เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 5079 ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 19:12

คลอง เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยกลางและในภาษาใต้ 

คำว่า คลอง นี้ พบว่าเริ่มมีการใช้ตั้งแต่รอยต่อระหว่างแอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบนกับพื้นที่ทิวเขาของภาคเหนือ ตั้งแต่ พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของ จ.ตาก ในแนวตั้งแต่ อ.แม่ระมาด (เช่น คลองแม่ระมาด) คลองวังเจ้า จ.ตาก   คลองยาง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย   คลองตรอน อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์   

คลอง ดูจะใช้เฉพาะกับร่องน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี  มีข้อสังเกตว่า ในพื้นที่ได้กล่าวถึงนี้ มีการใช้คำว่า ห้วย สำหรับร่องน้ำที่อยู่ในป่าเขา เมื่อน้ำในห้วยได้ไหลลงมารวมกันจนเกิดเป็นร่องน้ำสายหลักที่มีน้ำไหลตลอดปีหรือเกือบตลอดทั้งปี    ต่างจากในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณฝนตกในปริมาณสูง ซึ่งจะทำให้ร่องน้ำต่างๆในพื้นที่รับน้ำมีน้ำไหลรินเกือบตลอดทั้งปี  ในพื้นที่ภาคใต้ก็เลยดูจะนิยมใช้คำว่าคลองสำหรับร่องน้ำต่างๆ  คำว่าห้วยก็เลยไม่ค่อยจะใช้กัน (?)

คลอง ในภาษาไทยภาคกลางดูจะมีความหมายเฉพาะถึงร่องน้ำที่เกิดขึ้นมาจากการขุด 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 19:36

สังเกตว่าภาษาอังกฤษก็ใช้ต่างกันค่ะ 
คลอง canal    ห้วย creek  ลำธาร  stream, brook
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 18 เม.ย. 23, 19:02

ใช่ครับ   

ระบบร่องน้ำในแต่ละพื้นที่รับน้ำ (catchment area) จะมีร่องน้ำที่ประกอบไปด้วย แม่น้ำสายหลัก (river) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี  เหนือขึ้นไปตามแม่น้ำก็จะพบกับจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำสายหลักกับลำน้ำสาขาต่างๆ(ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง)ที่นำน้ำมาส่งให้แม่น้ำสายหลัก พวกลำน้ำสาขาซึ่งเป็นลำน้ำสายรองนี้ใช้คำเรียกต่างๆกัน  สำหรับในภาษาไทยนั้น มีทั้งที่เรียกว่าแม่น้ำ เรียกว่าลำน้ำสาขา เรียกว่าแคว เรียกว่าลำ และที่เรียกว่าห้วยก็มี  ชื่อเรียกเหล่านี้เกี่ยวกับลักษณะของทางน้ำ (ความกว้าง ความยาว การน้ำไหลของน้ำ)    นึกไม่ออกว่าในภาษาอังกฤษใช้คำเรียกเฉพาะว่าอะไร ก็ดูจะใช้คำว่า tributary เติมไปข้างหน้า เช่น tributary river และ tributary stream  ซึ่งคำว่า tributary มีความหมายรวมๆที่หมายถึงบรรดาร่องน้ำที่แตกเป็นสาขาแยกออกไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 18 เม.ย. 23, 20:52

สำหรับคำว่า brook นั้น น่าจะตรงกับคำในภาษาไทยว่า ลำรางธรรมชาติ 

ก็เป็นปกติของความยุ่งยากในการเทียบเคียงศัพท์และความหมายของคำใดๆระหว่างภาษาต่างๆ เพราะต่างก็มีสภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสภาพของความเป็นอยู่และสังคมที่ไม่เหมือนกัน 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 18 เม.ย. 23, 21:14

ตัวอย่าง creek ที่หาเจอค่ะ
ถ้าเป็นไทยจะเรียกว่า ห้วย หรือลำธาร ดีคะ



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 19 เม.ย. 23, 19:35

ตอบอาจารย์ว่า  จะเรียกว่าห้วยหรือลำธารก็ได้ในกรณีการใช้ในเชิงที่หมายถึงแหล่งน้ำ (คำสมุหนาม)  แต่หากในพื้นที่มีหลายทางน้ำไหลผ่าน ก็น่าจะเรียกตามชื่อของทางน้ำนั้นๆ ซึ่งอาจจะนำหน้าทางน้ำนั้นๆด้วยคำว่าห้วย หรืออื่นใด (เช่น ห้วยกระกระเจา ลำอีซู ลำตะเพินใน อ.บ่อพลอย กาญจนบุรี)     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 20 เม.ย. 23, 19:12

เมื่อวานได้พยายามเขียนขยายความไว้ แต่เกิดรู้สึกไม่พอใจกับลำดับเรื่องเลยลบทิ้ง ขอต่อในวันนี้ครับ

เรื่องของชื่อที่ใช้เรียกทางน้ำว่า ห้วย คลอง แคว ลำ แพรก ลำราง ลำธาร เหล่านี้  ผมเห็นว่ามีอยู่สองนัย นัยหนึ่งใช้ในลักษณะของทางน้ำที่เห็นอยู่ตรงหน้า  ในอีกนัยหนึ่ง ทางน้ำนั้นๆมีชื่อเรียกกำกับมาแล้วจากที่ใดที่หนึ่ง   และก็มีแบบที่เปลี่ยนชื่อเรียก เช่น จากห้วยไปเป็นคลอง ฯลฯ หรือตั้งชื่อให้มันตามเส้นทางที่มันผ่าน เช่น จากคลองมะขามเฒ่า เป็นแม่น้ำสุพรรณบุรี  เป็นแม่น้ำนครชัยศรี และเป็นแม่น้ำท่าจีนในที่สุด

ในนัยแรก สำหรับหมู่คนที่อยู่ในพื้นที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีที่เรียก แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน  ว่า แควปิง แควน่าน  เป็นลักษณะของการมองภาพเหนือขึ้นไปทางต้นน้ำ     ก็มีที่มีการเปลี่ยนชื่อแซ่กันทั้งยวง เช่น กรณีคลองแม่วงก์ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง จ.นครสวรรค์ กับ จ.กำแพงเพชร   แต่เดิมเมื่อครั้งยังทำงานในพื้นที่ คลองแม่วงก์เรียกว่า น้ำแม่วงก์ เมื่อขึ้นเหนือไปตามทางน้ำจนถึงบริเวณตีนเทือกเขาก็จึงเริ่มเรียกกันว่าห้วยแม่วงก์ เลยขึ้นไปจนถึงสบห้วยใหญ่(ต้นทางของชื่อแม่วงก์) จะเป็นสบห้วยระหว่างห้วยเดื่อกับห้วยแม่กระสา (ดงของนกเงือก นกแกง ช้าง ค่างเทา และเสือ) แต่ในปัจจุบันนี้ดูจะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นคลองไปทั้งหมด ก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าในพื้นที่แถบนั้นมีตัวอย่างว่า บรรดาทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีใช้ชื่อเรียกว่าคลอง เช่น คลองวังเจ้า คลองลาน คลองสวนหมาก คลองขลุง (น้ำแม่วงก์ในสมัยก่อนนั้นมีน้ำไหลตลอดปี) ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมว่า มีชื่อเรียกว่าคลองในภูมิประเทศที่ควรจะเรียกว่าห้วย(ตามนัยของภาษาพื้นบ้าน)

ก็มีกรณีที่ใช้ชื่อเรียกตามชื่อเรียกต้นทางของทางน้ำสายนั้น แล้วใช้ต่อเนื่องตลอดทางน้ำนั้นๆ เช่น ห้วยขาแข้ง แต่ก็ยังมีการเรียกชื่อเปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่นที่บริเวณใกล้ปากห้วยที่สบกับแม่น้ำแควใหญ่ ก็เรียกว่า ปากลำขาแข้ง (มีการใช้คำว่า ลำ)       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 21 เม.ย. 23, 19:42

มาถึงเรื่องของภูเขาซึ่งมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่หลากหลาย ที่คุ้นๆกันก็จะมีเช่นคำว่า ดอย เขา ภู ภูเขา ควน เนิน กิ่ว ทิวเขา เทือกเขา ม่อน ผา ถ้ำ ชะง่อน ฯลฯ   ก็น่าจะพอแบ่งออกเป็นพวกคำที่ใช้ในการเรียกในลักษณะของภาพรวมกับคำที่ใช้เรียกลักษณะเฉพาะบางอย่าง 

'ดอย' เป็นคำในภาษาเหนือที่ใช้ในลักษณะของภาพรวม   'เขา' เป็นคำที่ใช้ทั้งในภาคภาคกลางและภาคใต้ในลักษณะภาพรวม  ภู' ใช้ในภาคอีสานในลักษณะของภาพรวม   ก็มีคำว่า'ม่อน'อีกคำหนึ่งซึ่งดูจะใช้กับพื้นที่ในป่าเขาในบริเวณสำคัญที่มีความเด่นในเรื่องหนึ่งใด หรือเป็นพื้นที่ๆมีเรื่องราว/ประวัติสำคัญในอดีต  หรือที่เป็น land mark 

สำหรับพื้นที่ๆเป็นเนิน ในภาษาเหนือดูจะไม่มีคำที่ใช้เรียกเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ๆเป็นป่าเขา (mountainous terrain) เนินดิน/หินเกิดมาจากการไหลของหิน/ดินลงมากองเป็นเนินตามตีนเขา นิยมใช้ชื่อเรียกเนินเหล่านั้นตามลักษณะเด่นของพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เช่น ป่าเหียง ป่าบง ป่าตึง ป่าแพะ...     

ในภาษาภาคกลางใช้คำว่า'เนิน'  ในอิสานใช้คำว่า'โคก' และ'มอ'  พื้นที่ของภูมิภาคทั้งสองนี้ มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ    เนินของภาคกลางส่วนมากจะเกิดมาจากการตกตะกอนของดิน/ทรายที่ลำน้ำต่างๆพัดพามา   ส่วน 'โคก'และ'มอ' ของอิสาน ส่วนมากจะเป็นผลมาจากกระบวนการกัดกร่อน (weathering & erosion) 

ในภาษาใต้ใช้คำว่า 'ควน'  ด้วยที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ๆมีฝนตกในปริมาณสูง ทำให้มีพื้นที่ๆฉ่ำน้ำกตลอดเวลามากมาย  คำว่าควนนี้ค่อนข้างจะหมายถึงพื้นที่ๆค่อนข้างจะแห้งหรืออยู่สูงกว่าระดับน้ำผิวดิน(water table)         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 22 เม.ย. 23, 18:34

ในปัจจุบันนี้ คำว่า 'ภู' ในภาษาอิสานถูกนำมาใช้เรียกสถานที่มากมายหลายแห่งในภาคเหนือ เป็นลักษณะของการตั้งชื่อให้กับสถานที่ๆมีความเด่นในเชิงของความสูงข่มที่มีการพัฒนาและถูกใช้ในเชิงเศรษฐกิจ  ทำให้คำว่า 'ม่อน' ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมกำลังถูกละหายไป   คำว่า 'ดอย' ซึ่งแต่เดิมหมายถึง 'ภูเขา' หรือทิวเขาสูง หรือพื้นที่สูงข่ม ก็ดูจะถูกปรับคุณลักษณะลงเหลือเป็นเพียงพื้นที่สูงข่มในทิวเขา

ไม่ได้ติดตามว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้คำว่า 'ภู' นำหน้าชื่อสถานที่สูงข่มบ้างแล้วหรือยัง  แต่เชื่อว่า คำว่า 'ห้วย' นั้นน่าจะมีแล้ว เพราะมีคนที่มีเชื้อเป็นชาวเหนือและอิสานลงไปตั้งถิ่นฐานอยู่มากพอสมควร   

ก็มีข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งว่า  ภู เป็นคำในภาษาอิสาน   เขา เป็นคำในภาษาภาคกลาง  ด้วยเหตุใดจึงเอาทั้งสองคำมาต่อกันให้เป็นภาษาไทยแบบทางการ ฤๅจะเป็นเพื่อการให้ภาพในลักษณะสมุหนามที่ชัดเจน  ทั้งคำว่า ภู, เขา และดอย เป็นคำที่ใช้ทั้งในลักษณะนามและสมุหนาม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 22 เม.ย. 23, 19:27

ขอย้อนกลับไปเรื่องของคำว่า ห้วย   

คำนี้มีการใช้ต่อเนื่องตลอดในพื้นที่ด้านตะวันตกของไทย จากภาคเหนือลงใต้ไปถึงในพื้นที่ตอนล่างของ จ.ประจวบฯ   เลยมีข้อสังเกตว่า ในพื้นที่แถบนี้ก็มีด่านสิงขร ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพเส้นหนึ่งของพม่า และก็น่าจะเป็นช่องเขาที่ใช้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมกับเมืองมะริดซึ่งเคยอยู่ในอาณัติของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา  เลยคิดเอาเองว่า ด้วยลักษณะของภาษาที่ใช้เรียกสถานที่นั้นๆ ฤๅคนไทยที่อยู่ในพื้นที่แถบ อ.บางสะพาน จ.ชุมพร นี้   เราน่าจะพอย้อนสาแหรกของพวกเขาได้ ซึ่งอาจจะไปได้ไกลถึงต้นทางของการมาตั้งถิ่นฐายบ้านเรือนในพื้นที่แถบนี้  ใต้ลงไปจากนี้ เมื่อเข้าเขต จ.ชุมพร คำว่าห้วยก็จะหายไป ใช้คำว่า 'คลอง' แทน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 23 เม.ย. 23, 18:59

เมื่อเริ่มทำงานสำรวจทำแผนที่ธรณีฯอย่างเป็นระบบของประเทศไทย (พ.ศ.2512) แผนที่ๆใช้เป็นพื้นฐานในการเดินป่าดงและเพื่อบันทึกตำแหน่ง/สถานที่ๆ หรือบริเวณที่ให้ข้อมูลที่สำคัญ เป็นแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ของชุดแผนที่ (Series) L708  แผนที่แต่ละแผ่นจะมีขนาดความกว้างยาวครอบคลุมพื้นที่ขนาด 10x15 ลิปดา (ปัจจุบันนี้ใช้ชุดแผนที่ L7017 และ L7018 แต่ละแผ่นคลุมพื้นที่ 15x15 ลิปดา) ข้อมูลรายละเอียดทั้งหลายจะถูกประมวลออกมาเป็นแผนที่ๆแสดงข้อมูลในระดับความละเอียดมาตราส่วน 1:50,000  จากนั้นก็เอาข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเป็นข้อมูลทางธรณีฯในทุกมิติ แสดงออกมาในแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 ที่ใช้เป็นแผนที่ธรณีฯมาตรฐานของประเทศไทย (เช่นเดียวกับของประเทศอื่นๆ)

ในกระบวนการทำ ด้วยที่เราทุกคนเกือบจะไม่รู้เลยว่าที่ใดมีข้อมูลอะไรบ้าง พื้นที่ใดน่าจะให้ข้อมูลที่สำคัญ  งานเริ่มแรกเลยก็คือการแปลความหมายจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:50,000 ที่ถ่ายในช่วงปลายและหลังสงครามโลก ที่ได้มีการถ่ายครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วโลก ภาพถ่ายเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นพื้นฐานในการทำแผนที่ภูมิประเทศ (topographic map) มาตราส่วน 1:50,000 และมาตราส่วนอื่นๆ เช่น 1:250,000 เพื่อใช้ในด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยทั่วๆไป   การทำแผนที่ภูมิประเทศเหล่านี้ได้ใช้กระบวนการทำที่เรียกว่า photogrammetry   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 23 เม.ย. 23, 19:29

แต่ภาพถ่ายในมาตราส่วนนี้ได้ให้ข้อมูลต่างๆมากมายในด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทางด้านสังคม และทางวิชาการสาย earth science    เมื่อได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำงานในพื้นที่ใด งานแรกที่ทำก็คือการหาข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ๆรับผิดชอบ ซึ่งก็คือการสร้างความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่ในทางจินตนาการ ทำการแปลความหมายที่ปรากฎอยู่ในภาพถ่ายเหล่านั้นออกมาในทางวิชาการธรณีวิทยา ใช้ภาพสามมิติในการแปลความหมายต่างๆ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า mirror stereoscope (ใช้ pocket stereoscope เมื่ออยู่ในภาคสนาม) 

ดูคล้ายกับจะแหกโค้งออกนอกเรื่องไป  ยังครับ ยังอยู่บนถนนหลวงอยู่ครับ   ยิงฟันยิ้ม     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 24 เม.ย. 23, 18:31

ภาพสามมิติที่เห็นแบบมองตรงลงมาจากเบื้องบน (bird's eyes view) จะให้ข้อมูลในเชิงพื้นที่และขอบเขต (area & boundary)  ให้ข้อมูลเชิงเส้น (linear features)  ให้ข้อมูลในเชิงของความสูง-ต่ำ ก็คือร่องน้ำต่างๆ (drainage pattern)  ซึ่งรูปแบบของร่องน้ำก็พอจะทำให้บอกถึงชนิดของชนิดหินในพื้นที่ได้    ลักษณะความความหนาแน่นของป่า ของยอดไม้ (crown cover) รวมทั้งโทนความสว่างจากการสะท้อนแสง และอื่นๆ เหล่านี้ เมื่อเอามาประมวลเข้าด้วยกัน ก็พอจะยกร่างเป็นภาพคร่าวๆของแผนที่ธรณีฯระวางนั้นๆได้  แล้วก็ต้องออกสนามไปตรวจสอบ แก้ไข เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเก็บข้อมูลต่างๆ นำมาวิเคราะห์และประมวล เพื่อจะได้สามารถเล่าเรื่องราวของการกำเนิด สิ่งแวดล้อม และการมาอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆในช่วงเวลาทางธรณีกาลต่างๆได้    สิ่งแวดล้อมต่างๆตลอดช่วงเวลาทางธรณีกาล เป็นตัวบ่งบอกถึงโอกาสและศักยภาพที่จะได้พบทรัพยากรธรณีที่สำคัญต่างๆ ทั้งในบริเวณที่สำรวจ เช่น แหล่งแร่ แหล่งหินอุตสาหรรม  หรือในพื้นที่อื่นไกลออกไป เช่น แหล่งปิโตรเลียม แหล่งแร่หายาก (ทองคำ อัญมณี ...)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 24 เม.ย. 23, 19:08

เอาข้อมูลที่ได้จากการดู/แปลความหมายถาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายทอดลงไปในแผนที่ภูมิประเทศ เพื่อจะได้ใช้แผนที่นั้นนำทางเพื่อการเข้าถึงพื้นที่หรือจดที่เห็นว่าสำคัญที่จะให้ข้อมูลได้มาก  ก็ต้องมีการวางแผนในการเข้าสำรวจในพื้นที่กันพอสมควร

ต่ออีกหน่อยถึงสภาพของข้อมูลพื้นฐานที่ปรากฎอยู่ในแผนที่   ลองนึกถึงสภาพทางกายภาพของภูมิประเทศและการเข้าถึงพื้นที่/จุดต่างๆ ในสมัยที่ทำแผนที่ภูมิประเทศของเรา  ชื่อสถานที่ต่างๆที่อยู่ห่างไกลพื้นที่เมืองก็ย่อมต้องมีความผิดพลาด โดยเฉพาะชื่อเรียกในพื้นที่ๆเป็นป่าเขาต่างๆ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 25 เม.ย. 23, 19:00

เมื่อเข้าไปในพื้นที่จริง   ในสมัยนั้นบ้านเมืองของเรายังมีความเห็นต่างในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองและมีการระดมมวลชน  เมื่อเข้าพื้นที่ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบอกกล่าวให้ทราบว่ามีคณะสำรวจมาอยู่ในพื้นที่  เมื่ออยู่ในพื้นที่สนามที่จะเดินทำงานก็ต้องพบกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวหน้าชุมชนบ้านป่า เพื่อบอกกล่าวให้รู้ว่ามาทำอะไร และเพื่อหาจ้างชาวบ้านหนึ่งหรือสองคน นัยว่าเพื่อการนำทาง แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของความปลอดภัยในระหว่างเดินสำรวจในพื้นที่นั้นๆ  ในการเดินสำรวจจริงๆ เราไม่ได้เดินไปตามทางทางหรือสถานที่ๆชาวบ้านรู้จัก สภาพก็จึงกลายเป็นการนำพาชาวบ้านไปรู้จักพื้นที่ๆเขาไม่เคยไป   ค่ำคืนแรกในการพบผู้นำชุมชนก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการต้อนรับขับขับสู้ นั่งล้อมวงดื่มน้ำเมาคุยกัน  เหล้าสี (แม่โขง)เป็นของที่ผมจำเป็นต้องจัดเตรียมให้มีไว้เสมอ รวมทั้งเครื่องอาหารที่พอจะทำได้ตามสภาพ  ไปอยู่ในพื้นที่ในลักษณะที่ต้องรบกวนเขาหรือเป็นนายเขา ก็จะเป็นบรรยากาศทางลบที่มีแต่จะยังให้เกิดอันตรายแก่ตัวเรา

วงสนทนาที่ให้บรรยากาศที่เป็นมิตร จะมีอะไรดีมากไปกว่าคุยและเรียนรู้เรื่องเขา (เช่น ภาษาถิ่น วิถีชีวิต ธรรมเนียมปฎิบัติ วัฒนธรรม อาหารการกิน ...)   สิ่งที่ได้รับรู้มาจากแต่ละพื้นที่ เมื่อเอามาประมวล ก็เลยพอจะมีข้อสังเกตที่นำมาเล่าสู่กันฟังในกระทู้นี้  ซึ่งก็ลืมไปมากแล้วตามวัย เรื่องราวก็เลยดูจะกระท่อนกระแท่นอยู่มากเลยทีเดียว 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง