เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 18510 ฉากประทับใจในหนังเก่า (4)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 24 ส.ค. 22, 15:49

นึกถึงนักร้องขวัญใจอเมริกันชนอีก 2 คนที่จากไปเพราะอุบัติเหตุเครื่องบิน คือ Rick Nelson กับ John Denver
แต่ไม่มีหนังประกอบ   เลยเล่าให้ฟังเฉยๆ  ไม่ลงรายละเอียดในกระทู้นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 25 ส.ค. 22, 13:22

ควันหลงมาจากหนัง (จะแยกไปเขียนก็จะให้อารมณ์ที่ไม่ปะติดปะต่อ)...


โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับนักร้องดังทั้ง 3 คนในหนังเรื่อง La Bamba  นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งในหายนะร้ายแรงที่สุดของวงการเพลงอเมริกัน

เรื่องนี้กลายเป็นตำนานเมื่อศิลปินโนเนมชื่อ Don Mclean นำเอาความรู้สึกของตนที่มีต่อการตายของพวกเขามาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในเพลงอมตะเพลงหนึ่งของโลกคือ American Pie (1971 – เนื้อเพลงแนวอุปมาอุปมัยยอดเยี่ยมมาก)  เธอใช้สำนวนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘The Day the Music Died (The Day the Music Died is a line from the 1971 song American Pie by Don McLean, referring to a 1959 plane crash in which musicians Buddy Holly, Ritchie Valens, and The Big Bopper died - Wikiฯ’)  เป็นสำนวนที่ต่อมาเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกว่าหมายถึงใครบ้าง

ในเนื้อเพลงที่มีความยาวถึง 8.42 นาทีนี้ DM เขียนพาดพิงถึงเรื่องราวและบุคคลต่าง ๆ อีกมากมาย  แต่เขาไม่ได้เอ่ยชื่ออย่างตรง ๆ  จึงทำให้มีผู้คนหลากหลายต่างพยายามแกะปริศนาในเนื้อเพลงว่าหมายถึงใครหรือเหตุการณ์อะไรบ้าง  แต่ความหมายของ The day the music died นี้  DM เป็นคนเฉลยเอง


 
เนื่องจากเพลงยาวมาก  เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า  ตอน บ. แผ่นเสียง UA ตัดสินใจตัดเป็นแผ่น single จึงต้องทอนความยาวของเพลงลงเหลือแค่ 4.11 แล้วใช้ชื่อว่า American Pie (part 1)  พอเพลงติดหูคนฟังและรู้ว่าถ้ามี part 1 ก็ต้องมี part 2  ต่างจึงโทรศัพท์เข้าไปที่สถานีวิทยุที่ตนฟังและบอกดีเจให้เล่นเพลงนี้ที่มีความยาวเต็ม ๆ  เพราะอยากรู้เรื่องราวต่อไปอีก  เหล่าดีเจ จึงต้องเล่นเพลงนี้จากแผ่น album แทน single อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน (สถานีวิทยุที่เมืองไทยเล่นฉบับเต็มจาก album  มาตั้งแต่ต้นเพราะบ้านเราไม่นิยม single)

ในปี 2022 Paramount+ ออกสารคดีชื่อ The day the music died: The story of Don Mclean’s ‘American Pie’ เล่าประวัติโดยสังเขปของ DM  โดยมีแก่นอยู่ที่งานแต่งเพลง American Pie  สิ่งที่จูงใจให้เขาเกิดความคิดที่จะแต่งเพลงนี้และอิทธิพลของเพลงนี้ต่อ generations ต่าง ๆ ในแต่ละยุคสมัยจนมาถึงปัจจุบัน






สารคดีมาจบที่ concert ชื่อ 50th Anniversary American Pie tour จัดที่อาคาร Surf Ballroom เมือง Clear Lake รัฐ Iowa  อันเป็นสถานที่ที่ ‘The three men I admire most’ จัด concert เป็นครั้งสุดท้ายก่อนโศกนาฏกรรม



ควันหลงของควันหลง...


นักฟังเพลงฝรั่งร่วมยุคทุกคนต้องรู้จักเพลง Killing me softly with his song (1973) ที่ร้องโดย Roberta Flack  แต่คงมีไม่กี่คนที่รู้เบื้องหลังของเนื้อเพลงนี้  ว่าแต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้กับ DM โดยเฉพาะ  เมื่อผู้แต่งเพลงได้เผอิญไปชมการแสดงสดของ DM ในปี 1971 แล้วประทับใจสุดขีด  การที่เพลงนี้ต่อมาดังระเบิดและกลายเป็นเพลงอมตะ  DM ก็พลอยได้อานิสงค์ของความเป็นอมตะไปด้วยทั้ง ๆ ที่เขาทำเพลงออกมาไม่มากและไม่มีเพลงไหนที่ดังสุด ๆ อีกเลยนับจาก American Pie

เพลงดังเพลงสุดท้ายของ DM ปี 1980

(โดยส่วนตัวผมว่าเพลงบรรจุในแผ่น album นี้ (Chain Lightning) เพราะทุกเพลง)

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 26 ส.ค. 22, 13:48

จากข้อมูลที่รวบรวมมาจากแหล่งต่าง ๆ พบว่าที่อเมริกาในสมัยก่อน  เจ้าหน้าที่ที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวลที่ทำงานอยู่ในสถาบันทางการเมืองและการทหารที่กระทำการใดนอกเหนือไปจากเรื่องปกติทั่วไปที่ทำ ๆ กันอยู่ (บนฐานของศีลธรรม) ของเพศหญิงและชายเมื่อถูกค้นพบจะถูกขัดขวางและเล่นงานโดยเหล่าผู้นำทางสถาบัน  โดยเฉพาะทางการทหาร  จะตั้งข้อหาบุคลากรเหล่านี้ว่า "creating an unacceptable risk to the high standards of morale, good order and discipline, and unit cohesion that are the essence of military capability"

ในปี 1993 ประธานาธิบดี Bill Clinton ประกาศที่จะยุติการกดขี่ข่มเหงนี้  นโยบาย 'Don’t ask, don’t tell (DADT)’ ถูกประกาศใช้ในเวลาต่อมา  แต่แนวของนโยบายยังคงที่จะกำหนดกลาย ๆ ให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวล  คงต้องซ่อนรสนิยมทางเพศต่อไปเพื่อแลกกับเสรีภาพในการทำงานโดยไม่ถูกคุกคามหรือไล่ล่า

นโยบายดังกล่าวที่ยังคงถูกละเลยโดยผู้บัญชาการระดับสูง  การไล่ล่าส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวลที่มีคุณสมบัติและความสามารถสูงมากกว่า 14,000 คนจำต้องจบอาชีพการงานของตนอย่างไม่ยุติธรรม

แม้ในปี 2011 ประธานาธิบดีโอบามาได้ตอกย้ำนโยบายดังกล่าวให้หนักแน่นขึ้น  แต่เจ้าหน้าที่ที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวลมากกว่าหนึ่งล้านคนยังคงทำงานอยู่ด้วยความหวั่นกลัวต่อการเลือกปฏิบัติ  พวกเขายังคงเลือกที่จะปิดบังรสนิยมทางเพศของตนต่อไป (deny everything) เพื่อแลกกับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน


หนัง Burning Blue (2013) สร้างจากบทละครดังที่มาจากงานเขียนปี 1992 ของนายทหารตำแหน่ง U.S. Navy Aviator ที่รวบรวมประสบการณ์ที่ได้รู้ได้เห็นนำมาเขียนเป็นนิยาย




เรื่องราวเล่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของทหารนักบินที่เป็นเกย์ที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม  ตัวละครเอกคือหนุ่มนักบินสังกัดกองทัพเรือที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ 2 นาย  คนหนึ่งแต่งงานแล้วในขณะที่อีกคนหนึ่งมีคู่หมั้น  ทั้ง 2 มาคลุกคลีกันในครั้งหนึ่งที่การฝึกซ้อมมาหยุดพักที่อ่าวใน New York 

เจ้าหน้าที่ในกะต่างนัดเจอกันในบาร์เพื่อร่วมกินเหล้าในตอนกลางคืน  แต่ในขณะนั้นยังเป็นตอนกลางวัน  ต่างคนจึงออกท่องเที่ยวหาความสนุก  D เลือกที่จะไปชมตึก Empire State  แต่เขาไม่ใช่คนในท้องที่จึงต้องงมหาทางไปในแผนที่  M เพิ่งทะเลาะกับแฟน เดินมาพบเข้าก็พูดคุยกันแล้วลงเอยที่ M ผู้คุ้นเคยถิ่นอาสาพา D ไปชมตึก

หลังจากนั้นทั้งสองพักผ่อนด้วยการหาเหล้ากินค่าเวลาและได้พบผู้หญิงหากินซึ่งพาหนุ่มทั้ง 2 ไปร่วมสนุกในบาร์  พอเมาได้ที่ก็ไปหาห้องเช่าเพื่อ ‘ปฏิบัติกิจ’  จาก 2 คู่ชู้ชื่นมาจบที่ 4 คนอลเวง

จากคืนอลเวงนั้น D ผู้มีแนวโน้มมากกว่า M  ยอมรับความรสนิยมทางเพศของตัวเอง  แต่ M ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองฝักไฝ่ในทางไหน  อย่างไรก็ตาม กาลเวลาต่อมาก็ทำให้ M ยอมรับรสนิยมของตัวเองในที่สุด 

D เลิกกับคู่หมั้น  ในขณะที่ M ขอหย่าเมีย  หนุ่มทั้ง 2 เตรียมพร้อมที่จะสานความสัมพันธ์กัน  แต่แล้วในชั่วโมงฝึกบินที่มาถึงเกิดอุบัติเหตุ M ถึงแต่ความตาย

อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้หน่วยงาน NCIS เข้ามาสอบสวนถึงสาเหตุ  พวกเขาพบว่าก่อนเกิดอุบัติเหตุ M ทะเลาะกับเมีย  ในขณะเดียวกันก็มีสายสืบยื่นหลักฐานเป็นรูป D กับ M อยู่ด้วยกันในที่รโหฐาน  แม้รูปจะไม่แสดงความผิดปกติแต่อย่างใด  แต่จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ก็ได้เค้าว่าทั้ง 2 มีความพึงพอใจต่อกันเป็นพื้นอยู่แล้ว

ในเมื่อ M ตายไปแล้ว  จึงเหลือแต่ D ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการขูดรีดหาความผิดในข้อหา ‘เสี่ยงต่อภาพพจน์อันดีงามของสถาบัน’

ฉากที่ตึก Empire State



งานปาร์ตี้ที่คนอื่น ๆ เริ่มระแคะระคาย



ความเห็นที่ต่างกัน



กลับมาพ้องต้องกันในที่สุด



งานศพ M



หลังจาก M ตาย  ก็เหลือ D และคนใกล้ชิดที่เหลือที่เกี่ยวข้องที่ตกเป็นเหยื่อของการไล่ล่า



การเลือกปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมลงเอยที่สถาบันต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถไป (อีก) คนหนึ่ง



ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 29 ส.ค. 22, 14:54

The Dig ออกฉายเมื่อปีที่แล้ว  หนังจากอังกฤษถ่ายทอดจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี 1939 ณ บริเวณที่เรียกว่า Sutton Hoo ในมณฑล Suffolk ของอังกฤษ เมื่อเศรษฐีนีหม้าย Edith Pretty สังเกตว่าส่วนหนึ่งบนดินแดนของเธอเป็นเนินที่มีลักษณะไม่น่าจะใช่ของธรรมชาติ  เธอจึงจ้าง Basil Brown นักโบราณคดีที่สั่งสมความรู้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาขุดเพื่อหาความจริง

BB ขุดไปได้ช่วงหนึ่งก็พบว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรือโบราณ  เพียงแค่นี้ข่าวก็แพร่ออกไปถึงหูหน่วยงานสำคัญ 2 แห่งคือพิพิธภัณฑ์ Ipswich และกลุ่มนักโบราณคดีจาก Cambridge

ทั้งหมดเดินทางมาที่ site เพื่อถกปัญหาเพราะตอนนี้แหล่งที่เกิดเหตุนี้กลายเป็นเรื่องระดับชาติแล้ว  แต่ EP ค้านว่าแหล่งดังกล่าวเป็นสมบัติของตระกูลเธออย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เรื่องถกเถียงระงับไปชั่วคราว  ตอนนี้ต่างช่วยกันขุดต่อไป  ในที่สุดความลับก็เผยออกมาอย่างตะลึงงันเมื่อ  จนท. ขุดพบ iron rivets ที่ใช้ในการประกอบเรือที่เป็นจุดบ่งบอก timeline ว่าเรือลำนี้ไม่ได้มีอายุอยู่ในช่วง Viking อย่างที่เข้าใจกัน  หากมีอายุย้อนเลยไปถึงยุค Anglo-Saxon ที่เริ่มต้นประมาณ ศต. ที่ 5 เป็นต้นไป  อยู่ในยุคกลางหรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายุคมืด  อันเป็นยุคที่ (ในตอนนั้น) นักประวัติศาสตร์รู้ข้อมูลน้อยมาก

การขุดดำเนินต่อไปอีกก็พบของมีค่ามากมายพอที่จะสรุปได้ว่าเรือลำนี้คือสุสานของบุคคลสำคัญ  ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจุบันคาดว่าน่าจะเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อว่า Readwald of East Anglia ที่ครองเมืองอยู่ในช่วง ศต. ที่ 6 (ตัวเลขไม่แน่นอน)

นี่นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก 

EP ตกลงมอบสมบัติทุกอย่างให้กับ British Museum แต่ช่วงนั้นอังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี  เพื่อป้องกันการเสียหาย  จทน.  จึงต้องเอาสมบัติทั้งหมดไปซ่อนไว้ในสถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน  จนกระทั่งสงครามสงบและเหตุการณ์บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ  จึงได้นำสมบัติดังกล่าวออกโชว์ให้คนทั่วไปได้ชม



หนังดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ ดูสนุกน่าติดตาม  แต่สิ่งที่สนุกกว่าคือเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้มาจากการดู

มีช่วงหนึ่งที่ตัวละครในหนังเล่าเรื่อง cellist สาวที่วันหนึ่งขณะซ้อมดนตรีในสวน  ก็มีนก nightingale เข้ามาส่งเสียงคลอเคลีย  เธอเกิดความคิดใหม่จึงไปติดต่อ BBC ให้มาอัดเสียง  วันนั้นเธอเล่น cello อยู่นานก็ไม่มีเสียงอะไรปรากฏให้ได้ยิน  แต่แล้วก่อนที่จะล้มเลิกความตั้งใจ  เสียงนก nightingale เสียงหนึ่งก็ขานเจื้อยแจ้วคลอไปกับเสียง cello ของเธอ

(ตอนผมหยุดหนังเพื่อมาค้นเรื่องนี้ก็พบว่าคนที่เข้ามาค้นเรื่องนี้ต่างก็กำลังดู The Dig (ในช่วงเวลาต่างกัน) แล้วหยุดพักเพื่อเข้ามาหา clip เหมือนกันทั้งนั้น)


นี่คือ Sutton Hoo Treasure ของจริงที่เอ่ยถึงในเรื่อง









นักแสดงนำฝ่ายชายคือ Ralph Fiennes  ผมรู้จักเธอครั้งแรกในบท Amon Goeth ในหนัง Schindler’s list (1993)  เธอเล่นเป็นนาซีหนุ่มหล่อแต่มีความอำมหิตเต็มขั้นขนาดยิงคนบริสุทธิ์เป็นว่าเล่น

มาในปี 2021 กาลเวลาไม่เคยปรานีใคร




บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 30 ส.ค. 22, 15:17

หนัง The Goonies (1985) มาฉายในโรงเครือสยาม  ตอนดูครั้งแรก  มันสนุกอย่างบอกไม่ถูก  จำต้องกลับไปดูใหม่เป็นครั้งที่ 2  แล้วก็ครั้งที่ 3 อันเป็นครั้งที่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่เคยลืม  กล่าวคือวันนั้นฝนตกหนัก  และหนักมากจนน้ำท่วม  น้ำท่วมเข้ามาในโรงจนคนดูที่นั่งดู (แบบตาถ่าง) อยู่แถวหน้า ๆ ต้องย้ายมานั่งดูบนขั้นบันไดที่อยู่สูงขึ้นไป  

ผมได้ยินคนคุยกันว่า  ตอนน้ำไหลเข้ามา  ไม่ได้มีแค่น้ำ  แต่พาแมลงสาบมาเป็นโขลง  มิน่ามีเสียงสาวร้องกันวี้ดว้าย  ผมนึกว่าเป็นเรื่องน้ำท่วม  เป็นเหตุการณ์ที่สนุกสนานพอ ๆ กับความสนุกของหนังที่เกี่ยวกับการผจญภัยของเด็ก ๆ

สำหรับผม ๆ ชอบฉากในช่วงแรกของเรื่องมากที่สุด

ฉากเปิดเรื่อง  ตอนดูครั้งแรกนึกว่าเป็นหนังหนัก ๆ พอฉายมาเห็นหน้าคุณแม่หัวหน้าแก๊งค์ (Anne Ramsey ที่ต่อมาเป็นดาราคนโปรดคนหนึ่งของผม) ก็นอนใจได้ว่าต้องเป็นหนังตลกสมกับที่ SP บอกไว้



บรรยายตามท้องเรื่องดูสบาย ๆ ขณะดูก็คิดอยู่ในใจว่าอยากมีส่วนร่วมอยู่ในหนังจัง







การผจญภัย







ตัวละครที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ คุณแม่หัวหน้าแก๊งค์หน้าตาย



แล้วก็ Chunk



เพลงเอกของหนัง



ฉากของหนังในยุคปัจจุบัน (2015)



นักแสดงเด็ก ๆ น่ารัก ๆ ทั้งนั้น  แล้วตอนนี้ล่ะ



หมายเหตุ - In 2017, the film was selected for preservation in the United States National Film Registry by the Library of Congress as being "culturally, historically, or aesthetically significant".
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 31 ส.ค. 22, 16:53

1408 ออกฉายในปี 2007  ผมไม่รู้ว่ามันมาฉายในโรงเมืองไทยรึเปล่าเพราะตอนนั้นผมแก่แล้วก็ขี้เกียจเดินทาง  อีกทั้งประสบการณ์ที่ได้รับจากมรรยาทของคนดูหนังในโรงหนังในช่วงท้าย ๆ ไม่ประทับใจ  เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น  ตัวใครตัวมันกันมากขึ้น  นับวันก็จะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติตัวร่วมกันในสังคม

ทีวี I/UBC  ช่วยให้ชีวิตผมมีความสุขขึ้น  ไม่ต้องกลั้นใจออกไปคลุกคลีกับคนประเภทนั้น

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงจากนิยายของ Stephen King เล่าเรื่อง Mike Enslin นักเขียนนิยายเกี่ยวกับเรื่องเหนือจริงที่ไม่เคยมีความเชื่อในเรื่องนี้เลย  ชีวิตแต่งงานของเธอกับเมียกำลังย่ำแย่หลังจากการตายของลูกสาว  วันหนึ่งก็ได้รับ postcard ฉบับหนึ่ง  หน้าปกแสดงรูปโรงแรมชื่อ The Dolphin ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหนึ่งใน New York  ใน postcard มีข้อความสั้น ๆ อ่านสรุปได้ว่า  อย่าไปเช่าห้องหมายเลข 1408

ME ออกเดินทางไปยังโรงแรมและจองห้องพักหมายเลขนั้นทันที

เป็นหนังผีที่ดูสนุกและน่าตื่นเต้นตลอดเรื่อง

ฉากหลอนต่าง ๆ  มีที่มาที่ไปที่เดาไม่ออกเลย







ตอนจบ




 
ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 01 ก.ย. 22, 14:16

Jacqueline Kennedy เป็นเมียประธานาธิบดี John F. Kennedy  นามสกุลก่อนแต่งของเธอคือ Bouvier  เธอมีน้าซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อชื่อ Edith Bouvier หรือเรียกเล่น ๆ ว่า Big Edith

BE มีลูกสาวชื่อเดียวกัน หรือเรียกเล่น ๆ ว่า Little Edith

ชื่อทั้งหมดที่กล่าวมานี้  แต่ดั้งเดิมเป็นตระกูลผู้ดีมีกินของอเมริกา  ต่อมา JK รุ่งโรจน์ด้วยการเป็นเมียประธานาธิบดี  ในขณะที่ครอบครัวลูกพี่ลูกน้องมีเส้นชีวิตที่ตกต่ำลงเนื่องจากฟุ้งเฟ้อและจมไม่ลง

ต่อมาเส้นทางการใช้ชีวิตของ 2 ลูกพี่ลูกน้อง JK กับ LE ก็แยกกันโดยเด็ดขาด  ครอบครัวของ Big & Little Edith หลบหายไปจากวง jet set  ทั้ง 2 อยู่อย่างเรียบง่ายด้วย trust fund ที่มีแต่จะร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ในคฤหาสน์ Grey Gardens ใน Long Island  คฤหาสน์สวยงามที่แต่ก่อนใช้เป็นที่พักตากอากาศในฤดูร้อนเป็นมรดกตกทอดเพียงหลังเดียวที่จำต้องยึดไว้พักพิง

กาลเวลาผ่านไปความยากจนเปลี่ยนสภาพของ Grey Gardens กลายเป็นสลัมสกปรกเหม็นไปด้วยของเน่าเสีย ขยะเกลื่อนไปทุกตารางนิ้ว  แมวหลายสิบตัวและสัตว์อื่น ๆ เข้ายึดอาศัยอยู่ทุกมุมบ้าน  แต่ 2 แม่ลูกผู้อยู่อาศัยยังคงความเอกลักษณ์และความเท่ไม่เปลี่ยนแปลง

ความเสื่อมโทรมแพร่กระจายออกไปจนเจ้าหน้ารัฐต้องเข้ามาดูแลซึ่งไม่ได้รับการยินยอม  ทางหน่วยงานจึงต้องทำเรื่องร้องเรียนไปยัง JK ซึ่งตอนนี้ใช้นามสกุลของอภิมหาเศรษฐีว่า Onassis  เธอจึงส่งคนมาดูแลทำความสะอาดเท่าที่จะทำได้

ในปี 1975 มีนักสร้างหนังอิสระเดินทางมาเจรจากับครอบครัว BE & LE เพื่อขอสร้างสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของทั้ง 2  สารคดีเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า Grey Gardens

สารคดีเรื่องนี้ได้รับเลือกอยู่ในอันดับที่ 9 ของสารคดีที่สร้างได้ยอดเยี่ยมตลอดกาล

ในปี 2009 HBO สร้างหนังยาวสำหรับฉายทางทีวีเรื่อง Grey Gardens นำเสนอเบื้องหลังการสร้างสารคดี GG ฉบับแรกพร้อม ๆ กันนั้นก็ถ่ายทอดชีวิตของสองแม่ลูกในยุคที่กำลังรุ่งเรืองด้วย  โดยให้ Jessica Lange เล่นเป็น Big Edith และ Drew Barrymore เล่นเป็น Little Edith





Grey Gardens ในยุครุ่งเรืองและฟุ้งเฟ้อ





ความเสื่อมโทรมของ Grey Gardens



เมื่อสารคดี (ฉบับ 1975) สร้างเสร็จและออกฉายให้สื่อชม  LE เดินทางไปเปิดงาน  เธอมีความสุขที่ได้กลับคืนสู่แสง spotlight อีกครั้ง



การเปรียบเทียบฉากต่อฉากระหว่างต้นฉบับปี 1975 กับ ฉบับปี 2009 



ฉบับที่ผมนำเสนอคือฉบับปี 2009 ได้รับคำชมอื้ออึง  และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลทางทีวีมากมายหลายสาขา  ดารานำทั้ง 2 ต่างก็ได้รางวัลไปนอนกอดสมกับความสามารถในการแสดงที่ถ่ายทอดออกมาอย่างไม่มีที่ติ

Grey Gardens – then and now



ตัวอย่าง




Big Edith กับ Little Edith เมื่อครั้งยังรุ่งโรจน์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 01 ก.ย. 22, 14:44

Jacqueline Kennedy เป็นเมียประธานาธิบดี John F. Kennedy  นามสกุลก่อนแต่งของเธอคือ Bouvier  เธอมีน้าซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อชื่อ Edith Bouvier หรือเรียกเล่น ๆ ว่า Big Edith

คุณโหน่งแก้หน่อยเถอะค่ะ น้องสาวของพ่อเรียกว่า "อา" ค่ะ ไม่ใช่ "น้า"
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 02 ก.ย. 22, 13:58

Jacqueline Kennedy เป็นเมียประธานาธิบดี John F. Kennedy  นามสกุลก่อนแต่งของเธอคือ Bouvier เธอมีน้าซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อชื่อ Edith Bouvier หรือเรียกเล่น ๆ ว่า Big Edith

คุณโหน่งแก้หน่อยเถอะค่ะ น้องสาวของพ่อเรียกว่า "อา" ค่ะ ไม่ใช่ "น้า"

ขอบคุณครับ  มัวแต่พะวงเรื่องตัวสะกด
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 02 ก.ย. 22, 14:00

Stardust (2007) เป็นหนังแฟนตาซีที่มีไอเดียแปลก ๆ  ภาพตื่นตา  เนื้อเรื่องบางเบาออกไปในทางตลก  เล่าเกี่ยวกับคู่หนุ่มสาวอาศัยอยู่ในเมืองที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแฟนตาซี

หนุ่มสาวคู่นี้รักกันแต่ความรักมีอุปสรรคเพราะมีอีกหนุ่มหนึ่งที่เหนือกว่าในหลายด้านขวางไว้  แต่สาวเจ้าก็ให้ความหวัง  ถ้าต้องการจะแต่งงานกับเธอก็จะต้องไปตามหา ‘Fallen Star’ มาให้เธอก่อน

นี่คือเรื่องคร่าว ๆ เนื้อเรื่องจริงซับซ้อนนิดหน่อยเป็นต้นว่า ‘Fallen Star’ อยู่ในแดนแฟนตาซี  จะเข้าไปหาได้อย่างไร  แล้วมันมีหน้าตาอย่างไร  แล้วจะต้องผจญภัยกับอะไรบ้าง

Fallen Star เกิดจากน้ำมือกษัตริย์ในแดนแฟนตาซีซึ่งกำลังจะตาย (Peter O’Toole)  พระองค์มีแต่ลูกชายหนุ่มซึ่งล้วนโหลยโท่ย ก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะมอบแผ่นดินให้ใครดีเลยเอาอัญมณีขว้างขึ้นไปในอากาศแล้วบอกลูก ๆ ว่าใครเก็บอัญมณีเม็ดนี้ได้ก็จะได้ครองบัลลังก์  ลูกเฮงซวยทั้งหลายก็แก่งแย่งกันเป็นสามารถ

ทีนี้อัญมณีที่ขว้างไปดันไปชนดาวดวงหนึ่งทำให้มันตกจากฟ้า  เป็นจุดเริ่มต้นของ Fallen Star ที่สาวเจ้าในแดนมนุษย์ที่เห็นตอนมันตกแล้วอยากได้





ผมว่าจุดเด่นที่สุดของหนังคือ Robert De Niro เธอเล่นเป็นหัวหน้าโจรสลัด  เรือของเธอแล่นอยู่ในอากาศไม่ใช่บนผิวน้ำ  ท่ามกลางความเหี้ยมโหดที่ลูกน้องกลัวกันลนลาน  เธอเป็น ‘อีแอบ’  RDN เล่นได้น่ารักน่าชังมาก





อย่างไรก็ตามเหล่าลูกน้องต่างก็รู้ความลับของเจ้านายของตนมานานแล้ว  แต่ไม่มีใครรังเกียจแถมยังจงรักภักดีเต็มหัวใจเพราะ ‘You’ll always be our captain’



Michelle Pfeiffer เล่นเป็นแม่มดหัวโจก  เธอมาพร้อมกับฉากอลังการ ๆ



ฉากประลองพลังครั้งสุดท้ายสนุกมาก  จ้องตาไม่กระพริบ

(พวกผีที่เห็นคือบรรดาพี่น้องลูกห่วย ๆ ของกษัตริย์ที่ฆ่ากันเองตายไปเรื่อย ๆจนเหลือคนสุดท้าย)





ติดตามมาถึงฉากนี้ก็รู้ว่า Fallen Star คืออะไร (ใคร)


ในฉากจบคนที่ได้ครองดินแดนแฟนตาซีกลับกลายเป็นหนุ่มน้อยฮีโร่



พูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าหนังสนุกมาก   อิ่มเหมือนกินอาหารโปรดหนึ่งจานใหญ่โดยไม่มีใครมาแย่ง


ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 02 ก.ย. 22, 14:35

เห็นชื่อหนังฟังครั้งแรกนึกถึงหนังไทยเรื่อง ละอองดาว (สมบัติ-พิศมัย - ๒๕๐๗)

ละอองดาวฝรั่ง (๒๕๕๐) แนวแฟนตาซี ผจญภัย ตลก  สนุกมาก รับประกันคุณภาพ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 05 ก.ย. 22, 13:56

เห็นชื่อหนังฟังครั้งแรกนึกถึงหนังไทยเรื่อง ละอองดาว (สมบัติ-พิศมัย - ๒๕๐๗)

ละอองดาวฝรั่ง (๒๕๕๐) แนวแฟนตาซี ผจญภัย ตลก  สนุกมาก รับประกันคุณภาพ ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 05 ก.ย. 22, 14:24

ตอนต้นยุค 80s สถานีวิทยุช่องประจำที่ผมฟังเปิดเพลง ๆ หนึ่ง  เป็นเพลงช้าเนิบนาบ  เสียงร้องเป็นของผู้หญิง  เสียงเธอห้าว  ฟังเธอร้องในทำนองเพลงเชื่องช้าแล้วรู้สึก หลอน

อย่างไรก็ตาม กลับเป็นว่าผมติดใจเพลงนี้  ทำนองมันแปลกกว่าเพลงอื่นที่ร่วมยุค  พอจบเพลง  เสียงดีเจแจ้งว่าเป็นเสียงร้องของ Patsy Cline  ชื่อเพลงคือ Always

ชะรอยดีเจจะมีญาณทิพย์รู้ว่าผมชอบ  เธอจึงหมั่นเปิดเพลงนี้ให้ฟังอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง  

สมัยนั้นโลกหมุนช้า  สิ่งที่เข้ามาในชีวิตจะค่อย ๆ ทยอยมา  มาแล้วก็อ้อยอิ่งอยู่ก่อนจะค่อย ๆ จากไป  ไม่ได้พลุกพล่านไอ้โน่นเข้ามาไอ้นี่ก็เข้ามาไอ้นั่นก็เข้ามา มาแล้วก็แว้บ ๆ หายไป เหมือนเดี๋ยวนี้  คนโตในยุคจรวดนี้จึงไม่ค่อยมีความทรงจำประเภท nostalgia
  
ผมโชคดีที่เกิดก่อน  ไม่ได้โตในยุคจรวดนี้  ผมจึงมีความทรงจำประเภท nostalgia มากมาย  

เพลง Always ไม่ได้เปิดกระหน่ำในสถานีวิทยุ  แต่ความที่โลกหมุนช้าผมจึงจำได้แม่น
  
ตอนได้ฟังดีเจประกาศครั้งแรก  ผมคิดว่านี่คือนักร้องหน้าใหม่เพราะผมไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน  ผมพยายามหาเพลงนี้ของเธอตามอันดับเพลง Billboard ในหนังสือ SP และ I.S. Song hits แต่ก็ไม่เจอ  แล้วสถานีวิทยุก็เปิดเพลง Always เพลงนี้เพลงเดียว  ไม่มีเพลงอื่นๆ ของเธอตามมาอีกเลย  พอเลิกเปิดเพลงนี้  ชื่อของเธอก็หายไปกับกาลเวลา

 
มาปี 1985 SP ฉบับหนึ่งเล่าเรื่องหนังที่กำลังจะออกฉาย มีชื่อว่า Sweet Dreams หนังเล่าประวัตินักร้องดังในอดีตเป็นผู้หญิงชื่อว่า Patsy Cline
 
อ่านถึงตรงนี้ผมก็รู้แล้วว่า Patsy Cline คือใคร    SP เล่ารายละเอียดของหนังว่า PC เป็นนักร้องในยุคต้น 60s  ถ้าอ้างอิงกับความคุ้นเคยของคนไทย  ความดังของเธออยู่ร่วมยุคเดียวกับ Sue Thompson

ถึงแม้ผีเพลงจะสิงผมมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ไม่เคยได้ยินเพลงของ PC ตามรายการสถานีวิทยุในบ้านเราเลย  เคยได้ยินครั้งแรกก็จากที่เล่ามาในตอนต้น

SP เล่าต่อว่า PC ดังอยู่ในวงการแค่แป๊บเดียวก็จากไป  คือเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกตาย

รู้เรื่องเพียงแค่นี้ก็อยากดูหนังเป็นกำลัง  แต่ก็เสียวว่ามันจะไม่มาฉายเพราะเป็นหนังแนวเฉพาะทาง  ซึ่งก็จริง  หนังไม่มา  แต่ผมก็กระเสือกกระสนไปหาวิดีโอมาดูจนได้



PC ตายตอนที่ยังดังค้างฟ้า (อายุแค่ 30)  พื้นเพความชำนาญของเธออยู่ในแนว country แต่เพลงของเธอติดหูชาวเพลง pop ด้วย  เธอจึงนับเป็นศิลปิน country หญิงคนแรกที่สามารถนำเพลงข้ามฟากมาดังฝั่งเพลง pop ได้  สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเป็นตำนานของวงการเพลง

วันที่ 3 มี.ค. 1963 หลังจากจบการแสดงสดที่ Kansas  PC พร้อมนักร้อง country อีก 2 ขึ้นเครื่องบินกลับ Nashville  ท่ามกลางอากาศอันวิปริตเครื่องบินตกในป่าห่างจากจุดหมายปลายทาง 140 กม.  

เหตุการณ์ในหนังเผยให้เห็นว่าเครื่องบินบินชนผา  แต่ผมหาข้อมูลละเอียดแบบนี้ไม่ได้  เอาเป็นว่าแรงกระแทกทำให้ทุกคนบนเครื่องตายหมด  เจ้าหน้าที่เข้ามาเคลียร์พื้นที่และเก็บศพ  พบนาฬิกาข้อมือของ PC เข็มค้างอยู่ที่เวลา 6.20 p.m.

ในหนัง Jessica Lange สวมบท PC  การแสดงของเธอเด่นมากจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Oscar  และเป็นสาขาเดียวในหนังที่ได้เข้าชิง

สิ่งหนึ่งจากฝีมือการแสดงของเธอที่ทำให้ทุกคนกล่าวขานและเอามาอ้างอิงจนถึงปัจจุบันคือ  การ lip-sync ของเธอที่เข้ากับเสียงร้องของ PC ที่ร้องอัดแผ่นแนบเนียนจนไม่เห็นรอยต่อ





(... ทำเรื่องนี้มานาน  จำไม่ได้แล้วว่า  clip นี้เกี่ยวกับอะไร  เลยหาใหม่มาทดแทนไม่ได้)

ตอนดู  ผมหวังว่าในหนังจะมีเพลง Always ที่ผมชอบแต่ไม่มี  อย่างไรก็ตามผมรู้แล้วว่า Patsy Cline คือใคร  พอดูหนังจบผมก็ไปหาซื้อแผ่นเสียง soundtracks หนังเรื่องนี้มาฟัง  แผ่นนี้นับเป็นแผ่น ‘Greatest Hits’ ของเธอโดยปริยาย  เพราะผลงานของเธอมีน้อยมาก

จนกระทั่ง youtube ถือกำเนิด ผมก็ได้มีโอกาสตามหาเพลง Always ของผม  ซึ่งก็พบแต่ว่าทำนองต่างกันกับฉบับที่เคยได้ยินทางวิทยุเมื่อนานมาแล้ว



ผมก็ออกอาการ งง ตามปกติ  เอ... แล้วฉบับที่ฉันเคยฟังเมื่อต้นยุค 80s มันมาจากไหนละหว่า

ความที่ผมเป็นลูกอีช่างขุดและไม่เคยย่อท้อที่จะขุดจนกว่าจะเจอ  จนกระทั่งเร็ว ๆ นี้เอง  ข้อมูลใน google ที่มีมากขึ้นทำให้ผมพบในที่สุดว่า  ในปี 1980 มีคนนำเพลงบางเพลงของ PC มาเรียบเรียงดนตรีใหม่  เหมือนอย่างที่คนไทยเราเคยทำมาแล้วกับนักร้องเก่า ๆ แล้วโฆษณาว่า ‘อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล’ นั่นแหละ

ขณะที่ผมไม่แยแสกับเพลงไทยฉบับเรียบเรียงใหม่นี้  เพราะผมชอบต้นฉบับมากกว่าถึงจะเป็นแผ่นครั่งมีเสียงฝนตกหรือเสียง Mono ก็ตาม  แต่ฉบับที่ฝรั่งเอาเพลง PC มาทำใหม่ผมกลับชอบ  เหตุผลคือผมรู้จักเพลงเธอครั้งแรกจากการนำมาเรียบเรียงใหม่แล้วนั่นเอง







หมายเหตุ – ในอดีตมีนักร้องดัง ๆ ตายจากเครื่องบินตก คนที่มีผลงานที่คุ้นหูพวกเรา (ยกตัวอย่างถึงแค่ John Denver (1997))  ก็เช่น

Jim Reeves (1964 อายุ 40)



Otis Redding (1967 อายุ 26)



Jim Croce (1973 อายุ 30)

(นี่เป็นเพลงที่พวกเราผีเพลงฝรั่งทุกคนรู้จักและรักที่จะฟัง  แต่ไม่ใช่เพลงดังที่สุดที่บ้านของเธอ   เพลงนั้นคือ Time in a bottle ที่มีคนไทยเอามาแปลงเป็นเพลงไทย ใคร ๆ ฟังแล้วก็บอกว่าเพลงนี้เพราะจัง  แต่มีน้อยคนที่รู้ว่าไปเอาทำนองมาจากเพลงของชาวบ้าน (ไม่รู้จ่ายค่าลิขสิทธิ์เค้ารึเปล่า))




Rick Nelson (1985 อายุ 45)

(พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เธอก็ปรับเปลี่ยนชื่อของตัวเองจาก Ricky เป็นแค่ Rick ให้เข้ากับความเป็นผู้ใหญ่ เพลงนี้เป็นเพลงดังสุดท้าย (ได้แผ่นทองคำ) ของเธอ (1972))

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 05 ก.ย. 22, 16:14

คุณโหน่งคงไม่แปลกใจเมื่อดิฉันบอกว่ารู้จักเพลง Always   มันเป็นหนึ่งในเพลงเพราะยุค 1960s  ที่ผ่านหูบรรดาเบบี้บูมเมอร์
ในยุคนั้นมีเพลงหวานๆ ซึ้งๆ เนิบนาบแบบนี้หลายเพลง   ล้วนเนื้อร้องเพริศแพร้วกว่านี้มาก  ถ้ากล่าวสัญญารัก ก็ไม่ใช่แค่ "รักเสมอ" หรือ "รักตลอดไป"  แต่เป็น "รักชั่วนิจนิรันดร"  "รักตลอดกัลปาวสาน"  "รักชั่วฟ้าดินสลาย"
ตัวอย่างเพลงที่รักกันอลังการงานสร้างก็เช่น Eternally, Till the End of Time , The Twelve of Never , Till (the moon deserts the sky) 
เพราะฉะนั้น Always  เลยฟังจืดๆ  ไปหน่อย แม้คนร้องร้องเพราะมาก แต่เสียงแบบนี้  Patti Page กับ Rosemary Clooney  นั่งบัลลังก์อยู่แล้ว
อ้อ  ตอนต้นของเพลง ฟังคล้ายๆตอนต้นของ Eternally ด้วยค่ะ


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 06 ก.ย. 22, 12:36

คุณโหน่งคงไม่แปลกใจเมื่อดิฉันบอกว่ารู้จักเพลง Always   มันเป็นหนึ่งในเพลงเพราะยุค 1960s  ที่ผ่านหูบรรดาเบบี้บูมเมอร์
ในยุคนั้นมีเพลงหวานๆ ซึ้งๆ เนิบนาบแบบนี้หลายเพลง   ล้วนเนื้อร้องเพริศแพร้วกว่านี้มาก  ถ้ากล่าวสัญญารัก ก็ไม่ใช่แค่ "รักเสมอ" หรือ "รักตลอดไป"  แต่เป็น "รักชั่วนิจนิรันดร"  "รักตลอดกัลปาวสาน"  "รักชั่วฟ้าดินสลาย"
ตัวอย่างเพลงที่รักกันอลังการงานสร้างก็เช่น Eternally, Till the End of Time , The Twelve of Never , Till (the moon deserts the sky)  
เพราะฉะนั้น Always  เลยฟังจืดๆ  ไปหน่อย แม้คนร้องร้องเพราะมาก แต่เสียงแบบนี้  Patti Page กับ Rosemary Clooney  นั่งบัลลังก์อยู่แล้ว
อ้อ  ตอนต้นของเพลง ฟังคล้ายๆตอนต้นของ Eternally ด้วยค่ะ




แสดงว่าเพลง Always ฉบับ 'ออริจินั่น' มาเปิดที่บ้านเราเหมือนกัน  ตอนนั้นคงไม่สะกิดหูโหน่ง  แต่ Eternally ของ SV เพราะขาดใจ  พอ ๆ กับเพลง Broken hearted melody ที่มีจังหวะเด็ดขาดไปเลย  แล้ว 'จาร ต้องเคยได้ยิน Fascination (Jane Morgan) อย่างแน่นอนนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.13 วินาที กับ 19 คำสั่ง