เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 9644 จุดจบของอาชีพนักเขียน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 14 ก.ค. 23, 10:41

ไม่นานมานี้ ลองเข้าไปสำรวจห้องต่างๆของแวดวงนักเขียนใน FB    ไม่ได้เจาะเข้าไปในห้องนักเขียนคนใดคนหนึ่ง แต่ไปอ่านห้องรวมสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและวงการนักเขียน  
ก็พบว่า ด้วยฤทธิ์ของสมาร์ทโฟนที่เป็นผลประกอบการของอินเทอร์เน็ต    ดลบันดาลให้กระแสหลักของนวนิยายเปลี่ยนแปลงไป อย่างไม่มีวันย้อนคืนอีกแล้ว  ร้องไห้

อย่างแรกคือนิยายที่เคยครองตลาดอยู่เมื่อสัก 5-6  ปีก่อน  น่าจะร่อยหรอลงไปมากพร้อมกับการล้มหายตายจากของนิตยสาร   นิยายที่เข้ามาแทนที่คือเรื่องแปลจากจีน  และเรื่องจีนที่คนไทยแต่ง หน้าตาแบบนิยายแปลจีน    พวกนี้เห็นวางขายในมุมหนังสือของร้านหนังสือ     ต่อมาคือนิยายวาย ชายรักชาย ที่กำลังฮิท   นิยายไทยมีน้อยลงไปมาก

อย่างที่สองคือ e book เฟื่องฟูขึ้นมาแทนนิยายบนหน้ากระดาษอย่างเมื่อก่อน    มีความสะดวกง่ายดายทั้งในการผลิตและ การจำหน่าย  สามารถตัดต้นทุนเรื่องกระดาษ  การพิมพ์ การขนส่ง การจัดจำหน่าย  สถานที่เก็บสต๊อก ฯลฯ ลงไปได้  จำนวนคนอ่านก็ขยายกว้างขึ้นไปได้ทุกมุมโลกที่มีคนไทยอาศัยอยู่    ไม่ต้องพึ่งร้านหนังสืออย่างเมื่อก่อน
ส่วนในด้านคนเขียน   ก็สร้างเรื่องได้ง่ายดายกว่าเก่ามาก   เร็วกว่าด้วย เมื่อใช้วิธีพูดลงไปในแอ๊พ ไม่ต้องเสียเวลาเขียน  ทำให้ใช้เวลาน้อยอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น 1 บท ต่อ 1 ชม.

เรื่องนี้ขยายรายละเอียดได้อีกมากค่ะ  จะค่อยๆเล่าไป  
ขอเชิญท่านสมาชิกมาร่วมออกความเห็น หรือจะถามอะไรก็ได้    ถ้ารู้ก็จะพยายามตอบให้ค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ก.ค. 23, 11:32

            อีกหนึ่งสิ่งที่กำลังคุกคามตามมาและเป็นปัญหาในอนาคต จนนักเขียนบทในเมกาต้องออกมาประท้วงกัน
นั่นคือ AI ที่ไม่มี soul


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ก.ค. 23, 11:40

เชิญคุณหมอ SILA  เล่าต่อค่ะ   ดิฉันจะเชียร์อยู่ข้างเวที
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ก.ค. 23, 12:28

แค่ส่งข่าวที่ได้พบเห็น ครับ

ตอนนี้ เพื่อนร่วมงานบางคนก็เริ่มสนใจใช้ช่วยในการเขียนรายงานตามเค้าโครงและข้อมูลที่ป้อนให้

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ก.ค. 23, 12:35

ขออนุญาตเล่าถึงสถานการณ์ที่อเมริกา ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ก.ค. 23, 14:27

เปลี่ยนใจขอตั้งกระทู้ใหม่ แทนต่อจากกระทู้เก่าค่ะ  เพราะมีเรื่องที่กล่าวถึงได้อีกยาว
การเอา AI มาใช้ในการแต่งหนังสือประเภทต่างๆ ก็เป็นภัยคุกคามอาชีพนักเขียนได้ทุกสาขา  เรื่องนี้ตอนนี้ยังไม่ซีเรียส แต่ในอนาคตอันใกล้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่

ต่อจากค.ห. 1
สังเกตว่า ปัจจุบัน   การเขียนนิยายของคนรุ่นใหม่ เป็นไปได้อย่างสะดวกง่ายดายมาก  เพราะมีพื้นที่ไม่จำกัดในโลกเสมือน  ใครอยากเขียนก็มีที่ลงให้อ่านได้เสมอ   ส่วนจะมีคนอ่านมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ฝีมือคนเขียน และการจับจุดตลาดได้มากน้อยเพียงใด    นำมาซึ่งรายได้ของนักเขียนอย่างง่ายดายกว่าเมื่อก่อนที่ต้องผ่านการกลั่นกรองเข้มงวดจากบรรณาธิการของนิตยสารหรือบรรณาธิการสำนักพิมพ์
   
หน้าที่ของบรรณาธิการก็เปลี่ยนไปจากเดิม   เมื่อก่อนมีหน้าที่คัดเลือกผลงานที่เห็นว่าดี  ถูกใจคนอ่านลงตีพิมพ์   แต่ตอนนี้ มีบรรณาธิการที่กำหนดโครงเรื่องให้นักเขียนไปเขียนมาส่ง   ถ้าเห็นว่าใช้ได้ก็รับไว้  เพื่อจะลงพิมพ์ในเว็บไซต์ของตนเอง หรือว่านำไปแปลขายตลาดต่างแดน โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มหึมา   นำรายได้สูงมาสู่ตัวกลางและเจ้าของเรื่อง 
รายได้นักเขียนหน้าใหม่เหล่านี้จึงโดดขึ้นสูง   ชวนให้เกิดกระแสนักเขียนใหม่หลั่งไหลเข้ามาสู่บ่อเงินบ่อทองวรรณกรรม อย่างที่ไม่เคยมีในอดีต

ผลงานในข่ายนี้จึงออกมาในรูปตามกระแส    กระแสใดเป็นที่นิยมก็จะมีนักเขียนนิยมเขียนกันมาก   มีโครงเรื่องในรอยเดียวกัน ทำนองเดียวกับเทรนด์ของแฟชั่น
หนึ่งในกระแสนิยม เท่าที่อ่านเจอ  คือเรื่องจีน  นางเอกในยุคปัจจุบันจู่ๆก็พบว่าตัวเองกลับไปอยู่ในยุคโบราณของจีน เจอพระเอกที่นั่น  (กระแสเดียวกับหนังจีน)  อีกแนวหนึ่งคือนางเอกในยุคจีนโบราณถูกฆ่าตายอย่างไม่ยุติธรรม แต่จู่ๆ(ทำไมก็ไม่ได้บอกไว้) เธอก็ย้อนอดีตกลับไปตอนตั้งต้นเรื่องได้    ทำให้มีโอกาสจะแก้แค้นคนที่ทำร้ายเธอ 
   
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ก.ค. 23, 21:10

ผมก็เป็นคนนึ่งที่ติดนิยายจีนพล็อตมาตรฐานประเภทนางเอกย้อนมาเกิดใหม่เพื่อแก้ไขอนาคต กับนางเอกเป็นคนยุคปัจจุบันย้อนอดีตแบบงอมแงมเลย พล็อตเดิม ๆ แต่ขึ้นกับนักเขียนจะแต่ง และหลายคนแต่งได้ดีมากจนวางไม่ลง มั้งการผูกปมคลายปม ทำได้ดีมาก พล็อตมีความสลับซับซ้อนกว่านิยายไทยหรือแม้แต่นิยายฝรั่งของนักเขียนดังหลาย ๆ คนครับ  แต่นิยายจีนดี ๆ แบบนี้ก็ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของทั้งหมด แต่โดยภาพรวมตอนนี้เลยแทบไม่อ่านนิยายไทย

ส่วนเรื่อง AI  นั้น จากความรู้งู ๆ ปลา ๆ ที่พอมี ผมทำนายว่า ภายในสิบปีนี้ เราน่าจะได้เห็น AI เขียนนิยายเรื่องยาวได้แบบน่าติดตาม สนุกสนาน มีสำนวนภาษาที่ดี หรือแม้แต่แปลนิยายเป็นภาษาต่าง ๆ ด้วยสำนวนที่ดีกว่าคนได้ครับ และอีกสิบปีผมน่าจะติดนิยายที่ AI เขียนแบบงอมแงมก็ได้
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ก.ค. 23, 10:33

สวัสดีค่ะคุณประกอบ    ยิงฟันยิ้ม
เป็นอันว่าตลาดนิยายไทยและฝรั่งเสียแฟนหนังสือไปอีก 1 คน

คำตอบของคุณประกอบช่วยยืนยันว่า นิยายในศตวรรษที่ 21  เดินออกไปจากศตวรรษที่ 20  แบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว
ในศตวรรษก่อน   นิยมกันว่านิยายที่ดีคือมีความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากกับเรื่องที่มีอยู่แล้วในตลาด  เรียกว่ามีเอกลักษณ์ของตนเอง   มีศิลปะในการนำเสนอ  เขาถึงได้นับหนังสือเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง เรียกว่า วรรณศิลป์
ดังนั้นนักเขียนจึงต้องขวนขวายนำเสนออะไรที่ไม่ซ้ำกับเรื่องที่คนก่อนๆเคยเขียนมา      เพราะถ้าเฮเขียนตามกันไป คนอ่านจะไม่ชอบความซ่ำซากเปิดหน้าแรกเดาได้    แล้วเรื่องเหล่านั้นก็จะตกไปจากความสนใจ ไม่มีใครอยากอ่านอีก
แต่มาบัดนี้  กระแสหลักของนิยายกลับกลายเป็นว่าเรื่องที่ถูกใจคนอ่านจะถูกนำเสนอซ้ำๆกัน  คนอ่านก็จะยินดีกับความซ้ำนั้น อาจจะมีชั้นเชิงลีลาในรายละเอียดของเรื่อง แต่หลักๆคือซ้ำ   เช่นนางเอกต้องเป็นคนปัจจุบันกลับไปอดีต  หรือนางเอกถูกฆ่าตายแล้วย้อนเวลากลับไปได้ เพื่อจะกลับมาแก้แค้น     ถ้าหากว่านางเอกเป็นคนในอดีตอยู่ในอดีต    หรือว่าตอนจบถูกฆ่าตายแล้วตายเลย   ก็คงไม่ได้รับความนิยมเท่าอย่างแรก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ก.ค. 23, 13:11

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ นิยายในศตวรรษที่ 20  เป็นเรื่องราวบนแผ่นกระดาษ   คนอ่านเคยชินกับเปิดหนังสือขึ้นมาอ่าน หน้าแล้วหน้าเล่า   ถ้าอ่านไม่จบในวันเดียวก็ปิดหนังสือไว้   วันต่อมาก็เปิดอ่านต่อ    ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนหมดเล่ม
แต่ในศตวรรษที่ 21    ตัวหนังสือไม่ได้อยู่บนแผ่นกระดาษอีก แต่อยู่บนจอ  ส่วนใหญ่เป็นจอเล็กเท่าฝ่ามือ   อ่านไม่กี่บรรทัดก็หมดหน้า ต้องเลื่อนจออ่านหน้าต่อไปอีกไม่กี่บรรทัดก็หมดหน้าอีก

หนังสือนิยายไทย  1 หน้า บรรจุตัวหนังสือเท่ากับหน้าจอมือถือ ประมาณ 3-4 จอ    ถ้าหนังสือยาว 100 หน้าจะเท่ากับเลื่อนจอจำนวนเท่าไร   แล้วถ้าเป็นนิยาย 200-400 หน้าล่ะ 
การอ่านหนังสือเล่มหนาๆ  จึงง่ายกว่าอ่านหน้าจอมือถือ     เพราะสายตาที่อ่านบนแผ่นกระดาษจะล้าน้อยกว่าอ่านหน้าจอที่มีแสงอยู่ตลอดเวลา
นิยายที่่อ่านผ่านมือถือจึงต้องรวบรัดกระชับ เดินเรื่องเร็ว    ถ้าหากว่ามีบรรยายยาวๆอย่างที่ทำในนิยายบนแผ่นกระดาษ   คนที่ไถหน้าจอจะรู้สึกว่าเรื่องเดินช้ามาก      ไม่ทันใจ 

นิยายในศตวรรษที่ 21  จึงต้องตัดส่วนที่ทำให้สายตาล้าออกไป   เหลือแต่ส่วนที่จำเป็น  เช่นฉากที่ในนิยายบนกระดาษมี 3  บรรทัด อาจต้องเหลือ 1-2 วรรค   
เช่น ในนิยายบนแผ่นกระดาษบรรยายว่า

ทุกครั้งที่เขาเห็นแม่น้ำที่เห็นมาตั้งแต่จำความได้  เขาก็รู้สึกเหมือนมันเป็นบ้านอีกแห่งหนึ่ง ควบคู่ไปกับบ้านเก่าหลังที่เขาเกิดมา  ทุกวันนี้ก็ยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำเหมือนเดิม     เขาค่อยๆหย่อนตัวลงในน้ำ แทนกระโจนลงไปอย่างตอนเด็กๆ  หยิบสบู่จากขันน้ำที่วางบนขั้นบันไดท่าน้ำมาถูตัว

หน้าจอ เหลือแค่นี้พอ
เขาลงอาบน้ำ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ก.ค. 23, 10:46

ความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้มีมาเรื่อยๆ เพียงแต่เราไม่สังเกตกันเอง  เพราะในศตวรรษที่ 19 และ 20 มันมาถึงช้ามาก   ไม่เร็วจนตั้งตัวไม่ทันอย่างในศตวรรษที่ 21
เมื่อหมอบรัดเลย์ตั้งโรงพิมพ์   สมุดข่อยก็หมดไป     เมื่อหนังสือปกอ่อนเข้ามา หนังสือปกแข็งก็ต้องถอยหนีไป    เมื่อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเข้ามา  พิมพ์ดีดไฟฟ้า และพิมพ์ดีดธรรมดาก็หมดความจำเป็นจะต้องใช้   
เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็แทบไม่เหลือแล้ว   แม้แต่โน้ตบุ๊คก็ต้องถอยให้ไอแพด  แต่ที่นิยมมากที่สุดคือโทรศัพท์มือถือ

ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคนิยายในปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน   ยุคนี้หนุ่มสาวชนชั้นกลางวัยทำงานออกจากบ้านมาอยู่ห้องพักเสียเกือบ 100%    การซื้อนิยายนอกจากแพงกว่าซื้อ  e book เพราะต้นทุนการพิมพ์นิยายสูงกว่าแล้ว ยังมีปัญหาว่าจะเอาหนังสือไปเก็บที่ไหนในห้อง   ส่วนใหญ่ก็ต้องอ่านแล้วขายต่อเป็นหนังสือมือสอง    ถ้าขายได้ก็จบปัญหาไป  ถ้าขายไม่ได้ ก็ต้องบริจาคห้องสมุด หรือให้ใครไปอ่านต่อ  แต่ถ้าอ่าน e book  ปัญหานี้ไม่มี
อีกอย่างก็คือ การซื้อหนังสือต้องซื้อทั้งเล่ม ก่อนจะได้อ่าน    แต่การซื้อ e book    ซื้อทีละบท  บางแห่งให้อ่านฟรีบทแรกๆ   ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อต่อ    ประหยัดเงินได้มาก

จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดการอ่านจึงเปลี่ยนจากหน้ากระดาษเป็นหน้าจอ    ยิ่งวัน กระแสก็จะพัดพาไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามามากขึ้น   ไม่หวนกลับไปที่เดิม

ดังนั้น นักเขียนที่เขียนเพื่อรวมเล่ม  เพื่อให้คนอ่านอ่านบนแผ่นกระดาษ   ก็ควรจะตั้งตัวให้ติดเมื่อเผชิญปัญหาเหล่านี้ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ก.ค. 23, 10:15

    จำนวนหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษลดน้อยกว่าเมื่อศตวรรษก่อนมาก    ตอนนี้เป็นการพิมพ์ตามออเดอร์     เพราะไม่ต้องการเจ็บตัว มีหนังสือเหลือมากค้างสต๊อก   ยอดพิมพ์จึงน้อยกว่าสำนักพิมพ์พิมพ์อย่างเมื่อก่อน
    ต่อไป หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษ จะมุ่งไปทางหนังสือหายากที่หาอ่านจากกูเกิ้ลไม่ได้ เช่นตำรับตำราต่างๆ   หรือหนังสือรวบรวมข้อมูลและภาพที่มีค่า  คนซื้อไปสะสม    นิยายก็เช่นกัน   เรื่องที่พิมพ์ด้วยกระดาษจะขายสำหรับกลุ่มคนอ่านประจำของนักเขียนคนโปรด  เห็นเข้าก็ซื้อได้เลย   หรือกลุ่มคนอ่านที่ไม่ชอบอ่านผ่านหน้าจอ    ส่วนใหญ่คือกลุ่มอายุ 50 ขึ้นไป  เคยชินกับการจับกระดาษ อ่านตัวหนังสือจากหน้ากระดาษ มีรสชาติน่าพึงพอใจมากกว่าอ่านผ่านเทคโนโลยี
    แต่ต่อไป กลุ่มคนที่นิยมกระดาษก็จะลดจำนวนลง   คนรุ่นใหม่ที่ชินกับหน้าจอเพิ่มมากขึ้น    นักเขียนที่เขียนเพื่อรวมเล่มก็จะถูกแทนที่โดยนักเขียนรุ่นใหม่ๆ     วิธีเขียนก็จะเปลี่ยนไปตามรูปแบบของอุปกรณ์ที่ใช้นำเสนอ   คือสั้น กะทัดรัด เปิดบทแรกก็เข้าสู่เป้าหมายเร้าใจทันที   ไม่มีอินโทรอย่างงานยุคก่อนๆ   และที่สำคัญคือเนื้อหาจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความสนใจของคนอ่าน
    เมื่อก่อนนี้   หนังสือเป็นการสื่อสารทางเดียว   นักเขียนจะเรียนรู้ความต้องการของคนอ่านได้จากปฏิกิริยาส่วนน้อย เช่น ถ้าลงเป็นตอนๆในนิตยสาร ก็จะดูได้จากจดหมายที่คนอ่านเขียนมาติชม      ถ้ารวมเล่มขายเลยโดยไม่ผ่านการลงเป็นตอนๆ ก็จะรู้จากยอดจำนวนจำหน่าย      หรืออีกทางคือรู้จากว่าเรื่องนั้นมีคนซื้อไปทำหนังหรือละครโทรทัศน์หรือไม่     การรับรู้แบบนี้อาจจะต่ำกว่า 50% ของคนอ่านทั้งหมด
   แต่ก็มีส่วนดีคือนักเขียนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มาก   สามารถนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ  วิธีการใหม่ๆ ของตนเองได้โดยอิสระค่อนข้างมาก   ทำให้เกิดนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น 

   แต่เดี๋ยวนี้ คนอ่านกับคนเขียนสื่อสารกันได้โดยตรง    คนอ่านติชมได้ทันทีจากช่องความเห็น   หรือติดดาว หรือติดเหรียญ  ทำให้นักเขียนรู้ว่าคนอ่านชอบหรือไม่ชอบมากน้อยขนาดไหน     เมื่อรู้  ก็สามารถปรับปรุงเนื้อหา นำเสนอให้ถูกใจได้
    ถ้าหากว่านักเขียนคนนั้นยึดถือหลักการของตัวเองว่า จะเขียนตามความรู้ความสนใจของตนเองเท่านั้น    ก็จะเสี่ยงกับทางสองแพร่ง  คือถ้าตรงกับใจคนอ่าน ก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี  แต่ถ้าไม่ตรงใจคนอ่าน  ก็ไม่มีใครอ่าน หรืออ่านแล้วมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับว่าไม่ชอบ    ซึ่งมีผลกระทบกับความคิดอ่านและการตัดสินใจของนักเขียนโดยตรง
   ผลจากการสื่อสาร 2 ทางแบบนี้ จะทำให้งานเขียนถูกดึงเข้าไปสู่หลักอุปสงค์อุปทาน  หรือ demand /supply ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน  ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ก.ค. 23, 10:25

   ในศตวรรษที่ 20   รางวัลวรรณกรรมถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงสำหรับนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่    นอกจากเป็นเครื่องรับรองคุณภาพของชิ้นงานและฝีมือของเจ้าของงานแล้ว     ผลพลอยได้อีกอย่างคือจำนวนจำหน่ายสูงมาก   นำรายได้อย่างงามมาสู่นักเขียน   แล้วยังได้ค่าลิขสิทธิ์จากการดัดแปลงในรูปอื่นเช่นไปเป็นละครโทรทัศน์ หรือแปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย    นักเขียนจึงต้องขวนขวายสร้างฝีมือและผลงานเพื่อจะไปถึงปลายทางดังกล่าว
   แต่ในศตวรรษที่ 21   นักเขียนหน้าใหม่ประสบความสำเร็จจากชื่อเสียงและการจำหน่ายได้ง่ายกว่ามาก   เพียงลงเรื่องเป็น e book  ให้ถูกใจคนอ่าน   ชื่อเสียงก็จะไปไกล เพราะตลาดมีอยู่ทุกมุมโลก     ยิ่งถ้าได้ลงในแพลตฟอร์มตลาดดิจิทัลรองรับในการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ   รายได้ก็จะทวีคูณขึ้นทันที     
  รางวัลจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญสุดอย่างเมื่อก่อนอีก สำหรับนักเขียนหน้าใหม่    คือถ้าได้ก็ดี   ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร  เพราะมีสิ่งที่ดึงดูดใจอยู่ใกล้ตัวมากกว่า 
   ก็ย้อนกลับไปประเด็นเดิมว่า เขียนอย่างไรจึงจะถูกใจคนอ่าน  คำตอบก็ยังเหมือนเดิมคือเขียนตามกระแสนิยม   ซึ่งเหมือนคลื่นซัดเข้าหาดเป็นระลอก   คลื่นลูกเก่าซาไป คลื่นลูกใหม่ก็เข้ามา  ไม่คงทนยาวนาน    เช่นเมื่อแนวย้อนมิติเวลาซาไป  นักเขียนก็เตรียมตัวได้ว่า จะมีแนวใหม่อย่างไหนเข้ามา แล้วเขียนไปตามนั้น

  ในเมื่อแนวโน้มเป็นตามนี้    นักเขียนก็จะเจอคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด คือ  AI 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ก.ค. 23, 09:00

   ตอนนี้ นักวิชาการตะวันตกกำลังเผชิญปัญหาว่า  เวลานักศึกษาส่งงาน หรือแม้แต่อาจารย์ด้วยกันทำผลงานส่งให้อ่าน  เพื่อขอตำแหน่งหรือขอทุนหรืออะไรก็ตาม  ต้องเช็คกันอย่างหนักว่าเป็นฝีมือ AI ทำให้หรือเปล่า   เพราะ AI เขียนบทความได้  ทำวิจัยได้ ตามคำสั่งที่ป้อนให้มันได้ ถูกต้องตามรูปแบบทุกกระเบียดนิ้ว   แต่ผลงานนั้นถูกต้องหรือเปล่า ไปลอกใครมาหรือเปล่า  AI ไม่รับรอง
   ในที่สุดก็มาถึงการแต่งหนังสือ  ของฝรั่ง
   AI แต่งโคลงกลอนได้แล้ว    เขียนนิทานสำหรับเด็กก็ได้   แม้แต่เรื่องสั้นมันก็เขียนได้   แต่คุณภาพเป็นยังไงว่ากันอีกที    ส่วนที่แน่ๆคือถ้าสามารถป้อนคำสั่งเป็นภาษาไทยได้  ป้อนข้อมูลภาษาไทยได้  มันก็แต่งกลอนตามแบบสุนทรภู่ได้เหมือนกัน  ถูกต้องตามฉันทลักษณ์เป๊ะด้วย
   ถ้าบรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ e book ป้อนข้อมูลให้มันแต่งเรื่องจีนย้อนยุค นางเอกยุค 2023 ทะลุมิติกลับไปเจอฮ่องเต้ ให้ชื่อตัวละครกับเนื้อเรื่องย่อๆว่าเจออะไรบ้าง  ต้องการฉากไหนแบบไหน สั่งมาได้เลย  AI  ก็จะจัดการสร้างเรื่องขึ้นมาให้เสร็จสรรพ จากข้อมูลที่มันไปหามาได้  ผสมผสานกับเมมโมรี่ที่มันมีอยู่
   ผลคือได้นิยายมา 1 เรื่องครบถ้วนสมบูรณ์   ในเวลารวดเร็วปานสายฟ้าแลบ   ไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียน เพราะ AI ไม่มีค่าตัวในเรื่องนี้     จะผลิตมากเท่าใดก็ได้ตราบใดคนสั่งAI ยังไม่เหนื่อยหรือหมดข้อมูล      นิยายฝีมือ AI  ก็จะมากองอยู่ตรงหน้าจอ   มากมายมหาศาลให้คลิกเลือกอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว
   แล้วนักเขียนจะยืนอยู่ตรงไหนล่ะคะ?
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ก.ค. 23, 11:33

         ได้ลองดูผลงาน AI สองชิ้นๆ แรกให้เขียนบทวิจารณ์หนังเรื่องหนึ่งในแบบคุณก้อง ฤทธิ์ดี(แห่งบางกอกโพสต์)
ออกมาอ่านได้ลื่นไหลแต่ทื่อๆ ทั่วไป ไม่รู้สึกว่ามีความแตกต่างเป็นแนวคุณก้อง (ไม่แน่ ในอนาคตอาจพัฒนาไปถึง)
         อีกชิ้นให้แต่งเพลงในแบบของนักร้องนาม Nick Cave (ไม่เคยฟังผลงาน) แล้วเขาตอบว่า

         ..... as far as I know, algorithms don’t feel. Data doesn’t suffer. ChatGPT has no inner being,
it has been nowhere, it has endured nothing, it has not had the audacity to reach beyond its limitations,
and hence it doesn’t have the capacity for a shared transcendent experience, as it has no limitations
from which to transcend. ChatGPT’s melancholy role is that it is destined to imitate and can never have
an authentic human experience, no matter how devalued and inconsequential the human experience may in time become.

https://www.theredhandfiles.com/chat-gpt-what-do-you-think/?fbclid=IwAR1GQxRFfd2IBJFaoBz9ho6nySW2wL76p67AeMhb2wg6GjE2waw2q0k08hU

         ในเมื่อ AI ใช้งานง่าย,ได้ผลงานเร็ว,ลงทุนน้อย,ราคาถูก ในที่สุดเราก็จะได้เห็นผลงานออกมามากมายและมีหลายคนทดลองอ่าน
แต่ในที่สุดก็จะพบว่า มันไม่ใช่ สำหรับนักอ่านเอาจริงจัง(มีกำลังซื้อ) ส่วนนักอ่านผ่านๆ เพลินๆ ก็คงจะซื้อมาอ่านเพื่อผ่านเวลาแบบ
"นิยายสิบสองบาท” (นิยายขนาดสั้น ตีพิมพ์เป็นเล่มขนาดเล็ก ความยาว 80 หน้า ขายในราคา 12 บาท เรียกอีกอย่างว่า “นิยายเล่มเล็ก”
หรือ “นิยายปกดารา” เนื่องจากนิยมใช้ภาพถ่ายดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงขณะนั้นพิมพ์ปก matichonweekly)
        ส่วนนักเขียน "นิยายร้อยบาท" เชื่อว่าจะยังมีผู้ติดตามเฉพาะกลุ่มต่อไป หากว่ายังมีไฟ,ไม่วางปากกาลง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ก.ค. 23, 16:09

ไปค้นดูว่า Nick Cave  เป็นนักร้องแนวไหน  ได้คำตอบจากครูกู๊กว่า    Post-punk alternative rock gothic rock, art rock experimental rock garage rock
เจอคลิปพร้อมเนื้อร้อง ตามนี้ค่ะ

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง