เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1337 ว่าด้วยคำว่า ลงแขก
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 19 ก.พ. 23, 22:07

ผมเคยเข้าใจว่า คำว่า "ลงแขก" น่าจะเป็นความหมายเชิงเปรียบเทียบ ทำนองว่าการร่วมด้วยช่วยกันในการโทรมหญิงเหมือนกับการลงแขกเกี่ยวข้าว

จนไปอ่านเจอใน อนันตวิภาค ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เจอคำว่า บอกแขก ในคำอธิบายว่า

ชายพาหญิงไป "บอกแขก" กันทำชำเรา ให้ว่า โทรมหญิง

คำว่า บอกแขก เมื่อดูบริบทก็น่าจะเป็นความหมายเดียวกับ ลงแขก นั่นเอง

ผมเลยไม่แน่ใจว่า ลงแขก จะเป็นการเปลี่ยนแปลงความหมายจากของเดิมที่หมายถึงช่วยกันทำนาเกี่ยวข้าว มาเป็นการร่วมกันรุมโทรมหญิง หรือเป็นคำที่ใกล้เคียงกับ บอกแขก ที่มีใช้อยู่ก่อนแล้วในอนันตวิภาค ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 (อาจตีขึ้นไปถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)

ท่านใดมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ?


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 09:30

คุณเพ็ญชมพูว่าไงคะ?

ดิฉันจำได้แต่ว่าหนังสือพิมพ์เมื่อสัก 50 กว่าปีก่อน ใช้คำว่า "ลงแขก" ในความหมายว่า "โทรมหญิง"   คงจะหลีกเลี่ยงการใช้คำตรงๆ 
ทำไมใช้คำนี้   เดาว่าอย่างแรกคือมาจากคำ "บอกแขก" ที่เป็นคำโบราณ เกือบไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว  อย่างที่สองคือ ลดน้ำหนักความรุนแรงของอาชญากรรม  ไม่สะเทือนความรู้สึกของคนอ่าน  ด้วยคำที่มีความหมายธรรมดาๆ ของเกษตรกรรมที่มีคนหลายร่วมกันทำงานให้ลุล่วงไป  แต่คนอ่านหนังสือพิมพ์อ่านแล้วก็จะเข้าใจทันทีว่าหมายถึงอะไร

แต่ถ้าใครพบที่มาของคำนี้จากแหล่งอื่น กรุณาเข้ามาไขข้อข้องใจของคุณเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 09:35

ราชบัณฑิตให้คำนิยามไว้ดังนี้

บอกแขก = บอกเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันทำงาน เช่น บอกแขกเกี่ยวข้าว

ลงแขก   = (๑) ร่วมแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำงานเช่นดำนา เกี่ยวข้าว ให้ลุล่วงเร็วขึ้นโดยไม่รับค่าจ้าง และผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปตามความจำเป็นของแต่ละบ้าน (๒) เป็นคำในภาษาปากหมายถึง รุมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิง

จะเห็นได้ว่าทั้ง บอกแขก และ ลงแขก เกี่ยวข้องกับการเกี่ยวข้าวทั้ง ๒ คำ ลำดับของเหตุการณ์ ต้องมีการ "บอกแขก" แล้วจึงมีการ "ลงแขก" ตามมา

ความจริงอาจจะบอกแขกให้ช่วยกิจการอื่น ๆ ด้วยก็ได้ ดังที่สุนทรภู่ท่านเขียนไว้ในพระอภัยมณี ตอน ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา ว่า "บุราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก  ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม"

คำว่า "บอกแขก" ต้องมีบริบทเกี่ยวกับการ "ชำเรา"  จึงจะมีหมายถึงการโทรมหญิง ต่างจากคำว่า "ลงแขก" มีความหมายแฝงในคำเกี่ยวกับการโทรมหญิง โดยไม่ต้องมีบริบทอื่นตามมา
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 10:15

        ข้อความแสดงของจขกท. - ชายพาหญิงไป บอกแขก กันทำชำเรา ให้ว่า โทรมหญิง (หญิงมีบุตรในท้อง ให้ว่า หญิงมีครรภ์..)

        อ่านแล้ว ได้ความว่า กิจกรรมที่ชายพาหญิงไป บอกผู้อื่น (ชวน,พา) กันทำชำเราหญิง ให้เรียกว่า โทรมหญิง
        ไม่ได้หมายความว่า บอกแขก คือ รุมโทรมหญิง, ลงแขก

        (คำอธิบายของเจ้าคุณอนุมานฯ - คำว่า “แขก” กับคำว่า “เจ๊ก” ก็คือคำคำเดียวกัน แต่ออกเสียงต่างกันไปในแต่ละสำเนียงเสียงถิ่น
โดยมีความหมายดั้งเดิมว่า “คนอื่น”
         พวกไทยใหญ่เรียกชาวไทยที่อยู่ในตอนใต้ของจีนว่า ไทยแขก คือ ไทยอื่น
         คำว่า แขก ในภาษาจีน คงปรากฏในเสียงชาวกวางตุ้งว่า หัก แต้จิ๋วว่า เค็ก หรือ แคะ เป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกจีนชาวแคะ
ในสำเนียงชาวเซี่ยงไฮ้ออกเสียงคำว่า แคะ เป็น เจี๊ยก ใกล้คำว่า เจ๊ก มาก ในภาษาพม่าเรียกจีนว่า เตยีก (Tayeuk, Tareuk) และ
เรียกไทยในจีนว่า ฉานเตยีก คำว่า เตยีก ใกล้เสียงว่า เจ๊ก มาก เพราะเสียง ตย กล้ำ ใกล้เสียง จ มาก
         ไทยทางตอนเหนือของสยามใช้เรียก จีน และ เจ๊ก ทั้งสองคำ ในภาษาเขมรและมลายูเรียก จีน อย่างเดียว ไม่ปรากฏว่าเรียกว่า เจ๊ก
เพราะฉะนั้นคำว่า เจ๊ก น่าจะเป็นคำที่ได้มาทางเหนือ และคงเป็นคำเดียวกับคำว่า แขก” ทั้ง “แขก” และ “เจ๊ก”

https://www.matichonweekly.com/column/article_259400
บันทึกการเข้า
พี่วรภัทรของพี่ชายใหญ่
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 14:10

ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ

ตอนอ่านเจอคำว่า "บอกแขก" ในอนันตวิภาค ผมไพล่ไปนึกถึงคำว่า "ลงแขก" เลยครับ ส่วนตัวคิดว่ามันน่าจะมีความหมายเดียวกัน และอาจจะใช้ในกรณีอื่น ๆ ได้นอกจากที่รู้ ๆ

แต่เอาเข้าจริง ๆ คำนี้ถ้าไม่หมายถึงการช่วยกันทำนาเกี่ยวข้าว ผมก็นึกกรณีอื่นไม่ออกนอกจากที่ใช้ในความหมายอย่างว่านี่แหละครับ

ผมลองคิดต่อไปว่า ที่ลงแขก (หรือบอกแขก) มันมีความหมายไปในทางนี้ น่าจะสัมพันธ์กับนาข้าว ที่มักจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศหญิง (นึกถึงคำว่า "นาผืนน้อย" หรือในเพลงลูกทุ่งอย่าง ปล่อยน้ำใส่นาน้อง)

คำว่า "ลงแขก" จากที่หมายถึงการช่วยกันทำนาเกี่ยวข้าว เลยกลายเป็นใช้ในความหมายว่ารุมโทรมผู้หญิงไป

ผมลองคิดเล่น ๆ อาจจะไม่ถูกก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 14:39

         ลงแขก - แขก - คนอื่น,เพื่อนบ้านมาลงแรง,ร่วมแรงกันทำงาน ไม่เฉพาะกับการเกษตร (อีสานเหนือใช้คำว่า เอาแฮง)
ยังมีการลงแขกทำงานอย่างอื่นๆ เช่น ลงแขกเฮ็ดเฮือน (สร้างบ้าน),สร้างศาลาวัด,ศาลาริมทาง การก่อสร้างทำนุบำรุงวัด และ
ลงแขกทำขนมจีน(ช่วยกันตำแป้งขนมจีนในครกไม้ขนาดใหญ่)ของชาวมอญ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 18:51

ยังติดใจคำว่า "แขก" ที่หมายถึงชนชาติบางชาติในเอเชีย    กลับไปค้นพระอภัยมณีที่แต่งสมัยรัชกาลที่ 3   พบว่าสุนทรภู่ใช้ในความหมายของชนชาติ 

จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ    อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน.
ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์            ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมน

ไม่ได้ใช้ในความหมายว่า "คนอื่น"
ความหมายที่สองนี้ยังหาไม่เจอว่าเริ่มใช้เมื่อใด

ส่วนคำว่า "เจ๊ก"  เคยได้ยินมาว่า ที่มาคือคำว่า "เจ็ก" (น่าจะเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว) แปลว่า อาผู้ชาย 
คนไทยมีนิสัยชอบเรียกผู้อื่นแบบนับญาติ  แม้แต่เรียกคนแปลกหน้า    คนต่างชาติต่างภาษาเมื่อมาถึงเมืองไทยก็เลยพลอยถูกนับญาติไปด้วย
เช่นเรียกจีน ว่าเจ็ก  เรียกแขกว่า บัง  เป็นต้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ก.พ. 23, 19:35

ราชบัณฑิตให้คำนิยามคำว่า "แขก" ดังนี้

แขก  ๑ =  (๑) ผู้มาหา, ผู้มาแต่อื่น, ผู้ที่มาร่วมงานพิธีของเจ้าภาพ, บางทีเรียกว่า แขกเหรื่อ  (๒) คนบ้านอื่นที่มาช่วยทำงาน

แขก ๒ = คำเรียกชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เนปาล ชวา มลายู ชาวเอเชียตะวันออกกลางและตะวันออกใกล้ ยกเว้นชาวยิว แอฟริกาเหนือ และ นิโกร

สุนทรภู่ก็ใช้คำว่า แขก ในความหมายตาม แขก ๑ และแขก ๒

สุนทรภู่ท่านเขียนไว้ในพระอภัยมณี ตอน ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา ว่า "บุราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก  ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม"
แขกในที่นี้มีความหมายตาม แขก ๑ (๒) คือ คนบ้านอื่นที่มาช่วยงาน

พระอภัยมณีที่แต่งสมัยรัชกาลที่ 3   พบว่าสุนทรภู่ใช้ในความหมายของชนชาติ  

จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ    อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน
ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์            ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมนา
แขกในพระอภัยมณีตอนนี้มีความหมายตาม แขก ๒ โดยคำว่าพราหมณ์แขก น่าาจะเจาะจงหมายถึงชาวอินเดีย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 ก.พ. 23, 09:35

ส่วนคำว่า "เจ๊ก"  เคยได้ยินมาว่า ที่มาคือคำว่า "เจ็ก" (น่าจะเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว) แปลว่า อาผู้ชาย  
คนไทยมีนิสัยชอบเรียกผู้อื่นแบบนับญาติ  แม้แต่เรียกคนแปลกหน้า    คนต่างชาติต่างภาษาเมื่อมาถึงเมืองไทยก็เลยพลอยถูกนับญาติไปด้วย
เช่นเรียกจีน ว่าเจ็ก  เรียกแขกว่า บัง  เป็นต้น

จิตร ภูมิศักดิ์ มีอีกสมมุติฐานหนึ่ง ได้อธิบายไว้ใน หนังสือความเป็นมาของ คำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ หน้า ๒๑ สรุปความว่า

เมื่อพุทธศักราช ๑๘๒๗ - ๑๘๒๘ กุบไลข่านยกทัพมาตีพุกาม ในกองทัพมีคนเติร์ก มากกว่ามองโกล พม่าจึงเรียกผู้รุกรานที่มาจากทางเหนือในครั้งนั้นว่า ตรุก จึงทำให้คำนี้ เป็นชื่อของพวกมองโกล  และกลายเป็นคำเรียกคนจีนไปในที่สุด ทั้งนี้ ตัว ร พม่าจะออกเสียงเป็นตัว ย คำว่า ตรุก จึงออกเสียงเป็น ตยก  คำนี้ตรงกับคำว่า เจอยจ ภาษามอญ และ เจ๊ก ใน ภาษาไทย



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 ก.พ. 23, 10:21

ยังไม่เห็นด้วยกับจิตร ภูมิศักดิ์ค่ะ  อ่านแล้วเขารวบรัดกันไป    ยังมองไม่เห็นเส้นทางเชื่อมโยงกัน ว่าอิทธิพลของคำในภาษาพม่าว่าเข้ามาในไทยได้ยังไง ตั้งแต่เมื่อไร
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง