กลับมาที่ควันหลงจากหนังเรื่องนี้... ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องของหนัง แต่เกี่ยวกับชื่อหนัง
ชื่อหนัง Tea and sympathy นี้ฟังแล้วคลาสสิกมาก ผมเคยได้ยินสำนวนนี้มานานแล้วตั้งแต่ต้นยุค 70s โน่น
ในปี 1975 ที่อเมริกามีนักร้องหญิงชื่อ Janis Ian ออกเพลงที่ดังมาก เป็นเพลงแนวเบา ๆ ใส ๆ ชื่อ At seventeen วิทยุบ้านเราเปิดเพลงนี้ประปราย (ไม่งั้นผมคงไม่เคยได้ยิน)
พอเพลงดัง (สามารถคว้าแผ่นฯ ทองคำได้) เธอก็ออก album ตามมามีชื่อว่า Between the Lines (อันดับ 1 billboard เลยละ) ผมก็แจ้นไปซื้อมาฟังว่าเพลงอื่น ๆ ของเธอเป็นอย่างไรบ้าง ผลคือเพลงเพราะถูกหูมากหลายเพลง (จะบอกว่าเพราะทุกเพลงไม่ได้ มันต้องมีบ้างที่ไม่ถูกหู คน (ฝรั่ง) เคยบอกว่าซื้อ album มาฟัง 1 แผ่น ถ้ามีเพลงถูกหู 3-4 เพลง (จากจำนวนมาตรฐาน 10 เพลงใน 1 แผ่น) ก็คุ้มแล้ว)

(จากคลังภาพของอากู๋ ฉบับส่วนตัวขายไปแล้ว)
ในบรรดาเพลงในแผ่นของ JI นี้มีอยู่เพลงหนึ่งชื่อ Tea and sympathy ทำนองเนิบนาบอ้อยสร้อย ฟังครั้งแรกหาวทันที แต่พอได้มาฟังซ้ำอีก 2-3 ครั้ง แหม... มันเพราะจัง นั่นแสดงว่าเพลง ๆ หนึ่งถ้าฟังบ่อยครั้งขึ้นจะเริ่มคุ้นหู จากนั้นสมองจะตัดสินใจว่าเพราะหรือไม่
พอเริ่มเพราะหูก็อยากเข้าใจเนื้อร้อง ก็หยิบซองใน (inner sleeve) ที่มีเนื้อร้องพิมพ์อยู่ (ไม่เสมอไปสำหรับทุกแผ่นฯ) ออกมาอ่านไปฟังไป ตอนนั้นอายุยังไม่ถึง 20 อย่าว่าแต่ความรู้ภาษาอังกฤษเลย ความรู้ภาษาไทยยังไม่ค่อยจะแตก เป็นอันว่าไม่เข้าใจว่าในเพลงนี้ JI เธอต้องการสื่ออะไร
เปลี่ยนฉาก... เคยเปรยไปบ้างแล้วว่าที่บ้านผมรับนิตยสารมากมาย หนึ่งในนั้นคือนิตยสารสตรีสาร ก่อนที่นิตยสารฯ จะเพิ่มหน้า ‘ภาคพิเศษ’ อันเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่ผมติดตามประจำ มี 3 คอลัมน์ที่ผมชอบอ่านที่สุด คือคอลัมน์เรื่องเขียนชุด ‘คลังคนใช้’ ของ พรพรหม อนันต์ (ชื่อคนเขียนนี้ถามอากู๋ ผมจำไม่ได้) จำเอกลักษณ์ได้แม่นว่าชื่อตอนจะคล้องจองกับตอนต่อไป อีกคอลัมน์คือนิทานนานาชาติ แปลโดย บรรจบ พันธุเมธา (ข้อมูลนี้จำได้)
ส่วนคอลัมน์ที่ 3 ที่ชอบอ่านคือ เรียนภาษาอังกฤษจากเพลง ผมจำชื่อเจ้าของคอลัมน์ไม่ได้แม่นแล้ว รู้สึกจะ ‘จ.ย.ส.’ แต่มารู้ในเวลาต่อมาอีกนานว่าคือ ศจ. คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร เป็นแฟนคอลัมน์นี้เพราะเพลงฝรั่ง ฉบับไหนลงเพลงที่ผมรู้จักก็อ่าน ถ้าไม่รู้จักก็ผ่าน
พอนึกถึงคอลัมน์นี้ได้ ผมก็คว้ากระดาษและปากกามาเขียนจดหมายถึงเจ้าของคอลัมน์พร้อมทั้งลอกเนื้อเพลง T&S ที่ยาวยืดส่งไปถามความหมาย (นึกขึ้นมาได้ว่าในสมัยผม เราเรียนวิชา ‘จดหมาย’ ‘เรียงความ’ แล้วก็ ‘ย่อความ’ หลักสูตรเหล่านี้คงสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว)
เวลาผ่านไปหวือ... หวือ... วันหนึ่งกลับจากโรงเรียน แม่ก็ทักว่าเขียนจดหมายไปถามความหมายเพลงที่สตรีสารเหรอ แหม... พอได้ยินแล้วก็ตื่นเต้น รีบคว้าหนังสือมาเปิดอ่าน จำได้คร่าว ๆ ว่าเจ้าของคอลัมน์เกริ่นว่าได้รับ จม. ถามเนื้อเพลงแล้วลงชื่อ-นามสกุลของผม (แม่ถึงรู้ว่าเป็นไอ้ตัววุ่นวายนี่เอง แสดงว่าแม่อ่านแหลกเพราะแม่ไม่ใช่คนฟังเพลง) บอกว่าดูจากลายมือเป็นของเด็กแต่ทำไมฟังเพลงที่มีเนื้อหาเป็นของผู้ใหญ่
จากนั้นเธอก็อธิบายเนื้อเพลง เธอไม่ได้แปลประโยคต่อประโยคแต่แปลความหมายของแต่ละย่อหน้า มีการเน้นบางประโยคบางสำนวน เช่น ชื่อเพลง ที่เธอคิดว่าน่าศึกษา แล้วสรุปรวมว่าเนื้อเพลงหมายถึงอะไรได้ชัดเจนมาก
ผมว่า ความสามารถในด้านการให้ความรู้ สำหรับคนก่อนยุค อตน. นี่ถ้าเป็นคนเก่งจะเก่งจริง ๆ เพราะไม่มีการ ‘จิ้มแล้วปัด หรือ จิ้มแล้วคลิก’ แล้วลอกข้อมูล มีแต่ ‘พลิกไปพลิกมา’ เพื่อหาข้อมูลเอามาประกอบการอธิบาย พอเข้ายุค อตน. นิยามของความเก่งเปลี่ยนเป็น ใครหาข้อมูลได้เร็วกว่าหรือแม่นยำกว่า
สรุปแล้ว ขอบคุณ จ.ย.ส. ที่อธิบายให้ผมเข้าใจความหมายของสำนวนว่า Tea and Sympathy
มีต่อ...