เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 18082 ฉากประทับใจในหนังเก่า (4)
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 300  เมื่อ 22 มี.ค. 23, 13:07

ผมรู้จักหนังเรื่อง Grand Hotel (1932) มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย  ก็ได้ความรู้มาจากการอ่าน SP นั่นแหละ  รู้มาว่าเป็นหนังรวมดาราชั้นนำของวงการในขณะนั้น  นับเป็นครั้งแรกที่มีหนังแนวรวมดารา  เนื้อเรื่องก็เล่าเรื่องราวของแขกหลากหลายที่มาเช่าห้องพักในโรงแรมแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในกรุง Berlin 




ถ้าเป็นยุคนี้ plot แบบนี้ไม่มีอะไรใหม่  แต่เมื่อเกือบ 90 ปีก่อนโน้น  คนถึงกับแย่งกันตีตั๋วเข้าไปชม






ผมได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้เมื่อ UBC เปิดช่อง TCM  นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นการแสดงของดาราดัง ๆ ที่เคยได้ยินแต่ชื่อหลายคนอย่าง Greta Garbo ดาราที่เคยได้ยินชื่อมาก่อนรู้จักหนังเรื่องนี้เสียอีก  ในเรื่องเธอเล่นเป็นนักบัลเล่ย์จากรัสเซียที่ชื่อเสียงเริ่มซบเซา  เธอประชันบทกับ John Barrymore (ญาติอาวุโส (great uncle) ของ Drew B.) ที่เล่นเป็นบารอนตกอับที่พยายามขโมยเครื่องเพชรของเธอ  แต่ลงท้ายก็ปิ้งกัน



ข่าวลือมาว่า ในฉากประชันกันนี้  ทาง studio กลัวว่าจะไปไม่รอดเพราะทั้ง GG และ JB ต่างเป็นดาราระดับยักษ์ทั้งคู่และต่างได้ชื่อว่า ไม่ยอมลงให้ใคร

แต่แล้วก็ต้องถอนใจกันลั่นกองถ่ายเมื่อปรากฏว่าทั้งคู่เข้าขากันได้ดีไม่มีขบกัด  การเข้าขากันผ่านออกมานอกจอด้วย  เพราะปกติ นอกจอ GG จะไม่คุยกับใครทั้งสิ้น
 
ในฉากนี้ GG ถึงกับ ‘อิน’ กับฉากจูบกับ JB จนเมื่อ ผกก. สั่ง cut แล้วเธอก็ยังกระหน่ำจูบ JB ต่อไปอีกนานเป็นนาที ๆ  ฉากนี้มีการถ่ายเก็บไว้แต่ไม่มีใครเอามาเปิดเผย

มีบทพูดตอนหนึ่งที่ GG พูดไว้และมันกลายเป็นคำพูดคลาสสิกที่เป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบันนี้  ‘I want to be alone’ … placed number 30 in AFI's 100 Years...100 Movie Quotes in 2005

ประโยคนี้ต่อมาเป็นคำพูดประจำตัวของ GG  และสื่อก็ประโคมข่าวว่าเป็นคำพูดอาถรรพ์เพราะมันทำให้เธออยู่เป็นโสดจนสิ้นอายุขัย (เว่อร์กันเข้าไป)


ดาราดังอีกคนคือ Joan Crawford  ในเรื่องนี้เธอเล่นเป็นสาวอาชีพจดชวเลขที่ไฝ่ฝันจะเป็นดารา  แต่ตอนนี้ต้องทำหน้าที่จดงานให้นายจ้าง (Wallace Beery)



ในยุคนั้น JC ยังเป็นเด็กใหม่ ในขณะที่ GG เป็นเจ้าแม่ของวงการแล้ว  ข่าวเล่าต่อกันมาว่า  JC บูชา GG มาก  แม้นักแสดงทั้ง 2 จะไม่เคยเข้าฉากร่วมกัน  แต่เมื่อผ่านกันนอกจอ JC จะหยุดเพื่อทักทาย GG แบบอาย ๆ เป็นประจำ แต่ GG ไม่เคยชายตามอง  จนกระทั่ง JC ฝ่อไป

แล้ววันหนึ่งตอนผ่านกันนอกจอครั้งที่เท่าไรก็ไม่รู้  จู่ ๆ GG ก็หยุดแล้วถาม JC ว่า  "Aren't you going to say something to me?"

ตอนท้ายเรื่องบรรยากาศเริ่มหนักขึ้นเมื่อมีการฆาตกรรม (บารอนตกอับ (JB) พยายามเข้ามาขโมยของมีค่าของนายจ้างนักจดชวเลข (WB))



ในฉากสุดท้าย JC ในบทสาวนักจดชวเลขกับนักบัญชีสูงอายุที่ป่วยใกล้จะตาย Lionel Barrymore (พี่ชายในชีวิตจริงของ JB)  และ GG ที่วิ่งพล่านเพื่อตามหาชายคนรัก JB โดยไม่รู้ว่าถูกฆ่าไปแล้ว



หนังจบด้วยประโยคที่ว่า "Grand Hotel. Always the same. People come. People go. Nothing ever happens."

หนังดูสนุกทีเดียวครับ

Grand Hotel เป็นหนังเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์รางวัล Oscar ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเพียงสาขาเดียวคือหนังยอดเยี่ยมและได้รับรางวัล

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 301  เมื่อ 23 มี.ค. 23, 12:07

ผมได้ดูหนังของ Greta Garbo หลายเรื่องทีเดียว  แต่ไม่ได้ชอบทุกเรื่องไป  เพราะเธอชอบรับบทเครียด ๆ  ซึ่งพอถ่ายทำเป็นหนังขาวดำแล้ว  ผมผู้เป็นคนดูพลอยเครียดไปด้วย  หนังดีมากของเธอเรื่อง Camille (1936) ผมก็เฝ้าดูเธอได้ไม่ตลอดรอดฝั่งเพราะมัวแต่ไปอ้าปากค้างกับความหล่อของ Robert Taylor ที่กลบความสวยของเธอเสียมิดชิด

แต่พอมาเรื่อง Ninotchka (1939) นี่สิ  แหม... สนุกจริง ๆ  

ท้องเรื่องเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสเมื่อรัสเซียส่งเจ้าหน้าที่บ้องตื้น 3 คนมาทำเรื่องขายทอดตลาดเครื่องเพชรที่ยึดมาได้จากราชวงศ์รัสเซียเมื่อครั้งปฏิวัติใหญ่ปี 1917 แต่งานไม่สำเร็จเพราะโดน Count Leon d'Algout หรือ พระเอก ของเรา  เข้ามาขัดขวางเพราะต้องการให้เครื่องเพชรกลับไปสู่มือเจ้าของเดิม

ทางราชการรัสเซียเลยต้องส่ง a special envoy นามว่า Ninotchka มาเพื่อแก้ไขเหตุการณ์  Ninotchka เป็นสาวหลังม่านเหล็กที่เย็นชาและไม่ใส่ใจกับความหรูหราของโลกภายนอก  รวมถึงเรื่องโรมานซ์  แต่แล้วก็ต้องมาตกหลุมรักพระเอกเจ้าเสน่ห์ของเรา

ฉากแรก ๆ ที่ Ninotchka มาถึงกรุงปารีส  จนท. บ้องตื้นทั้ง 3 มาคอยรับแต่ งง ๆ กับชื่อ Ninotchka ว่าเป็นชื่อผู้หญิงหรือผู้ชาย

(ฉากหมวกในตู้โชว์ (1.45) ออกแบบโดย Adrian (เคยเอ่ยถึงเธอไปแล้ว) ซึ่งต่อมา Ninotฯ ก็ซื้อมาใส่อย่างเก๋ไก๋)


ฉากพระเอก (Melvin Douglas) กับนางเอกเจอกัน โดยที่ยังไม่รู้รายละเอียดว่าต่างเป็นใคร

(ผมขำตอนที่พระเอกถามว่ากำลังหาอะไร  นางเอกตอบว่า Eiffel Tower  แล้วพระเอกอุทานว่า ‘ตายจริง (Eiffel Tower) หายอีกแล้วเหรอนี่’  มุกตลกที่ทันสมัยนะผมว่า)


ปัญหาของคนจากประเทศหลังม่านเหล็กเมื่อมาถึงดินแดนหรูหรา



แล้วโดนผู้ชายเกี้ยว



แล้วก็ไม่ตลกกับมุกไม่ว่าเจ้าของมุกจะพยายามอธิบายอย่างไรก็ตาม

(ผมว่าฉากนี้ตลกมาก  ผมไม่เคยเห็น GG เอิ๊ก ๆ แบบนี้มาก่อน)


ฉากจำลองแบบขำ ๆ ของที่พักใน apartment ในรัสเซีย



ตอนหนังออกฉายสื่อและแผ่นปิดโฆษณาหนังประโคมกันว่า “Garbo laughs!”  ย้อนกลับไปเมื่อครั้งวงการหนังพัฒนาจากหนังเงียบมาเป็นหนังเสียง  GG เล่นเรื่อง Anna Christie (1930) เป็นหนังเสียงเรื่องแรก  ตอนนั้นสื่อก็ประโคมข่าวกันว่า “Garbo talks!”




สรุปแล้ว Ninotchka เป็นหนังตลกที่ตลกแบบใสสะอาดน่ารัก  แม้จะสร้างมากว่า 80 ปีแล้ว  แต่มุขตลกยังคมอยู่  เธอไปได้คล่องกับบทตลกนี้และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Oscar ด้วย



บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 302  เมื่อ 24 มี.ค. 23, 12:45

Greta Garbo เล่นหนังอีกเรื่องเดียวในปี 1941 หลังจากนั้นสัญญาที่เธอเซ็นไว้กับ studio ต้นสังกัดก็หมดลง  เธอไม่ต่อสัญญา  แต่บินกลับบ้านที่ Sweden   เธอเคยบอกว่าหลังสงครามสงบแล้วอาจจะกลับมาใหม่ 

เธอกลับมาจริงในช่วงต้น 1950s  แต่ไม่ได้มาเล่นหนัง หากมาซื้อ apartment ขนาดย่อมแล้วอยู่เฉย ๆ เงียบ ๆ จนกระทั่งตาย  ระหว่างนั้นมีคนเสนอบทหนังดี ๆ มากมายแต่เธอบอกปัดหมดเพราะเลิกเล่นหนังแล้ว 

GG เป็นนักแสดงที่มีวินัยเป็นอย่างมาก  เมื่อถึงเวลาถ่ายทำเธอจะปรากฏตัวขึ้นที่ฉากโดยไม่ต้องให้ใครเดินไปเชิญ   ในทำนองเดียวกัน  ถ้าตอนนั้นกำลังเข้ากล้องอยู่  ถ้าตาเหลือบไปเห็นเข็มนาฬิกาบ่งบอกว่าหมดเวลาสำหรับงานวันนี้แล้ว  เธอจะชี้ไปที่หน้าปัดนาฬิกาแล้วยิ้มในทำนองว่า ‘หมดเวลาแล้วอ้ะ’ แล้วก็เดินออกไปจากฉากโดยทันที  โดยไม่สนใจว่ากล้องกำลังทำงานอยู่  ทุกคนในโรงถ่ายต่างคุ้นเคยกับเหตุการณ์นี้

ครั้งใดที่เกิดการคัดง้างกับ studio  เธอจะใช้ไม้ตายด้วยประโยคว่า ‘I think I’ll go back to Sweden’  ได้ยินประโยคนี้ทีไรผู้บริหาร studio เป็นเหงื่อแตกและยกธงขาวยอมตามเงื่อนไขของเธอทุกอย่าง  เพราะบุคลิกของเธอเป็นคนเอาจริงเอาจังกับงาน

ตลอดชีวิตของการเป็นนักแสดงนอกเหนือจากตอนที่เข้าวงการใหม่ ๆ  จนกระทั่งถึงวันตาย  เธอไม่เคยให้สัมภาษณ์แบบทางการไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด  ไม่เคยแจกลายเซ็นใคร  ไม่ว่าจะเป็นแฟนหนังหรือดาราด้วยกัน  แล้วก็ไม่เคยตอบจดหมายแฟน

เธอไม่เคยไปร่วมงานแจกรางวัลใด  ไม่ไปแม้แต่งานปฐมฤกษ์หนังของตัวเอง  แต่จะแอบไปดูคนเดียวโดยพลางหน้าด้วยแว่นกันแดด

คนเล่าว่าเธอกับ Clark Gable ไม่ชอบขี้หน้ากัน  เหตุผลคือ She thought his acting was wooden while he considered her a snob  ในขณะเดียวกันคนก็เล่าว่าเธอชอบ Gary Cooper มากและเคยเสนอขอให้เล่นหนังด้วยกันแต่โอกาสที่ว่าไม่เกิดขึ้น

แม้จะครองตัวเป็นโสดจนวันตาย  แต่ในครั้งหนึ่งเธอเกือบได้เป็นเจ้าสาวของเจ้าบ่าวนักแสดงดังในยุคหนังเงียบ John Gilbert  แต่แล้วเกิดปอดแหกแล้วสวมบท ‘Runaway bride’




นี่เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อยของดาราที่ได้ชื่อว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 303  เมื่อ 24 มี.ค. 23, 16:10

์Nanotchka  เป็นเรื่องเดียวกับ Silk Stockings (1957)หนังเพลงที่ Cyd Charisse  แสดงคู่กับ Fred Astaire  หรือเปล่า
ฉากที่นางเอกปรากฏตัวในฐานะคอมราดจากรัสเซีย  เหมือนกันเปี๊ยบเลย

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 304  เมื่อ 25 มี.ค. 23, 07:11

์Nanotchka  เป็นเรื่องเดียวกับ Silk Stockings (1957)หนังเพลงที่ Cyd Charisse  แสดงคู่กับ Fred Astaire  หรือเปล่า
ฉากที่นางเอกปรากฏตัวในฐานะคอมราดจากรัสเซีย  เหมือนกันเปี๊ยบเลย



ใช่ครับ 'จาร

Silk Stockings is a 1957 American musical romantic comedy film directed by Rouben Mamoulian, based on the 1955 stage musical of the same name, which itself was an adaptation of the film Ninotchka (1939)

โหน่งเพิ่งรู้ครับ  เปลี่ยนจากหมวกของ Adrian เป็นถุงน่องแทน 
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 305  เมื่อ 28 มี.ค. 23, 12:06

จำได้ว่าในยุคปลาย 70s ต่อ 80s อันเป็นยุคที่ผมกำลังก๋ากั่น  ผมตะบันดูหนังไม่เลือก  โรงหนังที่ผมแวะเป็นประจำอยู่ในละแวกราชเทวี  มี 2 โรงที่ดูทุกอาทิตย์  บางอาทิตย์ก็ดูเบิ้ล 2 รอบ  จบรอบเช้าออกมาหาข้าวกินแล้วตามด้วยรอบบ่าย 2  ประมาณว่าไหน ๆ ก็ออกมาแล้ว  2 โรงที่ว่าคือ ฮอลลีวู้ดกับแมคเคนน่า  2 โรงนี้อยู่ใกล้กัน  เดินไปเดินมา  บางครั้งก็เข้าโรงเพรสซิเดนท์  บางทีก็เลยไปเครือสยาม  วนเวียนอยู่ในละแวกนี้  ก็เก็บเกี่ยวหนังดังแห่งยุคได้ครบ (นอกจากหมายหัวไว้แล้วว่า ไม่ชอบ) 

จนกระทั่งผมย้ายไปอยู่ฝั่งธนฯ  ความสะดวกก็ตามมาอำนวย  คือมีโรงเครือเมเจอร์มาตั้งที่... เค้าเรียกย่านอะไรก็จำไม่ได้แล้ว  ตรงข้าม Central ปิ่นเกล้า  ซึ่งเดชะบุญทำเลอยู่ใกล้บ้านใหม่มาก  สะดวกกว่าก่อน ผมยังคงไปตลุยดูหนังเป็นประจำไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่ง  เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมสมัครเป็นสมาชิก  รู้แล้วรู้รอดไป

เพราะดูหนังเยอะความจำเกี่ยวกับหนังในช่วงนั้นจึงมีเยอะ  ผมว่ายุคดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดหนังสั่นประสาทสยองขวัญชั้นดีมากมาย ที่ดังสุดกู่ก็เช่น Texas chain saw massacre (1974) หรือชื่อไทยว่า สิงหาสับ (ถ้าจำไม่ผิด) แล้วก็ The hills have eyes (1977) หรือชื่อไทยว่า โชคดีที่ตายก่อน (ถ้าจำไม่ผิดเช่นกัน)

ผมละไม่เคยชอบหนังแบบนี้เลย  แต่ก็ประหลาดใจตัวเองที่ไม่ชอบแล้วทำไมถึงไม่เคยพลาดก็ไม่รู้  จำความรู้สึกตอนดูหนัง สิงหาสับ ได้ว่า ‘น่ากลัวฮี้หาย  ไม่รู้ดูไปทำไม’



พอหนัง โชคดีที่ตายก่อน มาฉายผมก็ไปนั่งป๋อหลออ้าปากบ๋อปิดตาดูอยู่ในโรงฯ



ปีต่อมาก็มีหนังแบบนี้มาฉายอีกชื่อ Halloween  คราวนี้ผมไม่หลงกลดู  แต่ดันไปหลงคารมเพื่อน รู้สึกเพื่อนจะเลี้ยงด้วย  หูยย… ผมว่าเรื่องนี้สั่นประสาทที่สุด  ผมเห็นคนที่นั่งดูในละแวกต่างสะดุ้งบ้างกระสับกระส่ายพยายามเบือนหน้าหนีฉากโหดบนจอ (คือขณะผมเบือนหน้าหนีก็ไปเห็นคนข้าง ๆ ก็กำลังเบือนหน้าหนีมาเจอกันเช่นกัน)

ตอนต้นของ clip นี่แหละที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยในโรงฯ ร้องกันลั่น  ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้เป็นจำฉากนี้ได้ไม่ลืม 

 
หนังสั่นประสาทเรื่องสุดท้ายที่ผม (ต้องสาป) ซื้อตั๋วเข้าไปดูคือ Nightmare on elm street (1984)  หลังจากนั้นผมก็ไปหาพระรดน้ำมนต์เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากคำสาป 



หนังประเภทนี้ยังมีมาฉายอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  แต่การนำเสนอเข้าสูตรสำเร็จรูปไปแล้ว  ขาดความคลาสสิกไม่เหมือนรุ่นพี่ ๆ

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 306  เมื่อ 29 มี.ค. 23, 13:38

ในยุคดังกล่าวมีหนังอีกสาขาหนึ่งที่ออกมาฉายเยอะแยะคือหนังผี  ผมว่าไม่มีหนังผี (ในยุคนั้น) เรื่องไหนสุดยอดเท่า Poltergeist (1982) มันเป็นหนังผีสมัยใหม่ที่ทั้งสนุกและน่ากลัวแห่งยุคนะผมว่า  slogan ที่ว่า They’re here นี่ฮิตติดปาก

หมู่บ้านจัดสรรสร้างทับลงบนสุสาน  ถึงแม้จะประกาศว่าได้ดำเนินเรื่องโยกย้ายศพแล้ว  แต่ความจริงทางโครงการตอแหล เพียงแค่ย้ายแผ่นหินจารึกชื่อคนตายบนหลุมเท่านั้น  ก็เลยเกิดเรื่อง

เนื้อเรื่องก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่  แต่สิ่งแปลกใหม่คือการถ่ายทำและเทคนิคตระการตาที่เว่อร์เวิ่น 
















ตัวอย่างหนัง



ความดังของหนังทำให้มีการสร้างภาคต่อออกมาอีก 2 ภาคซึ่งก็เข้าทำนองคลาสสิกคือไม่ดีเท่า  ทั้ง 3 ภาคมีแม่หนู Carol Anne เป็นตัวเอก 

หนังชุด P นี้ได้ชื่อว่าเป็นหนังอาถรรพ์เพราะมีนักแสดงตายระหว่างการถ่ายทำหรือหลังจากจบชุดไปได้ไม่นานจำนวนหนึ่ง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 307  เมื่อ 30 มี.ค. 23, 12:03

The Lost Boys (1987) เป็นอีกหนังสยองขวัญบรรยากาศสนุกสนานสุดเหวี่ยง  เล่าเรื่องครอบครัวแม่หม้ายลูกติด 2 คนย้ายมาอยู่ในเมืองชายทะเลสวยงามโดยไม่รู้ว่าเมืองนี้มีเจ้าถิ่นเป็นนักเลงแวมไพร์ที่มีหัวหน้ากลุ่มเป็นชายนักธุรกิจหน้าตาจืดชืด  ไม่มีใครรู้ว่านี่คือแวมไพร์ตัวเอ้

แรกเริ่มสำนวน The lost boys เกิดขึ้นในนิยายเรื่อง Peter Pan  บรรดาเด็กที่ไม่รู้จักโต สำนวนสามารถเอามาใช้ในหนังเรื่องนี้ได้เพราะเหล่าวัยรุ่นที่เป็นแวมไพร์ก็ประหนึ่งเด็กไม่รู้จักโตเช่นกัน  แต่น่าหยดหยอง

หนังเปิดเรื่องแบบนี้





ความเป็นหน้าใหม่ 2 พี่น้องไม่รู้ลึกตื่นหนาบาง  พี่ชายดันไปชอบสาวที่เป็นแฟนของหัวหน้าแก๊งค์แวมไพร์



ส่วนน้องชายออกสำรวจถิ่นก็ไปเจอแก๊งค์คู่อริที่พยายามโค่นแก๊งค์แวมไพร์



ภายในถ้ำของแก็งค์แวมไพร์

บทพี่ชายเป็นของ Jason Patric  นี่เป็นหนังเรื่องที่สอง  อายุเพิ่งแตะ 20  หล่อไม่เกรงใจใคร


พี่ชายเข้าร่วมแก๊งค์แวมไพร์โดยไม่รู้ตัว



นี่คือโฉมหน้าหัวหน้าใหญ่ที่กำลังมาจีบคุณแม่ลูกติด ลูกชายคนเล็กกับพรรคพวกก็พยายามขัดขวาง  แต่ความเป็นหัวหน้าใหญ่มากประสบการณ์  กลเม็ดเด็ก ๆ ไม่ระคาย



บุกรัง  ตื่นเต้นมาก  นั่งตัวเกร็ง (ทั้ง 2 รอบ) เลยละ



ตั้งแต่ฉากนั้น คิวตื่นเต้นตามมาไม่หยุด







และฉากสุดท้าย





ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 308  เมื่อ 04 เม.ย. 23, 12:11

Benediction (2021) เป็นหนังจากฝั่งอังกฤษเล่าอัตชีวประวัติช่วงหนึ่งของกวีและนักเขียนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของยุคนามว่า Siegfried Sassoon




Wikiฯ ให้นิยามงานกวีของเขาว่า His poetry both described the horrors of the trenches and satirised the patriotic pretensions of those who, in Sassoon's view, were responsible for a jingoism-fuelled war

หนังเริ่มต้นที่ SS โดนเรียกไปรับใช้ชาติอันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของเขาเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าในระหว่างที่ทำสงครามเขาจะได้รับการยกย่องว่า “Decorated for bravery on the Western Front including the single-handed capture of a German trench in the Hindenburg Line. Armed with grenades, he scattered sixty German soldiers”

ความไม่ชอบใจต่อการทำสงครามมาถึงจุดสูงสุดเมื่อเขาประท้วงเดี่ยวด้วยการเขียนบทกวีชื่อ ‘Soldier’s declaration’ ออกแจกจ่ายในปี 1917  ผลก็คือถูกเรียกตัวจากสนามรบไปเข้าขบวนการประเมินอาการแล้วลงท้ายด้วยการถูกส่งเข้าบำบัดใน military psychiatric hospital ใกล้กรุง Edinburgh ในปี 1917 นั้นเอง


(ปากคอเราะรายดีจัง (เหมือนผมเลย  ประมาณด่ากราด))


ที่นั่น SS พบและผูกมิตรกับนายทหารคนป่วยชั้นผู้น้อยชื่อ Wilfred Owen...  



...ซึ่งเป็นกวีเริ่มต้น  ด้วยแรงสนับสนุนจาก SS ทำให้ฝีมือของพ่อหนุ่มแก่กล้าขึ้นถึงขนาดสร้างชื่อเสียงให้อยู่ในแนวหน้าของวงการกวียุคสงครามโลกกับเขาด้วย  แต่ความดังเกิดขึ้นหลังจากเขาตายไปแล้ว  จากการสนิทสนมนี้ทำให้ทั้ง 2 กลายเป็นคู่รักกัน

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่น่าจะยืนยาวถ้าไม่เกิดเหตุพลิกผันเมื่อ WO โดนเรียกตัวกลับไปสนามรบและเสียชีวิตในปีต่อมาเมื่ออายุได้ 25 ขวบ



ส่วน SS ปลดประจำการและออกสู่สังคมชั้นสูงในฐานะเกย์คิงไฮโซ  ระหว่างนั้นเขามีแฟนมากมาย  แต่มีคนหนึ่งที่สร้างความสัมพันธ์ให้มี ‘รสชาติ’ มากกว่าคนอื่นคือ นักแสดงหนุ่ม Ivor Novello  (1.06 ของ clip ข้างบน)
  
ใน clip เขาเล่นดนตรีและร้องเพลงที่มีเนื้อตลกและน่ารักมาก เป็นการเล่นคำระหว่าง came too (ไปด้วย) กับ came to (ฟื้นขึ้นมา) ตอนแรกนึกว่าทางผู้ผลิตหนังเอาเพลงชาวบ้านมาเสริม  แต่หลังจากหยุดดูแล้วไปค้นแป๊บก็พบว่า IN ร้องเพลงจริง  เพลงชื่อว่า And her mother came too  เป็นเพลงเด่นเพลงหนึ่งของเขา

ในยุคต้น 20s  เมื่อชั่ง นน. (weigh) ระหว่างยุคแล้ว  เนื้อเพลงตลกแบบนี้  ในตอนนั้นคนฟังแล้วคงขำกันกลิ้ง

(Verse)
I seem to be the victim of a cruel jest
It dogs my footsteps with the girl I love the best
She's just the sweetest thing that I have ever known
But still we never get the chance to be alone

(Chorus 1)
My car will meet her
And her mother comes, too
It's a two-seater
Still her mother comes, too

At Ciro's when I am free
At dinner, supper, or tea
She loves to shimmy with me
And her mother does, too

We buy her trousseau
And her mother comes, too
Asked not to do so
Still her mother comes, too

She simply can't take a snub
I go and sulk at the club
Then have a bath and a rub
And her brother comes, too

(Verse 2)
There may be times when couples need a chaperone
But mothers ought to leave a chap alone
I wish they'd have a heart and use their common sense
For three's a crowd, and more, it's treble the expense

(Chorus 2)
We lunch at Maxim's
And her mother comes, too
How large a snack seems
When her mother comes, too

And when they're visiting me
We finish afternoon tea
She loves to sit on my knee
And her mother does, too

To golf we started
And her mother came, too
Three bags I carted
When her mother came, too

She fainted just off the tee
My darling whispered to me
"Jack, dear, at last we are free!"
But her mother came to




ตอนที่เจอกับ SS นั้น IN มีคู่รักอยู่แล้ว (คนที่เกาะอยู่ข้างเปียโน) ชื่อ Glen B. Shaw ซึ่งเป็นนักแสดงเหมือนกัน




พอ IN ได้พบ SS เขาก็สลัด GS คนรักเดิมทิ้งหน้าตาเฉย แล้วอ้าแขนรับ SS  




ความรักของทั้ง 2 หวือหวา  แต่ดำรงอยู่ได้ไม่นานเพราะ ‘The main drawback with love is that it descends, all to quickly, in possessiveness. That is really a bore’  นี่คือความเห็นและคติในการเปลี่ยนหน้าคนรักเป็นว่าเล่นของ IN


มีต่อ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 309  เมื่อ 06 เม.ย. 23, 11:58

SS อกหัก  แต่กว่าจะสลัดทิ้งได้ IN ก็เปลี่ยนคู่รักไปหลายรายแล้ว  SS ก็กลับมาสนิทสนมกับคู่รักเก่าของ IN คือ GS  แต่ไม่มีอะไรลึกซึ้งกว่าความเป็นเพื่อนสนิทซึ่งต่างดำรงสถานะนี้ไปจนกระทั่งตายจากกัน

แต่คู่ที่แท้จริงของ Seighfried Sassoon คือ หนุ่มสำราญนามว่า Stephen Tennant ซึ่งก็เคยตกเป็นเหยื่อของ IN มาก่อนเช่นกัน

(จังหวะ Charleston)




ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ยืนยาวนานถึง 6 ปีก็ต้องถึงจุดอวสานเมื่อ ST พบว่าตัวเองเป็นวัณโรคและหักดิบด้วยการตัดความสัมพันธ์

SS อกหักอีกครั้งและหันไปสนิทกับ Hester Gatty เพื่อนของ ST (คนใน clip ข้างบน และ 3.44 ของ clip ที่ 2) ซึ่งเป็นลูกสาวของคนใหญ่คนโต  คบไปคบมาก็เลยแต่งงานกัน  แต่ก่อนจะดำเนินเรื่องไปถึงจุดนั้น  SS ก็สารภาพกับ HG ว่า  ‘I have never had an affair with a woman before, only men’  แต่ HG ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่

ทั้งสองแต่งงานกันอย่างเงียบ ๆ ในหนังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าแขกทางฝั่ง HG มีใครมาบ้าง  แสดงแต่แขกฝั่ง SS ซึ่งล้วนเป็นนักกวีระดับ ‘เซียน’ ของยุคซึ่งรวมถึง E.M Forster และ T.E. Lawrence  ที่ชาวโลกรู้จักดี  เขาคือแรงบันดาลใจต่อการสร้างหนัง Lawrence of Arabia ในหนัง TEL มีบุคลิกแต๊วแต๋วและปากจัด  ผิดกับบุคลิกที่เราเห็นในหนังที่แสดงโดย Peter O’Toole

สองผัวเมียมีลูกชาย 1 คนที่ต่อมาก็มีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้านเช่น วิศวกร นักวิทยาศาตร์ นักประพันธ์ ฯลฯ

ในบั้นปลาย ST กลับมาง้อ SS  แต่ SS เจ็บปวดเกินกว่าจะให้อภัยได้  ในหนังความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ้นสุดโดยไม่เหลือเยื่อใยในวันนั้น  แต่ในประวัติย่อที่ Wikiฯ ลงไว้  HG เมียของ SS เป็นคนเตือนสติให้ SS ยุติความสัมพันธ์ให้นุ่มนวลกว่านี้  ซึ่ง SS ก็เห็นด้วยและยินดีสานความสัมพันธ์กับ ST ต่อแต่ในระดับผิวเผินเช่น ติดต่อกันทางจดหมาย หรือ โทรศัพท์

หนังจบที่ SS ในวัยคนแก่ที่ขี้หงุดหงิด ไม่เคยพอใจต่อโลกสมัยใหม่ ลงท้ายด้วยการกลายเป็นคนซึมเศร้า  ชีวิตของแต่ละคนก็คือนิยายเรื่องหนึ่ง ๆ เนอะ  มีทั้งสนุกและจืดชืด




ตัวอย่างหนัง



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 310  เมื่อ 07 เม.ย. 23, 14:18

หนังเรื่อง Benediction ลงเอยตรงนั้น  แต่ผมยังไม่จบ  ยังมีความอยากรู้ต่อก็เลยแวะไปหา Wikiฯ  ซึ่งแจงรายละเอียดให้ว่า  ในที่สุด 2 ผัวเมียก็แยกทางกัน  ตอนปลายชีวิต SS  ก็หันหน้าเข้าหาศาสนา (Catholicism) และนี่คือที่มาของชื่อหนัง Benediction

หนังสอดใส่บทกวีของ SS ลงไปเป็นระยะ ๆ แต่ละชิ้นบรรยายความรู้สึกของเขาที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ที่ใส่เข้ามาเยอะคือบทกวีที่ด่าการทำสงคราม

ร่ายสดในงานเปิดตัว



ชิ้นข้างล่างเป็นตัวอย่างบทกวีที่เขาเขียนบรรยายความรู้สึกต่อการตายของน้องชาย

อาจเป็นเพราะผมเป็นเด็กวิทย์จึงไม่เคยมีอารมณ์ร่วมกับบทกวี  ยิ่งบทกวีทางฝั่งตะวันตกแล้ว  ฟังยังไงก็แยกไม่ออกว่าทำไมถึงเรียกว่าบทกวี  ไม่เหมือนของไทย  กาพย์ กลอน ฯลฯ  ฟังออกเพราะมันมีสัมผัสนอก-ใน  ฟังแล้วเพราะหู (ถึงแม้จะไม่มีอารมณ์ร่วมอย่างที่บอก)

นักวิจารณ์ชื่มชมหนังเรื่องนี้ Rotten Tomatoes ให้คะแนนถึง 94%    ก่อนหน้านี้ชื่อ Siegfried Sassoon ไม่เคยมีอยู่ในหัวสมอง  รู้จักแต่ Vidal Sassoon (ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวดองกัน) พอดูไปได้หน่อยก็  เออ... สนุกดี 

ตอน ‘พักครึ่ง’ ผมก็ไปหาประวัติอ่านแล้วก็ต้องตกตะลึงเพราะว่ามีคนลงประวัติของเขาเยอะมาก  แต่ละแหล่งเขียนเรื่องยาวเป็นหางว่าว  เหมือนไม่รู้จัก Tom Cruise แต่พอลองหาประวัติของเขาอ่านก็พบว่า โอ้โฮ... เป็นคนดังปานนี้เชียวหรือ

ประวัติของ SS มีให้อ่านตั้งแต่เกิดมาเลย  ส่วนบทกวีก็มีให้อ่านมากมายจาก link ต่าง ๆ  เช่น

https://www.poetrynook.com/poem/my-mother-16
บทนี้ SS บรรยายความรู้สึกที่เขาเห็นการแสดงออกของแม่ของตนเมื่อคุยเรื่องการตายของน้องชายของเขา (Hamo S.) ซึ่งเป็นทหารเหมือนกัน

(หมายเหตุ – ในเรื่องมีคำคมบทหนึ่งว่า “Friends may come. Friends may go but enemies are faithful’...  ชอบจัง)






บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 311  เมื่อ 10 เม.ย. 23, 12:39

ตอนเด็ก ๆ เวลา SP เล่าเรื่อง Clark Gable  จะต้องนำเสนอภาพนิ่งนี้




แล้วบอกว่านี่เป็นหนังดังที่สุดของ CG  บทของเธอในหนังเรื่องนี้ทำให้ได้รับ Oscar ดารานำชายยอดเยี่ยม

SP ยังเล่าต่อว่าหนังเรื่อง It happened one night (1934) เป็นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์รางวัล Oscar  ที่ได้รับรางวัลหลัก 5 สาขา (เรียกว่า The Big Five) คือ หนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดยี่ยม ดารานำชาย-หญิงยอดเยี่ยม และคนเขียนบทหนังยอดเยี่ยม

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในอีกกว่า 40 ปีต่อมาคือปี 1976 หนังเรื่อง One Flew Over The Cuckoo’s Nest เป็นเรื่องที่ 2 ที่ได้รับรางวัล Big Five ในเวทีประกาศรางวัล Oscar ครั้งที่ 48  เเละถัดจากนั้นมาอีก 16 ปี เรื่อง The Silence Of The Lambs ได้ทำสถิติเป็นหนังเรื่องที่ 3 ที่คว้ารางวัล Big Five ของเวที Oscar ครั้งที่ 64 ในปี 1992 (หลังจากนั้นผมก็สนใจพวกสถิติเหล่านี้น้อยลงเลยไม่รู้ว่ายังมีต่อมาอีกรึเปล่า)

หนัง IHON เรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังที่มีอิทธิพลอย่างมากในยุคนั้น เพราะเนื่องจาก เป็นหนังเเนว Romantic - Comedy ผสม Road Movie ซึ่งเป็นแนวใหม่และไปก่ออิทธิพลต่อการสร้างหนังเเนวนี้ออกมาอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน  

หนังเรื่อง IHON ดัดเเปลงมาจากนิยายเรื่อง Night Bus ของ Samuel Hopkins Adams มีโทนเรื่องจะออกเป็นเเนวเสียดสีคนรวยแบบขำ ๆ  โดยเล่าเรื่องราวของ 2 หนุ่มสาว เอลลี่ เเอนดรูว์ส (Claudette Colbert) ลูกสาวมหาเศรษฐีผู้เอาเเต่ใจ เธออยากจะเเต่งงานกับ ผู้ชายที่เป็นคนรักของเธอ เเต่พ่อของเธอไม่เห็นด้วย ทั้งคู่จึงทะเลาะกัน ส่งผลให้เอลลี่หนีไป ผู้เป็นพ่อร้อนใจ จึงออกตามหาลูกสาวเเถบพลิกเเผ่นดิน จ้างนักสืบออกตามหา เเละประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์ เเต่ก็ยังคงไร้ร่องรอย

เอลลี่ตัดสินใจที่จะนั่งรถโดยสาร Greyhound Lines เดินทางจากไมอามี่ไปหาคนรักของเธอที่นิวยอร์ก เเละการเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอได้พบกับ ปีเตอร์ เวิร์น (Clark Gable) นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่พึ่งจะถูกเจ้านายไล่ออก เมื่อหนึ่งหนุ่มตกงานเเละหนึ่งสาวผู้เอาเเต่ใจต้องร่วมเดินทางไปด้วยกัน การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการเดินทางที่จะเปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ไปตลอดกาล

ช่วงที่หนังออกฉายก่ออิทธิพลต่อธุรกิจบางอย่างเป็นต้นว่าธุรกิจของการเดินรถโดยสาร Greyhound  โดยเป็นตัวส่งเสริมให้ธุรกิจการเดินรถโดยสารของบริษัทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากรถโดยสารของบริษัทนี้อยู่ในเหตุการณ์ที่พระเอกเเละนางเอกได้ร่วมเดินทางกันไป


 
อีกอิทธิพลหนึ่งมาจากฉากที่ Clark Gable พระเอกของเรื่องถอดเสื้อ ซึ่งในฉากเริ่มแรก CG สวมเสื้อกล้ามด้วยซึ่งเป็นวัฒนธรรมปกติในยุคนั้นที่ผู้คนยังแต่งตัวมิดชิด  แต่ระหว่างการถ่ายทำ มุขตลกจากปากของ CG จบไปก่อนที่การถอดเสื้อตัวสุดท้ายจะจบสิ้น    ประมาณว่ามุขจบไปแล้วแต่ยังถอดเสื้อไม่หมด  ทางทีมงานเลยตัดสินใจไม่ให้ CG สวมเสื้อกล้ามเข้าฉากเพื่อเป็นการย่นเวลาให้จบลงพร้อมกับมุข

ภาพที่ CG ถอดเสื้อตัวสุดท้ายแล้วโชว์เสื้อหนังมังสาปรากฏความเท่ในสายตาผู้คนทั่วไป  เมื่อภาพปรากฏบนจอทำให้สาวๆกรี๊ดกันสนั่น อิทธิพลที่เกิดขึ้นก็คือ มันกลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมที่หนุ่มๆในยุคนั้นไม่นิยมสวมเสื้อกล้าม เลียนเเบบ CG กันยกใหญ่ ส่งผลให้เสื้อกล้ามนั้นขายไม่ดี ถึงขั้นมีผลกระทบให้บริษัทขายเสื้อกล้ามบางรายล้มละลายกันเลยทีเดียว



หนังเรื่องนี้เเม้ว่าจะดูเก่าเเละเชย การดำเนินเรื่องเรียบง่ายและไม่มีเงื่อนงำใด ๆ ประมาณพ่อแง่แม่งอน ซึ่งอาจไม่ดึงดูดใจใครในสมัยนี้มากนัก  เเต่เมื่อได้นั่งดูไปเรื่อย ๆ แล้วพบว่ามันยังคงมีมนต์เสน่ห์ที่จำเป็นต้องดูจนจบ
  
ฉากน่ารัก ๆ



ส่วนฉากนี้เป็นฉากอมตะที่จารึกไว้ในวงการหนัง  เริ่มแรก CC ปฏิเสธฉากต้องโชว์ขา  ทางทีมงานเลยต้องหาตัว stand-in  แต่พอตัว stand-in โชว์ขาให้เห็น  CC เปลี่ยนใจพลางโวยวายว่า "That is not my leg!"



หนังเรื่องนี้เป็นม้านอกสายตา  วันปฐมฤกษ์การฉายก็ไม่มีการประโคมใด ๆ ที่หน้าโรงหนัง  เข้าโรงฉายแบบตามมีตามเกิด  นอกจากนี้ดารานำทั้ง 2 ก็ไม่คิดอยากแสดงตั้งแต่เริ่มแรก  

CG จำต้องแสดงเพราะโดน studio ต้นสังกัดทำโทษโดยส่งให้ studio ที่สร้างเรื่องนี้ยืมไปใช้  เนื่องจากไปมีอะไร ๆ กับ Joan Crawford  จนเป็นข่าวฉาวสร้างชื่อเสียให้กับ studio วันแรกที่เข้าฉาก  ข่าวบอกว่า CG พูดแบบเซ็ง ๆ ว่า  ‘เอาให้มันจบ ๆ ไป’

ส่วน CC มีกำลังใจแสดงเพราะ studio สัญญาว่าจะให้เงินเดือนขึ้นโดยจะถ่ายทำให้จบภายในเวลาที่เร็วที่สุด  ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเธอไม่ใช่ดาราดังอะไรเลย

CC ไม่ชอบหนังเรื่องนี้  แม้หนังเรื่องนี้จะสามารถตลุยไปถึงเวที oscar จนได้  เมื่อถึงวันประกาศผล เธอก็ไม่ไปร่วมงาน  ตอนข่าวประกาศทางวิทยุออกมาว่าเธอได้รางวัล  เจ้าตัวกำลังจะออกเดินทางไปต่างเมือง  จนท. ของงานต้องรีบรุดไปที่สถานีรถไฟเพื่อนำตัวเธอกลับไปที่งาน  แขกในงานจึงเห็นเธอขึ้นเวทีรับรางวัลในชุดเดินทาง




ตัวอย่างหนัง


(ขอบคุณ website: https://minimore.com/b/2kCVV/2 ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลบางส่วนที่ช่วยประหยัดเวลาในการเสาะหา)

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 312  เมื่อ 11 เม.ย. 23, 12:25

The dressmaker (2015) เป็นหนัง comedy-drama จาก Australia  เล่าเรื่องช่างตัดเสื้อที่ประสบความสำเร็จในเมืองใหญ่ต้องกลับมายังบ้านเกิดในถิ่นห่างไกลความเจริญเพื่อมาดูแลแม่ที่เจ็บป่วย  นี่คือจุดประสงค์หลัก  แต่จุดประสงค์ย่อยนั้นคือการหมายมั่นปั้นมือที่จะกลับมาคิดบัญชีชาวบ้านที่นั่น

รายละเอียดตามนี้

(ขอบคุณ น้องเศก Channel)


หนังได้นักแสดงระดับแม่เหล็กคือ Kate Winslet มารับบทนำ  ในเรื่องนี้มาดเธอเยี่ยมมากตั้งแต่ฉากเปิดตัวมาเลย



พอตั้งหลักได้ เธอก็ออกป่วนเมือง



เธอแสดงฝีมือแปลงโฉมลูกเป็ดขี้เหร่





ความสำเร็จนี้ทำให้มีคนมาตัดชุดกับเธอมากมาย  แต่เหนือฟ้าย่อมมีฟ้า  แม้จะมีฝีมือไม่เป็นรองใคร  แต่ยังไม่สามารถเหนือฝีมือแม่ตัวเองได้



หนุ่มที่อยู่ในสายตาของเธอคือ

นักแสดงคือ Liam Hemsworth น้องชายของ Chris Hemsworth


ฉากแก้แค้น



เบื้องหลังแฟชั่นในเรื่อง



ตัวอย่างหนัง



หนังเต็ม ๆ


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 313  เมื่อ 17 เม.ย. 23, 11:53

Dior and I เป็นสารคดีจากฝรั่งเศสเล่าเรื่องชีวิตช่วงหนึ่งของ Raf Simons

RS เป็นชาว Belgium ที่ยึดอาชีพเป็น designer เริ่มแรก (ข้อมูลจาก wikiฯ) ก็ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก่อนแล้วเอาความชำนาญไปต่อยอดทางด้านออกแบบเครื่องแต่งกายชาย  ไอเดียเขาดีมากเลยโดนซื้อตัวโดยห้องเสื้อชั้นหรูจาก Germany ชื่อ Jil Sanders ให้มาทำหน้าที่ creative director

ต่อมาเขาก็ขยับขยายไปทำหน้าที่ creative director ให้กับห้องเสื้อ Dior (ในสารคดีบอกแค่ว่าเป็น competitive  ไม่รู้ว่าได้ตำแหน่งด้วยการซื้อตัวหรือว่าชนะการแข่งขัน... ขี้เกียจค้นน่ะ)

หลังจากแนะนำตัวแล้วก็ต้องออกผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของตนสู่สาธารณชนในนามของ Dior  สารคดีเริ่มตรงช่วงเวลานี้

เนื่องจากชื่อ Dior ไม่ใช่ขี้ ๆ  งานเปิดตัวในครั้งนี้จึงสร้างความเครียดและเครียดกระหน่ำ  เพราะมันไม่ใช่งานแฟชั่นโชว์ธรรมดาแต่เป็น “Collection for Haute Couture” งานช้างที่สาวก Dior จับจ้องตาไม่กระพริบ

สารคดีชุดนี้สร้างออกฉายในปี 2014  ได้รับคำชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์ถ้วนทั่ว  ผมได้ดูจาก website สำหรับ ‘โหลด’ หนังตามที่เคยบอก  เป็นแหล่งชั้นยอดจริง ๆ  มีอะไรแปลก ๆ (รวมถึงหนังโป๊... ด้วยล่ะ) นอกเหนือจากหนังปกติแพลมมาล่ออยู่เนือง ๆ  บางทีดูแต่หนัง ๆ ๆ  มันก็เบื่อนิ

บรรยากาศในห้องทำงานของห้องเสื้อ Dior  ทุกคนกำลังขะมักเขม้นช่วยสานความฝันของ RS ให้เป็นความจริง  ช่างทุกคนดูจริงใจและล้วนเป็นห่วงเพราะ “He is used to ready-to-wear where you cut, glue, sew and it is finished but we use elaborate technique”  ถ้างานนี้สำเร็จทุกคนก็จะได้หน้าไปด้วย

หนังไม่มีบรรยายภาษาอังกฤษ คำสนทนาที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสจะมีบรรยายภาษาอังกฤษแนบมาให้  ถ้าคุยเป็นภาษาอังกฤษ (แบบเพี้ยน ๆ) ก็แกะกันเอาเองตามสะดวก


งานแรกเป็นงานช้างก็ต้องเครียดเป็นธรรมดา

0.13 บนกำแพงคือ ไอเดียที่เป็น highlight ของ RS  ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของศิลปินอเมริกันชื่อ Sterling Ruby




ในเวลาแค่ 8 อาทิตย์  จาก 0 ถึงเส้นชัย  ใครไม่เครียดก็ผิดปกติแล้ว



ไม่แปลกใจที่หา clip ย่อยได้ยากมาก  แต่มีคนนำงานเต็ม ๆ มาให้ดู  แขกบางคนอาจจะคุ้นหน้าบ้างโดยเฉพาะเจ๊ Donatella Versace

ผมพยายามค้นแต่ไม่ได้คำตอบแบบฟันธงว่าสถานที่จัดงานมันที่ไหน  แต่มีตอนหนึ่ง RS และคณะบินไปสำรวจตึกทรงคลาสสิกอันเป็นบ้านของครอบครัวของ Dior  น่าจะเป็นที่นั่น  กำแพงดอกไม้ที่เห็นล้วนเป็นดอกไม้ของจริง  ไอเดียกลั่นมาจากความคิดของ RS  งานทุกแขนงต้องให้แล้วเสร็จภายใน 8 อาทิตย์ที่ว่า


การเตรียมงานกำแพงดอกไม้



จากผลงานครั้งนี้ ... Simons's first collection for Haute Couture Fall–Winter 2012 was well-received as the designer focused on the 1950s by playing with some of Christian Dior's famous silhouettes: the A line and the H line, and the Bar jacket.

Simons said he aims “to bring some emotion back, to what I felt in the nineties, because I see a lot of amazing clothes, but I don’t see a lot of emotion now.”


ตัวอย่าง



หมายเหตุ –
1.   RF ทำงานให้กับห้องเสื้อ Dior แค่ 3 ปีครึ่ง
2.   การออกเสียงของคำว่า haute couture นี้ได้รู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ  จากการอ่านใน ลลนา  แพรว  กะรัต  ดิฉัน ฯลฯ  แต่ตอนนั้นเค้าเขียนเป็นภาษาไทยว่า โอตกูตูร์  พยายามหาต้นฉบับว่าภาษาอังกฤษ (ตอนแรกนึกว่าเป็นคำอังกฤษ) เขียนอย่างไรก็หาไม่เจอ  ต่อมามีโอกาสได้ถามฝรั่งก็ล้วนทำหน้างง  น่าจะเป็นเพราะผมออกเสียงเพี้ยน  จนกระทั่งมาถึงยุค อตน.  ถึงได้คำตอบ  อีกคำหนึ่งคือ ออร์เดิฟ - Hors d'oeuvre  หู... ใครจะนึกว่าตัวภาษาอังกฤษของมันจะเขียนได้วิลิศมาหราขนาดนี้



Raf Simons กับ Pieter Mulier มือขวาของเขา

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 314  เมื่อ 18 เม.ย. 23, 12:12

ผมจำได้ว่าเคยดูหนัง The Wizard of Oz (1939) ที่โรงหนัง  ไปดูกับน้าคนสวย  แต่จำอะไรอื่นเช่นเมื่อไรหรือโรงหนังอะไรไม่ได้เลย  ท่าจะเป็นตอนเด็กมาก ๆ  ซึ่งยังอ่านหนังสือไม่แตก  มีเหลือแต่แค่ความจำ  ที่จำได้โดยไม่ลืมเช่นช่วงเริ่มต้นเป็นหนังขาวดำ

ข่าวบอกมาว่าฉากเดียวที่มีการถ่ายทำนอกโรงถ่ายคือฉากกลุ่มเมฆใน opening scene นี้



ข่าวแจ้งว่า Judy Garland ไม่ใช่ตัวเลือกแรกสำหรับบทหนู Dorothy เพราะเธอมีอายุเกินอายุของตัวละคร หนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ที่เราคุ้นชื่อที่สุดคือ Shirley Temple  แต่ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่านอกจากแม่หนู ST จะอยู่คนละสังกัด studio (20th Century Fox กับ MGM) ซึ่งจะก่อความยุ่งยากในการทำสัญญาขอยืมตัวแล้ว เสียงร้องเพลงของแม่หนูก็ไม่สามารถจับใจคนดูได้เท่าที่ต้องการ  MGM ก็เลยหันมาพิจารณาทรัพยากรของตัวเอง

ตอนแสดงหนังเรื่องนี้ JG อายุ 16 ซึ่งเป็นสาวสะพรั่งแล้ว  ผกก. Victor Fleming (ผกก. จอมโหดตามที่เคยเล่าในเรื่อง Gone with the wind) ต้องให้เธอใส่เสื้อทับทรง (corset – แปลแบบนี้ใช่รึเปล่า) เพื่อกดนมไว้เพราะ Dorothy ในเรื่องยังเป็นเด็กหญิงอยู่

เพลง Over the rainbow เกือบไม่ได้นำมาบรรจุในหนังเพราะผู้ผลิตเห็นว่ามันจะทำให้ฉากนี้ใช้เวลานานเกินไป  ไม่เหมาะกับคนดูที่เป็นเด็ก ๆ ที่ไม่ชอบจ้องอะไรนาน ๆ  เพลงนี้พิสูจน์ตัวเองในที่สุดว่าได้รับเลือกเป็นเพลงอันดับที่ 1 ของเพลงจากหนังทั้งหมด (โดย American Film Institute - 2004)


ฉากพายุนี่ทำเอาผมตื่นเต้นมาก



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.128 วินาที กับ 20 คำสั่ง