เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 4079 คุยเฟื่องเรื่องละคร หมอหลวง
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 28 มี.ค. 23, 14:22

เวลานี้มีละครเรื่อง หมอหลวง ทางช่อง 3 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และมีกล่าวถึงการแพทย์แผนไทย เลยอยากจะมาแลกเปลี่ยนทรรศนะ มุมมอง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น และเรื่องของมุมมองการแพทย์ ในยุคที่เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา

ถือว่าเป็นกระทู้ประจำละครเรื่อง หมอหลวง ดังที่เคยทำกระทู้ละครหลาย ๆ เรื่องในเรือนไทยแห่งนี้ครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 มี.ค. 23, 20:51

ขอโทษที   ไม่ได้ดูละครเลยค่ะตั้งแต่ต้นปี   ใครดูเรื่องนี้เชิญสนทนาได้เลยนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 มี.ค. 23, 09:35

ขณะที่ละครหลงมิติเวลา หมอหลวง ทางช่อง ๓ กำลังออกอากาศ  ทางช่อง ๗ ก็มีละครหลงมิติเวลาอีกเรื่องคือ เภตรานฤมิต ทั้ง  ๒ เรื่องเดินทางไปในช่วงเวลารัชกาลที่ ๓ เหมือนกัน แม้จะต่างวิธี (หมอหลวง - พายุ  เภตรานฤมิต - เวทมนตร์) มีตัวละครชื่อ บัว เหมือนกัน เรื่องแรกเป็นนางเอก เรื่องหลังเป็นนางร้าย

มีบางคนบอกว่าอยากดูเรื่องที่ ๒ เพราะชื่อคนเขียนบทโทรทัศน์ ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 มี.ค. 23, 14:56

ใครน้อ?


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 เม.ย. 23, 10:35

เมื่อคืน (๔ มีนาคม ๒๕๖๖) มีฉากสำคัญ "หมอบรัดเลย์ กับ การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย"

วันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๐ (ตามปีปฏิทินสากล ตรงกับ ค.ศ. ๑๘๓๗) เจ้าพระยาพระคลังจัดงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส ปืนใหญ่ที่ใช้ยิงไฟพะเนียงเกิดระเบิดขึ้น ทําให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เรียกหมอบรัดเลย์ที่อยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุมาทําการรักษาคนบาดเจ็บ แต่มีผู้สมัครใจยอมให้หมอบรัดเลย์รักษาเพียง ๒ คนเท่านั้น ส่วนมากไปรักษากับหมอไทย มีภิกษุรูปหนึ่งที่บาดเจ็บถึงขั้นกระดูกแขนแตกยอมรับการรักษา หมอบรัดเลย์จึงทําการตัดแขนผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ





หมอบรัดเลย์ได้สรุปไว้ในบันทึกของตนเองว่า คนไทยไม่มีความรู้เรื่องการผ่าตัด และพระสงฆ์ที่ผ่านการรักษาโดยการผ่าตัดไม่นานก็หายดี แม้ว่าตอนนั้นจะไม่มียาสลบหรือยาชาสําหรับการผ่าตัด และยังอ้างด้วยว่าคนที่ได้รับการรักษาจากมิชชันนารีหายดีหมด แต่คนที่ไม่ยอมรักษาตายเพราะบาดแผลเป็นจํานวนมาก

จาก หอจดหมายสาธารณสุขแห่งชาติ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 เม.ย. 23, 11:35

น้องบัวย้อนเวลามาในรัชกาลที่ ๓ หลังหมอบรัดเลย์พิมพ์ ประกาศห้ามสูบฝิ่น ๑ ปี



ประกาศห้ามสูบฝิ่น ลงวันที่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ (วันพฤหัส เดือนหก ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๐๑ ปีกุน เอกศก) เวลาของละครหมอหลวงภาคอดีตจึงอยู่ใน พ.ศ. ๒๓๘๓ ดังนั้นการที่ ทองอ้น ไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของไทย (พ.ศ. ๒๓๘๐) อาจต้องย้อนเวลาไปอีก ๓ ปี ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 เม.ย. 23, 20:35

เวลาของละครหมอหลวงภาคอดีตจึงอยู่ใน พ.ศ. ๒๓๘๓ ดังนั้นการที่ ทองอ้น ไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของไทย (พ.ศ. ๒๓๘๐) อาจต้องย้อนเวลาไปอีก ๓ ปี

แม่บัวน่าจะทราบประวัติศาสตร์ตอนนี้ แต่คงคิดว่าเหตุการณ์ก็ผ่านมาแล้ว ๓ ปี ไยจึงจะเกิดซ้ำขึ้นอีก ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 เม.ย. 23, 12:48

ในวิกิพิเดีย ระบุถึงตัวละครตัวหนึ่งใน หมอหลวง ว่า เจ้าคุณทหาร แถมไประบุว่าเป็น เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าเทียบเวลาสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าคุณสุรวงษ์ฯ ยังเด็กเกินกว่าจะขึ้นเป็นเจ้าคุณทหารได้ (เป็นเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 5)

เจ้าคุณฯ ในที่นี้ จึงน่าจะหมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มากกว่า


บันทึกการเข้า
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 เม.ย. 23, 12:57

ซึ่งต่อให้เรียกเจ้าพระยาบดินทรฯ ว่าเจ้าคุณทหาร ก็ไม่น่าใช่อีก เพราะตามตำแหน่งแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งเจ้ากรมพระสุรัศวดี และขึ้นเป็นสมุหนายก แต่มีบทบาทในทางราชการทหารด้วย โดยเฉพาะในสงครามอานามสยามยุทธ

ในสมัยนั้น จึงเรียกเจ้าคุณบดินทรฯ ว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 เม.ย. 23, 13:00

เทียบกับละคร เภตรานฤมิต ที่ออกอากาศในช่วงไล่เลี่ย ก็กล่าวถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา ว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ เช่นกัน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 เม.ย. 23, 13:19

ถ้าเขียนละครหรือนิยายย้อนยุค    แล้วสงสัยว่าเจ้านายท่านใช้ราชาศัพท์กับองค์เองหรือเปล่า   ก็ตอบว่าเปล่า  ท่านก็รับสั่งด้วยศัพท์ธรรมดาๆนี่เอง
เจ้าที่ใช้ราชาศัพท์กับตัวเอง จำได้แต่ลิเกที่เคยดูตอนเด็กๆ
" อันตัวข้าพเจ้ามีพระนามว่าเจ้าชายโกมินทร์   วันนี้ให้ร้อนรุ่มกลุ้มพระทัย  อยากเสด็จไปป่า..."


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 เม.ย. 23, 09:35

เมื่อคืน (๒๔ เมษายน ๒๕๖๖) มีฉาก ว่าที่หมอหลวงทองอ้น ทำ "ยาลูกครึ่ง (ไทย-ฝรั่ง)" ปลอมเป็นยาไทย





เหตุการณ์ให้คนไข้กินยาขาว (ควินิน) ที่ห่อด้วยยาแผนโบราณมีจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ใช้วิธีนี้คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้านวม) ผู้กำกับกรมหมอหลวงในรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากคนไทยในยุคนั้น ไม่เชื่อการรักษาโดยยาฝรั่ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงเล่าไว้ในหนังสือ "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย ตอนหนึ่งว่า

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี "ยาขาวฝรั่ง" (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด

ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า "ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเป็นประมาณ" ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 เม.ย. 23, 09:35

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงคิดค้นทดลองสรรพคุณ "ยาควินิน" หรือ "ยาขาวฝรั่ง" จากหลักฐานตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการใช้ยาควินินของหมอบรัดเลย์ว่า  

 "...ปลัดเลนำวิชาการแพทย์และยาสมัยใหม่เข้ามาครั้งนั้น เมื่อหัวทีคนทั้งปวงก็พากันทึ่ง ลางคนถึงกับไม่กล้าจะกินเข้าไป เกรงจะไปเกิดโทษร้ายในกายตัว  ครั้นมาเห็นผู้ป่วยที่กินเข้าไปกลับหายสบายตัวจากโรคร้ายมากขึ้น จึงได้พากันทดลองก็ได้เห็นผลชงัดนัก เลยเล่าลือกันมากขึ้น... เสียแต่รสขมจับจิตเสียจริง ด้วยมันคือ ควินินน้ำ... นับว่าเป็นคราวแรกที่ยาฝรั่งเข้ามาในเมืองเรา เวลานั้นผู้ที่มีความรู้ในทางยาไทยอย่างสำคัญของบางกอก ก็มีกรมขุนวงษาธิราชสนิท (ต้นตระกูลสนิทวงศ์พระองค์หนึ่ง) เมื่อท่านได้เห็นยาปลัดเล สรรพคุณชงัดก็เลยเข้าตีสนิทศึกษาเล่าเรียนเอาความรู้ พระองค์ท่านเป็นผู้แสวงวิชาโดยแท้ ผิดกับหมอไทยอื่น ๆ .. "

เมื่อได้ทรงเล็งเห็นสรรพคุณยาควินินว่ามีประโยชน์เพียงใดแล้ว  ได้ทรงนำมาประยุกต์ทดลองเป็นตำรายาแก้โรคไข้จับสั่น  ดังปรากฎในตำรายาของพระองค์ที่กล่าวถึงประโยชน์ของยาควินินตอนหนึ่งว่า  

"… เอายาที่ให้อาเจียนตามที่ชอบใจ กินใส่ปนดีเกลือสักหน่อยหนึ่ง ก็ให้อาเจียนออกมาสามหนสี่หน ถ่ายให้ลงห้าหกหน ให้อดของแสลง มีเนื้อสัตว์ น้ำมัน ข้าวเหนียว กะปิ สุรา เป็นต้น ให้รักษาดังนี้  สักสองสามวันก่อน ภายหลังให้กินยาเทศชื่อควินิน เอาควินินหนักหุนหนึ่ง แบ่งเป็นหกส่วน เมื่อไข้ส่างออกแล้วให้กินส่วนหนึ่งและในสองชั่วโมงกินทีหนึ่งจนถึงเวลากลางคืน เมื่อตื่นขึ้นแต่เช้ากินเหมือนเก่าอีก ควินินนี้เดี๋ยวนี้มีขายที่ตึกหันแตรประมาณห้าสิบขวด เขาว่าถ้าผู้ใดซื้อทั้งหมดจะขายเป็นขวดละสิบเหรียญ ควินินในขวดเดียว หนัก ๒ บาท แบ่งรับประทานได้ ๔๘๐ ครั้ง พอรักษาคนไข้ให้หายขาดได้ประมาณ ๔๐ คน ดังนี้ราคาไม่ถูกมากแล้วหรือ"

จากกระทู้ ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 เม.ย. 23, 09:35

เอกสารหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับโรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่นที่ปรากฎในประเทศไทยนั้น มีบันทึกเอาไว้อย่างละเอียดในเอกสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยที่นายแพทย์บรัดเลย์เองได้จัดทำขึ้น นั่นก็คือหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีกอเดอร์ (Bangkok  Recorder) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่ หมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีริเริ่มจัดทำขึ้นพิมพ์เผยแพร่เป็นสองคราวด้วยกัน คราวแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ถึงเดือนตุลาคม ๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘) รวม ๑๖ ฉบับก็เลิกกิจการ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พิมพ์ออกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ออกเป็นรายปักษ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๑๘๖๕ ถึงประมาณปี ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๐๙) ก็เลิกล้มกิจการ

เอกสารฉบับนี้นับว่าเป็นช่องทางสำคัญอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวสาร วิทยาการความรู้ทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ให้กับชาวสยาม ซึ่งความรู้เกี่ยวกับโรคมาลาเรีย หรือในสมัยนั้นเรียกว่า ไข้จับสั่น ไข้จับ ไข้สั่น ไข้พิศม์ ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในหนังสือจดหมายเหตุนี้ด้วย ดังปรากฎตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ถึงเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รายละเอียดที่ถูกกล่าวถึงไว้ได้แก่ ตำรารักษาไข้จับสั่น ลักษณะไข้จับมี ๔ ประเภท แหล่งขายยาควินินอยู่ที่ตึกหันแตรและบ้านพักของหมอบรัดเลย์ ประวัติและความเป็นมาของยาควินิน วิธีการใช้ยาควินินในการักษาโรคไข้จับสั่น เป็นต้น

เทคนิคและวิธีการรักษาโรคไข้จับสั่นที่เน้นไปที่การใช้ยาสมัยใหม่คือควินินที่นำเข้ามาขายและแจกจ่ายโดยมิชชันนารีเป็นสำคัญ ดังปรากฏอยู่ใน เล่ม ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) หน้า ๓๒ บันทึกไว้ว่า

Treatment of Intermittent Fevers

"ตำรารักษาไข้จับให้ตัวสั่น เมื่อแรกจับ, เทพจรยังกำเริบอยู่, กำลังตัวยังไม่อ่อนลง, ถ้าเป็นดังนี้, ก็อย่าเภ่อกินยาให้ตัดไข้ขาดทีเดียวก่อนเลย, ด้วยว่าขี้มักเปนอีก, ถึงยาจะมีฤทธิ์มาก จะตัดขาดเรวได้, ในเจดวัน, เก้าวัน, สิบสี่วัน, ยี่สิบเอ็ดวัน, ไข้นั้นมักมาจับอีก. เปนไปดังนี้เพราะไม่ได้ถ่ายให้เทพจรอ่อนลงก่อนกินยาตัดให้ขาดนั้น. ผู้ใดเปนโรคไข้สั่น, ก็ให้ถ่ายด้วยดีเกลือไทก็ได้, ดีเกลือเทษก็ได้, เอายาที่ให้รากตามที่ชอบใจ กินใส่ปนกับดีเกลือสักน่อยหนึ่ง, ภอให้รากออกสามหนสี่หน, ถ่ายให้ลงห้าหนหกหน, ให้อดของแสลง, มีเนื้อสัตว์, น้ำมัน, เข้าเหนียว, กะปิ, สุรา เปนต้น. ให้รักษาดั่งนี้สักสามสี่วันก่อน. ภายหลังจึงให้กินยาเทษชื่อคินีน, ที่ไทเรียกว่า ยาขาว, เอาคินีนนั้นหนัก หุน หนึ่ง, แบ่งเปนหกส่วน. เมื่อไข้ส่างออกแล้ว,ให้กินส่วนหนึ่ง, แลในสองชั่วโมงกินทีหนึ่ง ๆ, กินทุกที, จนถึงเวลานอนหลับกลางคืน. แลเมื่อตื่นขึ้นแต่เข้า, เกินเหมือนดั่งว่ามาแล้ว, จนถึงเพลาที่เคยจับ. ถ้าไข้มาจับอีก, ก็ให้หยุดยาคินีนนั้นกว่าไข้จะส่างออกอีก, แล้วก็รับคินีนกินอีกเหมือนหนหลัง, รักษาดั่งนี้ไข้คงหายขาดทีเดียวไม่ใคร่จะกลับมาจับอีก, คินีนนั้น, บัดนี้มีขายที่ตึกหันแตรสักห้าสิบขวด. เขาว่าถ้าผู้ใดซื้อทั้งหมดจะขายเปนขวดละ ๑๐ เหรียน. ถ้าซื้อแต่ขวดเดียวจะขายเป็น ๑๕ เหรียน. คินีนในขวดเดียวน้ำหนัก ๒ บาท, แบ่งเป็น ๔๘๐ มื้อ. ภอรักษาคนไข้สั่นให้หายขาดประมาณได้ ๔๐ คน ดั่งนี้มิถูกนักแล้วหฤา"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 เม.ย. 23, 09:35

มีข้อสังกตว่าแม้จะเน้นการใช้ยาควินินรักษาและบอกวิธีกินอย่างแจ้งชัด แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งวิธีรักษาไข้แบบเก่าที่เคยทำมานั่นคือการระบายความร้อนด้วยยาถ่ายให้อาเจียน การงดของแสลง แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีใหม่ของการใช้ยาที่ยังไม่มั่นใจในคุณวิเศษของยาสมัยใหม่เท่าสมัยหลัง นอกจากนั้นแล้วหมอบรัดเลย์ยังได้นำเอายาควินินมาขายเองด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่จะรักษาด้วยยาฝรั่งสมัยใหม่ที่มีมากขึ้นในหมู่ชาวสยาม ดังปรากฏอยู่ในเล่มที่ ๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘) หน้า ๔o บันทึกไว้ว่า

Quinine for Sale

"ยาคินีนนั้น, แต่ก่อนเขาขายอยู่ที่ตึกหันแตร, แต่บัดนี้เขาได้เอามาฝากไว้ให้ขายที่บ้านข้าพเจ้าหมอบรัดเล, ด้วยข้าพเจ้าเหนว่าในพระนครนี้, คนเปนไข้จับมากนัก, ข้าพเจ้ามีใจเมตตาจะสงเคราะห์คนทั้งปวง จึงรับเอายานั้นมา, เจ้าของสั่งให้ขายอย่างไร, ข้าพเจ้าขายอย่างนั้น. เหตุดังนี้จึงช่วยรับไว้ขาย มิได้เอากำไรเลย. แต่บัดนี้ยานั้นยังมีอยู่ที่บ้านข้าพเจ้าหมอบลัดเล ศัก ๔๐ ขวด. ถ้าผู้ใดจะซื้อเอาหมดทั้ง ๔๐ ขวด จะเอาราคาขวดละสามตำลึงสองบาด. ถ้าจะต้องประสาษ, แต่ขวดหนึ่งสองขวดแล้ว, จะเอาราคาขวดละสี่ตำลึงสามสลึง. หฤาจะเอาสลึงหฤาสองสลึงก็ได้. แลยาขวดหนึ่งนั้นหนักสองบาด, แต่ทว่าลางขวดก็ดูเหมือนมาก, ลางขวดก็ดูเหมือนน้อย, เหตุว่า ยาที่เปนก้อนเม็ดเลก ๆ แน่นอยู่ก็เหนเปนน้อย, ที่เปนก้อนโต ๆ ฟูอยู่ก็เหนว่ามาก, แต่ที่จริงน้ำหนักสองบาดเท่ากันทั้งสิ้น. ไม่มากไม่น้อยกว่ากัน, ยาดีเหมือนกัน อย่าได้สงไสไปเลย."

จากหนังสือ รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคมาลาเรียในประเทศไทย หน้า ๕๔ - ๕๕
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.133 วินาที กับ 20 คำสั่ง