เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 400 ขออนุญาตเรียนถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 25 พ.ค. 23, 19:38

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ

   ก่อนจะเข้ากระทู้ ผมขอสารภาพตามตรงกับทุกท่านเป็นอันดับแรกเลยครับ ว่าผมชื่นชอบสายฝนอย่างมาก ยิ่งมีสำเนียงฟ้าคะนองประกอบ ยิ่งหลงรักเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเชียวครับ ดังนั้น เมื่อปีนี้ ประเทศไทยของเรากำลังจะเผชิญกับสภาวะอากาศแบบ “เอลนีโญ” ผมจึงรู้สึกว่าชีวิตขาดความสดชื่นรื่นรมย์ลงไปไม่น้อยเลย บางครั้ง กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลระวังพายุฤดูร้อน แต่เอาเข้าจริง ผมก็คอยเก้อ ฝนกับลมเคลื่อนจากประเทศไทยตอนบนลงมาถึงแค่แถบๆจังหวัดภาคตะวันออก อย่าง จันทบุรี, ระยอง, ตราด, ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ฯลฯ ที่จะกระเส็นกระสายมาถึงกรุงเทพมีน้อยครั้งนัก ผมเลยอกหัก แต่ร้องไห้ไม่ออกครับ เพราะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มิมีมนุษย์คนไหนดลบันดาลให้เป็นดังใจได้ทั้งนั้น

   ผมพอทราบข้อมูลเลาๆว่า เอลนีโญ เกิดจากลมค้าตะวันออกซึ่งพัดมายังทวีปเอเชียมีกำลังอ่อนผิดปรกติ หรือมิฉะนั้นก็พัดกลับทิศ หวนไปทางแถวๆทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้กระแสน้ำอุ่นไม่ไหลเทมาทางบ้านเรา ความกังขาของผมก็คือ ดินฟ้าอากาศประเทศไทยนั้น ถูกควบคุมด้วยลมหลากประเภท หลายกระแส เช่นขณะนี้ เข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว เรามีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม แต่ฝนระดับหนักถึงหนักมากยังไม่ถล่มกรุงเทพจนน้ำรอระบายเจิ่งนองตามท้องถนนสักที ผมพิศวงเหลือเกินครับ แค่ลมค้าตะวันออกกับกระแสน้ำอุ่นผันผวน มันก่อความแห้งแล้งร้ายแรงมหันต์ได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ? เหตุใด ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประจำฤดูฝนจึงไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง ท่านผู้ใดมีความรู้ โปรดเอื้อวิทยาทานให้ผมคนโฉดเขลาเบาปัญญาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถือ
นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33477

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 พ.ค. 23, 19:47

เสียใจจริงๆ    ไม่มีความรู้ทางภูมิศาสตร์ และลมฟ้าอากาศ    ใครทราบ ช่วยตอบคุณชูพงศ์หน่อยนะคะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 พ.ค. 23, 22:02

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   เมื่อปีกลายนี่เองครับ ผมจำได้ไม่ลืม วันที่ ๑๖ กับ ๑๗ พฤษภาคม ฝนตกหนักที่กรุงเทพติดกันสองวัน โดยเฉพาะ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ หลายพื้นที่เจอเข้าไประดับร้อยกว่ามิลลิเมตร ฝนเริ่มลงเม็ดตอนหัวค่ำ พอสามทุ่มกว่าก็จัดหนักจนรุ่งสางของอีกวัน (ซึ่งสาสมใจผมมากครับ) ปีนั้นเราเจอสภาวะอากาศแบบ “ลานีญา” ฝนเลยชุก แต่ปีนี้ กรมอุตุบอก ยังไม่เข้าปรากฏการณ์เอลนีโญเลย ทว่าจวนจะสิ้นเดือนพฤษภาคมอยู่รอมร่อแล้ว ฝนหนักยังไม่ลงมาสักห่า อากาศร้อนจัด หากกล่าวตามทฤษฎี น้ำย่อมจะถูกแสงอาทิตย์เผาให้ระเหยขึ้นสู่เบื้องบนไปรวมตัวกันเป็นเมฆ เมื่อเมฆอุ้มน้ำหนักน้ำที่สะสมไว้ไม่ไหว ก็จะทิ้งปริมาณน้ำเหล่านั้นลงมาเป็นฝน ปรัศนีของผมคือ ความชื้นในอากาศมีแน่ ทว่าทำไม เมฆช่างอดช่างทน แบกรับน้ำไว้ได้มหาศาล ผมงงจริงๆครับอาจารย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33477

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 พ.ค. 23, 10:41

ข่าวดีสำหรับคุณชูพงศ์ค่ะ
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม นี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้
กรุงเทพและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวันอุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12563



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 พ.ค. 23, 11:35

ว่าด้วยเรื่อง เอลนีโญ (El Niño) & ลานีญา (La Niña) และผลกระทบต่อสภาวะอากาศของโลก

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 พ.ค. 23, 13:45

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านอาจารย์เพ็ญชมพูอย่างยิ่งครับ สำหรับข้อมูล เมื่อเช้า ผมไปอ่านประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เขาบอกว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ถึง ๓๐ พฤษภาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนอาจเจอฝนตกหนัก เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนจากเวียดนามผ่านบ้านเราไปลงอ่าวมะตะบัน แต่ผมไม่อยากหวังครับ ถ้าฝนจะมาจริง คงโปรยปรายลักษณะเดิม คือให้ความชุ่มฉ่ำแก่ชาวจังหวัดจันทบุรี, ระยอง, ตราด, ชลบุรี หากจะมาได้ใกล้กรุงเทพที่สุด คงจ่อๆตรงปทุมธานี หรือไม่ก็บริเวณใดบริเวณหนึ่งของนนทบุรีกระมังครับ สมมุติว่า กรุงเทพมีบุญอยู่สักหน่อย คงเจอแค่ฝนปรอยๆตามเดิม

   นักวิชาการท่านหนึ่งเคยพยากรณ์ไว้ว่า เราจะเจอสภาวะเอลนีโญติดต่อกันไปถึง ๔ ปี ผมฟังท่านแถลงจบถึงกับสะดุ้ง ตกใจมากครับ เพี่ยง ขอให้ผลคาดการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะหากเป็นไปตามนั้น สงสัยการประปานครหลวงมีน้ำไม่พอจ่ายให้ประชาชนอุปโภคบริโภคได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงแน่นอนครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12563



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 พ.ค. 23, 17:35

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO)  ระบุว่า หลังในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกเผชิญกับรูปแบบสภาพอากาศลานีญากว่า ๓ ปี  ซึ่งมักจะทำให้อุณหภูมิโลกลดลงเล็กน้อย ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปีนี้ มีโอกาส ๖๐% ที่รูปแบบสภาพอากาศจะเปลี่ยนเป็นเอลนีโญซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และโอกาสที่จะเกิดขึ้นยังเพิ่มเป็น ๗๐-๘๐% ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม Wilfran Moufouma Okia ผู้อำนวยการฝ่ายบริการพยากรณ์ภูมิอากาศระดับภูมิภาคให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่มีการประเมินที่แน่ชัดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะผลักดันให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมากเพียงใด

ข่าวจาก โพสต์ทูเดย์

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 พ.ค. 23, 18:29

ขอบพระคุณข่าวจากท่านอาจารย์เพ็ญชมพูเป็นอย่างยิ่งครับผม อ้าว! เราเข้าสู่สภาวะอากาศแบบเอลนีโญแล้วหรือนี่! มิน่าเล่า เดือนนี้จึงยังร้อนเทียบเท่าเดือนเมษายน และผมยังไม่ได้ยินคำว่า “ร่องมรสุม” จากกรมอุตุนิยมวิทยาสักหน ทั้งๆช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เขามักเคลื่อนมาแตะขอบๆของภาคเหนือกับภาคอีสานตอนบน พอปลายเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม จึงจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ย้วยไปถึงภาคใต้ตอนบน แต่สำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๖  ช่วงปลายฝนคงจะแล้งลากยาวจนสิ้นปี โดนเผากันต่อไปโดยหมดหนทางระงับยับยั้ง น่าเศร้าจังเลยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.031 วินาที กับ 19 คำสั่ง