เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 4887 ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 มี.ค. 23, 18:37

เสียงต่อท้ายประโยคในภาษาอังกฤษก็มี อย่างเช่นเสียง เอ๋ (eh) ในความหมายเชิงยืนยันหรือสงสัย (ใช่นะ เป็นเช่นนั้นหรือ หรือยังสงสัยอยู่)  ในประสบการณ์ของผม เสียง eh นี้ใช้มากในภาษาอังกฤษของคนในประเทศแคนาดา

ก็มีเสียง อือ ที่มักจะได้ยินก่อนที่จะพูดประโยคใดๆ การออกเสียงนี้ได้ยินในทุกภาษา  ในภาษาไทยก็มี ซึ่งมักจะตามด้วยคำว่า ผม/ดิฉัน หรือ ก็ ในภาษาลาตินก็มี มักจะตามด้วยคำว่า เซ   ในภาษาญี่ปุ่นก็มี มักจะตามด้วยคำว่า อ่าโหน่    การออกเสียงเหล่านี้ หากเป็นการออกเสียงแบบลากยาว โดยพื้นฐานแล้วมักจะแสดงถึงความไม่แน่ใจว่าจะพูดว่าอย่างไรต่อไป  แต่หากออกเสียงสั้น ก็จะกลายเป็นเสียงที่ใช้ติดปากหรือคุ้นเคยก่อนที่จะพูดอะไรต่อไป     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 มี.ค. 23, 19:24

ที่ได้กล่าวถึงมา เป็นตัวอย่างของการสื่อสารทางเสียงในลักษณะหนึ่งที่มีการใช้กันจริงๆในชีวิตประจำวัน ก็คงจะไม่มีการนำไปจัดรวมเป็นลักษณะของภาษามาตรฐานของภาษาหนึ่งใด  ภาษาเขียนต่างๆเมื่อต้องเขียนให้ถูกและต้องอ่านออกเสียงตามอักขรวิธีก็เลยดูจะกระด้าง  

ไปนึกถึงเพลงประเภทที่เรียกว่า ballad song  ซึ่งเล่าเรื่องราวในภาษาเขียนให้สั้น(หรือยาว)ด้วยคำร้องที่สามารถจับความได้ครบเรื่องราว และทำให้เกิดมีอารมณ์ร่วมด้วยท่วงทำนองของเสียงเพลง     เมื่อมองในมุมหนึ่ง คำร้องของเพลงประเภทนี้โดยส่วนมากมักจะไม่ออกเสียงตรงตามอักขรวิธี กระนั้นก็ตามเพลงในภาษาไทยของเราซึ่งเป็นภาษาที่คำจะมีความหมายแปรเปลี่ยนไปเมื่อใช้เสียงต่างกัน เพลงไทยประเภท ballad ก็ยังสื่อความหมายที่สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เป็นความเก่งและความสามารถที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 23 มี.ค. 23, 18:19

เพลงที่เรียกว่า ซอ ของภาคเหนือ   ที่เรียกว่า หมอลำ ของภาคอิสาน   ที่เรียกว่า ลำนำ ของภาคกลาง  เนื้อร้องของเพลงเหล่านี้มักจะประกอบไปด้วยภาษาพื้นบ้านที่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไป หากเป็นเพลงเก่าที่เล่นร้องต่อเนื่องกันมานาน ในหลายๆกรณีก็เป็นภาษาและสำนวนแบบเก่าที่คนรุ่นใหม่ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง จับความได้ไม่สมบูรณ์ 

จะว่าตัวเองชอบฟังเพลงพวกนี้ก็คงไม่เชิง  ในบางช่วงเวลา เมื่อเปิดฟังก็รู้สึกเพลินและผ่อนคลายดี ได้อรรถรสในหลายๆด้าน ทั้งในเชิงของทำนองเพลงที่ให้อารมณ์สงบแบบเพลง Soul  ในเชิงของเรื่องราวที่บอกเล่าอยู่ในเนื้อเพลง   ในเชิงของการเล่นดนตรี (นักดนตรี องค์ประกอบและการเล่นประสานของเครื่องดนตรี)  และในเชิงของภาษา ศัพท์ และสำนวนที่ใช้   หรือจะฟังแต่เพียงทำนองของเสียงเพลงแบบเบาๆเพื่อเข้าสู่ภวังค์และหลับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 23 มี.ค. 23, 19:15

สำหรับภาคใต้นั้น เพลงในลักณะเพลง ballad ดูจะเป็นเพลงในท่วงทำนองที่เรียกว่าเพลง โนราห์   มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆว่าภาษาที่ใช้ในแสดงโนราห์นั้น ก็มีภาษาพื้นบ้านเฉพาะถิ่นปรากฏอยู่  แต่ที่เด่นออกมาจริงๆดูจะอยู่ในเรื่องราวที่พูดและบรรยายในการเล่นหนังตะลุง

ภาษาใต้เป็นภาษาที่ใช้การสื่อสารแบบกระชับ ห้วนสั้น แต่ได้ใจความ  ในมุมมองหนึ่ง(ของผม)ก็ดูจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม และความคิดพื้นฐาน(doctrine)ที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาในเรื่องการต้องอยู่ให้รอดด้วยตัวเอง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 24 มี.ค. 23, 20:15

ลักษณะเด่นของพื้นที่ภาคใต้คือ เป็นพื้นที่ๆอุดมไปด้วยป่าไม้ที่เป็นลักษณะป่าดิบชื้น (?) ผืนดินมีความชุ่มฉ่ำจากปริมาณน้ำฝนที่มีมาก เป็นพื้นที่ผสมผสานระหว่างพื้นที่ๆเป็นป่าเขา ที่เป็นเนินสลับกับหุบ(undulating terrain) ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำจืด ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลน ....ฯลฯ รวมทั้งที่เป็นแหล่งแร่ และทรัพยากรธรรมชาติ

เห็นว่า เมื่อทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์มากทั้งในด้านเพื่อการเก็บเกี่ยวและในด้านเพื่อการเพิ่มผลผลิต ซึ่งล้วนเป็นทรัพย์ศฤงคาร (wealth)  คนที่เข้าไปจับจองทำประโยชน์ก็ย่อมต้องมีความหวง ย่อมต้องการขยายพื้นที่สำหรับประโยน์นั้นๆ  ที่อยู่อาศัยของแต่ละเจ้าของพื้นที่ก็จึงตั้งอยู่ห่างกัน  การพูดระหว่างกันจึงอยู่ในลักษณะต้องเสียงดัง ด้วยลักษณะภาษาไทยที่มักจะต้องเป็นคำสองพยางค์ เสียงของพยางค์บางคำบางคำจึงเบาลงและหายไป  ในบางวลีก็ลดคำลงไป

ด้วยความเห็นในข่ายของการเดาแบบมั่วๆนี้   ไปใหน ก็เลยเหลือเพียง ใหน   เวลาอะไรหรือกี่โมงแล้ว ก็เลยเปลี่ยนไปเป็น ตีกี่ (นาฬิกาตีกี่ที)   อยู่สุขสบายครื้นเครงดีหรือก็เลยเหลือเป็น ยู้เครง    อะไร, ทำไม, ว่าไง...ใช้คำว่า พรื้อ คำเดียวก็ได้ความทั้งหมด   ยิงฟันยิ้ม   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 25 มี.ค. 23, 19:17

คำว่า พรื้อ ทำให้นึกถึงคำว่า ยู้ ในภาษาเหนือ ซึ่งความหมายโดยพื้นฐานหมายถึง การผลักหรือดัน  แต่ในบางกรณีมีความหมายถึงการกระทำใดๆเพื่อช่วยให้เกิดการหลุดพ้น เช่น กรณีล้อเกวียนไม่หมุนข้ามโขดหินหรือรถยนต์ติดหล่ม  เมื่อให้ช่วยกันยู้ ก็หมายรวมถึงวิธีการต่างๆทั้งผลัก ดัน ดึง ลาก...

ลักษณะของคำในภาษาถิ่นที่ใช้สื่อความหมายได้หลายนัยนี้ดูจะมีอยู่ไม่น้อยในภาษาถิ่นต่างๆ เช่น 'สุน' ในภาษาเหนือและอิสาน   'จั๊ก' ในภาษาอิสาน  'หลาว' ในภาษาใต้   'เอาแรง' ในภาษาไทยพื้นบ้าน   

ในภาษาไทยกลางที่เราพูดกัน ศัพท์ต่างๆที่ใช้ดูจะมีความหมายที่มีความจำเพาะเจาะจงชัดเจน  กรณีคำว่า พรื้อ และ จั๊ก ก็จะใช้คำจำเพาะแยกออกไปเลย เช่น อะไร ทำไม...   คำว่า ยู้ ก็จะเป็นเช่น ผลัก ดัน ดึง...  คำว่า สุน ก็จะเป็นเช่น ผสม คลุก แทรก รวมกัน...  คำว่า หลาว ก็จะเป็นเช่น ข้ามไป เว้น ขาด...     คำว่า เอาแรง ก็จะเป็น ไปช่วยงานเขา เขามาช่วยงานเรา(ลงแขก) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 26 มี.ค. 23, 18:52

ประเด็นสนทนาเรื่องหนึ่งที่ช่วยในการสร้างมิตรและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างถิ่นกับคนพื้นถิ่นก็คือเรื่องของภาษาและศัพท์ต่างๆที่เหมือนกันหรือต่างกัน การสนทนาเพื่อเรียนรู้ภาษาของแต่ละฝ่ายทำให้เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เกิดการหยอกล้อกัน และสามารถใช้สร้างความเข้าใจที่กระจ่างระหว่างกันในประเด็นที่อยากรู้ ข้อที่สงสัยหรือที่ยังแคลงใจที่มีอยู่ในใจทั้งสองฝ่าย   ก็มองว่ามันเป็นพฤติกรรมทางสังคมพื้นฐานที่แสดงออกถึงความเคารพในความเท่าเทียมกัน การให้เกียรติ ลดการผลักไสให้เขามายอมรับเราแต่เป็นการให้การยอมรับซึ่งความเป็นเขา  ก็เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อการสร้างมิตรในระหว่างการต้องอยู่ในพื้นที่ต่างถิ่น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 26 มี.ค. 23, 19:29

ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า หลายคำศัพท์ในภาษาถิ่นของภาคต่างๆมีการใช้เหมือนกัน แต่ภาษาไทยกลางกลับใช้ชื่อต่างออกไป เช่น สับปะรด ภาษาเหนือเรียกว่า บ่ะขะนัด  อิสาน เรียก บักนัด และใต้เรียกว่า ย่านัด   สับปะรดมิใช่พืชผลดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ เข้าใจว่าแรกเริ่มนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ทางใต้ของแหลมไทย แล้วจึงปลูกกระจายขึ้นไปทางเหนือ    ย่านัด จึงน่าจะเป็นชื่อเรียกเริ่มต้นแล้วใช้ไปทั่วภาคเหนือและอิสาน แล้วก็เกิดมีการเรียกว่า สับปะรด ในภาษาไทยภาคกลาง  ซึ่งก็น่าสนใจว่า สับปะรด เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ไม่ข้ามเขตรอยต่อของภูมิภาคตามลักษณะทางภูมิประเทศที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 27 มี.ค. 23, 19:05

เปรี้ยว เป็นภาษาไทยกลาง  ในภาษาเหนือ อิสาน และใต้ ล้วนใช้คำว่า ส้ม   และนิยมใช้คำว่า ส้ม นำหน้าพืชผักผลไม้ที่นำมาปรุงเพื่อทำให้อาหารออกรสเปรี้ยว เช่น ส้มควาย(มะขามแขก) ส้มป้อง,ส้มมวง(ชะมวง) ส้มป่อย(ต้นส้มป่อย) ส้มขาม(มะขาม)... 

แต่หากยังเป็นผลติดอยูที่ต้น  ภาษาเหนือดูจะใช้คำนำหน้าว่า บะ และ มะ เช่น บะหนุน(ขนุน) บะโอ(ส้มโอ) บะตื๋น(กระท้อน) บะผาง(มะปราง) บะก๊วยเต้ด(มะละกอ) บะตาเสือ(ลูกยอ)....  มะเกี๋ยง(คล้ายลูกหว้า) มะกอก มะคอแลน(ผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง) มะแข่วน(พริกหอม ?) มะข่วง(พริกพราน ?) .... 

ภาษาอิสานดูจะใช้คำนำหน้าผลไม้ว่า บัก เป็นส่วนมาก เช่น บักมี่(ขนุน) บักขาม(มะขาม) บักลิ้นฟ้า(ฝักเพกา) บักแข้ง(มะเขือพวง) บักแงว(มะคอแลน) ...    ในขณะที่ภาษาใต้มีการใช้คำว่า ลูก นำหน้า เช่น ลูกไฟ(มะไฟ) ลูกกอก(มะกอก)...     

แต่ที่ทำให้สับสนเป็นงงได้มากที่สุดก็จะเป็น ลูกเหรียง หน่อเหรียง ลูกเนียง ใบเหมียง ใบเหลียง  หากจะจับความจากสำเนียงใต้แล้ว อาจจะแยกกันไม่ออกเลยทีเดียวว่าอะไรเป็นอะไร จะไปถึงบางอ้อว่ามันเป็นอะไรก็เมื่อเห็นมันอยู่ในจานกับข้าวแล้ว   ก็ยังเป็นงงในชื่อเรียกที่ถูกต้องอยู่เสมอ  เอาเป็นว่า หากเป็นจานผัดไข่หรือต้มกะทิก็จะเป็นใบเหมียงหรือใบเหลียง ก็มาจากต้นไม้เดียวกัน   หากเป็นลูกเหรียงหรือหน่อเหรียง ก็เป็นลูกไม้จากต้นไม้เดียวกันที่ต้องเอามาเพาะให้รากงอกก่อนแล้วจึงเอามาทำอาหาร  ส่วนลูกเนียงไปอีกเรื่องหนึ่งแยกวงออกไปเลย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 28 มี.ค. 23, 19:27

ภาษาไทยกลางมีศัพท์ซึ่งใช้กับสิ่งที่มีลักษณะจำเพาะ เช่น ตลุก มาบ หนอง บึง ปลัก แอ่ง   ดูเผินๆก็ไม่มีอะไรเป็นประเด็น แต่หากได้เดินทางไปใยหลายๆพื้นที่ก็อาจจะพบว่า คำว่า ตลุก จะใช้จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ เช่น บ.ตลุก จ.ชัยนาท, บ.ตลุกข่อยน้ำ (เดิมเรียกกันว่าตลุกข่อยหนาม) บ.ตลุกดู่  บ.ตลุกหมู  จ.อุทัยธานี, ตลุกกลางทุ่ง จ.ตาก        คำว่า มาบ ใช้ในพื้นที่ของภาคตะวันออก เช่น มาบตาพุด มาบชะลูด มาบจันทร์ ...  ในภาคใต้ก็มี เช่น มาบอำมฤติ จ.ชุมพร       คำว่า หนอง ใช้กันในภาคเหนือและอิสานเป็นส่วนมาก   คำว่า บึง ใช้กันทั่วไปในภาคกลาง   ส่วนคำว่า ปลักและแอ่ง ใช้เรียกหลุมหรือพื้นที่เล็กๆที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำ

เมื่อเอาชื่อสถานที่ ศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อ และพื้นที่ๆมีการใช้ศัพท์/ชื่อสถานที่เหล่านี้  เอาไปสัมพันธ์กับสภาพทางธรณีฯและภูมิประเทศ ก็จะเห็นความต่างของความหมายของศัพท์ที่ใช้ ซึ่งแสดงถึงการเลือกที่จะใช้คำศัพท์ แสดงถึงความรู้ที่ค่อนข้างจะลึกและความเข้าใจที่ค่อนข้างจะกระจ่างในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม      ศัพท์ทั้งหมดที่กล่าวถึงล้วนมีความหมายถึงแหล่งน้ำ แต่การเลือกใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติในแต่ละชื่อที่เรียกขานจะแตกต่างกัน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 29 มี.ค. 23, 18:22

ตามที่ได้เคยเห็นมา พื้นที่ที่มีชื่อขึ้นต้นว่า ตลุก จะอยู่ในพื้นที่ๆเป็นตะพักลำน้ำเก่า (high terraces) ซึ่งผืนดินโดยทั่วไปจะค่อนข้างจะราบและประกอบไปด้วยดินทรายปนกรวด มีลักษณะออกไปทางแห้งแล้ง  แต่ปรากฎว่ามีพื้นที่บางจุด(ตลุก)มีความชุ่มชื้นของผิวดินเป็นพิเศษ เมื่อเปิดหน้าดินลึกลงไปเล็กน้อยก็พบน้ำซึมบ่อ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นจุดที่มีน้ำกักเก็บอยู่ใต้ผิวดินในลักษณะเป็นกระเปาะ (perched aquifer)  ลักษณะน้ำซึมออกดีเช่นนี้ เมื่อชาวบ้านขุดบ่อน้ำตื้นเพื่อเอาน้ำมาใช้ ก็มักจะเรียกว่าขุดบ่อแล้วเจอตาน้ำ ก็ดีใจกันเพราะน้ำบ่อจะไม่แห้ง

สำหรับผม ตลุกที่มีชื่อกำกับ โดยเฉพาะที่เป็นหมู่บ้าน ยังบอกเรื่องราวต่อไปอีกว่า เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานกันมานานมากแล้ว  เมื่อทำงานในพื้นที่ คุยกับผู้เฒ่าของหมู่บ้าน ก็จะได้ข้อมูลและความรู้มากมายทั้งในเรื่องของงานที่รับผิดชอบ เรื่องทางสังคม และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดในพื้นที่                                   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 29 มี.ค. 23, 19:27

ที่เรียกว่า มาบ นั้น เป็นพื้นที่ราบผืนใหญ่ที่มีความชุ่มฉ่ำสูง หรือเฉอะแฉะทั้งปี  ผืนดินเป็นพวกตะกอนขนาดเล็กหรือละเอียด ออกไปในลักษณะดินปนทราย (ดิน loam)  มาบ ในความหมายหลวมๆน่าจะตรงกับคำว่า swamp ในภาษาอังกฤษ  คำว่า มาบ ดูจะใช้กับพื้นที่ๆเป็นที่ราบลุ่มที่ผืนดินฉ่ำไปด้วยน้ำจืด ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำก่อนที่จะลงสู่ทะเล   มาบ เป็นพื้นที่ลุ่มในระบบของการกัดเซาะและการตกตะกอนของแม่น้ำหนึ่งใดเมื่อน้ำในแม่น้ำนั้นเอ่อล้นเหนือสันคันคลองธรรมชาติ (natural levee)  พื้นที่มาบน่าจะครอบคลุมไปถึงพื้นที่ใกล้ชายทะเลที่ต้นเสม็ดสามารถขึ้นได้ เพราะป่าเสม็ดเป็นพื้นที่ๆแสดงถึงพื้นที่ๆอยู่ในอิทธิพลของน้ำจืด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 มี.ค. 23, 18:38

'หนอง'และ'บึง' ชื่อเรียกทั้งสองนี้ใช้เรียกแอ่งน้ำที่มีลักษณะเป็นอ่างน้ำที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีความต่างกันในหลายมุม   โดยพื้นทั่วๆไป หนองจะมีขนาดเล็กกว่าบึง และน้ำมีความลึกน้อยกว่าน้ำในบึง  หนองน้ำแห้งได้ในช่วงฤดูร้อน แห้งมากพอที่จะช่วยกันวิดน้ำหรือสูบน้ำออกให้แห้งจนสามารถลงไปจับปลาในโคลนเลนก้นหนองได้  ต่างกับบึงที่จะมีน้ำขังตลอดทั้งปี   

หนองเป็นแอ่งน้ำที่พบได้ในพื้นที่ลุ่มต่ำหลังสันคันคลองธรรมชาติของแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่เอ่อท่วมล้นตลิ่งของแม่น้ำ (backswamp)   และก็พบได้ในบริเวณที่มีหลุมยุบ (sinkhole) รวมทั้งที่เกิดจากลักษณะภูมิที่เป็นแอ่งที่มีพื้นแอ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำผิวดิน (perched pond)
สำหรับบึง เป็นแอ่งน้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพของที่พื้นที่ลุ่มต่ำตกค้างจากการไหลแกว่งไปมาของแม่น้ำ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 มี.ค. 23, 19:35

สำหรับคำว่า ปลัก กับ แอ่ง น้้นคงจะไม่ต้องขยายความ เพราะดูจะเป็นคำที่บอกลักษณะชัดเจนอยู่แล้ว

ลองนึกถึงวลีคำตอบจากคำถามว่า 'ไปใหน ?'  แล้วได้รับคำตอบกลับมาว่าคำ ไปหนอง..., ไปบึง..., ไปมาบ..., ไปตลุก...,  เราน่าจะเกือบเห็นภาพของกิจกรรมที่จะไปในพื้นที่เหล่านั้น    ไปหนอง... โดยพื้นๆก็จะเกี่ยวพันกับเรื่องอาหารการกิน   ไปบึง... สื่อได้ถึงทั้งเรื่องของการหากินและเรื่องบางอย่างที่จะต้องจัดการ   ไปตลุก... จะสื่อออกไปในแนวเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ฝูง     สำหรับ ไปมาบ... นั้น ?? น่าจะเดาไปในเรื่องทางสังคม

เมื่อเดาให้ลึกไปกว่านั้น หากเป็นกรณีไปจับปลาในหนอง ก็พอจะเดาได้ว่าจะจับได้ปลาอะไรบ้าง ซึ่งก็มักจะเป็น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลากระดี่ และปลาเล็กปลาน้อย (ปลาซิว ปลาสร้อย...) อาจได้ปลาไหล ปลาหลด และปลาเกล็ดตัวเล็ก (ปลาใบไม้ ปลาตะโกก...)   หากไปหาปลาในพื้นที่ๆเรียกว่า บึง  ก็น่าจะพอเดาได้เลยว่า น่าจะเป็นพวกปลาเกล็ดตัวใหญ่ (ปลากระโห้...) ปลาหนัง(ปลาสวาย เทโพ...) หรือพวกตัวยาวๆ (ปลากระทิง...)  ปลาพวกตัวแบนๆ (ปลากราย ปลาฉลาด...)     ถ้าไปตลุก... จะกลายเป็นเรื่องของสัตว์บก เช่น หมูป่า ไก่ป่า เม่น เก้ง...

ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีภาพดังที่เล่ามานี้อีกแล้ว ที่ได้สัมผัสมา พื้นที่ลักษณะเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เมือง ทั้งในลักษณะคล่อมทับและอยู่รอบๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 31 มี.ค. 23, 17:27

เขียน คร่อมทับ เป็น คล่อมทับ  สะกดผิดครับ   ที่ผ่านมาอาจมีอึกหลายๆคำ ต้องขออภัยด้วยครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง