เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 8912 ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


 เมื่อ 31 พ.ค. 23, 18:48

สังคมที่เรียบง่ายดูจะเป็นสังคมที่ผู้คนต่างๆที่มีส่วนได้เสีย(เกือบทั้งหมด)ล้วนมีสำนึกของพรหมวิหารสี่อยู่ในจิต-ใจและในสภาพอารมณ์ต่างๆ ซึ่งก็คือเรื่องของความเมตตา(ความเห็นใจ ความเอ็นดู)  ความกรุณา(การให้ความช่วยเหลือเจือจุน)  มุทิตา(การยกย่องซึ่งกันและกัน)  และอุเบกขา(การวางตัวเป็นกลางอย่างเหมาะสม)

สังคมที่เรียบง่ายแบบชาวบ้านจึงมีกิจกรรมที่ร่วมกันทำค่อนข้างจะหลากหลายตลอดทั้งปี  ซึ่งเมื่อมีการทำต่อเนื่องกันมาหลายๆครั้งและต่อเนื่องเป็นเวลานานมากเข้า ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการดำเนินการในลักษณะเป็นประจำของแต่ละชุมชน กลายเป็นประเพณีของพื้นถิ่น  ในที่สุดก็มีการตีไข่ใส่สีพัฒนาไปอยู่ในรูปของวัฒนธรรม  (ก็เลยมีวลี 'วัฒนธรรมประเพณี'  ?)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 พ.ค. 23, 19:19

วัฎจักรในการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติของผู้คนทั่วไปก็คือ นอนตอนกลางคืน ทำงานตอนกลางวัน  แต่ก็มีวัฏจักรที่ไม่ปกติซึ่งอาจจะมีได้ในหลายรูปแบบ เช่นนอนตอนกลางวัน ทำงานตอนกลางคืน  หรือการทำงานเป็นกะ ซึ่งจะนอนหรือทำงานคร่อมเวลาที่คนปกติเขาทำกัน    ทั้งมวลนี้เป็นลักษณะของชีวิตผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมือง    เรื่องของเวลาและช่วงระยะเวลาดูจะถูกใช้เป็นกำหนดเป็นกฏเณฑ์ที่มีผลโยงใยไปถึงในด้านคุณภาพของชีวิตและความเป็นอยู่
บันทึกการเข้า
unicorn9u
มัจฉานุ
**
ตอบ: 65


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 มิ.ย. 23, 09:04

สังคมชนบท กับสังคมเมืองมีความแตกต่างกันมาก
ทีนี้ สิ่งที่น่าคิดคือ การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในสังคมเมืองมันจะออกมารูปแบบใด
ท่ามกลางมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ความอยากได้อยากมี การแข่งขัน และสิ่งยั่วยุ หลายๆอย่างแบบทุกวันนี้ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 มิ.ย. 23, 18:04

สังคมชนบทอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายใต้กลิ่นอายของปรัชญาแบบพรหมวิหารสี่  ต่างกับสังคมเมืองที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมภายใต้กลิ่นอายของความมีกิเลส (รัก โลภ โกรธ หลง) ที่จะต้องมีการตอบโต้เพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบในลักษณะของ action = reaction และก็จะต้องได้รับผลที่มีคุณภาพในระดับของความสะใจอีกด้วย

ซึ่งสื่อออกมาในอีกมุมหนึ่งว่า ความต่างระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมืองก็มีเเรื่องเกี่ยวกับการมองโลกของผู้คนในสังคมนั้นๆว่า เป็นในลักษณะของการมองแบบ inside out หรือแบบ outside in     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 มิ.ย. 23, 19:59

....ทีนี้ สิ่งที่น่าคิดคือ การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในสังคมเมืองมันจะออกมารูปแบบใด
ท่ามกลางมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ความอยากได้อยากมี การแข่งขัน และสิ่งยั่วยุ หลายๆอย่างแบบทุกวันนี้ครับ

ผมเห็นว่า สังคมชนบทก็มีลักษณะของการอยู่เป็นหมู่ร่วมกันแบบต่างคนต่างอยู่เช่นเดียวกันกับที่เป็นอยู่ของสังคมเมือง  จะมีความต่างกันอยูก็ในเรื่องของภาระกิจที่จะต้องผจญในแต่ละวันเมื่อออกนอกบ้าน     ชาวบ้านออกจากบ้านไปผจญกับการกระทำของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตและจิตใจ ยกเว้นก็แต่เฉพาะสรรพสัตว์ต่างๆ ซึ่งเรา(คน)อยู่ในสถานะเป็นผู้ล่าในระดับสูงสุดของระบบนิเวศ   เป็นการสู้กับธรรมชาติที่ไม่มีวันที่เราจะแพ้ (แพ้ก็คงละทิ้งไปแล้ว) หากแต่เป็นการสู้เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในลักษณะที่ไม่ประจันหน้ากัน แต่เป็นการพยายามทำให้เป็นคุณหรือจัดระบบเบี่ยงเบนผลกระทบต่างๆ

สังคมเมือง เมื่อออกจากบ้านก็จะพบแต่สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เจริญใจ มีสภาพคล้ายกับการเดินเข้าไปในสิ่งแวดล้อม/ในมวลของข้อกำหนดต่างๆที่พึงจะต้องปฏิบัติตาม มีกฎหมาย มีกติกาทางสังคมและค่านิยมที่ต้องปฏิบัติ...ฯลฯ   แต่ที่ดูจะสำคัญที่ทำให้ชีวิตดูวุ่นวายก็เห็นจะเป็นเรื่องของข่าวสารที่ตนเองเป็นผู้เลือกที่จะเสพ    จะทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบมีความเรียบง่ายในสังคมเมือง ที่ได้ปฏิบัติมาก็มีอาทิ ไม่ยึดกับหัวโขน  งานอยู่ในเวลาของการทำงาน  นอกเวลางานก็เป็นตัวของตัวเองและเป็นเรื่องของครอบครัว...   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 มิ.ย. 23, 11:02

สังคมชนบทที่ดิฉันรู้จัก คือสังคมที่รู้จักกันหัวบ้านท้ายบ้าน   เป็นเครือญาติเกี่ยวดองกันเยอะ    ผิดกับสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่มากกว่า
ชาวกรุงอยู่หอพัก หรือคอนโด แม้ห้องติดกันก็เกือบไม่เคยพูดจากันเลย   จึงมีข่าวคนตายในห้องมาหลายวันโดยไม่มีใครรู้ จนส่งกลิ่นออกมานั่นแหละ เพื่อนห้องข้างๆถึงเอะใจ

สังคมชนบทไม่ค่อยมีอะไรที่ปกปิดกันได้   ลูกชายบ้านโน้นหนีทหารก็รู้กันทั่ว   ลูกสาวบ้านนี้ท้องขึ้นมาก่อนแต่งก็รู้กันหมด    ลุงสองบ้านที่เป็นพี่น้องกัน อยู่บ้านติดกันแต่มึนตึงใส่กัน ชาวบ้านก็รู้ว่าทะเลาะกันเพราะมรดก  บ้านนี้ได้ลูกเขยเลวๆเข้ามาผลาญสมบัติเมีย  ก็รู้กันทั่วว่าบัดนี้เมียหมดตัวแล้ว
เวลาบ้านไหนจัดงานเขาจะเปิดเครื่องขยายเสียงให้พูดไมโครโฟนดังลั่นได้ยินกันไปทั้งหมู่บา้น เป็นการเชื้อเชิญคนมาร่วมงาน
อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ สังคมชนบทนอกจากมีวัดเป็นที่ทำบุญ จัดงานคอนเสิร์ตลูกทุ่งแล้ว   ยังมีสำนักเจ้าพ่อเจ้าแม่อยู่ในทุกตำบลให้ขอหวยด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
unicorn9u
มัจฉานุ
**
ตอบ: 65


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 มิ.ย. 23, 13:57

จะทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบมีความเรียบง่ายในสังคมเมือง ที่ได้ปฏิบัติมาก็มีอาทิ ไม่ยึดกับหัวโขน  งานอยู่ในเวลาของการทำงาน  นอกเวลางานก็เป็นตัวของตัวเองและเป็นเรื่องของครอบครัว...  
เท่าที่ประสบมา มันก็เหมือนกับเรากระโดดลงไปในบ่อน้ำลึก จะขึ้นก็ขึ้นไม่ได้ ทำได้แต่ตะเกียกตะกาย หรือแค่เพียงพยุงตัวอยู่เพื่อชีวิตรอด
ความเรียบง่ายหลายๆอย่างที่เคยพบเจอสมัยก่อน เรียกกลับมายากมากอย่างที่เรียกว่า เข้ามาในวงการแล้วออกไปยาก
การใช้ชีวิตในเมืองมันช่างดูมีเรื่องยุ่งยากซับซ้อนไปเสียหมด นอกจากเวลางาน แล้วก็ยังต้องมีเรื่องที่ต้องต้องคิด ต้องวางแผน ต้องจัดสรร เพื่อจะให้อยู่รอดได้ไปจนถึงในอนาคต
ต่างกับสมัยก่อนที่ยังอยู่บ้านนอก ไม่เคยต้องกังวลกับเรื่องพวกนี้ บางอย่างขาดไปบ้างก็ไม่เป็นไร อยู่ได้ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็มีตลอด

สิ่งที่จะสื่อคือ แลกความสะดวกสบายที่ได้มา กับความสุข ความสงบ ที่หายไป ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 มิ.ย. 23, 19:25

ประมวลจากความเห็นในกระทู้ที่ผ่านมา ก็พอจะได้พื้นฐานแรกๆของความเห็นในเรื่องของความแตกต่างระหว่างสังคมที่เรียบง่ายกับสังคมที่วุ่นวาย   ซึ่งก็พอจะจำแนกออกได้เป็นในด้านของเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนอกนอกกาย กับในด้านที่เป็นความรู้สึกและการพิจารณาของแต่ละบุคคล 

สังคมชนบทที่ดูเรียบง่ายนั้น ผมเห็นว่าเป็นเพียงภาพในใจของพวกเราที่ได้มาจากการพิจารณาภาพของสิ่งแวดล้อมทางกายที่ได้เราเห็น (visual perception ?)    ในความเป็นจริงแล้ว ในเนื้อในของภาพที่เราเห็นว่าเรียบง่ายเหล่านั้น มันก็มีความวุ่นวายและมีความสลับซับซ้อนอยู่มากทีเดียว     เรื่องหนึ่งที่ต่างไปจากสังคมเมืองก็ดูจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของชาวบ้านแต่ละคนที่ีมีหน้าที่จะต้องเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมของพื้นถิ่น  ในขณะที่ผู้คนในสังคมเมืองสามารถละเว้นกิจกรรมทางสังคมของเมือง (ส่วนรวม) ได้  แต่ไปเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มแทน   

ในภาพที่ว่ามานี้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย จึงอาจจะมองใด้ในลักษณะของวิถีชีวิตในพื้นถิ่นที่ตนเองรู้สึกจากการเปรียบเทียบตามจริตของตน หรือมองในลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่ตนเองรู้สึกว่าไม่ยุ่งเหยิง ไม่วุ่นวาย ไม่เร่งรีบ... ไปเสียทุกเรื่อง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 มิ.ย. 23, 18:27

ดูจากปฎิทินที่กำหนดเป็นวันหยุดราชการในแต่ละปี จะพบว่ามีอยู่ประมาณ 20+วันที่เป็นวันหยุดที่คนในเมืองส่วนมากจะอยู่กับบ้าน แต่หากมีวีนหยุดชดเชยต่อเนื่องก็มักจะหาโอกาสพาครอบครัวเดินทางออกไปพักผ่อนในต่างจังหวัด  ต่างไปจากผู้คนที่อยู่ในชุมชนระดับหมู่บ้าน ที่หลายๆวันหยุดเหล่านั้นกลับต้องมีภารกิจที่ต้องทำร่วมกัน    ซึ่งเมื่อผนวกกับวันที่เป็นวันบุญและวันประเพณีของถิ่น ก็ทำให้จำนวนวันของกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกันก็จะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก(ก่อนและหลังวันงาน)  ยังไม่นับรวมถึงวันที่ต้องประชุมเพื่อหาความเห็นและการตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่างๆที่มากระทบกับหมู่บ้าน หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มงานที่จัดตั้งขึ้นมาโดยทางราชการ หรือโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน... (ดูจะเรียกการประชุมเหล่านี้ว่า 'ประชาคม')  แล้วก็ยังมีวันที่จะต้องออกไป 'เอาแรง' หรือ 'ใช้แรง' ในกรณีของบางภารกิจที่ต้องดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่า 'ลงแขก'

ก็เป็นภาพอย่างคร่าวๆที่ดูลึกลงไปในมุมหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมที่ดูเรียบง่าย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 มิ.ย. 23, 19:57

ก็จะขอขยายภาพลักษณะของโครงสร้างของชุมชนและสังคมในท้องถิ่น

ตามประสบการณ์ของผม โครงสร้างของชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มแปรไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงประมาณ พ.ศ.2525 หลังจากเรื่องความเห็นต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองได้ยุติลง    ชุมชนเล็กๆที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมกันในระดับ 5-10 หลังคาเรือนได้ขยายใหญ่ขึ้นไปในระดับ 20+ หลังคาเรือน จากที่เรียกกันว่า 'บ้าน' ก็กลายเป็นเรียกว่า 'หมู่บ้าน' ขนาดเล็ก   ขยายต่อเนื่องไปสู่ระดับ 50+ หลังคาเรือนในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีต่อมา แล้วกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ถึงระดับ 100 หลังคาเรือน   หมู่บ้านที่มีการขยายใหญ่ในช่วงเวลาเช่นนี้ ก็มีเหตุมาจากถนนและไฟฟ้าที่เข้ามาถึง  ซึ่งก็หมายถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยให้เกิดสภาพของ 'การเข้าถึง' (Accessibility) ในด้านต่างๆ ยังผลต่อไปให้เกิดการเพิ่มในด้านของขีดความสามารถในการพัฒนาด้านการผลิตและด้านผลิตผล

สภาพของชุมชนที่มีลักษณะเป็นหมู่บ้านใหญ่ แต่เดิมที่เรียกว่า 'บ้าน....'  ถูกนำมาจัดเป็นกลุ่มใหญ่แล้วเรียกแต่ละหมู่บ้านว่า 'หมู่ 1, 2,..'  หลายหมู่จัดรวมกันเป็น 'ตำบล...'   แต่ละตำบลมีขอบเขตพื้นที่กำหนดไว้ชัดเจน   คนที่ไม่คุ้นเคยก็เลยงงกับชื่อหมู่บ้านและชื่อหมู่ที่ใช้ตัวเลขว่ามันใช่เป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่  แต่ก็จะมีงงเข้าไปอีกที่ เช่น หมู่ 1 ชื่อ บ.ป่าซางเหนือ หมู่ 2 ชื่อ บ.ป่าซางใต้ ฯลฯ   หรือกระทั่ง บ.ป่าซางเหนือป็อกเหนือ (กลุ่มด้านทิศเหนือ) กับ บ.ป่าซางใต้ป็อกใต้ (กลุ่มด้านทิศใต้)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 มิ.ย. 23, 18:21

ดังที่ อ.เทาชมพู ให้ความเห็นไว้

สังคมชนบทที่ดิฉันรู้จัก คือสังคมที่รู้จักกันหัวบ้านท้ายบ้าน   เป็นเครือญาติเกี่ยวดองกันเยอะ.....  ผิดกับสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่....
สังคมชนบทไม่ค่อยมีอะไรที่ปกปิดกันได้ ....

ในปัจจุบัน สภาพเช่นนี้ก็ยังคงเป็นอยู่  ที่จะต่างออกไปจากในอดีตก็คือ เดิมนั้นหมู่บ้านจะมีขนาดเล็ก ในระดับ 20-50 หลังคาเรือน แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนมากดูจะอยู่ในระดับ 100-300 หลังคาเรือน   ซึ่งระดับของการขายตัวของชุมชน(ขนาดของหมู่บ้าน)ดูจะมีความสัมพันธ์กับช่วงของการฟื้นทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งและโควิด-19   เป็นลักษณะของการกลับมาทำมาหากินในพื้นที่บ้านเกิด ทั้งการกลับมาทำนา ทำสวน รับงานที่ตนเองมีความสันทัดทางฝีมือที่ได้มาจากการทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ (skill)   ก็จึงไม่แปลกนักหากจะพบคนที่เราเห็นว่ามีบ้านที่มีอุปกรณ์และมีอาชีพทำนา แต่รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิกส์ (ทีวี โทรศัพท์มือถือ...)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 04 มิ.ย. 23, 19:26

สังคมพื้นบ้านได้เปลี่ยนไป แต่ละหมู่บ้านได้ขยายใหญ่ขึ้นด้วยการกลับมาของลูกหลานและญาติโยม  ปู่ย่าตายายใช้ชีวิตอยุ่กับบ้าน พ่อแม่ยังคงใช้ชีวิตประจำวันลงสวน ไร่ นา และรับจ้างรายวัน    ฝ่ายลูกหลานก็เปิดร้านกาแฟบ้าง ร้านซ่อมเครื่องยนต์บ้าง รับงานเชื่อมบ้าง รับทำมุ้งลวดบ้าง รับคั่วเมล็ดกาแฟบ้าง หรือเข้าไปทำงานในเมือง ....

ในตลาดสดซึ่งแต่ก่อนนั้นมีแต่ผักพื้นบ้านไม่กี่ชนิดวางขาย  ในปัจจุบันก็มีพวกผักเมืองหนาวหลายชนิดวางขายมากขึ้น เช่น พวกผัก Cos ต่างๆ  เห็ดกระดุม (Champignon)  Avocado หลายสายพันธ์      บางช่วงเวลาก็มีผลไม้ ลูก Nectarine สด  ลูก Plum สด (ลูกไหน,ลูกพรุน)

ก็มีที่ประทับใจผมในหลายๆความรู้สึก คือ ได้ไปนั่งกินอาหารในร้านอาหารที่อยู่ห่างจากเมืองไปประมาณ 15 กม. โต๊ะอาหารตั้งอยู่ในพื้นที่สวนหลังบ้าน เป็นอาหารกลางวัน เป็นอาหารไทยฉบับนิยมของไทย (ลาดหน้า ผัดกะเพรา..) ใช้ผักปลอดสารที่ปลูกเองหลังบ้าน เครื่องปรุงและการจัดจานออกไปทางแฝงแนวคิดแบบ fusion   จานสลัดก็ใช้ผักปลูกเองและดอกไม้ แถมน้ำสลัดก็เป็นแบบทำเองด้วยการใช้ผลไม้เป็น base  อร่อยใช้ได้เลยครับ  น้ำผลไม้ก็ไม่ธรรมดา รสดีและรู้สึกสดชื่นทีเดียว   ก็ปรากฎว่า เชฟเป็นสาวจบระดับ ป.ตรี จาก Cordon Blue  ก็ไปใช้บริการมื้อกลางวันอยู่หลายครั้ง   ในสังคมที่เรียบง่าย ก็มีความเรียบง่ายที่มีอะไรๆที่ไม่สูงด้วยราคาแฝงอยู่เช่นนี้เหมือนกัน         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 05 มิ.ย. 23, 18:30

แต่เดิม คนในแต่ละหมู่บ้านโดยส่วนมากจะเป็นญาติหรือมีความเกี่ยวดองกันฉันญาติที่มีความใกล้ชิดกัน  เติบโตขึ้นมาด้วยกัน เล่นด้วยกันมา หรือได้รับการเลี้ยงดู/ดูแลจากคนเดียวกัน (ผู้พี่, ฝากช่วยดูแล...)  แต่ในปัจจุบันก็มีคนที่เป็นเขย เป็นสะใภ้ และที่โยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยรวมอยู่ด้วย (เช่น ซื้อที่ดิน ปลูกบ้าน ทำสวน ทำไร่ในพื้นที่) ซึ่งก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน เพราะพวกแปลกปลอมที่เข้ามาอยู่นี้ ส่วนมากจะเป็นพวกที่เคยสวมหัวโขนในระดับตัวนำของส่วนราชการ เมื่อถอดหัวโขนแล้วก็กลับลงสู่สามัญ ลงสู่ระดับอยู่คลุกกับชาวบ้าน พยายามแสวงหาการใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย ที่บวชเป็นพระจำวัด/จำพรรษาอยู่ที่วัดของหมู่บ้านก็มี   ในละแวกพื้นที่ๆผมไปอยู่และดำเนินชีวิตในแนววิถีชาวบ้านเป็นช่วงๆนี้ ก็มีทั้ง Celeb.และผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมาใช้ชีวิตอยู่เป็นช่วงๆเช่นกัน

ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย จึงน่าจะพิจารณาได้ในสองรูปแบบ ซึ่งเป็นการมองในเชิงของการเปรียบเทียบ คือ เอาวิถีการดำเนินชีวิตของเราที่ดูวุ่นวาย ที่ต้องถูกกำหนดโดยกฎกติกาและ Ettiquette ทางสังคมเป็นที่ตั้ง เอาไปเปรียบเทียบกับภาพของการดำเนินชิวิตของผู้คนที่ได้เห็นเมื่อผ่านเข้าไปในพื้นที่ชนบทต่างๆ  ก็คือเห็นเขาเรียบง่าย   หรือมองในภาพของความรู้สึกภายในของเราว่าเรารู้สึกสงบและเรียบง่าย                 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 05 มิ.ย. 23, 19:19

ด้วยที่ได้คลุกอยู่ในสังคมพื้นถิ่นมานานพอสมควร  ก็ได้เห็นภาพด้านหลังของสังคมชนบทที่เราเห็นภายนอกว่าดูเรียบง่ายนั้น ซึ่งก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ย้อนกลับไปว่า ในหนึ่งตำบลนั้นมีหลายหมู่บ้าน ที่ว่าผู้คนล้วนมีความเกี่ยวโยงกันในเชิงญาตินั้นก็จริงอยู่ แต่ภายในหลายๆตำบลนั้นก็มีหมู่บ้านที่เกือบจะไม่มีผู้คนโยงใยกันในเชิงญาติเลยก็มี  ซึ่งก็มีเหตุผลและที่มาที่ไปอยู่พอสมควร   ส่วนมากแล้วหมู่บ้านเหล่านี้มักจะเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ เกิดมาจากการแบ่งเขตการปกครองตามนัยของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นและเรื่องอื่นใด (สภาพภูมิประเทศ จำนวนประชากร สภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ...)  ในหลายๆกรณีแต่ละหมู่บ้านก็มีความต่างกันที่สามารถโยงไปถึงพื้นที่ต้นทางที่อพยพมาอยู่อาศัย  ตัวอย่างที่พอจะกล่าวถึงก็เช่น หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลของบางอำเภอของจังหวัดในภาคเหนือของไทย (ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) ในภาคอีสาน (สกลนคร นครพนม สุรินทร์ บุรีรัมย์...) ในภาคกลาง (ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี...) ในภาคใต้ (ระนอง ยะลา นราธิวาส...) 

ก็น่าจะพอนำไปสู่ภาพของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทยเราที่มีความต่างกันลงไปได้ถึงในระดับหมู่บ้าน         
บันทึกการเข้า
unicorn9u
มัจฉานุ
**
ตอบ: 65


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 06 มิ.ย. 23, 09:54

อยู่ๆนึกถึงการทำบุญสลากภัต ขึ้นมาได้ เคยทำที่วัดแถวบ้านสมัยอยู่ต่างจังหวัดครับ
ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ไหม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง