เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 3580 รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 02 พ.ย. 22, 08:55

  @  อาจารย์หมอ CVT
   ตอนใช้เวิร์ดราชวิถีรู้สึกว่ามันง่ายกว่าพิมพ์ดีดไฟฟ้า  ตรงที่ลบและแก้ไขข้อความง่ายกว่ามาก   แต่พอมาใช้ window ต่างๆ มันยิ่งง่ายขึ้นอีกค่ะ  
    จนบัดนี้เปลี่ยน window มานับไม่ถ้วนแล้ว   เสียดาย Window XP  ว่าง่ายสุด ใช้อยู่หลายปีกว่าเขาจะยกเลิก  เมื่อเทียบกับ window 7 กับ 10    ซึ่งไม่ชอบเลย   แต่ก็ต้องใช้เพราะไม่มีทางเลือก
    ทำให้ยังไม่อยากเปลี่ยนเป็น 11  เกรงว่ามันจะยากกว่า 10  ต้องมาจำวิธีใช้กันใหม่อีกค่ะ  

   กลับมาเรื่องปัจจุบัน
   หลังจากคลื่นดิจิทัลซัดระบบกระดาษล่มไปเป็นจำนวนมากแล้ว   นักเขียนอย่างดิฉันก็ต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่  ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งพบว่า ไม่มีสกุลไทยให้ต้องส่งต้นฉบับทุกวันศุกร์อีกแล้ว     นิตยสารอื่นๆที่เคยส่งงานให้อย่างพลอยแกมเพชรก็ปิดตัวไปเช่นกัน
   ผลอย่างแรกคือรู้สึกสบายมาก  ได้มีชีวิตเรื่อยๆ อยู่แบบพักผ่อนตามสบายเป็นครั้งแรก  จะเขียนก็ได้ไม่เขียนก็ได้ ไม่มีใครโทรมาทวงต้นฉบับให้สะดุ้งผวาอย่างเมื่อก่อน     ลูกๆก็โตจนทำงานไปแล้ว  หมดห่วง    
   แต่พออยู่ไปสักพัก ความเคยชินว่าไม่เคยอยู่เปล่าๆ ทำให้ชักอยู่ไม่สบายอีก   คงจะจริงอย่างที่โหรโสรัจจะเคยทำนายไว้  กล่าวคือนานหลายปีมาแล้ว  ดิฉันนัดรับประทานอาหารมื้อเที่ยงกับพี่ "มนันยา" นักเขียนและนักแปลชื่อดัง    ปรากฏว่าคุณโสรัจจะ นวลอยู่ มาร่วมวงด้วยในฐานะลูกศิษย์เก่าของพี่มนันยา   นึกสนุกเลยขอให้ดูหมอให้   โหรโสรัจจึงทำนายว่า
   " ชีวิตอาจารย์ อะไรๆก็ดี   เสียแต่ว่าในชีวิตต้องเหนื่อยมาก   เรียกว่าไม่มีวันไหนเลยที่ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสบายๆ ไม่มีอะไรทำ  จะเหนื่อยไปจนวันสุดท้ายของชีวิต"
    
    คำทำนายของคุณโสรัจจะน่าจะถุกต้อง  หลังจากนั้นอีกไม่นานดิฉันก็ได้รู้จัก  e book   เข้ามาแทนนิตยสารเล่ม   เจ้าของเว็บ e book ตกลงจะนำผลงานไปลงพิมพ์ให้อ่านกันทางหน้าจอ       ในเมื่อพิมพ์ต้นฉบับด้วยไฟล์เวิร์ดอยู่แล้วก็ง่ายมากที่จะส่งอีเมลไปให้  เขาก็นำลงพิมพ์ได้เลย
    เราก็วนกลับไปสู่ลูปเดิม  คือก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 02 พ.ย. 22, 15:27

  นึกไม่ออกว่าจะเล่าอะไรอีกต่อไปแล้วค่ะ   ใครอยากทราบอะไรก็ถามมาดีกว่า
  ถ้าไม่มี จะได้จบกระทู้นี้เสียทีค่ะ
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 02 พ.ย. 22, 21:25

ขอเสริมนิดนะคะ ลีลาการเล่าเรื่องก็สำคัญค่ะ
ในฐานะนักอ่าน ที่เป็นFC 'ว. วินิจฉัยกุล' กับ 'แก้วเก้า' ก็เพราะติดใจลีลาการเล่าเรื่องนี่ล่ะค่ะ
ขอยกตัวอย่างเรื่อง 'รัตนโกสินทร์' ทั้งที่มีเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หนักๆ มีความรู้สอดแทรกอยู่เพียบ
แต่เพราะลีลาการเล่าเรื่องที่สนุก ทำให้ไม่รู้สึกว่าหนักหรือน่าเบื่อเหมือนกำลังอ่านตำราเลยค่ะ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 03 พ.ย. 22, 07:52

ลีลา หรือ style  หมายถึงวิธีการสร้างผลงานที่ดูแล้วเฉพาะตัว  เป็นเสน่ห์สำคัญของศิลปินทุกสาขา

ไม่ว่าศิลปินสาขาไหน  คนที่มี style จะโดดเด่นกว่าคนที่ไม่มี   เหมือนคนแต่งตัวแบบมี style  คนอื่นๆมองก็จะสะดุดตาว่าคนแต่งตัวธรรมดาๆกลืนไปกับคนเดินถนนคนอื่นๆ
เรื่อง style หรือลีลา เป็นเรื่องสอนกันไม่ได้  ต้องหัดพัฒนากันเอง    บางคนคิดว่าการก๊อปลีลาของศิลปินดังๆจะทำให้ตัวเองพลอยขายออกไปด้วย แต่ขอให้นึกถึงตัวอย่าง  อย่างไมเคิล แจ๊กสัน  สมัยโด่งดัง ลีลาท่าเต้นของเขามีนักร้องใหม่ๆ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเลียนแบบกันนับไม่ถ้วน   แต่ก็ไม่มีใครก้าวขึ้นสู่แถวหน้าได้สักคน  ทุกวันนี้ก็คนเหล่านี้ก็หายไปหมด เมื่อไม่มีกระแสอีกแล้ว

ลีลาของศิลปินแต่ละคนอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือตามวัย   แต่ถ้าเขามี "ลีลา" จริง   เวลาโชว์ผลงานก็จะเห็น "ลีลา" ของเขาเสมอ   
ยกตัวอย่างคุณสุรชัย สมบัติเจริญ  ตอนหนุ่มกับตอนสูงวัยแล้ว ร้องเพลงเดียวกันแต่ไม่เหมือนกัน แต่ที่มีสม่ำเสมอคือมีลีลาที่มีเสน่ห์โดดเด่น     นั่นคือ style


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 04 พ.ย. 22, 09:15

     ลีลาการเขียนไม่มีแบบแผนตายตัว       เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาเอง   บางคนเริ่มด้วยการเลียนแบบสำนวนภาษาของนักเขียนคนโปรด   บางคนก็คิดประดิษฐ์แนวทางขึ้นมาเอง  จะสำเร็จหรือไม่  คนอ่านจะเป็นผู้ตัดสินให้เอง   เพราะคนอ่านคือกรรมการตัดสินอาชีพนักเขียนว่าจะอยู่ยงคงกระพันในอาชีพนี้หรือไม่   
     พูดถึงคนอ่าน ก็ได้ประสบการณ์มาอย่างหนึ่ง ว่าคนอ่านไทยกับคนอ่านฝรั่งไม่เหมือนกัน   วัฒนธรรมเขากับเรามาจากคนละพื้นฐานกัน    อะไรที่ฝรั่งยกย่อง คนไทยอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้   ในทำนองเดียวกัน อะไรที่คนไทยนิยมชมชอบ ฝรั่งก็เห็นว่าไม่น่าสนใจเลยก็มี    ส่วนชาติอื่นเช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีนั้นดิฉันไม่รู้ เพราะไม่เคยศึกษา
     ตั้งแต่สมัยเรียน เคยอ่าน "ความพยาบาท" พระยาสุรินทราชา แปลจาก Vendetta ของ   Marie Corelli  เธอเป็นนักเขียนเบสเซลเลอร์ของอังกฤษ  โด่งดังในช่วงที่เจ้าคุณสุรินทรฯ ไปศึกษาต่อที่นั่น   ท่านก็คงอ่านแล้วชอบจึงนำกลับมาแล้วแปลลงในวารสารที่ออกใหม่ในยุคปลายรัชกาลที่ 5   กลายเป็นหนังสือสำคัญในวงวรรณกรรมไทย เพราะเป็นนิยายแปลเรื่องแรก และเป็นนิยายเรื่องแรกของไทยด้วย
    ตอนเรียนปี 1  คณะมีอาจารย์อังกฤษจบใหม่ๆจาก Oxford  มาสอน   ดิฉันอยากรู้ผลงานของคอเรลลีมากกว่านี้เลยไปถามอาจารย์หลังชม.เรียน  อาจารย์งง ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ     ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ เจออาจารย์อีกในเฟซบุ๊ค เกษียณมานมนานแล้ว  ดีใจมากที่ได้เจอบรรดาศิษย์ชาวไทยอีก   ก็ทบทวนความหลังกัน ปรากฏว่าจนบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่เคยได้ยินชื่อคอเรลลี     ผิดกับนักอ่านไทย โดยเฉพาะนักอ่านชาวอักษรศาสตร์ ไม่มีใครไม่รู้จักคอเรลลี เพราะแปลกันแพร่หลาย
    ก็มารู้ทีหลังว่า วงวรรณกรรมอังกฤษถือว่าคอเรลลีเป็นนักเขียนเกรด B พูดกันเหยียดๆว่า เอาไว้อ่านสำหรับชาวอาณานิคม   พวกผู้ดีมีความรู้ไม่อ่านกัน   
    พอมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต  งานของคอเรลลีหมดลิขสิทธิ์แล้ว   นำลงในเว็บไซต์ต่างๆกันหลายเว็บด้วยกัน   บางเว็บเปิดช่องให้ออกความเห็นได้  ก็มีคนอ่านไปออกความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าอ่านสนุกมาก      พวกเขาตัดสินจากความรู้สึก ไม่ใช่จากตำรา
   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 04 พ.ย. 22, 10:21

       อาจารย์งง ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ  ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษปรากฏว่าจนบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่เคยได้ยินชื่อคอเรลลี   
   

        ได้รู้จัก คอเรลลี จาก ดรรชนีนาง ของอิงอรที่นางเอกอ้างถึง เต็ลมา จนไปหาอ่านฉบับซิมพลิฟายด์ในห้องสมุดสมัยมัธยม
        บางคนคงโฟกัส ความสนใจเฉพาะเรื่องที่สนใจ,ที่ชอบจริงๆ ซึ่งก็มีมากมายจนไม่มีเวลาไปหาทำเรื่องอื่น
        (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า น่าจะผ่านตา,ผ่านหูมาบ้าง)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 04 พ.ย. 22, 11:15

นักเขียนที่ชื่นชมผลงานของคอเรลลี (แต่ไม่เปิดเผย) จนถึงนำมาเป็นต้นฉบับแต่งนิยาย 'เงา' และ 'พิษสวาท' จนโด่งดัง คือ โรสลาเรน หรือ ทมยันตี

ดังที่คุณหญิงวินิตาเขียนวิจารณ์ไว้ในตอนท้ายและบทสรุปของบทความเรื่อง มารี คอเรลลี กับนวนิยายและเรื่องสั้นของไทย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 04 พ.ย. 22, 12:31


        ได้รู้จัก คอเรลลี จาก ดรรชนีนาง ของอิงอรที่นางเอกอ้างถึง เต็ลมา จนไปหาอ่านฉบับซิมพลิฟายด์ในห้องสมุดสมัยมัธยม
        บางคนคงโฟกัส ความสนใจเฉพาะเรื่องที่สนใจ,ที่ชอบจริงๆ ซึ่งก็มีมากมายจนไม่มีเวลาไปหาทำเรื่องอื่น
        (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า น่าจะผ่านตา,ผ่านหูมาบ้าง)

       นักอ่านไทยรู้จักมารี คอเรลลีมากกว่านักอ่านอังกฤษ รวมทั้งอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษด้วยค่ะ
       อาจารย์อเมริกันของดิฉันที่สอนวรรณคดีอังกฤษก็ไม่รู้จักเธอค่ะ   แต่โชคดีอาจารย์หัวหน้าภาควิชา ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องงานของคอเรลลี   อาจารย์ยกหนังสือของคอเรลลีที่ใช้ในการค้นคว้าให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย    ดิฉันก็เลยมีโอกาสได้อ่านงานชิ้นอื่นๆของเธอด้วย   ไม่มีขายในไทย

       นักแปลที่แปลงานของคอเรลลีมากที่สุดคือคุณ "อมราวดี" ผู้ล่วงลับไปนานแล้ว   อีกท่านคือดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ท่านหลังนี้ ตอนดิฉันไปเยี่ยมชมบ้านของคอเรลลี่ที่ Stratford-upon-Avon  ขากลับผ่านร้านหนังสือเก่าเลยแวะซื้อมาฝาก  ปรากฏว่าเก่าสมชื่อ กระดาษกรอบจับทีแทบจะหลุดติดมือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 04 พ.ย. 22, 12:57

   งานของคอเรลลีไม่ถูกจริตของนักวิชาการและนักวิจารณ์  แต่ไปถูกจริตของคน 2 ชนชั้นด้วยกันคือ ราชสำนัก   กับคนชั้นกลาง    FC ตัวยงของคอเรลลีคือพระราชินีนาถวิคตอเรีย  โปรดให้นางข้าหลวงอ่านถวายก่อนบรรทมทุกคืน   ถ้ามีเรื่องใหม่พิมพ์ออกมาสู่ท้องตลาดเมื่อไรก็ต้องมีคนในวังมาซื้อไปถวายทันที      นอกจากนี้ กษัตริย์ที่เป็นพระญาติพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ก็โปรดปรานงานของคอเรลลีเช่นกัน    อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นกลาง ได้แก่พวกพ่อค้าฐานะดี  มีกำลังซื้อสูง
   ทั้งสองกลุ่มนี้ชอบงานสอนใจ ประเภททำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว   ซึ่งนักวิชาการอังกฤษไม่ชอบ เห็นว่าตีกรอบวรรณกรรมเกินไป     อีกข้อคืองานของคอเรลลีมักจะเกี่ยวกับอะไรที่เหนือธรรมชาติ   บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ดูถูกอีกนั่นแหละว่าเป็นงานชั้นต่ำ เหมาะกับคนระดับล่าง    ยิ่งบางเรื่องอย่าง Barabbas  คอเรลลีดึงเนื้อเรื่องมาจากเหตุการณ์ในพระคัมภีร์  แล้วมาตีความตามที่ตัวเองคิด ไม่ได้อิงหลักทางพระคัมภีร์   ก็ยิ่งถูกมองว่าตื้นเขิน หรือไม่ก็ดราม่าเกินไป
   แต่อะไรที่พวกนักวรรณคดีไม่ชอบ   คนทั่วไปชอบ  คนไทยเองก็ชอบ  เพราะคนไทยอ่านเอาสนุก ไม่ได้อ่านเพื่อยกระดับสมองหรือเพื่อแสวงหาอุดมการณ์ในชีวิต    งานของคอเรลลีจึงถูกใจคนอ่านไทย เห็นว่าแสดงคุณค่าของชีวิต  มีหลักการที่คนไทยเข้าใจได้ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 06 พ.ย. 22, 09:09

  ถอยหลังไปเมื่อครั้งนิตยสารและหนังสือเล่มยังเป็นสนามการอ่านที่สำคัญสุด   พื้นที่ให้นักเขียนยืนนับว่าจำกัดและยากมาก  เพราะจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการ  ไม่ว่านิตยสารหรือหนังสือเล่ม ก็ต้องมีบรรณาธิการชี้ขาดว่าเรื่องไหนพิมพ์ได้ เรื่องไหนลงตะกร้าไป    นักเขียนใหม่แทบไม่มีโอกาส เว้นแต่จะได้รางวัลใดรางวัลหนึ่งก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่โดยไม่คาดฝัน
  แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา ขยายพื้นที่ให้กว้างขวางได้ไม่จำกัด  ผลงานนักเขียนหน้าใหม่ก็ออกมาสู่สายตาได้ง่ายขึ้น   ต่อมาสมาร์ตโฟนเข้ามาแทนที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ค  จนยุคนี้ที่ทุกคนมีสมาร์ตโฟน    ก็พอกล่าวได้ว่าใครๆก็เป็นนักเขียนได้ถ้าอยากเป็น   เพราะพื้นที่มีเหลือเฟือ     
   จะสร้างบล็อคของตัวเอง จะเอาลง FB จะสร้างเว็บ จะทำ e book ฯลฯ ได้ทั้งนั้น  เขียนอะไรก็ได้ ไม่มีใครมากลั่นกรองว่าใช้ได้หรือไม่ได้    แม้แต่เขียนๆไปเกิดเบื่อขึ้นมา หยุดเขียนกลางเรื่อง ก็ทำได้ อาจจะโดนคนอ่านต่อว่านิดหน่อย แล้วก็จบกันไป   ผิดกับยุคก่อนที่คุณมีหน้าที่ต้องเขียนจนจบเรื่อง  ทิ้งกลางคันไม่ได้  ไม่งั้นบก.จะไม่รับผลงานคุณอีกต่อไป
   นักเขียนใหม่มีเหมือนกันที่แจ้งเกิดในอินเทอร์เน็ต   เขียนเองเอาลงเอง   แมวมองมาเห็นเข้า เอาไปรวมเล่มขาย หรือซื้อทำละครทีวี  ก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ไปเลย
  เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ขอสรุปว่า คุณ JibbyJ โชคดีมากที่เกิดมาในยุคนี้      ทบทวนตัวเองอีกทีแล้วรู้สึกว่าคำแนะนำของดิฉันเห็นจะไม่เป็นประโยชน์เท่าใดนัก   เพราะเราเป็นนักเขียนคนละยุคเสียแล้ว 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.164 วินาที กับ 19 คำสั่ง