เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 7207 เรื่องของ "ส้วม"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 15 มิ.ย. 23, 10:50

ได้อ่านกระทู้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย ของคุณตั้ง   กล่าวถึงเรื่องส้วมในชนบท ที่คุณตั้งเคยมีประสบการณ์ขณะไปพำนักอยู่  สมัยทำงานเป็นนักธรณีวิทยา
เลยนึกได้ว่าไม่ได้ตั้งกระทู้เล่าถึงอะไรต่อมิอะไรมานานแล้ว   เท่าที่จำได้ยังไม่เคยเล่าถึงอุปกรณ์สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ "ส้วม"
เลยมาตั้งกระทู้ไว้ก่อนค่ะ รอคนเข้าห้อง   ถ้าใครอยากจะเสริมหรือเล่าประสบการณ์ถึง "ส้วม" ที่เคยเจอ ก็เชิญแทรกได้เลยค่ะ  ไม่ถือว่าขัดจังหวะ

รูปแรกที่เรียกคนดูคือส้วมโถชักโครกทองคำ 18 กะรัต ใช้งานได้จริง  เคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนร์บีออน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส้วมทองคำเป็นผลงานของศิลปินชาวอิตาเลียน   Maurizio Cattelan มีแรงบันดาลใจจากต้องการชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ    ไม่ได้ตั้งโชว์ในห้องนิทรรศการ แต่เปิดให้บริการอยู่ที่ ชั้น 4 ของอาคาร มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำจุดอยู่ภายนอก   ได้ข่าวว่าผู้ต้องการใช้บริการอาจต้องคอยคิวนานกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อเข้าไปลองปลดทุกข์
ตอนนี้รื้อถอนออกไปแล้วค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 มิ.ย. 23, 11:11

น่าเสียดายว่าเจ้าโถส้วมทองคำมีชะตากรรมน่าเศร้า    หลังจากถูกนำไปติดตั้งที่ Blenheim Palace ใน Oxfordshire, ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2019   มันก็ถูกมือดีโจรกรรมฉกออกไปจาก ทั้งๆติดตั้งไว้กับท่อในผนังแบบโถส้วมของจริงทุกอย่าง
จนบัดนี้ก็ยังสาบสูญ  หาไม่พบทั้งโถส้วมและโจร   อาจจะถูกหลอมกลายเป็นเครื่องทองหรือแท่งทองไปแล้วก็ได้


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 มิ.ย. 23, 19:01

ย่องเข้าหลังห้องมานั่งฟังด้วยครับ  ยิงฟันยิ้ม     
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 มิ.ย. 23, 08:35

ว่าด้วยเรื่อง "ส้วม"

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายของ "ส้วม" ว่า สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง นอกจากนี้ในภาษาอีสานยังหมายถึง ห้องนอน หรือถ้าเป็นกิริยายังหมายถึงการเอามือทั้งสองข้างโอบรัดเข้าไว้ในวงแขน เรียกว่า ส้วมกอด หรือ สวมกอด ก็ว่า

จากหนังสือ ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย ของมนฤทัย ไชยวิเศษ ได้แจกแจงความหมายของคำว่า "ส้วม" ไว้อีกว่า ในภาษาล้านนา มีความหมายว่า หิ้งบูชา หรือที่นอนของพระ โดยเฉพาะของเจ้าอาวาส ส่วนทางอีสานหรือลาว "ส้วม" จะหมายถึง ห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่วนคำอื่นที่หมายถึงส้วม ได้แก่ ห้องสุขา เวจ (เว็จ) ถาน (ส้วมของพระ) สีสำราญ และอุโมงค์ (สองคำหลังนี้เป็นคำเรียกสถานที่ขับถ่ายของผู้หญิงที่อยู่ในวังหรือผู้หญิงชาววังที่มิใช่เจ้านาย) สำหรับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์จะใช้คำว่า ห้องบังคน อันเป็นคำมาจากภาษาเขมร (បង្គន់)

ส้วมสาธารณะ หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า เวจสาธารณะ สร้างขึ้นครั้งแรก โดยกรมสุขาภิบาล (ศุขาภิบาล ตามที่เรียกแต่แรก) อีกทั้งได้มีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๔๐ เพื่อบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม (เพราะสมัยก่อนประชาชนทั่วไปยังไม่นิยมสร้างส้วมในบ้าน แต่จะขับถ่ายตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพง ฯลฯ หรือเทลงน้ำ เป็นเหตุให้ส่งกลิ่นเหม็น สัตว์มาคุ้ยเขี่ย แมลงวันมาไต่ตอม และเกิดโรคระบาดตามมา) ซึ่งส้วมสาธารณะที่กรมสุขาภิบาลสร้างนี้จะกั้นเป็นห้อง ๆ เป็นห้องแถวไม้ยาว ประมาณ ๕-๖ ห้อง มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญ ๆ ที่เป็นย่านการค้า หรือที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง บริเวณวัด โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น ชื่อ กรมสุขาภิบาล นี้เอง น่าจะเป็นที่มาของคำเรียก ส้วม ว่า สุขา ในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 มิ.ย. 23, 09:35

ส้วมในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีวิวัฒนาการเรื่อยมาตามลำดับ

ส้วมหลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินที่มีทั้งแบบหลุมแห้งและหลุมเปียก ขุดเป็นหลุมกลมหรือสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้

ส้วมถังเท มีลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระผู้ขับถ่าย แล้วค่อยนำไปเททิ้ง ซึ่งมักจะนำถังไปเททิ้งวันละครั้ง

ส้วมบุญสะอาด ประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะพิเศษคือมีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย

ส้วมคอห่าน ผู้ประดิษฐ์คือ พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ได้คิดค้นการใช้หัวส้วมแบบคอห่านร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า ส้วมซึม ทำให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ส้วมชักโครก เป็นส้วมที่มีส่วนประกอบค่อนข้างสลับซับซ้อน ที่เรียกว่าชักโครก คงเพราะเมื่อถ่ายเสร็จต้องชักคันโยกปล่อยน้ำลงมา และมีเสียงดังโครก จึงเรียกตามนั้น ผู้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นคือ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ขุนนางชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๙ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๘ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ก็ได้พัฒนาส้วมชักโครกแบบใหม่ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเป็นต้นแบบของส้วมชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ในประเทศไทยส้วมชักโครกเป็นที่นิยมแพร่หลายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้น จากนั้นก็นิยมต่อ ๆ มาจนปัจจุบัน เพราะมีการออกแบบให้ทันสมัยและน่าใช้ยิ่งขึ้น

ส้วมในต่างประเทศ มีคำเรียกต่าง ๆ กัน เช่น toilet , rest room, lavatory, W.C (ย่อมาจาก water closet) และ bathroom เป็นต้น ซึ่งเรามักจะคุ้นชินอยู่แล้ว แต่ที่แปลกกว่าที่อื่น คือ ประเทศเยอรมัน ที่เขาใช้คำว่า Damen (ดาเมน) กับห้องส้วมหญิง และคำว่า Heren (เฮอร์เร่น) กับห้องส้วมชาย ซึ่งหากเราไปจำภาษาอังกฤษที่ว่า Men แปลว่า ชาย และ Her ที่หมายถึงผู้หญิง แล้วเข้าตามนั้นละก้อ อาจจะมีการหน้าแตก เพราะเข้าผิดห้องได้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ห้องส้วมทุกแห่ง มักจะมีสัญลักษณ์สากลเป็นรูปชาย-หญิงในแบบต่าง ๆ ติดไว้ เพื่อให้แยกออก

ในหลาย ๆ ประเทศ นอกเหนือไปจากส้วมชักโครกแล้ว เรายังอาจพบ โถอนามัย ที่ฝรั่งเรียกว่า bidet (อ่านว่า บิ-เด) ตั้งอยู่ข้าง ๆ  ซึ่งจะมีหัวก๊อกน้ำติดอยู่ ก๊อกนี้บางแห่งจะมีทั้งน้ำร้อน-น้ำเย็นให้เลือก ใช้ได้หลายภารกิจ เช่น ใช้ล้างชำระของสงวนหรือก้นหลังจากเสร็จภารกิจ ใช้ล้างเท้า ใช้ซักผ้า และใช้อาบน้ำเด็ก เป็นต้น

ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 มิ.ย. 23, 09:46

จะเหลืออะไรไว้ให้เล่าบ้างล่ะเนี่ย   ยิ้มเท่ห์ ยิ้มเท่ห์

ก่อนที่จะเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน  ดินแดนรูปขวานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาณาจักรหลายแห่ง กระจัดกระจายกันอยู่ เช่นทวารวดี  ตามพรลิงค์  ฟ้าแดดสงยาง (หรือสูงยาง) ฯลฯ  แต่หลงเหลือหลักฐานมาน้อยมาก  กว่าจะมารวบรวมกันได้เป็นชิ้นเป็นอันก็เมื่อถึงยุคอาณาจักรสุโขทัย
ก็ขอเริ่มต้นจากส้วมสุโขทัย

หลักฐานที่เหลือมาว่าชาวสุโขทัยถ่ายหนักเบากันอย่างไร คือส้วมของพระสงฆ์ เรียกว่า “วัจจกุฎี” หรือ “เร็จกุฎี” หรือ “ถาน” ประกอบด้วยแผ่นรองรับเท้าในขณะขับถ่าย หรือที่เรียกกันว่า “เขียง” ซึ่งใช้วางไว้เหนือหลุมรับอุจจาระ จำนวน 3 แผ่น ประกอบไปด้วยเขียงหิน 2 แผ่น และเขียงไม้ 1 แผ่น

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายไว้ในหนังสือ “มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม  ว่า  เขียงทั้ง 3 แผ่น มีลักษณะเหมือนกันคือ มีรูขนาดใหญ่เจาะทะลุ   คาดว่าใช้สําหรับปล่อยให้อุจจาระผ่านลงไปยังหลุมด้านล่าง ส่วนด้านหน้ามีรางยาวเพื่อระบายปัสสาวะให้ไหลลงภาชนะที่วางรองรับอยู่
การแยกรางให้ปัสสาวะกับอุจจาระเช่นนี้ คาดว่าเพื่อแยกไม่ให้ปนกันเป็นการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 09:12

   ถ้าพระสงฆ์สมัยสุโขทัยมีส้วมแบบนี้ใช้   ก็เป็นได้ว่าในวังของพ่อขุนทั้งหลายก็ใช้ส้วมแบบนี้เช่นกัน    เพราะพระสงฆ์ไม่สามารถจะก่อสร้างที่อยู่ที่ใช้เองได้  ทุกอย่างเป็นเรื่องของการอุปถัมภ์จากชาวบ้าน    ในเมื่อกษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนา  ก็ย่อมจะสร้างสิ่งที่เห็นว่าเป็นผลดีแก่พระสงฆ์ ถวายให้วัด   รวมทั้งส้วม ที่สมัยนั้นเรียกว่า " เวจกุฎี"
  คำนี้ เมื่อแปลออกมาแล้วทำให้คิดว่า ส้วมของพระในสมัยโบราณ น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรและมิดชิด    ถึงใข้คำว่า "กุฎี" ประกอบคำว่า "เวจ"   คือสร้างด้วยไม้กระดานหรือไม้ไผ่ก็ตาม เป็นห้องหรือเรือนเล็กๆ แต่คงไม่ใช่ว่าเอาหินวางไว้โล่งๆ หรือกั้นพอเป็นพิธี
  ต่อมา คำนี้ถูกตัดให้สั้นเหลือแต่คำว่า "เวจ"   โบราณใช้คำว่า "ไปเวจ" ก็เข้าใจกันได้ว่าไปขับถ่าย

  เวจกุฎีสมัยสุโขทัยน่าจะเป็นไม้ จึงหมดสภาพไปตามวันเวลา   ไม่เหลือร่องรอยมาให้เห็น  แต่ตัวอุปกรณ์สำคัญเป็นหิน สร้างไว้ทนทานต่อการใช้งาน  จึงยังเหลือหลักฐานอยู่

   มาถึงสมัยอยุธยา    เราพบหลักฐานเรื่องส้วมในหนังสือจดหมายเหตุของลาลูแบร์  ที่เข้ามาในราชอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้อธิบายความของ 'เวจ' ไว้ว่า
     "ห้องถ่ายทุกข์หนักเบาสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเป็นส้วมหลุมนั่งยองๆ มีไม้หรือหินพาดรองไม่ให้หลุมถล่ม     มักใช้กัน เฉพาะคนในสังคมชั้นสูง"
   ตีความออกมาอีกทีว่าสร้างเป็นห้อง  พอก้าวเข้าไปก็เจอหลุม มีไม้หรือหินพาดปากหลุมไว้ ให้นั่งยองๆลงบนนั้น ถ่ายลงในหลุม   อิริยาบถเดียวกันส้วมนั่งยองๆตามปั๊มน้ำมัน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 09:35

ปุจฉา : ทำไม 'ส้วม' สมัยก่อนเรียกว่า 'บริษัท' ?

วิสัชนา : ๑.ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีบริษัทรับเก็บของโสโครกเรียกกันว่าบริษัทสอาด คนเลยพลอยเรียก "ส้วม" ว่า "บริษัท" ไปด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 10:35

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้มีการตั้ง "กรมศุขาภิบาล" ขึ้น ภายใต้กระทรวงนครบาล โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการรักษาความสะอาดและป้องกันการระบาดของโรคที่เป็นอันตรายในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมในการจัดการสิ่งปฏิกูล เพราะส้วมในกรุงเทพฯสมัยนั้นมิได้เป็นส้วมหลุมหรือส้วมซึม ส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายลงถัง แล้วนำไปเททิ้ง ดังนั้น เพื่อให้ส้วมสาธารณะมีความสะอาดเป็นระเบียบจึงมีการว่าจ้างขนถ่ายในรูปของบริษัทรับเหมา

บริษัทแรกที่รับดำเนินการคือ "บริษัทสอาด" ซึ่งได้ประมูลรับจัดการอยู่เป็นเวลานานหลายปี และเป็นรายใหญ่ในการทำกิจการนี้ในพระนคร ที่ตั้งของบริษัทสอาดบริษัทนี้เป็นของพระศิริไอยสวรรย์ เดิมตั้งอยู่ตรงกับวังกรมพระนครสวรรค์ที่บางขุนพรหม ซึ่งเป็นที่ว่างโล่งและใช้เป็นที่เก็บรถบรรทุกขนถ่าย แต่ภายหลังก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยส้วมตามบ้านเรือนและตึกแถวจะมีถังแจกให้เจ้าของบ้านจะเสียค่าถังเทประมาณเดือนละ ๑ บาท ถึง ๖ สลึง ต่อถัง ต่อเดือน ซึ่งใครจะใช้หรือไม่ใช้บริการทางบริษัทก็ได้

"บริษัทสอาด" ดำเนินการเป็นเวลาประมาณ ๒๐ กว่าปี จึงได้โอนกิจการให้กับ "บริษัท ออนเหวง" ซึ่งก็ได้รับช่วงดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันกับบริษัทสอาดต่อไปเป็นระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง บริษัท ออนเหวงเป็นบริษัทของชาวจีน ที่ตั้งอยู่แถวราชวงศ์

เก็บความจาก 'บริษัทสอาด' ทำธุรกิจอะไรในอดีต ?
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 11:35

วิสัขนา : ๒. บริษัทในที่นี้อาจมาจากความหมายในภาษาจีนว่า กงซีล่ง

คนจีนแต้จิ๋วในเมืองไทย จะเรียกห้องส้วมว่า กงซีล่ง (公司廊) ซึ่งหมายถึง โกดังของบริษัท (公司 = บริษัท  廊 จีนแต้จิ๋วนำศัพท์ที่มีใช้อยู่เดิมมาแปลงเสียงเพื่อเลียนคำและความ ของคำไทยว่า โรง) เพราะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยสมัยก่อน จะตั้งรกรากเป็นกุลีใช้แรงงานอยู่แถวท่าน้ำราชวงศ์

ในยุคนั้น ห้องน้ำไม่ใช่มีกันทุกบ้าน แต่จะไปใช้ห้องน้ำรวม ซึ่งเป็นห้องน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณโกดังที่ท่าน้ำราชวงศ์  อันเป็นเป็นที่ตั้งของบริษัทออนเหวง ที่รับขนถ่ายถังอุจจาระไปเททิ้ง (รดน้ำให้สวนผัก)

คำว่า กงซีล่ง นี้ใช้เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ถ้าไปบอกคนแต้จิ๋วในเมืองจีนว่าอยากไป กงซีล่ง อีกฝ่ายน่าจะงง พาไปไม่ถูก ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 13:42

ส้วมที่แม่การะเกดใช้งาน เป็นส้วมไฮโซสมัยอยุธยา  เรื่อยมาจนต้นรัตนโกสินทร์ ใน 3 รัชกาลแรก   
ที่เรียกว่าไฮโซคือเจ้าของเป็นเศรษฐีคหบดี หรือขุนนางถึงจะมีส้วมแบบนี้ใช้เป็นกิจจะลักษณะ   ต้องมีบ่าวไพร่ขุดหลุมไว้ใช้งาน  นานเข้าหลุมเต็มก็ต้องใช้แรงงานคนกลบทิ้ง แล้วย้ายไปขุดที่ใหม่    ส่วนชาวบ้านทั่วไป ถ้าอยู่ต่างจังหวัดมีทุ่งมีนารอบบ้าน ก็ใช้ทุ่งหรือนาเป็นสถานที่   ไม่ต้องเปลืองแรงขุดหลุมหรือปลูกสร้างที่กำบัง   
ถ้าอยู่ริมแม่น้ำลำคลองยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่   คือถ่ายลงน้ำให้น้ำช่วยจัดการพัดพาไปให้หมดปัญหา    ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโรคระบาดกันบ่อยๆ  ชาวบ้านเองก็ไม่มีความเข้าใจว่า โรคห่าที่กลัวกันนักหนา เกิดจากอะไร   

ที่แปลกอย่างหนึ่งคือ  ไม่ว่าผู้ดีมีเงินมีตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหน  ส้วมต้องอยู่นอกบ้าน  ห้ามสร้างส้วมไว้บนเรือน
ึคนที่ทำได้คือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 14:35

เวจสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในมโนทัศน์ของผู้สร้างละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส



และในสมัยของแม่หญิงการะเกดนี้ ในบริเวณพระราชมนเทียรมีการสร้างสถานที่สำหรับการขับถ่าย เรียกว่า ที่ลงพระบังคน หรือ ห้องพระบังคน โดยจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับและมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้นำไปทิ้ง ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ว่า

"ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น"

จากกระทู้ เรื่องเล่าคนเก่าแก่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 16:14

ขุนช้างเป็นเศรษฐีใหญ่เมืองสุพรรณ    บ้านช่องใหญ่โตมีเครื่องประดับบ้านหรูหราราคาแพง เช่นเครื่องแก้ว มีม่านปักกั้นห้อง มีข้าทาสบริวารนับไม่ถ้วน   แต่ส้วมของขุนช้างก็ต้องอยู่นอกบ้านอยู่ดี
เห็นได้จากตอนที่พลายงามไปลักตัวนางวันทองจากเรือนขุนช้าง เอามาให้พ่อตัวเอง    บังคับแม่มาด้วยได้สำเร็จแล้ว เช้าขึ้นมาถึงนึกได้ว่าทำอุกอาจแบบนี้ หากขุนช้างไปฟ้องพระพันวัษษา   นางวันทองอาจถูกลงโทษ
ก็เลยใช้ลูกน้องชื่อหมื่นวิเศษผล ไปหาขุนช้าง  แต่งเรื่องว่าพลายงามเกิดป่วยกะทันหันกลางดึก    ให้คนไปตามแม่มาหาลูก 
หมื่นวิเศษผลก็ไปแต่งเรื่องให้ขุนช้างฟัง ตามที่นายสั่งทุกคำ

(ครานั้นวิเศษผลคนว่องไว                ยกมือขึ้นไหว้ไม่วิ่งหนี
ร้องตอบไปพลันในทันที                คนดีดอกข้าไหว้ใช่คนพาล
ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระหมื่นไวย        เป็นขุนหมื่นรับใช้อยู่ในบ้าน)

ท่านใช้ให้กระผมมากราบกราน         ขอประทานคืนนี้พระหมื่นไวย
เจ็บจุกปัจจุบันมีอันเป็น                 แก้ไขก็เห็นหาหายไม่
ร้องโอดโดดดิ้นเพียงสิ้นใจ                 จึงใช้ให้ตัวข้ามาแจ้งการ
พอพบท่านมารดามาส่งทุกข์         ข้าพเจ้าร้องปลุกไปในบ้าน
จะกลับขึ้นเคหาเห็นช้านาน                 ท่านจึงรีบไปในกลางคืน
พยาบาลคุณพระนายพอคลายไข้          คุณอย่าสงสัยว่าไปอื่น
ให้คำมั่นสั่งมาว่ายั่งยืน                  พอหายเจ็บแล้วจะคืนไม่นอนใจ ฯ

สมัยนี้เรียกว่า "ไปสุขา" แต่สมัยนั้นเรียกว่า "ไปส่งทุกข์"

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 16:18

แสดงว่าสมัยก่อน ปวดท้องขึ้นมากลางดึกก็ต้องลงจากบ้าน ฝ่าความมืดไปถึงเวจนอกบ้าน   เสี่ยงกับงูเงี้ยวเขี้ยวขอและอันตรายเช่นเดินสะดุดหกล้ม   
หรือไปเจอผีกระสือที่ว่ากันว่ามันชอบมากินของสกปรกในเวจ

นึกถึงที่คุณตั้งเขียนไว้ในกระทู้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย   แล้วรู้สึกว่ากิจวัตรประจำวันอื่นๆอาจจะง่าย     แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 18:57

มีกรณีไปส้วมนอกบ้านที่ประทับใจของผมอยู่ครั้งหนึ่ง  เกิดท้องเสียขึ้นมาในระหว่างการเดินทางในบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา  ต้องแวะข้างทาง เป็นส้วมที่สร้างบนเสาไม้สี่ต้น ตั้งอยู่กลางแอ่งน้ำข้างทาง มีไม้กระดานพาดให้เดินเข้าไป  ตัวห้องทำด้วยไม้กระดานตีเป็นห้องทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พอขยับขยายตัวได้ แต่มันเป็นฝาห้องที่สูงเพียงระดับใหล่เมื่อนั่งยองๆ  ไอ้ที่แย่ก็คือช่วงของการปลดกางเกงก่อนจะนั่งยองๆ แถมยังต้องทำบนพื้นที่ๆโยกไปมาอีกด้วย เข้าใจเลยว่า ตัวถ่วงที่สำคัญก็คือกางเกงใน  ก็ถ่ายตรงๆลงน้ำไปเลย เราก็นั่งลอยหน้าสอดส่ายไปมาดูว่าใครเขาจะเห็นเราอย่างไร  เห็นภาพเลยว่ามันก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำในคูน้ำนั้น แล้วก็เกิดการหมักกลายเป็นปุ๋ยน้ำที่เขาใช้รดแปลงผักที่ปลูกไว้ข้างแอ่งน้ำ  ก็วนมาถึงเราเมื่อต้องกินผักเหล่านั้น แล้วเราก็ท้องเสีย เป็นวัฎจักรวงหนึ่ง

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ว่ากิจวัตรประจำวันอื่นๆอาจจะง่าย แต่เรื่องนี้บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง