เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 5271 เลี้ยงสัตว์ - สัตว์เลี้ยง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 21 พ.ย. 22, 19:14

ชาวบ้านที่ทำไร่ทำสวนอยู่ในพื่นที่ชายป่าหรือหาเลี้ยงชีวิตด้วยการเก็บกินของป่า จะนิยมเลี้ยงสุนัขไว้สองสามตัวหรืออาจถึงห้าหกตัว  สุนัขจะช่วยไล่แมลง งูและสัตว์มีพิษ ช่วยบอกและชี้ตำแหน่งของของป่าหรืออาหารที่เข้าไปเสาะหา ช่วยไล่ล่าสัตว์ที่เอามาทำอาหาร ช่วยไปเสาะเก็บของป่า ช่วยนำทางกลับบ้าน .....  เรียกว่า(น่าจะ)ครบทุกรูปแบบที่ฝรั่งเขาพยายามเพาะพันธุ์ขึ้นมาเพื่อให้ทำงานจำเพาะเป็นเรื่องๆไป 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 22 พ.ย. 22, 18:47

สองวันมานี้  'กันยา'นกเขาชวาน้อยได้บินกลับมากินอาหารที่โปรยไว้ที่พื้นโรงรถตามเวลาที่จัดให้กับฝูงนกเขาชวาประมาณ 20 ตัวที่ลงมาเป็นประจำ  ช่วงเช้าของวันนี้ เวลาประมาณ 8 โมง 'กันยา'บินเข้าไปในกรงที่เปิดประตูคาไว้ กินน้ำ และกินอาหารเล็กน้อย แล้วก็ขึ้นจับขอนแต่งตัว เสร็จแล้วก็กระโดดลงมาหมอบพักบนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปูไว้ในกรง  สักพักใหญ่ก็ไปเกาะที่ขอบประตูกรง มองไปมาสักครู่ใหญ่ๆแล้วก็บินไป  เขาก็ยังเชื่องและคุ้นเคยกับผมมากๆอยู่ ยังยื่นหน้าไปประชิดปากเขาให้เขาจิกหนวดเคราเล่นได้ ยังแนบแก้มกับตัวเขาได้  โดยสภาพเช่นนี้ ก็หมดห่วงเขาไปได้มาก เขาเอาตัวรอดได้แล้ว  แต่ก็ยังมีกังวลอยู่บ้างที่เมื่อเช้านี้ได้เห็นขนตามตัวฟูขึ้นมาเป็นจดๆ ขนหัวก็ไม่เรียบ  ดูคล้ายกับถูกจิกโดยนกตัวอื่นมา เขาก็คงต้องสู้ต่อไปและพยายามอยู่ให้ได้ในโลกของความเป็นจริงของนก

เป็นความสุขที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่จะเข้าข่ายของการใช้คำว่า สัตว์เลี้ยง ได้หรือไม่ ??
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 22 พ.ย. 22, 19:38

ในพื้นที่ไร่นาสวนผสมของผมในปัจจุบันนี้มีสัตว์ที่เข้ามาพักพิง เข้ามาหากิน หรือเข้ามาปรากฎตัวอยู่ค่อนข้างจะหลากหลาย  พวกนกที่ไม่ค่อยจะได้พบเห็นกันในปัจจุบันก็มี นกกะปูด นกแซงแซวหางปลา นกคุ่ม นกกวัก นกกะรางหัวหงอก นกโพระดก ... ที่ขาดไปและอยากจะเห็นก็คือนกกะรางหัวหวาน ที่จริงแล้วน่าจะมีอีกมากหลายชนิด เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสนใจพุ่งเป้าความอยากรู้   

ไก่ป่านั้นมีแน่นอน แถมยังลงมาผสมกับไก่บ้านที่เลี้ยงไว้อีกด้วย  นกเป็ดก็มีเพราะมีบ่อปลา นกเป็ดน้ำนี้มาอาศัยอยู่จนคล้ายบ้านของมัน  พวกสัตว์สี่เท้าที่เข้ามาเยี่ยมเยียนก็มีพวกอีเห็น ไม่แน่ชัดว่าเป็นอีเห็นข้างขาว ข้างลาย แต่คงมิใช่อีเห็นหางปล้อง    กระต่าย ไม่มาแล้ว    หมาป่า ก็เคยมาแต่ถูกหมาสวนกัดตายไปแล้ว 2 ตัว หายไปเลย 

ไม่ได้เลี้ยงเลย เพียงแต่ทำให้มันเป็นพื้นที่ๆมีความปลอดภัยเพียงพอที่สัตว์จะสามารถเข้ามาพำนักพักพืงได้

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 23 พ.ย. 22, 18:19

เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเด็กจนถึงวัยมัธยมต้น ได้มีโอกาสจับตัว ได้สัมผัส และเรียนรู้สัตว์ป่าอยู่หลายชนิดพอสมควร ด้วยที่คุณพ่อเป็นหมอ คนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาลก็จะหอบเอาลูกสัตว์ป่าที่ได้มาจากกรณีต่างๆ เอาใส่เกวียนเอามาให้เลี้ยงเมื่อเดินทางมารักษา นัยว่าเป็นการแสดงความขอบคุณ  ตัวแรกที่จำได้ก็คือลูกหมาดอยที่ชื่อ'หมี'ที่เล่าไปแล้ว ต่อๆมาก็มีลูกหมีควาย กระจง ชะนีทั้งขนขาวและขนดำ ลิง ค่าง นกแก้วแขก นกขุนทอง กระต่าย ลูกเสีอก็มีมาแต่ไม่รับไว้เลี้ยง

เมื่อตัวเองทำงานที่ต้องเดินเข้าป่าเข้าดง ได้เห็นสัตว์ป่าต่างๆก็เลยรู้สึกคุ้นเคยและรู้สึกเอ็นดูมัน โดยเฉพาะในภาพที่มันแสดงอาการงงเมื่อเห็นเราว่า ใครหว่า !   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 23 พ.ย. 22, 19:32

ประสบการณ์นอกตำราเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับสัตว์นี้  ทำให้มีความเห็นในสองสามประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการเลี้ยงสัตว์และการมีสัตว์เลี้ยง   

เบื้องแรกของเหตุที่ทำให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา ดูจะมาจากพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีสภาพจิตใจเป็นปกติ คือจะมีจิตใจที่มีความเอ็นดู มีความอ่อนโยน และยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ลูกสัตว์(ประเภทมีกระดูกสันหลัง)ตัวเล็กที่เพิ่งเกิดมาดูโลกได้ไม่นาน เมื่อได้พบเห็นพวกมัน   มีความรู้สึกว่าเป็นพื้นๆว่าลูกสัตว์เหล่านั้นมีอะไรๆที่เป็นความน่ารักมากมาย    ด้วยพื้นฐานของความรู้สึกเช่นนี้ บ้างก็เกิดความรู้สึกอยากเอาเขามาเลี้ยง เอามาดูแลด้วยตัวเอง บ้างก็เกิดจากภาวะจำยอมต้องหรือจำเป็นต้องรับเลี้ยงและต้องดูแล  บ้างก็เกิดจากความรู้สึกอยากจะเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการเลี้ยงดูให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตรอด เจริญเติบโตต่อไป    เมื่อมีความเกี่ยวพันเกิดขึ้น ก็เกิดความห่วงใย ซึ่งนอกจากจะเป็นในเรื่องของการดูแลเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ต่างๆแล้ว ก็จะผนวกด้วยการเห็นและติดตามเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและอุปนิสัยใจคอของสัตว์เหล่านั้น ผันต่อกลายเป็นความผูกพัน เกิดความรัก ความห่วง และอาจเกิดความหวงแหนเขาขึ้นมา ซึ่งบ้างก็เกิดกับตนเองเพียงคนเดียว บ้างก็เกิดกับคนทั้งครอบครัว

เมื่อย้อนนึกกลับไป ดูเรามักจะนึกถึงสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในสองช่วงเวลา คือ ช่วงวัยที่เรียกว่ายังป็นลูกสัตว์ กับวัยที่เรารู้สึกว่าเขาเป็น Companionship     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 24 พ.ย. 22, 19:02

ลูกของสัตว์ 2 ขา และ 4 ขา ล้วนมีความน่ารักอยู่ในตัวของมัน บ้างก็ในทางรูปกาย บ้างก็ในด้านการเคลื่อนไหว บ้างก็ในทางอุปนิสัยใจคอ  ความน่ารักเหล่านี้ แม้จะมีการเปลี่ยนไปตามวัย ซึ่งก็มีทั้งแบบการแปรเปลี่ยนเฉพาะเรื่องทางกายภาพ (เช่น การเปลี่ยนสีขน การมีเขา)  การแปรเปลี่ยนทางอุปนิสัยใจคอ (เช่น ความเป็นมิตร ความดุร้าย) และการแปรเปลี่ยนทั้งด้านกายภาพและอุปนิสัยใจคอ (เช่น เป็นนักล่า)

ลูกของสัตว์ที่มีการเปลี่ยนสีขนเมื่อโตขึ้น ที่ผมเคยได้เห็นในพื้นที่ๆเป็นป่าจริงๆก็มี ลูกไก่ป่าและลูกเก้ง(อีเก้ง)  ลูกเจี๊ยบของไก่ป่าจะมีขนลาย สีขนจะเปลี่ยนไปเมื่อโตขึ้น เป็นอย่างที่เห็นกัน   สำหรับลูกอีเก้ง(ฟาน ในภาษาเหนือ) จะมีจุดขาวบนสีน้ำตาลแดงอ่อน แซมด้วยสีผมหงอก เมื่อโตขึ้นจะมีสีขนเป็นน้ำตาลแดงเข้ม แต่ไม่มีความรู้ว่า ลูกของเก้ง(ฟาน) หรือของเก้งหม้อ(เก้งดำ) ชนิดใดที่ลูกของมันมีจุดขาว หรือมีทั้งสองพันธุ์ ?       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 24 พ.ย. 22, 19:42

มีข้อสังเกตว่า ไก่ป่าที่เลี้ยงกันจะยังคงมีสัญชาติญาณของสายพันธุ์ตกค้างอยู่ คือ ชอบเกาะนอนบนขอนเหนือพื้นดิน เมื่อตกใจจะแรกตอบสนองด้วยการบิน ยังคงมีความรู้สึกระวังภัยในระดับสูง ไม่นิยมเข้าไปสังคมในฝูงใหญ่   ลูกผสมกับไก่บ้านของมันก็ยังคงลักษณะดังกล่าวนี้อยู่ 

ไก่ป่าที่พบในป่าของบ้านเราดูจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือที่มีติ่งหู(ตุ้มหู)ขาว และติ่งหูแดง  ที่พบโดยทั่วไปทางภาคตะวันตกและภาคเหนือจะเป็นพวกติ่งหูแดง  ไก่ป่าจะไข่ไว้บนผืนดินที่ปกคลุมไปด้วยเศษใบไม้ใบหญ้า โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อระหว่างชัฏป่าไผ่กับป่าอื่นๆ   ว่ากันว่า ซึ่งควรจะต้องถือเป็นข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ว่าเมื่อเห็นแล้วก็ไม่ควรเอามือเราไปจับต้องหยิบจับขึ้นมาพิจารณา มิฉะนั้นมันจะไม่กลับมาฟักต่อไปอีก จะจริงเท็จเช่นไรก็ไม่ทราบ แต่แน่นอนว่าเมื่อมันเห็นเราเข้าใกล้มากเกินควรมันก็จะบินหนี 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 25 พ.ย. 22, 18:49

หมูป่าที่เคยเลี้ยงนั้น ได้มาตั้งแต่ยังเป็นลูกหมู จำมันได้อยู่ในสองช่วงอายุ คือเมื่อยังเป็นลูกหมูที่มีขนไม่เป็นสีดำ น่ารักดี และอีกช่วงหนึ่งเมื่อมันโต เลี้ยงอยู่ในคอกที่ทำลอบต้นจำปี มีเขี้ยวงอกออกจากปากยาวประมาณนิ้วชี้ ตัวมีสีดำ ขนคอยาว พื้นดินในคอกเป็นดินโคลนแฉะ มันชอบเดินเอาสีข้างสีต้นจำปี รอบต้นจำปีจึงมีแต่รอยฉีกขาดกับคราบดิน และรอยขุดงัดดินที่โคนต้น ในที่สุดต้นจำปีก็ตาย  ดูจะเชื่องและรับรู้เฉพาะเสียงของคนให้อาหารเท่านั้น

เรื่องราวที่ได้เรียนรู้และจำได้เนื่องมาจากการเลี้ยงหมูป่าตัวนั้น ที่ได้มาจากชาวบ้านและพรานไพรรุ่นเก่าในสมัยนั้นก็คือ หมูป่ามีความสามารถในการกระโจนชนได้ แข็งแรง สามารถวิ่งสวนลูกปืนได้และทำให้เราบาดเจ็บถึงตายได้   และอีกเรื่องหนึ่งคือ เขี้ยวหมูตัน    การล่าหมูป่าของชาวบ้านส่วนหนึ่งมาจากความต้องการเขี้ยวหมูที่ตัน(ไม่มีโพรง) เพื่อเอามาทำเครื่องรางของขลังในกลุ่มคงกระพันชาตรี   

เมื่อทำงานที่ต้องเดินป่าเดินดง ก็ได้พบกับชาวบ้านที่ถูกหมูป่าทำร้ายสองสามคน ซึ่งเหตุเกิดจากการไปยิงมัน รายหนึ่งเป็นการยิงตรงด้านหน้าระยะไกล้ อีกรายหนึ่งเกิดจากการยิงตัวหนึ่ง(ด้านข้าง)แต่ถูกอีกตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาทางด้านข้างของตนแล้วขวิดชนเอา เห็นแผลเป็นที่ตัวและแขนขาของทั้งสองคนแล้วน่ากลัวมาก เป็นผลมาจากการฉีกขาด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 25 พ.ย. 22, 19:56

ไม่เคยเห็นกรณีเลี้ยงหมูป่าในลักษณะที่เป็นสัตว์เลี้ยง เคยเห็นแต่การเลี้ยงหมูบ้านและหมูพันธุ์  ในไทยนั้นเห็นแต่การเลี้ยงเมื่อยังเป็นลูกหมูตัวเล็กอยู่เท่านั้น  สำหรับฝรั่ง เคยเห็นตามสื่อว่ามีการเลี้ยงต่อเนื่องจนมันโตเต็มวัย ซึ่งก็ดูว่าจะเลือกเลี้ยงเฉพาะพวกพันธุ์ที่มีสีขาว

ขอเลยเถิดไปถึงการเลี้ยงหมูวิธีการหนึ่งในไทย  เรียกว่าการเลี้ยง "หมูหลุม"  ก็ไม่รู้ว่าแนวคิดการเลี้ยงแบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากใคร 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 26 พ.ย. 22, 15:33

" หมูหลุม" คืออะไรคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 26 พ.ย. 22, 18:55

หมูหลุมเป็นชื่อเรียกวิธีการเลีั้ยงหมููในคอกที่ขุดดินออกให้เป็นหลุม   

ผมไปเรียนรู้วิธีการเลี้ยงแบบนี้กับ'พ่อถา' ชาวบ้านที่เป็นเกษตรดีเด่นในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  แล้วเอามาลองทำเอง   วิธีการก็คือ ขุดดินให้เป็นหลุมกว้างยาวประมาณ วา x วา ลึกประมาณ 1 เมตร  ฟางช้าวปูพื้น แล้วเอาแกลบเทลงทับเป็นชั้นๆ 3 ชั้น ชั้นแรกและชั้นที่สองแต่ละชั้นหนาประมาณ 1 คืบ และคั่นรถน้ำ EM ด้วยบัวรดน้ำให้ชุ่มหมาดๆ แกลบชั้นบนสุดให้หนามากกว่า สักหน่อย รดด้วยน้ำ EM เช่นกัน  เสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ระหว่างนั้นก็ทำหลังคาและคอกไม้   ได้เวลาก็เอาลูกหมูลงไปเลี้ยง มันก็จะ อึ-ฉี่ อยู่บนแกลบในคอกนั้น น้ำที่หมูกินก็ใช้น้ำที่ผสม EM อ่อนๆ  ดูคล้ายกับจะเป็นคอกหมูที่สกปรก แต่ที่จริงแล้วสะอาดและไร้กลิ่นเหม็นอีกด้วย ซึ่งก็ด้วยฤทธิ์ของการทำงานของจุลินทรีย์ EM ที่มีอุดมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นมานั้นเอง

หมูที่ให้คนดูแลสวนเอามาเลี้ยงเพื่อการทดลอง เป็นพันธุ์พื้นบ้าน ตัวไม่ใหญ่เหมือนกับพวกหมูสายพันธุ์ฝรั่งต่างๆ เช่นพวก Middle white, Large White, Duroc Jersey  ก็ได้ผลดีนะครับ  ความคิดแต่เดิมก็เพียงเพื่อจะให้เป็นตัวอย่างและการเรียนรู้ของชาวบ้านในท้องที่  แต่ไม่ได้ทำต่อไปให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะดูจะมีข้อจำกัดในเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง คือเรื่องของแกลบ เรื่องที่ดูว่าน่าจะเป็นของหาง่ายนั้น มันมิใช่เป็นเช่นนั้น มันมิใช่ของเหลือทิ้งไร้คุณค่าดังแต่ก่อน ในปัจจุบันนี้มันมีราคา และในช่วงบางเวลาก็กลายเป็นของขาดตลาด    เมื่อชาวบ้านขายข้าวเปลือก มันก็เท่ากับขายไปทั้งแกลบและทั้งรำข้าว   เมื่อเอาข้าวไปสีเพื่อกินเอง แกลบและรำที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างในการสีข้าว คือตกเป็นของเจ้าของเครื่องสีข้าว   หากจะรวบรวมแกลบที่ได้แต่ละครั้งในการเอาข้าวไปสีเพื่อกินในครอบครัว ก็ดูจะได้แกลบไม่พอสำหรับการเอามาทำอะไรๆ (ดังเรื่องหมูหลุมที่เล่ามา) กลับกลายเป็นไปว่าต้องไปหาซื้อแกลบทั้งๆที่ตนทำนาข้าว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 26 พ.ย. 22, 19:46

เกิดความเห็นขึ้นมาว่า   คุโระบูตะ เป็นเนื้อหมูคุณภาพดีมีราคาแพงที่ใช้ในเมนูอาหารญี่ปุ่นที่มีระดับ    ไทยเราก็มีอาหารดังติดอันดับโลกหลายเมนูที่ใช้เนื้อหมู เช่น ผัดกะเพราะหมู หมูน้ำตก คอหมูย่าง ...    เลยเป็นเรื่องน่าคิดว่า หากมีร้านหนึ่งใดได้ใช้และโฆษณาว่า ได้ใช้เนื้อหมูพันธุ์ไทยดั้งเดิมที่ได้ทำให้อาหารเมนูเหล่านั้นได้อร่อยถึงใจจนกระจายไปทั่วไทย จนได้ขยายไปดังกระฉ่อนไปทั่วโลก     ก็อาจจะเป็นเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจสำหรับท้องถิ่นที่ดีก็ได้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 27 พ.ย. 22, 18:58

"กันยา"นกเขาชวาตัวน้อยที่ได้เลี้ยงต้อยขึ้นมา ยังคงบินมากินอาหารทุกวัน บางวันก็มาเดินโชว์ตัวในตอนเช้า บางวันก็ในตอนบ่าย แต่ที่น่ารักมากๆก็คือ บางวันก็บินเข้าไปในกรง กินน้ำ กินอาหาร ไซร้ขน แล้วเกาะขอนรอเรา  เขายังตัวเล็กอยู่ ดูจะผอมไปหน่อย มีขนหางยาวขึ้น   ถ้าเขาปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรอีกสักระยะหนึ่ง  ความสัมพันธ์ของผมกับนก"กันยา"ก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เมื่อแรกมาเป็นลูกนกที่ได้รับการช่วยเหลือ (อนุบาล) ตอนนี้เป็นนกที่ได้รับการเลี้ยงดู (เลี้ยงสัตว์) กำลังจะพัฒนาต่อไปเป็นสภาพของ 'สัตว์เลี้ยง'   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 27 พ.ย. 22, 19:06

สงสัยว่ากันยาจะไม่ไปไหนแล้วค่ะ  บ้านคุณตั้งและกรงคือป่าของเขา ที่เขาอาศัยอยู่ได้แบบสนิทใจ
ต่อไปก็คงเป็นสัตว์เลี้ยงแบบไม่ต้องขังกรง  ไปไหนมาไหนได้แต่ก็กลับมาอยู่เสมอ   วันหนึ่งเมื่อมีคู่และมีลูก ก็คงพาครอบครัวมาอยู่แถวๆนี้แหละ
พูดแล้วก็คิดถึงนกกระจิบที่เคยมาทำรังบนระเบียง   ยังไม่รู้จะหาต้นไม้มาให้เขาอยู่ได้ยังไงเลย ตอนนี้เลี้ยงแต่ไม้กระถาง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 27 พ.ย. 22, 20:05

ทำให้นึกถึงความเป็นจริงบางอย่างในตัวตนของคนและสัตว์ ครับ    เมื่อแรกพบกัน ต่างก็เหนียม พยายามเว้นระยะห่าง   เมื่อต่างก็เริ่มเห็นความเป็นตัวตนที่เป็นตามรรมชาติมากขึ้น ก็จะเริ่มสัมผัสต้องตัวกันได้ จนในที่สุดการสัมผัสกันก็เป็นเรื่องปกติ   จุดสำคัญที่สร้างให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับที่เริ่มไว้วางใจกันก็ดูจะเป็นตอนที่เริ่มสัมผัสต้องตัวกันได้นั่นเอง  แล้วก็พัฒนาไปสู่ความผูกพัน ห่วงใย   ประสบการณ์การช่วยชีวิตและเลี้ยงสัตว์ของผมทำให้คิดเช่นนั้น ก็มีเช่น กระรอก แย้ อ้น เต่าหก นกกวัก เป็ด..     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง