เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 2732 อยากทราบข้อมูลของนักเรียนนอกและนักการทูตในสมัยปี พ.ศ. 2500 ค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 14 พ.ย. 23, 14:08

   อีกเรื่องที่คุณตั้งน่าจะอธิบายได้ดีกว่าดิฉัน    
   ทศวรรษ 2500  อเมริกาอยู่ในช่วงการเมืองนอกประเทศที่สำคัญ คือสงครามเวียดนาม  มีผลกระทบทั้งสังคมอเมริกัน และสังคมไทย  ทั้งที่ตัวสงครามอยู่นอกประเทศ คือเป็นความขัดแย้งระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้
    ช่วงเริ่มของสงครามอยู่ในยุคประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี   อเมริกาเข้าไปสนับสนุนเวียดนามใต้ อย่างเต็มตัว ด้วยการเพิ่มความช่วยเหลือทางทหาร  ส่งกำลังทหารอเมริกันและพันธมิตรของอเมริกันเข้าไปรบ อเมริกาทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนานใหญ่ลงไปในเวียดนามเหนือและลาว
    สงครามนี้ยืดเยื้อมาตลอดทศวรรษที่ 2500  ส่งผลกระทบไปถึงประเทศใกล้เคียงเช่นเขมรและลาว   ไทยเองก็หวุดหวิดจะโดนด้วย  
    ในอเมริกา สงครามที่ยิดเยื้อไม่รู้จบ ทำให้คนหนุ่มสาวที่ตอนแรกอาสาไปรบด้วยความฮึกเหิมที่จะทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ  เกิดเปลี่ยนใจเห็นว่าเป็นการเปลืองชีวิตผู้คนโดยใช่เหตุ   แล้วยังไม่ใช่การรบเพื่อป้องกันประเทศชาติของตนโดยตรง  เกิดกระแสต่อต้าน ไม่ยอมรับเกณฑ์ทหาร ไม่สนับสนุนการทำสงครามต่อไป  
   ยุคนี้เกิดกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า "บุปผาชน" ไทยเรียกว่าฮิปปี้   พวกนี้ต่อต้านขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมๆของยุคพ่อแม่  ปล่อยผมยาวรุงรัง แต่งตัวสีสดมีลวดลายดอกไม้ หรือลายน่าเวียนหัว   ไม่ทำงานทำการ ออกมาใช้ชีวิตอิสระข้างถนน ค่ำไหนนอนนั่น  นยมเซกซ์เสรี   เสพกัญชา และต่อต้านสงคราม   การหันหลังให้คริสตศาสนามานับถือลัทธิแปลกๆโดยเฉพาะจากอินเดีย ก็เริ่มในยุคนี้
  






บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 14 พ.ย. 23, 19:04

จะลองฉายภาพครับ

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติเมื่อ 1945  แล้วต่อด้วยสงครามเกาหลีที่เริ่มในปี 1953 ยุติในปี 1955  ต่อด้วยสงครามเวียดนามในทันที  สงครามทั้งสามนี้ อเมริกันเป็นหัวหอกนำการสู้รบทั้งหมด    ในช่วงเวลาของสงครามเวียดนามนั้น ก็เกิดกรณีจะมีการติดตั้งจรวดที่ประเทศคิวบาโดยรัสเซีย (ปี 1962) ตามติดมาด้วยประธานาธิบดี John F Kennedy ของอเริกาถูกลอบสังหาร (ปี 1963)  ตามต่อมาด้วยการลอบสังหาร Rev. Martin Luther King ในปี 1968 ซึ่งเป็นผู้นำการเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของอเมริกันชนทุกคน ทุกผิวสี ...   สงครามเวียดนามยุติลงในปี 1975

ก็พอจะเห็นว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ชีวิตของหนุ่มสาวอเมริกันชนทั้งหลายมีภาระส่วนหนึ่งผูกอยู่กับเรื่องของการเป็นทหารที่อาจจะต้องถูกส่งไปสู้รบกับ ฮืม ในพื้นที่ใดๆในโลกที่ห่างไกลจากประเทศของตน   เป็นเรื่องหนึ่งที่คงจะไม่มีผู้ใดชอบและเห็นด้วยมากนัก ก็เป็นลักษณะพื้นฐานปกติของมนุษย์ที่นิยมใช้ชิวิตในด้าน defensive มากกว่าในด้าน offensive 
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 14 พ.ย. 23, 20:15

ในอีกภาพหนึ่ง

ผู้คนในโลกในวงกว้างล้วนอยู่กับสภาพเหตุการณ์ของโลกที่ตึงเครียด จะฟัดกันด้วยระเบิดนิวเคลียร์เมื่อใดก็ไม่รู้  เรื่องของสันทนาการจึงเข้ามามีบทบาท เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกผู้คนรู้สึกคลายความเครียดได้อย่างดี  เรื่องของหนัง(ภาพยนต์)และเพลงจึงดูจะเป็นที่นิยมดูและฟังกัน 

ในยุโรปคงอยู่ในช่วงของการรื้อฟื้นประเทศและของเก่าทั้งหลาย ?   แต่ในอเมริกามีการพัฒนาและค้นพบดนตรีในลักษณะใหม่ จังหวะใหม่ ท่วงทำนองใหม่...  หลุดพ้นจากกติกาของเพลงคลาสสิค  เกิดเพลงในจังหวะที่เร็วขึ้น (กลุ่มเพลง POP) ในขณะที่พวกประเภท Big Band หรือ Jazz Band ค่อยๆหายไป   เกิดกลุ่มเพลง Rock และ Soft Rock ที่ผลมผสานสไตล์ Blue เข้าไป  เพลงประเภท Ballard มีมากและมีอิทธิพลจนในปัจจุบัน   

ก็เห็นว่าเพลงที่เปลี่ยนไปจากแบบนุ่มนวล ไปสู่แบบกระแทกกระทั้นและมีเนื้อเพลงที่เล่าความได้อย่างเข้าถึงความรู้สึกที่อยากระเบิดออกมาเหล่านี้ ก็คือตัวผลักดันแรกๆให้เกิดอารมณ์เคลิ้ม มีมนต์สะกด ซึ่งเมื่อผนวกกับของมึนเมาเข้าไปด้วย ชีวิตก็เลยรู้สึกสุขสบายไปกับสายลมแสงแดด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 15 พ.ย. 23, 18:37

ในอีกมุมหนึ่ง หนุ่มสาวก็หันไปใช้สิทธิเสรีภาพในเรื่องของความเชื่อ ผันตัวเองเข้าไปเป็นสาวกของนิกาย/ศาสนา/ลัทธิต่างๆที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขของมนุษยชาติ ดังที่ อ.เทาชมพู กล่าวมา   เรื่องนี้ทำให้เกิดการปฏิบิติตนในสองลักษณะ คือ ปฏิบัติตนค่อนข้างจะเคร่งครัดอยู่ในหลักเกณฑ์พึงปฏิบัติของความเชื่อนั้นๆ กับปฏิบัติตนอย่างเสรีตามที่ใจของตนประสงค์ พวกนี้ก็คือที่เรียกว่า พวกฮิปปี้

พวกฮิปปี้ ดูจะอยู่กันมากแถบรัฐชายฝั่งมหาสมุทรด้านตะวันตก (แปซิฟิก)  ถัดเข้ามาในแผ่นดินดูจะเป็นพื้นที่ของหมู่ชนที่อยู่ในสังกัดของความเชื่อ ลัทธิ นิกายต่างๆ    พื้นที่ตอนกลางของประเทศด้านเหนือและด้านใต้เป็นพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่ช่วงกลางระหว่างเหนือกับใต้เป็นพื้นที่โล่งกว้างทำเกษตรกรรม   ในช่วงที่ไปเรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับพื้นที่เหล่านี้เล็กน้อย ไม่เคยเห็นสิ่งตกค้างที่เป็นลักษณะของฮิปปี้เลย

ทางฝั่งตะวันออกด้านเหนือดูจะไม่มีพวกฮิปปี้จริงๆ มีแต่เพียงลักษณะการแต่งการกายเพียงเล็กๆน้อยๆตามสม้ยนิยม  เมื่อลงมาทางใต้ ยิ่งไม่เหลือสิ่งตกค้างใดๆของฮิปปี้เลย   หากแต่มีกลุ่มผู้คนที่เรียกรวมๆกันว่าเป็นพวก Pilgrim ซึ่งมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน มีลักษณะสำคัญคือ เคร่งศาสนาและดำเนินชีวิตแบบคนรุ่นอพยพ/บุกเบิก  ที่ไม่มีฮิปปี้ในพื้นที่ทางใต้นี้ก็อาจจะเป็นเพราะมีกลุ่มคนที่เป็นพวก supremacist อยู่มากพอสมควร (KKK, Redneck, Roughneck)  ส่วนในพื้นที่ทางเหนือก็อาจจะเป็นเพราะสว่ามีพวก white collar อยู่เป็นส่วนมาก   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 11:23

พวกฮิปปี้สิงสู่อยู่ทางตะวันตก (ซึ่งเป็นรัฐใหม่กว่าทางตะวันออกหรือทางใต้)   เมืองที่ขึ้นชื่อคือซานฟรานซิสโก  จนมีเพลงฮิทเพลงนี้ออกมา

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 11:25

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 16 พ.ย. 23, 11:31

ถ้าถามว่าฮิปปี้พวกนั้นเป็นยังไงต่อมา จนถึงยุคปัจจุบัน  อย่างหนึ่งคือหนุ่มสาวยุคนั้นกลายเป็นปู่ย่าตาทวดไปหมดแล้ว   ถึงอยากจะคึกคะนองหรือยึดมั่นในอุดมการณ์ยังไง สังขารก็ไม่เป็นใจอยู่ดี
ขอยกตัวอย่างชีวิตของคุณยายในคลิปข้างล่างนี้   เธอเติบโตมาเป็นสาวฮิปปี้ ใช้ชีวิตอิสระสุดเหวี่ยง  โดดข้ามเส้นศีลธรรมรวมทั้งทำแท้งด้วย   แต่มาถึงปูนนี้ คุณยายกลายเป็นคนเคร่งศาสนา เชื่อมั่นในพระเจ้า



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 23 พ.ย. 23, 10:43

กลับไปทบทวนวิธีเรียนในระดับปริญญาโทและเอก
มหาวิทยาลัยที่ดิฉันเรียนใช้ระบบภาคเรียนแบบ quarter  ปีหนึ่งมี 3 เทอม คือ Fall Quarter ( ไม่เรียกว่า Autumn) Winter quarter และ Spring Quarter แต่ละช่วงใช้เวลาเรียน 10 สัปดาห์  และยังมี Summer Quarter เปิดในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน   เรียนสั้นหน่อยคือ 8 สัปดาห์
นักศึกษาอเมริกันส่วนใหญ่เรียน 3 เทอม  เอาเวลาตอนปิดเทอม Summer ไปทำงานหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย เพราะพ่อแม่อเมริกันไม่ส่งลูกเรียนระดับมหาวิทยาลัยอย่างพ่อแม่ไทย   เด็กอเมริกันส่วนใหญ่พออายุ 18 ก็ออกจากบ้าน ไปหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง       พวกนี้มีอยู่มากที่ไม่เรียนต่อระดับอุดมศึกษา  ถ้าหางานทำได้ก็ทำเลย  ส่วนใหญ่เป็นประเภทแรงงานซึ่งมีค่าจ้างรายชั่วโมงรวมแล้วมากพอจะเลี้ยงตัวเองได้
บางคนเรียนต่อที่  Community College (วิทยาลัยชุมชน) 2 ปี ที่สอนฝึกอาชีพคล้ายๆอาชีวะของบ้านเรา  พอจบก็ประกอบอาชีพได้ รายได้ดีกว่าเรียนจบมัธยมเฉยๆ   
ส่วนคนที่มาเรียนมหาวิทยาลัย  สะดวกหน่อยเพราะมหาวิทยาลัยมีเงินให้กู้เรียน แลบ กยศ ในบ้านเรา   ทำงานแล้วก็ผ่อนใช้ไปจะสิบยี่สิบปีก็ตามแต่    แต่ก็ต้องทำงานเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือเพิ่มจากที่มหาวิทยาลัยให้กู้ยืม
ส่วนนักเรียนไทยเรียนซัมเมอร์กันเกือบทั้งนั้น   เพื่อจะได้จบกลับบ้านเร็วๆ 

จำนวนหน่วยกิตปริญญาโท คือ 45 หน่วยกิต  แบ่งเป็น 2 โปรแกรม คือ 1  ทำวิทยานิพนธ์  2  สอบรวบยอดให้ผ่าน
ถ้าเรียนปริญญาเอกต่อจากปริญญาโท เรียนอีก 90 หน่วยกิต  ต้องผ่านทุกวิชาก่อนจะทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก   ก่อนทำต้องส่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ เรียกว่า Outline คือทำ 3 บทแรก  ให้กรรมการตรวจพร้อมผ่านสัมภาษณ์ด้วย   ถ้าผ่านก็ทำต่อจนจบได้รับปริญญา ถ้าไม่ผ่านก็เก็บเสื้อผ้ากลับบ้านได้   เขาไม่ให้อยู่ต่ออีก
มีปริญญา Post-doctorate   คือเหนือปริญญาเอก  เป็นการทำวิจัย     แต่คนไทยมักไม่เรียนกัน เพราะในยุคนั้น กพ.ไม่ได้ตีราคาให้สูงกว่าปริญญาเอก    แต่ปัจจุบันเห็นเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยที่จบปริญญาเอกแล้ว แต่อยากทำงานทางวิชาการต่อยอดขึ้นไปอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 23 พ.ย. 23, 13:30

      การเรียนในระดับปริญญาโท จะไม่เน้นด้านเลกเชอร์อย่างระดับปริญญาตรี แต่จะออกมาในรูปของ seminar  หรือสัมมมนา   คือนักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้ไปค้นคว้าในห้วข้อย่อยที่เกี่ยวกับชื่อวิชานั้น เช่น Seminar in Victorian Literature หรือ Seminar in Psychological Conceptions  อาจารย์ก็อาจสั่งให้ไปศึกษาค้นคว้างานของนักเขียนหรือกวียุควิคตอเรียนคนใดคนหนึ่ง เขียนลงไปเป็น term paper  หรืองานวิจัยย่อย  แล้วนำมาเสนอในห้อง ให้อาจารย์และเพื่อนฝูงฟัง   จบแล้วก็อภิปรายถกเถียงกัน   ถ้ามีข้อสงสัย เจ้าของงานต้องตอบให้ได้หมด   จะมาบอกในห้องว่าไม่รู้ หรือขอตัวไปค้นคำตอบก่อน  ไม่ได้เด็ดขาด  แล้วก็เอาที่รายงานและที่เพิ่มเติมในชั้น มาส่งเป็นรายงานให้อาจารย์ตอนปลายเทอม
     การเรียนในยุคนั้นลำบากกว่ายุคนี้มาก   เพราะการอ้างอิงต้องพึ่งหนังสือเป็นหลัก ซึ่งไม่ค่อยจะมีพอในห้องสมุด  หนังสือ 1 เล่มมีคนอ่าน 3-10  คนก็ต้องเข้าคิวกันแล้ว  จากนั้นเมื่อได้หนังสือมาต้องลอกบทที่ต้องการลงด้วยมือ เพราะการถ่ายเอกสารยังไม่มีด้วยซ้ำ  ถ่ายเอกสารด้วยแฟกซ์เป็นอะไรไม่มีใครรู้จักเพราะยังไม่ถือกำเนิด    ยิ่งอินเทอร์เน็ตแล้วไม่มีใครวาดภาพอนาคตได้ถึง
     การพิมพ์รายงานต้องพิมพ์ดีดลงในกระดาษไข แล้วเอากระดาษไปพริ้นท์จากเครื่องพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยมีให้ใช้ที่ตึก University Center  ระบบนี้ อเมริกาเรียกว่า ditto  ไทยเรียกว่าโรเนียว
    แหล่งอ้างอิงอีกอย่างในห้องสมุดคือ อ่านไมโครฟิล์มที่ถ่ายลงเป็นเล่มๆสำหรับหนังสือหายาก   ต้องจ้องจอมัวๆชวนปวดตามากๆ   แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก
    ชั่วโมงเรียนมีตั้งแต่ 7.00 น. ไปจน 20.00 น. อย่างหลังเรียกว่า night class   เป็นการเรียนที่ทรมานมากในฤดูหนาว  เพราะเจ็ดโมงเช้ายังมืดสนิทเหมือนตีสอง  ต้องเดินลุยหิมะที่กองสูงเลยเข่าจากที่พักไปถึงตึกเรียน  ยิ่งวันไหนหิมะตก  ก็ยิ่งตระหนักว่า นรกเย็นก็มีกับเขาเหมือนกัน ไม่ใช่แค่นรกร้อนที่มีกระทะทองแดงเท่านั้น   ส่วนตอนเย็นในฤดูหนาวเริ่มมืดขมุกขมัวตั้งแต่สี่โมงเย็น เลยสี่โมงแล้วมืดสนิท   การไปเรียนชั่วโมงกลางคืนในอาคารใหญ่ที่เปิดชั้นเรียนเพียงไม่กี่ชั้น    จึงไม่ต่างอะไรจากนั่งอยู่ในหนังสยองขวัญ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 23 พ.ย. 23, 19:31

ตามที่เคยทราบมาตั้งแต่ครั้งไปเรียนต่อ  ว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ พอจะจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็น ม.ที่รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนหนักหน่อย   กลุ่มที่สอง เป็น ม.ในเชิง ม. ของแต่ละรัฐตั้งขึ้นมา มีรัฐเป็นแกนหลักในการให้การสนับสนุน   และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่ม ม.เอกชน   สำหรับรูปแบบของชื่อ ม.ต่างๆ ก็มีการใช้คละกันทั้งสามกลุ่ม (U.  of ..., ....State U.  และแบบชื่อเฉพาะแล้วตามท้ายด้วย U

แต่ละ ม. ก็จะมีเฉพาะบางสาขาวิชาการที่มีความเป็นหนึ่ง หรือตัว ม. เองได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับต่างๆเมื่อเทียบกันในระหว่าง ม.ทั้งสามกลุ่ม  ในการจะเลือกเข้าไปเรียนใน ม. เหล่านี้ สำหรับนักศึกษาในระดับ ป.ตรี จะมีองค์ประกอบในการตัดสินใจชุดหนึ่ง  แต่ในระดับ ป.โท และ ป.เอก ผู้ที่จะเลือกเข้าไปเรียนจะใช้องค์ประกอบของการตัดสินใจอีกชุดหนึ่ง เช่น หากเน้นออกไปทางการเป็นนักวิชาการ บ้างก็จะให้ความสำคัญกับกลุ่ม ศ. ที่โด่งดังที่สอนหรือวิจัยอยู่ใน ม. นั้นๆ  บ้างก็พิจารณาโดยการเปรียบเทียบปริมาณเอกสาร/สิ่งพิมพ์ที่อยู่ในห้องสมุด (หลักหลายล้าน Items) ....   หากเป็นกรณีที่เน้นไปทางการยกระดับวุฒิก็จะมีชุดที่ใช้ในการพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง

ก็ดูจะไม่แปลกที่เมื่อจบมาแล้ว ได้วุฒิมาแล้ว ก็น่าจะมีความรู้ทัดเทียมกัน อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น  แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีความต่างกันในมิติของความรู้และตรรกะความคิดแบบลึกซึ้ง   Reference ที่ใช้ในการอ้างถึงใน Thesis และ Dissertation  หรือใน Paper ต่างๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในอันดับแรกในความรู้ลึกๆของนักศึกษาคนนั้นๆ เพราะมันมาจาก Journal ซึ่งแต่ละ Journal มันก็มีระดับของความเชื่อถือของแต่ละวงการความรู้นั้นๆ   Journal ที่มีอยู่ในห้องสมุดต่างๆจึงเป็นหนึ่งในตัวที่บอกถึงระดับความรู้และความสามารถทางวิชาการขององค์กรนั้นๆ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 27 พ.ย. 23, 13:21

อีกอย่างที่นึกได้คืออัตราเงินในยุคนั้น 1 ดอลล่าร์ = 20 บาทบวกเศษสตางค์อีกนิดหน่อย
เมื่อเทียบกับไทย ของกินของใช้ของอเมริกาน่าจะแพงมากสำหรับคนไทย   แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพของเขาแล้วถูก  ถ้าไปเรียนในเมืองใหญ่ หรือว่าทางรัฐตะวันออก ในรัฐที่มีมหาวิทยาลัยดังๆอยู่อย่างในนิวยอร์ค หรือแมสสาชูเส็ตต์  ค่าเล่าเรียนและค่ากินอยู่แพงกว่ารัฐทางตะวันตก  ยกเว้นคาลิฟอร์เนียที่แพงลิบโลก
สิ่งที่ถูกกว่าไทย เท่าที่นึกออกคือน้ำมันรถ   เติมทีละ 5 เหรียญก็พอใช้หลายวัน   และราคารถยนต์  รถขนาดกลางของไทยเป็นแสนแล้วในตอนนั้น อเมริกา รถสวยๆยังราคาไม่กี่หมื่น  นักเรียนไทยจึงมีรถใช้กันง่ายดาย

จำได้ว่ารถอเมริกันยี่ห้อ Pontiac  รุ่น Firebird  3500 CC  ใหม่เอี่ยมป้ายแดง  ไม่เอาออพชั่นพิเศษ  ราคา 2,200 ดอลลาร์ เท่ากับ 44,000  บาทไทย  


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 27 พ.ย. 23, 20:04

กรณีของผมเป็นการลงทุนร่วมกัน 4 คน ซื้อ Station Wagon เก่ามาใช้ในราคา  $ 400  จำได่ไม่แม่นแล้วว่าเป็น Chevrolet หรือไม่  โชคดีที่มันไม่เคยรวนเลยครับ  ส่วยมากจะใช้เฉพาะเสาร์/อาทิตย์ งานหลักก็ใช้ไปศูนย์การค้าเพื่อจับจ่ายของกินและของใช้ เพราะว่าอยู่ห่างไปจากมหาวิทยาลัยมาก บางช่วงปิดเทอมก็ชวนกันไปเที่ยวนอกเมืองและตามอุทธยานต่างๆบ้าง

ในยุคนั้น เป็นช่วงแรกๆของอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกันที่เริ่มผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบออกสู่ตลาด  พร้อมๆไปกับรถนั่งขนาดกลางที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ  เริ่มต่างไปจากเดิมที่นิยมใช้รถขนาดใหญ่ใช้เครื่องยนต์ 8 สูบ  แล้วก็ยังผลิตรถประเภทเฟี้ยวหลายรุ่นออกสู่ตลาด เช่น Ford Thunderbird .... แข่งตลาดกับรถสปอร์ตต่างๆจากค่ายอิตาลี   ก็แปลกอยู่ที่ไม่ผลิตพวกรถสปอร์ตขนาดเล็กแข่งกับของยุโรป (Jaguar E Type, Porsche ....     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 27 พ.ย. 23, 21:06

ทบทวนความจำว่านักเรียนไทยสมัยโน้นนิยมใช้รถอะไรบ้าง   ในเมื่อรถราคาถูก  หลายคนที่เป็นนักเรียนทุน พก.(พ่อกู)
ไม่ใช่ทุนก.พ.  จึงมีรถสวยๆให้ขับกันว่อน   
รถฟอร์ดเป็นที่นิยมมาก เช่นฟอร์ดคาเมโร และฟอร์ดมัสแตง   ราคาคิดเป็นเงินไทยไม่กี่หมื่น   ปาป๊าในไทยขนหน้าแข้งไม่ร่วง
แต่ถ้าไม่ใช่รวยเฉยๆแต่เป็นพวกเจ้าของกิจการที่รวยมาก    ก็จะมีรถพอร์ช ( porche) ที่คนไทยเรียกว่าปอเช่ ขับไปเรียนค่ะ 


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 28 พ.ย. 23, 20:02

นึกถึงความต่างในสำเนียงและการใช้ภาษาของคนอเมริกันที่มีพื้นเพอยู่ในภูมิภาคต่างๆของประเทศ 

แต่ดั้งเดิมคิดว่าสำเนียงแบบอังกฤษเป็นแบบฉบับมาตรฐานของภาษาอังกฤษ จริงๆแล้วไม่ใช่เลย  ที่ ม.ที่เรียนอยู่ ได้ฟังภาษาอังกฤษแบบอเมริกันหลากหลายสำเนียงของนักศึกษาและของชาวบ้าน แรกๆก็ฟังและเข้าใจแบบกระท่อนกระแท่น สื่อสารไปเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจเรา นึกว่าภาษาอังกฤษของเราน่าจะแย่เอามากๆเลยทีเดียว ดูจะพอใช้ได้แต่เพียงใช้การอ่านและการเขียน  มาถึงบางอ้อก็ตอนไปเยี่ยมเพื่อนที่นิวยอร์ก สื่อสารกับใครก็ดูรู้เรื่องเข้าใจกันดีทั้งกับคนอเมริกันและคนต่างชาติ  อ้าว.. ภาษาของเราก็อยู่ในระดับที่พอใช้ได้นี่   เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่าไม่ต้องเป็นกังวลกับเรื่องของสำเนียงนัก การออกเสียงควบกล้ำให้ครบและออก accent ให้ถูก เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่ามาก เพราะว่ามันเป็นตัวคำที่เป็นศัพท์ที่ให้ความหมายว่ากำลังคุยกันในสิ่งใดและในความหมายใด    แต่ก่อนโน้นเราเรียนภาษาอังกฤษแบบอังกฤษอังกฤษ เราจึงรู้จักและใช้ศัพท์แบบอังกฤษซึ่งมีศัพท์เป็นจำนวนไม่น้อยที่ต่างไปจากที่คนอเมริกันเขาใช้กัน  ก็ไม่ต้องไปกังวลว่าอยู่ที่ใหนจะต้องใช้ศัพท์คำใด  คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เขาก็ไม่ต่างกับเราที่เราสามารถสนทนาด้วยภาษาไทยกันกับคนที่ใช้ภาษาไทยในประเทศอื่นได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 28 พ.ย. 23, 20:21

อเมริกามี 50 รัฐ แต่ละรัฐมีเอกลักษณ์ของตัวเอง    รัฐทางตะวันออกซึ่งเป็นรัฐเก่าแก่กว่าทางตะวันตก มีอะไรหลายอย่างแตกต่างจากรัฐทางตะวันตก  สำเนียงพูดก็ไม่เหมือนกันแล้ว   
ทางตะวันตกโดยเฉพาะรัฐคาวบอยอย่างเทกซัส มีสำเนียงพื้นบ้านที่คนอเมริกันเรียกว่า "เหน่อ"  ถ้าอยากรู้ว่าเหน่อเมกันเป็นไงให้ดูได้จากหนังที่มีเพลงคันทรีหรือเพลงลูกทุ่งฝรั่ง   นอกจากนี้รัฐทางใต้ก็ยังมีสำเนียงท้องถิ่นที่เหน่อมากอีกแบบหนึ่ง  คนละแบบกับทางตะวันตก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง