เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2955 คารวาลัย จันทรำไพ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



 เมื่อ 07 พ.ค. 22, 12:35

คุณจันทรำไพเคยเรียนคณะสถาปัตยฯ จุฬา   รุ่นไหนไม่ทราบแต่ก่อนคุณ visitna น่าจะแบบไม่เห็นฝุ่น     สมัยเธอแทบจะไม่มีผู้หญิงเรียกถาปัดกันเลย
คิดว่าประมาณพ.ศ. 2500 ต้นๆค่ะ

เพิ่งทราบข่าวการเสียชีวิตของ "จันทรำไพ" เธอจากไปด้วยวิธี 'การุณยฆาต' ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อสามเดือนที่ผ่านมา

R.I.P.

จาก A WALK


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 พ.ค. 22, 13:18

ทราบข่าวแล้วค่ะ   ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพี่จันทรำไพด้วย
นี่คือกระทู้สุดท้ายของเธอ

https://pantip.com/topic/39792808?fbclid=IwAR20gx2rLrOECM78gs4wuP2jFlhDIZbqhFl42zAvxEkblRDyBytBb6SBFD8
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 พ.ค. 22, 11:21

คารวาลัย  จันทรำไพ 

 เมื่อเยาว์วัยสวยเก๋ไม่เหมือนใคร
 มีชีวิตแจ่มใสใครจะเหมือน
 จบ ‘ถาปัด อยู่เมืองนอกเหมือนบอกเตือน
 ชีวิตเลื่อนโล้ไปจับไม่ทัน

 อมาญาส์ กาลาปาโกส นวนิยาย
 เหมือนดาวรายส่องอักษรขจรฝัน
 ตัวหนังสือเปิดใลกหนึ่ง ตะลึงงัน
 เป็นดวง “จันทรำไพ” สดใสนัก

 มีครอบครัวอบอุ่นและแสนดี
 ยามเธอเล่าโน่นนี่คล้ายรู้จัก
 วันหนึ่ง โลกพลิกคว่ำพลิกความรัก
 ที่ตระหนักว่าจริงก็ไม่จริง

 ความเปลี่ยนผันทำให้หัวใจเศร้า
 เธอ เขา เรา อยู่ที่ไหนไกลอย่างยิ่ง
 มาวันนี้เนิ่นนานกาลทอดทิ้ง
 ข่าวตรงดิ่งมาทำให้หัวใจราน

 พี่สาวช่างกล้าหาญประมาณไหน
 ใช้การุณยฆาตเป็นทางให้เกิดเปลี่ยนผ่าน
 ขอคารวะความยิ่งใหญ่ในดวงมาน
 ขอเบิกบานในทางใหม่สมใจเทอญ

 ชมัยภร แสงกระจ่าง
 ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 พ.ค. 22, 09:05

คุณจันทรำไพเคยเรียนคณะสถาปัตยฯ จุฬา   รุ่นไหนไม่ทราบแต่ก่อนคุณ visitna น่าจะแบบไม่เห็นฝุ่น     สมัยเธอแทบจะไม่มีผู้หญิงเรียกถาปัดกันเลย
คิดว่าประมาณพ.ศ. 2500 ต้นๆค่ะ

เพิ่งได้ทราบข่าวครับ ไม่เห็นพี่มนันยาเล่าเลย



พี่จันน่ารักมาก  หัวเราะเอิ๊ก ๆ  สมัย สตรีสาร เอ๊ะ... หรือ ลลนา นะ  อ่านเรื่องแกเขียนไปบุกเบิกไร่กาแฟ  รู้เรื่อง ลูก ๆ จนกระทั่งถึงคราวอุบัติเหตุอันน่าใจหาย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 พ.ค. 22, 10:35

ขออนุญาตเสนอแนะ ยิงฟันยิ้ม

หากแยกตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๔๔๘ เป็นกระทู้ใหม่ในชื่อ "คารวาลัย จันทรำไพ" น่าจะเปิดโอกาสให้ FC ของคุณยาย Mochica ได้เห็นและแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 พ.ค. 22, 19:35

"จันทรำไพ" หรือ คุณจันทรำไพ พลจันทร์ เป็นนักเขียนรุ่นน้องของแม่ผมที่หนังสือศรีสัปดาห์ นั่นเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองได้ติดต่อกันและผมพลอยมีโอกาสได้รู้จักคุณจันทรำไพตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนด้วย จำได้เลือนลางว่า เธอเป็นผู้หญิงสวยและแกร่งที่ไปสร้างครอบครัวอยู่ในประเทศห่างไกลที่อเมริกาใต้ชื่อประเทศเอกวาดอร์ ผมรู้จักชื่อประเทศนี้และรู้จักหน้าตาแสตมป์ของประเทศนี้เพราะคุณจันทรำไพและแม่ของผมเขียนจดหมายติดต่อกันอยู่นานปี เสียดายเหลือเกินที่ผมไม่มีจดหมายเหล่านั้นเก็บรักษาไว้แล้ว

สำหรับนักอ่าน งานเขียนของ "จันทรำไพ" มีความเฉพาะตัวที่โดดเด่น บอกเล่าชีวิตที่มีทั้งสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไป และมีชีวิตจริงของเธอแฝงฝังอยู่ระหว่างบรรทัดแทบทุกเรื่องไป

ข่าวการจากไปของคุณจันทรำไพที่ประเทศสวิส และเพิ่งรับรู้กันที่เมืองไทยในวันนี้ จึงเป็นหมุดหมายบอกความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของผม

ธงทอง จันทรางศุ
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 พ.ค. 22, 10:11

https://pantip.com/topic/36672612

อยากทราบว่าเพื่อนๆชาว pantip เคยอ่านหนังสือของ จันทรำไพ กันบ้างไหม
เคยอ่านรีวิวแล้วเห็นหลายคนชอบ  เลยอยากลองอ่านบ้าง
แต่ดูเหมือนหนังสือจะเข้าขั้นหายากแล้ว  ไม่ทราบหนังสือส่วนใหญ่เป็นประมาณไหน
อ่านสนุกมั้ยครับ  ตอนนี้ผมก็กำลังตามหาหนังสือมาอ่านอยู่
ขอคุณล่วงหน้าสำหรับทุกความคิดเห็นครับ

ruennara
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 พ.ค. 22, 10:17

 จาก FB ของคุณ Eat . Pray . Live
25 เมษายน 2020  ·
จดหมายแก้เหงาจากจันทรำไพ

ชื่อของ’จันทรำไพ’ เป็นนามปากกาที่แฟนๆนิตยสารลลนา หรือที่เรียกตัวเองกันอย่างภาคภูมิใจว่า ‘ลลเนี่ยน’ นั้น ต่างคุ้นเคยกันดี เนื่องด้วยเป็นเจ้าของผลงานเรื่องสั้นหลายต่อหลายสิบเรื่องที่ทยอยตีพิมพ์อยู่เป็นเวลานานหลายปี จนกลายเป็นความผูกพันระหว่างคนอ่านกับผู้เขียน สื่อสารผ่านทางคอลัมน์ ‘คุยกับสุวรรณี สุคนธา’ และเมื่อผู้เขียนประสบกับทุกข์โศกครั้งใหญ่ในชีวิต คนอ่านก็ร่วมรับรู้ เสียน้ำตาด้วยความเศร้าโศกเสียใจแทบจะไม่น้อยไปกว่าผู้เขียนเลย

‘จดหมายแก้เหงาจากจันทรำไพ’ เป็นหนังสือเล่มเล็กที่ในยุคนั้นเรียกกันว่า ‘พ็อกเก็ตบุ๊ก’ รวมเรื่องสั้นหลายๆเรื่องที่ลงในหน้านิตยสารอย่างลลนา และไม่แน่ใจว่าลงในนิตยสารอื่นๆอีกหรือไม่ และน่าจะเป็นผลงานรวมเรื่องสั้นเรื่องแรกของ ‘จันทรำไพ’ ก่อนที่จะตามมาผลงานอีกหลายๆเล่ม รวมถึงเรื่องยาวอย่าง ‘อมาญาส์’ ที่เคยเขียนแนะนำกันไปแล้ว

หนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นด้วยคำนำจากสามีของผู้เขียน ลงพิมพ์เป็นลายมือที่แสนจะอ่านยาก แต่คุ้มค่ากับความพยายามในการแกะอ่าน เพราะเป็นคำนำที่ช่างจับใจนัก

‘From misery of life,
She became my wife.
From misery of Life,
She started to write.
From misery of life,
which are more to come,
I wish her to be a perfect writer’

เรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นด้วย ‘ดูเขาสู้วัวที่กีโต้’ เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัล ว.ณ. ประมวญมารค ในปีพ.ศ.2520 ไปจนถึงเรื่องสุดท้าย ที่มีชื่อแสนไพเราะโรแมนติคว่า ‘คือดอกไม้จากความคิดถึง’ ทุกๆเรื่องคือลายเซ็นของ ‘จันทรำไพ’ ที่เรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ ด้วยสำนวนเรียบง่าย ไม่ประดิดประดอย แต่อ่านสนุกและแฝงไว้ซึ่งอารมณ์ขัน อันเกิดจากการเป็นคนคิดบวกและมองโลกในแง่ดีเสมอมา

‘จดหมายแก้เหงาจากจันทรำไพ’ พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดวงตา เมื่อปีพ.ศ.2521 และพิมพ์ขึ้นอีกครั้งในอีกหลายสิบปีต่อมา โดยสำนักพิมพ์ดาวฤกษ์ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘จดหมายแก้เหงาของจันทรำไพ’

ในช่วงนี้ที่เรามีเวลาว่างเพิ่มขึ้น อยู่กับตัวเองมากขึ้น การหยิบเรื่องราวของตัวเองมาบันทึกเอาไว้ก็เป็นไอเดียของการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่ไม่เลวเลย และการบันทึกเรื่องราวด้วยวิธีการเหมือนเขียนจดหมายนั้น น่าจะเป็นวิธีเล่าเรื่องที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่หัดเขียน

ไม่แน่ว่า…เราอาจจะได้อ่านจดหมายแก้เหงาจากใครต่อใครอีกมากมายในอนาคตอันใกล้นี้



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 พ.ค. 22, 10:35

ประวัติคุณจันทรำไพที่เขียนด้วยตัวเอง

สวัสดีค่ะ คุณเก่ง (บรรณาธิการหนังสือต่วย'ตูน)

ขอบคุณสำหรับพรปีใหม่และไฟล์แนบนะคะ ส่วนเฟซบุ๊กไม่ได้ค่ะเพราะไม่ได้เป็นสมาชิก

ก่อนอื่น ขอสวัสดีปีใหม่มายังทีมต่วยตูนและคุณ ๆ ในเฟซบุ๊ก ขอให้มีความสุขทั้งกายและใจกันทุกคนนะคะ

ส่วนเรื่องประวัติของ จันทรำไพ นั้น คงหายไปหมดพร้อมกับการปิดตัวของนิตยสารต่าง ๆ ความจริงก็ไม่มีอะไรที่น่าสนใจนะคะ แค่เป็นคนคนหนึ่งที่บังเอิญเขียนหนังสือได้แค่นั้น เกรงว่าคุณเก่งจะคิดว่าคนแก่เล่นตัว งั้นขอเล่าอย่างสรุปมาก ๆ ก็แล้วกันนะคะ

จันทรำไพ (พลจันทร) วิลด์ เกิดเมื่อ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๘๔ ที่จังหวัดอุบลฯ เมื่อตอนที่บิดาไปรับราชการที่นั่น (เป็นหัวหน้าศาล) พอเริ่มจำความได้คุณพ่อก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็เลี้ยงลูกสาวไปตามความสามารถเท่าที่ผู้พิพากษาศาลอุทรณ์คนหนึ่งจะทำได้ (น่าจะเรียกว่า ทำไม่ได้ ดีกว่า) ก็เลยต้องเอาลูกสาวไปฝากญาติคนโน้นเลี้ยง ญาติคนนี้เลี้ยง

ตอนเล็ก ๆ อยู่อนุบาลที่โรงเรียนราชินี (ล่าง) ไม่กี่เดือน ก็ย้ายไปอยู่อนุบาลที่โรงเรียนดรุโณทยาน (แต่ก่อนนี้อยู่ตรงเชิงสะพานหัวช้าง) ซึ่งเป็นโรงเรียนของคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร เธอเป็นลูกสาวของคุณป้าแท้ ๆ ของอาค่ะ (ขอใช้คำแทนตัวว่า อา ก็แล้วกันนะคะ) ไม่ทราบว่านามสกุล พลางกูร จะทำให้คุณเก่งนึกถึงใครหรือไม่ สามีของ คุณฉลบชลัยย์ มีชื่อว่า จำกัด คุณเก่งลองหาชื่อ จำกัด พลางกูร ในกูเกิลดูนะคะ

ตอนอยู่ประถมก็อยู่ไป-มา คุณพ่อเอาซ้อนท้ายจักรยานไปส่งและไปรับ ตอนนั้นอยู่กันสองคนพ่อลูกกับคนรับใช้คนหนึ่ง มีความสุขมากค่ะ จนกระทั่งคุณพ่อได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าหลวงยุติธรรมภาคกลาง ต้องย้ายไปอยู่อยุธยา ก็เลยต้องเอาลูกสาวไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนดรุโณทยานจนจบมัธยมต้น แล้วก็ย้ายไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชินี (ล่าง) จนจบม.๘ (ในสมัยนั้น) แล้วไปสอบเข้าสถาปัตย์ฯจุฬาฯ พอได้อนุปริญญา ก็เลิกเรียน ออกไปแต่งงาน แล้วก็ไปทำไร่ที่เอกวาดอร์

มีลูกทั้งหมดหกคนนะคะ พอเกิดอุบัติเหตุบนถนน ลูกสาวสองคนเสียชีวิตพร้อมกัน ก็เลยย้ายไปอยู่สวิส

อ้อ บิดาของอา มียศ เป็น พระมนูกิจวิมลอรรถ ถ้าคุณเก่งมีเวลาว่าง ก็ลองไปหาชื่อ พระมนูกิจวิมลอรรถ ในกูเกิลดูนะคะ

แค่นี้ก็คงพอแล้วมั้ง (แสบตายิบ ๆ)

ฝากสวัสดีมายังทุก ๆ คนด้วยค่ะ

จันทรำไพ

จาก ปีติ วิริยะ - ข่าวสารวงการหนังสือ


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 พ.ค. 22, 10:42

         รู้จัก จันทรำไพ ที่ ลลนา, อ่าน จดหมายแก้เหงาฯ อย่างเพลิดเพลิน จนตามไปอ่าน อมาญาส์ และ กาลาปาโก้ส
(จากสตรีสารสู่รูปแบบรวมเล่ม) ต่อเนื่องงานเขียนชิ้นต่างๆ ที่ลงในลลนา จนถึงเรื่องราวคราววิปโยคของครอบครัว
         รู้สึก คุ้นเคยแบบเดียวกับ สุวรรณี สุคนธา เพราะลีลาอารมณ์ไปในทางเดียวกัน - มาจาก "สายวาดเขียน" และ
เขียนเรื่องราวชีวิตตัวเองลงในผลงานด้วย
  
         ลา จันทรำไพ          สู่แดนไกลเบื้องบนสวรรค์

ยามใดคิดถึงกัน                ไปที่นั่น...บรรณภพ


รูปของ ruennana @ pantip


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 พ.ค. 22, 09:44

 จาก Bloggang ของคุณ PenKa
อมาญาส์  พ่อหนุ่ม ยิปซี ที่ฉันได้รู้จัก

อมาญาส์ เป็นหนังสือเล่มที่ฉันหยิบมาอ่านบ่อยที่สุด เป็นหนังสือที่ ฉันอ่านได้เสมอ ไม่ว่าฉันจะอยู่ในอารมณ์ รัก เศร้า เหงา หรือมีความสุข ฉันเก็บ อมาญาส์ไว้ดีที่สุด ไม่เคยใส่กระเป๋าเดินทางไปไหนด้วย  เพราะกลัวหาย   ถ้านับ เฉพาะ ครั้งที่ฉันอ่าน ตั้งแต่หน้าแรก จนถึงหน้าสุดท้าย 257 หน้า  ที่ฉันได้ทำเครื่องหมายไว้  ครั้งล่าสุดที่ฉันหยิบมาอ่าน ก็ เป็นครั้งที่ 15  แล้ว  บางคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไม จึงตะบี้ตะบัน อ่านได้หลายๆ ครั้ง  ก้อไม่รู้สินะ ฉันรู้เพียงว่า ถ้าฉันเหงา  ก้อ มี นัฎรุจี ที่เหงากว่าฉัน  ถ้าฉันเศร้า  ก้อมี ครอบครัวชาล์มเมอร์ส  เรียกเสียงหัวเราะให้คลายเศร้าได้   หรือเมื่อฉัน มีความสุข มีความรัก ฉันก็มีความสุขกับรักที่สมหวังของ อมาญาส์กับนัฎรุจี

เมื่อฉันอ่านครั้งที่ 15 จบลง ด้วยความรู้สึก  ที่ฉันคิดว่าต่างจาก 14 ครั้งก่อนหน้านี้  ฉันรู้สึกว่าฉันโตขึ้น  ความสุขที่ฉันรู้สึก เมื่อฉันในจมดิ่งลงไปในโลกจินตนาการ  ในบ้านที่อวลไปด้วยความสุขของนัฎรุจี และอมาญาส์   ฉันรู้ตัว ว่า นั้น มันคือโลกในนวนิยาย  แต่มันก็ทำให้ฉัน มีกำลังใจพอที่จะตื่นขึ้นมามองโลกในความเป็นจริง ได้ด้วย ดวงตา ที่สดใส สว่าง   และเป็นจริง  ไม่ได้เคลือบด้วยสีชมพู เหมือนเมื่อก่อน
และเพราะครั้งนี้ ฉัน มี อมาญาส์ ในครอบครอง อยู่ 2 เล่ม (ความจริง ถ้ามี อมาญาส์ ตัวเป็นๆโผล่มาก้อคงดี  หุ หุ ) และด้วยความปลาบปลื้ม ที่ฉัน ได้เล่มที่ 2 มาด้วยความเมตตา ของคนที่ส่ง อมาญาส์ มาให้จากแดนไกล   ฉันก็เลยมานั่งชื่นชม เปรียบเทียบ ระหว่าง  2 ปก ที่มีอยู่  ปกแรก ฉันเก็บเงินซื้อ หลังจากที่ได้อ่านของห้องสมุด ตอนเรียนปี 2  ฉัน ซื้อมา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2536   ( 15 ปี มาแล้วคงพออธิบายได้ว่า ทำไมฉันจึงอ่านมาได้ หลายครั้ง  )   ทำให้ฉันได้รู้ว่า อมาญาส์  ได้เปิดเผยตัวตน ให้ คนได้รู้จัก มา 25 ปีแล้ว  แต่ เนื้อหา และสำนวน การเดินเรื่อง ไม่เชยเลย 
ในเวลา 25 ปี อมาญาส์ ได้พิมพ์ มาแล้ว 7 ครั้ง      ในการพิมพ์ครั้งแรก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บำรุงสาส์น ในปี พ.ศ. 2525 ปกนี้ฉันไม่เคยเห็น แต่ พี่ปุ้ย กิ่งฉัตร ที่ได้เขียนคำนิยม ในการพิมพ์ครั้งที่ 7 บอกว่าเล่มที่พิมพ์ครั้งแรก เป็นปกสีแดง ฉันเลยลองค้นดู และเพื่อนที่เป็นแฟนคลับของอมาญาส์ได้ ส่งลายแทงไปดูปกเล่มที่ว่า ก็ คือปกนี้ค่ะ

การพิมพ์ครั้งที่สอง พิมพ์โดยสำนักพิมพ์บำรุงสาส์น ในปี พ.ศ.2528  ปกนี้ฉันอ่านแล้ว และในห้องสมุดประชาชน นครศรีธรรมราช มี จะถ่ายรูปมาโชว์ วันหลังเพราะ หนังสือไม่ค่อยได้อยู่บนชั้น มีคนยืมไปอ่านตลอด
การพิมพ์ครั้งที่ 3 – 6 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เล่มที่ฉันซื้อมา เป็นเล่มที่พิมพ์ ครั้งที่ 3 พิมพ์ตอน ปี พ.ศ. 2533  นับตั้งแต่ หน้าแรกจนจบ ก็ มี 263 หน้า ราคา 80 บาท และ ใช้ปกเดียวกัน ในการพิมพ์ ครั้งที่ 3-6 พิมพ์ ในช่วง ปี พ.ศ.2533 – 2537

และในการพิมพ์ครั้งที่ 7  ครั้งล่าสุด พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ในปี พ.ศ.2547   มีทั้งหมด 312 หน้า ราคา 174 บาท
ใครที่อ่าน มาจนถึงตอนนี้ แต่ไม่เคยอ่าน   อมาญาส์  นวนิยาย ผลงาน ของจันทรำไพ คง อยากรู้ว่า  ทำไม  เวลา 25 ปี  อมาญาส์  ก็ยังคงถูกพูดถึงอยู่เสมอ  ฉันคงเล่าได้ว่า อมาญาส์ ที่มีคำโปรย ว่า เป็นนวนิยายสำหรับผู้ที่มีหัวใจหล่อหลอมด้วยความรัก “ในบางแง่มุมของความรัก  อาจจะพ่าย..... เหงา  และเจ็บปวด  ให้โอกาสกับตัวเองอีกสักครั้ง กับเส้นทาง ที่เรียกขานกันว่า รัก”

เป็นเรื่องราวความรักของ นัฎรุจี ผู้ที่ผิดเหวังกับรักครั้งแรก  และได้มาพบกับ อมาญาส์ หนุ่มยิปซี ที่ ที่ อะไรดี ละค่ะ  เอาเป็นว่า ฉันคิดว่า เป็น หนุ่ม ในฝัน ของผู้หญิงหลายๆ คน   คุณจันทรำไพ ได้พาให้เราสัมผัส ถึงความมีตัวตน ของ ตัวละคร ที่โลดแล่น  แวดล้อม อมาญาส์   ถึงแม้ว่าหลายคน บอกว่า เรื่องนี้เป็น นิยายโรมานซ์  แต่ก็ เป็นโรมานซ์ แบบเฉพาะ ของ จันทรำไพค่ะ   และถ้าสงสัยว่าเป็นอย่างไร ก็ ต้องหามาอ่านกันดูนะคะ  ถึงแม้ว่าอาจจะ หายากสักหน่อย เพราะ คิดว่าไม่มีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป  น่าจะพอหาได้จากร้านหนังสือมือสอง หรือ ร้านเช่าหนังสือ ค่ะ  ภ้าหาไม่ได้จริงก็ คงต้องเชียร์ให้ คุณจันทรำไพ จัดพิมพ์ครั้งที่แปด แล้วมังคะ

ความจริงแล้วฉันไม่ถนัด ในการแสดงความคิดเห็นสักเท่าไหร่   ถนัดแต่แสดงข้อเท็จจริงมากกว่า เลย ขอแสดง ความคิดเห็น ต่อ อมาญาส์ แค่ ย่อหน้าเดียวก็พอค่ะ  คงสรุปได้ว่า  ฉันชอบ นวนิยายเรื่องนี้มาก  และถือโอกาส ขอบคุณ คุณจันทรำไพ ที่ได้ สร้างสรรค์ อมาญาส์ มาให้เราได้รู้จักขอบคุณ เว็บบอร์ดพันทิป ที่ทำให้ฉันได้ติดต่อ สื่อสาร กับ คุณจันทรำไพ   ขอบคุณ บล็อกแกงดอทคอม และคุณหวันยิหวา ที่ทำให้ฉันได้พูดคุยกับ คนที่รักอมาญาส์ด้วยกัน   ให้พื้นที่ฉันได้ เขียนบล็อกนี้ ในโอกาสครบ 25 ปี ของ นวนิยาย เรื่อง อมาญาส์  และขอบคุณผู้อ่านที่เสียเวลาอ่านมาจบถึงบรรทัดนี้ค่ะ  คุณที่อ่านอมาญาส์ แล้วรู้สึกอย่างเล่าให้ฟังบ้างสิค่ะ

https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=loyebook&group=8





บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 11 พ.ค. 22, 10:15

อมาญา เป็นชื่อบาร์แห่งหนึ่งที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

เมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว ผมเคยทำงานอยู่ในบาร์แห่งนั้นระยะหนึ่ง ได้พบปะเพื่อนและคนรู้จักในแวดวงนักเขียนผู้แวะไปหาแบบทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็น เพี้ยน พุ่มชะมวง (เธียรชัย ลาภานันต์) แก้ว สีหมากสุก (นามปากกาไพบูลย์ สุขสุเมฆใช้เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์) จีรภัทร อังสุมาลี(สิเหร่) ฯลฯ

แม้เป็นระยะสั้น ๆ แต่นับเป็นช่วงเวลาที่ผมตักตวงประสบการณ์ชีวิตอย่างหิวโหยและละโมบ สวาปามทุกอย่างราวกับตัวเองต้องตายในยามพระอาทิตย์ตกดินของวันนั้น ๆ ทุกวัน  ผมมีความสุขและเจ็บปวดราวกับตัวเองเป็นแผ่นดินที่ถูกรากแก้วรากแขนงของพืชพันธุ์นานาชนิดทิ่มแทงเพื่อพวกมันจะได้เติบโต

แล้ววันหนึ่ง อย่างเงียบ ๆ ผมนั่งบนรถประจำทางสีแดง (รถหวานเย็น) จากท่ารถเมืองภูเก็ตมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยเงินที่เพื่อนผู้เป็นเสมือนพี่ชายหยิบยื่นให้

บาร์ที่บาฟทำชื่ออะไรนะ พี่อ้วนถาม (พี่ชายคนนั้น)
อมาญา บาร์ครับพี่
ชื่อเพราะ เอามาจากไหนอะ
เจ้าของบาร์ แกชอบชื่อนี้ครับ เป็นชื่อหนังสือนวนิยายไทย พี่อ้วนพยักหน้าแล้วเดินจากไป…

คนเขียนชื่อ จันทรำไพ ครับ ผมพูดชื่อนักเขียนตามหลังพี่อ้วนที่หันหลังเดินขึ้นเนินต่ำ ๆ กลับที่พักของแก
……..
ขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อนักเขียนสตรีผู้วายชนม์ จันทรำไพ มาในโอกาสนี้ครับ

ภาณุ มณีวัฒนกุล
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 พ.ค. 22, 10:35

ไม่เห็นพี่มนันยาเล่าเลย

คุณมนันยามีความสัมพันธ์อันดีต่อคุณจันทรำไพ  ได้เขียน "คำนิยม" ในหนังสือ "จากต้นจนอวสาน" เล่าเรื่องคุณจันทรำไพไว้เมื่อ ๓๓ ปีก่อน



บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 พ.ค. 22, 08:30

ไม่เห็นพี่มนันยาเล่าเลย

คุณมนันยามีความสัมพันธ์อันดีต่อคุณจันทรำไพ  ได้เขียน "คำนิยม" ในหนังสือ "จากต้นจนอวสาน" เล่าเรื่องคุณจันทรำไพไว้เมื่อ ๓๓ ปีก่อน

ถูกต้องครับ  รูปที่เอามาลง  พี่มนันยา เป็นคนถ่าย 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 พ.ค. 22, 10:35

จากปกหลัง "อมาญาส์" พิมพ์ครั้งที่ ๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 20 คำสั่ง