เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 3601 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 26 ก.พ. 24, 09:12

จะเห็นนะครับว่าช่วงแรกของสงครามการทิ้งระเบิดทำโดยกองทัพอากาศอังกฤษ ประสิทธิภาพในการโจมตีใช้คำว่าไม่ตรงตามความต้องการ (ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะประมาณไม่ตรงปก) เนื่องจากเครื่องบินขนาดเล็กเกินไป บรรทุกระเบิดน้อยเกินไป ไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการเล็งเป้าหมาย ไม่มีแนวที่ห้าช่วยกำหนดเป้าหมายหรือให้ข้อมูลที่ตั้งทางทหาร (สายลับนั่นแหละ)  ต้องพึ่งพาการถ่ายภาพทางอากาศซึ่งบอกข้อมูลได้เพียงคร่าวๆ รวมทั้งต้องทิ้งระเบิดตอนกลางคืนหลีกเลี่ยงความเสียหาย จุดยุทธศาสตร์สำคัญของกรุงเทพก็เลยแคล้วคลาดภยันตราย และส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งไม่เคยเผชิญการโจมตีทางอากาศมาก่อน ถูกลูกหลงจากการทิ้งระเบิดเกิดความเสียหายมากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 26 ก.พ. 24, 09:16

     เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผมมีข้อมูลจากบทความ ‘สะป๊ะตะวา เรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่’ มาเล่าสู่กันฟัง ต้นทางมีหลายตอนผมขอลงแค่ตอนเดียวก่อนให้พอเห็นเป็นน้ำจิ้ม ลิงก์ต้นทางสูญหายไปแล้วพอดีข้อมูลพวกนี้ผมเซฟไว้ถือว่าโชคดีมาก

     เดิมเชื่อว่าสมัยก่อนด้านหน้า ร.ร.มงฟอร์ตประถมมีโรงพักเล็กๆอยู่ก่อนที่จะยุบมาตั้งเป็นโรงพักแม่ปิง ใกล้ตลาดวโรรส แต่เมื่อได้พูดคุยกับมาสเซอร์สมาน   ผอนตระกูล อายุ ๖๗ ปี เป็นครูรุ่นแรกๆของ ร.ร.มงฟอร์ต เริ่มสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ บ้านอยู่ละแวกหน้ามงฟอร์ต ยืนยันว่ามีโรงพักด้านหน้า ร.ร.มงฟอร์ตจริงๆ เป็นอาคารไม้ใต้ถุนเตี้ย บันไดขึ้นด้านหน้า ด้านบนมีสัก ๓ ห้อง มีเวรยาม ราวปืนเหมือนโรงพักทั่วไป น่าเชื่อว่าเป็นโรงพักย่อยของสภ.อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปราบปรามการลักลอบฆ่าสัตว์โดยเฉพาะ เนื่องจากย่านช้างตลานมีการลอบฆ่าสัตว์กันทั้งนั้น ไม่แน่ใจ ว่ารื้อเลิกไปปีใด แต่ราวปี พ.ศ.๒๔๙๕ ยังมีอยู่เพราะว่ามาสเซอร์สมาน ยังได้ไปเล่นตะกร้อกับตำรวจด้านหน้าโรงพักอยู่ ส่วนโรงพักแม่ปิงมีมานานแล้ว ย่านช้างคลาน ในอดีตมีอาชีพฆ่าวัวกันแทบทุกบ้าน บ้านละ ๓ – ๔ ตัว แม่น้ำปิงในละแวกนี้ จึงลงเล่นไม่ค่อยได้ และไม่สะอาดเหมือนที่อื่น เนื่องจากเป็นที่ทิ้งกระดูกวัว จะเห็นกระดูกวัวกองริมแม่น้ำขาวโพลนทั่วไป ต่อมาเมื่อมีการตั้งโรงงานทำปุ๋ย จึงมีการเก็บกระดูกสัตว์ขายเข้าโรงงานทำปุ๋ย

     ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.2484-2488) ที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นและยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเข้าประเทศพม่า บรรยากาศในเมืองเชียงใหม่ช่วงนั้น จะมีทหารพม่ามาตั้งกองทหารตามวัดโดยทั่วไป แทบจะทุกวัด เช่น วัดศรีดอนไชย, วัดหมื่นเงินกอง, วัดช่างเคี่ยน, ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ ส่วนคลังน้ำมันขนาดใหญ่ของทหารญี่ปุ่นอยู่บริเวณด้านหน้าวัดสวนดอก บริเวณรพ.ประสาทในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่สนามบินมีกองกำลังทหารญี่ปุ่นและมีเครื่องบินของญี่ปุ่นมาจอดเพื่อบินไปโจมตีพม่า มองจากย่านช้างคลานเห็นได้ชัด เนื่องจากสมัยก่อนเป็นทุ่งโล่ง เครื่องบินญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ลำ จุดสนามบินจึงเป็นจุดที่เครื่องบินสัมพันธมิตร (ฝ่ายอเมริกา) ที่ใช้ฐานทัพที่เมืองคุนหมิงประเทศจีนบินมาโจมตีอยู่เสมอ อีกจุดหนึ่งที่ถูกโจมตีคือ สถานีรถไฟ

     ผู้คนจะต้องขุดหลุมหลบภัยในบ้านของตนเอง แม้แต่ในโรงเรียนมงฟอร์ตก็ต้องขุดไว้ด้วย เป็นหลุมขนาดให้คนเข้าไปอยู่ได้พอสบาย สูงประมาณแค่อกยาวเป็นรูปฟันปลา เมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาโจมตี ทางการจะให้สัญญาณเสียงหวอดังไปทั่วเมืองเชียงใหม่ ทุกคนจะวิ่งหลบลงหลุม สัญญาณเสียงหวอดังกล่าวติดอยู่บริเวณตึกร้านรัตนผล ถนนท่าแพตรงข้ามห้างตันตราภัณฑ์เก่า ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นตึกสูงของเมืองเชียงใหม่ ส่วนหอสังเกตการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่คอยส่องกล้องดูเครื่องบินข้าศึกที่จะมาทิ้งระเบิด คือ ที่ต้นยางสูงบริเวณประตูเชียงใหม่ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ลำหรือสองลำ มากันเป็นร้อยลำกระหึ่มเต็มท้องฟ้า โผล่พ้นมาทางดอยสุเทพมาทิ้งระเบิดและยิงกระสุนเน้นที่บริเวณสถานีรถไฟและสนามบินเท่านั้น ไม่ทำลายบริเวณบ้านคน ตลาด โรงเรียน หรือสะพาน ในเวลากลางคืนก็ต้องมีการพรางไฟกัน ต้องใช้ผ้าดำ หรือน้ำเงินคลุมหลอดไฟไม่ให้มีแสง ต่อมาไม่นานน้ำมันที่ใช้สำหรับเครื่องปั่นไฟฟ้า ของเมืองเชียงใหม่ขาดตลาด ไฟฟ้าดับต้องหันกลับมาใช้ตะเกียงกันอีกครั้งหนึ่ง น้ำมันก๊าดก็ขาดตลาด ต้องใช้ไขวัวไขควายแทน (มาสเซอร์สมาน   ผอนตระกูล, สัมภาษณ์)

     คุณปิยะนารถ ภูวกุล (อายุ ๗๐ ปี) เจ้าของร้านรัตนผล ถนนท่าแพ เล่าว่า “ช่วงสงครามอายุแค่ ๑๕ ปี เรียนอยู่โรงเรียน เรยินาเชลี มีทหารมาขอติดตั้งสัญญาณหวอที่ดาดฟ้า สมัยนั้นที่บ้านถือว่าสูงที่สุดก็ว่าได้ เป็นอาคารตึก ๓ ชั้น พ่อแม่มีอาชีพค้าขายด้ายสำหรับทอผ้า บ้านตึกหลังนี้สร้างปี พ.ศ.๒๔๗๕ ใช้เวลาสร้างประมาณ ๑๓ เดือน หัวหน้าช่างเป็นชาวจีนจากกวางตุ้ง พ่อแม่เล่าว่าวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ มีเจ้าแก้วนวรัฐมาเป็นประธาน และที่สำคัญที่ต่างจากบ้านอื่น คือ มีดาดฟ้า สมัยก่อนไม่ค่อยมีบ้านไหนทำดาดฟ้ากันมักจะเป็นหลังคาธรรมดา แม้จะเป็นบ้านตึก สัญญาณหวอเป็นโลหะ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ฟุตครึ่ง ทำขาตั้งด้วยไม้ประมาณ ๒ เมตร มีสวิตช์ปิดเปิดสัญญาณเสียง เสียงดังมาก แต่ละครั้งมีทหารมาประจำ ๒ คน และมีวิทยุรับส่ง เมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาก็จะเปิดสัญญาณหวอ”

     คนเก่าๆหลายคนบอกว่า ทหารญี่ปุ่นยุคนั้นตัวเล็ก เตี้ยกว่าคนไทยเรานิสัยสุภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มักแสดงความยิ่งใหญ่ให้เห็น เช่น มีนายทหารระดับ นายพล แต่งเต็มยศ ขี่ม้าเทศตัวใหญ่มีทหารเดินตามเป็นขบวน  เดินวางมาดที่ถนนท่าแพและสายอื่น ดูเป็นที่เกรงขามของคนไทย

     ด้านบริเวณโรงแรมลานนาพาเลสใกล้แยกประชาสัมพันธ์ เป็นที่ตั้งของรถถังปืนใหญ่ต่อสู้ทางอากาศหรือ ปตอ. มีด้วยกัน ๔ คัน อยู่ละแวกเดียวกันคอยหมุนยิงเครื่องบินสัมพันธมิตร มีทหารมาตั้งเต็นท์อยู่ แต่เครื่องบินสัมพันธมิตรมักบินต่ำเพื่อหลบกระสุนทำให้ยิงไม่ค่อยถูก มีคราวหนึ่งที่เครื่องบินถูกยิง ไปร่อนตกเกือบถึงลำพูน ทราบว่านักบินเป็นคนเชื่อสายจีน ไม่เสียชีวิตและรับความช่วยเหลือหลบซ่อนจากคนเชื้อสายจีนที่ลำพูน

     ช่วงสงครามศพผู้เสียชีวิตที่ถูกระเบิดและกระสุนจากเครื่องบินจะถูกนำบรรทุกเกวียนมาวางสุมรวมกันไว้ที่สุสานช้างคลานเป็นกองพะเนิน มีทั้งชาวบ้านและทหารญี่ปุ่น เพื่อคอยให้ญาติมารับศพไปจัดการ เช่นเดียวกับที่สุสานสันกู่เหล็กและสุสานบ้านเด่น ศพเหล่านี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากบริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งบริเวณนั้นสมัยก่อนมีโรงงานฟอกหนังหลายโรง ชาวช้างคลานคนหนึ่งเป็นหญิงที่ทำงานที่นั่นก็ถูกกระสุนปืนจากเครื่องบินขณะลุกจากหลุมหลบภัยจึงโดนสะเก็ดระเบิด เสียชีวิต

     ทหารญี่ปุ่นที่พลุกพล่านอยู่ทั่วไป ปกติมักไม่รังแกชาวบ้านยกเว้นต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองเชียงใหม่จะถูกขับไล่ บ้านหนึ่ง คือ บ้านของมิสเตอร์แบร์ ชาวเดนมาร์ก อยู่ด้านตะวันตกของวัดศรีเกิด ทหารญี่ปุ่นเข้าครอบครองอาศัย แต่ถ้าหากมีชาวบ้านบางคนลักขโมยของก็จะถูกจับขึงให้ตากแดดที่สนามบินให้เป็นการทำโทษ สินค้าชาวบ้านที่ขายดีมาก คือ กล้วยหอม เป็นที่นิยมของทหารญี่ปุ่น เรื่องการที่ทหารญี่ปุ่นสามารถพิมพ์ธนบัตรได้เองส่งผลให้สินค้ามีราคาแพง ทหารญี่ปุ่นจะนำธนบัตรของไทยมาใช้จับจ่ายซื้อของในตลาด มักเป็นธนบัตร ฉบับละ ๑๐ บาท นำมาเป็นปึกเมื่อถึงตลาดก็ใช้กรรไกรตัดแบ่งเป็นฉบับซื้อสินค้า ตัดขอบตรงบ้านไม่ตรงบ้างชาวบ้านก็รับไว้หมด เพราะไม่มีทางเลือกและถือเป็นธนบัตรที่ถูกต้องเนื่องจากเหมือนธนบัตรไทยทุกประการเชื่อกันว่ารัฐบาลไทยจำต้องยอมให้ญี่ปุ่นพิมพ์มาใช้

     มีผู้บอกว่าด้านหลังวะดพระสิงห์ มีโสเภณีอาศัยอยู่ประมาณ ๒๐ คน เป็นหญิงสาวชาวไต้หวันและจีน เข้าใจว่าทหารญี่ปุ่นบังคับมาเพื่อบำรุงขวัญนายทหารญี่ปุ่น ไม่แน่ใจว่าบังคับหรือไม่ เนื่องจากแต่ละคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี

     หมายเหตุ : ข้อมูลจากลุงบุญแถม ไชยทอง, มาสเซอร์สมาน ผอนตระกูล, มาสเซอร์เฮง เงาโสภา และคุณปิยะนารถ ภูวกุล

     ในภาพคือบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ พ.ศ. 2480 มีบรรยากาศผู้คนบนถนนเจริญเมือง ถ่ายจากฝั่งโรงแรมรถไฟเชียงใหม่ฝั่งตรงข้ามสถานี ก่อนที่สถานีเชียงใหม่เดิมจะถูกทิ้งระเบิดจนเกิดเสียหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกหนึ่งจุดในเชียงใหม่



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 26 ก.พ. 24, 13:58

Siam Historical Cafe @ Youtube

การทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรในประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2487 - สิงหาคม พ.ศ. 2488
ไทยถูกโจมตีทางอากาศรวม 245 ครั้ง 2,943 เที่ยวบิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,871 คน  อาคารพัง 9,616 หลัง เสียหาย 1,195 หลัง

วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487

"เครื่องบิน B-29 จำนวน 60 เครื่องจากสนามบินในอินเดียเข้าถล่มกรุงเทพ ประเทศไทยเป็นครั้งที่สองในปีนี้ (พ.ศ. 2487)
กรุงเทพถือเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เพราะเป็นจุดส่งกำลังบำรุงของทหารญี่ปุ่น เป้าหมายหลักคือสถานีบางซื่อ 4.5 ไมล์
จากใจกลางกรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนขบวนของรถไฟจากทางทิศใต้และทิศตะวันตกสู่มาลายาและพม่า เพื่อไปยังแนวรบด้านเหนือ
ของประเทศไทย ทางรถไฟ 22 สายรวมกันเหลือ 5 บริเวณคอขวดของสถานีทางทิศเหนือ

เป้าหมายการทิ้งระเบิดคือสถานีซ่อมบำรุง ซึ่งทั้ง 4 สถานีถูกทำลายลง เป้าหมายระดับกลางก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน คือรถไฟ 15 ขบวน
เป้าหมายรองคือ โกดัง 39 หลังซึ่งอยู่ติดกับทางรถไฟในทิศใต้
สภาพอากาศปรอดโปร่ง ทำให้สามารถการทิ้งระเบิดในระดับสายตา จากระยะ 18,000-21,000 ฟุตได้ผลเป็นอย่างดี

ฝ่ายเราเสียหายเพียงเล็กน้อย ทหารบาดเจ็บ 4 นาย พบการยิงต่อต้านจากภาคพื้นเพียงเล็กน้อยและขาดความแม่นยำ
การต่อต้านอย่างแข็งขันจากอากาศยานข้าศึกทำให้ฝ่ายญี่ปุ่น (ที่จริงแล้วคือเครื่องบินไทย) สูญเสียเครื่องบิน 7 เครื่อง ร่วมกับอาจถูกทำลาย
อีก 3 เครื่อง และ 6 เครื่องได้รับความเสียหาย เครื่อง B-29 ทุกเครื่องกลับฐานอย่างปลอดภัย"

ความเสียหายจากข้อมูลฝ่ายไทย : ข้าศึกทิ้งระเบิดจำนวน 280 ลูก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 114 คน บาดเจ็บ 150 คน อาคาร 149 หลัง
รถจักร 15 คัน รถพ่วง 120 คัน สถานีรถไฟบางซื่อเสียหายอย่างหนัก
 
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488
.
"ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เครื่องบิน B-29 จากฐานบินในประเทศอินเดีย เข้าโจมตีสะพานพระราม 6 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
กรุงเทพคือสถานที่ส่งกำลังบำรุงหลักของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งปฏิบัติการในพม่า และเป็นทางเชื่อมหนึ่งเดียวระหว่างแนวรบพม่ากับทะเลจีนใต้
ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ตกลงที่กลางสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งยาว 1,400 ฟุตและในเวลาเดียวกันเครื่องบิน B-29 อีกส่วนหนึ่ง
ได้เข้าโจมตีไซง่อน อินโดจีนฝรั่งเศส"

วิดิโอจัดทำขึ้นโดย Department of Defense. Department of the Army. Office of the Chief Signal Officer. (9/18/1947 - 3/1/1964) 
จาก NATIONAL ARCHIVES CATALOG NATIONAL ARCHIVES CATALOG

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 09:09

ผีซ้ำด้ำพลอย

   สิ้นสุดเดือนมกราคม 2485 กรุงเทพปลอดภัยจากการทิ้งระเบิด มีการสร้างหลุมหลบภัยจำนวนมากอย่างเร่งด่วน ทั้งจุดที่เป็นอาคารมั่นคงแข็งแรงสร้างโดยรัฐบาล และจุดที่ประชาชนสร้างเองตามมีตามเกิด โดยการขุดหลุมขนาดใหญ่ ทำคานค้ำยันมุงหลังคาแล้วใช้ดินถม ให้ดีอีกสักหน่อยก็กั้นปากหลุมไม่ให้น้ำไหลเข้า ช่วงไหนฝนตกหนักหลุมหลบภัยมักกลายเป็นหลุมปลักควาย ผู้คนซึ่งกำลังขวัญหนีดีฝ่อต้องมานั่งแช่น้ำในหลุม พร่ำบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ใช้มือตบยุงที่ตามมาหลบระเบิดด้วยกัน กระทั่งได้ยินเสียงหวูดยาว ๆ ครั้งเดียวจึงออกจากหลุมกลับบ้านตัวเอง

    เมื่อวันเวลาเดินทางเข้าสู่เดือนมีนาคม พม่า สิงคโปร์ และชวาหรืออินโดนีเซีย ตกอยู่ภายใต้การควบคุมทหารญี่ปุ่น ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรต้องถอยร่นมาตั้งหลักในออสเตรเลีย การทิ้งระเบิดในกรุงเทพและต่างจังหวัดพลอยเลือนหายตามกัน แต่ถึงกระนั้นยังมีคำยังพรางไฟตามปรกติ โรงเรียนทุกระดับชั้นเปิดเรียนตามปรกติ ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร และยา มีวางขายในตลาดตามปรกติ แต่ราคากลับแพงขึ้น…แพงขึ้น…แล้วก็แพงขึ้น พ่อค้าหลายคนกักตุนสินค้าเพื่อแอบขายให้กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลพยายามแก้ไขความเดือดร้อนแต่แทบไม่ได้ผล โดยเฉพาะสินค้าผลิตเองไม่ได้ต้องนำเข้าราคาพุ่งพรวดจนน่าตกใจ ประชาชนทุกคนต้องหาทางดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเท่าที่สามารถทำได้

      วันเวลาผันผ่านเข้าสู่ปลายเดือนกันยายน 2485 กรุงเทพมหานครเกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี สถานที่สำคัญทั้งหมดล้วนจมอยู่ใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม

     นอกจากกรุงเทพน้ำยังท่วมอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง รวมทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้บางส่วน ถือเป็นน้ำท่วมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบกับประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว

      ระดับน้ำเริ่มเอ่อล้นเทียบเท่าทางเท้าปูอิฐแดงซึ่งอยู่ต่ำกว่าถนน ก่อนสูงมากขึ้นจนท่วมพื้นถนนและรางรถราง และเพิ่มมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนถึงระดับหน้าอก ส่งผลให้รถยนต์ทุกชนิดและรถรางพากันจอดตายใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านต้องหันมาพึ่งพาเรือพายในการเดินทางระยะใกล้ และใช้บริการเรือแจวข้ามฟากทดแทนรถรางกับรถโดยสาร ตลาดสดทุกแห่งในกรุงเทพถูกย้ายขึ้นมาอยู่บนสะพาน เพราะเป็นพื้นที่สูงแห่งเดียวในชุมชนที่ยังหลงเหลือไม่ถูกน้ำท่วม

     บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ระดับน้ำท่วมไม่ถึงพื้นบ้านพักอาศัยได้ตามปรกติ การเดินทางค่อนข้างลำบากแต่ยังสามารถเดินทางได้ ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีเรือพายติดบ้าน ทั้งเรือสร้างจากไม้หรือเรือสร้างจากสังกะสีราคาไม่แพง ถ้าต้องการเดินทางไกลหน่อยมีเรือสำปั้นรับจ้างให้บริการ น้ำประปาค่อนข้างขาดแคลนก๊อกน้ำเกือบทั้งหมดจมอยู่ใต้บาดาล อาหารทั้งแห้งและสดยังมีขายไม่ถึงกลับขาดแคลน โชคร้ายราคาขยับสูงขึ้นจากที่เคยแพงมากอยู่แล้ว ชาวบ้านก็เลยพร้อมใจกันตกปลาซึ่งมาพร้อมน้ำใช้เป็นอาหารประทังชีวิต บรรเทาความลำบากยากแค้นเรื่องปากท้องได้ไม่มากไม่น้อย

     น้ำเริ่มท่วมปลายเดือนกันยายน 2485 ระดับน้ำสูงสุดความลึก 2.27 เมตรในวันที่ 12 ตุลาคม ระดับน้ำเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม กว่ากรุงเทพจะกลับสู่ปกติก็ปาเข้าไปปลายเดือนพฤศจิกายน กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน ทุกวันอาทิตย์บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จะมีประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อแข่งขันเรือพาย มีพ่อค้าแม่ค้าแจวเรือมาขายอาหารคาวหวานเหมือนงานเฉลิมฉลองโดยทั่วไป

      เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลงชาวบ้านพากันซ่อมแซมบ้านเรือนตัวเอง

      เมื่อถนนใช้งานได้ตามปรกติ เครื่องบินทิ้งระเบิดก็กลับมาทำงานตามปรกติ

     ภาพประกอบคือเหตุการณ์น้ำท่วมพระนคร 2485 เครดิตภาพ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ




บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 09:17

     วันที่ 28 พฤศจิกายน  2485 บนรถรางทุกสายมีผู้โดยสารแน่นขนัด ส่วนรถยนต์ยังวิ่งไม่ได้เนื่องจากถนนค่อนข้างลื่น วันนั้นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 กองบินทหารบกอเมริกา ทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพอีกครั้ง การโจมตีครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่แล้วมาอย่างชัดเจน

     เครื่องบินทุกลำเดินทางออกจากฐานทัพอากาศในประเทศอินเดีย บรรทุกลูกระเบิดขนาด 200 ปอนด์จำนวนมากใต้ท้องเครื่อง ภารกิจนี้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก นักบินและเจ้าหน้าที่บนเครื่องเป็นทหารสัญชาติอเมริกัน (ส่วนมาก) กับแคนาดา (ส่วนน้อย) ส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดจากอังกฤษและออสเตรเลียยังไม่มีบทบาทต่อการทิ้งระเบิดในประเทศไทย

     ช่วงเวลา 9 เดือนแห่งความสงบเงียบแต่เฉอะแฉะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันนี้

     วันที่ 26 ธันวาคม 2485 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 เจ้าเดิมจากประเทศอินเดีย บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าเรือคลองเคยซึ่งมีทางรถไฟเชื่อมโยงกับหัวเมือง โรงไฟฟ้าสามเสน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ รวมทั้งโรงงานสรรพาวุธบางซื่อ ทั้งหมดนี้คิดเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย

     ผลการทิ้งระเบิดแม้เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจากสหรัฐอเมริกา ทว่าผลลัพธ์ยังคงขาดความแม่นยำค่อนข้างสูงเช่นเคย เป้าหมายสำคัญๆ ทั้งหมดเสียหายเพียงเล็กน้อย บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงถูกลูกหลงเหมือนเดิม

      เรามาทำความรู้จักมหันตภัยจากฟากฟ้าลำใหม่ให้เห็นภาพกันสักนิด

      B-24 Liberator คือเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ ยาว 20.47 เมตร ปีกกว้าง 34 ใช้ลูกเรือ 11 นาย น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 24.9 ตัน ความเร็วสูงสุด 497 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ไกลสุด 2,480 กิโลเมตรเมื่อบรรทุกเต็มอัตรา บรรทุกระเบิดได้มากสุด 8,000 ปอนด์หรือ 3,600 กิโลกรัม ในภาพกำลังทิ้งระเบิดขนาด 200 ปอนด์ออกจากใต้ท้องเครื่อง โดยมีปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 10 กระบอกสำหรับป้องกันตัว

     แม้ B-24 ขนาดใหญ่กว่า Bristol Blenheim และ De Haviland DH 98 Mosquito หรือเจ้ายุงที่ทหารเรือไทยเคยสอยร่วงมาแล้ว 1 ลำ ทว่าเครื่องบินซึ่งพัฒนาก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย และเข้าประจำการก่อนสหรัฐอเมริกาถูกญี่ปุ่นบุกโจมตียามพลั้งเผลอ ยังไม่มีอุปกรณ์ทันสมัย ขนาดเล็กเกินไป บินช้าเกินไป บินได้ไม่ไกลเท่าที่ควร รวมทั้งบรรทุกระเบิดได้ไม่มากพอ การโจมตีเป้าหมายโดยไม่มีแนวที่ห้าให้ความช่วยเหลือก็เลยสะเปะสะปะเหมือนเดิม

     นอกจาก B-24 ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ล่าสุด อเมริกายังมีเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ B-17 Flying Fortress ใช้งานช่วงเวลานั้นประมาณ 8,000 ลำ (จากยอดรวมการผลิต 13,000 ลำ) บรรทุกระเบิดเทียบเท่า B-24 แต่บินไกลกว่านิดหน่อย เครื่องบิน B-17 ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้งานในยุโรป เครื่องบินส่วนน้อยใช้งานในเอเชียแปซิฟิก อเมริกาใช้โจมตีญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เท่ากับว่า B-17 ไม่ได้เข้าร่วมภารกิจทิ้งระเบิดโจมตีสถานที่สำคัญในประเทศไทย

      สถานการณ์หลังจากอเมริกาประกาศเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร กองบิน 10 กองบินทหารบกอเมริกาถูกส่งมาร่วมรบกับอังกฤษในอินเดีย ภารกิจหลักคือยับยั้งกำลังทหารญี่ปุ่นจากพม่าบวกกลุ่มกบฏในอินเดีย ซึ่งพยายามปลดแอกอินเดียจากอังกฤษและเกือบทำสำเร็จเหลืออีกเพียงนิดหน่อย ภารกิจรองคือโจมตีค่ายทหารกับจุดยุทธศาสตร์สำคัญในประเทศไทย ฉะนั้นความรุนแรงดุเดือดของการทิ้งระเบิดในพม่าและอินเดียหนักกว่าเราหลายเท่าตัว

     จากภาพถ่ายจำนวนลูกระเบิดที่ถูกปลดจากใต้ท้องเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator ยังมีไม่มากเท่าไร



บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 09:23

ขออธิบายเล็กน้อย

จนถึงระยะเวลาที่ผมเล่าเรื่องราวค้างไว้ สหรัฐอเมริกายังพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ไม่เสร็จ ฉะนั้นเราจะเห็น B-24 ไปเรื่อยๆ จนถึงกลางปี 2487



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 11:24

ภาพน้ำท่วม



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 11:52

จากหอภาพยนตร์

        เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร
เมื่อถึงระยะที่น้ำท่วมสูงสุด
        แท้ ประกาศวุฒิสาร วัย 24 ปี ผู้กำลังว่างงาน ได้ลงทุนเสาะหาซื้อฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งหาได้ยากยิ่งในช่วงสงคราม เพื่อมาบันทึก
ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไว้ ที่สุดแล้วเขาสามารถหาฟิล์ม 16 มม. ขาวดำมาได้ 3 ม้วน จากห้างฮัมบรูกส์-สยาม ของชาวเยอรมัน และเช่าเรือจ้าง
ลำหนึ่ง ออกตระเวนถ่ายหนังไปทั่วกรุงเทพพร้อมกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน ทั้งยังได้ถ่ายเหตุการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่งเรือมาประชุมสภาฯ
ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งปรากฏให้เห็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา, ควง อภัยวงศ์, ประยูร ภมรมนตรี ฯลฯ

        จากหนังที่ตั้งใจถ่ายไว้แค่ “ดูเล่นเป็นที่ระลึก” ปัจจุบัน น้ำท่วมกรุงเทพ ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้กลายเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์
ถึงสภาพบ้านเมืองและผู้คนในมหาอทุกภัยครั้งนั้นที่มีชีวิตชีวาอย่างไม่อาจหาได้จากสื่อบันทึกอื่นใด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2554

        This film recorded the great flood that submerged most parts of Bangkok in 1942, during World War Two.
        Thae Prakasvudhisarn shot the film and also narrated it himself. It shows several city landmarks such as Hua Lamphong Station, Victory Monument, and in the last section the Anantasmakhom Throne Hall, which was used as the parliament, and thus a number of
key political figures in Thailand were captured in the film as well.

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 14:39

     
อ้างถึง
ในเวลากลางคืนก็ต้องมีการพรางไฟกัน ต้องใช้ผ้าดำ หรือน้ำเงินคลุมหลอดไฟไม่ให้มีแสง
      ดิฉันเกิดหลังสงครามสงบแล้วหลายปี  แต่ยังจำได้ว่าในบ้านยังมีผ้าสีน้ำเงินแก่ผืนยาวๆ เหมือนผ้าคลุมไหล่  แม่เล่าว่าเอาไว้ใช้กรุช่องลมเหนือหน้าต่างไม่ให้แสงไฟลอดออกไปภายนอก  หน้าต่างไม้ทุกบานปิดสนิท   ด้วยวิิํิธีนี้จึงเปิดไฟในห้องตอนกลางคืนได้   แต่หลอดไฟก็น้อยแรงเทียนมาก  สว่างพอลุกเดินได้ไม่ชนกัน  แต่ไม่มากพอจะอ่านหนังสือได้
     
อ้างถึง
คนเก่าๆหลายคนบอกว่า ทหารญี่ปุ่นยุคนั้นตัวเล็ก เตี้ยกว่าคนไทยเรานิสัยสุภาพเป็นส่วนใหญ่
      แม่เล่าเหมือนกันว่าญี่ปุ่นตัวเตี้ย  และสายตาสั้นด้วย สวมแว่นหนา    สูงขาวหล่ออย่างโกโบริไม่มีให้เห็นสักคน

      ก่อนหน้าญี่ปุุ่นบุกไทย    ญี่ปุ่นได้ส่งสายลับเข้ามาแฝงอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก   หนึ่งในนั้นคือพวกหมอฟัน   สมัยนั้นหมอฟันเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่  คนไทยต่างก็คุ้นเคยกับหมอฟันที่ใจดี สุภาพเรียบร้อย
      จนเมื่อคืนก่อนญี่ปุ่นบุก  หมอฟันทั้งหลายก็สลัดเสื้อกาวน์ ลุกขึ้นแต่งเครื่องแบบนายทหารกันพร้อมเพรียง ชาวบ้านยังงงกันอยู่เลย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 15:35

วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ให้เหตุผลว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษรุกรานประเทศไทยทางอากาศจำนวน 30 ครั้ง กับทางพื้นดินจำนวน 36 ครั้ง

จากกระทู้ เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา

ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา



คำแถลงการณ์ เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา




บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 15:50

      ก่อนหน้าญี่ปุุ่นบุกไทย    ญี่ปุ่นได้ส่งสายลับเข้ามาแฝงอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก   หนึ่งในนั้นคือพวกหมอฟัน   
สมัยนั้นหมอฟันเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่  คนไทยต่างก็คุ้นเคยกับหมอฟันที่ใจดี สุภาพเรียบร้อย
      จนเมื่อคืนก่อนญี่ปุ่นบุก  หมอฟันทั้งหลายก็สลัดเสื้อกาวน์ ลุกขึ้นแต่งเครื่องแบบนายทหารกันพร้อมเพรียง ชาวบ้านยังงงกันอยู่เลย

อีกอาชีพหนึ่งคือ ช่างถ่ายรูป
ฟบ. สมาคมคนเหนือ

        ร้านถ่ายรูปของนายเอ็ม ทานาคา ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ และได้เปิดร้านถ่ายภาพในเชียงใหม่
อยู่บริเวณข้างโบสถ์คริสต์จักรที่ ๑ ริมน้ำปิง ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นายเอ็ม ทานาคาก็เปลี่ยนมาเป็นทหารญี่ปุ่น
ภาพ : Sudhisak Palpho

        นาย เอ็ม ทานาคา ( Mr. MORINOSUKE TANAKA ) เป็นช่างถ่ายรูปชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เปิดกิจการร้านถ่ายรูปในภาคเหนือ
และเป็นร้านถ่ายรูปร้านที่ 2 ของเชียงใหม่ นายทานากา เกิดที่เมืองคาโกชิมาซึ่งเป็นเมืองชายทะเลทางตอนใต้ของญี่ปุ่น บิดาประกอบ
อาชีพถ่ายรูป นายทานากาได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2443 ทำงานที่ร้านถ่ายรูป “เคอิโซนางา ไคชู” ซึ่งเป็น
ร้านถ่ายรูปญี่ป่นร้านแรก เปิดกิจการในปี พ.ศ 2438 ตั้งอยู่ใกล้ไปรณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ทำงานได้ 3 ปีจึงได้เดินทางขึ้นมาเปิด
ร้านถ่ายรูปของตัวเอง ที่ลำปาง
        ต่อมา  นาย ทานากาได้รับการชักชวน จากนายแพทย์ชาวอเมริกัน ชือ ดร.คอร์ต ให้มาเปิดร้านถ่ายรูปที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่กว่า
นายทานากาจึงย้ายมาเปิดร้านถ่ายรูปที่เชียงใหม่ พ.ศ 2446 ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ – ลำพูน เรียบแม่นำปิง กิจการร้านถ่ายรูป ของนายทานากา
ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่นิยมของข้าราชการ เจ้านาย พ่อค้า อย่างรวดเร็ว
COVERAGE:หอภาพถ่ายล้านนา


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 15:54

ญี่ปุ่บยกพลขึ้นสงขลา เชิญคุณเพ็ญฯ ถ่ายทอด

Hatyai Focus Variety

นาทีที่ 0.16 เป็นเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น นอกชายฝัง สงขลา เมืองที่บุกคือ สงขลา ปัตานี และโกตาบารู
นาทีที่ 0.43 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ ชายหาดสมิหลา ด้านหลังคือ เกาะหนูซ้อนกับเกาะแมว

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 27 ก.พ. 24, 18:35

คงต้องให้คุณนวรัตนและคุณประกอบมาถ่ายทอดต่ออีกทีหนึ่ง ยิงฟันยิ้ม

ญี่ปุ่นใช้กองทัพที่ ๒๕ ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และโกตาบารูในมลายู

สมัยเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร. มหาวชิราวุธที่สงขลา มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ อ. สนิท ชูวงศ์  แม้จะเกษียณแล้ว แต่ท่านยังมาสอนวิชาลูกเสือเมื่อครั้งกระโน้น

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนญี่ปุ่นบุกสงขลา ท่านเป็นยุวชนทหาร  พอมีข่าวว่าญี่ปุ่นบุก ท่านกับเพื่อนยุวชนทหารอีก 3 คน พร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง  รู้สึกจะแค่ 2 คน ก็ไปซุ่มกำลังกันตรงชายหาดที่ญี่ปุ่นกำลังขึ้นบกกัน

ถ้าจำไม่ผิดท่านว่าเป็นแหลมสมิหลาด้านเกาะหนูเกาะแมว บอกว่าเห็นมีเรือลำสูงเท่าเกาะหนู  ส่วนกำลังฝั่งท่านมีไม่กี่คน  รับปืนและได้รับแจกกระสุนไม่กี่นัดด้วยซ้ำ 10 หรือ 25 นัดผมจำไม่ได้  ก็เลยไปซุ่มเฉยๆ ไม่ได้มีการปะทะกัน  ไม่งั้นผมอาจจะได้เรียนลูกเสือกับอาจารย์ท่านอื่น
รู้สึกว่าทางสงขลานี่ไม่มีการยิงกัน   ไปยิงกันแถวนครศรีธรรมราช  ปัตตานี ประจวบฯตรงอ่าวมะนาว แต่เหมือนฝ่ายไทยจะรู้ข่าวว่าญี่ปุ่นขึ้นบกตรงสงขลาก่อน ทางนครฯ กับปัตตานีเตรียมกำลังไปช่วยทางสงขลา  ขึ้นรถขึ้นรากันแล้ว ถึงได้ข่าวญี่ปุ่นขึ้นบกเช่นกัน เลยไม่ต้องไปรบถึงสงขลา


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 28 ก.พ. 24, 09:01

     ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลเสริม ผมมาต่อแล้วครับ


     การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2486

     พ.ศ.2485 มีการทิ้งระเบิดในประเทศไทยจำนวน 7 ครั้ง ถัดมาในปี พ.ศ.2486 มีการทิ้งระเบิดในประเทศไทยจำนวน 6 ครั้ง น้อยกว่าเดิมหนึ่งครั้งทว่าจำนวนเครื่องบินมากกว่าเดิมขนาดใหญ่โตกว่าเดิม เครื่องบินทิ้งระเบิดอังกฤษหายไปเปลี่ยนเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่จากอเมริกา

     วันที่ 19 มกราคม 2486 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 รุกล้ำเข้าสู่น่านฟ้าจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อถ่ายภาพเส้นทางรถไฟที่กำลังก่อสร้าง เส้นทางสายใหม่เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านกาญจนบุรี แม่น้ำแควใหญ่ ด่านเจดีย์สามองค์ จุดหมายปลายทางคือเมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า ทางรถไฟสายใหม่ความยาวรวม 415 กิโลเมตร อยู่ในประเทศไทย 303.95 กิโลเมตร อยู่ในประเทศพม่า 111.05 กิโลเมตร รู้จักกันในชื่อทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือทางรถไฟสายกาญจนบุรี

     วันที่ 4 เมษายน 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 24 ลำ บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นจังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 21 เมษายน 2486 (บางข้อมูลบอกว่าวันที่ 14 เมษายน 2486) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 16 ลำ จากกองบิน 10 บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงงานสรรพาวุธบางซื่ออีกครั้ง ภารกิจนี้มีเครื่องบินเพียง 4 ลำทิ้งระเบิดในพื้นที่เป้าหมาย เครื่องบินอีก 6 ลำบินบังเอิญหลงทิศทางหาโรงงานสรรพาวุธบางซื่อไม่เจอ จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนทิ้งระเบิดใส่พื้นที่อื่นในกรุงเทพและธนบุรี

     ระหว่างเดือนตุลาคม 2486 คือช่วงเวลาห่างหายจากการทิ้งระเบิด กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้โรงเรียนระดับประถมทุกชั้นเรียนทำการสอบไล่ แล้วปิดการเรียนไม่มีสอนเทอมสองตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม นักเรียนมัธยม 1 ถึง 5 สอบไล่เดือนพฤศจิกายนแล้วปิดการเรียนตามกัน ส่วนนักเรียนมัธยม 6 โตเป็นผู้ใหญ่มากที่สุดดูแลตัวเองให้เรียนหนังสือเทอมสองต่อไป

     ต้นเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลมีคำแนะนำต่อประชาชนในกรุงเทพ ให้เร่งอพยพไปยังหัวเมืองเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เด็กกับคนแก่สมควรอพยพให้เร็วที่สุด ทิ้งผู้ชายซึ่งมีความแข็งแรงมากที่สุดอยู่เฝ้าบ้าน ประชาชนจำนวนมากทำตามคำแนะนำแค่เพียงชั่วคราว เข้าสู่เดือนธันวาคมยังไม่มีการทิ้งระเบิดจึงพากันอพยพกลับบ้านตัวเอง บางคนเพิ่งกลับบ้านเพียงวันเดียวเสียงหวอดังทันที

     วันที่ 19 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน หลังหยุดพักการทิ้งระเบิดไปนานประมาณ 9 เดือน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 20 ลำ จากกองบิน 10 เจ้าประจำจากอินเดีย บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ท่าเรือคลองเตยอย่างหนัก พื้นที่เป้าหมายเกิดความเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากเครื่องบินใช้ระเบิดขนาด 500 ปอนด์จำนวน 110 ลูกทิ้งใส่เป้าหมาย (ตอนนั้นลูกระเบิดมาตรฐานขนาด 200 ปอนด์) เท่ากับว่าอเมริกาหวังผลทำลายล้างเป้าหมายมากกว่าเดิม การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการอุ่นเครื่องหลังจากห่างเหินไปนานพอสมควร

     ท่าเรือคลองเตยเป็นจุดสำคัญในขนส่งอาวุธและยุทธปัจจัย ซึ่งลำเลียงทางน้ำโดยเรือสินค้าจากเกาะญี่ปุ่นหรืออาณานิคมน้อยใหญ่ ใช้เส้นทางรถไฟขนส่งไปยังฐานทัพต่างๆ ทั่วประเทศ ขบวนรถไฟต้องแล่นผ่านบางซื่อซึ่งเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่ แถวนั้นยังมีโรงรถจักร ชุมชนรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ ส่งผลให้คลองเตยกับบางซื่อตกเป็นเป้าหมายสำคัญ เครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรมักแวะมาเยี่ยมเยียนตลอดเวลา

     วันที่ 21 ธันวาคม 2486 เวลาประมาณ 20.30 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 29 ลำจากฝูงบิน 308 กองบิน 14 ประเทศจีน เดินทางไกลมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ตัวอาคารสถานีและคลังสินค้าถูกแรงระเบิดเสียหายอย่างหนัก คลังแสงเก็บอาวุธและยุทธปัจจัยของทหารญี่ปุ่น ตลอดจนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ถูกอำนาจทำลายล้างจากแรงระเบิดเล่นงานเกิดความเสียหายอย่างหนักไปพร้อมกัน

     ผลการโจมตีสถานีรถไฟเชียงใหม่ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง อเมริกายื่นซองขาวให้กับเจ้าหน้าที่รถไฟประจำสถานีทุกราย ปลายทางรถไฟสายเหนือต้องเปลี่ยนมาเป็นสถานีป่ายางเนิ้ง (หรือสถานีสารภีในปัจจุบัน) ในเชียงใหม่นั่นแหละครับ บางข้อมูลบอกว่าเป็นสถานีป่าเส้า จังหวัดลำพูน ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสถานีป่ายางเนิ้งมากกว่าเพราะยังไม่เสียหาย

     มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวมกันมากถึง 300 คน (ตัวเลขจากรายงานฝั่งอเมริกา)

     สรุปความได้ว่าบางซื่อกับคลองเตยยังอยู่รอดปลอดภัย ส่วนสถานีรถไฟเชียงใหม่ที่ผมเคยนำภาพมาอวดเสียหายอย่างหนัก นี่คือความสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
     
     ในภาพคือสถานีรถไฟบางซื่อปี 2471


     



บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 28 ก.พ. 24, 09:08

      ผมมีข้อมูลจากบทความ ‘สะป๊ะตะวา เรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่’ มาเล่าสู่กันฟังเป็นครั้งที่สอง ถือเป็นการพักเบรกเข้าสู่โฆษณาก่อนติดตามเนื้อหาหลักกันต่อไป

     ปีพ.ศ.๒๔๘๗ ระยะปลายสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ที่พระนครธนบุรีและตามจังหวัดใหญ่ๆ อันเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ได้ถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างนี้สถิติคดีอาญาทุกประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรมหนัก ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ประเทศตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัวจากการกระทำของนักเลงอันธพาลประจำท้องถิ่น เวลานั้น พลต.อ.หลวงอดุลยเดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจและเป็นฝ่ายเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่น (ประวัติและวิวัฒนาการของตำรวจไทย พลต.ต.ตสุวรรณ   สุวรรณเวโช) ในเชียงใหม่ขณะนั้น พ.ต.ต.บุญชัย   ไชยคุณา เป็นผกก.เชียงใหม่ (ต่อจาก พ.ต.ท.หลวงศิลป์ประสิทธิ์) กองกำกับการและ สภ.อ.เมืองเชียงใหม่ย้ายไปอยู่วัดข่วงสิงห์เป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับสถานที่ราชการอื่น เนื่องจากหวั่นเกรงระเบิด ด้านงานสอบสวนมีการตั้งจุดรับแจ้งชั่วคราวที่วัดศรีเกิด ข้างสภ.อ.เมืองเชียงใหม่นั่นเอง (พ.ต.ท.ศิริ   ไชยศิริ, สัมภาษณ์)

     ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔ สิ้นสุดเอาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาประจำที่วัดต่างๆเกือบทุกวัน ย่านกลางเมืองเชียงใหม่ เช่น วัดเจดีย์หลวง, ร.ร.พุทธโสภณ, วัดหมื่นเงินกอง, วัดเมืองมาง, วัดหมื่นสาร ส่วนที่วัดชัยพระเกียรติ มีทหารไทยมาอาศัยอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เป็นที่กักขังเชลยที่เป็นชาวต่างประเทศเพื่อใช้แรงงาน

     คุณป้าเรณู ณ น่าน อายุ ๗๒ ปี บอกว่า “ช่วงเกิดสงคราม อายุราว ๑๕ ปี บ้านอยู่ใกล้แยกพุทธิโสภณ ช่วงเกิดสงคราม คนในเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่หนีออกจากในเมืองไปอยู่ตามต่างอำเภอ เช่น เพื่อนบ้านหนีไปอยู่บ้านสันป่าสัก อ.หางดง เนื่องจากกลัวถูกระเบิด ทำให้ในละแวกที่พักมีเหลือเพียง ๓ บ้านที่ตกที่นั่งลำบาก ก็คือ สุนัขที่เลี้ยงกันไว้ เจ้าของหนีสงครามแต่ไม่ยอมนำสุนัขไปด้วย ยามค่ำคืนเสียงสุนัขคงคิดถึงเจ้าของส่งเสียงเห่า  หอนกันน่าหดหู่ใจ และยิ่งฟังน่ากลัวยามสงครามที่มีคนตายกันทุกวันเช่นนี้ วันหนึ่งจำได้แม่น คือ เห็นเครื่องบินประมาณ ๖ – ๗ ลำ บินมาทิ้งระเบิดที่สนามบินเชียงใหม่ ครั้งแรกบินเลยไปทาง อ.แม่แตง ไม่นานเหลียวกลับมา ดิ่งหัวลงทิ้งระเบิดที่สนามบินทีละลำๆ เสร็จก็บินจากไป ทราบว่าคราวนั้น มีคนตายกันมาก แต่ไม่ได้ไปดู

      คุณป้าเรณูสมัยเด็ก มีความสนใจในภาษาญี่ปุ่นและหาซื้อหนังสือมาเรียนด้วยตัวเอง สมัยสงครามโลกครั้งนี้ จึงได้อาชีพเป็นล่ามกับทหารญี่ปุ่น โดยติดตามผู้รับเหมาจัดซื้ออาหารสำหรับทหารญี่ปุ่น ผู้รับเหมาคือ พ่อเลี้ยงแกง อยู่หลังวัดพระสิงห์ ศูนย์ประสานงานของญี่ปุ่น คือ ที่โรงเรียนจีนเก่า ถ.ช้างคลาน สินค้าที่ติดต่อซื้อขายกับทหารญี่ปุ่น คือ ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นหลัก ครั้งหนึ่ง เคยติดรถบรรทุกแบบคอกหมู ซึ่งสมัยนั้นมักเป็นของบริษัทสหายรถยนต์ จำกัด ที่คนเมืองเชียงใหม่ เรียกกันว่า รถ สรย. บริษัทตั้งอยู่บริเวณตลาดบุญอยู่เก่า ใกล้สี่แยกโรงเรียนยุพราช มีพ่อเลี้ยงอุ่นเรือน เป็นหุ้นส่วนใหญ่ไปกันประมาณ ๔-๕ คัน ไปส่งข้าวเปลือกให้ทหารญี่ปุ่น บ.แม อ.สันป่าตอง คนขับคือฝรั่งที่ถูกบังคับมาทำงาน สองข้างทางเห็นศพคนตายอยู่ทั่วไป บางคนก็แขนขาขาด ที่บ.แม อ.สันปาตองนี้ คาดว่าเป็นที่ตั้งขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น

    คุณลุงสิงห์คำ ณ เชียงใหม่ บ้านอยู่หลังวัดเมืองมาง เล่าเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ว่า “ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะนั้นอายุประมาณ ๑๕ ปี ละแวกวัดเมืองมางนี้ คนเฒ่าคนแก่ก็อพยพไปบ้านนอกเช่นกัน ทิ้งสุนัขไว้เห่าหอนคล้ายวอนให้เจ้าของกลับมาหา สิ่งที่ขาดแคลน คือ ยารักษาโรค เป็นความเดือดร้อนของชาวเมืองเชียงใหม่ทั่วไป ยารักษาโรคส่วนหนึ่งได้มาจากทหารญี่ปุ่นที่มาตั้งอยู่ที่วัดต่างๆทั่วไป โรคที่เป็นกันมากคือ โรคบิด, ไข้รากสาด, ตุ่มตาควาย ยารักษาโรคส่วนหนึ่งขอจากทหารญี่ปุ่น ซึ่งรู้สึกว่าเต็มอกเต็มใจที่ จะช่วยเหลือคราวที่หลวงพ่อวัดเมืองมา เมื่อเจ็บป่วย ทหารญี่ปุ่นฝ่ายเสนารักษ์ก็มารักษาให้ วันหนึ่งทางการนำรถมาประกาศว่า จะมีเครื่องบินของมิตรประเทศมาประจำที่สนามบินเชียงใหม่ ขออย่าได้ตกใจ และไม่นานประมาณ ๑๐ โมง มีเครื่องบินญี่ปุ่นบินหึ่มมาลงที่สนามบินประมาณ ๑๐๐ ลำ เป็นเครื่องบินปีกชั้นเดียวที่เรียกว่า ซีโร่

     ตอนนั้นเป็นวัยรุ่นวิ่งไปดูกัน สนามบินตอนนั้น ยังเป็นเพียงดินอัดเป็นสนามหญ้า นอกจากนี้ทางการนำรถมาประกาศให้พรางไฟ อย่าให้แสงออกนอกอาคารและต้องขุดหลุมหลบภัยทุกบ้านด้วย การทิ้งระเบิดของเมืองเชียงใหม่ที่จำได้ คือ ๓ ครั้ง ครั้งแรกถือว่าหนักที่สุด ทิ้งระเบิดสถานีรถไฟเชียงใหม่ ตอนนั้นทหารญี่ปุ่นจำนวนมากกำลังเตรียมตัว ขนย้ายอุปกรณ์และเดินทางขึ้นรถไฟ ฝ่ายอเมริกาคงทราบข้อมูล จึงมาทิ้งระเบิด ใช้เครื่องบินบินสูงและทิ้งแบบปูพรม ทำให้ชาวบ้านละแวกสถานีรถไฟอีกทั้งโรงงานในย่านนั้นเสียหาย มีคนตายหลายร้อยคน ไฟไหม้อยู่เป็นเดือนกว่าจะดับหมด มีการขนศพคนตายไปไว้ที่สุสานต่างๆ ขุดหลุมใหญ่นำศพฝังรวมกัน ภายหลังจึงไปขุดมาฌาปนกิจ การโจมตีครั้งที่ ๒ คือ เครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สนามบินเชียงใหม่ มีเครื่องบินญี่ปุ่นถูกทำลาย และมีคนตายหลายคนอยู่เหมือนกัน ครั้งที่ ๓ มีประมาณ ๓-๔ ลำ เวลาราว ๔ โมงเย็น ใช้วิธีการยิงกราดตามท้องถนนที่เห็นว่ามีรถยนต์วิ่ง ซึ่งขณะนั้นรถส่วนใหญ่คือรถทหารญี่ปุ่น เครื่องบินของสัมพันธมิตรลำหนึ่งถูกปืน ปตอ.ที่ตั้งอยู่บริเวณโรงแรมลานนาพาเลสในปัจจุบันยิงถูกไปตกที่ลำพูน ต่อมาได้นำปีกเครื่องบินที่ถูกยิง มาไว้ที่กลางทุ่งใกล้โรงแรมลานนาพาเลส เป็นเครื่องบินของจีนคณะชาติ”

     “ตลกดีเหมือนกันที่สะพานนวรัฐในช่วงสงครามมีการพรางเพื่อไม่ให้เครื่องบินฝ่ายอเมริกามาทิ้งระเบิด โดยการใช้ทางมะพร้าวทำเป็นหลังคาปิดไว้ คาดว่าจัดทำโดยทางอำเภอมองดูก็ช่างน่าขบขันเพราะเมื่อมองจากเครื่องบินคงไม่สามารถพรางสายตานักบินที่มองมาจากด้านบนได้ หากจะทิ้งระเบิดสะพานคงทำได้ไม่ยาก “คุณแม่กรรณิการ์   กัณฑรัตน์ อายุ ๗๓ ปี เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ ๒ “ขณะนั้นเรียนโรงเรียนดาราวิทยาลัยที่  ถ.  แก้วนวรัฐ ช่วงสงครามโรงเรียนหยุด มีทหารมาอยู่ที่โรงเรียน จำได้ว่าพร้อมกับเพื่อนนักเรียนไปส่งแหม่มที่มาสอนที่โรงเรียนขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ มีแหม่มแมคครัว แหม่มนิบรอค ส่วนอีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ก็ไปส่งแบบเปิดเผย คาดว่าทหารญี่ปุ่น คงกดดันให้ต่างชาติออกจากเชียงใหม่ ไม่ได้บังคับหรือติดตามจับกุมตัว ต่อมามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟ ระเบิดลูกหนึ่งลงใกล้โรงสีแสงไทย ถนนทุ่งโฮเต็ล ตอนนี้ยังเป็นแอ่งใหญ่อยู่เลย
           
     ช่วงสงครามมีฝรั่งต่างชาติ ถูกนำมาบังคับให้ใช้งาน โดยเฉพาะการขับรถบรรทุกและใช้แรงงานแบกหาม คุณลุงเอื้อม   ตนานนท์ อายุ ๘๘ ปี (เกิด พ.ศ.๒๔๕๖) แม่ทำกิจการโรงสีข้าวหนองประทีป อยู่บริเวณโรงเรียนเชียงใหม่เทคโนโลยีในปัจจุบัน ช่วงสงครามทหารญี่ปุ่นมาซื้อข้าวสาร ขนส่งไปที่เลี้ยงทหารที่ อ.เชียงดาว อ.ปาย และที่อื่นๆโดยจะติดต่อคนกลางมาก่อน และนำรถบรรทุกมาบรรทุกคราวละไม่ต่ำกว่า ๑๐ คัน  ข้าวสารบรรจุในถุงเสื่อ ถุงละ ๕๐ กิโล รถบรรทุกแต่ละคนมีฝรั่งเป็นคนขับและเป็นคนขนข้าวขึ้นรถ แต่ละคนไม่สวมเสื้อ สวมเพียงกางเกงขาสั้นตัวเดียว แม้แต่ในช่วงหน้าหนาวที่อากาศหนาวก็ไม่อนุญาตให้สวมเสื้อ และห้ามสูบบุหรี่ มีทหารญี่ปุ่นควบคุมมา หากทำผิดจะถูกตบหน้า มักเป็นฝรั่งชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คาดว่าพามาจากสิงคโปร์มาทำงาน และที่เห็นที่อื่นๆ เช่น ในตลาดวโรรส ทหารญี่ปุ่นมาซื้อผัก เนื้อ ก็ใช้ฝรั่งเป็นคนขับ และเป็นคนใช้แรงงานทั้งนั้น เงินที่ได้รับค่าข้าวสารเป็นเงินฉบับละ ๑๐ และ ๒๐ บาท ธนบัตรสวยเป็นปึก สมัยนั้นพิมในประเทศญี่ปุ่น

     ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ สภาพสังคมและการค้าขายในเมืองเชียงใหม่ จึงกลับสู่ภาวะปกติ แม้ในภาคกลางจะเกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค แต่ที่เชียงใหม่ สังคมยังอุดมสมบูรณ์ ไม่อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับต้องปล้นจี้กันดังเช่นภาคกลาง


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง