เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 5047 ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 14 มี.ค. 23, 18:07

เป็นอันว่า ไม้ม้วน กับ ไม้มลาย มีการใช้ในการสะกดคำอย่างมีกฎเกณฑ์เป็นเวลานานมาแล้ว ซึ่งอาจจะย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 14 มี.ค. 23, 19:01

ก็มีข้อสังเกตอยู่ประเด็นหนึ่งว่า  พจนานุกรมหรือปทานุกรมเป็นเอกสารอ้างอิงทางภาษาที่มีการจัดเรียงลำดับคำอย่างมีระบบ  เกือบทั้งหมดจะเป็นการบรรจุคำที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารข้ามไปมาระหว่างภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่ง หรือในระหว่างภาษาเดียวกันที่มีพัฒนาการต่างกันทั้งในเชิงของความหมายและอักขระวิธี เช่น พจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสแบบแคนาดา พจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบ South Africa....

จากแนวของข้อสังเกตนี้  หากเราลองจัดทำพจานุกรมหรือปทานุกรมของแต่ละภาษาไทยและสำนวนที่มีการใช้กันทั่วประเทศของเรา  ก็อาจจะทำให้ได้เห็นอะไรๆที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 14 มี.ค. 23, 19:15

ลองดูคำที่อยู่ในกลุ่มที่ออกเสียง 'เอ' ทั้งที่มีตัวสะกดและที่ไม่มีตัวสะกด

คำที่ออกเสียงนี้ดูจะนิยมใช้ในความหมายในเชิงที่ไม่อยู่ในสภาพหรือในลักษณะที่ควรจะเป็นตามปกติวิสัย เช่น  เก, เข, เขิน, เงน(โงนเงน), เจ็บ, เจียด(เจียดจ่าย), เฉ, เบน, เป๋, เท, เย็น, เย(โยเย), เฮ .....   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 15 มี.ค. 23, 17:54

ต้องขอย้ำว่า เรื่องที่นำมาคุยในกระทู้นี้มิได้มีความมุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องในทางวิชาการ  ประสงค์แต่เพียงนำข้อสังเกตในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างกัน (interrelation) มาสนทนากัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 มี.ค. 23, 19:08

ในภาษาอื่นๆก็ดูจะมีกลุ่มความหมายของเสียงที่บ่งชี้ถึงลักษณะหนึ่งใดเช่นกัน   ในภาษาอังกฤษก็จะมีเช่น เสียงนำคำศัพท์ต่างๆ(prefix) ex, un, in, im, con,.... หรือคำที่ออกเสียงลงท้ายด้วย อี้ (y) ซึ่งค่อนข้างจะบ่งถึงลักษณะของความเป็นเช่นนั้น   หรือ อิ้ง (ing)..... ในลักษณะของกำลังเป็นไป   หรือ อายด์ (ide) ในลักษณะของการจบเรื่อง   ผมใช้ข้อสังเกตุงูๆปลาๆในลักษณะเช่นนี้เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจกับความหมายลึกๆของคำต่างๆที่เขาใช้พูดหรือที่ใช้อยู่ในสิ่งพิมพ์  ซึ่งก็ช่วยแกะความโดยนัยแฝงอื่นใดได้ไม่น้อยเลยทีเดียว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 มี.ค. 23, 20:31

ภาษาพูดมีกำเนิดก่อนภาษาเขียนแน่นอน   เมื่อสำเนียงที่เปล่งออกมาของคำเดียวกันของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆไม่เหมือนกัน ก็ทำให้เกิดการใช้ตัวอักขระกลางที่ใช้ในการสะกดคำเพื่อให้อ่านออกเสียงใกล้กับที่สำเนียงเสียงที่เปล่งออกมาของท้องถิ่นเหล่านั้น ใช้อักขระวิธีที่มีการปรับแต่ง ซึ่งมีทั้งเสริมแต่งที่ตัวอักษรและในการสะกดคำ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 16 มี.ค. 23, 19:02

ก็ไปพบว่า บนพื้นฐานของเสียง วิธีการสะกดคำ ผนวกกับสำเนียงที่ต่างกันของชาติพันธุ์ต่างๆที่ใช้ภาษากลุ่มเดียวกันนั้น แท้จริงแล้วคำศัพท์ที่ใช้ก็ไม่ต่างกันนัก  หากเราใช้วิธีการเพียงแต่อ่าน ก็จะพบกับปัญหาในเรื่องที่เรียกว่า อ่านไม่ออก  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเปล่งเสียงของคำๆนั้นออกมาเป็นคำที่เรารู้จัก หากเพียงผ่อนเบากฎของการออกเสียงตามอักขระวิธีลงบ้าง การออกเสียงคำนั้นๆก็จะผันไปคล้ายกับคำที่เราอาจจะรู้จักและรู้ความหมาย เช่น Was kostet ในภาษาเยอรมันก็คือ What (is the) cost ..ในภาษาอังกฤษ  ทั้งสองภาษานี้ออกเสียงเกือบเหมือนกัน แต่การสะกดคำแทนเสียงนั้นต่างกัน   ก็เป็นหลักเดาอย่างหนึ่งสำหรับเริ่มการหาพื้นฐานความรู้กับภาษาอื่นๆ เมื่อพอจะจับหลักได้บ้าง การเดินทางไปในพื้นที่ต่างถิ่นต่างภาษาต่างๆก็จะสนุกมากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากขึ้น เริ่มต้นแบบงูๆปลาๆแต่ก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมความสนใจอื่นใดได้ในภายหลังได้เร็วขึ้น  เป็นการเรียนรู้จากพื้นฐานทางสันทนาการ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 16 มี.ค. 23, 19:28

อีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะเกิดขึ้นเหมือนๆกันกับทุกผู้คน คือดูจะไม่นิยมแยกคำออกเป็นส่วนๆ เลยทำให้เดาความหมายได้ยากขึ้น บางตัวอย่างได้กล่าวถึงแล้ว (prefix ต่างๆ)  ตัวอย่างอื่นๆก็เช่น ชื่อถนนต่างๆในภาษาเยอรมันจะตามท้ายด้วยคำว่า ...strasse  ด้วยที่ภาษาเยอรมันนิยมเขียนคำต่อเนื่ิองกัน เมื่อเราอ่านป้ายชื่อถนนมันก็จะยาว อ่านออกเสียงไม่ทัน ไม่ครบ  เมื่อมัวแต่พะวงในการออกเสียงคำสุดท้าย รถก็ผ่านไปแล้ว ก็เลยไม่รู้จักถนนและจำชื่อถนนนั้นไม่ได้   ชื่อถนนในอิตาลี ก็จะมีคำย่ออยู่มากมาย ในฝรั่งเศสก็ไม่น้อยหน้ากัน แถมป้ายบอกชื่อถนนก็มีทั้งแบบคำเต็มและคำย่อ สนุกดีครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 มี.ค. 23, 19:59

ด้วยเพราะสาขาวิชาที่เรียนมีคำศัพท์ทางเทคนิคที่มีความหมายจำเพาะค่อนข้างมาก บ้างก็เป็นคำที่ผูกกับพื้นที่ บ้างก็สถานที่ บ้างก็กระบวนการ บ้างก็ลักษณะรูปร่าง...  ซึ่งทั้งมวลมักจะเน้นอยู่บนฐานของการได้เห็นหรือได้รู้จักมันในครั้งแรก หรือจากชื่อที่ใช้เรียกความโด่งดังของมัน   ก็เลยพอจะได้รู้จักกับคำบางคำที่ใช้ในภาษาต่างๆ การสะกดคำ และความหมายพื้นฐานของคำนั้นๆ 

หลักการสำคัญของสาขาวิชาที่เรียนมาคือ Uniformitarianism กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกของเราตั้งแต่อดีตกาล ในปัจจุบันนี้มันก็ยังเกิดขึ้นเช่นนั้น ดังนั้น เราจึงเรียนรู้โลกอดีตกาลได้จากการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Present is the key to the past)

เมื่อทำงานที่ต้องเข้าพื้นที่ต่างๆ เดินสำรวจทำแผนที่ธรณีฯที่มิใช่ใช้เพียงแต่แสดงข้อมูลว่าอะไรอยู่ที่ใหนบ้าง หากแต่จะต้องให้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ปรากกฎ (หิน ดิน ทราย แร่ ฟอสซิล ...ฯลฯ)  เพื่อการโยงข้อมูลเรื่องราวกับพื้นที่อื่นๆในเขตอาณา(และนอกเขต)ประเทศไทย  ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า correlation   การเห็นภาพสภาพและเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในอดีตกาลก็จะโยงไปถึงการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ การพัฒนาสาธารณูปโภคที่สอดคล้องกับสภาพทางธรรมชาติ...ฯลฯ

คิดเอาเองว่า ด้วยอิทธิพลของเรื่อง correlation ตามนัยที่กล่าวมา เลยทำให้เกิดนิสัยที่นิยมจะหาความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องต่างๆเพื่อทำความเข้าใจ และ/หรือ สร้างกรอบแนวคิดว่าอะไรควรจะเป็นอย่างใด เช่นใด เหตุใด ...  (governing hypothesis)  แล้วพยายามหาข้อมูลสนับสนุนทั้งในเชิงของการเห็นพ้องหรือไม่เห็นพ้องโดยไม่สรุปแบบปิดประตูความเชื่อใดๆ 

กระทู้นี้ก็เกิดมาจากสาเหตุที่กล่าวมานี้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 มี.ค. 23, 19:29

ภาษาไทยเราพอจะแยกออกได้เป็น 4 ลักษณะสำเนียงใหญ่ๆ คือ ของภาคเหนือ อิสาน ภาคกลาง และใต้   ในแต่ละสำเนียงหลักก็พอจะแยกย่อยออกไปได้อีก บ้างก็ในระดับจังหวัด บ้างก็ในระดับอำเภอ ที่ลงไปถึงระดับตำบลก็มี กระทั่งในระดับหมู่บ้านก็ยังมี   นอกจากในด้านของสำเนียงแล้ว สำนวน การใช้คำ หรือศัพท์ก็มีที่ต่างกันเช่นกัน แต่สังเกตได้ยากหากไม่คุ้นเคยกับถิ่นนั้นๆนานพอ   ในด้านของอาหารก็เช่นกัน

อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความต่างกันเช่นนั้น  แน่นอนว่าก็คงจะต้องนึกถึงเรื่องของเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม สังคม การอยู่ร่วมกัน และการแยกอยู่เป็นกลุ่มๆ  ผนวกกับลักษณะทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ๆตั้งบ้านเรือน/ชุมชน การคมนาคม ...

คนไทยที่อยู่ในแต่ละภาคมีรากเหง้ามาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม  แต่ด้วยการที่ทั้งหมดอยู่ร่วมกันด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็เลยทำให้มีพัฒนาการด้านภาษาสื่อสารแบบผสมผสานที่เป็นลักษณะของภาษากลางของแต่ละภาค และรับสำเนียงไทยกลางเป็นภาษากลางของประเทศ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 มี.ค. 23, 18:01

ภาษาอิสานที่เราได้ยินเขาคุยกันนั้น จะเป็นภาษากลางที่สื่อสารระหว่างกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค  แต่เมื่อคนพื้นถิ่นเดียวกันเขาคุยกัน เราก็อาจจะจับความได้แบบขาดๆ หรือกระท่อนกระแท่น เกือบจับความไม่ได้เลย หรือถึงระดับฟังไม่ออกเอาเสียเลย   ลักษณะของสำเนียงรวมทั้งศัพท์และคำพูดที่ใช้ ไม่เหมือนอย่างภาษาอิสานสำเนียงกลางที่เราคุ้นหูกัน

เหตุผลพื้นๆก็คงจะเป็นเพราะ ภูมิภาคนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ทางอิสานตอนบนก็จัดเป็นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ยังประกอบไปด้วยอีกหลายกลุ่มย่อย กลุ่มนี้มีลักษณะของภาษาคล้ายกับภาษาเหนือ   ทางอิสานใต้และอิสานกลาง ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายกลุ่มย่อยที่อยู่กระจายกันไป กลุ่มนี้มีหลายลักษณะภาษา ซึ่งคนนอกกลุ่มอาจจะฟังไม่รู้เรื่องหรือไม่สามารถพอที่จะเดาความได้เลย   พื้นที่สุดท้ายก็คือพื้นที่ตามรอยต่อกับภาคกลาง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งดูจะใช้ลักษณะภาษาแบบภาคกลาง

น่าสนใจก็ตรงที่ ภาษาอิสานกลาง สำเนียงที่เราคุ้นกันอยู่นี้กำเนิดมาอย่างไร และเป็นที่ยอมรับกันในหมู้ผู้คนในพื้นที่อิสานได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 19 มี.ค. 23, 18:49

ภาษาอิสานดูจะจำกัดวงการใช้อยู่แต่ในเฉพาะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่นิยมเรียกกันว่าที่ราบสูงโคราช   ซึ่งเมื่อมองจากมุมที่เอาเรื่องของภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เห็นว่า ภาษาเหนือก็ดูจะจำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ในภาคเหนือที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าเขา (mountainous terrain หรือ ridge and valley terrain หรือ basin and range terrain)    สำหรับภาษาใต้นั้น ดูจะมีวงเขตของการใช้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการคมนาคม ? (ระยะห่างระหว่างเมืองทางบกและทางน้ำ) หรือในด้านทางภูมิรัฐศาสตร์ ? (ด่านสิงขร)   และสำหรับลักษณะภาษาไทยกลางที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็ดูจะอยู่แต่ในแอ่งพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและพื้นที่ชายทะเลของอ่าวไทยตอนบน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 20 มี.ค. 23, 17:56

เมื่อเกิดความรู้สึกสนุกกับการพยายามจะหาความเข้าใจ(นอกตำรา)  ก็คุยกับชาวบ้านมากขึ้นในเรื่องทางประวัติที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ ทั้งตัวบุคคล ชุมชน หมู่บ้าน ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม อาหารการกิน....   ก็ทุกเรื่องที่จะได้ข้อมูลลึกๆลงไปถึงต้นตอที่ทำให้เกิดลักษณะที่มีลักษณะจำเพาะ ไม่เหมือนกับที่อื่นๆเขา   

ข้อมูลที่เก็บเกี่ยวมาได้ทั้งหมด มิใช่เพื่อใช้แต่เพียงเพื่อเป็นความรู้ตามความสนใจของตนเองเท่านั้น แต่ใช้ประโยชน์(ซึ่งเป็นส่วนมากเสียด้วย)ในด้านของการเอาชีวิตรอดในการเดินทำงานในพื้นที่สีแดงเข้ม สมัยที่ไทยเรามีความขัดแย้งรุนแรงทางอุดมการณ์ของการปกครองประเทศ    ก็นำไปใช้บนฐานของหลักการ 'รู้เขา-รู้เรา' และ 'จริงใจต่อกัน'       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 20 มี.ค. 23, 20:03

นานวันเข้า ก็เลยพอจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษา อาหาร ที่ไม่ค่อยจะเหมือนกันระหว่างชุมชนชาติพันธุ์เดียวกันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะมีสภาพและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ต่างกัน 

ในภาคเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยทิวเขาและแอ่งที่ราบที่ราบ ที่สำคัญก็มี แอ่งเชียงใหม่ แอ่งลำปาง แอ่งเชียงราย แอ่งพะเยา แอ่งแพร่ แอ่งน่าน...  ซึ่งล้วนเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญ ชุมชนในพื้นที่แอ่งนี้ใช้ตัวอักษรในการเขียนไม่ต่างกัน หากแต่ต่างกันในเรื่องของการออกเสียงพูด ความเร็วในการพูด ความห้วนและการลงท้ายคำพูด และความรู้สึกในความอ่อนโยนของภาษาโดยรวม รวมทั้งศัพท์บางคำ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 มี.ค. 23, 19:54

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาเหนือที่ผมเห็นก็คือ คำลงท้ายประโยค ซึ่งบ่งถึงนัยของความรู้สึก อารมณ์ หรือความต้องการตามเนื้อความที่กล่าวออกไป อาทิเช่น -เน่อ, หน้อ ใช้ในบริบทของเรื่องที่มีลักษณะเป็นการร่วม  -หนา ใช้ในเรื่องที่ควรจะต้องเป็น  -หน้อ ในนัยของการยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น  -ก่อ ใช้ในลักษณะของการยืนยันว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งดูจะไปตรงกับคำว่า -บ่อ ในภาษาอิสาน 

อีกอย่างหนึ่งก็คือเสียงที่เหลี่ยนไปของคำลงท้าย และการลากยาวของเสียงนั้นๆ เช่นคำว่า ก๊ะ ก้า และ ก๊า  หรือ ปุ้น กับ ปู๊น    ก๊ะใช้ในนัยว่า ดั่งนั้นเหรอ  พอเป็นก้า ก็อยู่ในนัยว่า ก็เป็นเช่นนั้น แต่พอเป็น ก๊า กลายเป็นนัยว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น    ผมชอบคำว่า ปุ้น ก้บ ปู๊น ซึ่งหมายถึงความไกล หากออกเสียงสั้นตามปกติที่เราอ่าน ก็หมายถึงไกลอยู่นะ แต่หากออกเสียงแบบสั้นและห้วนสุดๆเมื่อใด ก็จะหมายถึงไกลมาก  แต่หากลากเสียงยาวจนเป็นปู๊น ก็จะหมายถึงไกลมากๆๆๆเลยทีเดียว

คำสองสามคำที่กล่าวมานี้เป็นภาษาพูด เมื่อถ่ายทอดลงมาเป็นภาษาเขียนอิงตามอักขรวิธีก็คงจะเป็นการเขียนที่ไม่ถูกต้อง  เพราะจะเป็นเพียงคำที่ไม่มีอารมณ์ใดๆแฝงอยู่    เมื่อจะให้มีมิติของอารมณ์อยู่ในสิ่งที่เขียนนั้นๆก็เลยจะต้องมีการขยายความ เป็นศาสตร์และศิลป์ของการเขียนหนังสือของนักเขียนที่มีชื่อเสียงต่างๆที่สามารถกระชับความให้สั้นแต่กินความได้ลึกซึ้งมาก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 20 คำสั่ง