เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 1219 พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 มี.ค. 24, 10:28

    รายได้ของพระคลังข้างที่ ยังคงติดลบอยู่เป็นจำนวนมากในปลายรัชกาลที่ 6  เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการที่เป็นประโยชน์ของแผ่นดิน แต่ไม่ได้งอกเงยในเชิงเศรษฐกิจ  เช่นกิจการเสือป่า   พระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ที่อำเภอปทุมวัน เพื่อจัดตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย   ซื้อตึกและที่ดินริมถนนสามเสน แล้วพระราชทานให้กระทรวงนครบาลจัดตั้ง “วชิรพยาบาล”  เป็นต้น 
     เมื่อสิ้นรัชกาล  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลดรายจ่ายของพระคลังข้างที่ ด้วยการยุบหน่วยงานในราชสำนักไปเป็นจำนวนมาก   เมื่อสยามถูกกระทบด้วยเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก   ก็ทรงลดรายจ่ายของพระคลังมหาสมบัติด้วยการตัดงบประมาณของแต่ละกระทรวงด้วยวิิธี "ดุลยภาพ" ข้าราชการ   คือให้ข้าราชการบางส่วนออกจากงานโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ   เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน  แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้   กลับก่อความไม่พอใจให้ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบกระเทือน  ประกอบกับนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศมีความนิยมเลื่อมใสระบอบการปกครองแบบใหม่ของยุโรป  ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์    จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475
    นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแบบใหม่แก่สยามประเทศ  หนึ่งในนั้นคือการเก็บภาษีมรดก
    ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 มีการเสนอ"ร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ" ต่อที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร   พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) จึงเสนอร่างกฎหมายนี้ให้แก่ที่สภาฯ
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 20 มี.ค. 24, 12:44

   แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไปไม่ถึงไหน  พระยามโนฯ ก็ถูกพระยาพหลหลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ รัฐประหารยึดอำนาจจนพ้นตำแหน่งไปก่อน   ร่างกฎหมายภาษีมรดกจึงค้างเติ่งอยู่จน พ.ศ. 2476 ก่อนได้รับการพิจารณาอีกครั้ง
    ใจความสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้คือการเก็บภาษีพระราชทรัพย์อันเป็นพระราชมรดก   รวมทั้งรายได้จากพระคลังข้างที่ด้วย  โดยมีหลักว่าพระราชทรัพย์ใด ๆ ที่เป็นพระราชมรดกตกทอดไปยังผู้อื่นจะต้องเสียภาษีมรดก เว้นแต่ผู้สืบราชสมบัติที่ได้รับพระราชมรดกนั้น ไม่เสียภาษีมรดก
    แปลง่ายๆคือเงินทองของพระมหากษัตริย์ที่จะสืบทอดต่อไปยังพระราชโอรสธิดาหรือพระราชนัดดาต้องเสียภาษี 
     พระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ  เมื่อยื่นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 7 เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระองค์ได้เสด็จฯ ออกจากประเทศตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 เพื่อรักษาพระวรกาย การรับรองกฎหมายจึงเป็นหน้าที่ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 01 เม.ย. 24, 09:50

  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชประสงค์ให้แก้ไขเพิ่มเติมว่า “พระราชทรัพย์สินใด ๆ ที่เป็นพระราชมฤดกไปยังผู้อื่นนอกจากผู้สืบราชสมบัติต้องเสียอากรมฤดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียอากรมฤดก”
  แต่ข้อนี้ไม่ใช่ความต้องการของสภา ที่จะยื่นมือเข้ามาจัดการกับพระคลังข้างที่ หรืออีกนัยหนึ่งทรัพย์สินเงินทองของพระมหากษัตริย์  จึงมีการอ้างจากสภาว่า พระราชประสงค์นี้ทำไม่ได้  เพราะขัดกับกฎหมายมาตรา 38 และ 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเพียงแต่จะทรงลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้วภายในเวลา 1 เดือนเท่านั้น ไม่มีพระราชอำนาจที่จะแก้ไขเนื้อหาของกฎหมาย

  ทางออกของสภาที่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรีจึงส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อชี้แจง  แปลอีกทีคือเกลี้ยกล่อมให้ทรงยอมลงพระปรมาภิไธยโดยไม่แก้ไขอะไร   เรียกว่าแล้วแต่สภาจะกำหนด

  ผลคือพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่ทรงยินยอมอยู่ดี   รัฐบาลจึงเอาร่างกลัับไปสภาฯ  ผลปรากฎว่า สภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ   กล่าวคือรัฐบาลเห็นอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 03 เม.ย. 24, 11:00

    สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงทราบดีว่ารัฐบาลเริ่มยื่นมือเข้ามาขอเอี่ยวกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์   เพื่อจะแบ่งส่วนหนึ่งเอาไปจัดการเอง  ส่วนที่ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือประโยชน์ส่วนตนก็ทรงมองได้ไม่ยาก  จึงแสดงความในพระทัย จากบันทึกส่วนพระองค์ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2477 ความว่า

     “ภาษีมฤดกนี้ ฉันมีความคิดเห็นอยู่นานแล้วว่า เป็นภาษีที่ยังไม่ควรมีในประเทศสยาม เพราะอาจให้ผลร้ายมากกว่าผลดี แต่ก่อนนี้ฉันคิดว่าจะ veto พระราชบัญญัติเสียทีเดียว แต่ ม.จ. วรรณไวทยากรร้องขอกับฉันว่า อย่าให้ veto พระราชบัญญัติเลย เพราะจะเก็บแต่เล็กน้อย และมีไว้เพื่อ social justice…(หาก Veto) จะทำให้เกิดการแตกร้าวกันขึ้นในระหว่างตัวฉันกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตกลงว่าจะปล่อย ทั้งที่ไม่เห็นชอบด้วยเลย โดยหวังว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้…

     ฉันจำจะต้องขอให้มีบทยกเว้นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ เฉพาะส่วนที่ได้มาจากการสืบสันตติวงศ์เสียจากภาษีนี้ เพราะถ้าไม่มีข้อยกเว้นเช่นนี้จะเป็นการลำบากอย่างยิ่ง เพราะเป็นการยากที่จะแยกได้ว่าอะไรเป็นของส่วนพระองค์ อะไรเป็นของแผ่นดินด้วยปนเปเช่นนี้มานานแล้ว นอกจากนี้หากเก็บภาษีมฤดกจากพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นการทำลายฐานะของพระองค์ และต่อไปก็จะไม่สามารถดำรงพระเกียรติยศไว้ให้สมควรเป็นที่เชิดชูของชาติได้”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 เม.ย. 24, 14:46

     เมื่อร่างกฎหมายยังไม่ลงตัวกันสักที  รัฐบาลจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งได้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาว่าจะทำตามพระราชประสงค์หรือไม่ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ผลปรากฎว่า สภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ
      ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2477 กราบทูลเรื่องการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างกฎหมายใหม่นี้ และถวายคำมั่นแด่พระองค์ว่า รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้แก่สภาฯ ในการประชุมสมัยสามัญ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477
     ดูรูปการณ์ก็เหมือนกันว่า รัฐบาลอะลุ่มอล่วย  ไม่เอาร่างกฎหมายเดิมแล้ว  แต่ร่างฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อเสนอแก่สภา   มองเผิินๆก็เหมือนว่าจะยอมทำตามประราชประสงค์   เพราะถ้าไม่ทำแล้วก็คงไม่ร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้เสียเวลา  แต่ผลก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 เม.ย. 24, 14:51

  เหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร เห็นได้จากโทรเลขที่ทรงส่งให้แก่ผู้สำเร็จราชการฯ ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่า
  “เขา(หมายถึงรัฐบาลพระยาพหลฯ) ทำให้หม่อมฉันเซ็น พ.ร.บ. อากรมฤดก ด้วยวิธีหลอกลวง เขาทำให้หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเสนอพระราชบัญญัติใหม่แถลงความหมายแห่งพระราชสมบัติส่วนพระมหากษัตริย์ตามนัยที่หม่อมฉันได้วางไว้ออกใช้เป็นกฎหมายให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้…ร่างพระราชบัญญัตินี้ควรร่างขึ้นได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แทนที่จะทำเช่นนั้น กลับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างพระราชบัญญัติ [ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์] นี้ ซึ่งจะทำให้หม่อมฉันอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
   สภาพการเช่นนี้หม่อมฉันจะยอมรับไม่ได้ สภาพการณ์ของทรัพย์สมบัติของกรมพระคลังข้างที่ในประเทศสยามไม่เหมือนกับพระราชทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ หม่อมฉันเห็นว่า เป็นความพยายามที่จะดึงเอาความครอบครองกรมพระคลังข้างที่ไปจากหม่อมฉัน วิธีการเช่นนี้อาจเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้อื่น แต่ไม่ใช่สำหรับหม่อมฉัน และหม่อมฉันก็คงจะต้องทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับนี้อีก"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 เม.ย. 24, 18:52

   ที่สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่าเป็นวิธีหลอกหลวง เกิดจากรัฐบาลไม่ได้ร่างกฎหมายใหม่ตามที่ทรงวางแนวไว้ กลับกลายเป็นว่าร่างกฎหมายใหม่นี้ เอื้อให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปจัดการกับพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่ได้ถนัดยิ่งขึ้น    ผลคือทำให้ทรงกลับกลายเป็นว่า “มีฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ” คือพระราชทรัพย์ที่มีอยู่กลายเป็นของรัฐ ทั้งๆเป็นพระราชทรัพย์ของราชตระกูลพระมหากษัตริย์มาก่อน
    พระเจ้าอยู่หัวทรงดูออกว่าต่อไป  รัฐบาลและรัฐสภาคงจะไม่ยอมประนีประนอมตามข้อเรียกร้องหลาย ๆ ข้อของพระองค์ ผลคือพระมหากษัตริย์ก็คงจะอยู่ในฐานะหุ่น   ไม่สามารถทำอะไรจัดการอย่างใดได้ แม้แต่พระราชทรัพย์ที่ตกทอดกันมาในราชตระกูลดังนั้น   หนทางข้างหน้าคือก็จะทรงสละราชสมบัติ เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะอยู่ต่อไป
   เรื่องที่ทำให้สะเทือนพระทัยอีกเรื่องคือ  กรณีพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) ฟ้องกรมพระคลังข้างที่หลัง พ.ศ. 2475 ให้จ่ายเงินเลี้ยงชีพตามพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ซึ่งถูกยกเลิกโดยรัชกาลที่ 7
    สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่าหากคดีนี้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายแพ้    ก็จะทรงสละราชสมบัติ  เพราะการจัดการบริหารพระคลังข้างที่อยู่ในพระราชอำนาจ     ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงว่าไม่ทรงมีอำนาจหน้าที่จะจัดการพระคลังข้างที่อีก  ก็เท่ากับทรงถูกลิดรอนสิทธิ์ที่เคยเป็นของพระองค์เอง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 24 เม.ย. 24, 13:59

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและรัฐบาลไม่ได้มีเพียงเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว  แต่รวมเรื่องการเมืองด้วย  จนนำไปสู่การตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ภายหลังจากการเจรจาต่อรองที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระองค์ถูกปฏิเสธจากรัฐบาล

เในปี 2478 นั้นเอง รัฐบาลได้เสนอกฎหมายพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์  การจัดระเบียบคือรัฐบาลจัดการแบ่งทรัพย์สินที่เคยขึ้นกับพระมหากษัตริย์เสียใหม่  โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน  คือ "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน", "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และ "ทรัพย์สินส่วนพระองค์"

รัฐบาลให้คำอธิบายว่า
1  "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" คือของส่วนพระองค์ที่ทรงมีอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ หรือทรงได้รับมาจากบุคคลอื่นๆ ที่มิได้เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ถือเป็นของส่วนพระองค์   ทรงมีสิทธิทำอะไรกับมันก็ได้โดยอิสระ
พูดอย่างชาวบ้านคือทรัพย์สินส่วนตัว
2   "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" คือพระราชวังเป็นต้น
คือทรัพย์สินที่ติดหรือตั้งอยู่บนส่วนของแผ่นดิน   ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านคือบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่ไม่ใช่ของเอกชน
3  "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" คือทรัพย์ที่สืบทอดมาในพระราชวงศ์ จะทรงดำเนินใดๆ ได้ก็เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
    ภาษาชาวบ้านคือมรดก   แต่ต่างจากกฎหมายมรดกที่ใช้กับประชาชนตรงที่ประชาชนมีสิทธิ์ใช้มรดกของตนไปในเรื่องอะไรก็ได้ไม่จำกัด  เช่น  จะใช้เฉพาะส่วนตัว หรือแจกจ่ายคนอื่น   จะซื้อจะขายกับใคร   จะเปลี่ยนสภาพมรดกไปเป็นอะไรก็ได้    แต่สำหรับพระมหากษัตริย์  จะทรงใช้ทรัพย์สินส่วนนี้ได้เพื่อประโยชน์ของราชตระกูลเท่านั้น
    ข้อ 3  เดิมนั้นอยู่ในการดูแลของกรมพระคลังข้างที่  แต่รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ เพื่อโยกย้ายการดูแลมาอยู่ในกระทรวงการคลัง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล
   
    เมื่อพรบ. ฉบับนี้ประกาศใช้  กรมพระคลังข้างที่ถูกลดบทบาทมาเป็น "สำนักงานพระคลังข้างที่" อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีการตั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ขึ้นมาดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสถานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานที่ปรึกษา
    ดังนั้น หน่วยงานที่ชื่อว่า "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ถึงแม้ว่าชื่อทำให้ชวนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของ   รายได้จากสนง.เป็นทรัพย์สินในพระองค์      ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง