เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 1921 ตุ๊กตาหินโบราณ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 ก.ค. 22, 08:31

พวกหิน และโลหะ เป็นสิ่งที่ไม่ย่อยสลาย  การฝังดินยังรักษาสภาพไว้ได้ดีกว่าตากแดดตากฝนอีกค่ะ 

ถ้าอ่านประวัติศาสตร์สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2   จะพบว่าชาวกรุงศรีอยุธยาฝังสมบัติแก้วแหวนเงินทองไว้ในดินมากมาย ก่อนจะอพยพหนีจากเมือง หรือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย   เป็นเหตุให้ในสมัยธนบุรี มีการขุดค้นสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้ง

หลักฐานคือรายงานของบาทหลวงคอร์  เขียนส่งไปที่วาติกัน ว่า
“...ในเมืองไทยทุกวันนี้คงจะไม่มีเงินใช้เป็นแน่ เพราะพวกพม่าได้ขนไปจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นการที่ได้มีการค้าขายกันในทุกวันนี้ก็เป็นด้วยพวกจีนได้ไปเที่ยวขุดเงินทองที่ฝังไว้ตามดินและบรรจุไว้ในพระเจดีย์นั้นเอง

ทรัพย์สมบัติที่ชาวอยุธยาฝังไว้มีจำนวนมหาศาล เจ้าของที่รอดชีวิตก็กลับมาขุดเอาของตัวไป แต่ส่วนใหญ่ก็ตายหรือถูกกวาดต้อนเป็นเชลย สมบัติที่ฝังไว้ก็ตกเป็นเหยื่อของชาวบ้านที่ออกขุดค้นหากันโกลาหล
ขุนนางผู้หนึ่งคือ พระยาวิชิตณรงค์ จึงยื่นขอผูกขาดขุดหาสมบัติไม่มีเจ้าของ โดยจะส่งเงินเข้าหลวงปีละ ๕๐๐ ชั่ง ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีก็พระราชทานอนุญาต "


สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2   เมื่อระเบิดลงกรุงเทพอย่างหนัก  ชาวกรุงก็ฝังพวกของใช้ต่างๆไม่ว่าจะเป้นถ้วยโถโอชาม เครื่องใช้ที่ไม่ผุกร่อนง่ายลงฝังไว้ใต้ถุนบ้าน   หมดสงครามแล้วจะได้ขุดเอามาใช้ได้อีก
พื้นดินเป็นเหมือนกล่องพัสดุเก็บของพวกนี้ไว้ได้มิดชิด    ถ้าระเบิดไม่ทิ้งตูมเดียวลงไปที่นั้นพอดี รับรองว่าอยู่ปลอดภัยจนสิ้นสุดสงคราม

ในเมื่อตุ๊กตาหินไม่ย่อยสลาย  ขุดขึ้นมาก็ยังคงสภาพครบถ้วนไม่แตกหัก   หากมีส่วนชำรุดนิดๆหน่อยๆมาแต่เดิมก็ซ่อมแซมให้เรียบร้อย  อาบน้ำขัดตัวให้สะอาดเสียหน่อย  ก็ออกมาสภาพเอี่ยมอ่องอย่างที่คุณเห็นนี่แหละค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ก.ค. 22, 08:48

    การฝังสมบัติ หรือของที่ไม่ใช้แล้วแต่ทำลายยากลงไปในดินเป็นวิธีการของคนโบราณ   ไม่มีอาถรรพณ์อะไรทั้งนั้นค่ะ
    คนละอย่างกับการฝังรูปฝังรอย ตามที่เขียนไว้ในขุนช้างขุนแผน    ไม่ต้องไปตื่นเต้นหรือตกใจว่าตุ๊กตาหินเหล่านี้ถูกฝังเพราะเหตุผลอะไรอื่น แล้วคาดเดากันไปต่างๆ ออกทะเลไปทุกที
    ตุ๊กตาเหล่านี้สร้างขึ้นเฉพาะกิจ คือในการสมโภช ๑๐๐ ปีกรุงเทพ    เอาไว้ประดับสถานที่ให้ดูมีสีสันน่าตื่นตาตื่นใจ   ไม่ใช่ของมีค่าที่จะต้องเก็บรักษาไว้อย่างหวงแหนระมัดระวัง     เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า อาจจะดูเกะกะไม่เข้ากับสถานที่   หรือว่าพระราชนิยมในรัชกาลต่อๆมาเปลี่ยนไป    จึงมีการเคลื่อนย้ายเอาออกไปจากวัด  
    ในเมื่อตุ๊กตาเป็นของหลวง    โดยเฉพาะมีไว้ประดับวัด   เรื่องจะรับเอามาแบ่งกันไปให้บ้านโน้นวังนี้ เพื่อไว้ประดับบ้าน  คนโบราณเขาถือ  ไม่มีใครทำกัน     ถือว่าเอาของวัดเข้าบ้านไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง   แต่ถ้าเอาสมบัติส่วนตนไปถวายวัดละก็เป็นเรื่องดี   สมัยก่อนจึงมีการรื้อบ้านถวายวัดกันไปเป็นหลังๆ ถือว่าได้บุญแรงค่ะ
    ถ้าเป็นของพระราชทานก็ไปอย่าง  แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่พระราชทานของวัดให้เจ้านายหรือขุนนางคนไหนเอาไปใช้อยู่แล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 ก.ค. 22, 12:35

จาก FB ของ Arnond Sakworawich
14 กรกฎาคม เวลา 08:25 น.

ตุ๊กตาหินเหล่านี้น่าจะมาจากเมืองจีนเป็นหินอับเฉาถ่วงท้องเรือใบสำเภาที่เราใช้ค้าขายกับจีน ขาไปบรรทุกหนัก ขากลับมีแต่ของเบาเช่นแพรไหม ใบชา เลยต้องซื้อตุ๊กตาหินถ่วงท้องเรือกลับมากันเรือโคลงเคลง

ตุ๊กตาไม่อับเฉา (แล้วหนอ)

ตุ๊กตานานาชาติที่ว่ากันว่าเพิ่งขุดพบแล้วมาตั้งตามจุดต่างๆ ของวัดพระแก้ว สำหรับคนที่ "เล่นภาพเก่า" น่าจะคุ้นกันดี เพราะในภาพถ่ายเก่า ๆ มักมีพวกมันโผล่มาติดกล้องตัวสองตัว

ตุ๊กตาพวกนี้แรกนำมาติดตั้งไว้คราวสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๒๕) คือในรัชกาลที่ ๕ จากนั้นพวกมันก็หายไป (น่าจะหายไปคราวฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปีหรือเปล่าก็ไม่รู้?) จนมาถูกพบอีกครั้ง แล้วกลับมายืนสลอนในวัดพระแก้วกันอีกครา

กะด้วยสายตา ตุ๊กตาพวกนี้ใช้หินคนละประเภทกับตุ๊กตาจีนที่เรามักเรียกว่า "ตุ๊กตาอับเฉา" ตามวัดหลวงต่าง ๆ ซึ่งมีมากและงามมากที่วัดโพธิ์กับวัดแจ้ง

ในฐานะผู้ไม่เชี่ยวชาญเรื่องหิน แต่ชอบสู่รู้แบบเดา ๆ ผมคิดว่าตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนี้น่าจะใช้หินเกาะสีชัง อย่างที่เรียกว่าศิลาลาย (ขาวดำ) เป็นแหล่งหินที่นิยมใช้กันแต่โบราณ นอกจากหินจากลพบุรี ราชบุรี เพชรบุรี

ว่ากันด้วยสุนทรียะแล้ว ตุ๊กตาพวกนี้ไม่งาม แม้จะดูแปลกตา ยิ่งแปลกตาในยุคสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี ด้วยความที่มันประหลาด (exotic) เป็นคอนเทนต์ประเภท "สิบสองภาษา" ซึ่งคนสมัยก่อนชอบ เพราะทำให้ตื่นตาตื่นใจกับโลกภายนอก  

"สิบสองภาษา" นี้แปลเป็นภาษาไทยรัชกาลที่ ๑๐ ก็คือ "นานาชาติ" นั่นเอง

ที่มันเป็น exotic เพราะดูไม่เข้ากับวัดพระแก้ว แต่น่าจะเข้ากับงาน "นาเชอนัลเอกซฮิบิเชน" (National exhibition) ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้จัดขึ้นพร้อมกับการเฉลิมพระนคร มีการจัดแสดงข้าวของต่างๆ  ในประเทศให้คนไทยได้เปิดหูเปิดตา

ตุ๊กตาพวกนี้น่าจะเป็นของจำพวก "เอกซฮิบิเชน" คือจัดแสดงให้คนไทยชมหน้าตาต่างด้าวด้วย และรักษาธรรมเนียมต่างชาติต่างภาษามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบไทย ๆ ดังที่วัดโพธิ์ก็มีภาพสิบสองภาษา แต่เหลืออยู่ไม่เท่าไรแล้ว ด้วยวาดเป็นจิตรกรรมจึงลบเลือนง่าย

กลับมาที่หิน ด้วยความที่ผมเดาว่ามันเป็นหินเกาะสีชัง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ของนำเข้า แต่มีอักษรจีนสลักไว้ที่บางตัวเขียนว่า 粵東 (เยว่ตง)

เยว่ตงนี้หมายถึง ตะวันออก (ตง) ของแคว้นเยว่ (มณฑลกวางตุ้ง) หมายถึงเมืองคนแต้จิ๋วทั้งปวง คือ ซัวเถา ซัวบ้วย แต้จิ๋ว และเก๊กเอี๊ย

ช่างที่สลักอาจจะมาจากเมืองเหล่านี้

โดยเฉพาะเมืองเก๊กเอี๊ย (揭陽) นั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องแกะสลักหินเป็นยิ่งนัก ถ้าไม่นำช่างเข้ามาก็ ส่งหินไทยไปให้สลัก แต่น่าจะอย่างแรกมากกว่า

ผมจึงสงสัยว่าเจ้าสิ่งที่เรียกว่า "ตุ๊กตาอับเฉา" ที่เรานำเข้าจากจีนน่าจะสั่งจากเก๊กเอี๊ยนี่เอง แต่รวมๆ แล้วตุ๊กตาจีนในไทยเป็นสกุลช่างเตี่ยซัว (潮汕)  คือเยว่ตง/ถิ่นคนพูดแต้จิ๋วเกือบจะทั้งหมด

แต่ผมไม่เชื่อว่าตุ๊กตาพวกนี้คืออับเฉา (และยิ่งในวัดพระแก้วยิ่งไม่น่าจะใช่)

อับเฉานั้นเป็นภาษาจีน คือ 壓艙石 (จีนกลางออกเสียงว่า หย่าชัง/สือ) แปลว่า "หินถ่วงท้องเรือ" ส่วนใหญ่ที่หลงเหลือให้เห็นล้วนแต่เป็นหินก้อนบึก ๆ หรือไม่ก็เป็นหินแผ่นโต ๆ ไม่มีสลักเสลาให้วิจิตรบรรจง

ฝั่งไทยมักเล่ากันว่าไทยไปค้าที่เมืองจีนกลับมาเรือเปล่า กลัวจะเรือโคลงจึงเอาตุ๊กตาพวกนี้ถ่วงเรือมาด้วย

ลองคิดดูสิครับ เดินเรือเป็นเดือน ๆ ผ่านคลื่นลม ตุ๊กตาจีนในไทยล้วนแต่ละเอียดลออ บางตัวลวดลายบอบบางราวกับผ้าลูกไม้ จะใช้เป็นถิ่นถ่วงเรือได้อย่างไร  มิพังป่นปี้หรือ

ขนาดส่งของข้ามเขตกทม. กันทุกวันนี้ห่อกันเป็นขนมชั้นยังแตกวายป่วงเอาง่าย ๆ

วัดโพธิ์นั้นตุ๊กตาแตกหักหลายตัว เพราะคนไปจับบ้าง ถูกลูกบอลเตะอัดเอาบ้าง ขนาดนี้ยังไม่รอด แล้วเจอคลื่นลมทะเลจีนใต้จะไปเหลือหรือ?

ดังนั้น ผมคิดว่าตุ๊กตาพวกนี้ไม่ใช่อับเฉาไว้ถ่วงเรือหรอก แต่สั่งเข้ามาจริงจังอย่างทนุถนอม

หรือหากไม่สั่งก็ทำขึ้นเองในประเทศสยามนี้โดยใช้ช่างจีน

โดยหินที่ใช้เป็นหินเขียวภูเขาไฟ/หินอัคนี ดังที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมด็จพระสังฆราชจอมกวีแห่งวัดโพธิ์ทรงเรียกว่า "เสลานิล"

แต่บางตำราก็บอกว่ามีการส่งแบบไปให้จีน "หล่อศิลาเทียม" ซึ่งแปลว่าตุ๊กตาพวกนี้บางตัวใช้หินปลอมกระมัง และใช้วิธีหล่อขึ้นรูปไม่ใช่สลักเอา ซึ่งผมยังค้นไม่เจอว่าคืออะไรและทำกันอย่างไร

ว่ากันตามหลักฐานประวัติศาสตร์ คนไทยไปค้าที่จีนไม่เห็นจะต้องสั่งอับเฉาที่แต่งเสียสะสวยให้ขาดทุนทำไม สู้เอาหินลุ่น ๆ มาถ่วงไม่ดีกว่าหรือ หรือไม่ก็หินถ่วงนั่นแหละเอามาสลักตุ๊กตาในเมืองไทย ยิงปืนนัดเดียวได้กำไรสองต่อเห็น ๆ

เรื่องกำไรของสยามนั้นสำคัญนัก ทางจีนสมัยชิงบันทึกว่า สยามเองนี่แหละที่หาเรื่องไปจิ้มก้องจีน (มาถวายคำนับพระเจ้ากรุงจีน) ทั้งที่จีนบอกให้มา ๓ ปีครั้ง แต่สยามมาบ่อยครั้งเกิน เพราะต้องการค้าขายเอากำไร

นอกจากมาถี่จนน่าละเหี่ยใจ สยามยังตุกติกโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "สินค้าอับเฉา" (壓艙貨物) คือเอาสินค้าอ้างว่าเป็นอับเฉาถ่วงเรือมาเพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง

ฉลาดเป็นกรดแต่รุ่นบรรพชนจริง ๆ พวกเรา

ป.ล. ตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนั้น นาน ๆ ไปก็คงจะชินตากัน และมันทนทานเอาเรื่องอยู่ เพระเป็นหินแกร่ง ผิดกับ "ตุ๊กตาอับเฉา" ตามวัดต่าง ๆ ที่งามกกว่าหลายเท่า ทุกวันนี้พังพินาศรวดเร็วมาก ผมคิดว่าควรจะเริ่มเป็นห่วงกันได้แล้ว ขอบอกว่าตุ๊กตาพวกนี้เมืองจีนก็แทบไม่มีครับ เป็นสมบัติศิลปะจีนที่มีในเมืองไทยมากที่สุด แต่ก็ถูกละเลยมากที่สุดเหมือนกัน

จาก เฟซบุ๊กของคุณกรกิจ ดิษฐาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 23 ก.ค. 22, 17:32

จาก FB  คุณ Surawich Verewan

การตกแต่งวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยประติมากรรมศิลานั้น มีปรากฏในจดหมายเหตุการ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ หน้า ๑๖๙ ได้ระบุไว้ว่า
.
“...ถึงรัชกาลที่ ๕ คราวเตรียมงานสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอและพระราชวงศ์หลายพระองค์ควบคุมรับผิดชอบงาน บูรณะปฏิสังขรณ์ฐานไพทีกับสิ่งประดับตกแต่ง ตลอดจนปูชนียสถานบนฐานไพที...”
.
“...ด้านข้างศาลารายทั้ง ๑๒ หลังนั้นประดับด้วยกระถางไม้ดัดต่างๆ...นอกจากนี้บางศาลามีกระถาง ไม้ดอก มีรูปสัตว์กระต่ายเล็กๆ และนกเคลือบประดับบ้าง บางศาลามีโต๊ะตั้งจานใส่รูปจำลองสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา เป็ด นก และปู กับมีตุ๊กตาศิลาแต่งกายแบบจีน มอญ และฝรั่งทำท่าเหมือนจะซื้อขายสินค้ากันบ้าง...”
.
ส่วนการนำประติมากรรมศิลามาฝังนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะดำเนินการในช่วงสมัยรัชกาลที่๖เนื่องในงาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เอกสารหอจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๖ เรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๕๔ – ๑๗ มีนาคม ๒๔๖๔ หนังสือกระทรวงโยธาธิการ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธ์ิ มีหนังสือกราบบังคมทูลฯ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) เรื่องการพระบรมราชาภิเศกสมโภช ซึ่งจะตั้งพระราชพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยังมีสิ่งที่ชำรุดและซ่อมค้างอยู่ จึงได้ประมาณราคาค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ ในรายการที่ ๗ เก๋งบอกหนังสือหน้าพระอารามทั้ง ๔ หลัง เนื่องจากไม่ใช้งานอาคารดังกล่าว ตัวเก๋งชำรุดเสียหายอย่างมากรวมถึงด้านหลังกลายเป็นที่ทิ้งของโสโครกจึงเห็นสมควรที่จะรื้อและขนของที่รื้อกับ กองของโสโครกออกแล้วทำพื้นให้เรียบร้อย
.
ต่อมาในหนังสือที่ว่าการกรมศิลปากร กรมหลวงนเรศร์วรฤทธ์ิ มีหนังสือกราบบังคมทูลฯ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๖ เรื่องการแก้บันไดพระทวารพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในบัญชีรายการทำบันไดนั้น ได้ระบุรายการค่ารื้อและย้ายตุ๊กตาหิน และแท่นหิน ปูหินหน้าพระอุโบสถเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/surawich.verawan
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง