เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 3598 รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 08:49

    ทีนี้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวบ้าง
    ดิฉันเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีประวัติยาวเหยียด  ย้อนหลังไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์   พ่อแม่ดิฉันเป็นคนที่จำเรื่องราวเก่าๆได้แม่นยำมาก  ชอบเล่าเรื่องเก่าๆสมัยที่ลูกยังเกิดไม่ทันให้ฟังอยู่เสมอ    เป็นรายละเอียดที่ไม่มีในตำรา พงศาวดารหรือหนังสือประวัติศาสตร์    
    มีวันคืนเก่าๆหลังจากอาหารมื้อเย็นจบแล้ว   เราพ่อลูกก็นั่งกันอยู่สองคน  พ่อก็จะเล่าเรื่องเก่าๆสมัยท่านยังเด็ก  เล่าถึงคุณปู่ และบรรพบุรุษที่ท่านเกิดทันให้ฟัง    เด็กอายุ 10 ขวบก็นั่งฟัง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มันก็เข้าไปอยู่ในความทรงจำ เรียกออกมาใช้ได้เมื่อโตขึ้น  
    ส่วนแม่ เป็นคนที่ได้ชื่อว่าช่างจดช่างจำที่สุดในบรรดาเครือญาติ   เวลาดิฉันถามเรื่องเก่าๆกับคุณป้า(ก็ท่านผู้เป็นที่มาของคุณหญิงลอออร  นางเอกของ "มาลัยสามชาย" นั่นแหละค่ะ) คุณป้ามักจะตอบสักพักแล้วก็โยนต่อไปว่า "ถามแม่เขาซี เขาจำเรื่องราวเก่ง")  เรื่องเบื้องหลังต่างๆของสังคมในอดีต แม่ก็จำได้เยอะแยะมาก
    ดังนั้นเมื่อลงมือเขียนเรื่องย้อนยุค อย่าง "สองฝั่งคลอง"  ก็เลยลื่นมือมาก   มีคุณแม่(ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้น)เป็นคนตอบคำถาม    ภาพของทับทิม เจ้าคุณปู่ คุณย่า จึงมีชีวิตเหมือนเดินออกจากอดีตเล่าเรื่องให้ฟังอยู่ตรงหน้า   เราก็เพียงแค่จดปากคำของท่านลงไปเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 10:21

  ข้อนี้ก็เป็นคำตอบว่า ทำไมนักเขียนที่ประสบความสำเร็จแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนเนื้อหาเดียวกัน   ใครถนัดแนวไหนก็เขียนแนวนั้น     ไม่มีชีวิตของคนกลุ่มไหนหรือชนชั้นไหนสำคัญกว่าอีกกลุ่มหรืออีกชนชั้น จนต้องสนใจเขียนเฉพาะกลุ่มนี้ หรือเว้นชนชั้นนั้น   ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของนักเชียนแต่ละคน 
  ดิฉันเป็นคนกรุงเทพ จะให้ดิฉันเขียนถึงชีวิตชาวจีนฮกเกี้ยนทางภาคใต้   ดิฉันก็เขียนสู้คุณหมอ CVT ไม่ได้  และอาจจะเขียนถึงภาคใต้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป   เพราะไม่มีพื้นฐานความเข้าใจ     แต่ถ้าให้เขียนถึงจังหวัดภาคกลางอย่างนครปฐม ก็เขียนได้ เพราะไปทำงานที่นั่นอยู่นานหลายปี   
   เขียนนวนิยายที่ใช้ฉากในอเมริกาทางรัฐตะวันตกได้ เพราะเคยไปเรียน  แต่จะเขียนถึงสวีเดน เดนมาร์ค หรือฟินแลนด์ก็จนปัญญาเพราะไม่เคยไปอยู่ 
   ใช่ค่ะ นักเขียนมีกรอบจำกัดในการสร้างเรื่อง   กรอบบางคนก็แคบ    บางคนก็กว้าง ขึ้นกับประสบการณ์   ประสบการณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องดูหรือเห็นด้วยตาตัวเอง  เป็นประสบการณ์ชั้นสองคืออ่านจากหนังสือ หรือรับฟังคำบอกเล่ามาอีกทีก็ได้   ดิฉันเองเกิดไม่ทันบรรพชนทั้งหลายที่เอาท่านมาเขียน  แต่เราอาศัยคำบอกเล่าของผู้รู้เห็น นำมาถ่ายทอดอีกที   ก็ไปได้จนจบเรื่องเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 10:47

   ทีนี้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวบ้าง
    ดิฉันเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีประวัติยาวเหยียด  ย้อนหลังไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์   พ่อแม่ดิฉันเป็นคนที่จำเรื่องราวเก่าๆได้แม่นยำมาก  ชอบเล่าเรื่องเก่าๆสมัยที่ลูกยังเกิดไม่ทันให้ฟังอยู่เสมอ    เป็นรายละเอียดที่ไม่มีในตำรา พงศาวดารหรือหนังสือประวัติศาสตร์    
    มีวันคืนเก่าๆหลังจากอาหารมื้อเย็นจบแล้ว   เราพ่อลูกก็นั่งกันอยู่สองคน  พ่อก็จะเล่าเรื่องเก่าๆสมัยท่านยังเด็ก  เล่าถึงคุณปู่ และบรรพบุรุษที่ท่านเกิดทันให้ฟัง    เด็กอายุ 10 ขวบก็นั่งฟัง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มันก็เข้าไปอยู่ในความทรงจำ เรียกออกมาใช้ได้เมื่อโตขึ้น  
    ส่วนแม่ เป็นคนที่ได้ชื่อว่าช่างจดช่างจำที่สุดในบรรดาเครือญาติ   เวลาดิฉันถามเรื่องเก่าๆกับคุณป้า(ก็ท่านผู้เป็นที่มาของคุณหญิงลอออร  นางเอกของ "มาลัยสามชาย" นั่นแหละค่ะ) คุณป้ามักจะตอบสักพักแล้วก็โยนต่อไปว่า "ถามแม่เขาซี เขาจำเรื่องราวเก่ง")  เรื่องเบื้องหลังต่างๆของสังคมในอดีต แม่ก็จำได้เยอะแยะมาก
    ดังนั้นเมื่อลงมือเขียนเรื่องย้อนยุค อย่าง "สองฝั่งคลอง"  ก็เลยลื่นมือมาก   มีคุณแม่(ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้น)เป็นคนตอบคำถาม    ภาพของทับทิม เจ้าคุณปู่ คุณย่า จึงมีชีวิตเหมือนเดินออกจากอดีตเล่าเรื่องให้ฟังอยู่ตรงหน้า   เราก็เพียงแค่จดปากคำของท่านลงไปเท่านั้น

สุดยอดมากเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 15:33

คุณป้าตอนสาว  สวยสมกับที่บรรยายไว้ถึงคุณหญิงลอออร ไหมคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 15:48

 เอกลักษณ์ของนักเขียน

  คนทุกอาชีพที่ประสบผลสำเร็จ ย่อมสามารถจะเปล่งประกายเฉพาะตัว     ไม่ซ้ำกับคนอื่นๆในอาชีพเดียวกัน   เอลวิส เพรสลีย์  มาริลีน มอนโร แม้ว่าตายไปแล้ว  ก็ยังไม่มีใครมาเป็นตัวแทนของเขาและเธอได้  ทั้งๆยุคเอลวิสก็มีนักร้องร็อคแอนด์โรลเกิดขึ้นมากมาย ล้วนแต่ดังๆทั้งนั้น   ดาราสาวเซกซี่ยุคเดียวกับมาริลีนก็มีเต็มไปหมดในฮอลลีวู้ด แต่ตายไปแล้วก็ตายไปเลย   ไม่มีใครเป็นที่จดจำเท่ากับเธอ 
  นักเขียนก็เหมือนกัน   ไม่มีใครซ้ำแบบกับยาขอบ   ดอกไม้สด  ศรีบูรพา ป.อินทรปาลิต  พนมเทียน ทมยันตี จนบัดนี้
  ถ้าอยากประสบผลสำเร็จมากๆ ย้ำว่ามากๆ ก็ควรแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้พบ    อย่าไปตามรอยคนอื่น
 แต่ถ้าไม่อยากเป็นก็อีกเรื่องหนึ่งค่ะ   แบบนั้นคือเขียนได้แค่ไหนก็พอใจแค่นั้น   ไม่ยุ่งยาก 

 ดิฉันรู้ตัวดีว่า ถ้าให้เขียนเพชรพระอุมาอย่างคุณพนมเทียน ก็คงจอดสนิทตั้งแต่หน้าแรก ไม่ถึงจบบทแรกด้วยซ้ำ   คนเกิดมาไม่เคยเข้าป่าเลยสักครั้ง จะให้นึกภาพการเดินทางในไพรมหากาฬออกได้อย่างไร   ไม่ต้องพูดถึงนิทรานครหรือมรกตนครซึ่งยากหนักเข้าไปอีก
   แต่ดิฉันก็ค้นพบสิ่งที่ตัวเองมี และมีมากเสียด้วย คือเรื่องราวในอดีตที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ฟังครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ยังเยาว์วัย
  ดิฉันได้เรียนรู้ว่าต้นตระกูลฝ่ายพ่อมาจากเมืองจีนตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์   แต่แปลกจากตระกูลจีนอื่นๆที่เราอ่านพบกันโดยมาก คือเป็นจีนที่กลายมาเป็นไทยเต็มตัว ไม่ค้าขายแต่รับราชการกันสืบมาทุกชั่วคน   ไม่ได้เก็บขนบธรรมเนียมประเพณีจีนให้ลูกหลานสืบทอดอีกเลย
     พ่อดิฉันเองก็ไม่รู้ว่าบรรพบุรุษเดิมแซ่อะไรด้วยซ้ำ  ถ้าคุณทวดไม่บันทึกไว้ ดิฉันก็ไม่รู้  ท่านเปลี่ยนมารับธรรมเนียมไทย ทำบุญแบบไทยๆมาโดยตลอด
     ความเป็นไทย มี 3 อย่างที่พวกท่านยึดถือเหนียวแน่น  คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 
     สิ่งนี้กลายมาเป็นนิยาย "รัตนโกสินทร์"
     ส่วนบรรพบุรุษทางแม่เป็นไทยแท้  ย้อนขึ้นไปจนจนสมัยธนบุรีก็เป็นคนไทย  ไม่มีจีนหรือแขก หรือชาติอื่นปน   รับราชการกันมาทุกชั่วคนแบบเดียวกับทางพ่อ   และยังมีความผูกพันกับราชสำนักมากกว่า  เพราะหนึ่งในบรรพสตรีทางฝ่ายแม่ เป็นเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
     ทุกวันนี้เวลาทำบุญประจำปีให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว  ญาติๆฝ่ายแม่ก็ไปทำกันที่วัดโสมนัส  ถือว่าเป็นวัดประจำสกุล
     นี่คือที่มาของ "สองฝั่งคลอง"
   
     ก็ไม่รู้ว่าคนรุ่นหลังจะรู้ไหมว่า การที่คนจีนไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนแผ่นดินอื่นนั้นไม่ใช่เข้าไปอยู่ได้ง่ายๆ   ดินแดนหลายแห่งเขาก็ไม่ต้อนรับคนต่างแดน   บางแห่งก็ตั้งข้อรังเกียจเอามากๆ   บางแห่งก็กีดกันไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม    น้อยนักจะเปิดโอกาสให้เข้ามาได้อย่างสะดวก   หยิบยื่นที่ทำมาหากินให้  ยินยอมยกลูกสาวให้ ได้เป็นเขยในครอบครัวเขาได้ จนกลายเป็นเจ้าของถิ่นไปด้วยกัน  อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเปิดโอกาสให้แต่แรก
    ดิฉันจึงถูกปลูกฝังมาว่า พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้บรรพบุรุษได้อยู่เป็นสุขบนผืนแผ่นดินมาทุกชั่วคน   เราก็ต้องสำนึกในพระมหากรุณา   ไม่กระทำการสิ่งใดที่จะเป็นอกตัญญูต่อผู้ที่หยิบยื่นโอกาสให้ปู่ย่าตาทวดของเรามาโดยตลอด   
 
    ด้วยเหตุนี้ งานหลายชิ้นของดิฉันจึงเป็นเรื่องของอดีต   แสดงจุดยืนข้อนี้ คือความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด     กลายเป็นเอกลักษณ์ของงานของว.วินิจฉัยกุล ไปในที่สุด
   
    ใครจะยกมือซักถาม หรือออกความเห็นเพิ่มเติมก็ยินดีนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 19:45

อยากทราบทึ่มาของนิยายภายใต้นาม "แก้วเก้า"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 20:00

   นิยายในนามปากกา "แก้วเก้า" จัดอยู่ในประเภทจินตนิยาย (Fantasy)  ซึ่งรวมสารพัดชนิดไม่ว่าเรื่องผี  มนุษย์ต่างดาว  เดินทางทะลุจักรวาล    เดินทางย้อนอดีตหรือไปอนาคต  สรุปว่าเรื่องอะไรที่ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงในสังคม  แต่ขึ้นกับจินตนาการล้วนๆ  มีสังกัดอยู่ในประเภทจินตนิยาย
   ดิฉันชอบจินตนิยายมาตั้งแต่เด็กแล้ว  ตอนเล็กๆก็ชอบนิทาน โตขึ้นชอบอ่านเรื่องผี  เรื่องมนุษย์ต่างดาว  เรื่องมิติที่ 4 สวรรค์นรก   รู้สึกว่าเรื่องประเภทนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อเท็จจริง   จินตนาการของเราเป็นอิสระมากกว่า จะโลดแล่นไปถึงไหนก็ได้
   ตอนเป็นนักเขียนใหม่ของสกุลไทย  ใช้นามปากกา ว.วินิจฉัยกุล   แต่ด้วยไฟแรงอยากจะเขียนอีกเรื่อง แนวไม่ซ้ำกัน ก็เลยเสนอ "แก้วราหู" ให้บก.สกุลไทยพิจารณา   เป็นจินตนิยายย้อนยุคผสมประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย   ตอนเตรียมเขียน หาชั่วโมงว่างไปนั่งฟังเลกเชอร์ของผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์แลัโบราณคดี ชื่ออาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ในห้องเรียนร่วมกับนักศึกษา  เพื่อจะรู้เรื่องราวของพญาไสสงครามและพญางั่วนำถม ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน  อาจารย์สอนได้น่าสนใจมากค่ะ 
   พอจะลงในสกุลไทย   บก.บอกว่าต้องใช้คนละนามปากกา    ไม่งั้นจะกลายเป็นว.วินิจฉัยกุลลง 2 เรื่องซ้อน ซึ่งเขาไม่ทำกัน    นามปากกา "แก้วเก้า" จึงอุบัติขึ้นมาในฐานะนักเขียนใหม่ที่ซุ่มซ่อนตัว   ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเจ้าของเดียวกับคนเขียน "ไร้เสน่หา"   ปิดเป็นความลับอยู่ 10 ปีกว่า คนอ่านถึงค่อยๆรู้กัน
   " แก้วราหู" เป็นม้ามืดที่ได้รับการตอบรับด้วยดี  เพราะในสกุลไทยไม่มีใครเขียนแนวนี้    พอจบเรื่องนี้ บก.ก็ตกลงให้เขียนเรื่องที่ 2 ต่อ ในนามปากกานี้  "นางทิพย์" ก็ตามมา    
     ตกลงว่า "แก้วเก้า" ก็จะเขียนแต่จินตนิยายเท่านั้น  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 20:13

  ทศวรรษที่ 70s  เป็นยุคที่อเมริกาให้ความสนใจกับประสาทสัมผัสที่ 6  หรือ sixth sense   ตอนนั้นเรียกว่า extra-sensory perception    เป็นช่วงที่ไปเรียนต่อพอดี     เข้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทั้งวันๆ อ่านตำราจนเบื่อก็ไปค้นหนังสืออย่างอื่นมาอ่านบ้าง   ก็เลยรู้เรื่องพวกนี้    เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้เล่นกันในวงการวรรณกรรมของประเทศไทยในยุคนั้น     จึงตื่นตาตื่นใจมาก
   sixth sense สามารถตอบโจทย์การสร้างจินตนิยายได้หลายเรื่อง    มันแตกแขนงไปสู่จินตนาการด้านอื่นด้วย เช่นเอกภพคู่ขนาน  (parallel universe)      เรื่องนี้คุณเพ็ญชมพูคงรู้จักเพราะเคยเอ่ยถึงมาแล้ว   เป็นแฟนตาซีแนววิทยาศาสตร์เรื่องเดียวที่ทดลองเขียน เพราะอยากลองเขียนแนววิทยาศาสตร์ดูบ้างว่าคนจบอักษรฯจะทำได้ไหม   ผลปรากฏว่าทำได้       แต่ทำได้จบ 1 เรื่อง แล้วไม่ได้สนใจจะเขียนแนวนี้อีก   
   เรื่องนี้ก็ไม่เลวนักหรอก   ประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 นิยายวิทยาศาสตร์  (จำชื่อเต็มๆ ไม่ได้แล้วและหาไม่พบในกูเกิ้ล   คุณเพ็ญชมพูจำได้ก็ช่วยบอกด้วยค่ะ)

    พูดถึงความสำเร็จ  คนอ่านชอบ "แก้วเก้า" มากกว่า ว.วินิจฉัยกุล   แต่ ว.วินิจฉัยกุล ได้รางวัลเยอะกว่า  ต่างกันตรงนี้ค่ะ
    ถ้าคุณเพ็ญชมพูถามว่ายังเขียนในนามปากกา "แก้วเก้า" อยู่ไหม คำตอบคือยังเขียนอยู่ค่ะ
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 20:21

ต่อจากกระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7327.msg182569;topicseen#msg182569

คุณ Anna  หายไปไหนคะ
รายนี้ไม่เคยขาดเรียนค่ะ


ลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อวานแล้วค่ะ
ตอนนี้นั่งหลบมุมอยู่หลังห้อง กลัวโดนอาจารย์ทวงการบ้านที่ค้างส่งมานานนนนนนมากแล้วค่ะ อายจัง
แต่ถึงแม้จะเป็นนร.ที่แย่มาก เหลวไหลไม่ส่งงาน ทว่าตั้งใจเรียนสุดๆเลยนะคะ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 20:50

เรื่องนี้ก็ไม่เลวนักหรอก   ประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 นิยายวิทยาศาสตร์  (จำชื่อเต็มๆ ไม่ได้แล้วและหาไม่พบในกูเกิ้ล   คุณเพ็ญชมพูจำได้ก็ช่วยบอกด้วยค่ะ)

คงเป็นเรื่อง "แดนดาว" นั่นแล ยิงฟันยิ้ม

ถ้าเป็นเรื่องหลงมิติไปอยู่ใน โลกคู่ขนาน หรือ เอกภพคู่ขนาน (parallel universe)  คุณแก้วเก้าน่าจะเป็นผู้บุกเบิกคนแรกด้วยการเขียนเรื่อง "แดนดาว" ๑ ใน ๘๘ หนังสือดีวิทยาศาสตร์ประเภทบันเทิงคดีจำนวน ๒๙ เล่ม (พร้อมกับ "เมืองนิมิตร" ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 27 ต.ค. 22, 21:12

 ขอบคุณค่ะ นึกแล้วว่าคุณเพ็ญชมพูต้องหาเจอ
 งั้นขอแก้ไขใหม่

  เรื่องนี้ก็ไม่เลวนักหรอก   ประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 29   หนังสือดีวิทยาศาสตร์ ประเภทบันเทิงคดี
 จากหนังสือดีวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 88 เล่ม  ตัดสินโดยคณะวิจัยในโครงการวิจัยหนังสือดีวิทยาศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อพ.ศ. 2544

  คุณแอนนาไม่ต้องกลัวโดนทวงการบ้านค่ะ    มาให้เห็นก็ดีใจแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 09:06

     ก่อนยุคของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟน   พื้นที่ปูพรมแดงสำหรับนักเขียนคือนิตยสารต่างๆ  วางแผงอยู่มากมายหลายสิบฉบับ ดึงดูดคนอ่านด้วยนวนิยายเรื่องยาวลงเป็นตอนๆ   
    นักเขียนน้อยคนนักจะเขียนเสร็จแล้วพิมพ์รวมเล่มขายเลย  แล้วขายดีโดยไม่ผ่านตาคนอ่านมาก่อน  ส่วนใหญ่ก็คือเรื่องที่ได้รางวัลเช่นรางวัลซีไรต์  หรือรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
    เรื่องยาวที่ลงเป็นตอนๆ ได้เปรียบตรงที่เรียกความสนใจคนอ่านจำนวนนับแสนๆคนที่เป็นขาประจำของนิตยสารได้   จะเตะตาผู้ทำหนังและผู้จัดละครทีวี   จะหาสำนักพิมพ์มารวมเล่มได้ง่าย   ค่าเรื่องก็เท่ากับได้ 3 เท่าคือได้จากนิตยสาร ได้จากผู้จัดละครและได้จากสำนักพิมพ์    นักเขียนหน้าใหม่จึงพุ่งความสนใจไปที่นิตยสารมากกว่าจะเขียนเองพิมพ์เอง
     ดิฉันเคยเขียนลงในนิตยสารเก่าแก่ที่หลายคนในเรือนไทยเกิดไม่ทัน หรือทันก็ยังเด็กมาก  เช่นศรีสัปดาห์และสตรีสาร  แต่ที่มาเขียนเป็นชิ้นเป็นอันคือสกุลไทย    เขียน 2 เรื่องควบต่อสัปดาห์  บางปีไฟแรงก็แปลนิยายลงอีกเรื่อง เป็น 3 
     นอกจากนี้ยังลงในนิตยสารหญิงไทยรายปักษ์  ซึ่งอยู่เครือเดียวกับสกุลไทย   สรุปว่ามือเป็นระวิงทีเดียว

     ตอนนั้นก็ยังรับราชการอยู่ และเลี้ยงลูกอีก 2 คนซึ่งยังเล็ก    ย้อนกลับไปดูก็อัศจรรย์ใจเหมือนกันว่าเราอุตส่าห์ผ่านมาได้ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 09:13

     สิ่งสำคัญทีทำให้ดำรงอาชีพมาได้ตลอดรอดฝั่ง คือ "วินัย"
     ทุกวันศุกร์ต้องส่งต้นฉบับให้สกุลไทย   อย่างช้าสุดคือวันจันทร์   สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องส่งไปรษณีย์ภายในพฤหัสบดี เพื่อให้ถึงสกุลไทยในวันรุ่งขึ้น  ก็ต้องอดหลับอดนอนปั่นต้นฉบับให้เสร็จ ก่อนจะไปทำงาน

      วินัย แปลว่าต้องบังคับตัวเองให้ได้    ไม่มีคำว่า " ไม่มีอารมณ์จะเขียน"  "เหนื่อยจะตาย  ขอพักสักอาทิตย์"  " ช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่มีเวลาจริงๆ"      ถ้าหากว่าใช้แม้แต่ 1 ใน 3  บ่อยๆ  ก็คือปิดฉากอาชีพนี้ได้เลย    ไม่มีบก.คนไหนให้อภัยคุณ   เพราะการเขียนเป็นศิลปะก็จริง  แต่การทำนิตยสารเป็นธุรกิจในวงเงินหลายร้อยล้าน  เขาจะมาสะดุดเพราะคุณคนเดียวไม่ได้  เขาไล่คุณออกง่ายกว่า
       เพราะฉะนั้น   ถ้าจะเป็นนักเขียนอาชีพ  คุณจะไม่สามารถมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองได้เลย ในการเอาอารมณ์ขึ้นมาเหนือวินัย 
        ดิฉันเคยป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ   ต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล  ยังต้องสั่งเด็กในบ้านให้ไปเอาคอมโน้ตบุ๊คมาที่ห้องคนไข้ แล้วก็นั่งจิ้มคีบอร์ดไปทั้งๆอีกแขนยังให้น้ำเกลือ  เพื่อจะเขียนต้นฉบับให้เสร็จทันส่ง

       อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากถามว่าทำไมคุณถึงต้องทรมานทรกรรมตัวเองขนาดนั้น   ก็ขอตอบว่าเพราะดิฉันตระหนักว่าอาชีพนี้มีขึ้นมีลง   ขึ้นอยู่กับหลายอย่างเช่นสังขารคนเขียน   ค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไป  คลื่นจากนวัตกรรมใหม่ๆซัดเข้ามา  ทุกอย่างผันแปรง่ายมาก  บทจะเปลี่ยนมันพลิกผัน 180 องศาได้ง่ายๆ
       ในวัยที่เรารู้ว่าเรากำลังถึงจุดพีคของอาชีพ  เราก็ใช้โอกาสนั้นให้เต็มที่   เมื่อมันผ่านไปแล้วจะได้ไม่มีความเสียใจว่า  "รู้ยังงี้  ฉันก็คง..."  หรือว่า "เสียดายที่ไม่ได้..."   
       ทุกวันนี้ดิฉันก็รู้สึกว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตคุ้มค่าแล้ว     ที่เหลืออยู่ตอนนี้และในอนาคต คือทำอะไรตามสบาย อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ     อย่างมาเขียนอะไรๆในเรือนไทยนี่ก็คืออยากทำ   มีคุณม้าแอดมินเป็นคนช่วยให้เว็บไซต์นี้อยู่ยงคงกระพันมา 23 ปี โดยไม่มีสปอนเซอร์   
          ทุกครั้งที่มีใครบอกมาว่า  ได้ความรู้จากเว็บนี้  ดิฉันก็เหมือนได้ค่าตอบแทนที่มีค่าสูงสุดค่ะ

          ต่อไปจะเล่าถึงการสร้างวินัย
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 12:04

คั่นสั้นๆ ครับ

       เคย อ่าน ผลงาน ของอ. (ทั้งนิยายและเรื่องแปล) จากสกุลไทยที่เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ซื้อประจำ ต่อจากนั้นแล้ว
       จะเป็นการดู ผลงานที่สร้างเป็นละครออกอากาศต่อเนื่องยาวนาน,มากมายนับสิบๆ จนถึงยุคนี้ที่มีการนำกลับมารีเมคกันอีก

วิกกี้ว่า - เรื่องแปล ใช้นามปากกา วัสสิกา, รักร้อย, ปารมิตา แต่เมื่อรวมเล่มแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น ว.วินิจฉัยกุล
           ยกเว้นเรื่อง จันทรคราส ที่ยังคงใช้ ปารมิตา


บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 28 ต.ค. 22, 13:12

     สิ่งสำคัญทีทำให้ดำรงอาชีพมาได้ตลอดรอดฝั่ง คือ "วินัย"
     ทุกวันศุกร์ต้องส่งต้นฉบับให้สกุลไทย   อย่างช้าสุดคือวันจันทร์   สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องส่งไปรษณีย์ภายในพฤหัสบดี เพื่อให้ถึงสกุลไทยในวันรุ่งขึ้น  ก็ต้องอดหลับอดนอนปั่นต้นฉบับให้เสร็จ ก่อนจะไปทำงาน

      วินัย แปลว่าต้องบังคับตัวเองให้ได้    ไม่มีคำว่า " ไม่มีอารมณ์จะเขียน"  "เหนื่อยจะตาย  ขอพักสักอาทิตย์"  " ช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่มีเวลาจริงๆ"      ถ้าหากว่าใช้แม้แต่ 1 ใน 3  บ่อยๆ  ก็คือปิดฉากอาชีพนี้ได้เลย    ไม่มีบก.คนไหนให้อภัยคุณ   เพราะการเขียนเป็นศิลปะก็จริง  แต่การทำนิตยสารเป็นธุรกิจในวงเงินหลายร้อยล้าน  เขาจะมาสะดุดเพราะคุณคนเดียวไม่ได้  เขาไล่คุณออกง่ายกว่า
       เพราะฉะนั้น   ถ้าจะเป็นนักเขียนอาชีพ  คุณจะไม่สามารถมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองได้เลย ในการเอาอารมณ์ขึ้นมาเหนือวินัย 
        ดิฉันเคยป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ   ต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล  ยังต้องสั่งเด็กในบ้านให้ไปเอาคอมโน้ตบุ๊คมาที่ห้องคนไข้ แล้วก็นั่งจิ้มคีบอร์ดไปทั้งๆอีกแขนยังให้น้ำเกลือ  เพื่อจะเขียนต้นฉบับให้เสร็จทันส่ง

       อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากถามว่าทำไมคุณถึงต้องทรมานทรกรรมตัวเองขนาดนั้น   ก็ขอตอบว่าเพราะดิฉันตระหนักว่าอาชีพนี้มีขึ้นมีลง   ขึ้นอยู่กับหลายอย่างเช่นสังขารคนเขียน   ค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไป  คลื่นจากนวัตกรรมใหม่ๆซัดเข้ามา  ทุกอย่างผันแปรง่ายมาก  บทจะเปลี่ยนมันพลิกผัน 180 องศาได้ง่ายๆ
       ในวัยที่เรารู้ว่าเรากำลังถึงจุดพีคของอาชีพ  เราก็ใช้โอกาสนั้นให้เต็มที่   เมื่อมันผ่านไปแล้วจะได้ไม่มีความเสียใจว่า  "รู้ยังงี้  ฉันก็คง..."  หรือว่า "เสียดายที่ไม่ได้..."   
       ทุกวันนี้ดิฉันก็รู้สึกว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตคุ้มค่าแล้ว     ที่เหลืออยู่ตอนนี้และในอนาคต คือทำอะไรตามสบาย อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ     อย่างมาเขียนอะไรๆในเรือนไทยนี่ก็คืออยากทำ   มีคุณม้าแอดมินเป็นคนช่วยให้เว็บไซต์นี้อยู่ยงคงกระพันมา 23 ปี โดยไม่มีสปอนเซอร์   
          ทุกครั้งที่มีใครบอกมาว่า  ได้ความรู้จากเว็บนี้  ดิฉันก็เหมือนได้ค่าตอบแทนที่มีค่าสูงสุดค่ะ

          ต่อไปจะเล่าถึงการสร้างวินัย

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ จินตนาการครับ ผมทึ่งมากกับการที่นักเขียนมีจินตนาการได้ต่อเนื่อง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง