนครึ่งปลา แบบเงือก แต่ของเดิมนั้นมีรูปร่างเป็นมนุษย์ทุกประการ
   นางเงือกที่มีชื่อเสียงทั่วโลกได้แก่ เงือกน้อยของ แฮน คริสเตียน แอนเดอร์สัน ปัจจุบันมีรูปปั้นอยู่ที่
โคเปนเฮเกน เป็นสัญลักษณ์ของเมือง แอนเดอร์สันอาจจะรวบรวมนิทานพื้นบ้านเก่าๆมา รวมทั้งเรื่องเงือกน้อย หรืออาจแต่งขึ้นมาเองก็ได้ไม่มีใครยืนยันได้ชัด นางเงือกน้อยนี้รูปร่างหน้าตาแบบเดียวกับของสุนทรภู่ แต่ไม่ใช่สัตว์น้ำ เป็นอมนุษย์อาศัยอยู่ในอาณาจักรใต้ทะเล มีความเจริญเท่าเทียมหรือมากกว่ามนุษย์เสียอีก
   ‘เงือก’ ในภาษาไทย น่าจะเป็นคำควบกับ ‘งู’ มาก่อน แสดงว่าแต่เดิมใช้กับสัตว์ประเภทงู แล้วกลายเป็นครึ่งคนครึ่งปลาสมัยพระอภัยมณี รามเกียรติ์เรียกนางมัจฉาทุกคำ อย่างไรก็ตาม เรื่องนางสุพรรณมัจฉานี่ไม่มีใน
รามยณะของอินเดีย ไทยได้มาจากฉบับใดก็ตามเป็นเรื่องต้องค้นคว้ากันต่อไป สำหรับฝรั่ง เรียกเงือกว่า merman สำหรับเงือกตัวผู้ และ mermaid หรือ sea maid แปลว่าทะเล เหมือนคำว่า sea
   สุนทรภู่อาจได้ความคิดเรื่องเงือกจากนางมัจฉาในรามเกียรติ์หรือได้จากฝรั่งที่มาติดต่อค้าขายในสมัยนั้น เราไม่สามารถจะรู้ได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ลักษณะของเงือกนั้นอาจพ้องกันได้ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก เพราะคนกับปลามีส่วนต่อกลมกลืนกันได้ไม่ขัดตา เหมือนคนกับสัตว์บางประเภท
   
   มังกร กับ กิเลน
   สัตว์สองประเภทนี้เป็นของจีน แต่ก็ดูจะเกี่ยวโยงกันไปถึงอินเดียและไทย ซึ่งรับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง เสฐียรโกเศส หรือท่านเจ้าคุณอนุมานราชธน สันนิษฐานว่า นาค มังกร และจระเข้นี้คืออย่างเดียวกัน ตามธรรมชาติคือจระเข้ พอไปถึงจีน จีนก็แต่งเติมเข้าไปเป็นมังกร ถึงอินเดียก็เปลี่ยนเป็นนาคเสีย สำหรับกรีกและโรมันมี ไฮดรา ซึ่งเป็นมังกรเจ็ดหัว อียิปต์โบราณมีสัตว์ประหลาดคล้ายงูมีปีก ตัวโล้นเกลี้ยง เรียกว่า dragon  ยุโรปมีงูขนาดใหญ่เรียกว่า serpent รากศัพท์นั้นอินเดียมีคำสรุป แปลว่างูเหมือนกัน เข้าใจว่ามาจากรากเดียวกัน และนักโบราณคดีมีพวกไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดตัวมหึมาประเภทเลื้อยคลานพอเทียบได้กับมังกร ไทยเรานั้นมีนาคจากอินเดีย เป็นงูมีหงอนตัวใหญ่อาศัยอยู่ในบาดาล และอีกประเภทหนึ่งที่ไม่สู้รู้จักกันแพร่หลายนัก คือเหรา เป็นสัตว์แบบนาค แต่ทว่ามีตีน ผิดกับนาค ซึ่งเลื้อยไปแบบงู
   ตามความเห็นของข้าพเจ้า นาค งู serpent นี้มีรูปร่างคล้ายกันมาก ส่วนมังกร ไฮดรา และไดโนเสาร์นั้น น่าจะประเภทเดียวกันไม่มากก็น้อย มังกรของจีนมีหลายประเภท อยู่ในทะเลก็มี อยู่บนฟ้าก็มี มีหน้าที่ให้น้ำแบบเดียวกับนาคในปูมปฏิทิน แต่รูปร่างมังกรกลับไปคล้ายสัตว์เลื้อยคลานสะเทิ้นบกสะเทิ้นน้ำมากกว่างู เพราะมีขา มังกรของอียิปต์นั้นมีปีกแบบแมลงปอ รูปร่างคล้ายไดโนเสาร์ ซึ่งอาจเป็นได้ว่า อียิปต์เคยเห็นซากสัตว์หรือมีตำนานสัตว์ดึกดำบรรพ์มาก่อน มังกรของกรีก กับมังกรฝรั่งที่นักบุญจอร์ชฆ่านั้นคล้ายกิ้งก่ายักษ์ อาจเป็นสัตว์ประเภทเลื้อยคลานตัวโตๆก็ได้ แต่คนไม่รู้จักก็เรียกว่ามังกร รูปวาดชั้นหลังจึงกลายเป็นมังกรไป
บันทึกการเข้า
ดร. แพรมน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 ต.ค. 01, 22:58

กิเลนนั้นเป็นกึ่งม้ากึ่งมังกรในวรรณคดีจีน อยู่ในน้ำก็ได้วิ่งเดินบนน้ำได้เร็ว ตัวเป็นม้ามีเกล็ด หน้าเป็นมังกร ตัวม้านิลมังกรของสุดสาครน่าจะเป็นตัวกิเลนนี่เอง สุนทรภู่คงได้ความคิดมาจากวรรณคดีจีนที่แพร่หลายเข้ามาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์
   ม้านิลมังกรนั้นเป็นเอกเทศ มีอยู่ตัวเดียวในโลก เกิดจากมังกรผสมม้า กลายเป็นสัตว์ที่วิ่งในน้ำก็ได้บนบกก็ได้ คงทนศาสตราวุธทุกอย่าง ประโยชน์ใช้ในทางเป็นพาหนะมากกว่าใช้เป็นมังกร ซึ่งม้าที่แปลกไปจากธรรมชาตินี้ กรีกและโรมันมีม้ามีปีกชื่อว่า ‘เพกาซัส’ อาศัยอยู่ที่เขาโอลิมปัส เพกาซัสบินได้ แต่ม้ามังกรบินไม่ได้
   ม้าอีกสามประเภทของตะวันตก ก็คือ เซนทอร์ ในเทพนิยายโรมัน เป็นอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้า วิ่งฝีเท้ารวดเร็วมาก มักปรากฏในวรรณคดี เช่นเรื่อง เฮอร์คิวลิส เป็นต้น ขึ้นชื่อในด้านตัณหา ราคะ มักจะฉุดหรือขโมยผู้หญิงไปเสมอ เช่นเคยลักตัวภรรยาเฮอร์คิวลิสไป จนถูกเฮอร์คิวลิสยิงตายด้วยธนูอาบยาพิษ แต่โลหิตของเซนทอร์ย่อมกลับมาฆ่าเฮอร์คิวลิสเองตอนจบ มีผู้สันนิษฐานว่า เซนทอร์นี้มาจากชนเผ่าหนึ่งใกล้อาณาจักรโรมันโบราณ เป็นพวกขี่ม้าก็ได้รวดเร็วชำนาญ จนเวลามองดูไกลๆราวกับเป็นส่วนหนึ่งของม้าเสียเอง จินตนาการได้แปลงคนขี่ม้ามาเป็นคนครึ่งคนครึ่งม้าด้วยประการฉะนี้
   อีกประเภทหนึ่ง คือตัว ยูนิคอร์น แปลว่าตัวเขาเดียว ลักษณะเหมือนม้าทุกประการ ยกเว้นมีเขาเป็นกรวยแหลมที่หน้าผาก ซึ่งบางครั้งก็พ้องเข้ากับกิเลนของจีน ยูนิคอร์นปรากฏอยู่ในวรรณคดีกรีกและโรมัน และในยุโรปยุคกลาง มีผู้ผูกตำนานว่า สมัยโนอาห์อพยพสัตว์ขึ้นเรือใหญ่หนีน้ำท่วมโลกนั้น ลืมเอาตัวยูนิคอร์นไปด้วย ยูนิคอร์นจึงสูญพันธุ์ไปจากโลกแต่บัดนั้น
   อีกประเภทหนึ่ง ก็คือ ม้าทะเล ม้าทะเลนี้เป็นสัตว์พาหนะของบริวารเนปจูน สมุทรเทพ ครึ่งหน้าเป็นม้า มีหัวมีขาพร้อม แต่ครึ่งหลังเป็นหางปลา วิ่งได้เฉพาะในน้ำ เป็นครึ่งปลาครึ่งม้าคล้ายกับตัวม้าน้ำที่เรารู้จักกัน ไม่มีบทบาทเด่นอะไรในวรรณคดี รูปร่างจะว่าคล้ายมังกรจีนก็มีบ้าง แต่คล้ายม้าน้ำจริงๆมากกว่า
   อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งนก มีทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก อินเดียและไทยมีกินนร กินรี โดยเฉพาะ
นางมโนห์ราที่รู้จักกันดี ตะวันตกมี swan-maid และ birdman
   นางกินรี และ swan-maid นี้คล้ายกันมากจนเป็นที่น่าสงสัยว่ามีอิทธิพลความคิดเกี่ยวเนื่องกัน ฝ่ายหนึ่งอยู่อินเดีย เป็นอมนุษย์ที่ถอดปีกถอดหางออกได้เวลาเล่นน้ำ กลายเป็นผู้หญิงสาวสวย swan-maid หรือนางหงส์ อยู่ในตำนานสแกนดิเนเวีย ปกติสวมขนหงส์ ลักษณะเป็นนก เมื่อเล่นน้ำจึงถอดขนออกเป็นมนุษย์ก็ได้อย่างสมบูรณ์ ผู้คนมักจะไปแอบซ่อน ขโมยขนมา จนกว่านางจะให้พรสำหรับอธิษฐานขออะไรก็ได้เสียก่อนจึงยอมคืนให้ นิทานเรื่องมีผู้ไปขโมยปีกหางนางหงส์นี้ คล้ายกับพรานบุญและนางมโนห์ราของเรา
   birdman หรือมนุษย์นกอยู่ในตำนานยุโรปทางเหนือเช่นกัน ลักษณะคล้ายกินนรและครุฑ  แต่เหมือนคนมากกว่าสัตว์สองอย่างนั้น เพราะเหมือนคนทุกประการยกเว้นมีปีก กินนรท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก ผิดกับครุฑ หน้าเป็นนก ตัวเป็นคนแต่ตีนกลับเป็นครุฑ ทั้งสามอย่างนี้น่าจะมาจากนกจริงๆที่บินอยู่ในอากาศ บวกกับจินตนาการอยากบินได้ของคน จึงกลายเป็นภาพครึ่งคนครึ่งนกไป
   มนุษย์นกสองประเภทที่มาคล้ายกันเข้าได้คือ เดดาลัส ของกรีกและชาวเมืองโรมวิสัยของสุนทรภู่ในพระอภัยมณี เดดาลัสประดิษฐ์นกเพื่อบินหนีออกจากที่คุมขังไปได้พร้อมกับลูกชาย บังเอิญลูกชายบินสูงเกินไป ปีกขี้ผึ้งถูกดวงอาทิตย์เผาละลายตกลงสู่ทะเลตาย ส่วนชาวเมืองครึ่งนกนั้น ที่จริงเป็นคนแต่ประดิษฐ์ปีกบินได้ หัวคิดในการประดิษฐ์ปีกนั้นมนุษย์คิดกันมานานแล้ว และถ้าสุนทรภู่คิดได้โดยไม่ได้ฟังมาจากที่ใด ก็นับว่าเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์อย่างเยี่ยม นอกเหนือจากความเป็นยอดทางกวีโวหาร
   เกร็ดความรู้จากวรรณคดีนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ ชวนให้ค้นคว้าเรื่อยไป นอกเหนือจากความรู้แล้วยังสืบโยงต่อไปถึงประวัติการติดต่อคมนาคมของชนชาติต่างๆ ตลอดจนจินตนาการของนักวรรณคดี ซึ่งแม้อยู่คนละซีกโลก คนละสมัย ก็อาจมาพ้องพบกันได้บางครั้งบางคราว ถ้าวรรณคดีเป็นเครื่องสะท้อนความเจริญของชาติ ความคิดฝันของกวีที่บรรจุงลงในผลงานแต่ละชิ้น ก็อาจสะท้อนความกว้างไกลของความคิดความฝันและความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุดของคน และอาจพิสูจน์ได้ว่า แม้ในชาติเล็กหรือไกลจากศูนย์วัฒนธรรม ก็ยังมีบุคคลที่สามารถใช้มันสมองและจินตนาการวาดเรื่องราวได้ไม่แพ้ชาติใหญ่เหมือนกัน  และด้วยจินตนาการนี้เองที่วรรณคดีได้มาพ้องพบกันเข้า อย่างที่ไม่มีใครน้อยหน้าใคร
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 ต.ค. 01, 23:53

มีคนเคยเล่าว่า เงือกนั้นอาจได้เค้ามาจากพะยูน หรือ dugong ซึ่งเป็นสัตว์อย่างหนึ่งที่อยู่ในทะเล บางทีก็เรียกว่าวัวทะเลหรือหมูทะเล  ตัวพะยูนนี้ บางทีทรงตัวขึ้นอยู่เหนือคลื่น คนที่เห็นอาจเข้าใจว่าเป็นคนที่มีท่อนหางเป็นปลา แต่พะยูนที่เป็นต้นตำรับเงือกไม่ได้เอวบางร่างน้อยเหมือนนางเงือกเลย ออกจะบึ้บบั้บอ้วนฉุเสียมากกว่า ทางใต้ของเราจนไปถึงมาเลเซียก็มีครับ

เพิ่งทราบว่านางสุพรรณมัจฉาไม่มีตัวตนในเรื่องรามายณะเดิม แปลว่ามาเพิ่มเข้ามาตอนไทยรับเรื่องเข้ามาหรือครับ ยังงั้นมัจฉานุก็ไม่มีในรามายณะไปด้วยสิ ตอนนี้กำลังสนใจมัจฉานุครับ ลิงอะไรไม่รู้เป็นทั้งหลานลม (วายุเทพ พ่อหนุมาน- ปู่) หลานยักษ์ (ทศกัณฐ์พ่อนางสุพรรณมัจฉา -ตา) หลานปลา (ตัวเมีย ตัวที่เสียท่าทศกัณฐ์ แม่นางสุพรรณมัจฉา -ยาย) หลานคน (เพราะแม่หนุมานเป็นคน แต่ถูกสาปให้ออกลูกเป็นลิง -ย่า) เป็นทั้งลูกลิง (หนุมาน) และลูกเงือก (นางมัจฉา) ....

เรื่องตำนานนางกินรีหรือมโนหรานั้น ตรงกันหลายชาติมาก กระทั่งเกาหลี จีน และญี่ปุ่นก็มีตำนานนี้ ของทางจีนเกาหลีญี่ปุ่น แต่ผู้หญิงที่บินได้ลงมาจากฟ้ามาอาบน้ำนั้นไม่ใช่นก เขาให้เป็นนางฟ้า แต่มีเครื่องทรงวิเศษที่สวมแล้วจะเหาะไปสวรรค์ได้ ตรงกับปีกหางกินรีในเรื่องของเขา และพระเอกก็ชอบแอบดูผู้หญิงแก้ผ้าอาบน้ำเหมือนกัน (สงสัยผู้ชายจะเหมือนกันทุกชาติทุกภาษา) มีการขโมยเครื่องทรงหรือขโมยปีกหางเหมือนกันอีกด้วย แล้วโครงเรื่องก็คล้ายๆ กัน คือ พอขโมยปีกหางแล้ว ได้ตัวสาวชาวฟ้า จะเป็นกินรีหรือนางฟ้าก็ตาม ได้พักหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีเหตุให้นางเอกบินหนีพระเอกไปและพระเอกต้องตามขึ้นไปบนฟ้า บางเรื่องก็สมหวัง บางเรื่องก็ผิดหวังครับ
บันทึกการเข้า
นางกินรี...แอบมาเล่นน้ำ ( แต่ไม่ถอดปีกนะคะ )
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 00:09

อ้อ...แถวนี้ มีพวกพระเอก  ที่ชอบทำเท่ห์
เอามังกร โพกหัวแทนเชือก....เยอะจังค่ะ

คุณลุงคนข้างบน ล่ะคะ
ใช่พระสุธน  ปลอมตัวมา หรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 00:17

นางฟ้าจีนที่เค้าเรื่องเดียวกับนางมโนห์รานั้น เรื่องหนึ่งคือแม่นางทอหูกที่รักกับพ่อหนุ่มเลี้ยงวัวครับ ที่ตอนหลังเป็นดาวสองดวงอยู่คนละข้างทางช้างเผือกนั่นแหละ

ตำนานจีนสายหนึ่งว่า ตอนแรกเธอบินลงมาตักน้ำที่บ่อน้ำในโลก หรือจะมาอาบน้ำก็ไม่แน่ใจ พ่อหนุ่มเลี้ยงวัวชาวโลกได้เสื้อผ้าเธอมาแล้วก็เลยได้ตัวเธอเป็นเมียด้วย แต่ภายหลังต้องพลัดพรากกันไป เธอกลับไปเป็นนางฟ้าเหมือนเดิม แต่หนุ่มเลี้ยงวัวก็มานะพยายามตามขึ้นไปจนได้ เจ้าแห่งสวรรค์เดิมก็จะไม่ยอมให้ชาวฟ้าคู่กับชาวดิน แต่ต่อมาใจอ่อน ยอมให้เจอกันแค่ปีละวัน กลายเป็นตำนานที่โกโบริพูดถึงกับอังศุมาลินที่เรารู้จักกันดี
บันทึกการเข้า
นศ. นกข. (กำลังทำพีเอชดีครับ)
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 00:33

กระยานิพนธ์เรื่อง สัตว์ชนิดใหม่ในวรรณคดี สมัยปัจจุบัน (2001)


ในปัจจุบันคนเลิกเชื่อเรื่องนักสิทธิวิทยา ครุฑานาคี กินรีไกรสร ฯลฯ หรือกริฟฟิน เซนทอร์ มังกร ไฮดรา ฯลฯ อันเป็นสัตว์ในจินตนาการของคนโบราณเสียแล้ว แต่จากการสำรวจของข้าพเจ้าเพิ่งพบว่า มีสัตว์ชนิดใหม่ในวรรณคดีสมัยนี้ ซึ่งข้าพเจ้าขอตั้งชื่อว่า เหมียวศรี มีลักษณะผสมระหว่างแมวกับสาวสวยๆ แต่ดูเฉพาะลักษณะภายนอกเหมือนมนุษย์สาวสวยทุกประการ ต่อเมื่อคบกันไปแล้ว สาวน้อยเหมียวศรีจึงจะแสดงลักษณะแมวที่แฝงอยู่ออกมา เป็นต้นว่า เวลาถูกใจก็มาเคลียเคล้าคลอ น่าเอ็นดู แต่เวลาแม่โกรธขึ้นมา ก็ขู่แฟ่ดๆ อย่างกับแมว บางครั้งข่วนได้เหมือนแมวอีกด้วย ....
บันทึกการเข้า
น.ว.ล.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 00:56

ประทานโทษเถอะค่ะ... อยากทราบว่า...
คุณ นกข. เลี้ยงเหมียวศรีอยู่หรือคะ
รู้จักอุปนิสัยดีจังเลย.... หุ หุ หุ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 01:41

เป็นการเก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิโดยการสัมภาษณ์คนอื่นครับ ไม่ได้เป็นข้อมูลปฐมภูมิ เพราะผมใจไม่กล้าพอที่จะเก็บข้อมูลโดยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงขนาดนั้นครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 01:56

ไฮดราในนิยายกรีกสมัยก่อนเป็นงูหลายหัว ตัดหัวหนึ่งขาดไปอีกสองหัวจะโผล่ขึ้นมาใหม่ทันที ยังตัดยิ่งมีหัวเพิ่มมากขึ้น  วิธีปราบดูเหมือนต้องเอาไฟจี้ตรงคอหลังจากตัดหัว จะได้ไม่มีหัวใหม่งอกขึ้นได้

วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เอาชื่อไฮดราไปเรียกชือสัตว์เซลล์เดียวชนิดหนึ่ง มีหนวดยาวๆ หลายๆ เส้น

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมนึกถึงตัวไฮดรา (ของเดิม) คือ pop-up โฆษณาในเว็บบางเว็บครับ กำลังท่องเว็บอยู่ดีๆ บางที พอคลิกเข้าไปปุ๊บ จะมีหน้าต่างเปิดโฆษณาขึ้นมาไม่หวาดไหว พอดับไปหน้าต่างหนึ่งก็โผล่ขึ้นมาอีกสองหน้าต่าง ในที่สุดก็เต็มหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปหมด ถ้าคลิกปิดทีละหน้าๆ ไม่ทัน มีวิธีเดียวคือต้องล็อกออฟปิดเครื่องวิ่งหนีไปเลย....
บันทึกการเข้า
เหมียวศรี (สัตว์กำลังถูกทดลอง)
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 08:41

เหมี้ ย ว  ว. . . .  .  .  .   .  เมี้ยว ว    ว วว
บันทึกการเข้า
ศศิศ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 09:42

ขอตัวไปเปิดหนังสือหน่อยนะครับ
แล้วจะมา post ให้ จะเอาตัวไร... มา
บันทึกการเข้า
เปี้ยว
พาลี
****
ตอบ: 321

วิชาการ.คอม, อาจารย์ภาคฟิสิกส์ มหิดล


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 21:23

เอ......มันมีเว็บไม่กี่ประเภทนะครับคุณ นกข. ที่เปิด pop-up ออกมาจนปิดไม่ทัน อิอิ ชักสงสัยว่าเป็นไฮดราอะไร มีอิทธิฤทธิ์มากมายเหลือเกิน ขนาดคุณ นกข. ถึงต้องล๊อกออฟวิ่งหนีไปเลย
บันทึกการเข้า
แมว..จริงๆๆๆ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 21:45

เมี๊ยว ๆ  แมวมาตามหาปลาย่างค่ะ
บันทึกการเข้า
เพื่อนของเหมียวศรี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 ต.ค. 01, 22:36

คุณหลวงนิลกังขา  ใจร้ายจัง  จับเหมียวศรี มาทดลองเลี้ยง ได้ยังไง
เลี้ยงแล้ว ก็เลี้ยงให้จริงจัง จะเลี้ยงแล้วทิ้งๆขว้างๆ ไม่ได้นะ จะบอกให้
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 ต.ค. 01, 03:30

เปล่าๆ ไม่เคยเลี้ยงเหมียวศรีเองเลย เคยเห็นแต่คนอื่นเลี้ยงครับ ผมแพ้ขนแมวครับ

เห็นจะหลุดจากหัวข้อกระทู้ไปเสียแล้ว

เมื่อเรือนไทยปลูกเสร็จใหม่ๆ เราเคยถกกันเรื่อง นาค กะ มังกร ครับ ในกระทู้ล่างๆ ลงไปนี่แหละครับ ใครช่วยกรุณาทำลิ้งก์ให้ที (มีคนบอกมาว่า "ลิงค์" ไม่ได้แปลว่า Link แต่แปลว่า ลึงค์..!)

ตอนนั้นคุยกันสนุกมาก สมาชิกสมัยโน้นหายหน้าไปเสียก็หลายคน คิดถึง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง