เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1170 ทนายหน้าหอมีจนถึงช่วงสมัยไหน
mark08
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 15 เม.ย. 23, 20:50

สวัสดีค่ะ อยากทราบเรื่องทนายหน้าหอ
ว่าหลัง ร.5 ยกเลิกระบบทาสและไพร่
จัดตั้งระบบการศึกษาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
ทนายหน้าหอที่รับใช้เจ้านายยังมีอยู่ไหมคะ
ถ้ามีจนถึงถึงช่วงเวลาไหน

ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 16:57

อ่านแล้วค่อนข้างงง  เพราะคำถามคุณเอาเรื่อง 2  เรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาโยงเข้าด้วยกัน
แต่จะพยายามตอบตามที่ตัวเองเข้าใจ
ถ้าผิด คุณเพ็ญชมพูคงจะเข้ามาบอกเอง

คือทนายหน้าหอ เป็นตำแหน่งหัวหน้าคนรับใช้   ทำนองเดียวกับ butler ของอังกฤษ    ไม่เกี่ยวอะไรกับระบบทาสและไพร่   ไม่เกี่ยวกับระบบการศึกษา   พูดแบบภาษายุุคนี้คือเป็นงานจ๊อบงานหนึ่ง   ทำงานเป็นบริวารชั้นมีหน้ามีตาหน่อยของขุนนาง     ถ้าเป็นในสมัยโบราณที่มีศักดินา   เมื่อขุนนางมีกรณีพิพาทกับคนที่มีศักดินาต่ำกว่า ก็ไม่ต้องไปตากหน้าหาตุลาการตัดสินปรับโทษเอง  ใช้ทนายหน้าหอไปแทนก็ได้

ถ้าถามว่าทนายหน้าหอมีมาจนช่วงเวลาไหน   ก็กำหนดพ.ศ.เป๊ะๆลงไปไม่ได้  เพราะอาชีพนี้ไม่ได้ระบุไว้เป็นทางการ จึงไม่มีการยกเลิก   แต่ดูตามเหตุการณ์   หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ขุนนาง  ต่อมามีสงครามโลกครั้งที่ 2   เศรษฐกิจไม่ดี   ขุนนางเก่าๆที่ยังเหลืออยู่ไม่สามารถจ้างบริวารได้มากๆ  ทนายหน้าหอก็หมดไปเอง  
ปัจจุบัน คนที่ทำหน้าที่คล้ายทนายหน้าหอสำหรับเศรษฐี  คือเลขานุการส่วนตัวที่เป็นผู้ชาย
บันทึกการเข้า
mark08
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 18:16

ขอบคุณนะคะ

เผอิญเห็นซีรีส์วายเรื่อง "หอมกลิ่นความรัก"
เป็นเรื่องเกี่ยวกับทนายหน้าหอ
อยู่ในช่วง ร.7 พ.ศ.2470-2471
เลยสงสัยว่าในสมัยนั้นอาชีพนี้ยังมีอยู่รึเปล่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 18:37

สมัยรัชกาลที่ 7  มีค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 19:35

คำว่า "ทนายหน้าหอ" ปัจจุบันใช้เป็นสำนวน หมายความว่า "คนที่มักออกหน้าแทนผู้เป็นนาย" มักใช้เป็นคำเหน็บแนม ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น ทนายหน้าหอ คงไม่พอใจเท่าไร


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 พ.ค. 23, 11:10

           ร.5 ทรงปลอมพระองค์เป็นทนายตามเสด็จที่กำแพงเพชร

คุณเอนก นาวิกมูล เขียนว่า

          สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  เมื่อ 1 ตค 2483

          หม่อมฉันเห็นว่าเป็นเพราะเจ้านายได้รับความอบรมมา ผิดกับผู้อื่น ตั้งแต่ยังเยาว์จนเติบใหญ่....ถึงจะปิดบังอย่างไร
กิริยาเจ้าคงโผล่ออกมา ซ่อนอาการที่เขาเรียกว่าสง่าไม่ได้ ....”

          เมื่อขึ้นต้นแล้วก็ทรงเล่าต่อว่า เมื่อ ร.5เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร (เดือนสิงหาคม พ.ศ.2449)  วันหนึ่งทรงเรือเล็ก
ไปจอดที่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อจะทรงฉายรูป เจ้าของบ้านลงมาต้อนรับ คิดว่าเป็นพวกข้าราชการที่ตามเสด็จ
          ร.5 ทรงสั่งให้พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์) ออกหน้าสำหรับปราศรัยกับเจ้าของบ้าน ส่วนพระองค์เองขอทำตัว
เป็นทนาย(ผู้รับใช้,ผู้แทนของนาย) เดินตามหลัง

          ไม่ช้าเท่าใดกลก็แตก เพราะท่าทางพระยาโบราณฯเหลียวหน้าเหลียวหลังคอยชำเลืองดูทนายอยู่เรื่อย ส่วนพวกทนายคนอื่นๆ
ก็ไม่เดินคลอไหล่ไปกับทนายคนสำคัญ
          ตัวทนายคนสำคัญเองบางทียังเผลอเรียกเอากล้องชักรูปหรือของอื่นจากเพื่อนทนายไปถ่ายเสียด้วย 
          ที่สุดเจ้าของบ้านก็หันไปเคารพทนายคนสำคัญยิ่งกว่าเจ้าคุณโบราณฯ
          นี่เท่ากับ ร.5 ทรงถูกจับได้ เพราะอาการกิริยาเป็นเครื่องแสดงฐานะอย่างไม่รู้ตัว
     
          ร.5 ทรงเคยตรัสกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯตั้งแต่ครั้งถูกจับได้ที่ดำเนินสะดวก (ขึ้นบ้านยายผึ้งกับเจ๊กฮวด แล้วเจ๊กฮวดจำพระองค์ได้
ในหนังสือเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 1  พ.ศ.2448)ว่าขากลับมากลางทาง  ตรัสว่า
         “ฉันนี้เห็นจะหนียาก”
          ฝ่ายสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯก็กราบบังคมทูลว่า
         “ถ้าเสด็จออกนอกมณฑลกรุงเทพฯ ข้าพระพุทธเจ้าถวายเวลาให้หนี 7 วัน จะตามจับให้ได้”
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 พ.ค. 23, 14:35

คุณเอนก นาวิกมูล เขียนว่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  เมื่อ 1 ตค 2483

ขออนุญาตแก้ไขวันที่ จากวันที่ ๑ ตุลาคม เป็น ๑๕ ตุลาคม

บ้านซินนามอน ปีนัง
วันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓
ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๘ ตุลาคม เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ เวลาเช้า แต่มีรอยตัดเปิดผนึกที่ปีนัง และทราบความในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ว่า จดหมายหม่อมฉันถวายไปเมื่อคราวเมล์ก่อน ก็ถูกตัดเปิดผนึกเหมือนกัน ยุติได้ว่าเป็นเพราะเขาตรวจเข้มงวดขึ้น

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑ ตุลาคม

๑) เรื่องเสด็จประพาสต้นนั้น ………

๒) ชื่อที่เรียกว่า "นิทาน" นั้น ………

๓) ที่ตรัสเล่าเรื่องปลอมพระองค์ ไปกลแตกที่สรรพยานั้นขันดีแต่ไม่ประหลาด หม่อมฉันเห็นว่าเป็นเพราะเจ้านายได้รับความอบรมมา ผิดกับผู้อื่นตั้งแต่ยังเยาว์จนเติบใหญ่ ไม่รู้จักกิริยาบ่าวหรือกิริยากุลบุตรที่ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นขุนนาง ถึงจะบิดบังอย่างไรกิริยาเจ้าคงโผล่ออกมา ซ่อนอาการที่เขาเรียกว่าสง่าไม่ได้

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นที่เมืองกำแพงเพชร วันหนึ่งทรงเรือเล็กไปจอดที่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อจะทรงฉายรูป เจ้าของบ้านลงมาต้อนรับด้วยสำคัญว่าเป็นพวกข้าราชการที่ตามเสด็จ ดำรัสสั่งให้พระยาโบราณออกหน้าเป็น "เจ้าคุณโบราณ" สำหรับทักทายปราศรัยเจ้าของบ้าน พระองค์เองเสด็จตามหลังเป็นทนายไม่ช้าเท่าใดกลก็แตก เพราะท่าทางพระยาโบราณแกปวดตัวเดินเหลียวหลังคอยชำเลืองดูทนายอยู่เสมอ พวกทนายคนอื่นก็ไม่เดินเรียงรอคลอไหล่กับทนายคนสำคัญ ยังซ้ำทนายคนสำคัญเองบางทีก็เผลอเรียกเอากล้องชักรูปหรือสิ่งอื่นจากเพื่อนทนาย ลงปลายเจ้าของบ้านก็หันไปเคารพทนายคนสำคัญยิ่งกว่าเจ้าคุณโบราณ ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเสวยที่บ้านราษฎรในคลองดำเนินสะดวกที่ ถูกลูกเจ้าของบ้านจับได้นั้น ขากลับมากลางทางก็ตรัสแก่หม่อมฉันว่า "ฉันนี้เห็นจะหนียาก" หม่อมฉันกราบทูลว่า "ถ้าเสด็จออกนอกมณฑลกรุงเทพฯ ข้าพระพุทธเจ้าถวายเวลาให้หนี ๗ วันจะตามจับให้ได้"

ที่ทูลนั้นโดยมีหลักฐาน จะทูลตัวอย่างที่หม่อมฉันยังจำได้เวลานี้ ๒ เรื่อง ครั้ง ๑ ลูกสาวผู้มีบรรดาศักดิ์สูงคนหนึ่งหนีตามผู้ชายไป ผู้ปกครองมาให้หม่อมฉันช่วยสืบเสาะหม่อมฉันยังไม่ทันมีคำสั่ง ก็ได้รับโทรเลขบอกมาจากเมืองอุตรดิตถ์ว่า มีชายหนุ่มพาหญิงสาวชาวกรุงเทพฯ ขึ้นไปที่เมืองอุตรดิตถ์ ผู้หญิงเอาแหวนเพชรออกขายเห็นแปลก สงสัยจะเป็นลูกผู้ดีหนีไป อีกเรื่องหนึ่งเจ้าชายทิสากร ในสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์เที่ยวอาละวาดในกรุงเทพฯ พระบิดาเสด็จติดตามเองก็ไม่ได้ตัว มาตรัสบอกหม่อมฉันว่าเห็นจะหนีออกไปหัวเมือง ให้ช่วยสืบจับสักที ยังไม่ทันสั่งกรมขุนมรุพงศ์ฯ ก็จับส่งเข้ามาจากเมืองฉะเชิงเทรา หม่อมฉันเคยสังเกตเห็นว่า ถ้าคนหนีซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ จับยากกว่าหนีออกไปหัวเมือง เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่าจับตัวผู้ร้ายหัวเมืองได้ในกรุงเทพฯ เนือง ๆ

จาก สาส์นสมเด็จ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 พ.ค. 23, 09:35

ในบทความงานวิจัย "พัฒนาการนามศัพท์ "ทนาย" ต้ังแต่สมัยอยธุยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์" ซึ่งศึกษาจากเอกสารร้อยแก้ว ประเภทสารคดี ได้แก่ จดหมายเหตุ, พงศาวดาร, บันทึก และประกาศ พบนามศัพท์ "ทนาย" จำนวน ๖ คำ คือ ทนาย, ทนายคบ, ทนายปืน, ทนายเลือก, ทนายเรือน และทนายความ ไม่พบ "ทนายหน้าหอ" คำนี้พบข้อมูลเฉพาะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕, พ.ศ. ๒๕๔๒ และ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งให้ความหมายว่า  "(ปาก) น. หัวหน้าคนรับใช้ที่ใช้ออกหน้าออกตา, ผู้รับหน้าแทนนาย."

ผู้วิจัยให้เหตุผลที่ไม่พบ "ทนายหน้าหอ" ในเอกสารที่ใช้ศึกษา อาจเป็นเพราะ "ทนายหน้าหอ" เป็นเพียงภาษาพูดเฉพาะคนบางกลุ่ม จึงไม่มีการบันทึกในเอกสารประเภทสารคดีซึ่งมักเป็นเอกสารราชการ

https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jhusoc/article/download/200068/139956


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง