เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 3768 ว่าด้วย "พรหมลิขิต" (ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ)
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 22 ต.ค. 23, 18:35

แต่สงสัยในความไม่มีกาละเทศะของนางเอกที่ถามเรื่องพระนารายณ์ถูกวางยาพิษกลางเรือนและมีบ่าวไพร่นั่งหูผึ่งหน้าสลอน ซึ่งบ่าวไพร่ก็ต้องพูดปากต่อปากจนสะพัดไปทั้งเมือง สักวันก็ต้องเข้าหูพระเพทราชา ไม่กลัวพี่หมื่นโดนฟันคอริบเรือนหรือไร

จริง ๆ ก็ไม่สมควรถามต่อหน้าบ่าวไพร่ ถามกันส่วนตัวจะดีกว่า แต่จากในเรื่องดูเหมือนข่าวขุนหลวงถูกวางยาจะเป็นข่าวลือเรียบร้อยแล้วในกรุง ยายปริกก็นำมาประกาศให้เพื่อน ๆ บ่าวไพร่ทราบอีกทีหนึ่ง

ฉากตอนนี้ทำให้เบาลงด้วยนำการเมืองมาแกล้มด้วยการบ้าน ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 22 ต.ค. 23, 19:35

คำตอบต่อคำถามของยายปริก และ การะเกด (เกศสุรางค์) อาจอยู่ในคำให้การของ "ออกขุนโรจน์"

"แถลงการณ์" ของ ฌอง รีวาล (Déclaration de Jean Rival) ชาวฝรั่งเศส อดีตเจ้าเมืองบางคลีและตะกั่วทุ่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๙๑ (พ.ศ. ๒๒๓๓)  กล่าวถึงแผนการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ที่อ้างว่ามาจากปากคำของ "ออกขุนโรจน์" (Ocounrot) ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ให้การแก่รีวาลเมื่อวันที่ 1ฝ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๖๘๘ หลังสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ๑ สัปดาห์ (มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ไมเคิล สมิทธีส์ (Michael Smithies) และติพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ ‘Witnesses to a Revolution: Siam 1688’)

"แถลงการณ์" อ้างคำให้การของ "ออกขุนโรจน์" ระบุว่า ดาเนียล บร็อชบูร์ด (Daniel Brochebourde) ศัลยแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศส ลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) เป็นผู้ผสมยาพิษในพระโอสถที่นำขึ้นถวายสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีส่วนเร่งให้พระองค์สวรรคตเร็วขึ้น

"The king died at the same time. We have definite information that the Dutch were heavily involved in these revolutions, particularly a certain Daniel in their lodge, a native of Sedan, and surgeon by profession, a convinced heretic and disclosed enemy of the catholic religion and the French. It is also held by the same source for which there are testimonies that poison was added to a potion given to the king, which greatly hastened his death."

(พระมหากษัตริย์สวรรคตในเวลาเดียวกัน เรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่า พวกดัตช์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการปฏิวัตินี้ โดยเฉพาะนายดาเนียล ศัลยแพทย์ชาวเมืองเซดาน ผู้ประพฤตินอกรีตและศัตรูอย่างเปิดเผยต่อศาสนาคาทอลิกและชาวฝรั่งเศส แหล่งข่าวเดียวกันนี้ยังระบุว่ามีคำให้การว่าได้มีการผสมยาพิษลงในพระโอสถที่ถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนเร่งให้สวรรคตอย่างมาก)

หลักฐานชิ้นนี้ยังอ้างว่ามีการสมคบคิดร่วมกันระหว่าง ออกพระเพทราชา ออกหลวงสุรศักดิ์ ออกหมื่นเสมอใจ (Omvn ‘Cymoun chaya’)  โยฮันเนส เคยทส์ หัวหน้าสถานีการค้าของดัตช์ในสยาม รวมถึงดาเนียล วางแผนการยึดอำนาจและลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ โดยมีเคยทส์เป็นต้นคิด และดาเนียลเป็นผู้จัดเตรียมยาพิษถวาย  

"The said Ok-khun Rot declared and told us what follows,  that the 10th lunar day of the month of January in the year 1688, being in Luovo in the house of Ok-pra Pechracha, the Dutch captain and Daniel Moculuan came at night to the house of Ok-pra Pechracha and locked themselves in a room together, making me stay in the room near the door, and Ok-luang Sarasy, son of Ok-pra Pechracha asked the Dutch captain, ‘How are we going to undertake this affair?’ The Dutch captain replied to Daniel who served as his interpreter, ‘You must administer a slow poison to the king, and Daniel will prepare it, and Ok-muen Sri Muen Chaya, who is ever about the king, will give it to the king,"

(ออกขุนโรจน์ผู้นี้แถลงต่อพวกเราดังต่อไปนี้ ในวันที่ ๑๐ เดือนมกราคมของปี ๑๖๘๘ ขณะอยู่ที่ละโว้ ณ เรือนของออกพระเพทราชา กัปตันชาวดัตช์ [เคยทส์] และหมอหลวงดาเนียลได้มาที่เรือนของออกพระเพทราชาเวลากลางคืน และขังตนเองประชุมกันในห้อง โดยให้ข้าพเจ้าอยู่ในห้องใกล้ประตู และออกหลวงสุรศักดิ์ บุตรชายออกพระเพทราชาถามกัปตันชาวดัตช์ว่า ‘เราจะดำเนินการนี้เช่นไร’ กัปตันชาวดัตช์ตอบผ่านดาเนียล ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามของเขาว่า ‘ท่านต้องประกอบยาพิษที่ออกฤทธิ์ช้าถวายพระเจ้าอยู่หัว โดยดาเนียลจะจัดเตรียมให้ และออกหมื่นเสมอใจที่เฝ้าอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอจะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย…’)

"...and when the king will be under its influence, Ok-meun Sri Meun Chaya must give you the king’s seal. Above all, if Ok-pra Vitticamheng brings medicines to give to the king, Ok-meun Sri Meun Chaya must not give them to the king, only those which Daniel would give to him, so long as he could prevent Ok-pra Vitticamheng approaching the king"

(และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงตกอยู่ภายใต้พิษยา ออกหมื่นเสมอใจต้องนำพระราชลัญจกรมามอบให้ท่าน เหนือสิ่งอื่นใด หากออกพระฤทธิกำแหง [ฟอลคอน] นำพระโอสถมาถวาย ออกหมื่นเสมอใจจะต้องไม่นำขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว ถวายเฉพาะที่ดาเนียลจัดให้ และต้องขัดขวางไม่ให้ออกพระฤทธิกำแหงได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว)

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแผนการอีกหลายประการ เช่น การลอบโจมตีกองทหารฝรั่งเศส การกำจัดออกพระปีย์พระราชโอรสบุญธรรม ออกพระฤทธิคำแหง และพระอนุชาทั้งสอง รวมถึงสังหารชาวต่างประเทศได้แก่ชาวฝรั่งเศสและโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุทธยา กับชาวมลายูและชาวมัวร์ที่บางกอกทั้งหมด รวมถึงอ้างคำสัญญาของผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวียว่าจะส่งเรือสองลำ กระสุนปืน และกองทหารเข้ามาเทียบท่าที่ปากน้ำในเดือนกันยายน

เมื่อต้น ค.ศ. ๑๖๘๙ เวเรต์ได้เขียนจดหมายถึง โคล้ด เซเบเรต์ (Claude Céberet) ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๗ โดยอ้างไว้ทำนองเดียวกันว่า ออกพระเพทราชา "ได้มีส่วนช่วยเหลือเล็กน้อยให้พระเจ้ากรุงสยามสวรรคต" โดยได้รับความช่วยเหลือจาก "ที่ปรึกษาชาวดัตช์ผู้เป็นที่รัก" ที่ให้การสนับสนุนด้วยการมอบ ทหารปืนใหญ่  ปืนใหญ่ ๑๘ กระบอก รวมถึงสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ทราบแน่ชัดอีก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานอื่นยืนยันว่าคำให้การของออกขุนโรจน์นั้นเป็นความจริงทั้งหมด และไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ามีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวทั้งหมด  เพราะเมื่อเกิดการปฏิวัติแล้วก็ไม่ได้มีการสังหารหมู่ชาวต่างประเทศ หรือมีการส่งเรือของดัตช์มาที่ปากน้ำแต่ประการใด   นอกจากนี้พิจารณาจากท่าทีของฝรั่งเศสที่เป็นศัตรูกับดัตช์ในเวลานั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เรื่องดังกล่าวอาจเป็นเพียงข่าวลือหรือมีการใส่ร้ายป้ายสีกันได้ในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติครั้งนั้น

จาก วิพากย์ประวัติศาสตร์ โดย คุณศรีสรรเพชญ์
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 24 ต.ค. 23, 08:21

หมอแดเนียล รักษาทุกโรค ผู้มีชื่อเสีย นั่นเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 24 ต.ค. 23, 11:50

   อย่่างน้อยก็รู้กันว่าการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ มีเงื่อนงำให้สงสัยได้ว่าผิดปกติ    แต่จะสวรรคตไปเองตามอาการของโรค หรือโดนวางยาพิษ  ก็คงยังยืนยันกันไม่ได้อยู่ดี
บันทึกการเข้า
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 25 ต.ค. 23, 19:09

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 25 ต.ค. 23, 20:58

หมอแดเนียล แกดังมาตั้งแต่คดีท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แล้วครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 26 ต.ค. 23, 09:35

ว่าด้วยเรื่องพันท้ายนรสิงห์

ในพรหมลิขิตตอนที่ ๓ พุดตานรู้สึกงงงันเป็นอย่างยิ่ง ที่บุคคลในประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าเสือซึ่งเคยเล่าเรียน ไม่มีใครรู้จักเสียอย่างนั้น

ตั้งแต่นาทีที่ ๓.๑๐



ข้อเท็จจริงคือ หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงพันท้ายนรสิงห์ คือ "พระราชนิพนธ์พงศาวดารกรุงสยาม" (ตีพิมพ์ในชื่อ 'พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม') ซึ่งมีบานแพนกระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกใน พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยเป็นหนึ่งในความพิสดารหลายเรื่องที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นในพงศาวดารฉบับนี้  ไม่ปรากฏในพงศาวดารที่มีอายุเก่าแก่กว่าหรือในหลักฐานอื่น ๆ ส่วนพงศาวดารฉบับอื่นที่ชำระหลังจากนี้บันทึกเรื่องพันท้ายนรสิงห์ไม่แตกต่างกัน



เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์น่าจะเป็นเพียงตำนาน ซึ่งมาปรากฏในพงศาวดารในรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุผลบางประการ ดังที่อาจารย์สุเนตรให้ความเห็นไว้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 26 ต.ค. 23, 10:06

การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 1   รวมถึงการค้นคว้ารวบรวมประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาขึ้นมาใหม่   หลังจากของเก่าสูญหายไปเกือบหมดเมื่อครั้งเสียกรุง   ส่วนที่เหลือรอดมาได้ตามวัดวาอาราม หรือมีเจ้าของเชลยศักดิ์ (แปลว่าเอกชน) ก็ถูกนำมาชำระ รวบรวมไว้ด้วยกัน 
ทั้งนี้ รวมทั้งเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากจากท้องถิ่นด้วย
เรียกว่าผู้ก่อตั้งอาณาจักรใหม่รวบรวมเรื่องในอดีตทั้งหมดเท่าที่จะหาได้   มาเป็นหลักฐาน   ท่านไม่ได้เลือกหลักฐานชั้นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ อย่างตำราฝรั่ง  และไม่ได้แยกคติชาวบ้าน(folklore) ออกจากประวัติศาสตร์
ดังนั้นตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในพงศาวดาร จึงถูกผนวกเข้ามาหลายรายด้วยกัน  พันท้ายนรสิงห์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น 
ส่วนแม่นวล นางเอกของพันท้ายนรสิงห์ เพิ่งมาถือกำเนิดเมื่อปี 2488 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อนิพนธ์บทละครเวที "พันท้ายนรสิงห์"

ดิฉันเห็นต่างจากดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์นิดหน่อย คือไม่ได้คิดว่าเรื่องพันท้ายนรสิงห์ถูกใครก็ตามที่ใส่เรื่องนี้เข้าไปในพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม แต่งขึ้นเพื่อตำหนิติเตียนกษัตริย์อยุธยา    แต่คิดว่าพันท้ายนรสิงห์เป็นตำนานพื้นบ้านเล่าสืบต่อๆกันมา ในท้องถิ่นจ.อ่างทอง    ในรัชกาลที่ 1  บรรดานักปราชญ๋ราชบัณฑิตที่ไปสืบเสาะหาเรื่องเก่าๆจากชาวบ้านนำมาถวายเจ้านาย   ได้เก็บตำนานเรื่องนี้มาด้วย    ในเมื่อเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของกษัตริย์อย่างขุนหลวงสรศักดิ์    จึงได้ถูกบันทึกลงเป็นพงศาวดาร     เพราะในสมัยโบราณ เราไม่ได้แยกตำนานออกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว 
ดังนั้นพันท้ายนรสิงห์จึงกลายเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์  ส่วนพระเจ้าเสือ เป็นหนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ถูกประณามว่าก่อเรื่องราวแย่งชิงราชบัลลังก์กันไม่ได้หยุด จนนำไปสู่การเสียกรุง  เมื่อมีพฤติกรรมอย่างในเรื่อง  จึงไม่ได้รับการเกรงใจจากผู้บันทึก   พันท้ายนรสิงห์ก็เลยกล่าวตักเตือนพระเจ้าแผ่นดินได้แบบไม่กลัวหัวขาดเจ็ดชั่วโคตร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 26 ต.ค. 23, 10:19

บุคคลในตำนาน อย่างพันท้ายนรสิงห์ นายขนมต้ม ศรีปราชญ์  นางสาวบุญเหลือ ฯลฯ มักจะถูกรวมไปกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์   ยิ่งมีการต่อเติมมากเท่าใดก็ยิ่งดูจริงจังมากขึ้นเท่านั้น   
   ส่วนทางยุโรป มีบุคคลในตำนานแบบนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน  แต่เขาแยกออกจากบุคคลตัวจนจริงในประวัติศาสตร์   มักปรากฏในหนัง ละคร นิทานเด็ก  นวนิยาย มากกว่า เช่นพระเจ้าอาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม   โรบินฮู้ด  โฮเมอร์(ผู้แต่งมหากาพย์อีเลียดกับโอดิสซี) เคานต์แดรกคูล่า   บางคนมีพื้นฐานมาจากตัวจริง เช่นโรบินฮู้ด  แต่แต่งเติมเสริมต่อเสียตัวจริงกลายเป็นคนละคนกับตัวในตำนาน
บันทึกการเข้า
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 ต.ค. 23, 21:57

จดหมายของมองเซนเยอร์ เดอ ซีเซ ถึงมองซิเออร์เฮแบต์ เจ้าเมืองปอนดิเชอร์รี (พ.ศ.2257) ระบุว่า พระเจ้าท้ายสระทรงไว้วางพระทัยออกญาโกษาธิบดี (จีน) มาก และมอบหมายราชการงานเมืองให้โกษาจีนดูแล

- จดหมายของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ จากประชุมพงศาวดารภาคที่ 37 -


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 01 พ.ย. 23, 10:35

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ อิทธิพลของชาวจีนสูงมากยิ่งกว่าในสมัยพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ มีพระคลังชาวจีนที่ปรากฏเรียกในพระราชพงศาวดารว่า "พระยาโกษาธิบดีจีน" หรือ "พระยาโกษาจีน" (สันนิษฐานว่าอาจเป็นคนเดียวกับออกญาสมบัติบาลในรัชกาลพระเจ้าเสือ) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในราชสำนัก และเป็นที่โปรดปรานของทั้งพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ

มีการสันนิษฐานว่า "พระยาโกษาธิบดีจีน" ผู้นี้เป็นชาวฮกเกี้ยน (福建 ฝูเจี้ยน) ทางตอนใต้ของจีน เนื่องจากถูกกล่าวถึงในบันทึกรายวันที่ฟอร์ตเซนต์จอร์จ (Fort St. George) เมืองมัทราส (Madras) ในอินเดียว่า มีญาติเป็นขุนนางเมืองเอ้หมึง (廈門 เซี่ยเหมิน) ในมณฑลฮกเกี้ยน  ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานว่า ไต้ก๋ง หรือนายสำเภาของสยามมักเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนจากเอ้หมึง

มีคนสงสัยเยอะว่าทำไมคนจีนในละครพรหมลิขิตถึงยังไว้ผมมวยแบบชาวฮั่นสมัยราชวงศ์หมิง เพราะรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระเป็นยุคราชวงศ์ชิงแล้ว จึงน่าจะโกนผมไว้เปียแบบแมนจูมากกว่า

ความจริงมีหลักฐานว่าชาวจีนโพ้นทะเลช่วงต้นราชวงศ์ชิงยังมีการไว้ผมมวยอยู่  เพราะชาวฮั่นจำนวนมากหนีแมนจูออกจากแผ่นดินใหญ่เพราะไม่ยอมตัดผมเพราะผิดหลักความกตัญญูตามจารีตขงจื่อ  แล้วมาตั้งรกรากที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

จีนโพ้นทะเลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจราชวงศ์ชิง จึงไม่มีความจำเป็นต้องโกนผมไว้เปียแบบต้าชิง ยังสามารถไว้ผมแต่งกายตามแบบฮั่นได้

ข้อมูลจาก  วิพากษ์ประวัติศาสตร์ โดย คุณศรีสรรเพชญ์

[๑) โกษาธิบดีจีนและอิทธิพลชาวจีนในรัชกาลพระเพทราชาถึงพระเจ้าท้ายสระ
(๒) เปีย หรือ มวย ทรงผมและการแต่งกายของชาวจีนในสยามช่วงต้นราชวงศ์ชิง

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 01 พ.ย. 23, 12:04

           การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าท้ายสระ จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554 (ปวัตร์ นวะมะรัตน) ระบุว่า
           สมเด็จพระเจ้าเสือ เกิดมีเหตุขัดเคืองพระราชหฤทัยกับ เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรส ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า
จึงตรัสมอบราชสมบัติให้กับ เจ้าฟ้าพร พระราชโอรสอีกองค์หนึ่ง แต่พอสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรกลับถวายราชสมบัติคืนให้
กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม
          (ต่อมาเมื่อผลัดแผ่นดิน ก็เกิดเหตุเจ้าฟ้าพรชิงราชสมบัติกับโอรสองค์รองของพระเจ้าท้ายสระ
           https://www.silpa-mag.com/history/article_119931)        


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 01 พ.ย. 23, 12:35

สมเด็จพระเจ้าเสือ เกิดมีเหตุขัดเคืองพระราชหฤทัยกับ เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรส ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า จึงตรัสมอบราชสมบัติให้กับ เจ้าฟ้าพร พระราชโอรสอีกองค์หนึ่ง แต่พอสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรกลับถวายราชสมบัติคืนให้กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม

สามหนุ่มอยุธยาคุยกันเรื่องเจ้านาย นาทีที่ ๑.๔๐-๓.๓๐



เรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารของไทยฉบับใดเลย หลายฉบับยังระบุตรงกันว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือประชวรนักจวนจะสวรรคต "จึ่งทรงพระกรรุณาโปรฎมอบเวรราชสมบัด  ให้แก่สมเดจ์พระเจ้าลูกเธ่อกรมพระราชวังบวรสถารมงคล" คือยกราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

แต่เรื่องนี้ปรากฏในหลักฐานต่างประเทศคือ "Histoire Civile Et Naturelle Du Royaume De Siam: Et Des Révolutions Qui Ont Bouleversé Cet Empire Jusquén 1770" ของ ฟร็องซัวร์-อ็องรี ตุรแปง (François Henri Turpin) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเรียบเรียงจากจดหมายเหตุของ ปีแยร์ บรีโกต์ (Pierre Brigot) สังฆราชแห่งตาบรากา (Évêque in partibus de Tabraca) ประมุขมิสซังสยามคนสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุทธยา   ร่วมกับจดหมายเหตุและบันทึกประวัติศาสตร์สยามของชาวต่างประเทศอีกหลายชิ้น  ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๗๗๑ (พ.ศ. ๒๓๑๔)

ตุรแปงบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า  

"The heir of Pitracha had several son and as he was displeased with the eldest, he nominated the second as heir to the throne. This man showed that he was really worthy of the crown by his refusal to accept the succession to the detriment of his elder brother. He only made one condition and that was in case the elder were to predecease him,  the succession should devolve on himself. The elder received the heritage of his father and the younger was declared Crown Prince, that is to say heir-presumtive to the throne.

 The new King had several children and misled by parental affection, showed none of that generous nature of which his brother had given so noble an example."

"รัชทายาทของเพทราชา [พระเจ้าเสือ] ทรงมีพระราชโอรสหลายพระองค์ ด้วยเหตุที่พระองค์ไม่พอพระทัยในพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ พระองค์จึงโปรดให้พระราชโอรสองค์ที่สองเป็นรัชทายาท พระราชโอรสพระองค์นี้ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงคู่ควรกับราชสมบัติอย่างแท้จริงด้วยการปฏิเสธที่จะสืบราชสมบัติด้วยการทำร้ายพระเชษฐา พระองค์ทรงมีเงื่อนไขประการเดียวคือหากพระเชษฐาสวรรคตไปก่อนพระองค์ ราชสมบัติจึงจะตกเป็นของพระองค์ เงื่อนไขนี้ได้รับการยอมรับ  พระเชษฐาจึงได้รับสืบทอดราชสมบัติของพระราชบิดา ส่วนพระอนุชาทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชหรือรัชทายาทผู้สืบราชสมบัติ  

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ และด้วยเหตุที่ทรงถูกชักนำให้เข้าพระทัยผิดในความรักของพระราชบิดาและพระราชมารดา จึงทำให้ไม่ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางดุจดังพระอนุชาที่ทรงประพฤติตนอย่างสูงส่งเป็นแบบอย่าง"

จาก วิพากษ์ประวัติศาสตร์ โดย คุณศรีสรรเพชญ์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 02 พ.ย. 23, 09:35

ว่าด้วยเรื่องชื่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง



ที่ 'พ่อริด' ไม่รู้จัก "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" เพราะชื่อนี้เพิ่งมีใช้เรียกกันในรัชกาลที่ ๖ นี้เอง ยิงฟันยิ้ม

คุณศรีสรรเพชญ์อธิบายใน วิพากษ์ประวัติศาสตร์ ว่า

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ปรากฏใน "ศักราชรัชกาลครั้งกรุงศรีอยุธยาตามที่สอบใหม่" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้แบ่งราชวงศ์กษัตริย์อยุทธยาใหม่เป็น ๕ ราชวงศ์ ได้แก่   เชียงราย สุวรรณภูมิ์ ศุโขไทย ปราสาททอง บ้านพลูหลวง

ปัจจุบันราชวงศ์ทั้ง ๕ ถูกเรียกว่าราชวงศ์อู่ทอง สุพรรณภูมิ สุโขทัย ปราสาททอง บ้านพลูหลวง

ชื่อ "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งขึ้นสำหรับราชวงศ์ของสมเด็จพระเพทราชา  โดยทรงอธิบายว่า "หนังสือพระราชพงษาวดารว่าสมเด็จพระเพทราชาเปนชาวบ้านพลูหลวง จึงเรียกราชวงษ์บ้านพลูหลวง"

นอกจากนี้ทรงเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าเสือมาจนเสียกรุงซึ่งเคยถูกจัดอยู่ในราชวงศ์ปราสาททอง มาอยู่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงทั้งหมด เพราะเมื่อตรวจสอบหลักฐานร่วมสมัยแล้ว ไม่ทรงเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ตามที่พระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์กล่าวอ้าง

"สมเด็จพระเจ้าเสือนี้ หนังสือพระราชพงษาวดารนับในราชวงษ์ปราสาททองด้วยยอมรับว่าเปนราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายน์มหาราช ผู้ศึกษาโบราณคดีชั้นหลังได้ตรวจดูจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายน์ แลพิเคราะห์เรื่องราวซึ่งปรากฏในครั้งนั้น ไม่มีเหตุอันใดที่ควรเชื่อว่าอยู่ในราชวงษ์ปราสาททอง ข้าพเจ้าเห็นควรนับในราชวงษ์บ้านพลูหลวงตลอดมาทุกพระองค์จนสิ้นกรุงเก่า"

การกำหนดชื่อราชวงศ์ของนักประวัติศาสตร์แบบในปัจจุบันจึงเป็นเพียงสิ่งที่สมมติขึ้นเท่านั้น ไม่เคยพบหลักฐานการใช้งานจริงในสมัยกรุงศรีอยุทธยา

คำว่า "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ และไม่เคยปรากฏในหลักฐานลายลักษณ์อักษรสมัยกรุงศรีอยุทธยาแม้แต่ชิ้นเดียว  
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 04 พ.ย. 23, 11:34

             ความละม้ายคล้ายคลึงโยงถึงบิดาและบุตร หมายถึง พระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ

           มหาชัย ชื่อคลองและตำบลในสมุทรสาครนั้น พระเจ้าเสือ รับสั่งให้ขุดขึ้น เพื่อลดความคดเคี้ยวของ “คลองโคกขาม”
(ที่เกิดเป็นตำนานหรือนิทาน พันท้ายนรสิงห์*)  โดยเริ่มขุดในปี 2248 ถึงปี 2251 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลแต่ยังไม่แล้วเสร็จ
พระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตเสียก่อน
          ต่อมาในปี 2264 พระเจ้าท้ายสระ เสด็จประพาสปากอ่าวสาครบุรี (ปากแม่น้ำท่าจีน) ทอดพระเนตรเห็นคลองที่ขุดยังไม่แล้วเสร็จ
จึงมีรับสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกองเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ 8 หัวเมือง ขุดต่อให้แล้วเสร็จ ใช้เวลาขุดประมาณ 2 เดือน เมื่อขุดเสร็จแล้ว
พระราชทานชื่อว่า “คลองมหาชัย”

https://www.silpa-mag.com/history/article_60210

       พระเจ้าเสือ (มีบันทึกว่า) ทรงโปรดการฆ่าสัตว์และมีนิสัยโหดเหี้ยม จนได้รับฉายาว่า “เสือ”** แต่ยังมีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
ที่โปรดฆ่าสัตว์ไม่ต่างกัน นั่นคือ พระเจ้าท้ายสระ พระโอรสของพระเจ้าเสือ ดังปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน หน้า 310-311 ซึ่งกล่าวถึงพระอุปนิสัยของ
พระเจ้าท้ายสระ ว่าโปรดการล่าสัตว์มาก โดยมักฆ่าสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก รวมไปถึงช้าง

https://www.silpa-mag.com/history/article_120400

* ตำนานพันท้ายนรสิงห์ - https://www.silpa-mag.com/history/article_121021
** ประเด็น พระอุปนิสัยของพระเจ้าเสือ ได้วิเคราะห์กันแล้วมีแนวโน้มว่าเป็นเรื่องแต่งในยุคหลังเพื่อประกอบเข้า
เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เห็นว่าอยุธยาตอนปลายนั้นเสื่อมลงจนต้องเสียกรุงในที่สุด
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง