เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 5428 เลี้ยงสัตว์ - สัตว์เลี้ยง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 09 ม.ค. 23, 17:48

จิ้งหรีดก็แมลงอีกชนิดหนึ่งที่เด็กๆสมัยก่อนจับเอามากัดกัน มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ตัวสีน้ำตาลแดง เรียกกันว่า ทองแดง กับตัวสีดำ เรียกกันว่า ทองดำ   ผมเคยหาจับมันมาเล่น จับได้ก็เอาใส่กลักไม้ขีดไฟกลับมาใส่กล่องกระดาษ แล้วทำไม้ปั่นหัวมันเพื่อดูมันแยกเขี้ยวกระกระพือปีก  ไม้ปั่นทำด้วยทางมะพร้าวที่เอามาทำไม้กวาด หักส่วนโคนของก้านยาวประมาณเกือบคืบมาท่อนหนึ่ง หาขี้ชันโรง หาเส้นผมตรงๆยาวประมาณ2-3 นิ้วมาสองสามเส้น เอามาต่อที่ปลายไม้ทางมะพร้าวโดยใช้ขี้ชันโรงเป็นกาวทำให้ต่อติดกัน

เพียงเอาไม้ปั่นเขี่ยไปมาที่ส่วนหน้าของจิ้งหรีด มันก็จะนึกว่าเส้นผมที่ไม้ปั่นนั้นเป็นหนวดของจิ้งหรีดอีกตัวหนึ่ง ก็จึงแยกเขี้ยวใส่และลุยไล่ให้ไปให้พ้น ซึ่งบางตัวก็ไม่ออกอาการใดๆเลย  เมื่อจะให้มันกัดกันก็เพียงใส่ตัวที่ดุอีกตัวหนึ่งลงไปในกล่องนั้น  กัดกันแล้ว ตัวที่แพ้ก็จะพยายามเดินหนีห่างสถานเดียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 09 ม.ค. 23, 18:30

ชันโรงเป็นแมลงตัวเล็ก ดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้แล้วเอามาสะสมไว้ที่รังคล้ายกับผึ้ง รังของตัวชันโรงมักพบอยู่ในรอยแตกรอยแยกของอาคารและโพรงที่มีรูเปิด โดยเฉพาะในจุดที่มีความชื้นมากกว่าในพื้นที่รอบๆ ในโพรงของมันจะมีของเหนียวๆสีดำ เรียกกันว่า ชันหรือขี้ชันโรง ซึ่งนิยมจะออกเสียงว่า ชันนะรง   ของเหนียวนี้มีความเหนียวเหมือนกาวหนังสัตว์(กาวหนังควาย) แต่มีความหนาแน่นของเนื้อมากกว่า

ปัจจุบันนี้ เราเกือบจะไม่เห็นตัวและรังชันโรงตามบ้านเรือนต่างๆ  เคยอ่านพบว่าเขาเรียกว่าผึ้งจิ๋ว และก็มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงอีกด้วย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 09 ม.ค. 23, 19:33

จิ้งหรีดในสมัยก่อนเป็นการจับตัวมันมาจากธรรมชาติ เพื่อเอามาเล่นกัดกัน ตัวที่แพ้ก็ปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ตัวที่ชนะก็จะต้องสู้ต่อไปจนแพ้ จึงจะถูกปล่อยกลับ จะเรียกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงหรือเป็นการเลี้ยงสัตว์ก็ดูจะไม่เข้าเกณฑ์ของความหมาของคำทั้งสอง   แต่ในปัจจุบันนี้มีการเลี้ยงจิ้งหรีดกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อป้อนตลาดแมลงทอด การเลี้ยงจิ้งหรีดเลยคงต้องจัดไปอยู่ในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์(ประเภทแมลง)  คิดเอาเองว่า อีกไม่นานก็คงจะต้องมีการเลี้ยงจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป

จิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่ง มีลักษณะตัวเหมือนๆกับจิ้งหรีด แต่มีขนาดตัวใหญ่กว่าจิ้งหรีดค่อนข้างมาก(ประมาณนิ้วมือ)  เด็กชาวบ้านสมัยก่อนจะเดินแบกเสียมไปในทุ่งนาเพื่อขุดหาจิ้งกุ่ง เปิดปากรูให้กว้างหน่อยและขุดตามรูมันไป แล้วก็ตักน้ำมาเทในแอ่งที่ขุดที่ปากรูเพื่อไล่ให้มันออกมา กว่าจะได้สักตัวหนึ่งก็ใช้เวลาโขอยู่ แต่ของมันอร่อย ได้แล้วก็เอามาปิ้งไฟกินกัน    ในตลาดสดเชียงใหม่ เมื่อก่อน พ.ศ.2510 จะมีจิ้งกุ่ง 4-5 ต้วเสียบไม้ชุบไข่(แป้ง)ทอด  กินกับข้าวเหนียวอร่อยไปเลย 

กระชอนก็เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่เอามาทอดขายกัน พบมากในนาข้าว

คนในภาคเหนือนิยมกินจิ้งกุ่ง ส่วนกระชอนและจิ้งหรีดเป็นแมลงที่คนอิสานนืยมกินกัน    ชาวนาญี่ปุ่นย่านชิบะก็นิยมกินจิ้งหรีดเหมือนกัน ที่เคยลองกินมา จิ้งหรีดของเขาตัวเล็กมาก ดูจะนิยมเอามาคั่วในสุก ไม่กรอบ ทำรสให้ออกหวานน้ำตาล 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 10 ม.ค. 23, 18:19

ในปัจจุบันนี้ สัตว์ประเภทลำตัวเป็นปล้องหลายชนิด (Arthropods) ได้ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อส่งขายไปทำอาหาร  ดูกำลังจะก้าวเข้าไปสู่การทำธุรกิจในลักษณะของอุตสาหกรรมครัวเรือนอย่างเป็นกิจลักษณะและที่มั่นคง  ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในด้านของสัมมาอาชีพทางเลือกอิสระสำหรับชาวบ้านที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

ผมไม่ทราบว่า ในวงวิชาการเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของเราได้ให้ความสนใจในเรื่องโปรตีนจากแมลงมากน้อยเพียงใด หลายประเทศได้มีการให้ความสนใจอย่างจริงจังจนไปถึงขั้นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมขยาดย่อม ขายเป็นส่วนผมในวัสดุที่ใช้ทำอาหารในชีวิตประจำวัน แม้จะยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยเพราะมีราคาต้นทุนสูง    ในญี่ปุ่นนั้นมีการศึกษาลงไปถึงการกินแมลงสาบ มีการทดลองทำเมนูที่น่าจะเข้าท่าที่สุด  ส่วนในไทยเรานั้น ก็คงได้ทราบและได้เห็นว่ามีกินมีขายกันเช่นใด   แต่ก่อนนั้นการกินแมลงถูกมองว่าไม่มีอะไรจะกิน ในปัจจุบัน แมลงทอดดีๆกลายเป็นของกิน delicacy เหมือนกัน ฝรั่งแถวพัทยาซื้อกินกันเป็นว่าเล่นเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 10 ม.ค. 23, 18:54

นึกถึงเรื่องตั๊กแตนปาทังก้าของไทย

นานมาแล้ว จำไม่ได้ว่าปีใหน ตั๊กแตนปาทังก้าเกิดสนใจไทยเรา แห่บินกันมากินพืชผลทางการเกษตรเสียหายมากมาย  พอชาวบ้านตั้งตัวติด ก็
ขึงตาข่ายดักมัน เก็บรวบรวมไว้แล้วก็หาทางใช้ประโยชน์ แรกๆได้ยินว่ามีการเอาไปหมักทำน้ำปลา (จริงเท็จเช่นใดก็ไม่ทราบ)  จำได้ว่าอีกปีหนึ่งมันติดใจ ก็มาอีก คราวนี้เจอกองทัพชาวบ้านดักจับ ก็จับกันจนเกลี้ยง แทบจะต้องแย่งกัน  ต่อมากลายเป็นเรื่องต้องรอว่าเมื่อไรมันจะมา แถมจะต้องล่อมันให้มันบินมาติดตาข่ายเสียอีก  สุดท้ายในปัจจุบัน ต้องเพาะเลี้ยงมันเพื่อเอาไว้ส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าเอาไปทอดขายทั่วไทย 
ปาทังก้า ยอมแพ้ ไม่เคยได้ข่าวว่ามันสนใจบินมาหากินในไทยอีกเลย

ก็ไม่ทราบว่า เหล่านักกีฎวิทยาในปัจจุบันกำลังเน้นการพัฒนาความรู้อยู่บนเส้นทางใดระหว่าง กำจัด ในฐานที่เป็นศุตรูพืช หรือเลี้ยงและขุนมัน เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 11 ม.ค. 23, 17:53

กล่าวถึงตัวแมลงไปแล้วก็คงต้องกล่าวถึงตัวมันในช่วงวัฏจักรชีวิตที่มันเป็นตัวหนอนหรือตัวด้วง   มีท่านใดนึกออกในทันทีใหมครับว่า ที่เรียกว่า หนอน กับที่เรียกว่า ด้วง นั้นต่างกันอย่างไร
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 11 ม.ค. 23, 18:49

ความต่างแบบสรุปก็คือ สุดท้ายของหนอนไปสู่การเป็นแมลงปีกอ่อน สุดท้ายของด้วงไปสู่การเป็นแมลงปีกแข็ง

แม้พัฒนาการสุดท้ายของหนอนและด้วงจะกลายไปเป็นแมลงที่เป็นอาหารของสัตว์ต่างๆในระบบนิเวศ แต่ส่วนมากจะเป็นศัตรูของพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์

ก็มีหนอนและด้วงของแมลงบางชนิดกลับได้รับการเพาะเลี้ยงเพื่อนำไปทำอาหารและขายเป็นรายได้  หนอนกินได้ที่ดังมาแต่แรกเป็นหนอนกินเยื่อไผ่ที่เรียกกันว่า รถด่วน ซึ่งในปัจจุบันนี้ รถด่วนได้พ้ฒนาไปอยู่ในกระป๋องวางขายอยู่ทั่วไป(กระทั่งในสนามบิน)  ส่วนด้วงที่กำลังติดตลาดตามหนอนรถด่วนมาคือด้วงสาคู ด้วงนี้พบเห็นขายอยู่ตามตลาดสดของชุมชนพื้นบ้านทั่วไป ยังไม่มีการพัฒนาไปเป็นรูปอาหารสำเร็จรูป

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 11 ม.ค. 23, 20:12

ปลวกเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เห็นแล้วต้องกำจัดให้สิ้นซากโดยเร็วไวพร้อมกับหาทางป้องกันไม่ให้มันกลับมาอีก   เท่าที่เคยสังเกตเห็นมา จะพบปลวกในปริมาณค่อนข้างมากในพื้นที่เรือกสวนที่เป็นตะพักลำน้ำ ในพื้นที่ตีนเขา และในพื้นที่ราบระหว่างเขา  ในบริเวณที่มีหย่อมความชื้นมากพอสมควรของพื้นที่เหล่านี้จะมีไม้ตระกูลยางขึ้นได้ดี ปลวกก็ชอบด้วยเพราะมีความชื้นใต้ดินมากพอสำหรับมัน     เราจะพบว่ามีเห็ดหลายชนิดเกิดอยู่ในพื้นที่เช่นนี้ แต่ที่น่าสนใจก็คือพวกเห็ดโคน ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยพบว่าวัฏจักรสำคัญของเห็ดโคนช่วงหนึ่งก็คือ เชื้อจะต้องผ่านท้องของพวกปลวกเสียก่อน  ก็ดูจะจริง ลองไปขุดเอาดินจอมปลวกที่เคยว่ามีเห็นโคนขึ้นมา นำมาใส่ในพื้นที่สวนจุดที่มีปลวก สองปีต่อมาก็ได้พบว่ามีเห็นโคนกระจายอยู่ทั่วสวนเลย   

คิดถึงตัวนิ่ม(หรือลิ่น) อยากจะเอาเลี้ยงแบบปล่อยเพื่อให้มันช่วยกำจัดปลวกในสวนให้มีปริมาณลดลง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 12 ม.ค. 23, 19:10

แต่ก่อนนั้น ตัวนิ่มยังพบเห็นได้ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะแถวๆสวนสัตว์ดุสิต ผมอยู่โรงเรียนประจำบริเวณพื้นที่นั้น จะเห็นตัวมันและจับตัวมันมาเล่นด้วยการจี้ให้มันม้วนตัวหรือพยายามดึงหางเพื่อยืดตัวมันให้กางออก พื้นที่บริเวณท้องของมันจะเป็นบริเวณที่มีเนื้อนิ่มที่สุด นิ่มกว่าท้องหมูสามชั้นเสียอีก  มันเป็นสัตว์หากินกลางคืน มันชอบเดินข้ามถนนในช่วงเวลาดึก จึงถูกรถชนและทับมันบ่อยๆ ก็ไม่ทราบว่ามันจะตายหรือไม่ ได้ยินแต่เสียงรถเบรดและเสียงชนมัน   

เมื่อเรียนวิชา Paleontology (บรรพชีวินวิทยา) จึงได้ความรู้ว่าตัวนิ่มเป็นพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม   เมื่อต้องเดินทำงานในป่าดง จึงได้รู้ว่ามันเป็นสัตว์ที่กินได้ เนื้อไม่มีกลิ่นสาบ ไม่เหนียว ส่วนเกล็ดของมันนั้นเอามาทำยา   มารู้เอาภายหลังว่ามันเป็นสัตว์ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากๆในวงการแพทย์แผนโบราณของจีน และเป็นสัตว์ที่เข้าใกล้สภาพจะสูญพันธุ์

ผมก็เลยมีความเห็นว่า  พื้นที่ๆที่เราใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชสวน พืชไร่ และที่สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยนั้น เกือบทั้งหมดจะอยู่ในผืนดินที่มีลักษณะที่เรียกรวมๆว่าเป็น Terrace deposit  ซึ่งเกิดมาจากการทับถมของตะกอนดินทรายที่พัดพามากับลำน้ำ (Alluvial deposit) และตะกอนจากการผุพังของพื้นที่สูงชัน (Eluvial deposit)  พื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งที่พบปลวกมาก  หากเราดูแลให้พวกสัตว์กินมดกินปลวกเช่นตัวนิ่มนี้ ได้มีโอกาสเดินท่อมๆหากินตามขุดรังมดหรือรังปลวกอย่างเสรีโดยไม่มีการไปขัดขวางและทำลายพวกมัน ก็ไม่แน่ที่เราอาจจะสามารถลดและจำกัดความเสียหายของทรัพย์สินต่างๆได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 13 ม.ค. 23, 18:43

ไก่เป็นสัตว์ที่ชาวบ้านในต่างจังหวัดนิยมเลี้ยงกันในบ้าน เป็นการเเลี้ยงเพื่อประโยชน์ในเรื่องของอาหาร เป็นไก่พันธุ์ที่เรียกรวมๆว่าไก่บ้านหรือไก่พื้นเมือง    สำหรับคนในเมืองจะเลี้ยงไว้ในลักษณะของสัตว์เลี้ยงเพื่อความรื่นรมย์ ก็จะเป็นไก่พันธุ์เล็ก โดยเฉพาะไก่แจ้  แต่หากมีที่ดินกว้างมากหน่อยและมีสนามหญ้า ก็อาจเลี้ยงไก่หลายพันธุ์รวมกัน เช่นมีทั้งไก่ต็อก ไก่งวง ไก่โต้ง ไก่อู และอื่นๆ     ก็มีการเลี้ยงไก่ที่เลี้ยงอย่างมีจุดประสงค์เป็นการจำเพาะเจาะจงในบางเรื่อง เช่น เลี้ยงไก่ชน เลี้ยงไก่พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่ของสายพันธุ์ต่างๆ  และเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านจิตบำบัด   และก็มีที่เลี้ยงไก่ในลักษณะเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นไก่สายพันธุ์ต่างประเทศ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 13 ม.ค. 23, 19:08

ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับการเลี้ยงไก่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัยประถมต้น เป็นการเลี้ยงรวมกันแบบปล่อยอิสระ ก็มีไก่ต๊อก ไก่งวง ไก่โต้ง ไก้อู ไก่แจ้ ไก่ชน และนกยูง  ภาพที่น่าดูก็คือช่วงเวลาให้อาหารตอนเย็น ทุกตัวจะมาอยู่รวมกันกินข้าวที่หว่านโปรยไป ทุกตัวไม่กลัวคน ที่เชื่องจริงๆพอที่จะเข้าถึงตัวและจับได้ทุกเวลาก็คือไก่ชนและไก่แจ้  ส่วนไก่ที่ดูน่ากลัวก็คือไก่งวง เมื่อหลีกเลี่ยงการจับของเราได้แล้ว มันก็จะแพนหางพร้อมกับปล่อยงวงให้ยื่นยาวออกมาและออกเสียงร้อง คล้ายกับเยาะเย้ยเรา 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 13 ม.ค. 23, 19:19

ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่า ทำไมเมื่อเราออกเสียงเพื่อเรียกไก่ให้มากินอาหารจึงใช้เสียง "กู๊ก กุ๊กๆๆๆ"    หรือว่ามาจากการเลียนเสียงของตัวผู้เมื่อเวลาเรียกตัวเมีย  หรือจากการเลียนเสียงตัวเมียเมื่อเรียกลูกให้จิกกินอาหาร 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 13 ม.ค. 23, 19:56

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 14 ม.ค. 23, 18:11

เพลงน่ารักดีครับ  ยิ้มกว้างๆ

อีกเสียงเรียกหนึ่งที่ไม่ไม่นุ่มนวลเหมือน "กู๊ก กุ๊กๆๆๆ" ซึ่งจะใช้เรียกไก่ในพื้นที่เล็กๆรอบตัวเรา และเห็นตัวไก่อยู่ใกล้ๆ   อีกเสียงเรียกหนึ่งจะออกไปทางห้าวและตะโกน "โอ้ว โอ้วๆๆ" หรือ "อ้าว เอ้าๆๆๆ" ใช้เรียกไก่ที่อยู่กระจายตัวกันในบริเวณค่อนข้างกว้าง

เสียงของไก่ตัวเมียมีอยู่ 3 เสียงที่สำคัญ คือ เสียง "จ๊อกๆๆๆๆ" จะได้ยินในขณะที่มันกำลังจะไข่หรือกำลังฟักไข่ ซึ่งก็พอจะแยกออกได้ว่ามันกำลังทำอะไร ด้วยการสังเกตหัวมัน หากมันย่อคอลงไป ส่วนมากจะเป็นการฟักไข่ แต่หากมันชูคอ ส่วนมากจะแสดงว่ามันกำลังจะออกไข่และกำลังพะวงอะไรสักอย่างหนึ่ง     เสียงที่สองคือ "กระต๊ากๆๆๆๆๆ"    หากเป็นเสียงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะบ่งบอกว่ามันกำลังตกใจ แต่หากมีเสียงต่อท้ายด้วย "กุกๆๆๆๆ" บ่งบอกว่ามันตกใจในขณะที่กำลังดูแลลูกเจี๊ยบ  บางทีเสียงกระต๊ากก็ได้ยินหลังจากที่มันออกไข่เสร็จสิ้นแล้ว และเสียงที่สามก็คือ "กุ๊กๆๆๆๆ" มันกำลังบอกลูกมันให้มาอยู่ใกล้ๆหรือให้จิกอาหารที่มันคุ้ยเขี่ยให้   

ก็เป็นพฤติกรรมของไก่ตัวเมียที่จำได้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กซนๆอยู่ ตจว. 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 14 ม.ค. 23, 19:09

เสียงของตัวผู้ดูจะมีอยู่ 2 เสียงที่สำคัญ คือเสียงขัน และเสียง "กุกๆๆๆๆ"  เสียงขันจะได้ยินจะได้ยินในตอนย่ำรุ่ง แต่ก็มีที่ขันตอนบ่ายๆ นัยว่าได้ประสบผลสำเร็จอะไรบางอย่าง  แต่สำหรับไก่ป่าตัวผู้ที่อยู่ในผืนป่าจริงๆนั้นกลับไม่ค่อยจะขันกัน  ดูมันจะขันเพื่อแสดงถึงการประกาศว่าฉันเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นนะ  ทำให้อาจจะมีไก่ตัวผู้อีกตัวหนึ่งเข้ามาหาเสียงนั้นเพื่อต่อสู้แย่งกันเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือการแย่งฝูงตัวเมีย  ไก่ตัวผู้มีนิสัยเป็น Casanova เมื่อต่อสู้ชนะก็จะประกาศด้วยการขันเสียงดัง

การต่อไก่ก็เลยใช้กลยุทธ์ล่อด้วยการใช้พฤติกรรมการขันของตัวผู้ หรือ การใช้เสียงร้องจ๊อกของตัวเมีย  ซึ่งทั้งสองแบบนี้ก็ล้วนเป็นการต่อไก่ตัวผู้   วิธีแรกจะใช่วิธีการเอาไก่ตัวที่ขันเก่งๆ ผูกขามันไว้ด้วยเชือกที่ปลายด้านหนึ่งปักใว้ให้แน่น เอาไปวางในพื้นที่ๆมีรอยขุดคุ้ยของไก่ อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อนำพาไก่ต่อไปในที่ต่างๆจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ เรียกว่า ตะกร้าใส่ไก่ต่อ?? (ภาษาอิสานเรียกว่า กะทอ)     วิธีที่สอง ด้วยการใช้เสียงร้องของตัวเมีย ทำได้ง่ายๆมากด้วยการใช้ใบไม้สดที่ไม่หนามากสองใบ คว่ำหน้าใบประกบกันแล้วเป่า ก็จะได้เสียงของตัวเมีย

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้านและไก่ป่าในบ้านเรา   ไม่มีความรู้ว่า ที่เรียกว่าไก่พันธุ์ทั้งหลายนั้นจะมีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง