เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 1733 สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 13 พ.ย. 23, 11:31

อยากขออนุญาตฝากตัวนะคะ (ได้รับความรู้มากมายจากกระทู้ต่าง ๆ ในเรือนไทย) และมีสามคำถามอยากขอสอบถามท่านผู้รู้ค่ะ (กระทู้ยาวนิดหนึ่งนะคะ และอาจจะเป็นเรื่องที่ปลีกย่อย แต่อดสงสัยไม่ได้จริง ๆ จึงอยากขอความรู้จากทุกท่านนะคะ)

คำถามแรกคือมีโอกาสทราบ(จากกระทู้ขุนนางวังหน้าและนิพพานวังหน้า) ว่าในช่วงรัตนโกสินทร์ หากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต ข้าราชการฝ่ายหน้าของวังหน้าจะย้ายไปทำราชการที่วังหลวง ส่วนเจ้านายฝ่ายในสามารถประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ต่อ  หรืออาจจะย้ายไปประทับที่วังเจ้านายต่าง ๆ หรือย้ายเข้าไปประทับที่พระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) แต่ช่วงเวลาหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตก่อนพระราชพิธีบวรราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลายาวนานเกือบยี่สิบปี  วังหน้าทรุดโทรมจนราษฎรเรียกว่า "สวนพันชาติ" (ตำรวจปลูกบ้านและปลูกผักจนถึงพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกพระโอษฐ์ว่า "วัดร้าง" บริเวณฝ่ายหน้าน่าจะร้างมาก ๆ (แต่ยังมีตำรวจอยู่นะคะ)  เจ้านายฝ่ายในประทับในส่วนของฝ่ายในที่วังหน้าได้จริง ๆ หรือคะ (ดูไม่น่าจะปลอดภัยแม้ว่าจะยังมีตำรวจอยู่ก็ตาม) หรือมีความเป็นไปได้สูงที่ทุกพระองค์น่าจะย้ายเข้าประทับในวังหลวงหรือย้ายไปประทับที่วังเจ้านายอื่น ๆ ทั้งหมด

กันเกรากำลังศึกษาพระประวัติของเจ้านายฝ่ายในวังหน้าพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทค่ะ (เนื่องจากทรงมีพระชันษายืนยาว เป็นเจ้านายฝ่ายในวังหน้า 5 แผ่นดิน) ทำให้เกิดคำถามนี้ค่ะ พระประวัติของพระองค์เจ้าดวงจันทร์จาก "ปฐมวงศ์" (พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4) คือทรงรับราชการในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ตราบจนสวรรคต  และทรงย้ายไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) "อยู่จนสิ้นแผ่นดินนั้น" (น่าจะหมายถึงสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 2) แสดงว่าทรงเลือกประทับวังหลวงตลอดรัชกาลที่ 2  พระประวัติปรากฏอีกครั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เสด็จวังหน้าเพื่อพระราชทานต้นไม้เงินต้นไม้ทองเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจันทร์เพราะทรงมีพระชันษา 73 ชันษาเท่ากับพระชนมายุของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 (และเป็นพระราชธรรมเนียมสืบต่อมาสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระชันษายืนยาว) แสดงว่าพระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับที่วังหน้าในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4

กันเกราอดสงสัยไม่ได้ว่าพระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับที่ใดในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ค่ะ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับที่วังหลวงหรือวังหน้า หรือเสด็จกลับไปประทับที่วังหน้าเมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพอุปราชภิเษกและทรงย้ายกลับวังหลวงหรือประทับวังอื่น ๆ หลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต และเสด็จประทับวังหน้าอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก หรือ ง. ถูกทุกข้อ  มีความเป็นไปได้เท่า ๆ กันทั้ง 3 แบบ (ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่านอกจากข้าราชการวังหน้าจะระหกระเหิน เจ้านายวังหน้าทรงย้ายที่ประทับหลายครั้งเช่นกัน)

จึงเป็นที่มาของคำถามที่ 2 ที่อยากขออนุญาตสอบถามนะคะ ตามพระราชประเพณี หากสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่อุปราชาภิเษก เจ้านายฝ่ายในวังหน้าที่ประทับในวังหลวงต้องเสด็จกลับประทับวังหน้าไหมคะ หรือทรงเลือกที่ประทับตามพระอัธยาศัยได้ (เอกสารอื่นระบุว่าในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ที่สวนขวามีแพของเจ้านายฝ่ายในของวังหน้า 4 พระองค์คือแพของพระองค์เจ้าดวงจันทร์และพระขนิษฐา และแพของพระธิดาของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ 2 พระองค์  (พระองค์เจ้าประชุมวงศ์และพระองค์เจ้านัดดา พระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและล้นเกล้ารัชกาลที่ 1)  เจ้านายฝ่ายในวังหน้าทั้ง 4 พระองค์ต้องทรงกลับไปประทับที่วังหน้าหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษกของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ไหมคะ หรือทรงเลือกประทับวังหลวงต่อได้) 


อีกเรื่องที่อดสงสัยไม่ได้คือในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 (ซึ่งเป็นช่วงที่กันเกราสนใจมาก ๆ) โปรดเกล้าให้เปลี่ยนตำหนักในพระบรมมหาราชวังจากตำหนักไม้เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน (ทำให้เกิดการย้ายตำหนักแดง พระที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ไปยังพระราชวังเดิม) โดยส่วนตัวกันเกราเชื่อว่าการเปลี่ยนตำหนักต่าง ๆ เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนเป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัยมาก ๆ ค่ะ (และอาจเป็นการเลือก "บางกอก" เป็นเมืองหลวงถาวร) ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)  ขออนุญาตสอบถามทุกท่านนะคะ และขออภัยที่กระทู้ยาวมาก ๆ ค่ะ 

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 13:04

ถ้าคุณกันเกราตั้งคำถามเป็นข้อๆ   จะทำให้อ่านง่ายตอบง่ายค่ะ  

ขอยกหลักฐานจากพระนิพนธ์ตำนานวังหน้าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ตอนหนึ่งกล่าวถึงวังหน้าในต้นรัชกาลที่ 4 ว่า

“ซุ้มประตูแลป้อมปราการรอบวังหักพังเกือบหมด กำแพงวังชั้นกลางก็ไม่มีท้องสนามในวังหน้า ชาวบ้านเรียกว่า สวนพันชาติ เพราะพันชาติตำรวจในวังปลูกเหย้าเรือนอาศัย และขุดท้องร่องทำสวนตลอดไปจนถึงหน้าพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน“

ทั้งนี้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2375   สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงขึ้นครองราชย์ปี 2394  แปลว่าวังหน้าร้างเจ้าของมาเกือบๆ 20 ปี  
สภาพดังกล่าวของวังหน้า จึงเป็นที่มาของคำพระราชปรารภในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า
เออ อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง“

ถ้าวังหน้าถึงขั้นเรียกได้ว่า "วัดร้าง"  คงจะพอเป็นคำตอบได้ว่า เจ้านายฝ่ายในของวังหน้าคงจะย้ายไปประทับอยู่นอกวังกันหมดแล้ว   ส่วนจะอยู่ในพระราชฐานขั้นในของพระบรมมหาราชวัง หรืออยู่บนแพริมน้ำหรือตำหนักส่วนพระองค์ หรือจะไปอยู่กับพระญาติพระวงศ์ฝ่ายชายที่ไหนก็แล้วแต่
ดิฉันไม่ทราบรายละเอียด  ท่านใดทราบกรุณาเล่าให้คุณกันเกราฟังด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 15:57

ขอบพระคุณมาก ๆ เลยค่ะ ยิ้ม  อาจารย์เทาชมพูกรุณาตอบด้วยตนเอง ดีใจมาก ๆ ค่ะ  กันเกราจะตั้งคำถามเป็นข้อ ๆ ตามที่อาจารย์กรุณาแนะนำนะคะ  จากข้อมูลที่อาจารย์กรุณามอบให้ ตอนนี้คำถามจึงเหลือเพียงสองข้อค่ะ คือ

1) หากสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใหม่อุปราชาภิเษก เจ้านายฝ่ายในซึ่งเป็นพระธิดาของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดิมซึ่งมาประทับที่วังหลวงหลังพระราชบิดาสวรรคต (และอาจไม่มีที่ประทับอื่นเช่นไม่มีพระญาติพระวงศ์ฝ่ายชายที่ทรงสนิทสนม) ต้องเสด็จกลับไปอยู่ฝ่ายในของวังหน้าไหมคะ  หรือทรงสามารถเลือกประทับวังหลวงต่อได้ตามพระอัธยาศัย

2) ถ้าเจ้านายฝ่ายในต้องย้ายกลับไปประทับวังหน้า หากสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่สวรรคต (ซึ่งเกิดขึ้นหลายรัชกาลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์) เจ้านายฝ่ายในที่ทรงย้ายกลับไปประทับวังหน้าสามารถกลับมาประทับวังหลวงอีกครั้งได้ไหมคะ (คล้าย ๆ ขุนนางวังหน้าค่ะ)


(อันนี้ไม่เกี่ยวกับคำถามนะคะ แต่เกี่ยวกับพระประวัติพระองค์เจ้าดวงจันทร์ค่ะ จากที่อาจารย์กรุณาให้ข้อมูล กันเกราลองอ่านอีกครั้ง พบว่า จริง ๆ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ทรงมีพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาคือ พระองค์เจ้าสังกะทัต กรมขุนนรานุชิตค่ะ ต้นราชสกุลสังขทัตค่ะ โดยส่วนตัว กันเกราเกิดความสนใจในพระองค์เจ้าดวงจันทร์เพราะทรงเป็น combination ของสองอย่างที่อาจจะตรงข้ามกันคือทรงเป็นผู้หญิงทำงาน (ทรงรับราชการตลอดรัชกาลที่ 2) แต่ก็ทรงเป็นเจ้านายที่รักษาราชประเพณีโบราณด้วย และให้ความรู้สึกว่าทรงพยายามอยู่ด้วยพระองค์เองเพราะในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 พระอนุชาทรงมีพระชันษาพอจะมีวังแล้ว แต่พระองค์เจ้าดวงจันทร์ทรงเลือกรับราชการกับวังหน้าและวังหลวง และในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 กรมขุนนรานุชิตยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ค่ะแต่พระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับฝ่ายในของวังหน้า ไม่ได้ประทับกับพระอนุชา เรื่องหลังอาจจะทรงทำตามพระราชประเพณี  (แต่จริง ๆ สองประการนี้--การเป็นผู้หญิงทำงานและการเป็นเจ้านายที่รักษาราชประเพณีโบราณ--อาจจะไม่ขัดกัน ที่รู้สึกว่าสองประการขัดกันอาจจะเกิดจากวิธีการมองของกันเกราเองค่ะ ต้องพยายามมองอีกแบบ)

พระองค์เจ้าดวงจันทร์อาจจะทรงมีทางเลือกหลายประการจริง ๆ ค่ะ กันเกราเชื่อที่อาจารย์แนะนำค่ะ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ไม่น่าจะทรงประทับวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต (ความปลอดภัยน่าจะไม่ได้จริง ๆ ค่ะ) ส่วนอีก 3 ทาง คือประทับกับพระอนุชา ประทับพระราชฐานชั้นในของวังหลวง หรือประทับแพ/ตำหนักส่วนพระองค์ สามทางเลือกนี้โอกาสน่าจะพอ ๆ กันค่ะ ผู้หญิงที่พยายามอยู่ด้วยตนเองกับผู้หญิงเก่งในวรรณคดี (เช่น แก้วหน้าม้า ตัวละครฝ่ายหญิงในพระอภัยมณี) เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ)
 
ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 16:46

    คำตอบของดิฉันไม่ได้มาจากหนังสือ   เพราะยังหาไม่เจอว่าเล่มไหนมีคำตอบของคุณกันเกราบ้าง  แต่มาจากการประมวลข้อมูลเอาเอง ซึ่งอาจจะผิดก็ได้   รอท่านที่รู้มาตอบดีกว่า ตอนนี้ถือว่าคุยกันไปก่อน ไม่ให้กระทู้ตกไปเร็วนัก
    ดิฉันทบทวนดูแล้ว เจ้านายสตรีของวังหน้าที่จะออกไปอยู่กับพระญาติพระวงศ์น่าจะมีน้อย  หรือไม่มีเลย   โดยเฉพาะสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คือรัชกาลที่ 1-3  เพราะสมัยนั้นกฎมณเฑียรบาลเข้มงวดมาก  เกิดมาเป็นพระธิดาเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช ออกไปไหนนอกกำแพงวังตามใจชอบไม่ได้  
    สถานที่ที่รักษาพระเกียรติมากที่สุดคือเขตพระราชฐานชั้นใน    ถ้าวังหน้าสิ้นพระชนม์  แล้วไม่มีการตั้งองค์ใหม่จนแล้วจนรอด   พระขนิษฐาหรือพระธิดาก็น่าจะโยกย้ายเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง  องค์ไหนมีตำแหน่งหน้าที่ในวังหลวงก็อยู่ประจำที่นั่น  จนมีวังหน้าพระองค์ใหม่จึงจะทรงย้ายกลับมา  
    เพราะอะไร  ก็คือเจ้านายสตรีของวังหน้ามีหน้าที่รับราชการในวังของตนด้วย   งานบริหารจัดการต่างๆเช่นการดูแลสถานที่   การครัว ของกินของใช้      ถ้ามีวังหน้าพระองค์ใหม่  งานเหล่านี้ก็ต้องอาศัยเจ้านายสตรีควบคุม   เพราะผู้ชายเข้าไปในเขตฝ่ายในไม่ได้
    อีกอย่างคือเบี้ยหวัด ซึ่งเป็นรายได้หลักของเจ้านาย     เจ้านายวังหน้ารับเบี้ยหวัดจากกรมพระราชวังบวรฯ    ก็ควรอยู่ประจำในวังหน้า  ไม่ใช่อยู่ในวังหลวงแล้วรับเบี้ยหวัดวังหน้า  
   คุณกันเกราคงจำ "สี่แผ่นดิน" ได้ว่า เมื่อพลอยเข้าไปอยู่ในวังหลวง   มีคำบรรยายว่าตำหนักต่างๆเปิดขายสินค้ากัน  ตำหนักโน้นขายผ้า ตำหนักนี้ขายของกิน  ฯลฯ   วังหน้าก็แบบเดียวกัน
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 19:32

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงนะคะ อาจารย์เมตตามาก (ช่วยไขคำตอบและช่วยพยายามให้กระทู้ไม่ตกเร็ว ขอบพระคุณมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ)  ตั้งแต่พยายามค้นคำตอบมา คำตอบจากความกรุณาให้การประมวลของอาจารย์น่าจะดีที่สุดเท่าที่พบค่ะ (พูดจริง ๆ นะคะ)  สำหรับเจ้านายฝ่ายในการประทับในพระราชฐานชั้นในเป็นทางเดียวที่การันตีพระเกียรติยศได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จริง ๆ และกฏมณเฑียรบาลก็เข้มข้นมากในช่วงแรกของรัตนโกสินทร์

กันเกราได้เคยมีโอกาสอ่านพบเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยหวัดสำหรับเจ้านายวังหน้าจากชุมนุมพระราชาธิบาย พระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ค่ะ เกี่ยวกับเบี้ยหวัดของเจ้านายวังหน้าว่า ในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ทางพระบวรราชวังจะเบิกเบี้ยหวัดเป็น fixed amount ค่ะ แล้วน่าจะมีการบริหารจัดการภายในเอง (ทางพระบรมมหาราชวังทราบแต่จำนวนเงินสุทธิ) เมื่อหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต จึงค่อยมีพระบรมราชโองการงดเงินเดือนสำหรับพระโอรสและพระธิดาของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ (ยกเว้นสามพระองค์ที่ยังพระราชทานเงินเดือน) แต่โปรดให้คงการจ่ายเบี้ยหวัดค่ะ แต่ละพระองค์ได้ไม่เท่ากัน (ตั้งแต่ 2 ชั่งถึง 10 ชั่ง) การงดเงินเดือนอาจจะเกิดจากการไม่ได้ทำราชการแล้วอย่างที่อาจารย์กรุณาให้ข้อมูลนะคะ (เพราะสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว ขุนนางฝ่ายหน้าไปวังหลวง ราชการน่าจะไม่มี)  ส่วนเบี้ยหวัดล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ทรงดูแลจ่ายให้พระโอรสธิดาสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ค่ะ (เบี้ยหวัดน่าจะ by right เผื่อผดุงพระเกียรติยศ ส่วนเงินเดือนอาจจะ by merit ต้องทรงงาน)  

แต่ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ชุมนุมพระราชาธิบายกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง(วังหลวง) ได้ไม่เต็มที่ (บางทีจ่ายเป็นผ้าแทน อาจเป็นที่มาที่เรียกผ้ายกนครว่าผ้าหวัดรายปี หรืออาจจะพระราชทานเป็นผ้าหวัดรายปีสำหรับขุนนางอยู่แล้วแต่เพิ่มปริมาณผ้าเพื่อชดเชยเบี้ยหวัดที่หายไป กันเกราไม่แน่ใจนะคะ) มีการยืมเงินทางพระบวรราชวังมาจ่ายเบี้ยหวัดขุนนางเนื่องจากเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงส่งเรือสำเภาค้าขายได้ผลสำเร็จมาก (แล้วจึงมีการคืนเงินเหล่านั้นภายหลังค่ะ)  บางปีสำเภาของทางพระบวรราชวังได้ผลไม่ดี ทางพระบรมมหาราชวังก็พระราชทานเงินช่วยเหลือค่ะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้และรายจ่ายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังดูจะแยกกัน(อย่างน้อยบางส่วน)ดังที่อาจารย์กรุณาแนะนำจริง ๆ ค่ะ และเบี้ยหวัดก็น่าจะแยกกัน ถ้าเป็นเช่นนั้น เจ้านายฝ่ายในวังหน้าก็น่าจะต้องทรงกลับประทับที่พระบวรราชวังจริง ๆ ค่ะหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษก (ถ้าไม่เสด็จกลับ การจ่ายเบี้ยหวัดจะงงมาก) แต่หลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต อันนี้ทางพระบรมมหาราชวังน่าจะดูแลเบี้ยหวัดทั้งหมด เจ้านายฝ่ายในวังหน้าประทับวังหลวงได้จริง ๆ  ค่ะ

กันเกราจำตอนนั้นของสี่แผ่นดินได้ค่ะ (สาวชาววัง shopping กันตามตำหนักน่าจะสนุกมาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยเขียนเล่าว่าท่านเดินห้างครั้งแรกในวัง แต่กันเกราจำไม่ได้ค่ะว่าเป็นตำหนักใด) วังหน้าก็ทำแบบเดียวกันใช่ไหมคะ (สาวชาววังของพระบวรราชวังก็ควรได้มีโอกาสจับจ่ายเช่นกัน สิ่งนี้คือความยุติธรรม)  น่าจะคล้ายกับการจัดสำเภาค้าขายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง (เป็นการเพิ่มรายได้ให้ตำหนักซึ่งน่าจะต้องเลี้ยงดูคนด้วย นอกเหนือจากเบี้ยหวัดรายปี การค้าคือคำตอบ)

ขอบพระคุณมาก ๆ ๆ ๆ เลยนะคะ กันเกราสารภาพว่างุนงงมานานมาก (เรื่องปลีกย่อย แต่อดสงสัยไม่ได้ และพยายามหาคำตอบแต่ไม่มีอันไหน make a complete sense) การประมวลผลที่อาจารย์กรุณามอบให้เป็นคำอธิบายที่น่าจะเป็นเหตุผลมากที่สุดที่ได้รับค่ะ ทำให้กันเกราหายงงไปได้มาก ๆ เลยค่ะ ขอบพระคุณมาก ๆ นะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 19:52

อ้างถึง
อีกเรื่องที่อดสงสัยไม่ได้คือในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 (ซึ่งเป็นช่วงที่กันเกราสนใจมาก ๆ) โปรดเกล้าให้เปลี่ยนตำหนักในพระบรมมหาราชวังจากตำหนักไม้เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน (ทำให้เกิดการย้ายตำหนักแดง พระที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ไปยังพระราชวังเดิม) โดยส่วนตัวกันเกราเชื่อว่าการเปลี่ยนตำหนักต่าง ๆ เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนเป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัยมาก ๆ ค่ะ (และอาจเป็นการเลือก "บางกอก" เป็นเมืองหลวงถาวร) ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)

นี่ก็ความเห็นจากการประมวลข้อมูลเองล้วนๆค่ะ
ช่างไทยชำนาญการสร้างบ้านไม้มาแต่สมัยอยุธยา   สิ่งก่อสร้างสำคัญจึงสร้างด้วยไม้ แม้แต่ตอนแรกตั้งกรุงเทพ พระบรมมหาราชวังก็สร้างด้วยไม้  แม้แต่ตามวัดวาอารามโบสถ์ก็เป็นไม้  ที่ไม่ใช่ไม้เห็นจะมีเจดีย์   
ถึงรัชกาลที่ 3   สยามเปิดรับแรงงานจีนแบบไม่อั้น   ช่างแรงงานจีนก็เข้ามากันมากมาย    คนจีนชำนาญเรื่องสร้างอาคารปูน  วัดวาอารามจึงก่อสร้างด้วยปูนกันมากในรัชกาลนี้  ตำหนักต่างๆก็พลอยมีโอกาสเปลี่ยนจากไม้เป็นปูนไปด้วย เพราะมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยจากไฟไหม้ด้วยอีกต่างหาก   ส่วนวัดวาก็ก่ออิฐถือปูน  ประดับประดาศิลปะแบบจีนซึ่งเป็นของยอดนิยม      แต่บ้านเรือนชาวบ้านทั่วไปยังคงเป็นไม้   ซึ่งราคาถูกกว่าปูนมาก 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 20:04

อ้างถึง
แต่ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ชุมนุมพระราชาธิบายกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง(วังหลวง) ได้ไม่เต็มที่ (บางทีจ่ายเป็นผ้าแทน อาจเป็นที่มาที่เรียกผ้ายกนครว่าผ้าหวัดรายปี หรืออาจจะพระราชทานเป็นผ้าหวัดรายปีสำหรับขุนนางอยู่แล้วแต่เพิ่มปริมาณผ้าเพื่อชดเชยเบี้ยหวัดที่หายไป กันเกราไม่แน่ใจนะคะ) มีการยืมเงินทางพระบวรราชวังมาจ่ายเบี้ยหวัดขุนนางเนื่องจากเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงส่งเรือสำเภาค้าขายได้ผลสำเร็จมาก (แล้วจึงมีการคืนเงินเหล่านั้นภายหลังค่ะ)  บางปีสำเภาของทางพระบวรราชวังได้ผลไม่ดี ทางพระบรมมหาราชวังก็พระราชทานเงินช่วยเหลือค่ะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้และรายจ่ายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังดูจะแยกกัน(อย่างน้อยบางส่วน)

เรื่องนี้ก็คุยได้อีกยาวค่ะ
สมัยก่อนขุนนางไม่มีเงินเดือน   รับเป็นรายปี  เรียกรวมว่าเบี้ยหวัดเงินปี    ถ้าพระคลังเก็บภาษีไม่ได้มาก  หรือรายจ่ายแผ่นดินมากกว่ารายรับ  การจ่ายเงินราชการก็ติดขัดกันบ่อยๆ  เรียกว่าพระคลังเป็นหนี้ขุนนางกันจนไม่มีใครแปลกใจ  อย่างในรัชกาลที่ 2  ที่คุณกันเกราว่า  ต้องจ่ายผ้าให้แทนเงินปี บางทีก็จ่ายเป็นทองคำแทน คือขาดเงินสดหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงต้องเพิ่มพูนหารายได้ให้แผ่นดิน  เพราะในระบอบสมบูรณาฯ ไม่ได้แยกรายได้แผ่นดินจากรายได้ส่วนพระองค์   ถ้าสยามเป็นบริษัท  พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเจ้าของบริษัทที่ต้องควักกระเป๋าเลี้ยงพนักงานทั้งบริษัท และเลี้ยงครอบครัวของท่านไปพร้อมๆกัน

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพระเจ้าลูกยาเธอเจษฎาบดินทร์จึงทรงขวนขวายค้าสำเภาตั้งแต่รัชกาลที่ 2   เพื่อเอาเงินมาช่วยทั้งส่วนพระองค์และช่วยสมเด็จพระราชบิดาด้วย   เมื่อครองราชย์ก็ทรงจัดให้เกิดระบบเจ้าภาษี คือระบบสัมปทาน  ให้คนรวยๆช่วยหารายได้เข้าคลังให้ท่าน เพื่อเอามาเลี้ยงราษฎรทั้งหมดอีกที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 พ.ย. 23, 20:37

อ้างถึง
ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)

ที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายใน เดิมเป็นเรือนไม้ ก่อนจะเปลี่ยนมาปลูกตึกกันเป็นล่ำเป็นสันในสมัยรัชกาลที่ 5
เรือนไม้ของไทยถอดได้เป็นส่วนๆค่ะ   เหมือนเรือนน็อคดาวน์    ถ้าอ่านขุนช้างขุนแผนจะพบว่าเรือนหอขอพลายแก้วนางพิมใส่เรือล่องมาตามน้ำ  ยกขึ้นบก ปลูกปุ๊บเดียวเสร็จ 
การสร้างตำหนักและเรือนต่างๆ ก็สร้างกันไปทีละส่วนอยู่แล้ว  ดังนั้น เมื่อมีการก่อสร้างตำหนักไหน   ก็โยกย้ายของเดิมไปตั้งตรงไหนที่ว่างๆได้ง่ายมากค่ะ   ไม่ต้องไปอาศัยเบียดกันอยู่ที่ตำหนักอื่น 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 พ.ย. 23, 13:47

 ลองสรุปกว้างๆดู
 เมื่อวังหน้าองค์ใดองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์  ก็เท่ากับขุนนางวังหน้าทั้งหลายไม่มีหน้าที่การงานจะต้องทำอีกต่อไป  เหมือนบริษัทล้มเลิกกิจการ   การโอนขุนนางวังหน้าไปขึ้นวังหลวงจึงเป็นทางออก   เพื่อให้มีงานทำ และได้รับเงินปีมาเลี้ยงชีพต่อไปอีก
 ส่วนเจ้านายฝ่ายใน เมื่อไม่มีเจ้านายสูงสุดคุ้มครองดูแล  ก็ต้องขยับขยายหาที่พึ่งพิงกันใหม่   ถ้าหากว่าวังหน้าองค์ต่อไปมารับตำแหน่งได้ในทันที   เจ้านายฝ่ายในก็อยู่ในวังหน้าต่อไปตามเดิม ไม่ขาดตอน    แต่ถ้ามีการเว้นว่างระหว่างนั้น เจ้านายฝ่ายในก็ต้องไปหาที่อยู่กันใหม่ 
 ที่อยู่ใหม่ของเจ้านายฝ่ายในจำต้องมีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากที่อยู่เก่า  คืออยู่ในสังคมของสตรีระดับสูง  มีขนบธรรมเนียมแวดล้อมเคร่งครัด  เช่นจะไปข้างนอกในพิธีต่างๆเช่นไปทอดกฐินก็ต้องเดินฉนวน ไม่ให้คนภายนอกได้เห็น   หากไปไหนมาไหนก็ต้องมีขบวน มีโขลนคอยคุ้มกัน
  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด 5 รัชกาล จนสิ้นระบบวังหน้า
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 13:36

ลองสรุปกว้างๆดู
 เมื่อวังหน้าองค์ใดองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์  ก็เท่ากับขุนนางวังหน้าทั้งหลายไม่มีหน้าที่การงานจะต้องทำอีกต่อไป  เหมือนบริษัทล้มเลิกกิจการ   การโอนขุนนางวังหน้าไปขึ้นวังหลวงจึงเป็นทางออก   เพื่อให้มีงานทำ และได้รับเงินปีมาเลี้ยงชีพต่อไปอีก
 ส่วนเจ้านายฝ่ายใน เมื่อไม่มีเจ้านายสูงสุดคุ้มครองดูแล  ก็ต้องขยับขยายหาที่พึ่งพิงกันใหม่   ถ้าหากว่าวังหน้าองค์ต่อไปมารับตำแหน่งได้ในทันที   เจ้านายฝ่ายในก็อยู่ในวังหน้าต่อไปตามเดิม ไม่ขาดตอน    แต่ถ้ามีการเว้นว่างระหว่างนั้น เจ้านายฝ่ายในก็ต้องไปหาที่อยู่กันใหม่ 
 ที่อยู่ใหม่ของเจ้านายฝ่ายในจำต้องมีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากที่อยู่เก่า  คืออยู่ในสังคมของสตรีระดับสูง  มีขนบธรรมเนียมแวดล้อมเคร่งครัด  เช่นจะไปข้างนอกในพิธีต่างๆเช่นไปทอดกฐินก็ต้องเดินฉนวน ไม่ให้คนภายนอกได้เห็น   หากไปไหนมาไหนก็ต้องมีขบวน มีโขลนคอยคุ้มกัน
  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด 5 รัชกาล จนสิ้นระบบวังหน้า

กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะที่กรุณาประมวลข้อมูลมากมาย และสรุปให้กันเกราเข้าใจได้ง่าย กันเกราขอบพระคุณอย่างสูงจริง ๆ ค่ะ และเชื่อในคำอธิบายนี้ทุกประการ (กันเกราเคยมีโอกาสอ่านพบว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฝ่ายในวังหน้าฯ ยังประทับวังหน้าต่อหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และทรงพระกรุณาเสด็จประทับวังหน้าเป็นครั้งคราวเพื่อให้ทางพระบวรราชวังไม่รกร้าง เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอุปราชาภิเษกเจ้านายฝ่ายในก็สามารถประทับต่อได้เลย ก่อนสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสวรรคต ได้ทรงขอให้ฝ่ายในอยู่ต่อที่พระบวรราชวังได้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้เป็นดังที่ทรงขอ โปรดให้แต่งตั้งเจ้านายสตรีเป็นองค์ประธานฝ่ายในวังหน้าและมีการคุ้มกันจนเจ้านายฝ่ายในวังหน้าเหลือน้อยพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายประทับวังหลวง)

 สำหรับรัชสมัย 3 รัชกาลแรกของรัตนโกสินทร์ ข้อมูลมีไม่มากแต่กันเกราเชื่อดังที่อาจารย์กรุณาอธิบายค่ะ สถานที่ที่น่าจะสะดวกที่สุดในการรักษาพระราชประเพณีน่าจะคือพระราชฐานชั้นในของวังหลวง (กันเกราเชื่อว่าหลายพระองค์น่าจะทรงเลือกที่จะประทับวังหลวง) แต่ถ้าเจ้านายฝ่ายในวังหน้าเสด็จประทับวังเจ้านายพระองค์อื่นเช่นพระเชษฐาหรือพระอนุชา ก็น่าจะต้องจัดระเบียบให้คล้ายพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังให้มากที่สุด เห็นด้วยทุกประการค่ะ
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 13:40

อ้างถึง
ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)

ที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายใน เดิมเป็นเรือนไม้ ก่อนจะเปลี่ยนมาปลูกตึกกันเป็นล่ำเป็นสันในสมัยรัชกาลที่ 5
เรือนไม้ของไทยถอดได้เป็นส่วนๆค่ะ   เหมือนเรือนน็อคดาวน์    ถ้าอ่านขุนช้างขุนแผนจะพบว่าเรือนหอขอพลายแก้วนางพิมใส่เรือล่องมาตามน้ำ  ยกขึ้นบก ปลูกปุ๊บเดียวเสร็จ 
การสร้างตำหนักและเรือนต่างๆ ก็สร้างกันไปทีละส่วนอยู่แล้ว  ดังนั้น เมื่อมีการก่อสร้างตำหนักไหน   ก็โยกย้ายของเดิมไปตั้งตรงไหนที่ว่างๆได้ง่ายมากค่ะ   ไม่ต้องไปอาศัยเบียดกันอยู่ที่ตำหนักอื่น 

โอ้ อันนี้นึกภาพออกมาก ๆ ค่ะ  ตอนแรกสงสัยมาก ๆ เพราะพระตำหนักต้นรัตนโกสินทร์ขนาดค่อนข้างเล็ก (พระโอรสธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังแปลกพระทัยที่ทรงเคยประทับตำหนักที่เล็กขนาดนั้น) ถ้าเจ้านายประทับตำหนักหนึ่งหลายพระองค์รวมถึงข้าหลวงน่าจะค่อนข้างคับคั่งมาก (และการก่อสร้างแบบก่ออิฐน่าจะใช้เวลานาน) แต่ถ้าย้ายพระตำหนักเรือนไม้ได้แบบน็อคดาวน์ อันนี้ไม่มีปัญหาเลย  (ขนาดท้องพระโรงย้ายไปวัดสุวรรณารามที่เพชรบุรีได้) อันนี้เห็นภาพมาก ๆ ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 13:55

 ขอเพิ่มเติมเรื่องเรือนไทยอีกหน่อยนะคะ
 เรือนไทยในรัชกาลที่ 1-5 นอกจากปลูกง่ายแล้ว  รื้อถอนโยกย้ายก็ง่ายด้วย  ดังนั้นจึงมีหลักฐานให้พบมากมายว่า มีการรื้อเรือนถวายวัด เมื่อเจ้าของไม่ได้อยู่อาศัยอีกแล้ว    เหตุผลก็หลากหลาย เช่นเจ้าของเดิมตายไป   หรือเจ้าของย้ายถิ่นที่อยู่   หรือไม่จำเป็นต้องอยู่เรือนเดิมอีกแล้ว
 ข้างล่างนี้คือภาพหอไตรวัดระฆัง   เคยเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของเจ้าพระยาจักรีในสมัยธนบุรี  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงยกเรือนเดิมให้วัด
  https://thonburiart.dru.ac.th/chan-palace.html

  ดิฉันเชื่อว่าตำหนักไม้ของเจ้านายฝ่ายในเมื่อเปลี่ยนมาเป็นตึก   ตำหนักไหนยังอยู่ในสภาพใช้ได้  องค์เจ้าของตำหนักก็ไม่รื้อทิ้งไปเฉยๆ  แต่ทรงยกให้วัดไป เพื่อใช้สอยประโยชน์ต่อไปอีก และได้บุญด้วย
  แต่เมื่อเปลี่ยนบ้านไม้โบราณมาเป็นตึก   ธรรมเนียมนี้ก็หมดไป


บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 14:10

ขอเพิ่มเติมเรื่องเรือนไทยอีกหน่อยนะคะ
 เรือนไทยในรัชกาลที่ 1-5 นอกจากปลูกง่ายแล้ว  รื้อถอนโยกย้ายก็ง่ายด้วย  ดังนั้นจึงมีหลักฐานให้พบมากมายว่า มีการรื้อเรือนถวายวัด เมื่อเจ้าของไม่ได้อยู่อาศัยอีกแล้ว    เหตุผลก็หลากหลาย เช่นเจ้าของเดิมตายไป   หรือเจ้าของย้ายถิ่นที่อยู่   หรือไม่จำเป็นต้องอยู่เรือนเดิมอีกแล้ว
 ข้างล่างนี้คือภาพหอไตรวัดระฆัง   เคยเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของเจ้าพระยาจักรีในสมัยธนบุรี  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงยกเรือนเดิมให้วัด
  https://thonburiart.dru.ac.th/chan-palace.html

  ดิฉันเชื่อว่าตำหนักไม้ของเจ้านายฝ่ายในเมื่อเปลี่ยนมาเป็นตึก   ตำหนักไหนยังอยู่ในสภาพใช้ได้  องค์เจ้าของตำหนักก็ไม่รื้อทิ้งไปเฉยๆ  แต่ทรงยกให้วัดไป เพื่อใช้สอยประโยชน์ต่อไปอีก และได้บุญด้วย
  แต่เมื่อเปลี่ยนบ้านไม้โบราณมาเป็นตึก   ธรรมเนียมนี้ก็หมดไป

หอไตรวัดระฆังคือเรือนเดิมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ในสมัยธนบุรี!! อาจเป็นเหตุผลที่ อ.ศิลป์ ขอให้คุณเฟื้อ หริพิทักษ์เปลี่ยนแนวทางการทำงานศิลปะ ว่ากันว่า อ.ศิลป์ขอเพื่อการอนุรักษ์หอไตรวัดระฆังนะคะ (ว่ากันว่าถ้า อ.เฟื้อทำงานแนวเดิมจะสามารถ "go inter" ได้ แต่ท่านเลือกทางนี้ ยอมเปลี่ยนแนวแบบหน้ามือเป็นหลังมือค่ะ)  การที่เจ้านายทรงยกตำหนักเรือนไม้ที่ใช้งานได้ให้วัดอันนี้ sustainability ของจริงค่ะ (สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่มานานแล้ว)
บันทึกการเข้า
กันเกรา
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 14:11

อ้างถึง
แต่ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ชุมนุมพระราชาธิบายกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง(วังหลวง) ได้ไม่เต็มที่ (บางทีจ่ายเป็นผ้าแทน อาจเป็นที่มาที่เรียกผ้ายกนครว่าผ้าหวัดรายปี หรืออาจจะพระราชทานเป็นผ้าหวัดรายปีสำหรับขุนนางอยู่แล้วแต่เพิ่มปริมาณผ้าเพื่อชดเชยเบี้ยหวัดที่หายไป กันเกราไม่แน่ใจนะคะ) มีการยืมเงินทางพระบวรราชวังมาจ่ายเบี้ยหวัดขุนนางเนื่องจากเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงส่งเรือสำเภาค้าขายได้ผลสำเร็จมาก (แล้วจึงมีการคืนเงินเหล่านั้นภายหลังค่ะ)  บางปีสำเภาของทางพระบวรราชวังได้ผลไม่ดี ทางพระบรมมหาราชวังก็พระราชทานเงินช่วยเหลือค่ะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้และรายจ่ายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังดูจะแยกกัน(อย่างน้อยบางส่วน)

เรื่องนี้ก็คุยได้อีกยาวค่ะ
สมัยก่อนขุนนางไม่มีเงินเดือน   รับเป็นรายปี  เรียกรวมว่าเบี้ยหวัดเงินปี    ถ้าพระคลังเก็บภาษีไม่ได้มาก  หรือรายจ่ายแผ่นดินมากกว่ารายรับ  การจ่ายเงินราชการก็ติดขัดกันบ่อยๆ  เรียกว่าพระคลังเป็นหนี้ขุนนางกันจนไม่มีใครแปลกใจ  อย่างในรัชกาลที่ 2  ที่คุณกันเกราว่า  ต้องจ่ายผ้าให้แทนเงินปี บางทีก็จ่ายเป็นทองคำแทน คือขาดเงินสดหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงต้องเพิ่มพูนหารายได้ให้แผ่นดิน  เพราะในระบอบสมบูรณาฯ ไม่ได้แยกรายได้แผ่นดินจากรายได้ส่วนพระองค์   ถ้าสยามเป็นบริษัท  พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเจ้าของบริษัทที่ต้องควักกระเป๋าเลี้ยงพนักงานทั้งบริษัท และเลี้ยงครอบครัวของท่านไปพร้อมๆกัน

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพระเจ้าลูกยาเธอเจษฎาบดินทร์จึงทรงขวนขวายค้าสำเภาตั้งแต่รัชกาลที่ 2   เพื่อเอาเงินมาช่วยทั้งส่วนพระองค์และช่วยสมเด็จพระราชบิดาด้วย   เมื่อครองราชย์ก็ทรงจัดให้เกิดระบบเจ้าภาษี คือระบบสัมปทาน  ให้คนรวยๆช่วยหารายได้เข้าคลังให้ท่าน เพื่อเอามาเลี้ยงราษฎรทั้งหมดอีกที


ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะที่กรุณากันเกรา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเยอะมาก ๆ การคลังในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 เป็นสิ่งที่กันเกราคิดว่ามหัศจรรย์ ขออนุญาตใช้คำปัจจุบันว่ารัฐบาลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 นะคะ (คือล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางที่มีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน) เป็นรัชสมัยที่รัฐบาลใช้เงินแรงมาก การเปลี่ยนพระบรมมหาราชวังจากสิ่งก่อสร้างแบบไม้เป็นอิฐ การปฏิสังขรณ์วัด 57 วัด (แม้ว่าวัดส่วนหนึ่งมีขุนนางเป็นเจ้าภาพการปฏิสังขรณ์)  ลำพังค่ากระเบื้องกับค่าแรงก็น่ากลัวมาก ยังมีการขุดคลองเชื่อมสองแม่น้ำ สวนขวาจึงต้องจากไป ละครในก็เช่นกัน ส่วนนี้ไม่น่าแปลกใจ แต่ที่มหัศจรรย์คือใช้เงินแรงมาก อัดเงินลงในระบบเศรษฐกิจรุนแรง แต่รัฐบาลรวยกว่าเดิม (ยิ่งใช้เงินยิ่งรวย) ต้องยอมรับว่าอันนี้ "เทพ" จริง ๆ ค่ะ  กันเกราทราบเพียงว่ามีการประมูลนายอากร แต่ถ้าทำได้ขนาดนี้ ต้องมีอะไรที่คมและฉลาด น่าศึกษามาก ๆ ค่ะ

เครดิตส่วนหนึ่งน่าจะเป็นของเจ้าคุณพ่อของคุณพุ่ม (ตำแหน่งท่านน่าจะคล้ายรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง) ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าครอบครัวภมรมนตรีเลื่องลือเรื่องความงามตลอด 200 ปี กี่ยุคสวยหล่อแบบลือกันทั้งเมือง (well-endowed สุด ๆ น่าอิจฉา) แต่อยากให้ลือเพิ่มอีกนิดว่าต้นตระกูลเป็นนักการคลังที่ไม่ธรรมดา พระยาราชมนตรีต้องเป็นคนที่ความสามารถไม่ธรรมดา  จริง ๆ กันเกรารู้สึกว่าในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 คนเก่งเยอะมากเลยนะคะ  พระยาราชมนตรี เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ผู้นำตระกูลบุนนาคทั้งสองท่าน เจ้าสัวโต และท่านอื่น ๆ (แต่ทำไมยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ทรงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ความรู้สึกว่าทรง sublime มาก ๆ ค่ะ)
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 14:40

ข้อความในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายใน ณ วังหน้าครากรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต ที่พบ -

          สมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อสถาปนากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว แต่ให้ประทับอยู่ในพระราชวังเดิม
ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบมูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่า ขอให้ลูกเธอได้อาศัยอยู่ในพระราชวังบวรฯ ต่อไป

          สมัยรัชกาลที่ ๕ เขตวังชั้นใน(ของวังหน้า) ให้รักษาเป็นพระราชวังอยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายให้พระองค์เจ้าดวงประภา
พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสำเร็จราชการฝ่ายใน โดยโปรดให้เสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

          สมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระองค์เจ้าวงจันทร์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สิ้นพระชนม์ เจ้านายวังหน้าที่เหลือ
เสด็จลงไปอยู่พระราชวังหลวง...

    
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง