เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 3763 ว่าด้วย "พรหมลิขิต" (ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 22 ธ.ค. 23, 16:40

ไม่น่าจะมีแล้วนะคะ   คุณ Janyavee Sompreeda หรือรอมแพง แสดงมารยาทกล่าวขอโทษอาจารย์ศัลยาแล้ว

อุ้ยต้องกราบขอโทษป้าแดงด้วยนะคะ ที่นิยายของอุ้ยมีความผิดพลาดขาดพร่องจนทำให้ป้าแดงทำงานยาก และต้องดัดแปลงจนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขนาดนี้ รวมไปถึงความอ่อนด้อยในการตอบคำถามของพิธีกรและนักข่าวก็ยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับทีมละคร เป็นความผิดของอุ้ยเองค่ะ
กราบขออภัยเป็นอย่างสูงค่ะ
อุ้ย รอมแพง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 23 ธ.ค. 23, 10:35

ยกที่ ๒ ของคุณศัลยา ผู้เขียนบทละคร

ความรักของพ่อริดแม่พุดตาน
เรื่องของแม่กลิ่นและหมู่สง
เรื่องตอนพิเศษท้ายเล่ม

รายละเอียดในคลิปนี้ อยู่ในตอนท้ายของบทความเรื่อง  "ศัลยา VS พรหมลิขิต"(ยกที่หนึ่ง)

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 24 ธ.ค. 23, 10:58

 การเขียนภาค 2 ของนวนิยายหรือละครไม่ว่าเรื่องอะไร เป็นการยากที่จะให้ถูกใจแฟนคลับ     เหมือนต้องต่อเติมบ้านที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น   โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำใหม่ให้ไม่เหมือนของเก่า  แต่ก็ต้องสวยเท่าเก่า  โดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของของเดิม  
  ดังนั้น บางทีบ้านส่วนที่สร้างใหม่ก็ออกสีคนละโทนกับบ้านของเดิม   หน้าต่างประตูของใหม่เป็นคนละแบบกับของเก่า  ขนาดก็ไม่เท่ากัน ฯลฯ
  เกิดการเปรียบเทียบกันขึ้นง่ายมาก   ส่วนใหญ่บ้านใหม่จะแพ้บ้านเก่าที่แฟนคลับนิยมชมชอบมาแต่เดิมแล้ว

           รำลึกนึกถึงนิยาย(เก่า) ที่ประสบความสำเร็จสูงจนมีภาคสองตามต่อ ต่างก็ไม่สามารถที่จะได้รับความนิยมชมชอบเท่าของเดิมได้
(มียกเว้น แต่เป็นหนังฝรั่ง The Godfather ที่ภาคสองได้รับการยกย่องถ้วนหน้าว่ายอดเยี่ยมกว่าภาคแรก แต่พอมาภาคสามก็ตามนั้น)

           ไม่ได้อ่านนิยายต่างๆ ที่จะกล่าวถึงแต่รู้เรื่อง ยกเว้น นิยายเรื่องแรก(ที่น่าจะเก่าที่สุด) นั่นคือ ละครแห่งชีวิต ของม.จ. อากาศดำเกิง
ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ภาคตามมา คือ ผิวเหลืองหรือผิวขาว ที่ดูจะเป็น การเก็บตก,ขยายความของภาคแรกมากกว่า

            เมื่อ บ้านทรายทอง ของ ก. สุรางคนางค์ ประสบความสำเร็จบนเวทีละคร ภาคต่อจึงตามมา เล่าถึงชีวิตหลังการแต่งงานของพจมานและชายกลาง
แน่นอน ความแรงของพจมานต้องสู้ฟาดฟันลดความเข้มข้นลงไปมาก
           (ก. สุรางคนางค์ ยังมีนิยายภาคต่ออีกหลายเรื่อง เช่น เขมรินทร์ อินทิรา คุณครูอินทิรา, รักประกาศิต ภูชิชย์ นริศรา, คุณหญิงพวงแข-ถ่านไฟเก่า)

            มาถึงนิยายที่ดังสุดๆ นั่นคือ คู่กรรม ภาคสองตามมาหลังจากโกโบริตายหลายปี เล่าเรื่องแม่อัง หญิงไทยใจแข็ง แม่เลี้ยงเดี่ยว และ
ลูกชายสายเลือดพ่อมะลิ คนอ่านก็ยังชื่นชอบความรักระหว่างรุ่นพ่อแม่ที่ยังอวลอยู่ แต่ในรุ่นลูกไม่มีความรักหวาน มีความขัดแย้งของเชื้อชาติในใจ
และบรรยากาศการเมืองเข้มข้น นิยายจบที่การเดินทางของแม่อังไปยังดาวเจ้าหญิงทอหูก?
            แน่นอน ภาคแรกซาบซึ้งรันทดน้ำตาหยดมากกว่าภาคสอง
            เรื่องนี้เมื่อแรกดัดแปลงเป็นหนังโรง มีการดัดแปลงเรื่องให้ลูกชายตายในเหตุการณ์รุนแรงของประวัติศาสตร์ไทย แม่อังต้องเดินตามหา
ร่างลูกชาย คล้ายในภาคแรกที่ตามหาพ่อมะลิ พร้อมบทเพลง Solveig's song นับเป็นไอเดียดีไม่น้อย แต่คนอ่านนิยายอาจไม่ปลื้ม

            เรื่องสุดท้ายที่นึกถึง คือ อีสา ผู้มีชีวิตเข้มข้นตามใจบันดาลแรงให้ผจญชีวิต,ผ่านสงคราม จบลงด้วยความหวังจะพบความสงบในธรรม
ภาคต่อคุณสากลับออกมาสู่โลกที่ต้องสู้น้อยกว่าเดิม มีตัวละครคู่ขัดแย้งคือ ลูกชายและลูกสาวของตนที่ไม่รู้ความจริง  

            สรุปดังที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นว่า ต่างก็ไม่สามารถที่จะได้รับความนิยมชมชอบเท่าของเดิมได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 25 ธ.ค. 23, 09:35

ในละคร พรหมลิขิต เขียนบทโดย ศัลยา กล่าวถึงเหตุผลในการย้ายเมืองข้อเดียวคือ เพื่อหนีสงครามคราวเสียกรุง

แต่เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ผู้เขียนบทไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งแท้จริงควรกล่าวถึงอย่างยิ่งเพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ท้ายรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งจะมาถึงในไม่ช้า ก่อนเหตุการณ์คราวเสียกรุง ตามบันทึกของคุณหญิงวิสูตรสาคร ตอนท้ายของหนังสือ พรหมลิขิต โดย รอมแพง มีว่า



ตอนท้ายของบันทึกเขียนเกี่ยวกับเหตุผลของการยกครัวย้ายเมืองไว้ว่า

"อีกไม่นานคงมีสงครามกลางเมืองและสงครามใหญ่ก็คงจะเกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ เรากำลังหาที่ยกครัวย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ คงต้องให้คุณพี่และพ่อริดลาออกจากราชการจะได้พ้นเหตุการณ์อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นตอนสงครามกลางเมืองปลายยุคของพระเจ้าท้ายสระ และคงต้องเตรียมตัวให้ลูกหลานพร้อมรับเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่สอง…"




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 25 ธ.ค. 23, 10:05

    ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ไม่ว่าผู้ผลิต ผู้เขียนบท ผู้กำกับและเจ้าของบทประพันธ์ ว่างาน(หมายถึงทั่วๆไปไม่เจาะจงว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง)จะออกมาประสบผลสำเร็จดี  หรือปานกลาง หรือล้มเหลว   เพราะตัวแปรมีมากมายหลายชนิด
    บางทีละครทำออกมาดีสมใจผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้อง เกิดออนแอร์ไปชนกับรายการของอีกช่องที่ดังระเบิดเปรี้ยงปร้างขึ้นมา   เรตติ้งก็เลยหล่นลงไป
    บางทีกระแสหลักของสังคมเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่เร็วมาก    อะไรที่ฮิทเมื่อละครเริ่มสร้าง กว่าจะถ่ายทำเสร็จ ได้คิวออกอากาศ กระแสสังคมเปลี่ยนไปแล้ว   ละครเลยกลายเป็นตกยุคไป
   บางทีก็ชวนงง  หาเหตุผลไม่ได้ด้วยซ้ำ   ละครที่คิดว่าจะแป้ก  เพราะละครแนวเดียวกันเรตติ้งต่ำหมก  ทางช่องดองเลยเอาไว้นาน ขนาดดาราหมดสัญญาแล้ว  พอนำออกอากาศ กลับทำเรตติ้งสูงสุดของช่องก็มี
   ทำละครหรือนิยายก็เหมือนทำอาหาร   ในเมื่อรสนิยมผู้บริโภคเป็นสิ่งกะให้ถูกปากยาก   จึงน้อยครั้งที่ละครจะออกมาดังที่หวังทั้งผู้ผลิตและคนดู    จะหามาตรฐานกี่ปีๆยังยอดนิยมเหมือนอาหารเจ๊ไฝ ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 25 ธ.ค. 23, 11:44

    เคยเขียนเกี่ยวกับการนำนวนิยายไปทำละครโทรทัศน์ไว้ใน Facebook ตั้งแต่ช่วงต้นปี    เห็นว่าพอจะเข้ากับกระทู้นี้ได้ เลยเรียบเรียงมาให้อ่านค่ะ
************************
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19  กุมภาพันธ์ 2566 ไปลงทะเบียนเข้าประชุม Zoom  เรื่อง"การเดินทางข้ามสื่อของวรรณกรรม"  วิทยากรคือ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม  รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ  ที่สมัครเข้าไปฟัง เพราะอยากรู้ว่าการเดินทางข้ามสื่อวรรณกรรมคืออะไร
    สรุปว่า มันคือเส้นทางจากวรรณกรรมไปสู่การทำภาพยนตร์  (รวมละครโทรทัศน์ด้วย) ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง  วิทยากรอธิบายแบบวิชาการ แจกแจงได้ละเอียด   ก็เลยได้คำตอบเพิ่มขึ้นจากที่ค้างคาใจมานาน   ทำให้ได้ทั้งความรู้และความคิดใหม่ 
      อย่างหนึ่งคือเมื่อก่อน เรามักจะมองภาพอย่างรวบรัดว่า เมื่อมีผู้เอานิยายไปทำละครหรือหนัง  ก็คือการเอาตัวหนังสือไปทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอ      แต่ความจริงแล้วมันมีเหตุและผลในขั้นตอนมากกว่านั้น    ผลก็คือสื่อภาพและเสียงจะถูกดัดแปลง จนออกมาไม่เหมือนสื่อตัวหนังสือของเดิมอย่างเป๊ะๆอีกต่อไป
       คำสำคัญที่ดร.นัทธนัยยกขึ้นมา คือ  สัมพันธบท (intertextuality) ในที่นี้อาจารย์เรียกว่า สหบท         ส่วนตัวเท่าที่เคยอ่านมา มันเป็นคำที่แพร่หลายอยู่ในขบวนการ Postmodernism  ของวรรณกรรม  (โพสโมเดิร์นเป็นอะไรไม่อธิบายละค่ะ  เดี๋ยวออกทะเลไปกันใหญ่)  แสดงถึงความสัมพันธ์กันของผลงานที่แยกกันเป็นคนละชิ้นคนละอย่าง
    อธิบายไทยเป็นไทยอีกทีว่า  นิยายกับภาพยนตร์เป็นงานคนละชนิด แยกจากกัน  แต่ถ้าจะต้องมาเกี่ยวข้องกัน ก็มีเจ้าintertextuality (สัมพันธบท) นี่แหละเป็นคำอธิบาย
    ถ้าถามว่า เจ้า intertextuality มันมีประโยชน์อะไร   คำตอบคือมันช่วยให้คนอ่าน(หรือคนดู)เข้าใจโครงเรื่อง เนื้อหา และแนวคิดของวรรณกรรมได้ชัดเจนขึ้น    ที่สำคัญคือมันยังทำหน้าที่ตีความงานประเภทหนึ่งที่ทำจากงานอีกประเภทหนึ่งให้เราเข้าใจได้มากขึ้นด้วย   
   เช่น คนอ่านหนังสืออาจไม่เข้าใจบางอย่างในหนังสือ  นึกภาพไม่ออก หรือยังงงๆกับแนวคิดของนักเขียน แต่ถ้าหนังสือเล่มนั้นนำไปทำเป็นภาพยนตร์   พอเห็นภาพบนจอ ก็อาจจะร้อง อ๋อ  มันเป็นยังงี้เอง   นั่นคือบทบาทของ   intertextuality
   อธิบายอีกทีค่ะ  สมมุติว่าอ่านหนังสือเพชรพระอุมาจนจบแล้ว ก็ยังวาดภาพในสมองไม่ออกว่า มรกตนครควรมีหน้าตาเป็นยังไง  แต่ถ้าท่่านมุ้ยเอาไปทำเป็นภาพยนตร์  ท่านสามารถสร้างมรกตนครให้เห็นกับตาได้ว่าสง่างามโอฬารขนาดไหน   คนดูก็เข้าถึงได้โดยพลัน   
    นี่ละคือสัมพันธบทระหว่างตัวหนังสือกับภาพ  ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นผลงานได้ ก็ต้องใช้ทักษะ ใช้การตีความ ใช้จินตนาการ ฯลฯ  ซึ่งล้วนแต่อยู่ใน intertextuality ทั้งสิ้น
   ดร.นัทธนัยขึ้นจอให้ดูว่า ยุคของ intertextuality  คือ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา   แต่พอมาถึงปัจจุบัน  คือยุคเครื่อข่ายการดัดแปลง (adaptation network/s) ก็มาถึงคำเรียกยากอีกคำคือ transtextuality คือความสัมพันธ์ข้ามตัวบท
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 25 ธ.ค. 23, 11:49

   Transtextuality หรือความสัมพันธ์ข้ามตัวบท   หมายถึงการเชื่อมโยงระหว่างสื่อประเภทต่างๆ เช่น นวนิยายถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็เกิดการเชื่อมโยงระหว่างตัวหนังสือกับภาพเคลื่อนไหวบนจอ 
   การศึกษา Transtextuality จึงเป็นไปเพื่อวิเคราะห์ว่าเรื่องราวชนิดเดียวกันเมื่อถูกผลิตภายในรูปแบบของสื่อที่ต่างกัน จะส่งผลให้ความหมายของสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มากน้อยแค่ไหน มีผลออกมาอย่างไร   
    งานวรรณกรรมเมื่อถูกนำไปเป็นละครหรือภาพยนตร์   ย่อมผ่านมุมมองและการตีความของผู้ผลิตงาน  เช่นผู้สร้าง  ผู้กำกับ คนเขียนบท  ซึ่งมีความแตกต่างกันจากการตีความของนักเขียนไม่มากก็น้อย   เกิดการดัดแปลงขึ้น   ทำให้ละครหรือภาพยนตร์นั้นแตกต่างไปจากวรรณกรรมดั้งเดิม   หลายเรื่องก็ประทับ "ลายเซ็น"(signature) ของผู้กำกับ (หรือผู้เขียนบท)  ไม่ใช่ "ลายเซ็น" ของนักเขียน 
    ดร.นัทธนัยยกตัวอย่างผลงานของหม่อมน้อย  ที่ไม่ว่าจะทำหนังเรื่องอะไร จะเห็นความเป็นหม่อมน้อยอยู่ในหนังเรื่องนั้น จนอาจเรียกได้ว่าหนังที่หม่อมน้อยกำกับ เป็น "ลายเซ็น"ของหม่อมน้อย    ไม่ใช่ "ลายเซ็น" ของผู้ประพันธ์งาน
     ข้อนี้ก็เป็นคำตอบข้อหนึ่ง ได้ว่า เหตุใดวรรณกรรมถูกดัดแปลงไปไม่เหมือนเดิม เมื่อเปลี่ยนรูปไปเป็นสื่อชนิดหนึ่ง
      วรรณกรรมบางเรื่องมีการผลิตหลายครั้ง  การตีความในแต่ละครั้งก็แตกต่างกันออกไป  ทำให้ตัวผลงานออกมาผิดแปลกแตกต่าง    ยิ่งตัววรรณกรรมบางเรื่องมีความซับซ้อน  การตีความก็ยิ่งหลากหลายเป็นเงาตามตัว   แล้วแต่ผู้ผลิตภาพยนตร์หรือละครจะมองกันออกมาแบบไหน
     ต่อไปขอพูดถึงเรื่อง การดัดแปลง
     ดร.นัทธนัยยกตัวอย่างเรื่อง "คู่กรรม" ของ "ทมยันตี" ซึ่งผลิตจากวรรณกรรมไปเป็นภาพยนตร์และละครน่าจะนับ ๑๐ ครั้งขึ้นไป    บางเรื่องก็ดำเนินรอยตามต้นฉบับหนังสือ  บางเรื่องก็ฉีกแนวออกไป  บรรดาที่ฉีกแนวนี้อาจเป็นได้ว่าต้องการสร้างนวัตกรรม ไม่ซ้ำแบบกับงานชิ้นก่อนๆที่คนดูจำได้ขึ้นใจแล้ว    จึงกลายเป็นเรื่องพ่อแง่แม่งอนของหนุ่มสาวบ้าง   เป็นเรื่องวัยรุ่นจีบกันบ้าง     แต่พวกที่ฉีกแนวนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักเรื่องเดียว
     ดิฉันฟังที่อาจารย์นัทธนัยบรรยาย พลางคิดตามไปว่าสาเหตุความไม่สำเร็จของการดัดแปลงวรรณกรรมที่ว่ามานี้  เป็นเพราะวรรณกรรมเรื่องนั้นๆมี "แก่นเรื่อง"ที่หนักแน่นชัดเจน   ตัวเนื้อเรื่องที่โอบล้อมแก่นเรื่องอยู่ดำเนินไปตาม "แก่น" ตรงใจกลาง     เมื่อเนื้อเรื่องถูกรื้อออกไปกลายเป็นเนื้อเรื่องใหม่    แก่นเรื่องกับเนื้อเรื่องก็ไม่ประสานกันอีกต่อไป ต่างเดินกันไปคนละทาง   ผลออกมาคือความล้มเหลว
      ดิฉันเห็นว่าแก่นเรื่องของคู่กรรม  เป็นแก่นเดียวกับโรมิโอและจูเลียตของเชกสเปียร์   และยังแก่นเดียวกับ ลิลิตพระลอ อีกด้วย    คือเป็นแก่นคลาสสิกของความรักอันเกิดบนความขัดแย้งรุนแรงจากภูมิหลังของทั้งสองฝ่าย จนประนีประนอมกันไม่ได้     แก่นแบบนี้จบด้วยโศกนาฏกรรมจะเข้ากันที่สุด  แต่ถ้าดัดแปลงเนื้อเรื่องให้กลายเป็นรักหวานวัยรุ่น ก็จะไปขัดกับแก่น    หรือถ้าดัดแปลงแก่น  ก็เท่ากับต้องเขียนเนื้อเรื่องใหม่ทั้งหมด 
     ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจ ที่ผู้อ่านจำนวนมาก ประทับใจกับแก่นเรื่องและเนื้อเรื่องของงานวรรณกรรม จึงไม่ยอมรับเมื่อมีการดัดแปลงจากงานวรรณกรรมในรูปแบบอื่นเช่นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์   ถ้าหากว่าดัดแปลงเฉพาะรายละเอียดก็อาจจะพอรับไหว    แต่ถ้าดัดแปลงเนื้อเรื่อง ที่ไปกระทบถึงแก่นเรื่องเข้าด้วย  ก็เห็นว่าเป็นคนละเรื่องกับงานชิ้นเดิม   
    เรื่องนี้จึงนำไปสู่ประเด็นอีกประเด็นหนึ่ง ว่าด้วยการเคารพบทประพันธ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 25 ธ.ค. 23, 11:55

    ดร.นัทธนัย พูดถึงทฤษฎีการดัดแปลง  (ดูได้จากภาพข้างล่างนี้)   ซึ่งเป็นผลจากตีความของคนที่นำวรรณกรรมไปเป็นละครและภาพยนตร์    ผลออกมาอาจไม่ตรงกับความคิดของนักประพันธ์ก็ได้   ก็เหมือนอ่านหนังสือเล่มเดียวกันแต่เห็นกันไปคนละทาง  เพราะความคิดและประสบการณ์ของแต่ละคนมีส่วนกำหนด 
     ฟังจากที่ดร.นัทธนัยบรรยาย    ดิฉันรู้สึกว่านักทฤษฎีการดัดแปลงให้อิสระการตีความเอาไว้มาก    ฟังๆเหมือนไม่มีถูกไม่มีผิดในการตีความ       แม้แต่นักเขียนเจ้าของวรรณกรรมเองก็ไม่อาจผูกขาดงานของตนเองได้ ว่าคนอ่านต้องคิดตรงกับเจ้าของงานจึงจะถูกต้อง   
      นักทฤษฎีการดัดแปลงถือว่า งานวรรณกรรมแต่ละช้ิ้นสามารถนำไปตีความ เพื่อนำไปสู่ผลตามมาคือการดัดแปลงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด    เพราะถือว่าตัวบท (text)ในวรรณกรรม ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออ่านและตีความ
ดังนั้น ตัวบทมิใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง   แต่สามารถแปรเปลี่ยนไปตามการตีความได้เสมอ  จะตึความยังไงแบบไหนก็ไม่มีข้อจำกัด 
     ถ้ามอง ในแง่นี้ ความสำคัญก็ไปตกอยู่ที่กระบวนการตีความตัวบท มากกว่าตัวบทเอง
     ฟังอาจารย์นัทธนัยบรรยายแล้วก็คิดตามไปด้วย   ได้ความคิดขึ้นมาหลายอย่าง    เพราะเรามักไม่รู้ตัวว่าเราคิดตาม "ขนบ" ตามที่ได้รับสั่งสอนหรืออบรมมาจนตายตัว     ถ้าคิดใหม่ตามนักทฤษฎีการดัดแปลงพวกนี้   อิเหนาก็ไม่ควรเป็นพระเอกอีกต่อไป   จรกามีโอกาสดีกว่าที่จะเป็นพระเอก   อย่างน้อยก็ไม่เคยทำให้นางเอกเดือดร้อน และไม่เคยประพฤติตัวเสียหายใดๆ   
     ในวรรณกรรม   " ปีศาจ" เจ้าคุณพ่อของรัชนีอาจถูกตีความใหม่ ให้เป็นคนที่น่าเห็นใจในหลายๆเรื่อง      เพราะเป็นเจ้าของบ้านที่อดทนฟังสาย สีมาผู้เป็นแขก กล่าวตำหนิติเตียนยาวหลายหน้ากระดาษได้โดยไม่ปริปากขัดคอ แล้วยังมีลูกสาวที่ไม่อยู่ในโอวาท เห็นคนอื่นดีกว่าพ่ออีกด้วย

     


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 25 ธ.ค. 23, 14:35

การบรรยายเชิงวิชาการ "การเดินทางข้ามสื่อของวรรณกรรม"

โดย รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมสนทนาโดย รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

ทฤษฎีการดัดแปลง เริ่มต้นนาทีที่ ๓๐.๓๕


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 26 ธ.ค. 23, 08:24

เรื่องยังไม่จบ

‘พรหมลิขิต’ดราม่า ‘ศัลยา’ เปรย ไม่นึกเลยว่าจะเกิดอย่างนี้ขึ้น
By กนกพร โชคจรัสกุล | กรุงเทพธุรกิจ  จุดประกาย25 ธ.ค. 2566 เวลา 18:49 น.

การโต้ตอบ อันเนื่องมาจากละครเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ ที่เพิ่งจบลงไป ก่อให้เกิดความสงสัยในความไม่สมบูรณ์ของละครว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้นได้
หลังจากตอนจบละคร พรหมลิขิต ภาคต่อ บุพเพสันนิวาส ได้ลาจอไป  เสียงสะท้อนของคนดูก็ดังขึ้นในโลกโซเชียล ส่วนใหญ่รู้สึกงุนงงกับตอนจบที่รวบรัดจนตามไม่ทัน บ้างก็ว่าตัวละครไม่เหมือนกับในนิยาย
และเล็งเป้ามาที่ผู้ผลิต ผู้จัด ผู้เขียนบท


วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ผู้เขียนบท ศัลยา สุขะนิวัตต์ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊ค Salaya Sukanivatt ว่า...

พรหมลิขิต 2566

ยกที่หนึ่ง
พรหมลิขิตตอนจบรวบรัดเกินไป
นิยายเขียนคำว่า ‘จบบริบูรณ์’ หลังจากฉากแต่งงานของพ่อริดเและพุดตาน
ต่อจากนั้นนิยายเขียนว่า ‘ตอนพิเศษ’ ความยาว 4 หน้าหนังสือ
ในเมื่อเป็นตอนพิเศษ
จึงไม่เพิ่มไม่ลดไม่เปลี่ยนแปลงใด ๆ
บทละครจึงเหมือนนิยายทุกประการ
คำว่ารวบรัดเกินไปจึงขอมอบให้ตอนพิเศษของนิยายเรื่องนี้

ยังมียกต่อ ๆ ไป
1) คาแรคเตอร์ของพ่อริด เรื่องนี้ต้องพูดกันยาว
2) คาแรคเตอร์คนอื่นๆ : ไม่เหมือนนิยายแน่หรือ
3) ตัวละครหาย : คนเขียนบทหรือนิยายกันแน่ที่ทิ้งตัวละคร
4) เหตุการณ์พุดตานถวายตัวที่ไม่มีในนิยาย : ทำไม
5) บทอาฆาตแค้นของจันทราวดีต่ออทิตยาที่หายไป : เพราะอะไร
6) ศรีปราชญ์ : ตัวละครเจ้ากรรมตั้งแต่บุพเพสันนิวาส : มีและไม่มีเพราะอะไร
7) การเคารพบทประพันธ์และการเคารพวิถีการเขียนบทละคร: ศาสตร์ที่แตกต่างกัน
เจ๋ง บทละครเหมือนนิยาย หรือต่อยอดจากนิยาย เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ : ต้องคำนวณ
9) การวิพากษ์วิจารณ์รวบยอดที่รุนแรงและไม่เป็นวัตถุวิสัย
ฯลฯ

ที่สำคัญ นักเขียนนิยายเรื่องพรหมลิขิต รอมแพง หรือ Janyavee Sompreeda ได้มาโพสต์ตอบในข้อความของโพสต์นี้ว่า

อุ้ยต้องกราบขอโทษป้าแดงด้วยนะคะ ที่นิยายของอุ้ยมีความผิดพลาดขาดพร่องจนทำให้ป้าแดงทำงานยาก และต้องดัดแปลงจนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขนาดนี้ รวมไปถึงความอ่อนด้อยในการตอบคำถามของพิธีกรและนักข่าวก็ยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับทีมละคร เป็นความผิดของอุ้ยเองค่ะ
กราบขออภัยเป็นอย่างสูงค่ะ
อุ้ย รอมแพง

ซึ่งก่อนหน้านั้น รอมแพง ได้ไปออกรายการหนึ่ง และกล่าวถึงละครพรหมลิขิตที่กำลังออกอากาศว่า มีบางส่วนไม่เหมือนในนิยาย

ล่าสุด วันที่ 24 ธันวาคม 2566 อาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตต์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังละครพรหมลิขิตจบลงว่า... ไม่นึกเลยว่าจะเกิดอย่างนี้ขึ้น

"ละครคือผลรวมของนิยายกับละคร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราทำละครจากนิยายเป็นส่วนใหญ่ มันเป็นการหลอมรวมกันกับสองเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นสองเรื่องนี้จะมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของมัน มันจะดีจะเลว ไม่ได้ว่ามันจะดีหมด มันจะเลวหมด ก็ต้องร่วมกัน
เมื่อรู้สึกว่าส่วนหนึ่งมันไม่ดีสมใจก็แสดงความรู้สึกนั้น ซึ่งมันทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ทำอยู่ด้วยกัน รู้สึกเฟลมาก เสียความรู้สึกมาก จริง ๆ มันต้องร่วมกัน ถ้าจะไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นไปได้
ไม่ได้หมายความว่างานชิ้นหนึ่งจะถ่ายทอดไปสู่อีกสื่อหนึ่ง มันอาจจะไม่สมบูรณ์ มันอาจจะมีรอยแผล มันอาจจะมีอะไรบ้าง มีสิทธิ์ที่จะรู้สึก ก็มาคุยกันสิ
เราทำงานอยู่ด้วยกัน เราร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ใช่ไปบอกกับคนนั้นคนนี้ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยได้เจอ เพราะทำงานกับคุณโบตั๋นก็เป็นมิตรกันรักกัน ทำกับนักเขียนใหญ่มาตั้งกี่คน
ไม่ว่าจะเป็นคุณทมยันตี คุณกฤษณา อโศกสิน คุณวินิตา ดิถียนต์ อาจารย์ศรีฟ้า ลดาวัลย์ คุณกิ่งฉัตร ปิยะพร ก็ไม่เคยเจออย่างนี้
เราเคยมีแต่ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ถ้าเกิดอะไรขึ้น ผิดพลาดบกพร่องไป ก็คุยกัน ด้วยความรักต่อกัน ด้วยไมตรีจิต มิตรภาพต่อกัน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะก่อให้เกิดอะไรที่ดี ๆ เป็นความรู้สึกที่ดี
ไม่นึกเลยว่าจะเกิดอย่างนี้ขึ้น แล้วไม่ใช่ว่าเราไม่เคยทำงานกับนักประพันธ์คนนี้ เราทำมาแล้ว แล้วมันไม่ใช่สิ่งปกติด้วย มันเป็นปรากฎการณ์ด้วย
แล้วทำไมถึงยังไม่พอใจ มาทำอย่างนี้ออกสื่อ ต้องบอกว่าไม่ถูกอย่างยิ่ง ไม่นึกเลยว่าจะทำ ทำให้เกิดความงงงวย ไม่เข้าใจ
เราทำงานกันคนละส่วนอยู่แล้ว เราก็ทำหน้าที่เรา ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง อยากจะบอกว่างานทั้งสองชิ้น (บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต) มันเป็นงานหนัก งานเหนื่อย
คนเป็นร้อยต้องทุ่มเททำอันนี้ ตั้งแต่เตรียมงาน จัดงาน นักแสดง ทีมเสื้อผ้าต่าง ๆ ทีมฉาก ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นงานหนักงานใหญ่ เราทำเต็มที่ เราทำสุด เพื่อให้มันดีทั้งหมด
แม้ว่าข้างในมันจะมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง แต่ภาพรวมเราต้องยอมรับว่า นี่คืองานที่มีการทุ่มเทออกไปเต็มร้อย
แต่พอเจออย่างนี้มันอึ้ง มันไม่ถูกแล้ว การที่นักประพันธ์ออกมาพูดเองนี่ เสียงตอบรับที่เห็นด้วยกับนักประพันธ์มันดั่งสนั่น เขาสมควรที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นหรือ
แล้วสิ่งที่คุณรอมแพงขอโทษ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาควรจะพูดตรงนั้น เขาพูดว่า เสียใจ ขอโทษที่นิยายทำให้ทำละครดีไม่ได้ ไม่ใช่ มันผิดประเด็น มันเบี่ยงประเด็น มันบิดประเด็น ชนิดที่น่าประหลาดใจ น่าอัศจรรย์ใจ
เขาไม่ได้มองว่านิยายคุณไม่ดีแล้วมาทำละครไม่ดี ไม่ใช่ สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ นักประพันธ์ออกมาบ่นว่าละครนู่นนี่ ขาดตรงนั้น ขาดตรงนี้ ไม่ทำตรงนั้น ไม่ทำตรงนี้
เสียหายตรงนั้น เสียหายตรงนี้ บกพร่องตรงนั้น บกพร่องตรงนี้ เราไม่อยากให้เกิดอย่างนั้น มันฉีกพันธะที่เรามีต่อกันออกไป ทำให้มันเกิดรอยแผล รอยกว้างห่างออกไป"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 26 ธ.ค. 23, 12:35

ยกที่ ๓ ของคุณศัลยา

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ อาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตต์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังละครพรหมลิขิตจบลงว่า... ไม่นึกเลยว่าจะเกิดอย่างนี้ขึ้น

….แต่พอเจออย่างนี้มันอึ้ง มันไม่ถูกแล้ว การที่นักประพันธ์ออกมาพูดเองนี่ เสียงตอบรับที่เห็นด้วยกับนักประพันธ์มันดั่งสนั่น เขาสมควรที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นหรือ

แล้วสิ่งที่คุณรอมแพงขอโทษ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาควรจะพูดตรงนั้น เขาพูดว่า เสียใจ ขอโทษที่นิยายทำให้ทำละครดีไม่ได้ ไม่ใช่ มันผิดประเด็น มันเบี่ยงประเด็น มันบิดประเด็น ชนิดที่น่าประหลาดใจ น่าอัศจรรย์ใจ….

แท้จริงเริ่มมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ แล้ว ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 13:35

ยกที่ ๓ ๑/๒ คุณศัลยา วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ พร้อมกองเชียร์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 14:08

ทั้งอาจารย์ศัลยาและคุณรอมแพงก็ไม่ได้โพสอะไรเพิ่มเติมแล้ว    น่าจะจบกันแค่นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 21 ม.ค. 24, 09:35

ยกส่งท้าย คุณศัลยาได้ตอบบางคำถามที่กล่าวไว้ในยกที่ ๑

1)คาแรคเตอร์ของพ่อริด เรื่องนี้ต้องพูดกันยาว
2) คาแรคเตอร์คนอื่นๆ : ไม่เหมือนนิยายแน่หรือ
3) ตัวละครหาย : คนเขียนบทหรือนิยายกันแน่ที่ทิ้งตัวละคร
4) เหตุการณ์พุดตานถวายตัวที่ไม่มีในนิยาย : ทำไม

จากบทสัมภาษณ์ “ศัลยา สุขะนิวัตติ์” เผยเบื้องหลังบทละคร “พรหมลิขิต” โดย กันตพงศ์ ก้อนนาค วันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗

https://www.silpa-mag.com/culture/article_124336

(๑) คาแรคเตอร์ของหมื่นริด

พ่อเดช กับ หมื่นริด จะมีคาแรคเตอร์เหมือนกันไม่ได้ เพราะตัวละครประจันหน้ากันอยู่ตลอดเวลา เวลาอยู่กับนางเอกพุดตาน มันก็ต้องคนละแบบ จะเหมือนพ่อเดชก็ไม่ได้ ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่ให้หมื่นริดมองพุดตานเหมือนที่พ่อเดชมองเกศสุรางค์ อันนี้คือข้อแรก

ข้อที่สองครูวิเคราะห์ตัวละครหมื่นริดเพื่อที่จะออกแบบคาแรคเตอร์ตัวละครตัวนี้มีเขียนไว้ในนวนิยายอยู่สองสามที่ว่าเป็นคนขี้งอน เป็นคนที่ค่อนข้างหงุดหงิด มีความผันผวนทางอารมณ์พอสมควร ครูวิเคราะห์ว่าเพราะเป็นลูกชายที่พ่อแม่ตามใจ หรือก็เป็นลูกชายที่แม่เลี้ยงมาอย่างเปิดโอกาสให้แสดงความคิดอ่านได้ เพราะเกศสุรางค์เป็นคนสมัยใหม่ลูกบ้านนี้ก็ค่อนข้างเปิดกว้าง

ถ้าสังเกตตัวละครหมื่นริดทำงานเก่งเวลาขุนหลวงถามอะไร เขาจะเป็นคนออกหน้าเจรจาความออกความเห็น อย่างไรก็ตาม หมื่นริดเป็นคนอายุแค่ยี่สิบเป็นหนุ่มน้อย ไม่ประสีประสาเรื่องผู้หญิง ไม่มีว่าเคยชอบพอหรือกรุ้มกริ่มกับแม่หญิงคนใดเลย พอหมื่นริดมาเจอพุดตานหญิงสมัยใหม่ก็หวั่นไหวบ้างสิ ผู้ชายโบราณเกิดความหวั่นไหวกับผู้หญิงจริตแบบนี้ เพราะไม่เคยพบเจอ

ส่วนหมื่นริดที่ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนแอ ขี้ขลาด ไม่ทำอะไร ยอมเสียพุดตานให้ขุนหลวงง่าย ๆ คนวิจารณ์คือคนสมัย พ.ศ. ๒๕๖๖ แต่หมื่นริด…มหาดเล็กในพระองค์ขุนหลวงท้ายสระของแผ่นดินอยุธยาสามร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่ครูกำลังสวมบทบาทของเขาอยู่ เขาไม่มีวันฝืนขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่มีวันคัดค้าน ไม่มีวันต่อต้านแย่งชิง

ขุนหลวงรับสั่งว่าทำไมเอ็งไม่บอก ข้ารักเอ็งเหมือนน้องชาย มีหรือจะทำร้ายจิตใจเอ็ง แต่ในมุมหมื่นริด การที่ขุนหลวงรักเหมือนน้องชายนี้แหละ ทำให้หมื่นริดไม่มีวันพูดคำอื่นนอกจากคำว่า "ถ้าทรงโปรดก็จักถวาย" ขณะนั้นครูเห็นหมื่นริด ดังนั้น ครูก็พูดเป็นอื่นไม่ได้เหมือนกัน

(๒) คาแรคเตอร์ของแม่กลิ่น ไม่เหมือนในนิยาย ?

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากแม่กลิ่นมาจากนวนิยาย เริ่มจากแม่กลิ่นไปทำลายแปลงผัก แม่กลิ่นขโมยสร้อย แม่กลิ่นไปราวีตอนพุดตานไปจับปลา ไดอะล็อกของแม่กลิ่นเป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากนวนิยาย มีคนดูละครที่คิดว่าแม่กลิ่นน่าจะร้ายกับพุดตานคนเดียว มันไม่น่าจะร้ายกับคนอื่นด้วย

แต่ครูไม่เห็นว่านวนิยายเขียนถึงแม่กลิ่นทำดีกับบ่าวคนใดก็ตาม หรือดีแบบวิถีไหน ครูไม่เห็น ครูก็เขียนต่อยอดมาจากไดอะล็อกที่แม่กลิ่นพูดกับบ่าว…ที่แรง ๆ ก็มี แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้แม่กลิ่นมีนิสัยอย่างนั้น คุณต้องให้วิถีของการเขียนบทละครโทรทัศน์ทำงานบ้าง คือในละครเรื่องหนึ่งเมื่อมีคนดีประเสริฐ ก็ต้องมีคนไม่ดี เพื่อให้เกิดความขัดแย้งอันเป็นตัวกำหนดความสนุกของละคร คนไม่ดีคือแม่กลิ่น ไม่ใช่ตัวละครที่สร้างใหม่ตามใจชอบ แต่มีอยู่แล้ว นิสัยไม่ดีก็เป็นอยู่แล้ว ถ้าดูแอร์ไทม์ของแม่กลิ่นไม่มากมายสมกับแคสติ้งได้แม่กลิ่นคนนี้มาเล่น ครูต้องรับผิดชอบเขียนบทให้

แม่กลิ่นก็เป็นตัวละครหนึ่งที่เราเขียนให้มีบริบทแบบนั้น เมื่อยายกุย (ยายซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของแม่กลิ่น) เห็นคนอื่นดีกว่า ไปเข้าข้างคนอื่น มาพูดจาไม่ดีกับเราซึ่งเป็นหลานจึงเกิดอารมณ์เสีย แต่ก็เป็นไปได้ที่ครูเขียนตัวละครแม่กลิ่นซีกเดียวจนเกินไป อาจไม่มีซีกอื่นที่ทำให้ตัวละครตัวนี้มีความกลมขึ้นมา เป็นความผิดพลาดของครู
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 21 ม.ค. 24, 09:35

(๓) ตัวละครหาย : คนเขียนบทหรือนิยายกันแน่ที่ทิ้งตัวละคร

ตามนวนิยายช่วงกลางเรื่องถึงท้ายเรื่องแม่กลิ่นหายไปเลย จนกระทั่งตอนใกล้จบจึงมีเรื่องจมน้ำกับพุดตาน เมื่อรู้ความจริงก็รู้สึกผิด ปรับทุกข์กับนางเอก จบฉากยายกุยกับแม่กลิ่นตรงที่มาแสดงความยินดีกับนางเอกที่จะได้ถวายตัว ซึ่งอยู่ในตอนใกล้จบ ส่วนเรื่องยายกุยเจอเทวดาว่าให้เลี้ยงลูกเทวดา และเทวดาตอบแทนให้ร่ำรวยในนวนิยายไม่มีเป็นเรื่องเป็นราวรูปธรรม และไม่ได้เขียนบทสรุปให้จบอย่างสมบูรณ์ ส่วนนี้ครูไม่ได้เขียนเหมือนกัน

(๔) เหตุการณ์พุดตานถวายตัวที่ไม่มีในนิยาย : ทำไม

สองปมในละครคือ เมียพระราชทานและพุดตานถวายตัว ครูต้องสร้างปมตรงนี้ขึ้นมาให้ละคร ไม่เช่นนั้นละครจะเรียบร้อย ตัวละครเอกไม่มีอุปสรรค ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีอะไรให้เอาใจช่วย ครูไม่ได้บิดเบี้ยวนวนิยายหรือทำผิดกฎระเบียบกฎมณเฑียรบาล ทุกอย่างอยู่ในกรอบที่สามารถทำได้ ครูคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะสร้างปมอะไรดี เมื่อวางปมไปแล้วต้องแก้ปม

ตอนครูทำ ทีมผู้ผลิตถามตลอดว่า "แก้ปัญหายังไงเรื่องใหญ่นะเนี่ย ขุนหลวงจะเอาพุดตานไปอยู่แล้ว" ทีมผู้ผลิตว้าวุ่นเลยแหละ การหาทางออกปมถวายตัวนี้เป็นไปตามตามคาแรคเตอร์ของตัวละคร ขุนหลวงท้ายสระ เราพบข้อมูลว่าท่านเป็นคนเรียบง่าย รักสงบ คาแรคเตอร์จริง ๆ ในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้ชัดเจนนัก แต่ในบริบทของละคร ขุนหลวงพบกับพุดตานคุยกัน และออกโอษฐ์ว่าเพลิดเพลินกับการสนทนา ดังนั้น ปมถวายตัวจึงคลี่คลายได้ เพราะขุนหลวงฟังพุดตาน และเข้าใจเหตุผล กล่าวได้ว่า คาแรคเตอร์ของทั้งสองคน ทำให้เกิดปมและเป็นตัวคลี่คลายปมถวายตัวนั่นเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง