เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 9760 ้ขอความรู้เรื่องจีน จาก คุณ Wu Zetian และท่านอื่นๆ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 23 เม.ย. 22, 08:36

กำลังคิดถึงคุณ Wu Zetian อยู่ทีเดียว   เพราะมีเรื่องจีนจะต้องรบกวนขอความรู้
ส่วนท่านอื่นๆในเรือนไทย ถ้าหากว่าทราบก็กรุณาเข้ามาร่วมวงตอบด้วยนะคะ
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

เรื่องมีอยู่ว่า  ดิฉันกำลังอ่านประวัติของท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ให้เกียรติดิฉันเขียนคำนิยม ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน
ในต้นฉบับ  ท่านเล่าถึงบรรพบุรุษของท่านที่อพยพทิ้งบ้านเดิมจากจีนเข้ามาในสยาม ประมาณรัชกาลที่ 3  
ในบรรดาทรัพย์สินที่นำติดตัวมาจากบ้านเดิมที่ปักกิ่ง มีผ้าผืนนี้รวมอยู่    เป็นสมบัติตกทอดที่ลูกหลานเก็บรักษาไว้อย่างดี
เจ้าของหนังสือเรียกของชิ้นนี้เป็นภาษาอังกฤษ ว่า shoulder pad   แต่ดิฉันไปถาม ดร.ทางภาษาจีน (ที่เป็นคนไทย) เธอบอกว่า เรียกว่า พีหลิ่ง  เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยศของเจ้านายจีนที่เป็นชาย

ข้อนี้สอดคล้องกับคำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญทางปักกิ่งส่งมาให้ลูกหลานท่าน   เมื่อสอบถามไปเกี่ยวกับผ้าผืนนี้  ว่าเป็นบ่าเกียรติยศ น่าจะสวมใส่บนเสื้อคลุมได้เฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าในราชวงศ์ชิง  ระดับรองลงมาจากจักรพรรดิ  อาจเป็นอ๋องหรือ junwang ในสมัยราชวงศ์ชิง  

ปัญหาคือ ท่านผู้นี้ใช้แซ่ว่า แซ่จู   สอดคล้องกับแซ่เดิมของราชวงศ์หมิง   แต่ในสมัยราชวงศ์ชิง ไม่มีเจ้านายชิงใช่แซ่จู   ดังนั้น คนแซ่จูจะมีเครื่องยศของราชวงศ์ชิงเป็นสมบัติที่ท่านหวงแหนถึงกับนำติดตัวมาด้วย  ด้วยเหตุผลใด
คุณ  Wu Zetian  อ่านแล้ว พอสันนิษฐานได้บ้างไหมคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 เม.ย. 22, 10:43

ขอเล่าเรื่องราชวงศ์ชิงไปพลางๆก่อน ค่ะ

ราชวงศ์ชิง หรือบางครั้งเรียกว่า ราชวงศ์แมนจู ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน ตั้งแต่ ค.ศ. 1636 ถึง ค.ศ. 1912
ราชวงศ์ชิงไม่ได้ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่เป็นชาวแมนจูซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ในสมัยโน้น ชาวแมนจูเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งยังไม่มีคนรู้จักมากนั้น ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงของชาวจีนฮั่นอยู่ในสภาพอ่อนแอ เกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ

ราชวงศ์ชิงนั้นได้ก่อตั้งโดยชนเผ่าหนู่เจิน โดยตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัวเป็นผู้นำ ตั้งอยู่ในดินแดนแมนจูเรีย ในปลายศตวรรษที่สิบหก นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ผู้นำเผ่าหนู่เจินได้แข็งข้อไม่ยอมขึ้นกับราชวงศ์หมิงและได้เริ่มจัดตั้งกองทัพแปดกองธงขึ้น ซึ่งเป็นกองทัพที่รวมเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อันได้แก่ ชาวหนู่เจิน, ชาวจีนฮั่นและ ชาวมองโกล นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้รวมเผ่าหนู่เจินเป็นปึกแผ่นและเปลี่ยนชื่อเป็น แมนจู
นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ถือได้ว่าเป็นผู้นำชาวแมนจูคนแรกที่ได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพล ในปี ค.ศ. 1637 หฺวัง ไถจี๋ โอรสของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้นำกองทัพขับไล่กองทัพราชวงศ์หมิงออกจากคาบสมุทรเหลียวตง และก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ ชื่อว่า ราชวงศ์ชิง

ในปี ค.ศ. 1636 ได้เกิดกบฎชาวนานำโดย หลี่ จื้อเฉิง นำกำลังเข้ายึดกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของราชวงศ์หมิง นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์หมิง หลี่ จื้อเฉิงได้ตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิก่อตั้งราชวงศ์ชุนขึ้นมาแทน แต่เป็นระยะสั้นๆ ราชวงศ์ชุนก็พ่ายแพ้กองทัพแมนจู  จนราชวงศ์ชุนล่มสลาย

จักรพรรดิแมนจูได้ปกครอบจีน สถาปนาอาณาจักรต้าชิงขึ้นมาแทน    ชาวแมนจูได้เข้าปกครองมีอำนาจเหนือชาวฮั่น

รัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งต้าชิง  ถือเป็นยุคทองที่รุ่งเรืองของราชวงศ์ชิง พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะขยายอาณาเขตของจักรวรรดิต้าชิงโดยรวมเอเชียกลางและบางส่วนของ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่าและเวียดนาม สิ่งนำไปสู่การรบครั้งใหญ่หรือที่เรียกว่า สิบการทัพใหญ่ ตลอดรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงมีการใช้ระบบรัฐบรรณาการหรือจิ้มก้อง โดยจะมีการเรียกเครื่องราชบรรณาการจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน

ราชวงศ์ชิงปกครองจีนมาจนถึงยุคล่าอาณานิคมของยุโรป   จักรวรรดิอังกฤษเป็นชาติแรกที่นำฝิ่นมามอมเมาชาวจีนทำให้ราชสำนักชิงอ่อนแอลง   นำไปสู่สงครามฝิ่นถึง 2 ครั้ง  ราชวงศ์ชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทำให้ต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงแก่อังกฤษ อีกทั้งต้องทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมจำนวนมากกับชาติตะวันตก
จีนต้องเสียเกาะมาเก๊าให้โปรตุเกส รวมถึงเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นอกจากนี้ ราชวงศ์ชิงยังพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้จีนสูญเสียเกาหลีและเกาะไต้หวัน แก่ญี่ปุ่น อีกทั้งการเกิดกบฎนักมวย ในปี พ.ศ. 2442 ทำให้ชาวจีนรู้สึกอัปยศอดสูเป็นอย่างมาก จักรพรรดิกวางสูได้ทรงพยายามทำการปฏิรูปพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแต่แผนการของพระองค์กลับถูกทำลายลงโดย พระนางซูสีไทเฮา ซึ่งถือเป็นผู้ขัดขวางการพัฒนาสู่สมัยใหม่ของจักรวรรดิต้าชิง

ตลอดระยะเวลาที่ราชวงศ์ชิงระส่ำระส่าย  ชาวจีนถูกชาวตะวันตกและญี่ปุ่น ขนานนามว่าเป็น "ขี้โรคแห่งเอเชีย" ทำให้ชาวจีนบางส่วนต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีของประเทศ โดยเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบกษัตริย์เป็นประชาธิปไตย โดยมีขบวนการถงเหมิงฮุ่ย มี ดร. ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้นำ

ราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีนจนถึงปี พ.ศ. 2454 (ตรงกับรัชกาลที่ 6 ของไทย)  เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านราชวงศ์ชิง ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยาวนานมากกว่า 5,000 ปี
 
ขบวนการถงเหมิงฮุ่ยได้เปลี่ยนแปลงประเทศนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย   มีชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐจีน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 เม.ย. 22, 10:51

ภาพนี้คือเจ้าชายในราชวงศ์ชิง ชื่อ  Yinxiang (1686–1730), the first Prince Yi  ชื่อไทยว่าอะไรยังไม่ได้ไปค้น
รู้แต่ว่าเป็นโอรสองค์ที่ 13 ของจักรพรรดิคังซี หรือเรียกว่าองค์ชาย 13  ตามหนังจีนก็ได้ 
เอารูปมาให้ดูฉลองพระองค์ขององค์ชาย 13   มองเห็นผ้าคลุมบ่าพีหวิ่น  น่าจะแบบเดียวกับที่เป็นปริศนาอยู่ในกระทู้นี้ค่ะ


บันทึกการเข้า
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 เม.ย. 22, 22:21

1.บ่าเกียรติยศ (ผ้าคลุมไหล่) ในภาพ ภาษาจีนกลางเรียกว่า พี-เจียน (披肩) หรือเรียกว่า อวิ๋น-เจียน (云肩) ครับ
สืบค้นจาก https://m.sohu.com/a/327282515_120048357/?pvid=000115_3w_a#read

2.องค์ชาย 13 ที่เป็นพระโอรสของคังซีฮ่องเต้ ชื่อว่า อี๋ชินหวัง ซึ่งมีพระนามเดิมว่าอิ้นเสียง (胤祥) ครับ
สืบค้นจาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87

3.ท่านผู้นี้ใช้แซ่ว่า แซ่จู   สอดคล้องกับแซ่เดิมของราชวงศ์หมิง   แต่ในสมัยราชวงศ์ชิง ไม่มีเจ้านายชิงใช้แซ่จู   ดังนั้น คนแซ่จูจะมีเครื่องยศของราชวงศ์ชิงเป็นสมบัติที่ท่านหวงแหนถึงกับนำติดตัวมาด้วย  ด้วยเหตุผลใด

ข้อมูลนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ : คนแซ่จู (ชาวจีนเชื้อสายฮั่น) มีเครื่องยศของราชวงศ์ชิง (ชาวจีนเชื้อสายแมนจู) ได้อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นการอภิเษกสมรสกันระหว่างชนชั้นสูง (กุ้ยจู贵族) ของชาวจีนเชื้อสายแมนจูกับชาวจีนเชื้อสายฮั่นที่มีบรรพชนสืบเชื้อสายมาจากจูหยวนจาง (ฮ่องเต้ที่สถาปนาราชวงศ์หมิง 朱元璋) ในสมัยนั้นก็อาจจะเป็นได้ครับ

สมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย ตรงกับรัชสมัยของเต้ากวังฮ่องเต้ (道光皇帝) (พ.ศ.2367-2394 = ค.ศ.1824-1851) สมัยเต้ากวังฮ่องเต้สภาพบ้านเมืองอ่อนแอ มีสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และกบฏไท่ผิงครับ

บันทึกการเข้า
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 เม.ย. 22, 23:37

พอดีผมค้นข้อมูลเพิ่มเติมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องของการสมรสระหว่างชนชั้นสูงครับ เนื่องจากชนชั้นสูงที่มีเชื้อชาติแมนจูและฮั่นไม่น่าจะสมรสกันได้เพราะเป็นจารีตของสังคมในสมัยนั้นครับ ผมจึงขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมใหม่ ดังนี้ครับ

3.ท่านผู้นี้ใช้แซ่ว่า แซ่จู   สอดคล้องกับแซ่เดิมของราชวงศ์หมิง   แต่ในสมัยราชวงศ์ชิง ไม่มีเจ้านายชิงใช้แซ่จู   ดังนั้น คนแซ่จูจะมีเครื่องยศของราชวงศ์ชิงเป็นสมบัติที่ท่านหวงแหนถึงกับนำติดตัวมาด้วย  ด้วยเหตุผลใด

ข้อมูลนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ : คนแซ่จู (ชาวจีนเชื้อสายฮั่น) มีเครื่องยศของราชวงศ์ชิง (ชาวจีนเชื้อสายแมนจู) ได้อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงเวลานั้นราชสำนักอ่อนแอจึงทำให้สมบัติของชนชั้นสูงในราชสำนักชิงไปตกอยู่ในการครอบครองของชนชั้นสูงแซ่จูที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ ชาวจีนชนชั้นสูงแซ่จูผู้นี้เป็นชาวจีนเชื้อสายฮั่นผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากจูหยวนจางฮ่องเต้ที่สถาปนาราชวงศ์หมิง 朱元璋) ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ

สมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย ตรงกับรัชสมัยของเต้ากวังฮ่องเต้ (道光皇帝) (พ.ศ.2367-2394 = ค.ศ.1824-1851) สมัยเต้ากวังฮ่องเต้สภาพบ้านเมืองอ่อนแอ มีสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และกบฏไท่ผิงครับ

ผมไม่แน่ใจว่าข้อสันนิษฐานจะถูกต้องไหมครับ เพราะผมไม่ชำนาญด้านประวัติศาสตร์จีนครับ ดังนั้นผมจึงขอให้ท่านผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนมาช่วยให้ความกระจ่างนะครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 เม.ย. 22, 23:53

ภาพ : บ่าเกียรติยศราชสำนักชิงจากเว็บไซต์นี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพในกระทู้มาก ๆ ครับ
https://m.sohu.com/a/327282515_120048357/?pvid=000115_3w_a#read

* Pijian.jpg (72.23 KB - ดาวน์โหลด 138 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 เม.ย. 22, 06:44

การนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้น หรือประดับตามข้าวของเครื่องใช้ หากเป็นของจักรพรรดิ มังกรจะมี 5 เล็บ ของขุนนางจะมี 4 เล็บ ถ้าสามัญชนจะมี 3 เล็บเท่านั้น
.
จำนวนเล็บของมังกรแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน มังกรที่ยิ่งใหญ่จึงจะมี 5 เล็บ นอกนั้นก็จะเป็น 4 เล็บหรือ 3 เล็บ
.
ในวังมีคนสวม "ฉลองพระองค์มังกร" ได้3คนเท่านั้น คือพระราชา(มังกร5เล็บ) , รัชทายาท(4เล็บ) โอรสองค์โตของรัชทายาท(3เล็บ)
.
3ข้อความข้างบน..ผมหาจากอินเตอร์เนต เพื่อสอบทานกับสิ่งที่ผมรู้อยู่เดิม ในประเด็นจำนวนเล็บของมังกร
รูปพีหลิ่งของคุณเทาชมพู ผมนับจำนวนเล็บไม่ได้ถนัดนัก แต่คิดว่าไม่4ก็5 ซึ่งเป็นระดับสูงมาก
ผมสันนิษฐานว่า พีหลิ่งผืนนี้เป็นของพระราชทาน เพื่อเป็นรางวัล
ไม่มีทางที่คนแซ่จู จะเป็นฮ่องเต้ หรือรัชทายาท ในราชวงศ์ชิง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 เม.ย. 22, 17:10

ภาพ : บ่าเกียรติยศราชสำนักชิงจากเว็บไซต์นี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพในกระทู้มาก ๆ ครับ
https://m.sohu.com/a/327282515_120048357/?pvid=000115_3w_a#read
ขอบคุณมากค่ะ
หน้าที่คุณ Wu  ลิ้งค์มาให้เป็นภาษาจีนล้วนๆ ดิฉันเลยอ่านไม่ออก
ขอถามว่าภาพในหน้านี้เป็นภาพใครคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 เม.ย. 22, 17:29

การนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้น หรือประดับตามข้าวของเครื่องใช้ หากเป็นของจักรพรรดิ มังกรจะมี 5 เล็บ ของขุนนางจะมี 4 เล็บ ถ้าสามัญชนจะมี 3 เล็บเท่านั้น
.
จำนวนเล็บของมังกรแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน มังกรที่ยิ่งใหญ่จึงจะมี 5 เล็บ นอกนั้นก็จะเป็น 4 เล็บหรือ 3 เล็บ
.
ในวังมีคนสวม "ฉลองพระองค์มังกร" ได้3คนเท่านั้น คือพระราชา(มังกร5เล็บ) , รัชทายาท(4เล็บ) โอรสองค์โตของรัชทายาท(3เล็บ)
.
3ข้อความข้างบน..ผมหาจากอินเตอร์เนต เพื่อสอบทานกับสิ่งที่ผมรู้อยู่เดิม ในประเด็นจำนวนเล็บของมังกร
รูปพีหลิ่งของคุณเทาชมพู ผมนับจำนวนเล็บไม่ได้ถนัดนัก แต่คิดว่าไม่4ก็5 ซึ่งเป็นระดับสูงมาก
ผมสันนิษฐานว่า พีหลิ่งผืนนี้เป็นของพระราชทาน เพื่อเป็นรางวัล
ไม่มีทางที่คนแซ่จู จะเป็นฮ่องเต้ หรือรัชทายาท ในราชวงศ์ชิง

ขอบคุณมากค่ะคุณธสาคร ที่เข้ามาร่วมวงให้ความรู้    ดิฉันพยายามนับเล็บมังกรอยู่หลายเที่ยว   เห็น 4 เล็บค่ะ

ทีนี้ ถ้าผ้าผืนนี้เป็นของพระราชทาน   งั้นผู้ที่ได้รับควรจะอยู่ในฐานะไหนในสังคมจีน ถึงได้รับพระราชทานได้ 

คือดิฉันเข้าใจว่า ฮ่องเต้คงไม่พระราชทานชาวบ้านร้านถิ่นที่ไม่อาจจะสวมใส่ผ้าผืนนี้ได้  จะรับมาแล้วเอาไปใส่กรอบ หรือเก็บลงหีบก็ดูไม่คุ้มเอาเลย  งั้นพระราชทานเงินทองเสียไม่ดีกว่าหรือ เขาได้เอาไปใช้ได้
คนที่ได้รับจากฮ่องเต้จะต้องเป็นคนที่สวมใส่บ่าเกียรติยศนี้ได้   ถึงพระราชทาน

การที่ท่านจูหอบหิ้วบ่าเกียรติยศ เมื่ออพยพออกจากประเทศจีนมาตั้งตัวใหม่ในต่างแดน   ก็แสดงว่าผ้าผืนนี้มีความสำคัญกับท่านมาก   จนละทิ้งไว้ข้างหลังไม่ได้   

ขอเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับท่านจู ให้คุณ Wu  และคุณธสาครได้ทราบ เผื่อเกิดความคิดวิเคราะห์เพิ่มเติมนะคะ

คือลูกหลานเล่าต่อกันมาว่า เดิมท่านจูมีบ้านหลังใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง   ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว แต่ยังสืบหาไม่พบว่าที่ไหน   พิพิธภัณฑ์ในปักกิ่งที่เดิมเป็นบ้านน่าจะมีหลายแห่ง
ท่านจูไม่ได้เดินทางมาอย่างนักแสวงโชค เสื่อผืนหมอนใบอย่างคนจีนส่วนใหญ่ที่มาสยามในสมัยรัชกาลที่ 3  แต่ท่านเอาเรือสำเภาลำใหญ่พร้อมกับทรัพย์สินเงินทอง   เดินทางลงทะเลจีนใต้ไปตั้งถิ่นฐานที่อินโดนีเซียก่อน อยู่นั่น 2-3 ปี สมรสกับหญิงชาวอินโด   แล้วจึงอพยพมาสยามประมาณปลายรัชกาลที่ 3   ตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงเทพที่ถนนเจริญกรุง 
แต่มาถึงลูกหลานรุ่นหลังๆไม่ได้ค้าขายแล้วค่ะ ไปมีตำแหน่งการงานทางราชการกันแทน
ตระกูลท่านจูสนับสนุนให้ลูกหลานได้เรียนสูงๆค่่ะ  ไปเรียนเมืองนอกกันเกือบทั้งนั้น
พอสันนิษฐานได้เพิ่มเติมไหมคะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 เม.ย. 22, 20:17

หน้าที่คุณ Wu  ลิ้งค์มาให้เป็นภาษาจีนล้วนๆ ดิฉันเลยอ่านไม่ออก
ขอถามว่าภาพในหน้านี้เป็นภาพใครคะ

เป็นภาพจากซีรีย์จีนเรื่อง 延禧攻略 (Story of Yanxi Palace) ชื่อไทยคือ เล่ห์รักวังต้องห้าม

ในภาพคือ จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆皇帝) แห่งราชวงศ์ชิง แสดงโดย เนี่ยหยวน (聂远)


บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 เม.ย. 22, 00:39

จากละครโทรทัศน์เรื่องอุ้ยเสี่ยวป้อ ฮ่องเต้คังซีพระราชทานเสื้อเหลืองให้อุ้ยเสี่ยวป้อ เพื่อไปปฏิบัติราชการเสี่ยงภัย นัยว่าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ // ประวัติศาสตร์แท้ๆจะเป็นเช่นละครโทรทัศน์หรือไม่..ผมก็ไม่ทราบ // แต่ที่เก็บสาระจากละครได้คือ การพระราชทานของใช้ส่วนพระองค์แก่ขุนนาง (หมายถึงพระราชทานและอนุญาตให้ใช้สิ่งนั้นได้) เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้จะเป็นเพียงบทประพันธ์ละคร ก็คงมีมูลอยู่บ้าง
.
หากพีหวิ่นผืนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตราชการ ผู้รับพระราชทานก็จะผูกพันมากหน่อย // หากได้รับพระราชทานเป็นรางวัลเฉยๆ ในทำนองคนโปรด ผู้รับพระราชทานน่าจะไม่กล้านำมาสวมใส่ ด้วยความเจียมตน และที่สำคัญราชภัยอาจมาเยือนได้(ยามชังกัน บ่แลเหลียว นั่นแฮ) // สมมติว่าผมได้รับพระราชทานผ้าซับพระพักตร์ของเจ้านายพระองค์หนึ่ง ผมคงเก็บรักษาไว้ ไม่นำมาใช้งานครับ แต่ถ้าได้รับพระราชทานที่ดิน อันหลังนี้กล้าใช้ครับ (ฮา)
**ไม่ทราบว่าเรียก พีหลิ่ง หรือ พีหวิ่น เพราะคุณเทาชมพูกล่าวไว้2แห่ง มีความแตกต่างกัน
.
คนไทยส่วนใหญ่รวมทั้งผมด้วย รู้ประวัติศาสตร์จีนผ่านวรรณกรรม งิ้ว ละครโทรทัศน์ // ซึ่งมันไม่ใช่ประวัติศาตร์ตัวจริง // ทำนองคนจีนดูภาพยนตร์พันท้ายนรสิงห์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร แล้วทึกทักว่าเป็นประวัติศาสตร์ทั้งดุ้น // ผมคิดว่ายังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่า สามก๊กที่แพร่หลายทางสื่อทั่วไปเป็นประวัติศาสตร์แท้ // หลายคนเชื่อว่า ผู่อี้ มีชีวิตที่ยากลำบากตามภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor // เรื่องขุนศึกตระกูลหยาง ที่ผมเชื่อสนิทใจเมื่อวัยเด็กว่าเป็นประวัติศาสตร์นั้น ผมเพิ่งเข้าใจเมื่อไม่กี่ปีนี้เองว่าเป็นเรื่องแต่งแทบทั้งหมด (แบบว่าจู่ๆก็ประหวัดขึ้นมา แล้วก็เข้าใจขึ้นมาเอง) // พ่อผมเล่าว่า เมื่อนานมากๆมาแล้ว เคยมีคนแก่คนหนึ่งเอาไม้เท้ามาไล่ตีข้าราชการบนที่ว่าการอำเภอ (หน่วยงานราชการคงไปทำอะไรที่ขัดใจแก) ปกติของคนยุคกระโน้นจะกลัวข้าราชการ แต่แกกล้ากระทำอุกอาจบนที่ว่าการอำเภอ เรื่องเล่านี้จบลงด้วยความขำขันว่า ผู้เฒ่าคนนี้ได้รับพระราชทานไม้เท้าจากรัชกาลที่5 เมื่อคราวเสด็จประพาสต้น แกก็เก็บเงียบไม่ได้นำมาอวดใคร จนเกิดเหตุการณ์ดังที่เล่าไปแล้ว // ผู้เฒ่าคนนี้คงดูงิ้วเรื่องขุนศึกตระกูลหยาง ความตอนหนึ่งว่า แม่เฒ่าแห่งตระกูลหยางนำไม้เท้าหัวมังกร(ได้รับพระราชทานจากฮ่องเต้องค์ก่อน) จะไปตีสั่งสอนฮ่องเต้องค์ปัจจุบันโทษฐานเชื่อฟังขุนนางสอพลอ
.
หากข้อมูลแน่ชัดว่า ฉลองพระองค์ปักลายมังกร4เล็บเป็นสิทธิของรัชทายาทเท่านั้น การสันนิษฐานจะบีบวงแคบลงมาก // ไม่ใช่ซุ่นจื้อ(ฮ่องเต้องค์แรก)..เพราะครองราชย์ตั้งแต่ยังเด็ก // ไม่ใช่คังซี..เพราะครองราชย์ตั้งแต่ยังเด็ก // ไม่ใช่หย่งเจิ้น..เพราะมีปัญหาเรื่องการแย่งชิงราชบัลลังก์ ดังละครโทรทัศน์เรื่องศึกสายเลือด // อาจเป็นเฉียนหลง หรือเจียชิ่ง องค์ใดองค์หนึ่ง // เป็นเต้ากวงได้ยากหน่อย เพราะครองราชย์เกือบจะพร้อมกับรัชกาลที่3ของไทย ครั้นจะรับพระราชทานพีหวิ่นจากเต้ากวงตอนเป็นรัชทายาท แล้วลาออกจากราชการ อพยพมาสยามตอนเต้ากวงได้ขึ้นครองราชย์ ก็จะฟังทะแม่งๆ // ส่วนฮ่องเต้องค์หลังจากนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะอพยพออกมาแล้ว
.
บทความบางที่กล่าวว่า การแต่งตั้งรัชทายาทของราชวงศ์ชิง กระทำเป็นการลับแบบพินัยกรรม ฉะนั้นข้อสันนิษฐานดังย่อหน้าบนก็จะลดความขลังลงไปนิด // ใครมีสิทธิสวมฉลองพระองค์มังกร4เล็บ? อาจเป็นเพียงเจ้าชายองค์ใดองค์หนึ่งที่ไม่ใช่ฮ่องเต้ในอนาคต
.
ผมเชื่อว่าบรรพบุรุษตระกูลจู เป็นขุนนางครับ // การพระราชทานของใช้ส่วนพระองค์ บ่งบอกถึงความสนิทสนม ถวายงานใกล้ชิด // หากบรรพบุรุษตระกูลจู เป็นวรรณะพ่อค้า สิ่งของพระราชทานน่าจะเป็นสัมปทาน หรือป้ายชื่อร้าน คงถูกอกถูกใจพ่อค้ามากกว่าพีหวิ่น // จากการอ่านประวัติ"สิบสามห้าง"เมืองกวางโจว และดูละครโทรทัศน์ประวัติพ่อค้าใหญ่ชื่อเฉียวจื้อหย่ง แห่งเมืองไท่หยวน ทางราชสำนักจีนไม่ไยดีวรรณะพ่อค้าซักเท่าไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 เม.ย. 22, 10:26

กลับไปอ่าน บ่าเกียรติยศเรียกว่า "พีหลิ่ง" ค่ะ
ได้ข้อมูลเพิ่มมาว่า พีหลิ่งแบบนี้ ถ้าขุนนางสวมใส่ก็ต้องเป็นขุนนางชั้นอัครมหาเสนาบดี

อ้างถึง
สมมติว่าผมได้รับพระราชทานผ้าซับพระพักตร์ของเจ้านายพระองค์หนึ่ง ผมคงเก็บรักษาไว้ ไม่นำมาใช้งานครับ
เห็นด้วยค่ะ  คือถ้าเป็นของใช้ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับราชการ ก็เป็นไปได้แน่นอน เช่นไม้เท้า อย่างไม้เท้าพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานให้พวก "เพื่อนต้น"  (เช่นคุณตาคนที่ไล่ตีข้าราชการบนอำเภอนั่นแหละ)
ทีนี้ พีหลิ่ง ไม่ใช่ของส่วนตัว  ไม่ใช่ผ้าพันคอ  ถุงมือหรือถุงเท้าส่วนพระองค์ของฮ่องเต้  เป็นส่วนหนึ่งของฉลองพระองค์เต็มยศ   ฮ่องเต้จะพระราชทานขุนนางที่ไม่มีสิทธิ์แต่งเครื่องยศนี้ทำไม   

อ้อ  นึกถึงหนังจีนทางทีวีขึ้นมาได้เรื่องหนึ่ง นมนานมากแล้ว   จะเป็นศึกสองนางพญา หรือแปดเทพอสูรมังกรฟ้า อะไรก็จำไม่ได้  มีตัวละครที่ได้รับพระราชทานฉลองพระองค์จากฮ่องเต้  ทีนี้ถูกจับไปประหาร   พอจะลงดาบ แกก็ถอดเสื้อคัวนอกออกให้เห็นฉลองพระองค์ข้างใน  ทุกคนในที่นั้นต้องคุกเข่าลงหมดเลย เพราะเท่ากับเห็นฮ่องเต้มาอยู่ตรงนั้น    สรุปว่าประหารไม่ได้ 
ถ้าหากว่าท่านจู ได้รับพระราชทานแบบนี้ เป็นใบเบิกทางให้เดินทางจากปักกิ่งผ่านทะเลจีนตะวันออก ลงมาทะเลจีนใต้ได้โดยสะดวกง่ายดาย  ห้ามขัดขวาง ล่ะ
แต่งเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็เจอตออีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมฮ่องเต้จะต้องช่วยเหลือถึงขั้นนั้น    เพราะท่านจูไม่ได้ถือราชสาส์นไปไหน    แต่อพยพทิ้งถิ่นเดิมไปอยู่ถิ่นใหม่เลย 
ก็เลยต้องจบลงแบบกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 เม.ย. 22, 10:51

ดิฉันลองสมมุติอีกอย่าง ว่า ท่านจูมีฐานะมั่งคั่ง  เมื่อมาสยามก็มาตั้งห้างที่ถนนเจริญกรุงในรัชกาลที่ 4   เป็นไปได้ไหมว่ามีคนเอาพีหลิ่งมาขาย ท่านก็รับซื้อไว้  โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเป็นส่วนตัว
มันก็นำไปสู่คำถามอีกว่า  งั้นคนที่มาขายพีหลิ่งเป็นใคร ทำไมถึงมีผ้าชิ้นนี้ในครอบครอง  เขาเอามาจากเมืองจีนได้อย่างไร  เอามาทำไม  เอามาใช้ประโยชน์อะไร   
คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในปักกิ่งที่ลูกหลานท่านจูหยุ่นส่งไปสอบถาม   ได้คำตอบมาว่าเป็นของแท้   ถ้าเป็นของปลอมทำเลียนแบบ(สมมุติว่าเป็นเครื่องแต่งกายละคร) ผู้เชี่ยวชาญคงจะแยกออก และตอบมาแล้วว่าเป็นเครื่องแต่งกายละคร  ไม่ใช่บ่าเกียรติยศของอ๋องหรือขุนนางชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ พ่อค้าจีนเชื้อสายฮั่น(ดูจากแซ่) จะเก็บรักษาส่วนหนึ่งของฉลองพระองค์ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงเอาไว้อย่างดี จนกลายเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานทำไม   ถ้าท่านเป็นพ่อค้า  ท่านต้องดูออกว่าผ้าชิ้นนี้ขายในสยามคงไม่มีใครซื้อ  ถ้าเป็นหยกหรือทองคำก็ไปอย่าง   ท่านก็คงไม่รับซื้อแต่แรก   
ก็ยังเป็นปริศนาอยู่นั่นเอง

บันทึกการเข้า
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 เม.ย. 22, 10:53

สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_48377

บทความนี้มีหัวข้อว่า คนจีน “แต้จิ๋ว” ที่มีบทบาทด้านการค้าการปกครอง ยุคธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ คือใคร? มาจากไหน?

เนื่องจากว่าผมไม่ชำนาญด้านประวัติศาสตร์จีน แต่เมื่อผมอ่านบทความนี้แล้วพบว่า ตอนท้าย ๆ ของบทความมีการกล่าวถึง แซ่จู  ผมไม่แน่ใจว่าข้อมูลนี้จะเกี่ยวข้องกับ ท่านจู ในกระทู้นี้หรือไม่ครับ จึงนำมาเผยแพร่เพิ่มเติมประกอบการค้นคว้าครับ

ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 เม.ย. 22, 11:11

ขอบคุณมากค่ะ น่าสนใจมาก ขอลอกมาลงทั้งหมดเลยนะคะ

คนจีนอพยพที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยนั้นมีหลายกลุ่ม ที่สำคัญมีกลุ่มหนึ่งคือ คนจีน “แต้จิ๋ว” โดยเฉพาะในสมัยกรุงธนบุรีต่อกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เริ่มมีบทบาทสำคัญมาก ทั้งทางด้านการค้าและการปกครอง

สามารถแบ่งคนจีนแต้จิ๋วออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคหบดี และกลุ่มเจ้าหน้าที่ท่าเรือ

กลุ่มคหบดี คือเจ้าของสำเภาขนาดใหญ่ที่แล่นค้าขายระหว่างจีนกับไทย แต่คนจีนกลุ่มนี้มักว่าจ้างให้ผู้อื่นดำเนินธุรกิจซื้อขายแทน ขณะที่คนจีนที่เป็นเจ้าของสำเภาขนาดย่อมลงมา ที่มีฐานะปานกลางจะดำเนินกิจการด้วยตนเอง เป็นนายเรือเอง

กลุ่มเจ้าหน้าที่ท่าเรือ คือพวกท่าเรือ รับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ค่าภาษี ค่าเทียบท่า ฯลฯ มีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด นอกจากนี้ ยังมีคนจีนอีกกลุ่มซึ่งเป็นลูกเรือ แต่ไม่มีบทบาทสำคัญนัก เพราะเป็นคนจีนอพยพมาใช้แรงงาน แสวงหาลู่ทางหากินใหม่ ส่วนใหญ่เป็นชาวนาและมีฐานะยากจน

แต่คนจีนทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นคนจีนแต้จิ้วที่อพยพมาปักหลักในไทยทั้งสิ้น คนจีนแต้จิ๋วที่สำคัญเช่น

อ๋องไหล่หู (Ong Lai-Hu) และบุตรครโตคือ มั่วเส็ง (Mua Seng) ทั้งสองรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำการค้าขายระหว่างจีนกับไทย มั่วเส็งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอภัยพานิช ส่งสำเภา 10-15 ลำไปค้ายังกว้างตุ้งในนามของพระมหากษัตริย์ไทย และมีสิทธิ์ต่อเรือได้เอง บุตรอีกคนหนึ่งของอ๋องไหล่หูคือ จีนเรือง (Chin Ruang) เป็นเศรษฐีอยู่ที่จันทบุรี ภายหลังก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เช่นกัน

หลิน หงู่ (Lin Ngou) หรือ หลิน วู่ (Lin Wu) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระพิไชยวารี รับผิดชอบการค้าสำเภาหลวง คนจีนแต้จิ๋วอีกคนหนึ่งคือ จีนกุน เป็นหลานชายของอ๋อง เฮงฉวน (Ong Heng-Chuan) และบุตรของจีนกุ๋ย ได้รับแต่งตั้งเป็นกรมท่าซ้าย แต่ได้ลาออกไปทำการค้า ต่อมาถูกบังคับให้ตัดผมเปียและเข้ารับตำแหน่งใหม่สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และรัชกาลที่ต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์

จีนกุ๋ย มีหน้าที่รับผิดชอบการค้าสำเภา บ้านอยู่ที่ตำบลบ้านคลองโรงช้าง ราชบุรี บุตรชายคือจีนกุน ได้รับราชการแล้วย้ายมาอยู่ที่แม่กลอง สมุทรสงคราม ก่อนจะโยกย้ายมาอยู่หน้าวัดเลียบ กรุงเทพฯ แล้วยกที่ดินที่บ้านเดิมให้สร้างวัด คือวัดใหญ่

สันนิษฐานว่าจีนกุนใกล้ชิดสนิทสนมกับรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ทรงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และเมื่อย้ายมาอยู่ที่สมุทรสงครามก็คงคุ้นเคยกับพระญาติของพระมเหสีในรัชกาลที่ 1 มาก่อน จีนกุนจึงรับราชการเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ใหญ่โต มั่งคั่ง จนเรียกกันว่า “เจ๊สัวกุน” คำว่าเจ๊สัวเพี้ยนมาจากเจ้าสัว ซึ่งมาจากคำว่า โจ้ซาน (Cho Shan) ภาษาฮกเกี้ยน แปลว่าคนร่ำรวย ใจบุญสุนทาน

จีนกุนหรือเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์รับราชการจนถึงรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงแก่อสัญกรรม เป็นต้นสกุล “รัตนกุล”

คนจีนแต้จิ๋วอีกคนคือ จีนเต้กฮะ มาจากตำบลคังตึ้ง เมืองซ่านโถว เป็นทายาทคนที่ 22 ของตระกูล “ตั้ง” เกิดในแผ่นดินพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง เดินทางเข้ามาในไทยเมื่อย่างสู่วัยกลางคน ทำการค้าขายตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รับราชการและค้าขายจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีราชอากร มีภรรยาที่เมืองจีน แซ่ “จู” มีบุตรด้วยกันคน 6 คน บุตรคนโตได้สืบทอดกิจการในเมืองไทยและรับราชการจนได้เป็น พระยาสมบัติวานิช เป็นต้นสกุล “สมบัติศิริ”

นอกจากคนจีนแต้จิ้วจะมีบทบาทในด้านการค้าแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังโปรดเกล้าฯ ให้คนจีนแต้จิ๋วรับราชการช่วยเหลืองานด้านทหาร กล่าวคือ ในปี 2314 คราวสงครามตีเมืองบันทายมาศ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รองเจ้ากรมท่าซ้ายชื่อ พระยาพิพิธ เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาราชาเศรษฐีครองเมืองบันทายมาศ โดยมีทหารจีนจำนวนหนึ่งเป็นกองกำลัง

คนจีนแต้จิ๋วกลุ่มนี้ เป็นคนจีนอพยพกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาในไทย มีบทบาทสำคัญต่อการปกครองและเศรษฐกิจ มีส่วนช่วยวางรากฐานและพัฒนาบ้านเมืองไม่น้อย กระทั่งสืบตระกูลกันหลายชั่วคน จนกลายเป็นคนไทยในที่สุด

https://www.silpa-mag.com/history/article_48377
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง