เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12]
  พิมพ์  
อ่าน: 5272 เลี้ยงสัตว์ - สัตว์เลี้ยง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 03 ก.พ. 23, 19:11

การเลี้ยงนกในปัจจุบันนี้ดูจะเป็นการเลี้ยงเพราะชอบความสวยงามของมัน สายพันธุ์ของพวกมันจึงมักจะเป็นแบบลูกผสมหรือนำเข้า ซึ่งทำให้เกิดธุรกิจเพาะลูกนกขาย   ต่างกับการเลี้ยงนกในสมัยก่อนที่ดูจะเป็นการเลี้ยงเพราะชอบฟังเสียงร้องของมัน นัยว่าได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ นกที่เลี้ยงจะเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นและได้มาจากการจับมาจากธรรมชาติ ก็จึงมีกิจกรรมที่เรียกว่า การต่อนก  ยังดีที่กิจกรรมต่อนกยังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ตามชุมชนพื้นบ้านในต่างจังหวัด  ภูมิปัญญาชาวบ้านก็เลยยังพอจะมีการเก็บรักษาและมีการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องอยู่พอประมาณ ซึ่งในองค์รวมจะครอบคลุมทั้งเรื่องของรูปแบบและวิธีการเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ดักจับ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเสียงเลียนเสียงของนกตัวผู้หรือเสียงนกตัวเมีย  ศิลปะและวัฒนธรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ในมุมมองหนึ่ง การจับนก(หรือสัตว์อื่นใด)จากธรรมชาติ  โดยแยกจับเอาเฉพาะเพศที่มีสีสรรค์สวยงามหรือสามารถส่งเสียงร้องที่ไพเพราะ  เอามาใส่กรงเลี้ยงไว้แบบเลี้ยงเดี่ยว มีลักษณะเป็นการทำลายความสมดุลย์ของธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องที่พึงต้องห้าม   แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง หากเสริมการแนะนำให้ผู้ที่ประสงค์จะเลี้ยงพึงต้องเอาเพศตรงข้ามของมันมาเลี้ยงเป็นคู่อยู่ร่วมกันในกรง ก็จะยังผลให้วัฏจักร/วงจรชีวิตของมันมีครบถ้วนสมบูรณ์ และช่วยรักษาการ reproduction เผ่าพันธุ์ของมัน จะเป็นการเลี้ยงแยกกรงก่อนจนถึงเวลาอันควรก็ได้

เป็นปกติที่โดยส่วนมากแล้วสัตว์ตัวผู้จะมีสีสรรสวยงามและส่งเสียงร้องเพราะๆ ก็จึงเป็นธรรมดาพวกมันเลยถูกจับมาใส่กรงเลี้ยง   สัตว์จำนวนมากชนิดเป็นพวก Polygamy และจำนวนมากชนิดก็เป็นพวกผลิตลูกหลายครั้งละหลายๆตัว  เมื่อจับแยกเฉพาะตัวผู้ออกมา ก็จึงหมายถึงการลดจำนวนสายพันธุ์ของพวกมัน   ก็เป็นเรื่องน่าคิดในมุมของการอนุรักษ์ที่พึงกระทำในสภาพที่ธรรมชาติที่เป็นจริงเปลี่ยนแปลงไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 03 ก.พ. 23, 20:01

ในไทยเรามีประเพณีการปล่อยนก ปล่อยปลาและสัตว์อื่นๆ   เป็นลักษณะของการทำบุญหรือสร้างบุญด้วยการต่อชีวิตหรือให้อิสระแก่สัตว์ที่ถูกจำหรือจับมาเพื่อประโยชน์อื่นใดของมนุษย์  เป็นการปล่อยเขากลับสู่ธรรมชาติ(หลังจากไปจับเขามา ยิงฟันยิ้ม)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 04 ก.พ. 23, 19:05

นกกระจาบดูจะเป็นนกที่ใช้ในเรื่องของพิธีกรรมปล่อยสัตว์มากที่สุด นกกระจาบพบมากในพื้นที่ๆเป็นทุ่งทำนาข้าว รังของมันมีความสวยงาม ถักทอขึ้นมาด้วยหญ้าและฟางข้าวให้เป็นทรงที่มีลักษณะรูปแบบจำเพาะ ด้วยความที่มันอยู่กันเป็นฝูงและนิยมบินในระดับสูงเพียงเหนือยอดหญ้า(ยอดต้นข้าว ยอดต้นกก) ทำให้การจับทำได้ง่ายด้วยการขึงตาข่ายจับปลาดักมัน (คล้ายกับขึงเน็ตเพื่อการเล่นวอลเลย์บอล)   

นกที่ถูกจับมาเพื่อการปล่อยนั้น แม้จะเรียกว่านกกระจาบ  แท้จริงแล้วนกของบางผู้ขายก็เป็นอาจเป็นนกกระจอก หรือเป็นนกกระจิบ(เห็นไม่บ่อยมากนัก)

สถานที่ๆมีพิธีกรรมปล่อยนกจะอยู่ตามวัดเก่าที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นวัดที่อยู่ในเมือง หากเป็นวัดที่อยู่นอกเมืองก็จะมีเฉพาะในวันงานของวัด  จะว่าไปแล้วก็มีอยู่ไม่กี่วัดที่มีนกให้ปล่อย ในกรุงเทพฯสมัยก่อนนั้น ที่จำได้ก็จะมีเช่น ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หน้ากระทรวงกลาโหม จำได้ไม่แม่นก็ที่ศาลพระพรหม สี่แยกเอราวัณ   ในต่างจังหวัดก็มีที่วัดพระพุทธชินราช พิษณุโลก  ที่วัดพระมหาธาตุฯ นครศรีธรรมราช  วัดในอยุธยาและในสุพรรณบุรีก็ดูจะมีเหมือนกัน

เมื่อครั้งยังเดินทางทำงานอยู่ในต่างจังหวัด ชอบเดินตลาดสดตอนเช้า เมื่อเห็นนกตัวเป็นๆที่ชาวบ้านเขาจับมาขายเพื่อการบริโภค (นกกวัก นกคุ่ม) ก็จะซื้อแล้วเอาไปปล่อยกลับสู่ธรรมชาติในพื้นที่ๆเหมาะสม  เกิดความรู้สึกสุขใจดีครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 04 ก.พ. 23, 19:57

ปล่อยปลาเป็นพีธีกรรมที่พบได้ทั้งตามวัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำและในพื้นที่อื่นใด แต่เกือบทั้งหมดดูจะเป็นการกระทำในพื้นที่ห่างไกลจากวัดที่ไปทำบุญ  ในพื้นที่ กทม.ในปัจจุบันนี้ ดูจะมีแหล่งปล่อยอยู่ท้ายตลาดต้นไม้เทเวศ บริเวณหน้ากรมส่งเสริมสหกรณ์   

แต่ก่อนนั้นดูจะเป็นเรื่องของการปล่อยปลาโดยตรง  ในปัจจุบันดูจะต้องมีการเลือกว่าจะปล่อยอะไร  ที่เรียกกันว่าปล่อยนกปล่อยปลานั้นสามารถจะเลือกได้ว่าจะปล่อยสัตว์อะไรลงน้ำ มีได้ทั้งปลาไหล เต่า ตะพาบ กบ  กระทั่งเลือกว่าปลาอะไร (ปลาหมอ ปลาดุก ปลาบู่ ...)    สัตว์ที่กล่าวถึงเหล่านี้ ดูจะเป็นพวกที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นมา มากกว่าที่จะได้มาจากธรรมชาติ   ก็เป็นการเลี้ยงสัตว์ที่ดีในอีกลักษณะหนึ่ง คือเลี้ยงเพื่อปล่อย เป็นการช่วยการเพิ่มประชากรในธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นๆ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 05 ก.พ. 23, 18:29

คำว่าตาข่ายดักปลาดูจะใช้เฉพาะกับกรณีการดักปลาน้ำจืด และใช้เฉพาะในกรณีปักขึงกับเสาอยู่กับที่  แต่หากใช้วิธีการลากตาข่ายเคลื่อนที่ไปมาในแอ่งน้ำ ก็จะเรียกว่า อวน   ในพื้นที่ภาคกลางโดยทั่วไปเรียกตาข่ายดักปลาว่า ตะคัด หรือ ตะครัด ภาคใต้ดูจะใช้คำว่า คัด  ในภาคเหนือและอีสานใข้คำว่า มอง   ตาข่ายนี้สามารถใช้ได้หลายอย่าง นอกจากขึงดักปลา ดักนกแล้ว ก็ยังใช้ดักแมลงดานา และขึงกันนกพิราบตามอาคารบ้านเรือนได้อีกด้วย

แต่ก่อนนั้น ขบวนรถไฟทางยาวจะมีตู้รถเสบียงพ่วงอยู่ด้วย ก็จะมีผู้โดยสารที่สัดทัดกรณี เลือกเวลาที่เหมาะสม(ค่อนข้างจะปลอดคนแล้ว) ไปจับกลุ่มนั่งอยู่ที่ตู้เสบียง สังสรรเฮฮากัน     รถไฟสายเหนือจะถึงสถานีตะพานหิน บางมูลนาก พิจิตร ช่วงเวลาประมาณสี่ห้าทุ่ม  ที่สถานี้ทั้งสามนี้ ช่วงฤดูหนึ่งก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าเอานกกระจาบทอดมาเดินเร่ขาย ก็เป็นของแกล้มที่อร่อย ถูก และหายาก เป็นของขายดีพอสมควร มิฉนั้นก็คงไม่ทำขายกัน   ในบางช่วงฤดู ก็จะเห็นชาวบ้านตามรายทางรถไฟ ขึงตาข่ายและเปิดไฟนีออนเพื่อจับแมลงดานาและจับตั๊กแตน (ปาทังก้า ?)   ปัจจุบันนี้ แมลงดานาก็ถึงจุดที่ต้องเพาะเลี้ยงกัน    กลิ่นของแมลงดานาที่เป็นธรรมชาติจะมีความหอมนิ่มนวลมากกว่ากลิ่นที่สังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งจะมีความฉุนที่ค่อนข้างรุนแรง หากใส่มากไปก็อาจให้รสปร่าเนื่องจากเป็นกรดอินทรีย์เคมี  กลิ่นของแมลงดานาน่าจะให้ผลพวงในเรื่องของอุมามิสำหรับบางกลุ่มผู้คน แต่ก็มีในทางกลับกันที่มีบางกลุ่มคนที่รู้สึกว่ามีอาการแพ้     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 05 ก.พ. 23, 19:11

นึกออกถึงนกที่เลียนเสียงคนและสัตว์อื่นๆได้อีก 3 ชนิด  นอกจากพวกนกแก้วและนกขุนทองแล้ว ก็มีนกเอี้ยงสาริกา(นกเอี้ยง..เลี้ยงควายเฒ่า)  นกเอี้ยงโครง(นกกิ้งโครง) และอีกา

นกเอี้ยงสาริกาเป็นนกที่เคยเห็นว่าเป็นนกที่มีการนำมาเลี้ยงแบบปล่อยอย่างอิสระมากที่สุด มันจะวนเวียนวุ่นวายอยู่ใกล้ๆกับคนเลี้ยง เป็นนกที่ไม่อยู่นิ่ง ว่องไว แต่ก็น่ารัก เป็นนกที่สะอาด ชอบอาบน้ำ  ต่างกับนกเอี้ยงโครงที่เห็นแต่เลี้ยงกันอยู่เพียงในกรง   สำหรับอีกานั้น เป็นนกที่ดุ มีความฉลาด มักทำให้เราตกใจด้วยเสียงต่างๆที่มันแอบเลียนแบบมา

อีกาก็เป็นนกที่กินได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม ผมเคยลองชิมเนื้อของมันครั้งหนึ่งในงานชมรมของคนกลุ่มหนึ่งที่แคนาดา กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่บอกได้ถึงความน่ากินของเนื้อของมันเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 16 ก.พ. 23, 18:52

ปลาเป็นสัตว์ที่เลี้ยงได้ทั้งในรูปของอ่างน้ำภายนอกอาคารและในรูปของตู้เลี้ยงปลาภายในอาคาร   ที่เลี้ยงภายนอกอาคารดูจะเป็นพวกปลาน้ำจืดทั้งหมด ที่เลี้ยงในตู้ปลาก็จะมีทั้งปลาน้ำจืด ปลาสองน้ำ และปลาน้ำเค็ม

ส่วนมากแล้ว การเลี้ยงปลาจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสวยงามเป็นหลัก แต่ก็มีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหายาก  มีน้อยรายมากๆที่เลี้ยงบนฐานของการช่วยชีวิต   ต่างกับการเลี้ยงสัตว์ปีกพวกนก ซึ่งอาจจะตั้งอยู่บนฐานคิด/ความชอบหลายๆเรื่อง เช่น เสียงร้อง ความสวยงามของสีขน และความน่ารักในพฤติกรรมบางอย่าง  กรณีที่เป็นพวกสัตว์ปีกที่ไม่นิยมบิน การเลี้ยงส่วนมากจะเป็นเรื่องของความสุขที่ได้เห็นพฤติกรรมทางสังคมแบบกลุ่มของพวกมัน  สัตว์ปีกเกือบทุกชนิดจะถูกเลี้ยงภายนอกอาคาร   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 16 ก.พ. 23, 19:30

สิ่งดีที่สุดที่ได้จากการเลี้ยงปลาตู้ก็คือ เมื่อเฝ้าดูการเคลื่อนไหวว่ายไปมาของปลา(ในขณะให้อาหารปลา)ที่ผนวกด้วยความสวยงามของตัวปลา ของการจัดตู้ปลา จะช่วยปรับสภาพของจิตใจ ความเครียด และอารมณ์ร้อนแรงให้ผ่อนคลาย ลดน้อยลง     

การเลี้ยงปลาตู้ในปัจจุบันนี้น่าจะกระทำได้ในกลุ่มผู้คนจำนวนไม่มากนัก สาเหตุหลักก็น่าจะมาจากเรื่องของข้อจำกัดของการใช้พื้นที่ๆอยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง(โดยเฉพาะค่าไฟ)   แต่ก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะในตลาดชุมชนยังมีการซื้อขายปลากัดที่สามารถเลี้ยงในขวดแก้วหรือโหลแก้วได้ อาหารของปลาก็ไปช้อนเอาลูกน้ำจากแอ่งน้ำครำ ซึ่งยังจะช่วยลดปริมาณยุงได้บ้าง(แม้จะน้อยนิดก็ตาม)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 17 ก.พ. 23, 18:48

เด็กชายไทยที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตเมืองในสมัยก่อนโน้น ส่วนมากน่าจะเคยจับปลากัดมาใส่ขวดเลี้ยงดูมัน ซนกันตามประสาเด็กผู้ชาย  ผมเองแม้จะเข้ามาเรียนในโรงเรียนประจำในกรุงเทพฯ เมื่อถึงช่วงปิดเรียนสั้นๆ ก็ยังอดซนไม่ได้ ลงคูข้างทางรถไฟช่วงสถานีสามเสนกับถนนประดิพัทธิ์ เล่นอยู่กับกอผักตบชวา ถ่อไปมา ใช้เศษผ้ามุ้งทำเป็นสวิงหาช้อนปลากัด แต่ดูจะได้ปลากิมเสียมากกว่า

ได้ปลากัดมาก็ต้องแยกเลี้ยงเดี่ยว เพราะมันจะกัดกัน ต้องแยกใส่ขวด วางเรียงกัน แต่ไม่ให้มันเห็นกันด้วยการใช้กระดาษขั้นระหว่างขวด   

ความเพลิดเพลินในการเลี้ยงปลากัดมีอยู่ในหลายมิติ   แรกก็คือ การดูมันรำมวย การฟ่อใส่กันเมื่อได้เห็นกัน     ต่อมาก็คือ การพยายามเลี้ยงให้มันมีพัฒนาการทางสีสรร ซึ่งดูจะเกี่ยวพันกับเรื่องของอาหารและความสะอาดของน้ำในขวดที่ใส่เลี้ยงมัน  น้ำที่มันอาศัยอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีความสกปรกและขุ่นข้น เต็มไปด้วยตะกอนแขวนลอย  เมื่อเอามาเลี้ยง ได้กินลูกน้ำ ได้อยู่ในน้ำที่ใส มีการเปลี่ยนน้ำถ่ายน้ำและทำความสะอาดขวด ก็จะทำให้ร่างกายของมันมีความสมบูรณ์ ครีบต่างๆก็จะยาวขึ้น ที่กะรุ่งกะริ่งก็จะหายไปและมีสีสรรสดใส พริ้วสลวยเมื่อเวลามันว่ายไปมา     เรื่องต่อมาก็คือ การต้องพยายามไปหาตักลูกน้ำมาเป็นอาหารให้มัน  ดูคล้ายกับจะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่หากลองนึกถึงสภาพว่าสถานที่ๆจะมีลูกน้ำอยู่ควรจะอยู่แถวใหน ที่จุดใด บริเวณใด   จะช้อนมันมาเก็บสะสมไว้ ลูกน้ำก็จะกลายเป็นยุง  ต้องคำนึงถึงความสมดุลย์ระหว่างปริมาณที่ปลาจะกินได้กับปริมาณลูกน้ำที่จะปล่อยให้มันกิน  ภาระก็เลยมักจะเป็นงานที่เกือบจะต้องทำรายวัน  คิดในมุมหนึ่งก็เป็นการดีในเรื่องของการผ่อนคลาย ได้เดินออกกำลัง ได้ใช้สมองคิด ...     

เมื่อมันดูสวยงามดีแล้ว ก็นึกอยากจะเพาะพันธ์ุ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สร้างสรรความเพลิดเพลินได้อีกเรื่องหนึ่ง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 18 ก.พ. 23, 17:43

เมื่อจะเพาะพันธุ์ก็ต้องแต่งเรือนหอให้น่าอยู่ ก็ใช้อ่างบัว ทำความสอาดเสียหน่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ดูดีขึ้น ไปเก็บจอกและแหนมาเล็กน้อย เอามาลอยในอ่างบัวเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศ  เอาปลาตัวผู้และตัวเมียใส่ลงไป แล้วก็คอยเฝ้าดูมัน   เมื่อใดที่เห็นฟองลอยแผ่ติดจอกเป็นกระจุก ก็แสดงว่ามันกำลังอยู่ในช่วงผสมพันธุ์กัน  กระบวนความรู้จากภาคปฏิบัติของผมเองก็หมดลงเพียงเท่านี้ ไม่รู้ว่ามันยังจีบกันอยู่ กำลังไข่ กำลังฟัก หรือกำลังเลี้ยงลูกปลาตัวจิ๋ว  ไม่เคยมีโอกาสได้เห็นการเจริญพันธุ์จนครบวงจรสักครั้ง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 18 ก.พ. 23, 18:59

ปลาเงินปลาทอง น่าจะเป็นปลาตู้ที่มีการเลี้ยงมากที่สุด แต่ก่อนนั้นก็เป็นปลาที่มีทรงรูปตามปกติของมัน แล้วก็มีการพัฒนาไปเป็นการเลือกเลี้ยงพวกที่แตกพันธุ์ออกไปที่มีลักษณะเด่นจำเพาะ เช่น ลักษณะวุ้นที่หัว ความยาวของครีบ ...  ปลาทองเป็นปลาที่กินจุและถ่ายมาก จึงต้องมีการดูแลความสอาดตู้ที่เลี้ยงมันอย่างสม่ำเสมอ   

ในช่วงเวลาหนึ่ง เกิดความนิยมเลี้ยงพวกปลากินเนื้อทั้งชนิดที่มีอยู่ในไทยและที่นำเข้า  ปลาเงินปลาทองตัวเล็กๆก็เลยถูกนำไปใช้เป็นอาหารแก่ปลาเหล่านั้นบ้างเป็นครั้งคราว

ปลากินเนื้อที่มีการนำมาเลี้ยงกันชนิดหนึ่ง คือ ปลาตะพัด ซึ่งเป็นปลาเกล็ดน้ำจืดที่พบได้ในคลองที่มีน้ำไหลในภาคใต้ของเรา ขนาดของปลาที่เคยเห็นเลี้ยงกันในตู้ปลา ตัวจะยาวประมาณ 1 ศอกแขน  ที่เคยเห็นอาหารที่เอาให้มันกินก็มีเช่น แมลงสาบ จิ้งจก ปลาตัวเล็ก ...

ปลาเสือก็มีการเอาเลี้ยงเหมือนกัน เป็นปลาที่สามารถถุยน้ำ (split) ไปยังแมลงที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ใบหญ้าที่เอนเรี่ยอยู่เหนือผิวน้ำ  เป็นความสามารถพิเศษของมันในการทำให้แมลงตกลงน้ำแล้วกินเป็นอาหาร  ที่ผมชอบก็คือลายของมันสามารถปรับให้เข้มหรือจางได้ตามอารมณ์
 
ปลาเสือตัวใหญ่ที่เรียกว่าปลาเสือตอ พบอยู่ในบึงบรเพ็ดมากพอควรแต่ถูกจับมาทอดกินจนเกือบสูญพันธุ์ เป็นเมนูอาหารยอดนิยมของ จ.นครสวรรค์ ในช่วงประมาณ พ.ศ.2520+/-     ก็ดูจะยังโชคดีที่มีปลาแรดตัวขนาดพอๆกันเข้ามาช่วยทดแทน  ในปัจจุบันนี้ได้มีการเลี้ยงปลาแรดในกระชังในแม่น้ำสะแกกรัง ในพื้นที่ จ.อุทัยธานี   ก็น่าสนใจดีครับ เห็นชาวบ้านเลี้ยงผักบุ้งเป็นแพในแม่น้ำ ก็สงสัย พอเช้ามาก็มีคนพายเรือไปเก็บผักบุ้ง นึกว่าจะเอาไปขายในตลาด ไม่ใช่เลยครับ เขาเอามาสับ(หั่น)ให้เป็นชิ้นเล็ก เพื่อเอาไปทำเป็นอาหารของปลาแรดที่เลี้ยงไว้ในกระชัง    ซื้อปลาแรดสดมาทอดเองจะไม่อร่อยเท่าที่ร้านขายอาหารเขาทอด เหตุผลก็มีเพียงว่า มันต้องทอดแบบ deep fry ที่ต้องใช้น้ำมันเยอะมาก
     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 18 ก.พ. 23, 19:26

เปิดกระทู้นี้มาเพื่อนำเสนอเรื่องสำหรับอ่านเล่นและช่วยเสริมชีวิตชีวาเล็กๆน้อยๆแก่เรือนไทยในช่วงปลายโควิด-19   เรื่องราวก็ยังคงมี หากแต่ที่เป็นสาระคงจะไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก   เลยเห็นว่า กระทู้น่าจะถึงวาระลงเวทีแต่เพียงเท่านี้ ครับ  ยิงฟันยิ้ม 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 19 ก.พ. 23, 10:42

อ้าว จบแล้ว กำลังอ่านเพลินทีเดียว
กำลังจะยกปลาแรดทอดมาร่วมวงค่ะ   จบไปเสียก่อน  งั้นส่งท้ายกระทู้ก็แล้วกัน

ขอกระทู้เรื่องใหม่อีกสักเรื่องนะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 19 ก.พ. 23, 10:43

บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 19 ก.พ. 23, 18:47

เปิดกระทู้นี้มาเพื่อนำเสนอเรื่องสำหรับอ่านเล่นและช่วยเสริมชีวิตชีวาเล็กๆน้อยๆแก่เรือนไทยในช่วงปลายโควิด-19   เรื่องราวก็ยังคงมี หากแต่ที่เป็นสาระคงจะไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก   เลยเห็นว่า กระทู้น่าจะถึงวาระลงเวทีแต่เพียงเท่านี้ ครับ  ยิงฟันยิ้ม 
ตามอ่านเงียบๆมาตลอด ได้รับความรู้ใหม่ๆจากเรื่องเล่าของอาจารย์ ได้รู้จักสัตว์เพิ่มขึ้นอีกหลายตัวเลยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 20 คำสั่ง