เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 1738 สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 18:12

อ้างถึง
กันเกราไม่แน่ใจค่ะว่า "เลงยล" หมายถึงอะไร (เป็นคำโบราณ เข้าใจยาก) แต่เป็นครั้งเดียวที่พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรตรัสถึงพระอัครชายา กันเกราพยายามคิดว่าคำนี้จะเป็น clue ของเรื่องทั้งหมดได้ไหมนะคะ

เลง  = เล็ง
ยล   =  มอง, เห็น
ไม่เลงยล   = ไม่เล็งเห็น  = มองไม่เห็น

โอ้พระคุณบุญน้อยไม่มีบุตร     เปนมงกุฎสืบสายไปภายน่า
จะสนองแทนลอองอิศรา         กับพระอรรคชายาไม่เลงยล

ถอดความออกมาว่า  น่าเสียดายที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ทรงมีพระโอรสที่จะสืบสันตติวงศ์วังหน้าต่อไปในภายหน้า  จึงไม่เห็นใครที่จะได้บำเพ็ญพระกรณียกิจแทนพระบิดาและพระมารดา
บรรทัดต่อไปคือมีพระโอรสก็แต่ที่ประสูติจากเจ้าจอม  
ในเมื่อเอ่ยถึงพระอรรคชายา ก็น่าจะเป็นได้ว่าเจ้าศิริรจจายังอยู่ในวังหน้าเมื่อกรมพระราชวังบวรฯสิ้นพระชนม์   ดังนั้นอาจจะทรงกลับไปลำปางหลังจากนั้น   ส่วนเจ้าฟ้าพิกุลทองยังอยู่ในกรุงเทพ

การที่ไม่มีบันทึกถึงงานพระเมรุหรืองานพระศพเจ้าศิริรจจา ทำให้แน่ใจว่าไม่ได้สิ้นพระชนม์อยู่ในเมืองหลวงค่ะ
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 19:52

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ และกันเกราขออภัยมาก ๆ ค่ะ ตอนนี้พบการบันทึกปีสิ้นพระชนม์ของพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา (แต่หลักฐานไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ) คือปี พ.ศ. 2364 ค่ะ (18 ปีหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต) กันเกราเชื่อว่าทางที่เป็นไปได้มากที่สุดมีสองหนทางค่ะ

                (i)  พระอัครชายา เจ้าศิริรจจา กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับล้านนาหลังการสวรรคตของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ โดยที่เจ้าฟ้าพิกุลทองประทับที่กรุงเทพฯ ดังที่ อ.เผ่าทองท่านเล่า (ท่านเป็น insider ) ซึ่งการกราบบังคมทูลนี้ไม่ผิดกฏมณเฑียรบาล (มีการกราบทูลขอกลับนครฯ ของเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กและการทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภากลับกัมพูชาของสมเด็จพระอุทัยราชาเป็นตัวอย่างว่าสามารถกระทำได้)

                (ii)  พระอัครชายากราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับล้านนาหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าพิกุลทองดังที่คุณเพ็ญสุภาเชื่อ อันนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้เช่นกันค่ะ

กันเกราเห็นด้วยว่าพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาน่าจะทรงนิวัติล้านนาจริง ๆ ค่ะ และระยะเวลาระหว่างการสวรรคตของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าพิกุลทองห่างกันเพียงเจ็ดปี เป็นไปได้ทั้งสองหนทาง (และไม่ขัดแย้งกับหลักฐานทางโบราณวัตถุคือบุษบกพรหมพักตร์ซึ่งมีสามที่ประทับ และการมีตำหนักพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา ในพระบวรราชวัง (เอกสารเล่าว่ามีหลังคาสองชั้น) นอกเหนือจากตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทองค่ะ)  และเห็นด้วยว่าพระอัครชายาอาจจะเสด็จนิวัติลำปางซึ่งเป็นเมืองเดิมและพระเจ้าดวงทิพย์ พระเชษฐาทรงเป็นเจ้าหลวงค่ะ

บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 20:37

การหายไปของบทบาทพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ อาจเป็นไปได้ไหมคะว่าเกิดจากกฏมณเฑียรบาลซึ่งแยกฝ่ายหน้าฝ่ายใน  ตอนที่ทรงเป็นท่านผู้หญิง ไม่ติดกฏมณเฑียรบาลนี้วีรกรรมการหงายเมืองจึงเกิดขึ้นได้ หลังจากที่ทรงเป็นพระอัครชายาแล้ว การติดต่อกับราษฎรนอกพระบวรราชวังอาจยากขึ้น (พระอัครชายาอาจยังทรงมีบทบาทแต่อาจทรงอยู่เบื้องหลัง ในสาส์นสมเด็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสว่าพระญาติทางล้านนาเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และพระอัครชายาเสมอ ๆ (และทางนั้นมีศึกกับพม่ามาก เลกในพระองค์ที่สระบุรีอาจมีส่วนช่วยในการรบ อันนี้กันเกราเดานะคะ) แต่ถ้าทรงมีบทบาทอยู่เบื้องหลังอาจจะไม่มีการบันทึกค่ะ)

หลักฐานทางล้านนาที่ไม่ชัดเจนอาจเกิดจากการนิวัติลำปางนะคะ ถ้าพระอัครชายานิวัติเชียงใหม่ หลักฐานอาจชัดเจนขึ้น (กันเกราเดาว่าการเก็บหลักฐานน่าจะอยู่ที่เมืองหลวงของล้านนา) นักประวัติศาสตร์ล้านนาจึงต้องเชื่อมจุดกันค่ะ (แต่อันนี้คือการคาดเดาล้วน ๆ นะคะ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 20:58

   เป็นไปได้มาก ว่ากฎมณเฑียรบาลกำหนดให้เจ้านายสตรีกระดิกกระเดี้ยออกนอกกรอบได้ยาก    ออกนอกวังก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าต้องพูดจาหรือสั่งงานกับพวกผู้ชายยิ่งยากหนักเข้าไปอีก   ยิ่งเป็นสามัญชนแล้วไม่มีโอกาสเลยก็ว่าได้
เจ้าศิริรจจาน่าจะอยู่ในวังหน้าอย่างมีเกียรติยศสูงกว่าเจ้านายอื่นๆทั้งหมด   ซึ่งก็ทำให้เกิดกรอบหนายิ่งกว่าเจ้านายอื่นๆ  ท่านจึงไม่มีบทบาทด้านงานเมืองใดๆ   
   นอกจากนี้  วังหลวงกับวังหน้ามีเรื่องขุ่นเคืองกันมาตั้งแต่ปลายรัชกาล   จนสิ้นกรมพระราชวังบวรฯ ก็เกิดคดีกบฎพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตขึ้นมาอีก    แม้การสอบสวนไม่ปรากฏว่าเจ้าศิริรจจาเกี่ยวข้องด้วย   แต่เหตุการณ์นี้ รวมทั้งความวิบัติที่เกิดขึ้นในวังหน้า   คงจะทำให้ท่านตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านเดิม  แม้ไม่สามารถนำเจ้าฟ้าพิกุลทองไปด้วยได้ก็ตาม 
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 17 พ.ย. 23, 08:18

ขอสารภาพว่ากันเกราเชื่อการวิเคราะห์ของอาจารย์นะคะและตอนนี้เริ่มเอนเอียงมาทาง อ.เผ่าทองมากกว่าคุณเพ็ญสุภาค่ะ อ.เผ่าทองท่านน่าจะมีโอกาสเป็นฝ่ายถูกมากกว่า ถ้าพิจารณาความตึงเครียดระหว่างวังหน้าและวังหลวงในช่วงก่อนสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดหลังสวรรคต กันเกราคิดว่าเป็นเรื่องน่าเห็นพระทัยสำหรับพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาและเจ้าฟ้าพิกุลทอง สำหรับพระอัครชายาด้านหนึ่งคือพระธิดาพระองค์เดียว อีกด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์ล้านนา-สยาม พระอัครชายาทรงเป็น link ที่สำคัญที่สุดสำหรับความสัมพันธ์นี้ (ล้านนาต้องการสยามมากเพื่อการป้องกันจากพม่าและสยามต้องการล้านนาเช่นกัน)  เหตุการณ์ในวังหน้าอาจนำความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามเข้าสู่ภาวะเสี่ยง  ทางที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์นี้คือการเสด็จกลับล้านนาของพระอัครชายา (และแม้เสด็จกลับล้านนาแล้ว การลดบทบาททางการเมืองอาจยังจำเป็น)

  โชคดีที่เจ้าฟ้าพิกุลทองเจริญพระชันษาพอที่จะทรงปกครองตำหนักของพระองค์เอง และเป็นเจ้าฟ้าทรงกรม พระสถานะสูง ขณะเดียวกันทรงเป็นพระธิดาอยู่ฝ่ายใน ไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองมากนัก และทรงเป็นพระญาติเจ้าหลวงถึงสามเมือง และมีวีรกรรมการหงายเมืองของพระมารดาซึ่งทางกรุงเทพฯ ย่อมไม่ลืม อย่างน้อยพระอัครชายาอาจจะสบายพระทัยได้ว่าความปลอดภัยขององค์เจ้าฟ้าพิกุลทองน่าจะมากในระดับหนึ่งค่ะ

กันเกรากำลังคิดว่าอาจเป็นได้ที่เหตุผลเดียวกันนี้ทำให้เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กถวายบังคมลากลับนครศรีธรรมราชค่ะแม้ว่าจะพาพระธิดาพระองค์เดียวไปด้วยไม่ได้ (สถานการณ์คล้ายกันค่ะ ถ้าเป็นจริงเจ้าจอมมารดาท่านน่าเห็นใจเช่นกัน) ท่านเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครศรีธรรมราช เหตุการณ์ในวังหน้าอาจส่งผลถึงนครศรีธรรมราชได้ เป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้จริง ๆ

เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กท่านโชคดีที่ท่านมีพี่สาวอยู่ในพระบรมมหาราชวังและพี่สาวของท่านเป็นเจ้าจอมมารดาที่มีพระโอรส ทำให้เหลือผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และนครฯ  และเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กยังสามารถฝากพระธิดากับเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ได้ด้วยค่ะ (พระองค์เจ้าปัทมราช พระธิดา น่าจะประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังในช่วงรัชกาลที่ 2 นานพอควรจนล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงสนิทสนมคุ้นเคย  พระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปัทมราช ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน คือเป็นจดหมายถึงญาติจริง ๆ น่าจะต้องทรงสนิทสนมมาก)

การที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 พระราชทานพระบรมราชานุญาตในทั้งสองกรณีก็อาจจะเป็นไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีของสยามกับล้านนาและนครศรีธรรมราชเช่นกัน (เรื่องทั้งหมดพันกันหมดเลย ตอนนี้กันเกราพอเห็นภาพมากขึ้นค่ะ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 17 พ.ย. 23, 20:17

คิดว่ากระทู้น่าจะจบลงแค่นี้ค่ะ นึกไม่ออกว่าจะโพสอะไรเกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายในของวังหน้าได้อีก
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 10:19

ส่งท้าย, บางส่วนจาก จาก ตำนานวังหน้า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง

           ตำหนักข้างใน ในวังหลวงสร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งนั้น มาเปลี่ยนเป็นตึกสมัยร. ๓ แต่ตำหนักในวังหน้าสร้างเป็นตึก
มาแต่ในร. ๑ และมีตำหนักหมู่หนึ่งยกหลังคาเป็นสองชั้น คล้ายพระวิมาน เป็นที่ประทับของเจ้ารจจา พระอัครชายา
           ลานพระราชวังบวรฯ ชั้นนอกด้านเหนือ แต่แรกเป็นสวนที่ประพาส มีตำหนักสร้างไว้หนึ่งหลัง ต่อมากรมพระราชวังบวร
มหาสุรสิงหนาททรงอุทิศให้เป็นที่หลวงชีจำศีลภาวนา เหตุเพราะมารดาของนักองค์อี พระสนมเอก ชื่อนักนางแม้น บวชเป็นชี
เรียกกันว่า นักชี มาอยู่ในกรุง โปรดให้หอยู่ในพระราชวังบวรฯ กับพวกหลวงชีที่เป็นบริษัท ที่ตรงนั้นเรียกกันว่า วัดหลวงชี
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 10:28

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททูลขอร.๑ เมื่อครั้งประชวรหนัก

          พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรเฝ้าอยู่ในที่นั้น ได้ทรงพรรณนาไว้ในกลอนนิพพานวังหน้า

          อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง            โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
         
          อย่าบำราศให้นิราแรมวัง               ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 10:38

            กรมพระราชวังบวรฯ ทูลฝากพระโอรสธิดา แล้วขอให้ได้อยู่อาศัยในวังหน้าต่อไป

            บางทีความข้อหลังนี้เองจะเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเข้าใจว่า พระบิดาได้
ทูลขอให้ลูกเธอได้ครองวังหน้าอย่างรับมรดกในสกุลคนสามัญ ไม่รู้สึกว่าเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช
ครั้นกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคตแล้วไม่ได้เข้าครองวังหน้าดังปรารถนา จึงโกรธแค้นคบคิดกันซ่องสุม
หากำลังจะก่อการกำเริบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 11:13

คุณหมอ SILA มาสะกิดต่อมสงสัยของดิฉันเข้าพอดี
เรื่องกบฎวังหน้า   พงศาวดารเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้ว่า กรมพระราชวังบวรฯทรงสนับสนุนให้พระโอรสก่อการกบฎ  ตั้งแต่ก่อนสิ้นพระชนม์ 
อ่านได้จากข้างล่างนี้ค่ะ

เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระประชวรมากนั้น ความปรากฏว่า แต่ก่อนมาได้มีพระราชบัณฑูรประภาษเป็นนัยอุบายแก่พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่ทั้ง ๒ พระองค์ ให้คิดการแผ่นดิน มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปากว่า เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น มีรับสั่งว่าพระที่นั่งนั้น ๆ ได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของประณีตบรรจงงามดี ทรงพระประชวรนานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นรอบคอบเลย จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยแล้ว เชิญเสด็จไปรอบพระที่นั่ง เมื่อเสด็จไปนั้น ทรงบ่นว่าของนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น ภายหลังเมื่อทรงพระประชวรพระอาการมากแล้ว ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสด็จออกมาวัดมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ มีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไปทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ ครั้งนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุกแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ ทรงพระโทมนัสทอดพระองค์ลงทรงพระกันแสง ด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่าง ๆ เจ้านายเหล่านั้นก็พากันเข้าปลํ้าปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้ว เชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ เมื่อเสด็จมากลางทางก็ทรงขัดเคืองพระองค์เจ้าเหล่านั้นต่าง ๆ ว่าพากันข่มเหงท่าน ภายหลังอีกมีพระราชดำรัสว่า สมบัติทั้งนี้พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้ ก็เพราะพระองค์ทั้งสิ้นไม่ควรจะให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวงผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด แต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวนพระองค์เจ้าอินทปัตก็มีความกำเริบ จึงไปร่วมคิดกับพระยากลาโหม (ทองอิน) ๆ เป็นคนแข็งทัพศึก กรมพระราชวังบวรฯ ก็โปรดปรานไว้พระทัย ตรัสว่ารักเหมือนบุตรบุญธรรม พระยากลาโหม (ทองอิน) กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนที่ดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลั้งพลาดล้มตายลงก็ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน จนความนั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำถามคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีหลักฐานอะไร   คำตอบก็อยู่ข้างบนนี้ คือหลักฐานจากพยานบุคคล  ท่านใช้คำว่า
    "มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปาก"

แต่หลักฐานนี้ ถือเป็นหลักฐานชั้นที่สอง (ทุติยภูมิ) คือคนเขียนเองก็ไม่ได้รู้เห็นด้วยตนเอง  ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย   และไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยัน มีแต่คำบอกเล่าจากหลายคนที่ให้การตรงกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 11:30

  ส่วนหลักฐานชั้นหนึ่ง คือ"นิพพานวังหน้า"  พระองค์เจ้าหญฺิงกัมพุชฉัตรทรงรู้เห็นด้วยตนเอง  ว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงทูลพระเชษฐาว่า
   จึงทรงฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง         ประสิทธิปองมอบไว้ใต้ธุลี
   แปลว่าทรงยกพระราชวังหน้าทั้งหมดให้พระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ได้ยกให้พระโอรสธิดา 
   ส่วนคำว่า
   อนึ่งหน่อวรนารถผู้สืบสนอง                โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
   อย่าบำราศให้นิราแรมวัง                    ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ


   ชัดเจนมาก ว่าทรงยกพระราชวังหน้าให้พระเชษฐา   
   ตามกฎมณเฑียรบาลในยุคนั้น ถ้าเจ้านายองค์ไหนสิ้นพระชนม์  วังและทรัพย์สินที่ทรงครอบครองต้องกลับคืนหลวงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งถึงจะตกแก่ชายาและโอรสธิดา    แต่กรมพระราชวังบวรตัดสินพระทัยยกถวายหมดเลย  นอกจากเป็นความใจป้ำของท่าน  และพิสูจน์ไปในตัวว่าท่านจงรักภักดีไม่เปลี่ยนแปลง   
   แต่มีข้อแม้นิดหนึ่งตอนท้ายว่า  ทรงขอให้พระโอรสของท่านได้ครองวังหน้าสืบต่อไป  อย่าต้องไปอยู่ที่อื่น  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเอยอวยรับคำ
   ตรงนี้แหละสำคัญที่สุดค่ะ
   ถอดเป็นภาษาชาวบ้านคือ   ขอลูกชายคนที่เป็นทายาทของพ่อ  ได้อาศัยอยู่ในบ้านนี้ต่อไป อย่าต้องไปอาศัยอยู่ที่อื่น
    นี่คือคำขอสุดท้ายของคนใกล้ตาย    คนที่มาเฝ้าดูใจใครจะใจแข็งปฏิเสธได้ ก็รับคำกันเป็นธรรมดา

   ปัญหาตรงนี้ก็เหมือนกับที่เคยเกิดในราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง   แต่ครั้งนี้เป็นลุงกับหลาน ไม่ใช่อากับหลาน 
   หลานระแวงว่าลุงจะยกตำแหน่งวังหน้าให้ลูกชายลุง   ไม่ยกให้ตัวเอง เลยชิงยึดอำนาจเสียก่อน   เมื่อหลานเป็นฝ่ายแพ้   จึงเกิดข่าวแพร่สะพัดว่า พ่อเป็นคนสนับสนุนส่งเสริมลูกมาตั้งแต่ต้นให้ยึดอำนาจ   ทั้งๆพ่อไม่ได้ทำ
   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 12:41

ตำนานวังหน้า ตัดต่อเรียบเรียงส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ครับ

            มีคำกล่าวกันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชมนเทียรและสถานที่ต่างๆ
ในพระราชวังบวร ฯ ทรงทำโดยประณีตบรรจงทุกๆ อย่าง ด้วยตั้งพระหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระเชษฐาสวรรคต
ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวร ฯ ตามแบบอย่างพระเจ้าบรมโกษฐ
ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง
            แต่ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ ประชวรเป็นนิ่ว .... ครั้นถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระโรคกำเริบ อาการมี
แต่ทรงกับทรุด จนถึงเดือน ๑๒ ประชวรหนัก ร.๑ เสด็จขึ้นไปช่วยรักษาพยาบาล จนวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ
กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จสวรรคต

            เหตุการณ์เมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ จะสวรรคต ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารและพระราชนิพนธ์
พระจอมเกล้า ฯ กับทั้งในนิพพานวังหน้า พิเคราะห์เนื้อเรื่องที่ยุติต้องกันได้ความดังนี้

             ...ประชวรมีแต่ทรงอยู่กับทรุด จนพระสิริรูปซูบผอมทุพพลภาพ ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายพระสุธารสว่า
ถ้าพระโรคจะหายไซร้ขอให้เสวยพระสุธารสได้โดยสะดวก พอเสวยเข้าไปมีอาการทรงพระอาเจียน แต่นั้นกรมพระราชวังบวร ฯ
ก็ปลงพระหฤทัยว่าคงจะสวรรคต
             วันหนึ่งทรงระลึกถึงวัดพระศรีสรรเพ็ชญซึ่งไฟไหม้แล้วทรงสถาปนาใหม่ การยังค้างอยู่จึงเสด็จ ว่าจะทรงนัสการลา
พระพุทธรูป ดำรัสเรียกพระแสงว่า จะอุทิสถวายเพื่อทำเป็นราวเทียน พอพระอาการกำเริบเป็นสาหัสก็หุนหันจะเอาพระแสง
แทงพระองค์ถวายพระชนม์ชีพเป็นพุทธบูชา พระองค์เจ้าชายลำดวนเข้าแย่งพระแสง ทรงโทมนัสทอดพระองค์ลงทรงพระกันแสง
แช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวน
             ต่อมาไม่ช้านาน กรมพระราชวังบวร ฯ โปรดให้เชิญพระองค์เสด็จไปรอบพระราชมนเทียร มีกระแสรับสั่งเล่ากันหลายอย่าง


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 12:57

            ถ้อยคำซึ่งกรมพระราชวังบวร ฯ ตรัสว่าประการใด ๆ ในเวลาประชวรก็ปรากฏในเวลาชำระความ(กบฎวังหน้า)
เป็นเหตุให้พระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงน้อยพระทัยในพระอนุชาธิราชว่า เพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ
แต่แรกดำรัสว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดให้ทำพระเมรุใหญ่ตามเยี่ยง
พระมหาอุปราชแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุให้เป็นพุทธบูชาเสียก่อน
ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวร ฯ
            .... การพระเมรุแต่นั้นก็เลยเป็นประเพณี เวลามีงานพระเมรุท้องสนามหลวง จึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ออกสมโภชก่อนงานพระศพสืบมาจนรัชกาลหลัง ๆ
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 17:31

ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาสละเวลาตอบถามข้อสงสัยและวิเคราะห์ อธิบาย ให้กันเกราหลายครั้งมาก ๆ (อธิบายทุกคำถามของกันเกรา กันเกราขออภัยที่สงสัยเยอะมาก และขอขอบพระคุณมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ) และขอบพระคุณคุณ SILA ที่ใจดีมอบข้อมูลดี ๆ ทั้งในกระทู้ก่อนและช่วงส่งท้ายนะคะ ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ

นอกจากกันเกราได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับข้อสงสัยเดิม (ที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังกรมพระราชวังบวรฯ ของแต่ละรัชสมัยสวรรคต และที่ประทับเจ้านายในพระบรมมหาราชวังระหว่างการเปลี่ยนตำหนักเป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนในรัชกาลที่ 3)  ยังได้รับความรู้ต่าง ๆ เยอะมากค่ะ เช่น กฏมณเฑียรบาลแบ่งฝ่ายหน้าฝ่ายในส่งผลกับเจ้านายอย่างไร เบี้ยหวัดต่างจากเงินเดือนอย่างไร (กันเกราเคยงุนงงว่าทำไมจึงแยกกัน) การจัดการงบประมาณแผ่นดินรายรับรายได้ต้นรัตนโกสินทร์ การย้ายตำหนักแบบเรือนไม้ พระประวัติพระอัครชายา การตีความนิพพานวังหน้า(ซึ่งเข้าใจยากสำหรับกันเกรา) การก่อสร้างพระบวรราชวัง (เพิ่งมีโอกาสทราบครั้งนี้ว่าเป็นแบบก่ออิฐตั้งแต่แรกขณะที่วังหลวงยังเป็นแบบตำหนักไม้อยู่ อันนี้ตะลึงมาก)   เรื่องของพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต (เคยทราบคร่าว ๆ และเคยมีโอกาสอ่านเพิ่มในกระทู้นิพพานวังหน้า ตอนนี้มีโอกาสทราบรายละเอียดของเรื่องมากขึ้นว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใด) และงานพระเมรุ (ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บ่อยมาก มีการเชิญพระบรมสารีริกธาตุทุกครั้ง) ขอบพระคุณมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ ได้ความรู้ใหม่ ๆ จากกระทู้นี้มากมาย ขอบพระคุณที่กรุณากันเกรานะคะ
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 18 พ.ย. 23, 17:43

มีผู้บอกว่าดอกลิลี่สีเหลืองคือดอกไม้แทน gratitude ขออนุญาตใช้ภาพดอกไม้นี้แสดง gratitude ของกันเกรานะคะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง