เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 18076 ฉากประทับใจในหนังเก่า (4)
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 18 พ.ย. 22, 12:44

ผมรู้จักเพลง Theme from a summer place ที่บรรเลงโดย Percy Faith มาตั้งแต่จำความได้  มันเป็นหนึ่งในเพลงที่ผมชอบตลอดกาล  เพลงอะไรก็ไม่รู้เพร้าะเพราะ  ไม่ต้องพึ่งเสียงร้องเลย



พอโตขึ้นมาหน่อยก็รู้เพิ่มเติมว่ามันเป็นเพลงจากในหนัง (มาจากความหมายของคำว่า Theme)  ชื่อ A summer place   พอโตขึ้นมาจากนั้นอีกก็รู้ว่าในหนังนั้น  เพลงนี้ไม่ได้บรรเลงโดย Percy Faith แต่เป็น Max Steiner ผู้เคยทำเพลงให้กับหนัง Gone with the wind ที่ลือลั่น

มาถึงตอนนี้ก็อยากรู้แล้วว่าฉบับของ MS กับ PF ต่างกันอย่างไร  แล้วก็อยากรู้มาแสนนานเพราะไม่รู้จะไปหาฟังจากที่ไหนเพื่อจะเอามาเปรียบเทียบกัน

พอ youtube ถือกำเนิดและปีกกล้าขาแข็งแล้ว  ผมก็เริ่มค้นคว้า  ก็พบว่าคนที่เอา clip มาลงล้วนแต่ใช้ฉบับของ PF กันทั้งนั้น  มิวายที่ผมจะใส่ keyword ว่า Max Steiner  ก็ได้ฉบับของ PF ออกมาเป็นประจำ  เลยยิ่งอยากรู้ความแตกต่างเข้าไปใหญ่  ครั้นจะลงทุนสั่งซื้อ soundtrack cd เอามาเพียงแค่เปรียบเทียบ ก็เว่อร์ไป  จากประสบการณ์ปล่อยให้สงสัยไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็สมใจเอง  แล้วก็จริง  ช่อง TCM เอาหนังมาให้ดูถึงเตียงนอน

หนัง A summer place (1959) เป็นหนังโรแมนติกแบบดราม่า  จากเพลงที่ฟังมาตั้งแต่เล็กนึกว่าจะเป็นหนังโรแมนติกแบบหวานแหววเสียอีก

เรื่องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวประกอบด้วยพ่อแม่และลูกชายวัยหนุ่มซึ่งในอดีตเป็นครอบครัวมีอันจะกินเพราะมีบ้านใหญ่โตหรูหราอยู่ริมทะเลสวยงาม  แต่แล้วชะตาพลิกผันฐานะเปลี่ยนเป็นยากไร้  จนถึงขนาดต้องลงทุนดัดแปลงบ้านของตัวเองมาเปิดให้คนเช่าเป็นสถานที่พักร้อน

แล้วก็มีครอบครัวหนึ่งที่มีฐานะดีมาเช่าสถานที่แห่งนี้  ครอบครัวนี้ประกอบด้วยผัวเมียและลูกสาววัยรุ่น  แต่ละคนมีอายุอานามไล่เลี่ยกับสมาชิกครอบครัวเจ้าของบ้าน

เรื่องราวปรากฏในเวลาต่อมาว่า  ผัวของครอบครัวที่มาเช่าห้องกับเมียเจ้าของบ้านเคยเป็นกิ๊กกันมาก่อน แต่แล้วดวงไม่สมพงษ์กัน  เลยต้องเลิกราไป  ต่างก็ไปมีครอบครัวตามที่เห็นในเรื่อง  ที่แถมมาคือต่างก็ไม่มีความสุขกับคู่ของตน การมาเที่ยวครั้งนี้จึงมีเลศนัยแอบ

แล้วก็เป็นไปตามแนวของนิยายน้ำเน่า  อดีตคู่เคยกิ๊กก็กลับมากิ๊กกันแบบลับ ๆ เนื่องจากต่างก็มีพันธะกันแล้ว  



ในขณะที่ผู้ใหญ่สนุกสนานกับการผิดศีลข้อ 3  ลูกชายและลูกสาวของแต่ละคู่ก็มาคั่วกันบ้างเพื่อไม่ให้เป็นการน้อยหน้า  Troy Donahue กับ Sandra Dee ดังสุดขีดจากหนังเรื่องนี้และกลายเป็นคู่ตุนาหงันคู่หนึ่งของ Hollywood

(ถ้าเงี่ยหู  จะได้ยินเสียงเพลงฯ แว่ว ๆ)


ส่วนเรื่องดราม่าเกิดขึ้นตรงที่พ่อและแม่ของทั้ง 2 ฝ่าย (ฝั่งที่ไม่ใช่กิ๊กกัน) ต่างไม่เห็นด้วย  ก็ขัดขวางกันด้วยวิธีนานา



ตัวอย่างหนัง



หนังก็สนุกดี  แต่ผมอยากฟังเพลงมากกว่า  ระหว่างดูก็คอยสังเกตว่าเค้าจะแทรกเพลงที่ว่าตรงช่วงไหน  ก็มีบ้างประปรายทำนองก็คล้าย ๆ กันทั้ง 2 ฉบับ  เพียงแต่ฉบับของ PF ปรับปรุงให้เหมาะสมกับเปิดทางสถานีวิทยุมากกว่า (ผมว่า)

(นาทีที่ 0.50 เป็นต้นไป)

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 21 พ.ย. 22, 14:36

ผมเกิดมาในฉบับ ‘ภาษาไทย’  สมัยเด็ก ๆ  อตน. ยังไม่เกิด  ผมจะคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษได้แค่ตอนอยู่ในห้องเรียน  ซึ่งเป็นการคุ้นเคยทางด้านทฤษฎี  ในด้านปฏิบัตินั้น  ผมว่า แม้แต่ครูเองก็ยังไม่คุ้นเคย 
 
ผมว่าความชอบภาษาอังกฤษของผมมาจากการได้ฟังและชอบเพลงฝรั่ง  ผมฟังเพลงฝรั่งมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก  ฟังมาพร้อมกับเพลงไทยก็ว่าได้  ผมเป็นคนเล็กของที่บ้าน  เอาเฉพาะเรื่องการฟังเพลง  บรรดา ‘ผู้ปกครอง’ จะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย  คือฝ่ายเพลงไทย และฝ่ายเพลงฝรั่ง  ฝ่ายเพลงไทยยังแบ่งย่อยออกไปอีกเป็นเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งซึ่งรวมถึงเพลงหมอลำ (นี่มาจากบรรดาคนใช้ในบ้าน)  ฐานความรู้เรื่องเพลงของผมถึงกว้างขวาง  แต่ทั้งหมดนี่ผมชอบเพลงฝรั่งมากที่สุด  เพราะทำนองหลากหลายมาก

การฟังเพลงของผมไม่เหมือนคนทั่วไป คนอื่น ๆ จะฟังเพลงไปทำงานไปหรือดูหนังสือเรียนไป  ผมก็เคยลองทำ  ปรากฏว่าทำไม่ได้  เพราะเมื่อถึงเพลง (ฝรั่ง) ที่ผมชอบหรือเพลงใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยินแล้วทำนองติดหู  ผมเป็นต้องหมดสมาธิในเรื่องที่กำลังทำอยู่  แล้วพุ่งปราดไปเอาหูแนบลำโพงวิทยุทันที
 
การฟังเพลงของผมจึงเป็นการ ‘ฟังเพลง’ จริง ๆ เป็นกิจจะลักษณะไปเลย

ลักษณะการฟังแบบนี้นอกจากจะทำให้ผมรู้จักเพลงมากมายเกินคณานับแล้วยังทำให้ผมคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษมากกว่าคนอื่น ๆ  ยิ่งตอนหลังผมเริ่มเล่นแผ่นเสียง  ผมจะเปิดแผ่น ฯ แล้วลงนั่งฟังเพลงอย่างจริงจัง  ผมเคยได้ยินแม่แอบนินทากับพ่อตอนเห็นผมนั่งจ้องเครื่องเล่นแผ่นเสียงตาเขม็งว่า  ‘ดูมันฟังเพลงซี่  เหมือนกับกำลังจะหาเรื่องชกกับชาวบ้าน’

แผ่นเสียงซึ่งส่วนมากเกือบทุกแผ่นจะมีเนื้อร้องแนบมาให้  ยิ่งเป็นของศิลปินที่แต่งเพลงเอง เช่น Carly Simon ฯลฯ  ทุกแผ่นของเธอจะมีเนื้อร้องแถมมาเสมอ 
 
เมื่อถึงเพลงเพราะถูกใจ  การนั่งฟังเฉย ๆ ทำไม่ได้แล้ว  มันต้องหอนคลอไปด้วย  ทำเช่นนี้ (โดยไม่รู้ตัว) ทำให้ผมนอกจากคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันอันรวมถึง สำนวน หรือ slang ฯลฯ แล้ว  การอ่านออกเสียงของผมยังดีกว่ามาตรฐานของคนไทยทั่วไป (แต่ไม่ใช่ accent เพราะ accent ได้มาจากการพูดคุย  ไม่ใช่จากการร้องเพลง)

ถ้ามีคน (มักเป็นฝรั่ง) ถามว่าผมเรียนพูดภาษาอังกฤษมาจากใครหรือที่ไหน  ผมจะบอกอย่างชัดเจนว่า  ครูผมคือ Carly Simon (กับ Helen Reddy) 

อย่างไรก็ตาม  ผมไม่ได้ฝักใฝ่ในวัฒนธรรมตะวันตกจนลืมรากเหง้าของตัวเอง  ผมกล้าพูดอย่างเต็มปากได้ว่าผมอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ชัดเจนกว่าคนไทยทั่วไป  ร.เรือ ล.ลิง คำควบกล้ำ  ผมไม่เคยพลาด  ผมจำได้ถึงวิชาอ่านไทยในสมัยเด็ก ๆ ได้ไม่ลืม  เราต้องพูด ‘รอเรือรุ่งริ่ง’ ทุกครั้งก่อนเริ่มเรียน  ไม่ใช่พูดแบบเว้นช่วง ‘รอ – เรือ – รุ่ง – ริ่ง’  แต่ต้องพูดติดกันไปเลยไม่มีผิดจึงจะใช้ได้

ฐานภาษาอังกฤษของผมที่แน่นจากการฟังเพลงมาช่วยในการดูหนังฝรั่งด้วย  แต่มันช่วยได้แค่นิดเดียว 

สมัยที่สื่อทางด้านบันเทิงเกี่ยวกับหนังยังไม่ก้าวหน้า คือยังไม่มี วิดีโอ หรือ ดีวีดี หรือ file หนัง ฯลฯ  สิ่งเดียวที่จะหาหนัง (ฝรั่ง) ดูได้คือเข้าไปดูในโรงฯ  เวลาดูหนังในโรง  เราอาศัยอ่านคำแปลภาษาไทยด้านล่างของจอช่วยสร้างความเข้าใจ  ถ้าไม่มีคำแปลเป็นบื้อ  ต่อให้เราเก่งภาษาอังกฤษแค่ไหนก็ต้องบื้อ เนื่องจากมันไม่ใช่ภาษาของเรา เราไม่มีทางรู้จักภาษาอังกฤษที่ตัวละครพูดทุกคำ

ดูหนังฝรั่งในโรงหนังไม่เหมือนพูดคุยกับฝรั่งตัวเป็น ๆ  การพูดคุยถ้าถึงจุดที่ไม่เข้าใจ  เราสามารถบอก ‘เดี๋ยว ๆ เมื่อกี้แกว่า ‘ไรนะ’ แล้วการ ‘ฉายฉากซ้ำ’ ก็สามารถเกิดขึ้นให้เราเข้าใจได้

แต่ในโรงหนัง  เมื่อถึงฉากที่เรางงกับคำพูด  สมองเราจะหยุดคิดโดยอัตโนมัติเพื่อทบทวนว่าเมื่อกี้มันพูดอะไรหว่า  ในขณะที่สมองเราหยุดคิด  เนื้อเรื่องของหนังไม่ได้หยุดตามไปด้วย  มันยังคงดำเนินเรื่องต่อไป  ซึ่งตอนเราหยุดคิดนั้น  ความลับของเรื่องราวที่เราตั้งตาคอยอาจจะเผยออกไปแล้วโดยไม่รู้ตัว  ผลก็คือดูหนังไม่เข้าใจ

ผมมั่นใจว่าคนไทยที่ไปอยู่เมืองนอก (ไม่ใช่เกิดหรือโตที่เมืองนอก) หาใครเข้าโรงดูหนังได้ยาก  ด้วยเหตุผลอย่างที่บอก

ภายหลังผมมีเพื่อนฝรั่งก็ได้รู้ความลับที่นึกไปไม่ถึงว่า  ไม่ใช่ฝรั่ง (ฉบับภาษาอังกฤษ) ทุกคนที่คุ้นเคยกับการดูหนังในโรงฯ  บางคนก็ไม่ชอบเข้าโรงฯ เพราะพวกเขา ‘ฟังไม่ทัน’  ในขณะที่ของเรา ‘ฟังไม่ออก’

โหมโรงเสียนานจนเกือบลืมว่าจะเล่าอะไร


หนัง Twister (1996) เข้าโรงฯ  หลังจากผมร่อนออกไปเที่ยวอังกฤษแล้ว 1 วัน  จากการตามข่าวใน นส. SP ก่อนหน้านี้  มันเป็นหนังมหันตภัยที่สร้างในยุคใหม่ที่มีเทคนิคเยี่ยมยอดมาก  ผมละอยากดูเนื้อเต้นและภาวนาให้มันเข้ามาฉายหลังจากผมกลับจากไปเที่ยวแล้ว  ซึ่งปรากฏว่าการภาวนาของผมไม่เป็นผล

จากประสบการณ์  หนังฝรั่งที่มาฉายในเมืองไทยจะเริ่มในวันเสาร์  ถ้าหนังธรรมดา ๆ จะอยู่ในโรงฯ ประมาณ 1 อาทิตย์  เสาร์ต่อไปก็จะเป็นเรื่องใหม่ 

ผมไม่รู้ว่าหนัง Twister จะอยู่ในข่ายหนังธรรมดารึเปล่า  ถึงจะไม่ใช่  การที่มันฉายในโรงนาน 2 อาทิตย์  ก็ไม่ได้ประวิงเวลาคอยให้ผมกลับมาดูอยู่ดีเพราะผมไปเที่ยวนานกว่านั้นคือเกินครึ่งเดือน  แล้วแต่จะเจ้าเล่ห์จับแพะชนแกะรวบรวมวันหยุดงาน (ในแบบต่าง ๆ) ได้นานแค่ไหนโดยที่ไม่โดนนายด่า  ไปทั้งทีไปทำไมอาทิตย์เดียว  แค่บินไปบวกบินกลับก็ใช้ไปแล้ว 3 วัน  เหลือวันเที่ยวแค่ 4 วัน  อุตส่าห์ดั้นด้นนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ในเครื่องบินนานตั้ง 10 กว่าชั่วโมง

ฉะนั้นโอกาสที่ผมจะอดดู Twister มีมากเกือบ 100%  ถ้าอดดูในครั้งนี้  เมื่อไรจะได้มีโอกาสดูอีกก็ไม่รู้  ไม่มีใครรู้อนาคตนี่

ดังนั้นระหว่างที่รอนแรมอยู่ที่อังกฤษผมก็กลั้นใจซื้อตั๋วเข้าโรงฯ ไปดูหนังเรื่องนี้เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้

ตอนไปถึงที่นั่นหนังยังไม่มาฉาย  มันมาเข้าตอนอยู่ที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่นครหลวง London  โรงหนังที่นั่นมีขนาดเล็ก  ไม่มีระบบเสริมหรูหราแบบที่โรงเครือเมเจอร์หรือแมคเคนน่าในบ้านเรา  มันเป็นการดูหนังแบบกันไว้ดีกว่าแก้จริง ๆ  คือนอกจากจะฟังไม่ทันเพราะไม่มีบรรยายภาษาใด ๆ ช่วยอันส่งผลให้ไม่มีทางดูหนังเข้าใจแล้ว  ลำโพงในโรงฯ มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับลำโพงทีวี  ลมสลาตัน Twister ดังเหมือนเสียงตด  ลุ้นความเร้าใจไม่ขึ้นเอาเลย  แต่ก็ยังดีกว่าอดดู

ปรากฏในเวลาต่อมาว่า  หลังจากผมกลับมาบ้านแล้ว  หนังยังคงฉายอยู่  แสดงว่ามันไม่ใช่หนังธรรมดาเอาเลย  อยู่ในโรงฯ ตั้งกว่า 20 วัน  ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากกลับมาบ้านอันเป็นวันไปทำงาน  ผมก็ไปเสนอหน้าให้เจ้านายรับทราบว่า หนูกลับมา (กวนตีนนายเหมือนเดิม) แล้วนะจ๊ะ  แค่ครึ่งวันเช้าแล้วลาครึ่งวันบ่ายเพื่อมุ่งหน้าไปดูหนังอีกรอบ  คราวนี้สะใจกับระบบเสียงของโรงฯ บ้านเรามาก  กระหึ่มปึงปังป่าช้าแตก

เนื้อเรื่องของหนังไม่มีอะไรซับซ้อน  หนังหายนะจะมี plot อะไรมากมาย  กลุ่มนักล่าพายุพยายามที่จะติดตั้งอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อใช้ศึกษาธรรมชาติของพายุ Tornado 
 
ในปี 1996 เทคนิคทำฉากพายุเด็ดสะระตี่ทั้ง

เบื้องหลังว่าทำไมเธอ (Helen Hunt นักแสดงนำหญิง) ถึงหันมายึดอาชีพล่าพายุ



พอเข้าเรื่องก็ฉากนี้เลย



ผมว่าฉากนี้ตื่นเต้นที่สุด



ใส่ ‘ดราม่า’ ไปหน่อยให้สมกับความเป็นหนัง













ตัวอย่างหนัง



หมายเหตุ – เทคนิคพิเศษทั้งภาพและเสียงได้เข้าชิง Oscar

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 23 พ.ย. 22, 12:44

เป็นธรรมชาติในวัยแก่ ๆ  ที่จะไม่ชอบดูหนังการ์ตูน  มันพ้นวัยกิ๊บกั๊บไปแล้ว  แต่วันนั้นของปี 2009 ไม่มีอะไรดู  I/UBC ก็เลยเอาหนัง Up มาให้ลองดูฆ่าเวลา

ปรากฏว่าสนุกเกินคาด  นอกจากเนื้อเรื่องจะน่าติดตามแล้ว  ฉากต่าง ๆ มีสีสันสวยงาม  แล้วก็มีฉากตลก ๆ ยิงใส่ผมตลอดเรื่องจนตัวพรุนไปหมด  ภายหลังผมมี web ให้ download หนัง  ผมก็ดูดมาดูอีกครั้งพร้อมกับก็อปปี้ฉากเหล่านั้นเก็บไว้ดูยามว่าง

หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง Carl พ่อหม้ายสูงอายุที่ขี้หงุดหงิดตามประสาคนแก่ (แต่ผมเป็นคนแก่แสนจะน่ารักที่ไม่ขี้หงุดหงิดนะ เพียงแต่ปากจัด)  กับเด็กน้อยนักสำรวจธรรมชาติชื่อ Russell  ทั้ง 2 เจอกันในเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง  แล้วจำเป็นต้องร่วมเดินทางไปด้วยกันยังจุดมุ่งหมายคือที่ดินแดนแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้  การเดินทางเป็นจุดประสงค์ของคุณตาที่จะเติมเต็มสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเมียรักที่ล่วงลับไปก่อนหน้านี้  ระหว่างการเดินทางทั้งคู่ก็ต้องพบปะกับเหตุการณ์ต่างๆ

เรื่องของหนังเริ่มด้วยการย้อนเวลากลับไปก่อนหน้า  ในช่วงเวลาที่ C ยังหนุ่มแน่น  เธอมีอาชีพทำบอลลูน  ต่อมาเธอแต่งงานกับ Ellie ซึ่งเป็นไกด์ในสวนสัตว์  สองผัวเมียมีความฝันอยากย้ายบ้านไปอยู่ในดินแดนหนึ่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้  แต่กว่าความฝันจะเป็นจริง  E ก็ตายเสียก่อน  C เลยตั้งปณิธานไว้ว่าจะทำความฝันนี้ให้เป็นจริง



(บันทึกไว้นานมากจนลืมไปแล้วว่า clip นี้นำเสนออะไร เลยไม่สามารถหาใหม่ได้)


ตอนนี้เหลือ C คนเดียว  อีกทั้งในละแวกก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คุณตาเลยตัดสินใจออกเดินทาง  แต่แล้วคุณตาก็ต้องได้เพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยโดยไม่คาดฝัน  คือเด็กอ้วนนักสำรวจธรรมชาติที่กำลังตามเก็บสะสมเหรียญ ‘จิตอาสา’ ที่เพิ่งถูกคุณตาไล่ตะเพิดไป





การเดินทางมาสิ้นสุดใกล้ที่หมาย  จากนั้น 2 ตาหลานก็ต้องออกเดินทางด้วยเท้าโดยมีบ้านลอยได้พ่วงไปด้วย



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 24 พ.ย. 22, 12:02

UP ต่อ...

ระหว่างนี้ Russell ก็พบเพื่อนเป็นนกพันธุ์ snipe ที่เธอตั้งชื่อว่า Kevin



แล้วก็เจอ Dug หมาติงต๊องที่สามารถพูดได้เพราะมีเครื่องแปลงภาษาหมาเป็นภาษาคนติดอยู่ที่ปลอกคอ



หลังจากนี้คุณตาก็ปวดเศียรเวียนเกล้ากับ 3 เกลอหัวแข็งนี้



Dug ไม่ใช่หมาตัวเดียวที่มีปลอกคอเครื่องแปลงภาษา  ความจริงยังมีหมาอื่นอีกเป็นฝูงที่ล้วนมีเครื่องแปลงภาษาแบบนี้ พวกมันเป็นลูกน้องของนักสำรวจเจ้าเล่ห์ที่พยายามเสาะหานกหายาก (ซึ่งก็คือ Kevin) เพื่อเอาไปขาย  และ Dug ก็เป็นหนึ่งในพวกหมาที่กำลังออกตามล่านกตัวนี้  จ่าฝูงเป็นหมาดุที่สุดแต่เผอิ้ญเผอิญเครื่องแปลงภาษาของมันชอบเสีย  (ก็เลยโคตรจี้)



Dug เป็นหมาแหยแต่จิตใจดี  พรรคพวกหมาที่ล้วนสันดานเฮงซวยก็เลยเกลียดขี้หน้ามัน  ทำให้มันรู้สึกเป็นแกะดำ  เพื่อนใหม่ที่มันพบให้ความรู้สึกอบอุ่นกับมัน  ในที่สุดทีมหรรษาก็โดนจับตัวโดยนักสำรวจจอมละโมบ Charles Munz







แล้ว Kevin ก็โดนจับตัวในที่สุด



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 25 พ.ย. 22, 12:16

Up กันต่อ...

สมาชิกที่เหลือจึงต้องช่วยเหลือ อันนำมาซึ่งความตื่นเต้นและสนุกสนาน



(2.00 – cone of shame ไม่ใช่ coat of shame)


แต่ก็ต้องเสียบ้านที่เต็มไปด้วยความหลังไป



อย่างไรเสีย คุณตาก็ได้ครอบครัวใหม่มาแทน  และ Kevin ซึ่งที่จริงเป็นนกตัวเมียก็มีลูกน่ารัก ๆ



แม้แต่ ending credit ก็น่ารักมาก



เท่าที่สังเกตมาแต่อ้อนแต่ออก  หนังการ์ตูนทุกเรื่อง (โดยเฉพาะจากค่าย Walt Disney) จะมีตัวละครประกอบที่มีบุคลิกเด่น ๆ ทั้งนั้น  นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมจะจับตาดูทุกครั้งที่ดูหนังการ์ตูน  ในเรื่องนี้ตัวขโมยซีนคือ เจ้า Dug หมาติงต๊อง  ผลจากที่หนังออกฉาย  Dug ดังมาก  ผู้สร้างจึงต้องทำตอนพิเศษเป็นการอธิบายว่าไปอย่างไรมาอย่างไร  มันถึงมาเจอคุณตากับพรรคพวก



เป็นหนังการ์ตูนที่น่ารักที่สุดที่เคยดูมา  สีสันสดใสกลิ่นหอมชื่นใจ  ผมสรรเสริญคนสร้างคนออกความคิดให้กับตัวละคร  พวกเขาต้องมีจินตนาการที่ล้ำลึกมาก  มีฉากหนึ่งที่ผมติดใจในมุขคือ ฉากกบมาร้องโอ๊บ ๆ ข้าง ๆ คุณตาในตอนเช้า  ทำให้คุณตาตื่นนอนแล้วเผลอคิดไปว่าเป็นเสียงนาฬิกาปลุก  ก็เลยกดปิด  ไอเดียแบบนี้คิดได้ไงอ้ะ

(ผมทึ่งมากที่มีคนทำ clips ย่อย ๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มากมาย  นึกถึงฉากไหนเป็นหาได้หมด  ขณะที่บางเรื่องหาไม่มีเลย)

หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Oscar หลายรางวัลรวมถึงหนังยอดเยี่ยม  ทั้งยอดเยี่ยมแบบปกติ และยอดเยี่ยมประเภทหนังการ์ตูน  ซึ่งชนะในประเภทหลัง

ใครยังไม่เคยดู  ต้องหามาดูเสียแล้ว

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 28 พ.ย. 22, 12:35

ตอนหนัง Flashdance มาฉายในเมืองไทยในปี 1983  คนแห่ไปดูกันล้นหลามด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือ ไปดู Jennifer Beals ในมาดเท่  หนังดังถล่มทลายรวมไปถึงเพลงเอกของเรื่องคือ Flashdance... What a feeling  วิทยุบ้านเรากระหน่ำเปิดจนหูแทบหนวก  ส่วนผมต้องวิ่งแจ้นไปซื้อแผ่นเสียงมาเปิดฟังให้บ่อยจนหนำใจ  

ในบ้านเขาความดังไม่ได้มีแค่ 2 หัวข้อนี้  แต่ยังมีหัวข้อที่ 3  ซึ่งก็คือนักร้องผู้ร้องเพลงนี้  เธอชื่อ Irene Cara สาวผิวสีลูกผสมระหว่าง Puerto Rico กับ Cuba  ปีนั้นเป็นปีทองของเธอเพราะเพลงนี้ได้รับเลือกเข้าไปร่วมแข่งขันชิง Oscar สาขาเพลงประกอบหนังยอดเยี่ยม  และคว้ารางวัลมาได้  ในฐานะที่ IC เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแต่งเนื้อร้องเธอจึงได้ Oscar 1 ตัว อันเป็นรางวัลสูงสุดของวงการบันเทิงเอากลับไปลูบคลำที่บ้าน (ก่อนหน้านี้เธอก็คว้ารางวัลลูกโลกทองคำและ Grammy จากเพลงนี้มาแล้ว  เข้าทำนอง ยิงปืนนัดเดียวได้นกบานตะไท)

แต่ที่บ้านเราชื่อ IC นี้หานักฟังเพลงฝรั่งรู้จักน้อยมาก  เพราะพวกเราสนใจตัวเพลงมากกว่านักร้อง  ความจริงความดังของเธอเริ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว  คือในปี 1980  มีหนังเพลงออกฉายชื่อ Fame เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของนักเรียนศิลปะในโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านชนชั้นแรงงาน  IC มีบทเล่นนิดหน่อยในหนังเรื่องนี้คืออยู่ในกลุ่มนักเต้น  ระหว่างการถ่ายทำปรากฏว่ามีคนค้นพบว่าเธอมีเสียงร้องที่เพราะมาก  ผู้สร้างก็เลยแก้ไขบทของเธอใหม่ให้เธอมีบทพูดรวมทั้งร้องเพลงประกอบหนังด้วย

เพลง Fame นี้ดังไม่น้อยที่บ้านเขา  ที่บ้านเรามีสถานีวิทยุเอามาเปิดบ้างประปราย  ช่วงนั้นยังอยู่ในฤดู disco  เพลงนี้จึงได้ยินบ่อยกว่าใน ‘เทค และบาร์ดิสโก้  แต่ตัวหนังนั้นผมจำไม่ได้ว่ามาเข้าโรงฯ รึเปล่า  ผมได้ดูทาง I/UBC ในเวลานานต่อมา

(แหม... ขาขยับทันที)


ในเรื่อง Fame นี้ IC ได้ร้องอยู่หลายเพลง  เพลงเด่นอีกเพลงเป็นเพลงช้า  เป็นหนึ่งในเพลงโปรดของผม  เธอโชว์พลังเสียงเต็มที่  เครื่องดนตรีบอกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องเอาพวกข้ามาเล่นเล้ย



ทั้ง 2 เพลงในหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิง Oscar ในปีนั้น  และได้ทำสถิติที่เป็นครั้งแรกที่มีเพลงได้เข้าชิง Oscar 2 เพลงมาจากเสียงนักร้องคนเดียวกัน  สถิติส่วนตัวของ IC คือได้มีโอกาสขึ้นเวที (Oscar) เพื่อร้องเพลง (สำหรับการเข้าประกวด) ถึง 2 ครั้งในคืนนั้น

ตัวอย่างหนัง Fame



หมายเหตุ – ในหนังเรื่องนี้มีอีกเพลงที่ผมว่าเพราะมาก ๆ




(ภาพรวบรวมจากคลังภาพของ 'อากู๋'  ของผมขายไปแล้วพร้อม ๆ กับแผ่น soundtrack หนัง Flashdance)





แล้วก็เกิดควันหลง...





บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 30 พ.ย. 22, 12:36

ควันหลงจากหนังเรื่อง Fame…

คราวที่แล้วเล่าว่าเพลงจากหนังเรื่องนี้ได้เข้าไปชิง Oscar เพลงประกอบหนังยอดเยี่ยมถึง 2 เพลง   ลืมบอกไปว่า  ผลออกมา  หนึ่งในนั้นสามารถคว้ามาได้ด้วยคือเพลง Fame  แต่รางวัลไม่ได้ไปถึงมือของ Irene Cara  เหมือนเพลง Flashdance ฯ  ด้วยเหตุผลว่าเธอไม่ได้ร่วมในการแต่งเนื้อร้องหรือทำนองเพลง  แค่ร้องให้เฉย ๆ

ส่วนอีกเพลงคือ Out here on my own  ซึ่งพลาดรางวัลไปนั้น  แต่งเนื้อร้องและทำนองโดยคู่พี่น้อง Michael และ Lesley Gore

ควันหลงที่อยากเล่าอยู่ตรงนี้

LG เป็นนักร้องในยุคกลาง 60s  ในวัยเพียง 16 ขวบ เธอประเดิมอาชีพนักร้องด้วยเพลงดังสนั่นอเมริกาในปี 1963 ชื่อเพลง It’s my party
(เธอเกิดปี 1946  อ่อนกว่า Helen Reddy, Carly Simon  และเท่ากับ Linda Ronstadt  แต่ความที่เธอดังเร็วกว่า  เลยกลายเป็นนักร้องในยุค 60s  ขณะที่ HR (เกิด 1941)  CS (เกิด 1943)  เกิดก่อนแต่ดังช้ากว่าจึงกลายเป็นนักร้องในยุค 70s  ซึ่ง 2 ยุคนี้มีแนวเพลงต่างกัน  ส่วน LR เกิดปีเดียวกันแต่ดังทีหลังก็เลยกลายเป็นนักร้องในยุค 70s เช่นกัน)

ความดังของเพลง It's ฯ นี้นอกจากทำนองติดหูแล้ว เนื้อร้องยังน่าสนุก แถมน้ำเสียงของเธอก็ไปกันได้ดี  เนื้อเพลงกล่าวถึงสาวน้อย Lesley (ในเนื้อไม่ได้บอกว่าชื่ออะไรก็เลยเหมาเอาว่าคือคนร้องนั่นแหละ) ที่โดนแฟนหนุ่ม Johnny และเพื่อนสาวคนสนิท Judy พร้อมใจกันหักหลังด้วยการแอบไปคั่วกันเอง  หนำซ้ำยังมาหยามหน้าในงานวันเกิดของเธอ

เนื้อเพลงน้ำเน่าแบบนี้ทำให้วัยรุ่นวุ่นรักโดยเฉพาะสาว ๆ กรี๊ดกันสลบ  ส่งผลให้ยอดขายพุ่งหน้าตั้งไปติดอันดับหนึ่งของตารางเพลง billboard  และค้างอยู่นานถึง 2 สัปดาห์ซึ่งในยุคนั้นหานักร้องหญิงทำสถิติแบบนี้ได้ยาก

กระแสรุนแรงแบบนี้ทำให้ บ. แผ่นเสียงต้นสังกัด  ใช้กลยุทธ์น้ำขึ้นให้รีบตัก  ไม่รอช้าที่จะจับเธอมาร้องเพลงที่ 2  ออกสู่ตลาดตามมาติด ๆ ภายในช่วงเวลาห่างกันเพียง 2 เดือน

เนื้อเพลงของเพลง Judy’s turn to cry นี้เป็นตอนต่อจากเพลงแรก  กล่าวถึงในที่สุด Johnny แฟนหนุ่มของเธอก็กลับใจแล้วทิ้งโค้งวกกลับมาหาเธอ (ด้วยสาเหตุอะไรต้องฟังเพลงเอา) เป็นชัยชนะเหนือนัง Judy  เพื่อนจอมหักหลัง  (เป็นผมละก็ขอตบไอ้ ‘หน้าหม้อ’ Johnny ซัก 40 ทีก่อนแล้วค่อยให้อภัย)

เพลงที่ 2 นี้ดังตามคาดแม้จะไม่ถล่มหูเท่าเพลงแรก  อย่างไรก็ตาม 2 เพลงดังกล่าวความที่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาต่อเนื่องกันเหมือนหนังชุดทางทีวี และออกอากาศในเวลาไล่หลังกัน  เหล่าดีเจวิทยุจึงสนุกกับการเปิดเพลงทั้งสองติดต่อกันไป

นี่คือเรื่องราวความรักของสาวน้อย Lesley ที่ชาวอเมริกันล้วนได้ยินมานมนาน

ในปี 1986 เพื่อนผมคนหนึ่งซื้อแผ่น Lesley Gore, the Anthology มาให้  ผมดีใจจนเนื้อเต้น  ที่ถึงกับเนื้อเต้นเพราะเธอไม่เอาตังค์  ถ้ามาคิดตังค์ทีหลัง  ผมคงต้องเปลี่ยนจาก ดีใจจนเนื้อเต้น เป็น ดีใจมาก

แผ่นเสียงชุดนี้ทำออกมาในโอกาสพิเศษเพราะปี 1986 มันหมดยุคของเธอไปแล้ว  เป็นแผ่นคู่  คือมี 2 แผ่นเสียงอยู่ในซอง  ซึ่งหมายความว่าซองเป็นแบบ gatefold  คือเปิดกางได้  ชื่อแผ่นถ้าแปลแบบกันเองก็คือแผ่นรวมเพลง singles ของเธอนั่นเอง
 



หน้ากลางเมื่อเปิดกางออกมานอกจากมีรูปของนักร้องแล้วยังมีตัวหนังสือยุ่บยั่บ  ผมลงมืออ่านโดยยังไม่ต้องฟังเพลง  ตัวหนังสือเล่าความเป็นมาของเพลง singles ต่าง ๆ ที่ LG ร้องเริ่มตั้งแต่เพลงแรกคือ It’s ฯ และเพลงที่สองคือ Judy’s ฯ ความเป็นมาของทั้ง 2 เพลงนี้ก็รู้ ๆ กันอยู่แล้ว  แต่พอมาเพลงที่ 3 นี่ซิ  ผมอ่านอย่างขะมักเขม้น  ข้อมูลบอกว่า เนื้อเพลงของเพลงที่ 3 นี้คือส่วนที่หายไปอันเป็นตอนกลางของเรื่องความรักของหนู Lesley
  
เนื้อของเพลงเริ่มต้นหลังจาก Johnny แฟนหนุ่มหน้าหม้อทรยศไปหลงระเริงกับเพื่อนซี้ Judy  ทำให้หนู Lesley อกหักดังเป๊าะ  ต้องไปนั่งคร่ำครวญหวนไห้ฟาดงวงฟาดงากับดวงดาวบนท้องฟ้า  ความจริงนี่ลำดับของเพลงนี้ต้องเป็นเพลงที่ 2  แล้วจึงตามมาด้วยเพลง Judy’s ฯ เป็นเพลงที่ 3  อันเป็นตอนจบแบบ happy ending   แต่ทำไม บ.แผ่นเสียงถึงปล่อยออกมาเป็น single แค่ 2 ตอนจบก็ไม่รู้
  
สรุปแล้วมาฟังชีวิตรัก (เน่า ๆ) ที่ครบชุดของหนู Lesley กัน

เพลงแรก It’s my party



เพลงที่สอง Just let me cry นี้เป็นเพลงเดียวของ LG ที่วิทยุบ้านเราเอามาเปิด  และกระหน่ำเปิดจนนักฟังเพลงฝรั่งร่วมยุครู้จักเป็นอย่างดี  ในขณะที่บ้านเขาไม่เคยได้ยินเพราะมันไม่ใช่ single  ดีเจวิทยุจึงไม่มีสิทธิเปิดออกอากาศ  ส่วน 2 singles นั่นผมไม่เคยได้ยินในยุคของมัน  ไม่รู้มีใครเคยได้ยินบ้าง  ที่ผมไม่เคยได้ยินอาจเป็นเพราะยังเด็ก  ยังไม่รู้จักการหมุนปุ่มหาคลื่นบนหน้าปัดวิทยุ  แต่เพลง Just ฯ นี้ฮิตมายาวนานหลายปี  ตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งผมโตอยู่ ม. ต้นแล้วก็ยังคงได้ยินอยู่ประปราย  มันกลายเป็นอีกหนึ่งเพลงโปรดตลอดกาลของผม

ตอนที่เพื่อนซื้อแผ่นฯ มาให้ผมถึงดีใจจนเนื้อเต้น เพราะผมมีเพลงนี้ของเธอแต่อยู่ใน cassette tape  เพลง It’s ฯ นั้นเคยได้เห็นเพียงชื่อกับรู้ความดังของมัน ไม่เคยได้ยินตัวเพลง  ส่วนเพลง Judy's ฯ นี่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำนองเพลง Just ฯ นี้ผมว่าเพราะไม่แพ้ 2 เพลง singles นั้นเลย  



และจบด้วยเพลงที่ 3 คือ Judy’s turn to cry






Fun fact คือ ในเนื้อเพลง  หนู Lesley เป็นสาวน้อยถวิลรัก  แต่ LG สาวน้อยคนร้องเป็น lesbian จากการสัมภาษณ์เธอเล่าว่ารู้สึกชอบผู้หญิงมาตั้งแต่ก่อนอายุ 20 โน่น  วงการมายานี่สนุกจริง ๆ
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 02 ธ.ค. 22, 12:47

วันนี้สั้นมาก  มีคนเตรียมงานไว้ให้แล้ว

Spotlight (2015)


(ขอบคุณ คุณแมวเล่าหนัง)


เรื่องนี้ได้เข้าชิง Oscar 6 รางวัล  ได้มา 2 คือหนังยอดเยี่ยม และบทภาพยนต์ยอดเยี่ยม  มิน่าถึงเป็นหนังที่สนุกมาก  น่าติดตามตลอดเรื่อง  ไม่มีฉากเด่นที่จะนำเสนอเพราะไม่ใช่หนังตื่นเต้น แฟนตาซี อะไรทำนองนั้น  

ผมมีเพื่อนฝรั่งอยู่ Boston  หลังจากดูหนังเรื่องนี้ก็เขียนไปถามไถ่  ได้ความว่า เป็นเหตุการณ์ที่ฉาวโฉ่มาก  เรียกได้ว่าเป็น talk of the town ในช่วงนั้น  เธอว่าหนังเรื่องนี้สรุปเรื่องคาวนี้ได้ครบถ้วนมาก  

ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 06 ธ.ค. 22, 12:00

Annihilation (2018)


(ขอบคุณ คุณ Caracat)


3.36



4.14



6.42



6.50



8.10



9.10



ฉากนี้น่ากลัวที่สุด  ลืมหายใจไปเลย  ... หมีกลายพันธุ์  เมื่อมันทำร้ายนักสำรวจคนหนึ่ง  gene ของเธอกับความรู้สึกสุดท้ายเข้าไปผสมในตัวหมีกลายพันธุ์  เสียงร้องของมันจึงจำลองเสียงร้องขอความช่วยเหลือ (ฟังดี ๆ) ของนักสำรวจที่โดนมันทำร้าย  สยองขวัญไม่น้อย


10.34



10.58





13.40



ผมว่าเป็นหนังที่ให้บรรยากาศหดหู่และน่ากลัวไม่น้อย  ถ้าได้ดูในโรงฯ คงตื่นตากับเทคนิคทั้งด้านภาพและเสียง  เหล่านักวิจารณ์ล้วนสรรเสริญในความคิดสร้างสรรค์  แต่คนดูเห็นต่าง  ผลคือหนังเจ๊ง


ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 09 ธ.ค. 22, 12:06

เพิ่งได้ความรู้ใหม่เอี่ยมว่า 'จาร ชอบ fairy creatures  

เคยดูหนังเรื่องนี้มั้ยครับ

The spiderwick chronicles (2008)

(ขอบคุณ คุณ CiniM_Anime)

2.22



4.00



5.05



6.07



10.44



12.30





13.16





ตอนจบ



ตัวอย่างหนัง



เป็นหนัง fantasy ที่เติมเต็มจินตนาการให้กับ ‘เด็กชายโหน่งโฉ่งโกร่ง’ อีกเรื่องหนึ่ง  ถึงขนาดไปควานหาหนังสือมาอ่านรายละเอียดต่อให้จุใจ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 09 ธ.ค. 22, 12:38

ชอบ fairies  ขนาดลูกซื้อหนังสือของ Cicely Mary Barker มาให้ทั้งเล่มเลยค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 09 ธ.ค. 22, 12:42

เพิ่งได้ความรู้ใหม่เอี่ยมว่า 'จาร ชอบ fairy creatures  

ไม่เคยดู  The spiderwick chronicles ค่ะ เคยดูแต่เรื่องนี้





บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 09 ธ.ค. 22, 13:20

ชอบ fairies  ขนาดลูกซื้อหนังสือของ Cicely Mary Barker มาให้ทั้งเล่มเลยค่ะ

อุ๊ย... ตื่นเต้นมาก  มีเหมือนกันครับ



โหน่งสะสมหนังสือประเภทนี้ไว้เยอะแยะ  แต่เล่มนี้ 'เจ๋ง' ที่สุด  ไม่รู้ว่าหนังสือประเภทนี้มีชื่อเรียกเฉพาะรึเปล่า  แต่สนุกมาก  แต่ละหน้ามีสิ่งละอันพันละน้อยให้อ่านครับ


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 09 ธ.ค. 22, 13:22

เพิ่งได้ความรู้ใหม่เอี่ยมว่า 'จาร ชอบ fairy creatures  

ไม่เคยดู  The spiderwick chronicles ค่ะ เคยดูแต่เรื่องนี้







เรื่องนี้ที่สุดของที่สุดครับ  ฉากท้ายเรื่องทำได้เยี่ยมมาก  เอาไปคิดฝันเลยว่าอยากเจอบ้าง
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 14 ธ.ค. 22, 12:37

ผมเป็นคนสุดท้อง  เป็นคนเล็กในครอบครัวใหญ่ในบ้านหลังใหญ่ของคุณตาคุณยาย  บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้โบราณ  บ้านลักษณะนี้มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับเด็กตัวกะเปี๊ยกเช่นผม  คือเหมือนบ้านผีสิง  ดังนั้นความสามารถพิเศษของผมคือการสร้างจินตนาการได้ไม่มีขอบเขต  แม่เรียกผมว่า เด็กเพ้อพก

ตัวช่วยที่ทำให้ผมมีความสามารถดังกล่าวนอกจากโดน ‘ผู้ปกครอง’ ในระดับต่าง ๆ หลอกแล้ว  แหล่งบันเทิงต่าง ๆ ก็มีส่วน
  
ตอนเด็ก ๆ ผมคุ้นเคยกับแหล่งบันเทิงที่โอนเอียงไปทางตะวันตก  คือชอบดูหนังฝรั่ง  อ่านการ์ตูน (แปลจากการ์ตูนฝรั่ง)  นิทานที่ผมอ่านเป็นบ้าเป็นหลังคือชุด นิทานกริมม์ และนิทานแอนเดอร์สัน  ที่แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์


(นิทานกริมม์ 2 เล่มบรรลัยไปหมดแล้ว  แม่ทันคว้านิทานแอนเดอร์สันมาเข้าตู้ได้ทัน)


ผมชอบนิทานกริมม์มากกว่า  เพราะสั้นและเข้าใจง่ายกว่า  เรื่องที่ประทับใจจนถึงบัดนี้คือเรื่อง 12 เจ้าหญิงเริงเต้นรำ  เป็นเรื่องของเจ้าหญิงพี่น้อง 12 คนที่ชอบแอบหนีพ่อพระราชาออกไปเต้นรำในเมืองใต้ดิน  ประตูสู่เมืองใต้ดินอยู่ใต้เตียงของเจ้าหญิงองค์หนึ่ง
 
อ่านจบแล้วผม ‘อิน’ กับมันเหมือนเป็นเรื่องจริง  ช่วงนั้นผมพยายามเคาะพื้นบ้านเพื่อหาว่าบ้านผม (บ้านคุณตาคุณยายน่ะ) มีประตูไปสู่เมืองใต้ดินหรือไม่  

นี่คือตัวอย่างที่หล่อหลอมให้จินตนาการของผมมีแนวโอนเอียงไปทางวัฒนธรรมตะวันตก  พอโตขึ้นผมก็ชอบหานิยายเกี่ยวกับแฟนตาซีอ่าน  ตอนนั้นโตก็จริงแต่ก็ยังด้อยประสบการณ์  พูดอ่านฟังเป็นแต่ภาษาไทย  หนังสือไทยเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ไม่มีเพราะมันไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา  ต้องอาศัยหนังสือที่เป็นเรื่องแปลมาจากต้นฉบับเมืองนอก
 
จากประสบการณ์พบว่าหนังสือแปลแนวนี้มีออกมาน้อยมาก  concept มันเข้าไม่ถึงคนไทยรึไงก็ไม่รู้  สรุปแล้วถ้าเป็นอาหาร  ผมก็มีความอดอยาก

วันหนึ่งในเวลาต่อมา  ตอนนั้นผมเริ่มทำงานได้ซักปีสองปี  ไปเดินเล่นที่ห้าง Central สีลม ห้างโปรดตลอดกาล  นอกจากไปขลุกอยู่กับแผนกแผ่นเสียงแล้ว  แผนกหนังสือก็เป็นอีกแห่งที่จะเห็นผมป้วนเปี้ยนไปมาอยู่เป็นชั่วโมง
 
วันนั้นขณะพลิกดูหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้ (แต่ไม่ซื้อ  แพงจะตายไป)  เศษกระดาษแผ่นหนึ่งก็ร่วงออกมา  เมื่อก้มลงเก็บขึ้นมาดูก็พบว่ามันเป็นแผ่นโฆษณาที่แนบมาในหนังสือ (อ้อ... ลืมบอกว่าเป็นหนังสือพวก magazine น่ะ  ที่ห้างจะเปิดไว้ให้หยิบดูชื่อละเล่ม)  

ผมเห็นแล้วอยากได้  ทำไงดี  ก็เลยเดินไปหาคนขาย  บอกตรง ๆ ว่า ไอ้แผ่นนี้มันร่วงลงมา  ผมอยากได้แต่ไม่อยากซื้อหนังสือทั้งเล่ม

คนขายน่ารัก  เธอหยิบมาพลิกดูแล้วบอกว่า ‘เอาไปเถอะค่ะ แผ่นโฆษณาไม่มีประโยชน์อะไร’

ผมขอบคุณตามที่ได้รับการอบรมมาจากครอบครัว เมื่อมาถึงบ้านก็เอามาอ่าน  มันเป็นโฆษณาเชิญชวนสมัครเป็นสมาชิกชมรม Science fiction book club  แหม... พอแปลออกมาได้แบบนี้หัวใจเต้นโครมคราม  ในแผ่นมีช่องให้กรอกชื่อที่อยู่แล้วส่งกลับไปเพื่อแลกกับ catalogue

ผมทำตามโดยไม่รอช้า  สมัยนั้นเพิ่งเข้ายุค 80s หมาด ๆ  อตน. ยังไม่เกิดที่เมืองไทย  การสื่อสารกับต่างประเทศที่สะดวกที่สุดก็คือจดหมาย

ผมกรอกข้อความเสร็จก็ใส่ซองจดหมาย (ถ้าอยู่บ้านเค้า (อเมริกา) ก็ติดแสตมป์แล้วเอาไปหยอดตู้ ปณ. ได้เลย) แล้วเดินไปส่งที่ไปรษณีย์  มีการชั่งน้ำหนักเพื่อคิดค่าส่งตามขั้นตอน  จากนั้นกลับมาคอยว่า  โชคของผมจะไปได้ไกลแค่ไหน

อีกราวเดือนกว่าก็มีซองใส่เอกสารมาถึงผม มันมาจาก ชมรมฯ นั่นเอง  แกะดูก็พบจดหมายขอบคุณที่เป็นสมาชิก ฯลฯ  แล้วก็มี catalogue หนังสือเสนอขายของชมรม  ในราคาพิเศษ  เป็นหนังสือแนวแฟนตาซีทั้งนั้น  ทั้งแบบเวทมนตร์ในยุคโบราณ หรือแบบผจญภัยในอวกาศ  ล้วนอยู่ในแขนงเดียวกันนี้

ที่แนบมาในซองอีกก็คือใบสั่งซื้อ  มีแสตมป์พิมพ์เป็นรูปหน้าปกของหนังสือพวกที่เสนอขายนั้น  เวลาจะสั่งก็ฉีกแสตมป์ที่มีรูปหน้าปกหนังสือเล่มที่เราต้องการ  แล้วแปะลงในช่องว่างของกระดาษใบสั่ง (ผมหา ตย. ไม่เจอ  แบบว่าย้ายบ้านมาหลายหน  มันไม่หายหรอกเพราะผมเป็นผีสมบัติ  แต่ไม่รู้เอาไปแนบไว้ที่ไหน  เสียดาย  อดอวดเลย)

เป็นกรรมวิธีที่น่าทึ่งและสนุกมาก  ผมผู้ชอบการผจญภัยก็ดำเนินการทันที จำได้ว่าครั้งแรกลองสั่งไป 2-3 เล่ม ๆ ละประมาณ 5-6 เหรียญ  ล้วนเป็นแนวโปรดคือเวทมนตร์พ่อมดแม่มด ลองสั่งดูก่อนไม่รู้ว่าได้หนังสือมาแล้วจะถูกใจหรืออ่านออกได้มากน้อยแค่ไหน

ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยก็รวบรวมเงินที่ต้องจ่าย  ต้องบวกค่าส่งด้วย  ซึ่งประเทศไทยแลนด์ของเราอยู่ในหมวด overseas  จากนั้น (หลังจากถามชาวบ้านที่มีประสบการณ์) ก็เดินไปธนาคารเพื่อสั่งซื้อ draft ตามจำนวนเงิน  เสร็จแล้วก็ไป ปณ. เพื่อส่งจดหมายซึ่งคราวนี้เป็นแบบลงทะเบียนกันหาย… แพงชะมัด

จากนั้นก็กลับมาคอยด้วยใจเต้นตุ๋ม ๆ ต่อม ๆ ว่า  จะออกหัวออกก้อยละหว่า  เงินกูจ่ายไปแล้วตั้งเยอะ  จะเจอสิบแปดมงกุฎมั้ยหนอ

มีต่อ... (ยังไม่มี clip เพราะยังฝอยไม่จบ)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.137 วินาที กับ 20 คำสั่ง