เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 3591 รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 16:51


    ผลงานที่สร้างเป็นละครออกอากาศต่อเนื่องยาวนาน,มากมายนับสิบๆ จนถึงยุคนี้ที่มีการนำกลับมารีเมคกันอีก

วิกกี้ว่า - เรื่องแปล ใช้นามปากกา วัสสิกา, รักร้อย, ปารมิตา แต่เมื่อรวมเล่มแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น ว.วินิจฉัยกุล
           ยกเว้นเรื่อง จันทรคราส ที่ยังคงใช้ ปารมิตา

   นิยายที่ทำละครทีวีไปแล้ว มี 53 เรื่องค่ะ  อยู่ในคิวตอนนี้ประมาณ 8 เรื่อง
   บางเรื่องทำซ้ำ อย่างเศรษฐีตีนเปล่า  กับปัญญาชนก้นครัว  4 ครั้ง  แต่ปางก่อน 3 ครั้ง   ไร้เสน่หา 2 ครั้ง ภาพยนตร์ 1 ครั้ง  หนุ่มทิพย์ 2 ครั้ง    วิมานมะพร้าว ละคร 2 ครั้ง  หนัง 1   อะไรอีกจำไม่ได้แล้ว
   นามปากกาที่ใช้อย่างอื่นในเรื่องแปลก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ นโยบายนิตยสารให้ตั้งนามปากกาหลากหลายกันไป  ไม่ให้ลงซ้ำกัน    แต่พอรวมเล่ม สนพ.กลัวขายไม่ออกเพราะคนอ่านไม่รู้ว่าเป็นใคร เลยต้องใช้ ว.วินิจฉัยกุล 
    รอดไปได้เรื่องเดียวคือ จันทรคราส   เพราะสนพ.ไม่ขัดข้อง ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 16:59

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ จินตนาการครับ ผมทึ่งมากกับการที่นักเขียนมีจินตนาการได้ต่อเนื่อง

จินตนาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเขียน เหมือนร่างกายที่สูงและแข็งแกร่ง  จำเป็นสำหรับนักกีฬา 
ถ้าพูดด้วยภาษาพระ  จินตนาการคือ "ภาพนิมิต" ประเภทหนึ่ง   นักเขียนมองเห็นได้ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป  เหมือนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนว่าตอนท่านเขียนสี่แผ่นดิน ท่านก็เห็นเรื่องราวชัดเจนเหมือนตัวละครมากระซิบบอกอยู่ใกล้ๆ 
ภาพนิมิตยิ่งชัดเท่าไหร่   เรื่องก็ออกมาโน้มน้าวอารมณ์คนอ่านได้มากเท่านั้น   โดยมีสื่อที่สำคัญอย่างยิ่งอีกอย่าง คือ "ภาษา"  ถ้าถ่ายทอดไม่ดี ภาพนิมิตก็พร่าหรือสับสน    เพราะฉะนั้นนักเขียนต้องอ่านหนังสือมากๆ เพื่อจะคล่องเรื่องภาษา  และต้องหาหนังสือที่ใช้ภาษาดีๆมาอ่านด้วย   อย่าอ่านแต่แชท  ภาษาที่ใช้คุยกัน เอาไปเป็นพรรณนาโวหารและบรรยายโวหารไม่ได้ค่ะ   
บันทึกการเข้า
NT
มัจฉานุ
**
ตอบ: 92


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 21:33

คุณป้าตอนสาว  สวยสมกับที่บรรยายไว้ถึงคุณหญิงลอออร ไหมคะ

คุณป้าของอาจารย์เทาชมพู งามมากครับ สมกับที่บรรยายไว้ในมาลัยสามชาย

หลายปีก่อน ผมเคยเข้าใจผิด คิดว่าต้นแบบของคุณหญิงลอออร คือคุณหญิง มณี สิริวรสาร ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 ต.ค. 22, 08:21

 หลายคนก็เข้าใจผิดแบบนั้นค่ะ    ความจริง ขอยืมมานิดหน่อย คือให้พระเอกคนที่สามเป็นแพทย์ เหมือนสามีคุณหญิงมณี   แทนที่จะเป็นวิศวกรอย่างในความเป็นจริง
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 ต.ค. 22, 18:49


กระทู้นี้ดีจังครับ ผู้ที่คิดจะเข้าสู่แวดวงการประพันธ์ไม่ควรพลาด
ทำให้ได้รู้จัก ว.วินิจฉัยกุล แก้วเก้า ฯ มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ทราบว่าท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ทำนองนี้แก่นิตยสารหรือรายการใดหรือไม่
สำหรับอาจารย์เทาชมพูนั้น ผมมีความรู้สึกคุ้นเคย เพราะท่านเป็นเจ้าเรือนนี้ ยังเคยถูกท่านปราม(สุภาพมาก)เมื่อเห็นผมเริ่มจะออกนอกลู่ มีความรู้สึกว่าท่านใช้ภาษาได้อย่าง”นายภาษา”
ส่วนอาจารย์คุณหญิงวินิตา ได้พบท่านแบบไม่คาดฝันมาก่อนที่งานหนังสือฯเมื่อหลายปีมาแล้ว ท่านกรุณาเซ็นชื่อทีปกหนังสือให้ด้วย ปลื้มมากจนถึงบัดนี้
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 29 ต.ค. 22, 19:03

กระทู้นี้ดีจังครับ ผู้ที่คิดจะเข้าสู่แวดวงการประพันธ์ไม่ควรพลาด
ทำให้ได้รู้จัก ว.วินิจฉัยกุล แก้วเก้า ฯ มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ทราบว่าท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ทำนองนี้แก่นิตยสารหรือรายการใดหรือไม่
สำหรับอาจารย์เทาชมพูนั้น ผมมีความรู้สึกคุ้นเคย เพราะท่านเป็นเจ้าเรือนนี้ ยังเคยถูกท่านปราม(สุภาพมาก)เมื่อเห็นผมเริ่มจะออกนอกลู่ มีความรู้สึกว่าท่านใช้ภาษาได้อย่าง”นายภาษา”
ส่วนอาจารย์คุณหญิงวินิตา ได้พบท่านแบบไม่คาดฝันมาก่อนที่งานหนังสือฯเมื่อหลายปีมาแล้ว ท่านกรุณาเซ็นชื่อทีปกหนังสือให้ด้วย ปลื้มมากจนถึงบัดนี้

.
ผมเห็นด้วยเลยครับ .....กระทู้นี้ มีชีวิตชีวา มีสีสรรค์เป็นอย่างยิ่ง.......
...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 29 ต.ค. 22, 19:07

   กำลังรอว่าเมื่อไรคุณ Jalito จะยกมือขึ้นพูดเสียทีค่ะ   แต่เรื่องเข้ามานั่ง น่าจะเข้ามาแบบเงียบๆสักพักแล้ว   ยิงฟันยิ้ม
   เคยให้สัมภาษณ์เหมือนกัน   เล่าตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ต่างกรรมต่างวาระ  ค่ะ  รวบรวมเอามาเล่ารวดเดียวเลยในกระทู้นี้

    วิธีสร้างวินัยอีกอย่างหนึ่งคือกำหนดปริมาณงานไว้เลยว่า ต้องทำวันละเท่าใด  เช่น ภายใน 7 วันต้องส่ง 1 บท  ถ้าความยาวคือ 7 หน้า ต้องเขียนให้ได้วันละ 1 หน้า ถึงจะเข้านอนได้    วันไหนไม่ได้เขียนเพราะมีเหตุอะไรก็ตาม วันรุ่งขึ้นต้องเขียน 2 หน้า  งานก็จะเสร็จทันกำหนดเวลา  วิธีนี้ เฮมิงเวย์ก็ใช้เหมือนกันค่ะ

     ย้อนไปสมัยยังรับราชการ   ต้องทำผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ   ตอนนั้นเลือกแปลหนังสือ 1 เล่มคือความพยาบาทฉบับสมบูรณ์ แปลจาก Vendetta! ของ Marie Corelli
     นับจาก "แม่วัน" หรือพระยาสุรินทราชาแปลเรื่องนี้เป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกของไทย ในรัชกาลที่ 5 แล้วยังไม่มีใครแปลอีก  เจ้าคุณท่านแปลแบบรวบรัด  หลายบทถูกตัดออกไป   เมื่อมาแปลให้ครบเรื่องพร้อมกับทำวิจัยไปด้วย ก็เอาจำนวนหน้าหนังสือตั้งขึ้น หารด้วย 365 เพราะงานต้องเสร็จใน 1 ปี  พบว่าต้องแปลให้ได้วันละ 7 หน้า ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะไม่ออกยังไงก็ต้องให้ได้ 7 หน้า    วันไหนทำได้มากกว่านั้นก็เท่ากับงานที่รออยู่ข้างหน้าจะเบาลง  ผลก็คือทำงานเสร็จทันเวลา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 29 ต.ค. 22, 19:15

    วิธีทำงานให้ได้มากในเวลาจำกัด คือบอกตัวเองว่า  การเขียนหนังสือเป็นสิ่งยากอยู่แล้ว  ไม่ควรสร้างเงื่อนไขต่างๆกับตัวเอง ให้ทำงานได้ยากเข้าไปอีก      เช่น จะต้องเดินทางไปพักริมทะเล หรือบนภูเขาถึงจะเขียนได้ลื่น    ต้องรอให้ทุกคนในบ้านเข้านอนเสียก่อน บ้านเงียบดีถึงจะลงมือเขียน    ต้องเขียนเฉพาะวันหยุดเท่านั้น  ฯลฯ
   ถ้าอยากทำเช่นนั้น ต้องใช้วิธีเขียนให้จบก่อนแล้วค่อยส่งนิตยสาร หรือส่งรวมเล่มกับสำนักพิมพ์เลย    ซึ่งไม่จำกัดเวลาเขียน จะกี่ปีก็ได้    แต่ถ้าต้องส่งต้นฉบับทุก 7 วันหรือ 14 วัน  จะทำไม่ได้   
   เพราะฉะนั้น    ผลพลอยได้ของการฝึกตัวเองให้เขียนได้ทุกสถานที่และโอกาส ทำให้ทำงานได้มาก  เมื่อทำงานได้มากก็ไม่เครียด เมื่อไม่เครียด  ความคิดก็ไม่สะดุด   งานก็เสร็จทันเวลา 
   ถ้าเป็นคนมีครอบครัวแล้ว ไม่แนะนำให้มีห้องทำงานส่วนตัว    เพราะถ้ามี เราจะถูกงานทำให้ห่างครอบครัวตั้งแต่ตอนเย็นไปจนดึก  ไม่ได้อยู่กับพร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก    ถ้านั่งอยู่แค่ในมุมหนึ่งของห้องแล้วทำงานไป  ลูกก็อยู่ในสายตา เขาขอให้ช่วยเรื่องการบ้านก็สอนเขาได้   พฤติกรรมของเขาเราก็เห็นโดยตลอดตั้งแต่เล็กจนโต   ส่วนเขาก็เห็นแม่ทำงาน ไม่ได้นั่งๆนอนๆอยู่เฉยๆ เท่ากับสอนเขาในตัวให้เห็นคุณค่าของการทำงานค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 30 ต.ค. 22, 12:29

พูดเรื่องจินตนาการต่อ

จินตนาการของนักเขียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน  นอกจากไม่เหมือนกัน ยังไม่เท่ากันด้วย   พวกที่มีจินตนาการน้อยไม่ควรเอาดีคิดจะประกอบอาชีพนี้  แม้แต่สารคดีก็ต้องใช้จินตนาการในการบรรยายเรื่องให้เห็นภาพ  แต่ถ้าทำเป็นงานอดิเรกก็ไม่เป็นไร อาจจะเพลินๆไปได้เป็นปีหรือหลายปี
ต่อมาคือพวกที่มีปานกลาง พวกนี้เขียนได้   แต่นานเข้าอาจพบว่ามาถึงทางตัน  ทำให้ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่หวัง จากนั้นเมื่อมีอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่าผ่านเข้ามา  หรือมีภาระอย่างอื่นต้องดูแล ก็จะหันเหไปทำอย่างอื่นที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า 
ก็เหลือแต่พวกจินตนาการสูง ซึ่งมีไม่มากนัก    คนที่เป็นนักเขียนอาชีพได้จนตลอดรอดฝั่ง ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่าคนจบปริญญาเอก

นักเขียนไม่ว่ามีจินตนาการมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นคนที่สามารถลำดับจินตนาการได้ตั้งแต่ต้นจนจบก่อนลงมือเขียน  จะเขียนเรื่องได้คล่องกว่าคนที่คิดไม่ค่อยออก  เลยใช้วิธีเขียนไปคิดไป  จบยังไงค่อยรู้กันตอนจบ   
ถ้าเปรียบ ก็เหมือนขับรถโดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง แต่ขับไปเรื่อยๆตามถนน  มีทางให้ตรงก็ตรง  ให้เลี้ยวก็เลี้ยว  เลี้ยวไปเลี้ยวมาเลยหลงทางได้ง่าย  โอกาสที่เดาสุ่มต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง มีน้อยมาก
หรือไม่ก็เหมือนคนสร้างบ้านแบบไม่มีพิมพ์เขียว คืออยากต่อห้องตรงไหนก็ต่อ  บ้านถึงเสร็จ ก็จะออกมาไม่ได้รูปทรงสวยงามเท่าที่ควร  ดีไม่ดีส่วนที่ต่อเติมเข้าไปอาจจะพังครืนล้มลงมา  ทำให้บ้านทั้งหลังเสียหายไปด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 30 ต.ค. 22, 15:33

คุณ JibbyJ คนตั้งกระทู้ หายไปเลยนะคะ

จะมาต่อเรื่อง "ภาษา" ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 30 ต.ค. 22, 19:05

    กุญแจอีกดอกที่ไขไปสู่ความสำเร็จของนักเขียน คือภาษา
    นักเขียนที่ดีต้องรู้จักใช้ภาษาได้ดี   เรื่องนี้จะเรียกว่าข้อบังคับก็ได้   ยังไม่เคยเห็นนักเขียนคนไหนประสบความสำเร็จด้วยการใช้ภาษาผิดๆถูกๆ   ภาษาที่แข็งกระด้าง  ภาษาที่ไม่สื่อความหมาย  และภาษาที่ " ไม่..." อะไรอีกหลายๆอย่าง  รวมความว่าเป็นภาษาที่อ่านไม่รู้เรื่องหรือถึงรู้เรื่องก็ไม่กระทบใจคนอ่าน

      ขอให้สังเกตความแตกต่างของภาษาใน 2 ประโยคข้างล่างนี้

      เสียงปืนถูกยิงดังปังๆๆติดต่อกัน
      เสียงปืนกัมปนาทขึ้นอย่างหูดับตับไหม้
      ความหมายเดียวกัน แต่การใช้ภาษาเป็นคนละระดับเลยทีเดียว    ประโยคแรกเขียนตรงๆทื่อๆ ไม่ให้อารมณ์ใดๆ บอกแต่ข้อเท็จจริง ว่ามีเสียงปืนยิงซ้ำๆกันหลายนัด   ประโยคที่สองมีการเลือกใช้โวหารที่เน้นให้เห็นอานุภาพของเสียงปืนดังสนั่น  รัวถี่ยิบจนหูอื้อ  เร้าอารมณ์คนอ่านให้ตื่นเต้นว่า จะต้องมีเรื่องคอขาดบาดตายเกิดขึ้นแน่ๆ

      รองเท้าของวีระเริ่มกัดจนเขาเดินไม่ถนัด แต่ก็ต้องทน   เดินไปก็ด่าไป
      วีระกัดฟันลากเท้าเดินกระโผลกกระเผลก ด้วยฤทธิ์ของรองเท้าเจ้ากรรม  เขาแช่งด่ามันเสียไม่นับทั้งๆรู้ว่าช่วยอะไรไม่ได้     
      แบบแรก  บอกเล่าเฉยๆถึงภาพที่เห็น
      แบบที่สอง นอกจากเห็นภาพ  คนอ่านจะสัมผัสถึงความเจ็บปวดของวีระ ตลอดจนอารมณ์เสียที่จำต้องทนสถานการณ์นี้โดยไม่มีทางเลือกอื่น

      ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างภาษาที่นักเขียนนวนิยายควรฝึกฝนให้มี    อันได้แก่ภาษาที่มีสำนวนโวหาร สร้างอารมณ์ให้คนอ่านได้

      ฝนตกลงมาเล็กน้อย  กับ สายฝนโปรยปรายลงมาเบาๆ  ให้อารมณ์ที่แตกต่างกัน  ทั้งๆความหมายเดียวกัน   อย่างที่สองนุ่มนวลกว่า  ให้บรรยากาศที่สวยงามมากกว่า
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 31 ต.ค. 22, 10:59

           สำหรับคนจินตนาการไม่บรรเจิด น้ำหอมกลิ่นนี้อาจช่วย"บิ๊ว" ในการแต่งนิยายแนวภูตวิญญาณได้
           แต่ ระดับ"แก้วเก้า" แล้ว คงไม่ต้องใช้ตัวช่วยแบบนี้กระมัง,ครับ อีกอย่างคือ ระหว่างแต่งเคยเกิด
เหตุการณ์แปลกๆ อะไรขึ้นบ้าง เหมือนอย่างที่ ทมยันตี เคยเล่าตอนแต่งเรื่อง พิษสวาท
          (กลายเป็น คำถามข้ามไปอีกกระทู้จนได้ :)
         

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 31 ต.ค. 22, 18:55

ตอบคุณหมอ SILA
    อย่างที่เล่าไปข้างต้นกระทู้นี้แล้วว่า จินตนาการของนักเขียนก็คือภาพนิมิตประเภทหนึ่ง      เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันต้องระวังมาก ก็คือต้องมีสติเตือนตัวเองอยู่ทุกเวลาว่า  สิ่งที่เราเห็นนั้น เราเห็นจริง   แต่ตัวของมันเองนั้น-ไม่จริง
   หรือต่อให้มันเป็นเรื่องจริง   มันก็ไม่ได้นำไปสู่เส้นทางของพุทธศาสนา   ไม่ใช่ มรรค  ซึ่งเป็น 1  ในอริยสัจจ์ 4   แต่อย่างใด   กล่าวคือไม่ใช่เส้นทางของการหลุดพ้นจากทุกข์  แต่อาจทำให้เพลิดเพลินได้ชั่วคราว 
    ถึงกระนั้น ในความเพลิดเพลินที่ว่า จะต้องใช้สติกำกับอยู่เสมอ   ไม่งั้น 'หลุด' เข้าไปในวังวนได้ง่าย   เนื่องจากจินตนาการยิ่งแรงเท่าไร  ความเพลิดเพลินก็จะมากเท่านั้น  บางทีก็เพลิดเพลินจนรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือโลก  เป็นแรงดึงดูดมหาศาลให้เข้าไปแล้วติดใจจนไม่อยากกลับออกมา   ผลคือหลงเข้ารกเข้าพงไปทางไหนก็ไม่รู้ มันน่ากลัวสำหรับตัวเองและครอบครัวมากค่ะ
    ตอนนี้ยังพูดคุยกับสมาชิกเรือนไทยรู้เรื่องอยู่ค่ะ  คุณหมอไม่ต้องห่วง 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 01 พ.ย. 22, 19:42

   ตั้งแต่เริ่มลงมือเขียนเป็นอาชีพ ก็รู้สึกเสมอว่าอาชีพนี้เหมือนเดินอยู่บนถนนสายยาว ที่ทอดผ่านกาลเวลามานานนับร้อยปี  ก็คงจะทอดยาวไปอีกนับชั่วหลานเหลน  ใครจะไปนึกว่า วันดีคืนดี คลื่นลูกใหม่ที่เรียกว่า "สมาร์ตโฟน" ซัดเข้ามาให้โครมเดียว  ถนนทั้งสายหายไปในพริบตา
   นิตยสารทั้งหลายปิดตัวลงเกือบ 100%  ในเวลารวดเร็วน่าใจหาย    มองไม่เห็นแผงหนังสือตามตลาดอีกแล้ว สำนักพิมพ์ก็ทยอยปิด  หน้ากระดาษและหมึกพิมพ์ที่คุ้นเคยหายไปอีกเช่นกัน มีแต่ตัวหนังสือให้อ่านผ่านหน้าจอ      นักเขียนกลายเป็นคนยืนงง ถ้าหมุนตัวตามโลกดิจิทัลไม่ทัน  ก็จะถูกคลื่นซัดหายไปในพริบตา
   นักเขียนยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ จิ้มคีบอร์ดอย่างชำนาญ  พากันมายืนแทนที่นักเขียนยุคเก่าที่เกิดมาพร้อมกับกระดาษและปากกา    นิยายยุคดิจิทัลอย่าง นิยายอีบุ๊ค   นิยายไลน์ และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างพรั่งพรูออกมาสู่หน้าจอ
   แล้ว "แก้าเก้า" ทำอย่างไร

  โชคดีหน่อยที่ดิฉันเคยชินกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่พ.ศ. 2535   ตัวที่ใช้พิมพ์หนังสือ ในตอนนั้นเขาเรียกว่า word processor  มีโปรแกรมให้เลือกพิมพ์ต้นฉบับ 2 แบบ คือ เวิร์ดราชวิถีกับเวิร์ดจุฬา   ส่งต้นฉบับโดยไม่ต้องใส่ซองอย่างเมื่อก่อน แต่ส่งด้วย Fax Modem  (เดี๋ยวนี้น่าจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว)    เมื่ออินเทอร์เน็ตมาถึงกรุงเทพและปริมณฑล   อีเมลก็ยิ่งทำให้ส่งต้นฉบับสะดวกกว่าแฟกซ์โมเด็ม
   ดิฉันเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตั้งแต่พ.ศ. 2542  จำค.ศ. ง่ายกว่าคือปี 1999   ช่วยได้มากในการค้นข้อมูลต่างๆ แม้ว่าตอนนั้นมีแต่ yahoo ก็ถือว่าใช้การได้ดีกว่าไต่บันไดห้องสมุดหลายเท่า
   การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นทำให้รอดตัว ไม่ตกเทรนด์ มาสัก 2 ทศวรรษได้     แต่มาถึงพ.ศ. 2565  ก็ต้องยอมรับว่า app มันเพิ่มมากมายเหลือเกินจนตามไม่ทัน    โลกไม่ใช่ที่อยู่ของคนยุค Baby Boomers อีกแล้ว   ว่ายตามกระแสเขาไม่ไหว
   แต่ก็ยังดีหน่อย  เมื่อว่ายตามไม่ไหวก็ไม่ต้องว่าย    ยังมีชายฝั่งให้หายใจได้อีกมาก    นั่นคือการบันทึกภาพสังคมที่หมดไปแล้วในความเป็นจริง  แต่ยังดำรงอยู่ในความทรงจำ 
   คนจำนวนมากแม้พอใจกับปัจจุบัน   แต่ก็ยังอยากรู้จักอดีตที่พวกเขาเกิดไม่ทัน   เราก็ทำหน้าที่กระจกเงาให้เขาเห็น  มันเป็นความได้เปรียบของคนที่เกิดมาก่อน   เพราะยังเข้าใจวัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆในอดีตที่ปัจจุบันกลายเป็นของหายากไปแล้ว 
   อย่างเช่น มาลัยสามชาย และ  เพชรกลางไฟ เป็นต้น   
     
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 02 พ.ย. 22, 08:24

ยังพับเพียบเรียบร้อย นั่งฟังการบรรยายอย่างเงียบ ๆ ครับ

อาจารย์ทำให้ผมคิดถึงความหลังเมื่อครั้งใช้คอมพิวเตอร์ ๘ บิท ใช้เวิร์ดราชวิถีและเวิร์ดจุฬาเลยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง